fbpx
การลักพาตัวและการบังคับบุคคลให้สูญหาย: ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนในอินโดนีเซีย

การลักพาตัวและการบังคับบุคคลให้สูญหาย: ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนในอินโดนีเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

จากกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหารในประเทศไทยปี 2557 ถูกอุ้มหายจากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา นำไปสู่กระแส #saveวันเฉลิม ในสังคมออนไลน์ และมีการกล่าวถึงกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งในประเทศไทย อย่างไรก็ดี การใช้วิธีบังคับให้บุคคลสูญหายหรือการอุ้มหายไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เดียว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐต่อประชาชน และหนึ่งในความรุนแรงนั้นคือการบังคับให้บุคคลสูญหาย

ยุคระเบียบใหม่ (1966-1998) ของประธานาธิบดีซูฮาร์โตเริ่มต้นด้วยความรุนแรง มีการกวาดล้างสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียจำนวนอย่างน้อย 5 แสนคนถึง 2 ล้านคน ซึ่งการกวาดล้างหมายถึงการสังหาร จับกุมคุมขัง และเนรเทศไปอยู่ถิ่นทุรกันดาร หลังจากนั้น ระบอบอำนาจนิยมของประธานาธิบดีซูฮาร์โตก็ใช้การควบคุมทางการเมืองเพื่อปราบปรามการเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางการเมืองจากกลุ่มต่อต้านอย่างเข้มข้น แต่แม้จะถูกคุกคามข่มขู่อย่างหนัก นักเคลื่อนไหวในองค์กรพัฒนาเอกชนในอินโดนีเซียก็ทำงานอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่เน้นการพัฒนาของรัฐบาล และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ เติบโตและขยายเครือข่ายอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1980-1990   

 

การบังคับบุคคลให้สูญหายช่วงปี 1997-1998 [1]

 

ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1997 และช่วงประชุมสภาที่ปรึกษาประชาชนในปี 1998 เพื่อลงมติเลือกประธานาธิบดี บรรดานักศึกษาและนักกิจกรรมได้เคลื่อนไหวต่อต้านการเลือกตั้งและต่อต้านการประชุมสภาที่ปรึกษาประชาชนดังกล่าว เพราะพวกเขาเห็นว่าการเลือกตั้งไม่มีความโปร่งใสและไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพียงการจัดฉากให้ดูเหมือนว่ามีการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะทุกครั้งที่ประชุมสภาที่ปรึกษาประชาชน ก็จะมีการลงมติเลือกซูฮาร์โตให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง นักศึกษาก็จะออกมาประท้วงอยู่เสมอ แต่การเลือกตั้งปี 1997 ซึ่งเป็นสมัยที่ 7 ของซูฮาร์โต เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (1997-1998) ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและทำให้การต่อต้านซูฮาร์โตและระบอบระเบียบใหม่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ปราบปรามการเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยความรุนแรงเช่นกัน

หนึ่งในวิธีที่รัฐบาลใช้ในการปราบปรามคือการอุ้มหายนักศึกษา นักกิจกรรม และสมาชิกพรรคการเมืองในช่วงปี 1997-1998 โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 1997 เป็นช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งและวันเลือกตั้งปี 1997  และ 2) ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 1998 เป็นช่วงเวลาสองเดือนก่อนการประชุมสภาที่ปรึกษาประชาชนปี 1998 ซึ่งเป็นช่วงเกิดการจลาจลและหลังการลาออกของซูฮาร์โต

ผู้ที่ถูกอุ้มหายเป็นนักศึกษา นักกิจกรรม และสมาชิกพรรคการเมืองที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐ[2] ในช่วงเวลาที่มีการอุ้มหายนักศึกษาและนักกิจกรรม ได้มีการก่อตั้งองค์กรเพื่อคนหายและเหยื่อของความรุนแรง หรือ KontraS (Komisi Untuk Orang Hilang dan Korban Tindak Kekerasan) ขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 1998[3] และในปัจจุบัน KontraS เป็นหนึ่งในองค์กรเอ็นจีโอที่มีบทบาทสำคัญ เข้มแข็ง และมีชื่อเสียงที่สุดองค์กรหนึ่งในอินโดนีเซีย[4] KontraS ระบุว่ามี 24 คนถูกอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มี 1 รายถูกพบว่าเสียชีวิต 9 รายได้รับการปล่อยตัวกลับมา และอีก 14 รายที่ยังไม่พบร่องรอยจนถึงวันนี้ และการอุ้มหายทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงที่นายพลวิรันโต (Wiranto) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภายใต้ประธานาธิบดีซูฮาร์โต

เหยื่อการอุ้มหายที่ได้รับการปล่อยตัวกลับมาเล่าว่า พวกเขาถูกกลุ่มคนบุกมาจับตัวที่บ้านโดยใช้ความรุนแรง ฉุดกระชาก ผลักด้วยอาวุธ ปิดคลุมศีรษะด้วยผ้า ถูกบังคับพาไปสถานที่ต่างๆ และถูกทรมานร่างกายในขณะที่ผู้จับตัวไปสอบเค้นถามข้อมูลที่พวกเขาต้องการ

 

[box]

    รายชื่อนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกลักพาตัว

 

  1. Aan Rusdiyanto (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  2. Andi Arief (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  3. Desmond Junaedi Mahesa (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  4. Faisol Reza (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  5. Haryanto Taslam (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  6. Mugiyanto (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  7. Nezar Patria (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  8. Pius Lustrilanang (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  9. Raharja Waluya Jati (ได้รับการปล่อยตัวกลับมา)
  10. Dedy Umar Hamdun (สูญหาย)
  11. Herman Hendrawan (สูญหาย)
  12. Hendra Hambali (สูญหาย)
  13. Ismail (สูญหาย)
  14. M Yusuf (สูญหาย)
  15. Noval Al Katiri (สูญหาย)
  16. Petrus Bima Anugrah (สูญหาย)
  17. Sony (สูญหาย)
  18. Suyat (สูญหาย)
  19. Ucok Munandar Siahaan (สูญหาย)
  20. Yadin Muhidin (สูญหาย)
  21. Yani Afri (สูญหาย)
  22. Wiji Thukul (สูญหาย)
  23. Abdul Naser (สูญหาย)
  24. Leonardus Nugroho (ถูกพบเสียชีวิตและมีแผลถูกยิง)
[/box]

คณะกรรมการไต่สวนกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายช่วงปี 1997-1998

 

หลังการลาออกของประธานาธิบดีซูฮาร์โตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย มีการปฏิรูปทุกภาคส่วน มีการปล่อยนักโทษการเมือง รวมถึงการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต่สวนกรณีการอุ้มหายช่วงปี 1997-1998 ซึ่งคณะทำงานได้ทำการไต่สวนและรวบรวมข้อมูลช่วงเดือนตุลาคม 2005 ถึง ตุลาคม 2006 และได้นำข้อมูลส่งมอบให้อัยการสูงสุดในปี 2006 มีหลักฐานเบื้องต้นที่ระบุว่าหน่วยงานทหารที่ชื่อว่า ‘Tim Mawar’ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพันโทปราโบโว ซูเบียนโต (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน และเป็นอดีตบุตรเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายนักศึกษาและนักกิจกรรมในช่วงปี 1997-1998

ทั้งนี้ ด้วยกระแสกดดันจากสังคมในยุคปฏิรูป รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนหาข้อเท็จจริงต่อกรณีการอุ้มหายถึง 3 ชุด จากผลการสอบสวนที่ยืดเยื้อยาวนานพบว่า มีนายทหารผู้ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัว 11 คน และทั้ง 11 คนจาก Tim Mawar ถูกตัดสินจำคุก 12-22 เดือน ซึ่งทนายความนักสิทธิมนุษยชนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การลักพาตัวและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการกระทำอย่างเป็นระบบ โดยระบอบการปกครองที่ต้องการรักษาอำนาจด้วยการใช้ความรุนแรงและวิธีนอกกฎหมาย แต่คนที่ถูกลงโทษกลับเป็นปัจเจกบุคคลที่รับคำสั่งให้ปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือออกคำสั่ง และในที่สุดมีนายทหารเพียง 3 นาย (รวมปราโบโวซึ่งถูกให้ยุติการทำงานตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 1998 หนึ่งวันหลังการลาออกจากตำแหน่งของประธานาธิบดีซูฮาร์โต) ที่ถูกให้ออกจากราชการฐานพัวพันกับการอุ้มหายในช่วงปี 1997-1998 โดยที่ไม่ถูกนำขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร ดังนั้น จึงไม่เป็นที่ประหลาดใจว่าทำไมนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียจึงต่อต้านปราโบโวในการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อประธานาธิบดี โจโก วีโดโด ประนีประนอมกับปราโบโว โดยให้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

การอุ้มหายที่ไม่หายจากความทรงจำ

 

แม้การลักพาตัวและการบังคับบุคคลให้สูญหายในช่วงวิกฤตทางการเมืองของอินโดนีเซียจะผ่านไปกว่าสองทศวรรษ แต่บรรดาญาติเหยื่ออุ้มหายและประชาชนอินโดนีเซียยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ และแสดงความต้องการให้มีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อที่ถูกอุ้มหาย ทั้งนี้ การดำเนินคดีทางกฎหมายไม่ใช่แค่สำหรับเหยื่อที่ถูกอุ้มหายและครอบครัวเท่านั้น แต่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความรู้สึกปลอดภัยในหมู่ประชาชนทั้งหมดว่า ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจะถูกลงโทษโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร ทุกคนต้องเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเรียกร้องความยุติธรรมตามกระบวนการทางกฎหมายยังไม่บรรลุเป้าหมาย บรรดานักกิจกรรมและครอบครัวของเหยื่อที่ถูกอุ้มหายได้เคลื่อนไหวและแสดงออกในทางอื่น เช่น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2019 สมาพันธ์ครอบครัวคนหายอินโดนีเซีย (Ikatan Keluarga Orang Hilang Indonesia) ได้ร่วมกับองค์กรอื่นๆ จัดคอนเสิร์ต ‘เยาวชนต่อต้านการลืม’ (Yang Muda Melawan Lupa) ขึ้นที่คาเฟ่แห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา และยังมีการจัดนิทรรศการรูปเหยื่อนักกิจกรรมผู้ถูกลักพาตัวด้วย มีผู้มาร่วมงานคอนเสิร์ตดังกล่าวประมาณ 300 คน ผู้ริเริ่มในการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของงานนี้คือเพื่อให้เสียงของเหยื่อและครอบครัวเหยื่อที่ถูกอุ้มหายในปี 1997-1998 สะท้อนไปถึงคนรุ่นใหม่ เพราะว่าชาติอินโดนีเซียลืมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นง่ายและเร็วเกินไป และไม่มีการบรรจุเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ในแบบเรียนในโรงเรียนด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องย้ำเตือนให้ไม่ลืม

กิจกรรมดังกล่าวมีศิลปินและนักดนตรีจำนวนมากเข้าร่วม และยังมี ‘มูกิยันโต (Mugiyanto)’ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยถูกลักพาตัวและได้รับการปล่อยตัวกลับมาเข้าร่วมงานด้วย โดยเขาเล่าว่า “ผมถูกลักพาตัววันที่ 13 มีนาคม 1998 ขณะนั้นผมอยู่ที่อพาร์ทเมนต์ย่านจาการ์ตาตะวันออก ผมถูกลักพาตัวโดยคนประมาณ 10 คนในขณะที่ผมอยู่ในห้องเช่าของผม เวลาประมาณทุ่มครึ่ง” มูกิยันโตเล่าว่าเขาถูกพาไปสถานที่ที่เขาไม่รู้จัก ถูกสอบสวนและถูกทุบตีหากว่าคำตอบไม่เป็นไปตามที่ผู้ลักพาตัวคาดหวัง และในที่สุดเขาก็ได้รับการปล่อยตัว[5]

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ถูกอุ้มหายอีกหลายรายที่มีชะตากรรมแตกต่างจากมูกิยันโต เพราะไม่มีใครพบร่องรอยหรือเห็นวี่แววของพวกเขา และแม้จะผ่านมากว่าสองทศวรรษแล้ว แต่บรรดาญาติของพวกเขาก็ยังคงมีความหวังว่าจะได้ข่าวคราวและยังคงเรียกร้องความชัดเจนและความรับผิดชอบจากรัฐ

ขณะที่ผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตดังกล่าวได้ส่งเสียงสะท้อนว่า “ฉันคิดว่าการฝึกให้คนรุ่นใหม่ต่อต้านการลืมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในช่วงปี 1998 ฉันยังเล็กอยู่ อายุแค่ 4 ปี และยังไม่รู้เรื่องอะไร บังเอิญว่าฉันชอบอ่านเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมและคนที่ถูกลักพาตัว” และ “ฉันได้ยินข่าวกิจกรรมนี้ จึงคิดว่าน่าสนใจ อาจจะเพราะว่ามีผู้ที่เคยถูกลักพาตัวมาเล่าประสบการณ์ ทำให้ฉันได้รับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ และนั่นคือสิ่งที่ฉันอยากรู้”

แม้อินโดนีเซียจะมีการพัฒนาประชาธิปไตยหลังจากยุคเผด็จการของซูฮาร์โต และได้รับการยกย่องจากนานาชาติ แต่กรณีที่อ่อนไหวเช่นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เคยถูกอุ้มหายในช่วงเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองกลับไม่เป็นผลเท่าที่ควร แม้จะมีการเคลื่อนไหวจากองค์กรต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องและตั้งคำถามกับรัฐบาลให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเพราะเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับบทบาทของทหาร ที่ถึงแม้ว่าจะมีการปฏิรูปกองทัพ ลดบทบาทและอำนาจทหารในทางการเมืองแบบทางการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทหารจะหมดอิทธิพลทางการเมืองและในประเทศโดยสิ้นเชิง

 


[1] จริงๆ แล้วการลักพาตัวและบังคับบุคคลให้สูญหายในยุคระเบียบใหม่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1997-1998 แต่เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและเป็นระบบ ซึ่งมีผู้ที่เชื่อว่าถูกอุ้มหายโดยรัฐมาก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงปี 1997-1998 มีการทำงานขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ อย่างขันแข็งและเป็นช่วงรอยต่อหลังการสิ้นสุดของยุคระเบียบใหม่และต่อด้วยยุคปฏิรูป ทำให้กระแสสังคมให้ความสนใจกับกรณีนี้มาก

[2] พรรคประชาธิปไตยประชาชน หรือ Partai Rakyat Demokratik (PRD) เป็นพรรคที่มีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย พัฒนามาจากขบวนการนักศึกษาในทศวรรษ 1990 ประกาศตัวเป็นพรรคการเมืองในเดือนเมษายน 1996 ซึ่งยังอยู่ในยุคระเบียบใหม่ที่มีกฎหมายควบคุมการก่อตั้งพรรคการเมือง พรรค PRD จึงถือเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและด้วยอำนาจของระบอบระเบียบใหม่ทำให้รัฐบาลจับตาดูความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการคุกคามนักกิจกรรมและนักการเมืองของพรรคด้วย

[3] ในเวลาต่อมา KontraS ได้ขยายสาขาไปตั้งอยู่ในบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง เช่น KontraS Aceh ที่เมืองบันดา อาเจะห์, KontraS Sumatra Utara ที่เมืองเมดาน, KontraS Sulawesi ที่เมืองมากัสซาร์, KontraS Surabaya ที่เมืองสุราบายา, KontraS Nusatenggara ที่เมืองคูปัง และ KontraS Papua ที่เมืองจายาปูรา

[4] ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง KontraS คือนักสิทธิมนุษยชนผู้มีนามว่า มูนีร์ ซาอิด ตาลิบ (Munir Said Thalib) เขาถูกลอบสังหารโดยการวางยาพิษในอาหารและเสียชีวิต (อายุ 38 ปี) ในขณะที่เขากำลังอยู่ในเครื่องบินจากจาการ์ตาสู่กรุงอัมสเตอร์ดัม เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2004 เหตุการณ์นี้เกิดในสมัยประธานาธิบดีเมกาวตี ซูการ์โนปุตรี ที่ทหารกลับเข้ามามีอำนาจครอบงำทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่ถูกลดบทบาทลงไปจากการตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงการเรียกร้องการปฏิรูปโดยประชาชนในช่วงปี 1998-99

[5] https://www.voaindonesia.com/a/yang-muda-melawan-lupa-penculikan-aktivis-1998/4865215.html

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save