fbpx
รู้มากยากนาน ผู้ไม่รู้จะอยู่สำราญ

รู้มากยากนาน ผู้ไม่รู้จะอยู่สำราญ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

คนมาขอสนทนาด้วยตั้งข้อสังเกตแก่ข้าพเจ้าว่า ข้อเขียนของอาจารย์อ่านแล้วเหมือนคนเขียนไม่พูดอะไรออกมาตรงๆ ใช้เรื่องที่เขียนเทียบเคียงไปถึงเรื่องที่ไม่ได้เขียน แล้วส่วนใหญ่อาจารย์ไม่เขียนฟันธงลงไป ไม่บอกให้คนอ่านรู้ชัดๆ ว่าจริงๆ อาจารย์คิดอะไร มีท่าทีอย่างไรแน่

ข้าพเจ้าบอกเขาว่าคนที่เรียนด้วยหลายคนก็เคยบอกทำนองนั้นเหมือนกัน อย่างปีหนึ่งมีนิสิตเขียนคอมเมนต์ให้ว่า พอพวกเราเสนอความเห็นอย่างหนึ่งออกมา อาจารย์ก็ตั้งตัวกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามด้วยท่าทางกระหยิ่มยินดี มองหาที่จะแย้งสิ่งที่พวกเราเสนอขึ้นมาเสมอ แล้วข้าพเจ้าก็ถามเขากลับว่า ที่เห็นว่าไม่ค่อยจะฟันธง ยกมาสักตัวอย่างได้ไหมว่าเรื่องไหน จะได้อธิบายให้ฟังถนัดขึ้นว่าทำไมจึงฟันธงลงไปไม่ได้

เขาว่า อย่างล่าสุดได้ฟังอาจารย์พูดในวงเสวนา อาจารย์พูดถึงคุณค่าที่เป็นสากลกับคุณค่าที่ยึดถือกันเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นแต่ละวัฒนธรรม แล้วอาจารย์ไม่ได้แสดงตัวออกมาชัดว่า ถ้าหาก 2 ส่วนนี้มันเกิดขัดกันขึ้นมา อาจารย์จะสนับสนุนคุณค่าที่เป็นสากล จะสนับสนุนหลักการที่สากลยอมรับนับถือว่าเป็นหลักอันไม่พึงละเมิดอย่างเช่นหลักสิทธิมนุษยชนไหม แบบนี้ถ้าหากจะจัดอาจารย์ว่าเป็นพวกตั้งข้อสงสัยต่อคุณค่าสากลจะได้ไหม เขาถาม

ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ต้องขอตอบไปทีละส่วนตามที่คิด และเท่าที่คิดออกและเข้าใจอยู่ในตอนนี้

เขาทักว่า นี่ไงครับ ตรงวิธีพูดของอาจารย์ที่เพิ่งว่ามาแบบนี้แหละครับ ที่ผมคิดว่าอาจารย์ใช้ยั้งๆ คำตอบของอาจารย์ไว้

อ้าว ต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะความคิดความเข้าใจเป็นของเปลี่ยนได้ ข้าพเจ้าบอกเขา และมันเป็นของควรเปลี่ยนได้ไม่ใช่หรือ ถ้าเราพบว่าโลกมันไม่ใช่และไม่ได้ทำงานอย่างที่เราคิด หรือเมื่อสภาพการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อความคิดที่เคยใช้ได้ มันใช้ไม่ได้ดีเหมือนเก่า ก็ควรเปลี่ยน ถูกไหมล่ะ จะไปถือไว้ทำไม หรือเมื่อเราเข้าใจอะไรดีขึ้น เราก็ต้องพูดใหม่อธิบายใหม่

อาจารย์เลยไม่อยู่ในแนวคิดทฤษฎีกระแสไหนหรือครับ

ถึงเวลาคิดก็ต้องอยู่สิครับ เราจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดสำหรับทำความเข้าใจโลกในส่วนที่เราตัดมาพิจารณา แต่เราควรอาศัยแนวคิดในแบบที่ลองใช้มันดูก่อน อย่าถึงกับไปปักใจกับแนวคิดไหนของใคร หรือคำอธิบายของทฤษฎีใดๆ จนเกินไปนัก ใช้มันเท่าที่ยังเห็นว่ามันใช้ได้ ใช้มันให้เต็มศักยภาพเท่าที่มันจะมี แต่ก็ให้เห็นในข้อจำกัดของมันด้วย ใช้ไปจนกว่าจะมีอะไรดีกว่านั้นมาให้ใช้แทน เรียกว่ายึดถืออยู่เป็นการชั่วคราว ถ้าจะว่าไป ที่คุณสงสัยนี่ จัดเป็นปัญหาทางปรัชญาความรู้ที่เก่าแก่มาก แต่ก็แก้กันไม่ตก

อย่างไรหรือครับ เขาถาม

คือในสิ่งที่เป็นความรู้ เราจะถือความรู้อย่างมั่นใจได้อย่างไร หรือว่าเราควรจะมองมันทั้งหมดด้วยความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ

กลับไปที่เดส์การ์ตส์หรือครับ?

ดู The Matrix ทวนกันสักรอบดีไหมแล้วค่อยเปิดอภิปรายเรื่องนี้กันต่อ หลายทฤษฎีของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ใช้การสร้างความรู้ด้วยวิธีคิดแบบนิรนัยของเดส์การ์ตส์ แต่หยุดที่เดส์การ์ตส์ไม่ได้ ต้องอ่านฮูมและหาทางถกเถียงกับเขาด้วย เพราะเขาเป็นคนพาเราเลื่อนมาพิจารณาที่ตัวผู้รู้ ความรู้อาจมีให้รู้ได้ไม่จำกัด แต่ถ้าตัวผู้รู้มีผัสสะรับประสบการณ์  แล้วผัสสะเหล่านั้นมีข้อจำกัดโดยลักษณะธรรมชาติของตัวมนุษย์ และลักษณะวิธีคิดตามธรรมชาติมนุษย์ที่เราชอบจับสิ่งที่เราเห็นเราสัมผัสมาต่อกันเข้า ว่าอันนี้เป็นอย่างนี้ๆ และมีความหมายแบบนี้ๆ เพราะว่าเป็นผลมาจากเรื่องนั้น หรือเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดสิ่งนี้ๆ แล้วมาสรุปว่า สิ่งนี้ถูก สิ่งนั้นผิด ต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะดี อย่างนั้นไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง แต่ทั้งหมดนี้เรารู้จริงๆ หรือ ถือว่าเป็นความรู้ได้แน่หรือ แล้วความคิดเกี่ยวกับถูกผิดดีเลว ความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และความคิดที่จะใช้หลักอะไรสักอย่างมายืนยันได้มารองรับได้ ว่าถูก ว่าใช่ ว่ายอมรับได้หรือให้พึงยอมรับ ทั้งหมดนี้มันมาจากไหน เราได้มาจากไหน หรือว่าอันที่จริง มันเป็นเพียงผลสะท้อนจากลักษณะวิธีคิดในหัวของเราเอง ที่ต้องการมองหาแบบแผนบางอย่างให้แก่ประสบการณ์ โดยการปะติดปะต่อเชื่อมโยงสิ่งที่เราเห็นเราสัมผัสพบเจอเข้าด้วยกัน มาถึงสมัยนี้อาจบอกได้ว่าธรรมชาติวิธีคิดแบบนี้ของตัวผู้รู้เป็นผลมาจากการทำงานของระบบประสาทส่วนนี้หรือส่วนไหนสักแห่งในสมองของคนเรา ซึ่งก็มีวิวัฒนาการมา

อาจารย์เลยอยู่ฝ่ายที่ไม่แน่ใจว่ารู้ใช่ไหมครับ เขาถามหาความชัดเจนอีกครั้ง

ความจริงทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหมดที่ผมรับสอนมาทุกปีจัดอยู่ในฝ่ายที่มั่นใจว่ามีความรู้อันแน่นอน  และผมว่าคงไม่มีตำราเล่มไหนกระมังที่จะขึ้นต้นนำเสนอความรู้ด้วยการบอกว่าทั้งหมดที่จะได้ประมวลและเรียบเรียงความคิดต่างๆ เขียนออกมานี้ ไม่ใช่ความรู้อันพึงยึดถือรับฟังได้ เขียนขึ้นมาหลอกให้หลงไป ควรเอาไปเผาไฟทิ้งเสียให้หมด

ก็ควรไหมล่ะครับ?

ควรเผาหนังสือเหล่านั้นหรือ ล้อเล่นหรือเปล่า แต่ยังมีอีกพวกที่ผมว่าน่าสนใจ ข้าพเจ้าเตรียมจะเปลี่ยนประเด็น

เดี๋ยวนะครับ เขาขัดจังหวะและดึงข้าพเจ้ากลับ ไม่ปล่อยให้ข้าพเจ้าขึ้นประเด็นใหม่ อาจารย์เห็นว่าไม่ควรเผาเพราะควรเก็บรักษาสิ่งที่เขียนขึ้นมาเพื่อหลอกให้หลงเอาไว้ หรือเพราะเห็นต่างออกไปจากฮูมว่ามันไม่ใช่ sophistry และ illusion แต่ควรนับว่าเป็นความรู้ได้ จึงไม่ควรเผา

ต่อให้มันเป็น illusion เราก็ไม่ควรทำลายมันเพียงเพราะมันไม่ใช่ความรู้ คนเราไม่ได้ต้องการแต่ความรู้ ความเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลินก็มีที่ทางอยู่ในจิตวิสัยของเราด้วย แน่ใจในข้อนี้ได้

ตกลงอาจารย์ไม่ให้เผาเพราะจะเก็บเรื่องไม่จริงเหล่านั้นไว้รักษาความเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลิน

และความงามด้วย ข้าพเจ้าต่อ

และความงามด้วย เขาทวนประโยคล้อ แล้วปล่อยให้ข้าพเจ้าว่าต่อ

อาจารย์ว่าต่อสิครับ พวกไหนอีกที่อาจารย์บอกว่าน่าสนใจ

คือพวกที่เสนอว่าความรู้เกิดจากแนวคิดที่เราคิดขึ้นมา และที่เราคิดขึ้นมานั้นเราคิดจากรูปแบบและโครงสร้างในการคิดที่มีอยู่แล้วในหัวของเรา เช่น การที่เราเห็นพื้นที่เป็น 3 มิติ ความคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ในเวลา ความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล การคิดด้วยรูปแบบและโครงสร้างความคิดที่มีอยู่ก่อนแล้วในหัวช่วยก่อรูปแนวคิดต่างๆ สำหรับให้เราไปเห็นไปพิจารณาโลก ไปใช้จัดการเปลี่ยนลักษณะของสิ่งต่างๆ ในโลก หรือไปเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ หรือให้ความหมายแก่มัน ให้เป็นไปตามแนวคิดที่เราคิดขึ้นมา   ไม่ว่าสภาวะที่เป็นจริงของโลกจะเป็นอย่างไร  และถึงแม้เราจะเข้าไม่ถึงความรู้เกี่ยวกับมันจริงๆ ทั้งหมดโดยตลอดได้ แต่โลกส่วนที่ปรากฏแก่เรา ประสบการณ์ที่เราได้รับจากโลก และการกระทำของเราต่อโลกรอบๆ ตัวเรา จะถูกเห็นถูกพิจารณาว่าใช่ หรือไม่ใช่ หรือยังไม่ใช่  ว่าเป็น ยังไม่เป็น หรือว่าไม่เป็นอย่างไร ไปตามแนวคิดที่เราคิดกันขึ้นมาใช้ทำความเข้าใจและที่เราเอามาใช้ตัดสิน  ถ้ามองว่าเราอยู่ในโลกที่เป็นทุกข์ เราก็เป็นทุกข์โดยความคิดพวกนี้ของเรา และทุกข์จากเหตุและผลอันเกิดมาจากการทำงานของแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ ที่เราคิดกันขึ้นมาใช้ต่อกัน ใช้ทำความเข้าใจ และใช้ตัดสินกัน ทั้งหมดมันเป็นความคิดจากการคิดของเราก็จริง แต่การทำงานของมันก็มีผลที่จับต้องได้เกิดขึ้นจริง

ถ้าไม่มองหรือไม่คิดว่าทุกข์ มองเป็นความหวังได้ไหมครับ เราเลือกคิดได้ว่าจะคิดแบบไหนไม่ใช่หรือครับ เขาถามข้าพเจ้าต่อ

โลกมันตอบสนองการกระทำตามแนวคิดจากความคิดและการคิดของเราประมาณหนึ่ง มันยอมอยู่ในกฎที่เราค้นพบ หรือกฎที่เราคิดและยึดถือกันไว้ประมาณหนึ่งในชั่วเวลาสักระยะหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด และไม่เสมอไป โลกส่วนที่ไม่เป็นไปตามการกระทำของเราไม่เป็นไปตามความตั้งใจหรือตามกฎของเรามีอยู่มากกว่ามาก ถ้าอาศัยความรู้จากส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มามองหาความหวัง คงเหลือความหวังให้หวังอะไรได้น้อยมาก ความคิดส่วนที่ฮูมบอกว่าเป็น illusion ต่างหากที่จะช่วยรักษาความหวังให้เรา ถ้าถูกเก็บเอาไปเผาเสียหมด ในโลกที่เหลือให้ไว้แต่ส่วนที่เป็นความจริงและความรู้ในแบบของฮูมล้วนๆ ก็จะเป็นโลกที่แร้นแค้นมาก

ผมเข้าใจแล้วครับ

เข้าใจว่าอย่างไรหรือครับ

เขาไม่ตอบ แต่ขอบคุณข้าพเจ้าที่สละเวลา  แล้วคนที่พาไป ก็พาข้าพเจ้าออกมาจากที่นั้น.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save