fbpx
โรคระบาดในวรรณกรรม

โรคระบาดในวรรณกรรม

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

 

 

-1-

 

เกิดอาการเจ็บป่วยลึกลับในแคว้นฉงชิ่ง ประเทศจีน หมอถูกเรียกให้ไปตรวจเคสประหลาดในหมู่บ้านห่างไกลชื่อดาชาง เด็กชายวัย 12 ขวบถูกกักตัวไว้ในบ้านที่ไม่มีคนอยู่ มือและเท้าถูกมัดไว้ ผู้ป่วยพยายามขัดขืนให้หลุดจากพันธนาการจนเชือกบาดเป็นแผลลึกแต่ไม่แสดงอาการว่าเจ็บปวด หัวแม่เท้าขวาหายไป ก่อนหน้านี้เขากับพ่อไปดำน้ำงมหาสมบัติจากซากหมู่บ้านใต้น้ำในเขื่อนซานเสียต้าป้าหรือเขื่อนสามโตรก เด็กชายเดินร้องไห้กลับบ้านพร้อมรอยกัดที่เท้า ส่วนพ่อนั้นหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เด็กชายเริ่มจู่โจมและกัดคนรอบข้าง จึงต้องมัดตัวและขังไว้ ดังที่หมอมาพบ

นี่คือ Patient Zero ของโรคระบาดลึกลับ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “คำสาป” ผู้ที่โดนกัดจะเริ่มมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยคนแรก พบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ทิเบต กรีก บราซิล อิสราเอล ญี่ปุ่น และอเมริกา ในตอนแรกไม่พบความเชื่อมโยงกับเคสในจีน โรคนี้ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น Walking Plague, African Rabies, Blight สาเหตุของโรคเกิดจาก Zombie Virus ซึ่งติดต่อผ่านบาดแผลที่ถูกกัดหรือการปลูกถ่ายอวัยวะที่ติดเชื้อ ไม่พบหนทางรักษาอื่นใดนอกจากทำลายสมองของผู้ป่วยเพื่อระงับการแพร่เชื้อ

โรคระบาดที่ว่าทำให้คนกลายเป็นซอมบี้ และอยู่ในนวนิยายเรื่อง World War Z ของ Max Brooks (2006) เราโล่งใจได้ว่าเรื่องเลวร้ายเช่นนี้เกิดในนิยาย เป็นเรื่องแต่งจากจินตนาการของผู้เขียน ไม่มีความเชื่อมโยงหรือคล้ายคลึงกับโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน

หรือไม่ใช่

ในช่วงแรกๆ ประเทศที่พบเชื้อซอมบี้พยายามปกปิดเพราะมักพบผู้ป่วยในหมู่คนลี้ภัย ชนกลุ่มน้อยที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งอาจได้มาด้วยวิธีการไม่ชอบ นอกจากปกปิดข่าวโรคระบาดแล้ว บางประเทศประกาศสงครามกับเพื่อนบ้าน (จีน-ไต้หวัน) เพื่อหันเหความสนใจประชาชน อิสราเอลถอนกำลังออกจากปาเลสไตน์และปิดประเทศ ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง สหรัฐอเมริกาเชื่อมั่นว่าตนสามารถโต้ตอบและสกัดภัยคุกคามได้ทุกประเภทจึงไม่มีการเตรียมตัวตั้งรับวิกฤตซอมบี้ ทั้งยังไม่อยากสร้างความแตกตื่นในปีหาเสียงเลือกตั้ง จึงประชาสัมพันธ์ใช้ยาหลอกเพื่อซื้อความเชื่อมั่นจากประชาชน

แอฟริกาใต้เป็นประเทศต้นคิดมาตรการรับมือกับซอมบี้ที่ได้ผล โดยจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยขนาดเล็กกระจายตัวเป็นหย่อมๆ และปล่อยให้คนส่วนใหญ่อยู่ใน “เขตพิเศษ” เพื่อเป็นเหยื่อล่อซอมบี้ให้ห่างจากพื้นที่ปลอดภัย หลายประเทศรับโมเดลนี้ไปใช้ พอล เรเดเคอร์ เจ้าของโมเดลนี้รอดชีวิตจากวิกฤตและภายหลังอยู่ในสถานบำบัดผู้ป่วยทางจิต

World War Z เป็นนวนิยายที่ดำเนินเรื่องตามคำให้สัมภาษณ์ของผู้รอดชีวิตซึ่งเป็นพยานในเหตุการณ์ เจสิกา เฮนด์ริกส์ จากรัฐวิสคอนซินเล่าว่าในตอนต้น ผู้สื่อข่าวไร้ความเป็นมืออาชีพ เสนอข้อเท็จจริงน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการสร้างเรื่อง “ผู้เชี่ยวชาญ” ให้ข้อมูลขัดแย้งกัน และประชาชนสับสนจนทำอะไรไม่ถูก

ภารตี ปัลชิการ์ ล่ามชาวอินเดียเล่าว่าข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด และศัตรูคืออวิชชา คำเท็จ ความเชื่องมงาย ข้อมูลผิดหรือปลอม ความไม่รู้เป็นสาเหตุของสงครามกับซอมบี้และคร่าชีวิตหลายพันล้านคน

อาเธอร์ ซินแคลร์ พยานอีกปากหนึ่ง เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ คนต้องปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อการอยู่รอด แรงงานปกขาวไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ทนายความและศิลปินต้องเรียนรู้ที่จะสร้างและซ่อมแซมบ้านของตน ทำงานไม้และงานช่าง ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปลูกพืช ทำเสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เป็นประโยชน์ หรือแม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างการทำน้ำให้สะอาดเพื่อการบริโภค

จากมุมหนึ่ง World War Z เป็นนิยายแนวระทึกขวัญเกี่ยวกับซอมบี้ ในช่วงที่วิกฤตรุนแรงสูงสุด มีผู้ติดเชื้อ 200 ล้านคนทั่วโลก สหประชาชาติมีมติทำสงครามกับซอมบี้ ซินแคลร์เปรียบว่ามนุษย์คือฝ่ายสัมพันธมิตรสงครามครั้งนี้ ซึ่งในสงครามโลกครั้งก่อนนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรชนะด้วยปัจจัย 3 ประการ คือมีอาวุธยุทโธปรกรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติที่จะผลิตสิ่งเหล่านั้น และระบบขนส่งที่นำทรัพยาการไปสู่โรงงานผลิต และนำผลผลิตสู่สนามรบ แต่ทว่าในการรบครั้งนี้ซอมบี้ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก นายพลแอมโบรเซียเล่าถึงการทำสงครามครั้งนี้ว่าศัตรูน่ากลัวเพราะแทบไม่มีจุดอ่อน ไม่ต้องการเสบียง ไม่ใช้อาวุธ ไม่ต้องการแม้กระทั่งน้ำดื่มหรืออากาศหายใจ ดังนั้นจึงไม่สามารถเอาชนะได้โดยการตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธหรือเสบียง หรือปิดล้อมศัตรูเพื่อให้ยอมแพ้หรืออดตายไปเอง

แต่ผู้ร้ายตัวจริงในเรื่องนี้คือรัฐบาลและระบบราชการซึ่งไร้สมรรถภาพ ขาดวิสัยทัศน์และคดโกง จึงไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ในทางกลับกันก็มีความไม่วางใจระหว่างประเทศ ต่างโทษว่าเป็นความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนานาประเทศลงมติเปิดสงครามซึ่งหน้ากับซอมบี้เท่านั้น มนุษย์ส่วนหนึ่งจึงรอดจากวิกฤตครั้งนี้มาได้อย่างหวุดหวิด

-2-

 

หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก ยอดขายหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโรคระบาดก็พุ่งสูงขึ้นและมีผู้อ่านสนใจมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะประสบการณ์ร่วมของผู้อ่านทำให้เข้าใจและสนใจหนังสือเหล่านี้ยิ่งขึ้น หรือผู้อ่านอาจต้องการ “หนี” จากโลกแห่งความเป็นจริงเข้าสู่โลกที่แต่งขึ้นจากจินตนาการ ด้วยหวังว่าหนังสืออาจมอบ “ทางออก” หรือข้อสรุปบางประการต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่จริง

ด้วยชื่ออันเรียบง่ายและตรงประเด็น หนังสือเล่มหลักที่คนนึกถึงคือ The Plague (ต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อ La Peste ตีพิมพ์ในปี 1947 ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อ กาฬวิบัติ) ของ Albert Camus นักเขียนชาวแอลจีเรีย-ฝรั่งเศส เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีในปี 1957

ในโอร็อง เมืองสมมติแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้เล่าในเรื่องกล่าวว่ามีลักษณะธรรมดาน่าเบื่อ ไม่ต่างจากเมืองทุกแห่งทั่วโลก คนมีชีวิตอยู่เพื่อธุรกิจและการทำกำไร สนใจความบันเทิงเล็กน้อยเพื่อฆ่าเวลา เกิดเหตุการณ์ประหลาด วันแรกๆ พบหนูตายในที่ต่างๆ ต่อมาคนเริ่มล้มป่วยและตาย ผู้ป่วยมีไข้สูง เพ้อ มีรอยช้ำบนหน้าขา บ่นว่าเจ็บปวดในกายเหมือนมีไฟไหม้สุมอยู่และกระหายน้ำอย่างหนัก อาเจียนเป็นเมือกปนเลือด เกิดฝีหนองใต้รักแร้ ปมประสาทและต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวมโต และเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง

ในตอนแรกทางการลังเลที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ยอมรับและประกาศอย่างเป็นทางการว่าเกิดโรคระบาดในโอร็อง เพราะจะทำให้ผู้คนแตกตื่น แพทย์หลายคนไม่กล้าลงความเห็นชี้ชัดว่านี่คือโรคระบาด แต่ทว่านายแพทย์ริเออซ์ยืนกรานและเรียกร้องให้ทางการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทันที ก่อนที่โรคนี้จะคร่าชีวิตคนไปครึ่งเมือง

ในตอนต้นมีการปิดโปสเตอร์รณรงค์ให้ประชาชนกำจัดหนู รักษาความสะอาดร่างกายและบ้านเรือน รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หากเป็นไข้ แยกตัวผู้ป่วยในหอพักพิเศษในโรงพยาบาล ส่วนญาติคนไข้ต้องกักตัว พร้อมทั้งมีการจับตามองกิจกรรมที่สุสานเพื่อเก็บสถิติจำนวนผู้เสียชีวิต รัฐประกาศใช้มาตรการเหล่านี้ด้วยหวังว่าโรคจะหายไปเอง แต่เมื่อไม่เป็นตามคาด จึงประกาศปิดเมือง ตัดขาดจากโลกภายนอก

หลังจากเมืองปิด ทุกคนตระหนักว่าอยู่ในสถานการณ์เดียวกันและเท่าเทียมกัน มีความรู้สึกเดียวดายและหวาดกลัวเหมือนกัน คนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แม้แต่จดหมายก็ห้ามส่งเพราะอาจแพร่เชื้อ ญาติพี่น้องที่อยู่นอกเมืองตอนประกาศปิดเมืองก็ติดอยู่ข้างนอกต่อไป ไม่สามารถกลับบ้านได้ แม้ว่าต่อมาอนุญาตให้คนกลับเข้าเมืองได้แต่ไม่ให้ออกไปอีก ญาติในเมืองก็กลัวว่าคนที่ตนรักจะติดเชื้อจึงตัดสินใจให้ญาติอยู่นอกเมืองต่อไป โทรศัพท์ก็สงวนไว้ใช้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

วิธีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกวิธีเดียวที่เหลือคือโทรเลข แต่ในไม่ช้าคนก็เลิกส่งความรักและความห่วงใยผ่านถ้อยคำสั้นห้วน ความยาวจำกัด เพราะไม่สามารถส่งสารอื่นใดได้อีก คนพยายามคาดเดาว่าเรื่องราวจะจบลงเมื่อไร สามเดือน? หกเดือน? แต่ผลที่ได้มีแต่ความสิ้นหวัง ผู้คนจึงมุ่งอยู่กับปัจจุบัน

ญาติผู้ป่วยบางคนไม่เรียกหมอและไม่อยากนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพราะเกรงว่าจะไม่ได้เห็นหน้ากันอีกจนกว่าจะรักษาหายหรือตาย ซึ่งกรณีหลังมีความเป็นไปได้มากกว่า ชายคนหนึ่งกักตุนอาหารกระป๋องแต่ล้มป่วยและตายก่อนได้กินอาหารที่แอบซ่อนไว้ใต้เตียง

รองแบร์ต นักข่าวจากนอกเมืองไม่สามารถกลับออกไป เขาจึงถูกพรากจากครอบครัวและติดอยู่ในเมืองที่ไม่ใช่บ้าน เขาพยายามหาทางออกจากเมือง แต่หมอไม่สามารถออกใบรับร้องว่าผู้ใดไม่ป่วยเป็นโรคนี้ เพราะหมอเองก็ไม่แน่ใจ แม้วินิจฉัยได้ก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าคนผู้นั้นจะไม่ติดโรคหลังจากเดินทางจากบ้านหมอไปที่ยังที่ทำการของรัฐเพื่อขอใบผ่านออกจากเมือง อีกประการหนึ่ง ถ้าหมอออกใบรับรองแพทย์ให้หนึ่งคน ก็จะมีคนอีกเป็นร้อยเป็นพันที่ต้องการเดินทางออกจากเมือง และหมอไม่สามารถปล่อยให้โรคระบาดแพร่ออกไปในวงกว้าง

รองแบร์ตจึงหาช่องทางผิดกฎหมายผ่านคนที่ลักลอบขนสินค้าหรือพาคนออกนอกเมือง เขาพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งเพราะคนที่นัดไว้ไม่มาตามนัดโดยไม่ทราบเหตุผล ในที่สุดเมื่อเขานัดแนะให้คนพาเขาออกจากเมืองได้สำเร็จ เขาก็ตัดสินใจไม่ไป เพราะเขาคิดว่าเป็นเรื่องน่าละอายที่ตนจะหนีไปมีความสุขแต่ผู้เดียวในขณะที่ชาวเมืองผจญโรคร้าย เขาอยู่ช่วยหมอดูแลผู้ป่วยเท่าที่ทำได้

งานราชการดำเนินต่อไปเพราะระบบราชการถูกคิดค้นขึ้นเพื่อการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำสิ่งที่ไร้สาระ ไร้ผล กีดกันไม่ให้ทำกิจใดเสร็จหรือสำฤทธิ์ผลจริง

ชาวเมืองทุกคนไม่เห็นจุดจบของวิกฤตที่เผชิญอยู่ แต่ก็เฝ้ารำพึงรำพันว่าเมื่อหมดโรคระบาด พวกเขาจะทำอะไรเป็นอย่างแรก พวกเขาถวิลหาปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ แต่ทว่าไม่ยอมปลดปล่อยตัวเองจากความคลางแคลงใจ ไม่เชื่อใจคนอื่น และท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ทำในสิ่งที่บอกว่าอยากจะทำ นอกจากนี้พวกเขายังเชื่อว่าเมื่อผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ชีวิตของพวกเขาจะเปลี่ยนไปทุกด้าน แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะธรรมชาติของมนุษย์อยากลืม และคนในเมืองโอร็องก็ลืมเรื่องโรคระบาดและกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม

แม้ว่า The Plague อาจดูสิ้นหวัง โดยเฉพาะหากเราอ่านหนังสือเล่มนี้ในช่วงนี้ ตอนที่ประสบการณ์ของเราไม่ต่างจากชาวเมืองโอร็อง แต่ในความสิ้นหวังมืดมนก็ยังมีความหวังในมนุษยชาติ

เรื่องเลวร้ายทั้งหลายในโลกก็เป็นเหมือนโรคระบาด มันท้าทายให้มนุษย์ยกระดับจิตใจตนเองและก้าวผ่านมันไป

-3-

 

นวนิยายอีกเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงการระบาดของโรคประหลาดลึกลับคือ Blindness และในเรื่องมนุษย์ต้องผ่านเคราะห์กรรมหนักหนาสาหัสที่มองไม่เห็นทางออก มองไม่เห็นจริงๆ เพราะโรคติดต่อที่ว่าคือ โรคตาบอด

ชายคนหนึ่งกำลังขับรถกลับบ้าน ขณะที่รถติดไฟแดงอยู่นั้น ตาของเขาก็เกิดบอดขึ้นกะทันหัน ชายแปลกหน้าอาสาพาไปส่งบ้านแต่หลังจากนั้นก็ขโมยรถของชายคนแรกไป ภรรยาชายคนแรกพาเขาไปพบจักษุแพทย์แต่แพทย์ไม่พบรอยโรคหรืออาการผิดปกติใดๆ คืนนั้น ขณะศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับอาการประหลาดของชายตาบอด คุณหมอก็กลับมองไม่เห็นไปอีกคน

ทุกคนที่เกี่ยวเนื่องและอยู่ใกล้ชายคนแรกเกิดตาบอด และแพร่อาการตาบอดให้คนอื่นๆ ต่อไป ผู้ป่วยทุกคนเกิดอาการตาบอดเฉียบพลัน เห็นทุกสิ่งเป็นสีขาวเหมือนทะเลน้ำนม ในไม่ช้าคนทั้งเมืองก็ตาบอด ยกเว้นภรรยาคุณหมอที่ตาไม่บอดและต้องทนเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด

คนตาบอดคนแรกๆ ถูกส่งตัวไปยังสถานกักกันโรค (เดิมเป็นสถานดูแลผู้ป่วยทางจิต) ซึ่งแบ่งเป็นสองปีก สำหรับคนที่ตาบอดแล้วและผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ เมื่อกลุ่มหลังเกิดตาบอดขึ้นมาก็จะย้ายหรือถูกขับไล่มายังปีกของคนตาบอด ทุกคนต้องดูแลตัวเอง หาทางไปห้องน้ำและส่งตัวแทนไปรับอาหารที่ลานกว้างด้านหน้าตึกมาแบ่งกัน ต่อมาเมื่อผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้น เกิดปัญหาความแออัด ความสกปรก และการขาดแคลนอาหาร ซ้ำร้ายคนตาบอดที่มาใหม่กลุ่มหนึ่งตั้งตนเป็นนักเลงคุมถิ่น พกอาวุธ กักตุนอาหารทั้งหมดไว้ และรีดไถทรัพย์สินและ “บริการ” จากคนตาบอดด้วยกัน ชีวิตในสถานกักกันโรคเลวร้ายเกินจินตนาการ คนขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง มีเซ็กส์กันอย่างโจ่งแจ้งเพราะไม่มีใครเห็น หากมีคนตายก็ต้องหาทางฝังศพกันเอง เกียรติแห่งความเป็นคนเสื่อมถอย ขณะที่ผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมแบบเดียวกันกลุ่มหนึ่งเห็นใจและช่วยเหลือกัน ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ผู้อื่นแม้ว่าตัวเองจะตาบอด

ความชั่วร้ายและความสกปรกโสมมทั้งในเชิงเปรียบเปรยและความหมายตรงตัว ของมนุษย์ในสถานกักกันดำเนินต่อไปถึงขีดสุด จนเกิดเพลิงไหว้วอดวาย ไม่มีคนภายนอกยื่นมือเข้าช่วยเพราะทุกคนก็ตาบอดเหมือนกัน ภรรยาคุณหมอนำคนกลุ่มเล็กๆ ออกจากสถานกักกันเพื่อกลับบ้านของตน ระหว่างทางพวกเขาพบว่าทั้งเมืองเต็มไปด้วยคนตาบอดไร้บ้าน ทุกคนออกหาอาหารระหว่างวัน หยุดพักตามร้านรวงหรืออาคารที่เข้าพักได้ ยึดครองเป็นบ้านชั่วคราวแล้วก็จากไปเพื่อหาอาหารในวันใหม่ ร้านค้าที่มีอาหารถูกกวาดจนเกลี้ยง ทั้งวันหมดไปกับการหาอาหารและการขับถ่าย ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสิ้นหวัง แล้วจู่ๆ ตาของทุกคนก็กลับมามองเห็นได้อีกครั้งราวปาฏิหารย์

ตัวละครทุกตัวในเรื่องไม่มีชื่อ เรียกตามอาชีพหรือลักษณะของตัวละคร เช่น ชายตาบอดคนแรก คุณหมอ ภรรยาคุณหมอ ชายแก่คาดผ้าปิดตา หญิงสาวสวมแว่นดำ เป็นต้น อาการตาบอดได้ปิดกั้นโลกภายนอกและพรากอัตลักษณ์ไปจากตัวละครทุกตัว เมื่อตาบอดก็ไม่จำเป็นต้องมีชื่อ คนตาบอดคนหนึ่งก็เหมือนคนตาบอดคนอื่นๆ นั่นเอง

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นใน Blindness ผลงานของ Jose Saramago นักเขียนชาวโปรตุเกสเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีในปี 1998 ต้นฉบับเป็นภาษาโปรตุเกสชื่อ Ensaio sobre a Cegueira (ความเรียงว่าด้วยอาการตาบอด) ตีพิมพ์ในปี 1995 ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อ บอด

เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ Blindness ใช้มาตรการกักโรค คนตาบอดถูกมองว่าเป็นพาหะนำโรคอันตราย เป็นภัยต่อสังคม และถูกปฏิบัติเยี่ยงนักโทษผู้มีความผิด มีทหารเฝ้ารั้วไม่ให้มีใครออกจากสถานกักกันหรือแม้แต่เดินมาใกล้รั้ว หากใครฝ่าฝืนให้ยิงทิ้งทันที เสบียงอาหารก็จัดมาไม่เพียงพอ จักษุแพทย์ที่มีอยู่เพียงคนเดียวก็กลับตาบอด ทำประโยชน์อะไรไม่ได้

-4-

 

ใน “The Masque of the Red Death” (1842) เรื่องสั้นของ Edgar Allen Poe เกิดโรคระบาดร้ายแรงและน่ากลัวในประเทศสมมติมายาวนาน ผู้ติดเชื้อจะรู้สึกเจ็บแปลบ หน้ามืดเฉียบพลัน เลือดไหลจากทุกรูขุมขน และเสียชีวิตภายในครึ่งชั่วโมง ด้วยภาพสยดสยองของผู้ติดเชื้อ จึงไม่มีใครกล้าเข้าช่วย โรคนี้ชื่อว่า “Red Death” (โลหิตโรค) ภาษาไทยใช้ชื่อ “โรคมรณะ”

เมื่อประชากรตายเหลือครึ่งหนึ่ง เจ้าชายพรอสเพโรผู้ครองนครเชิญแขกหนึ่งพันคนเข้ามาในปราสาทของเขา และปิดกั้นตนเองอยู่ในนั้นจนกว่าโรคระบาดจะผ่านไป โดยมีสิ่งบันเทิง เช่น วงดนตรี นักเต้นบัลเลต์ และมหรสพครบครัน พร้อมทั้งเหล้ายาอาหาร ในปราสาทแบ่งเป็น 7 ส่วน แต่ละส่วนทาสีต่างกันและตกแต่งงดงาม เครื่องตกแต่งออกจะแปลกแต่ดูโก้หรูแม้ว่าไม่มีแสงไฟเลยก็ตาม

เมื่อเวลาผ่านไปได้ 5-6 เดือน คืนหนึ่ง เพื่อสร้างความรื่นเริงแก่ทุกคน พรอสเพโรประกาศให้มีงานเลี้ยงแฟนซี โดยธีมของงานคือความน่าสะพรึงกลัว เมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงคืน แขกคนหนึ่งซึ่งไม่มีใครเห็นมาก่อนปรากฏตัวขึ้น ร่างสูง ผอม มีผ้าคลุมตลอดหัวจรดเท้าเหมือนผ้าห่อศพ ทั่วร่างและหน้ามีสีแดง ตัวแข็งทื่อ และเคลื่อนกายช้าสมบทบาท แขกผู้นี้แต่งกายเป็น “Red Death” น่ากลัวจนทุกคนตื่นตะลึง เดินไปทางไหนผู้คนก็แตกฮือ พรอสเพโรต้องการทราบว่าแขกคนนั้นเป็นใครและสั่งให้คนจับตัวเพื่อเอาไปลงโทษที่เล่นพิเรนทร์ มีบางเรื่องที่ไม่ควรนำมาล้อเล่น แต่ทว่าใครเล่าจะกล้าแตะต้องหรือแม้แต่เข้าใกล้ Red Death

พรอสเพโรจึงต้องตามจับด้วยตนเอง จนถึงห้องสุดท้าย เมื่อพรอสเพโรใกล้ถึงตัวพร้อมชักกริชออกมา Red Death ซึ่งอยู่ไกลแค่แขนเอื้อมถึง หันกลับมาเผชิญหน้ากับพรอสเพโรผู้ล้มลงตายคาที่ เมื่อผ้าคลุมเปิดออก เผยให้เห็นว่าภายใต้หน้ากากและผ้าคลุมนั้นมีเพียงความว่างเปล่า ไม่มีกายหยาบอยู่เลย

มาตรการรับมือกับโรคระบาดของพรอสเพโรคือการกักตัว และคงกักตุนอาหารด้วย (แม้ว่าเขาคงลืมกว้านซื้อเทียนมาพร้อมกับกระดาษชำระ) พร้อมวางแผนความบันเทิงไว้พร้อม แนวคิดของเขาคือกันตัวเองออกจากโรค เก็บตัวภายในปราสาท แต่ทว่าโรคก็ผ่านเข้ามาโดยง่ายและแม้แต่ทหารเฝ้ายามก็สกัดกั้นไว้ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถควบคุมกีดกัน พรอสเพโรเป็นผู้นำที่เอาเปรียบประชาชน เอาตัวรอด ไม่ใส่ใจประชนชนในปกครอง แขกที่เขาเชิญให้เข้ามาอยู่ในปราสาทก็คงเชิญมาเพื่อให้เป็นเพื่อนแก้เหงาและสร้างความบันเทิงให้แก่ตนเอง เมื่อเขาตายในตอนท้าย ผู้อ่านก็คงไม่นึกสงสาร

ที่น่าคิดคือเรื่องสั้นเรื่องนี้มี Red Death เป็นพระเอกที่สร้างความเสมอภาค คร่าชีวิตทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน สีแดงและเลือดนั้นก็เป็นตัวแทนของทั้งชีวิตและความตายซึ่งเป็นลักษณะร่วมของมนุษย์ปุถุชน เรื่องราวของพรอสเพโรที่กันตัวออกจาก Red Death นั้นก็เป็นความพยายามอันสิ้นหวังที่จะกันตัวเองให้พ้นจากความตาย

อนึ่ง มีคนตีความเกี่ยวกับโรค Red Death ในเรื่องนี้หลากหลาย บ้างก็ว่าน่าจะเป็นวัณโรคเพราะหลายคนในครอบครัวของเอ็ดการ์ อัลเลน โพ เสียชีวิตด้วยวัณโรค บ้างก็ว่าอาจเป็นอหิวาตกโรคซึ่งระบาดในรัฐแมรีแลนด์ในปี 1831 บ้างก็ว่าภาพ “ความตายสีแดง” ในห้องสีดำนั้นแสดงถึงกาฬโรค อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าการเทียบเรื่องแต่งกับเรื่องจริงและพยายามระบุโรคที่แท้จริงนั้นไม่ได้ประโยชน์เท่ากับความคิดที่เราได้จากเรื่อง เกี่ยวกับแบบอย่างความเป็นผู้นำของพรอสเพโรและธรรมชาติของความตาย

ทั้งสี่เรื่องที่ยกมามอบความหลากหลายให้แก่ผู้อ่าน ทั้งในแง่ของประเภทหนังสือ เนื้อหา และฉากของเรื่อง ครอบคลุมพื้นที่ในจินตนาการ (ซึ่งเป็นประเทศที่มีขอบเขตกว้างขวางสุดพรรณนา) และหลายประเทศทั่วโลก ในวิธีทางต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่แต่ละครั้ง

วรรณกรรมเหล่านี้มีส่วนคล้ายชีวิตจริงจนเกือบล้อกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน หากเราอ่านข้ามชื่อหนังสือหรือรายละเอียดบางประการ เราสามารถเชื่อมโยงได้กับประสบการณ์จริงที่เราประสบอยู่ แต่หากเราต้องการคำตอบหรือทางออก เราก็อาจผิดหวังเพราะโรคระบาดในเรื่อง The Plague และ Blindness หายไปเองอย่างไร้คำอธิบาย เช่นเดียวกับตอนที่มันเกิดขึ้นแต่ก็ทิ้งปัญหาและความสูญเสียไว้ คนไม่สามารถสกัดกั้น Red Death ในเรื่องสั้นของโพ และต้องยอมจำนนต่อความตายในที่สุด World War Z เป็นเรื่องเดียวที่มนุษย์ฝ่าฝันอุปสรรคและเอาชนะโรคร้ายได้ แต่ก็เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่และผู้รอดชีวิตก็มีปมจากประสบการณ์ของตน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save