fbpx
‘โรคระบาด’ ในรัฐธรรมนูญไทย

‘โรคระบาด’ ในรัฐธรรมนูญไทย

อิสระ ชูศรี เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ย้อนเวลากลับไปก่อนที่การระบาดของ ‘โควิด-19’ จะทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้มหาวิทยาลัยและสถานศึกษาต่างๆ ทยอยกันปิดการเรียนการสอน และค่อยๆ ลดกิจกรรมที่มีการมาประชุมกันของคนจำนวนมาก ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยเกิดการชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษาที่ดำเนินไปอย่างเข้มแข็งและมีข้อเรียกร้องที่เข้มข้น ไม่เฉพาะเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังเรียกร้องไปไกลถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ช่วงนั้นมีเหตุการณ์ที่ทับซ้อนกันระหว่างการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการร่ำร้องให้รัฐบาลเร่งบรรเทาความลำบากของประชาชนที่กำลังเผชิญปัญหาโรคระบาด มีกระแสเสียงโต้แย้งกันถึงการจัดลำดับความสำคัญระหว่างการแก้ไขกติกาสูงสุดทางการเมืองและการบริหารจัดการปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ

กระแสเสียงหนึ่งบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกมิติของการใช้ชีวิตในสังคม ถ้าการเมืองเลว การบริหารจัดการในทุกมิติก็ไม่มีทางจะดีได้ ขณะที่อีกกระแสเสียงหนึ่งบอกว่าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใครมาทำหน้าที่ทางการเมือง ชีวิตของประชาชนก็ย่อมดำเนินไปโดยการคัดหางเสือของตนเอง โดยไม่มีใครสามารถที่จะมาช่วยเหลือได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพินิจพิจารณาสถานการณ์โรคระบาดที่กำลังล้อมเราอยู่ให้ดี จะพบว่าการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก และไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการซ่อมบำรุงร่างกายเท่านั้น แต่มันเกี่ยวข้องกันกับการควบคุมและการตัดสินใจใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และการใช้อำนาจทางการเมืองเข้ากำกับการเดินทาง การทำงาน และการใช้เวลาว่างของประชาชนอีกด้วย

โรคระบาดเป็นปัญหาระดับมหาชนและมีความเป็นการเมืองอย่างที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะเห็นรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในโลกใช้วิธีที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกันมาจัดการกับการระบาดของไวรัสชนิดเดียวกัน โดยแตกต่างกันตามระบอบการปกครองและโครงสร้างอำนาจในประเทศนั้นๆ ยังไม่นับว่าวัฒนธรรมของประชาชนในแต่ละประเทศมีความหลากหลายแตกต่างกันจนส่งผลต่อแบบแผนการระบาดของไวรัส

มีบางคนกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงที่จะต้องเข้ามาจัดการดูแลประชาชนในสถานการณ์โรคระบาด แทนที่จะปล่อยให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองเหมือนกับกรณีโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง

ในทางกลับกัน คนไทยอีกมากที่ไม่ยอมรับว่าการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐในภาคบังคับ ไม่ใช่สิ่งที่ทำตามความเมตตากรุณาของผู้นำเพื่อสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือทำไมคนไทยจึงยอมรับเวลาที่ผู้นำรัฐบาลแสดงออกเหมือนคนที่มีหน้าที่แค่คอยแนะนำวิธีล้างมือหรือคนเยี่ยมไข้ที่กำลังปลอบใจคนป่วยและครอบครัว แทนที่จะแสดงความเป็นผู้นำในการเร่งต่อสู้กับโรคระบาดอย่างจริงจังกว่านี้

ผมกลับไปทบทวนดูใน “รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ” ที่ผ่านมาของไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2560 ว่ามีฉบับใดบ้างที่กล่าวถึงสิทธิ์ด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องการกับโรคระบาดหรือโรคติดต่อร้ายแรง (คลังข้อมูลรัฐธรรมนูญที่เป็นไฟล์ข้อความที่ผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อความด้วยคอมพิวเตอร์ได้นี้ เรียบเรียงขึ้นโดยนายวรรณพงษ์ ภัททิยไพบูลย์ นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย)

สาธารณสุขในรัฐธรรมนูญไทย 2492-2560

จากข้อมูลในธรรมนูญการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และรัฐธรรมนูญจำนวน 20 ฉบับ มีฉบับที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ‘สาธารณสุข’ หรือ ‘โรค’ หรือ ‘สุขภาพ’ หรือ ‘อนามัย’ หรือ ‘พยาบาล’ หรือ ‘แพทย์’ จำนวน 12 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กล่าวถึงเรื่องนี้คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492” ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 62 และมาตรา 72

โดยมาตราแรกนั้นว่าด้วยการศึกษาอบรมประชาชนให้เป็นพลเมืองดีมีร่างกายแข็งแรง ในขณะที่มาตราถัดมาเป็นการระบุว่ารัฐมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจัดการโรคระบาด ซึ่งเป็นที่ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ระดับโลกว่าข้อความนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยเพียงปีเดียวหลังจากมีการก่อตั้งองค์การอนามัยโลกขึ้นในปี พ.ศ. 2491

มาตรา 72 รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดถึงการมารดาและทารกสงเคราะห์ การป้องกันและปราบโรคระบาดรัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492, เน้นโดยผู้เขียน)

รัฐธรรมนูญมาตราข้างต้นปรากฏเหมือนกันหมดทั้งข้อความในมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2495 แต่หลังจากนั้นก็หายไปจากธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2515 แล้วจึงกลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้งในวรรค 3 ของมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 เพียงหนึ่งปีหลังจากการประท้วงใหญ่ของประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยมีการเปลี่ยนแปลงคำว่า “โรคระบาด” เป็น “โรคติดต่ออันตราย”

มาตรา 92 รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดถึงการอนามัยครอบครัว และพึงคุ้มครองสุขภาพของบุคคล และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

รัฐพึงให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า

การป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตรายรัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า

หน้าที่ในการส่งเสริมการสาธารณสุขและป้องกันปราบปรามโรคระบาดหายไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 และธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2520 หลังการรัฐประหารของกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยม และถูกนำกลับมาใหม่ในมาตรา 73 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521

มาตรา 73  (วรรค 2) การป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตรายรัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า

เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 และมีการประกาศธรรมนูญการปกครองออกมา มาตรานี้ก็หายไปอีก (ซึ่งเป็นแบบแผนเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอีกสองฉบับหลังการรัฐประหารอีกสองครั้งในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557) จนกระทั่งกลับมาปรากฏใหม่ในมาตรา 83 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ต่อมาในปีเดียวกัน ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่ามีการเพิ่มข้อความเรื่องการทำหน้าที่ป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงให้ทันเหตุการณ์

มาตรา 83  (วรรค 2) การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายรัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์

มาตรานี้ปรากฏในลักษณะคล้ายๆ กันในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 โดยมีการเพิ่มหรือลดข้อความที่กำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบในการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายให้แก่ประชาชน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 52 (วรรค 3) การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายรัฐต้องจัดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 51 (วรรค 3) บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 47 (วรรค 3) บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เป็นที่น่าสังเกตว่าหน้าที่ของรัฐทางด้านการสาธารณสุขซึ่งรวมถึงหน้าที่ในการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายมักจะหายไปจากธรรมนูญการปกครองประเทศและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ถูกร่างและประกาศใช้โดยคณะรัฐประหาร

การกล่าวถึง “สุขภาพอนามัย” ในธรรมนูญฯ หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราววมักจะกล่าวรวมๆ เป็นส่วนหนึ่งของการให้อำนาจรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการกระทำและการสื่อสารที่จะส่งผลเสียต่อสาธารณะ รวมทั้งสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยไม่มีการกล่าวถึงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษ การพิจารณาผลกระทบของโครงการที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน หรือการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในเชิงรุก ซึ่งปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 และเป็นต้นธารของการคุ้มครองสิทธิ์ที่จะมีสุขภาพดีของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560

ความน่าสนใจในประเด็นนี้ก็คือรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นในสมัยที่การปกครองมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า มักจะทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานใหม่ของการขยายขอบเขตของสิทธิ์ทางด้านสุขภาพให้กับประชาชน เช่นในกรณีของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กล่าวคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 สร้างมาตรฐานด้านสิทธิ์ทางสุขภาพที่สูงขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นและทำให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาต้องดำเนินการตามด้วยมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 สร้างมาตรฐานด้านสิทธิ์ทางสุขภาพที่สูงขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานที่ปรากฏต่อเนื่องในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 (มีการกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปด้านสุขภาพให้มีมาตรฐานสูงขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มเติมสิทธิ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มีมาตรฐานสูงกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้นมากนัก)

นอกจากนั้น การปรับปรุงมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขและการบริการสุขภาพตามแนวทางสากลจะส่งผลดีต่อการยกระดับมาตรฐานการดำเนินการทางด้านนี้ของภาครัฐ ดังที่ปรากฏในการเพิ่มเติมหน้าที่ของภาครัฐทางด้านการสาธารณสุขในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ซึ่งสอดคล้องกับการก่อตั้งองค์การอนามัยโลกขึ้นก่อหน้านั้นไม่นาน ในปี พ.ศ. 2491

ในกรณีของประเทศไทย การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่มีประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง และการยอมรับและปรับใช้มาตรฐานสากลที่สูงกว่ามาตรฐานชาติที่มีอยู่เดิม ย่อมส่งผลต่อการขยายบทบาทของรัฐในการดูแลประชาชนด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการป้องกันและขจัดโรคระบาดอันตราย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save