fbpx
ศัตรูของรัฐธรรมนูญ : รัฐราชการ

ศัตรูของรัฐธรรมนูญ : รัฐราชการ

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล

 

จะเรียกรัฐธรรมนูญเจ้ากรรมที่ต้องโยนทิ้งใส่ถังขยะนี่ว่าอะไรดี

เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับมัดตราสังดีไหม เพราะคณะสัปเหร่อได้เขียนกฎเกณฑ์เป็นเชือกร้อยรัด ตรึงประเทศชาติแน่นจนเหมือนศพที่กระดิกกระเดี้ยอะไรไม่ได้ ถ้าอยากจะแก้ตราสัง อยากคืนสู่ชีวิตใหม่ ก็ต้องปลดพันธนาการ โยนรัฐธรรมนูญเผด็จการทหารทิ้ง แล้วสร้างรัฐธรรมนูญที่รับใช้ประชาชนใหม่ แม้ต้องสู้กับนายของคณะสัปเหร่อ ลูกกะโล่ต่างๆ และระบบราชการที่บีบคอประชาชนจนแทบขาดลมหายใจเช่นทุกวันนี้

รัฐธรรมนูญไม่ใช่คำตอบเดียวของประเทศ แต่ในสถานการณ์ที่ประเทศโดนมัดตราสังจนดิ้นไม่หลุดเช่นนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง

ถึงแม้จะยากลำบาก อาจอันตรายถึงขั้นเสี่ยงชีวิต แต่การต่อสู้ได้เริ่มขึ้นแล้ว

เป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นสู้  สู้เพื่อทวงคืนอนาคตตนเอง ก่อนที่รัฐตกยุคจะทำลายจนไม่เหลือโอกาสในชีวิต เมื่อคลื่นลมจากคนรุ่นใหม่กำลังจะพัฒนาเป็นพายุ แน่นอน เรือที่ไร้หางเสือทางจริยธรรมย่อมตระหนก ตกใจ กลัวว่าจะสูญเสียสถานะและอำนาจ จากกลัวกลายเป็นโกรธคนที่บังอาจกำเริบเสิบสาน และในที่สุดก็จะรู้สึกชอบธรรมที่จะต้องปกป้องรักษาระบบระเบียบสังคมเดิม “อันดีงาม” นี้ไว้ เริ่มจากกำราบ เชือดไก่ให้ลิงดู ต่อไปก็เป็นการปราบปรามคนที่ต่อต้าน เมื่อฝ่ายอำนาจไม่ยอมผ่อนปรน หรือเมื่อประชาชนไม่ยอมอดทนอดกลั้นต่อรัฐที่ฉ้อฉล ไร้ยางอาย และไร้ประสิทธิภาพอีกต่อไป สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดก็อาจจะเลี่ยงได้ยาก

รัฐบาลอาจโล่งใจที่มีสถานการณ์โรคระบาดใหญ่มาชะลอการรวมตัวของฝ่ายนักเรียนนิสิตนักศึกษา แต่อย่าหวังว่าจะมีทางหยุดระเบิดเวลาทางการเมืองนี้ได้ วิธีที่รัฐจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งตีแผ่ให้เห็นธาตุแท้และความชั่วร้ายในทุกมิติและทุกองคาพยพของระบบการเมืองภายใต้เผด็จการทหาร อำนาจนิยมของรัฐราชการและความฉ้อฉลที่ได้เกิดขึ้นนั้นเกินกว่าที่ประชาชนจะทนไหวได้อีกต่อไป

รัฐที่ไม่รู้สึกรู้สากับความเดือดร้อนของผู้คน

ไม่รู้สึกรู้สากับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

กล้าให้ท้ายขบวนการมาเฟียที่ร่วมมือกับข้าราชการขึ้ฉ้อ เจ้าอำนาจ ร่ำรวยกับการส่งออกหน้ากากอนามัยในขณะที่แพทย์พยาบาลไม่มีใช้ และคนในประเทศกำลังเสี่ยงตายกับการแพร่ของโรคระบาด

หัวใจพวกนี้ทำด้วยอะไร

ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ประชาชนกำลังขวัญเสีย แต่ข้าราชการยังเป็นทองไม่รู้ร้อน ยังทำตัวเป็นเจ้านายประชาชน ทั้งกร่างทั้งกล้าขู่กรรโชกคนที่เปิดโปงขบวนการโกงกิน  ขณะที่ข้าราชการทุกหมู่เหล่ายังคงมุ่งใช้กฎหมายเผด็จการฟ้องหมิ่นประมาทคนวิจารณ์โดยไม่ไว้หน้า หวังจะกดหัวปิดปากไม่ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง

รัฐแบบนี้ไม่ใช่แค่โหดร้าย คดโกง แต่ยังล้าหลัง ตกยุคตกสมัย ไม่ใช่แค่แช่แข็งประเทศชาติ แต่ยังกระชากสังคมให้ย้อนกลับไปสู่ยุคอำนาจนิยมสมบูรณ์แบบ ยุคที่ประชาชนไม่ใช่แค่ขาดอากาศของเสรีภาพ แต่ไม่มีแม้อากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ ไม่มีน้ำสะอาดให้ดื่มกิน ชาวไร่ชาวนาไม่มีน้ำทำการเกษตร สังคมไม่มีความเท่าเทียม ไม่มีความยุติธรรม กฎหมายมีเอาไว้เพื่อทำลายศัตรู คนที่กล้าต่อสู้เพื่อคนเล็กคนน้อยที่ถูกกระทำก็โดนหมายหัว โดนหน่วยงานความมั่นคงใส่ร้ายป้ายสี ปั่นหัวให้สังคมแตกแยกเกลียดชัง โดยทำกันอย่างเป็นขบวนการ โกหกพกลมอย่างไร้ยางอาย

ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากเป็นนายตนเอง เพราะนายทุนใหญ่จับมือเผด็จการและชนชั้นนำ ครองเมือง ครองทรัพยากรไปหมดแล้วทุกตารางนิ้ว จนประเทศไทยครองตำแหน่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก

น่าช้ำใจไหม

ปัญหาร้ายแรงขนาดนี้ แต่เราก็ยังต้องทนกับผู้นำแบบนี้ ผู้นำที่ออกมาเทศนาสอนประชาชนให้ดูแลสุขภาพป้องกันไวรัส แต่ใส่หน้ากากอนามัยเปิดจมูก พูดไปก็เอามือขยับหน้ากากไปอย่างประดักประเดิด เห็นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะสมเพชใครดี ผู้นำก๊องแก๊งแบบนี้หรือตัวเราเอง

แบบนี้ประเทศชาติจะรอดได้อย่างไร

โควิด-19 ถึงร้ายอย่างไรก็มีวันหมดฤทธิ์ แต่รัฐอำนาจนิยมไร้สมอง ไร้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไร้สติ แต่มีปืนจ่อหัวประชาชน มีกฎหมายเผด็จการไว้ปราบปรามคนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ คงมีฤทธิ์อยู่ต่อไปอีกนาน ถ้าสังคมยังสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ไม่ได้

การมีรัฐธรรมนูญใหม่เป็นเรื่องจำเป็น แต่เราก็คงต้องมองไปไกลกว่านั้น เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้จริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงถ้อยแถลงเป้าหมายของสังคมลอยๆ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ อย่างที่ผ่านมา

เราเคยมีรัฐธรรมนูญที่เราคิดว่าดีที่สุดมาแล้ว แต่ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ก็เป็นได้แค่เสือกระดาษ เพราะรัฐราชการยืนกรานไม่ยอมทำตาม และก็ทำได้โดยไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น

เช่นในเรื่องสิทธิชุมชน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐธรรมนูญได้เพิ่มอำนาจชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร ให้การยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนดั้งเดิมในเขตป่า เพื่อที่จะมีสิทธิ์ดำรงอยู่ได้โดยสงบ ไม่ต้องโดนจับ โดนขังคุก หรือโดนไล่รื้อจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และยังมีสิทธิมีเสียงต่อโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นและมีผลกระทบต่อชุมชน

สิทธินี้ไม่ได้มาง่ายๆ แต่มาจากการต่อสู้ของชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ต่อสู้กับนโยบายและโครงการของรัฐที่ทำให้ครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาด ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เจ็บปวด เสียเลือดเสียเนื้อกันมาไม่น้อย

ประเทศไทยมีคนอยู่ในป่ากว่าสิบล้านคน จำนวนไม่น้อยเป็นชนเผ่าพื้นเมืองหรือชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในเขตป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชุมชนจำนวนมากเข้าไปตั้งรกรากหลังจากที่รัฐให้สัมปทานป่ากับเอกชนจนแทบไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ชุมชนได้ปล่อยให้ป่าฟื้นตัวเอง กลายเป็นป่าชุมชนหลายพันแห่งให้ชาวบ้านได้อาศัยอยู่อาศัยกิน ได้รักษาธรรมชาติที่เหลือไว้ได้ และมีอีกจำนวนไม่น้อยเป็นชุมชนที่รัฐส่งเข้าไปอยู่ในป่าเอง ให้ไปหักร้างถางพง ไปทำไร่ทำนาในสมัยที่ต้องสู้กับคอมมิวนิสต์

แต่กฎหมายป่าไม้ไม่ยอมรับชุมชนเหล่านี้ กล่าวโทษว่าเป็นผู้บุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ต้องจับเข้าคุกหรือไล่ออกจากป่าสถานเดียว ถ้าเป็นชาวเขาก็จะโดนกล่าวหาว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลายเป็นคนไรัรัฐ ไร้สิทธิทั้งปวงของพลเมืองไทย แต่ด้วยกระแสการต่อสู้ของขบวนการประชาชน และการมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญ สิทธิชุมชนจึงเกิดขึ้นได้ เป็นความหวังว่าจะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาข้อพิพาทในเขตป่า และการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้

แต่ก็เป็นได้แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ

กฎหมายป่าไม้นั้นเขียนขึ้นโดยหน่วยงานของป่าไม้เพื่อให้ตนเองเป็นเจ้าของและมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ป่าทุกประเภท ที่ดินทำกินที่ไหนที่ยังไม่ได้มีการให้โฉนด หรือเอกสารสิทธิ ซึ่งเป็นข้อบกพร่องของระบบรัฐเอง ก็รวบให้เป็นที่ป่าในอำนาจตนเอง ที่ไหนชาวบ้านรักษาไว้ดีๆ ก็ประกาศให้เป็นอุทยานหรือเขตห้ามล่าเสีย แล้วประกาศให้คนที่เดิมอยู่มาก่อน เป็นผู้บุกรุก เป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า

ยุติธรรมไหม ก็ลองคิดกันดู

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมหาศาลขนาดไหน ก็ลองคิดกันดู

ไม่มีใครอยากเสียอำนาจ เสียผลประโยชน์ในกำมือ ข้าราชการป่าไม้จึงต่อต้านสิทธิชุมชนเต็มที่ อ้างตลอดเวลาว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่มีผลใช้ เพราะไม่มีมีกฎหมายลูกมารองรับ แล้วก็ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น นอกจากเดินหน้าจับชาวบ้าน โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นหัวหอกในการต่อสู้เพื่อสิทธิทำกินในเขตป่า

เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2549 มีการรณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีผลโดยทันที ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลูกมารองรับ แต่ก็ยังไม่มีผลในทางปฎิบัติอยู่ดี สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ป่าไม้ และที่ดินก็ยังเป็นหมันตามเดิม ข้าราชการยังคงดื้อแพ่ง เพราะอย่างไรก็ไม่โดนลงโทษ ชุมชนจึงยังต้องลงถนนเพื่อกดดันให้ยอมรับสิทธิผ่านโฉนดชุมชน ซึ่งจะป้องกันการซื้อขายที่ดินและสนับสนุนบทบาทของชุมชนในการรักษานิเวศน์และป่าไม้ในบริเวณนั้นๆ ได้

ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมข้าราชการป่าไม้และอุทยานจึงลิงโลดอย่างยิ่ง เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารในปี 2557 เพราะเป็นโอกาสทองที่จะล้มกระดานสิทธิชุมชน ยิ่งกว่านั้นยังเป็นโอกาสใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการกวาดล้างชุมชนในเขตป่าด้วยโครงการทวงคืนผืนป่า

ไคลแมกซ์อยู่ตรงนี้ ก่อนหน้าที่รัฐบาลทหารจะต้องคืนอำนาจหลังการเลือกตั้งเพียงนิดเดียว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ผลักดันกฎหมายป่าไม้ใหม่สำเร็จ กฎหมายเก่าว่าร้ายแล้ว ของใหม่ร้ายกว่าหลายเท่า ไม่ยอมรับว่ามีชุมชนท้องถิ่น ถ้าใครอยู่ในป่าถือว่าผิดทันที ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นในเคหสถานและจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายศาล กิจกรรมทุกสิ่งอันของชุมชนต้องผ่านอนุมัติของเจ้าหน้าที่แล้วเท่านั้น และบทลงโทษก็รุนแรงยิ่งกว่าเดิม ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับ 400,000-2,000,000 บาท ตอนนี้สถานการณ์ของชุมชนในป่ายิ่งกว่าตกอยู่ใต้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าทีป่าไม้ทำหน้าที่เหมือนทหาร มีอำนาจเต็ม มีอาวุธพร้อม

ขณะที่ไม่ยอมให้ท้องถิ่นมีส่วนในการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน ทำเหมือนชาวบ้านเป็นศัตรูตัวร้าย แต่ทางการก็อนุญาตให้นายทุนทำเหมือง ทำเขตอุตสาหกรรม ทำเขื่อน ให้นายทุนเช่าที่ป่า ยอมให้ทำลายป่าเดิมเพื่อทำสวนปาล์มน้ำมัน หรือไม่รับรู้เมื่อนายทุนใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือเผาป่าทำไร่ข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์ ไล่จับแต่คนจน แต่เชิญนายทุนใหญ่ระดับชาติที่ทำลายป่ามาวางแผนของรัฐเพื่อรองรับอุตสาหกรรมตนเอง

คิดว่าวิธีนี้จะรักษาป่าได้หรือ

ปัจจุบันโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤตโลกร้อน นอกจากการลดใช้น้ำมันแล้ว การปกป้องและเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นวิธีเดียวที่จะชะลอหายนะได้

จะทำได้อย่างไร

ในเรื่องโลกร้อน คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกคือ คณะทํางานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ของสหประชาชาติ ปีที่แล้ว IPCC ได้ออกมาแถลงชัดว่าถ้าจะปกป้องรักษาป่าได้ผล ต้องยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในเขตป่า เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษาป่ามากกว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และวิจารณ์วิธีอนุรักษ์ป่าของทางการ ที่ทำป่าให้เป็นป้อมปราการ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมโดยกันประชาชนออกไปเหมือนเป็นศัตรูนี้ว่าเป็นวิธีที่ล้มเหลวอย่างยิ่

IPCC ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศให้สิทธิที่ดินทำกินและความมั่นคงของชีวิตแก่ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เพราะความมั่นคงนี้จะยิ่งช่วยให้ชุมชนในป่ารักษาป่าไม้และนิเวศน์ได้ดียิ่งขึ้น

พูดสั้นๆ ก็คือ ต้องช่วยให้คนในป่ารอด เพื่อป่าและเราทุกคนจะได้รอดไปด้วย

แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยานกลับทำตรงข้าม เพราะสิ่งที่ต้องการไม่ใช่รักษาป่า แต่ต้องการรักษาอำนาจของตนเอง

แล้วเราจะทำอย่างไร เมื่อระบบราชการเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่พวกป่าไม้อุทยาน แตะไปตรงไหนก็เจอตรงนั้น

ระบบการศึกษาที่คุณภาพตกต่ำ ทำลายความคิดสร้างสรรค์ ทำร้ายเยาวชนและสังคมด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม แต่ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เพราะกระทรวงศึกษาไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ

การกระจายอำนาจเป็นคำตอบของประเทศชาติ แต่กระทรวงมหาดไทยก็ไม่ยอม ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือเหตุผลของอำนาจ

ประเทศล่มจมไม่ว่า ขอให้อำมาตย์อย่างข้าเสวยสุขแบบเดิม

การบ้านสำคัญจึงไม่ใช่แค่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร แต่ทำอย่างไรให้ระบบราชการรวมศูนย์และวัฒนธรรมอำนาจนิยมนี้หมดพลัง

ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตพอที่จะไม่ต้องก้มหัวให้อำนาจ ทำอย่างไรสังคมจะปลอดจากบรรยากาศความกลัวต่อกฎหมายที่มุ่งจะปิดปากประชาชน ทำอย่างไรจะให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจ จัดการทรัพยากรจากการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ทำอย่างไรจะมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะเมื่อเรามั่นใจว่าชีวิตมีความมั่นคง มีความปลอดภัย มีความมั่นใจในศักดิ์ศรีของตนเอง ความกล้าที่จะตั้งคำถามกับระบบอำนาจเดิม ความกล้าที่จะสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงย่อมตามมา

ขอบคุณนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาทวงถามอนาคต จุดประกายความหวังครั้งใหม่ให้แก่สังคมที่ตกอยู่ในความสิ้นหวังมานาน

จะได้รัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่าการต่อสู้ครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save