fbpx
พยัคฆ์ทะยาน โครงการก้าวกระโดดแบบเอสโตเนีย จิตวิญญาณสตาร์ทอัพระดับประเทศ

พยัคฆ์ทะยาน โครงการก้าวกระโดดแบบเอสโตเนีย จิตวิญญาณสตาร์ทอัพระดับประเทศ

ในอนาคต เราจะไม่จำเป็นต้องมีทนายความ แพทย์ พนักงานรักษาความปลอดภัย นักพันธุศาสตร์ หรือแม้กระทั่งนักรวบรวมกวีพื้นเมืองและแรงงานมีทักษะอื่นๆ เพียงอย่างเดียว ผู้ทำงานที่ใช้ความเชี่ยวชาญเหล่านี้จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสารสนเทศไปด้วย

โทมัส เฮนดริก ไอฟส์, ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย

 

เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ ริมฝั่งทะเลบอลติกของยุโรปตะวันออก เคยอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ประชาชนทั่วไปยากจน เศรษฐกิจขึ้นกับเงินช่วยเหลือของโซเวียตและการประมง แต่แผนการแผนการหนึ่งหลังประกาศเอกราช ได้เปลี่ยนรัฐบอลติกยากจนจากศตวรรษที่ 20 ให้กลายเป็นรัฐไซเบอร์พังค์ที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้วแห่งศตวรรษที่ 21 ในชั่วคนเดียว

หลังจากม่านเหล็กล่มสลาย โซเวียตแตกเป็นเสี่ยงๆ ชาวเอสโตเนียหนีการเกณฑ์ทหารของกองทัพโซเวียต ก่อการปฏิวัติเสียงเพลงด้วยการจัดเทศกาลดนตรี ร่วมกันขับร้องเพลงชาติและเพลงปลุกใจภาษาเอสโตเนียนที่ถูกโซเวียตห้ามเป็นแสนๆ คน คล้องแขนกันเรียงหน้าชนรถถังและกองทหาร ปกป้องสถานีวิทยุที่ออกอากาศคำประกาศอิสรภาพ จนสามารถประกาศเอกราชได้ในปี 1989

ปี 1992 สินค้าออกของเอสโตเนียคือสินค้าเกษตรและประมง ส่งออกไปรัสเซียมากกว่า 90% เนื่องจากถูกปิดล้อมทางทะเลมานับหลายทศวรรษ เทคโนโลยีอยู่ในระดับต่ำ ประชาชนไม่มีโทรศัพท์ใช้ โทรทัศน์เป็นของหายาก ประชาชนอยู่ใต้เส้นความยากจนมากกว่า 70%

ปี 1996 โทมัส เฮนดริก ไอฟส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ซึ่งเคยเป็นอดีตเอกอัครรัฐทูตเอสโตเนียประจำสหรัฐอเมริกา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ที่โลกตะวันตกกำลังเริ่มเฟื่องฟู ว่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อไปในอนาคต จึงได้เสนอแผนการ TIIGRIHUPE “พยัคฆ์ทะยาน” ต่อ จาค อาวิคโซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น

แผนการพยัคฆ์ทะยาน คือการริเริ่มเผยแพร่การเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์และเขียนโปรแกรมลงไปในโรงเรียนทุกแห่งของเอสโตเนียตั้งแต่ชั้นอนุบาล เริ่มในปีงบประมาณ 1997 โดยใช้คอมพิวเตอร์แบบ CP/M ระบบ 8 บิท ในการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีโรงงานประกอบเป็นของเหลือจากสมัยโซเวียตอยู่แล้ว เอสโตเนียปฏิเสธการรับเซ้งต่อระบบโทรศัพท์มีสายของฟินแลนด์ แต่เริ่มต้นข้ามขั้นด้วยระบบอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง และระบบไร้สาย เนื่องจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองว่า “ใช้ของเก่าก็ต้องเริ่มของเก่า ตามแข่งขันไม่ทัน เริ่มของใหม่ก็เริ่มที่จุดเริ่มเดียวกัน ย่อมสู้ได้”

ลองคิดดูสิว่า เด็กที่เรียนรู้ด้านโปรแกรมมิ่งตั้งแต่ปี 1997 ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จะเกิดอะไรขึ้น?

เอสโตเนียก่อกำเนิดโปรแกรมเมอร์ชั้นยอด สตาร์ทอัพ และแอปพลิเคชั่นที่เข้าไปอยู่ในวงการคอมพิวเตอร์ โปรแกรมสนทนาและประชุมงานยอดนิยมอย่าง Skype เกิดด้วยฝีมือของชาวเอสโตเนียในปี 2003 – หลังจากโครงการพยัคฆ์ทะยานดำเนินการไปได้ 6 ปี – พริท คาซาเซลู ผู้ก่อตั้ง Skype เคยเป็นพนักงานในโรงงานคอมพิวเตอร์ 8 บิทที่ผลิตเพื่อใช้สอนในโรงเรียนของเอสโตเนีย การขาย Skype ให้แก่ e-bay ในปี 2005 ทำให้เงินกว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐเข้าสู่ประเทศ และเมื่อ Microsoft ซื้อ Skype ไปในปี 2011 ด้วยราคา 8.5 พันล้านเหรียญ ยิ่งทำให้กระแสเงินหมุนเวียนมากขึ้น เพราะ 44% ของพนักงาน Skype นั้น ยังอาศัยอยู่ในกรุงทัลลินน์และเมืองทาร์ตูของเอสโตเนีย

ในเดือนเมษายนปี 2007 เอสโตเนียถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งร้ายแรง ทั้งด้วยการ ยิง DDoS จนทำให้ระบบและเว็บไซต์ของรัฐ หนังสือพิมพ์ และบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ล่มไป รวมถึงการสแปม ฟลัดโพสต์ข้อความเสื่อมเสียและคอมเมนต์ในหน้าข่าวต่างๆ ของเอสโตเนียรวมถึงพรรคปฏิรูปที่เป็นรัฐบาล ซึ่งต่อมาทางการได้จับกุมชาวเอสโตเนียเชื้อสายรัสเซียว่าเป็นผู้ลงมือทำ พร้อมกับสาวโยงไปถึงเซอร์เกย์ มาร์คอฟ สมาชิกสภาดูม่าของรัสเซียว่าอาจอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนั้น ซึ่งภายหลัง ประธานาธิบดีไอฟส์ได้จัดตั้งระบบศูนย์ป้องกันภัยไซเบอร์ร่วมกันของ NATO โดยมีชื่อเล่นว่า “พยัคฆ์พิทักษ์” Tiigrikaitse เนื่องจากโปรแกรมเมอร์ที่เข้าร่วมโครงการนี้ล้วนแล้วแต่เติบโตมาพร้อมกับโครงการพยัคฆ์ทะยานตั้งแต่วัยเด็กนั่นเอง การป้องกันภัยคุกคามจากฝั่งรัสเซียดังกล่าวของเอสโตเนีย ก้าวถึงขั้นที่ฝากระบบของรัฐทั้งหมดไว้ในคลาวด์ หากแผ่นดินเอสโตเนียถูกกองทัพยึดครองก็ยังสามารถอพยพย้ายไปอยู่ประเทศอื่น แล้วรีสตอร์ระบบของรัฐที่แบ็คอัพไว้ขึ้นมาใช้เพื่อบริหารกิจการของรัฐต่อไปได้

ปัจจุบัน เอสโตเนียกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้ต่อหัวและคุณภาพชีวิตระดับสูง GDP 15% ของเอสโตเนียมาจากสินค้าไฮเทค 66% มาจากภาคการบริการ คิดภาษีเงินได้ในอัตราเท่ากันหมดที่ 21% ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใด บริษัทธุรกิจไม่เสียภาษีในการทำธุรกิจออนไลน์ โดยจะเก็บเมื่อปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในฐานะภาษีเงินได้ การติดต่อรัฐบาลและธนาคารทั้งหมดสามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์ในเว็บเดียวของทางภาครัฐ ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบมีชิปการ์ด ใช้รหัสสองชั้นเพื่อยืนยันตัวตน และทำธุรกรรมดิจิทัลได้ทุกรูปแบบตั้งแต่ประกันภัย ขอใบขับขี่ ขอใบสั่งยาและประวัติการรักษาพยาบาล รับเงินสวัสดิการเลี้ยงดูบุตร แจ้งเกิด สมรส จนถึงแจ้งตาย GDP ต่อหัวอยู่ที่ 27,729 เหรียญสหรัฐ (มากกว่าไทย 5 เท่า) เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ดุลบัญชีเป็นบวก และหนี้สาธารณะมีเพียงแค่ 8% ของ GDP เป็นประเทศเจ้าหนี้ของ IMF และยูโรโซน เป็นประเทศที่จ่ายเงินสนับสนุน NATO ได้ครบถ้วน อินเทอร์เน็ตเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เสรีภาพสื่อเป็นอันดับ 3 ของโลก และประชาชนเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในยุโรป โดยมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยคนวัยหนุ่มสาว นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ยูรี ราตาส อายุเพียง 41 ปี ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากนายกรัฐมนตรีคนก่อน ทาวี รีวาส ที่ชนะเลือกตั้งตอนอายุ 39 ปี โดยอายุเฉลี่ยของคณะรัฐมนตรีปัจจุบันอยู่ที่ 42.6 ปี นับว่าเป็นครม.ที่เยาว์วัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ เอสโตเนียยังริเริ่มโครงการ e-residency ที่เปิดรับประชาชนจากทั่วโลกเข้ามาเป็นผู้พำนักในโลกออนไลน์ของเอสโตเนีย เพื่อเปิดบริษัท ทำธุรกิจ เสร็จได้ภายในไม่กี่นาทีโดยไม่ต้องเหยียบเข้าในแผ่นดินเอสโตเนียแม้แต่ก้าวเดียว

“เอสโตเนียเป็นประเทศของสตาร์ทอัพ ไม่ใช่แค่จำนวน แต่เป็นด้วยจิตวิญญาณประชาชาติ”

เบน โฮโรวิตซ์ นักลงทุน Venture Capital ชื่อดัง ได้กล่าวไว้ และความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่ของเอสโตเนียยังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับเอสโตเนียได้ที่นี่

e-Residency “สาธารณรัฐคนกันเอง” ความฝันใหญ่ของเอสโตเนีย

e-Resident อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว แค่เรายังไปไม่ถึงเท่านั้นเอง

 

หมายเหตุ :

The101.world ชวนผู้ที่สนใจประเทศเอสโตเนียกับประสบการณ์ในการสร้าง Digital Society มาร่วมฟังการบรรยายพิเศษโดย Mr. Viljar Lubi : Deputy Minister for Economic Development Ministry of Economic Affairs and Communications, Estonia. ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ในงานมันส์สมอง 2017 “มันส์สมอง | LET’S PLAY WITH KNOWLEDGE”

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023