fbpx
ความตาย ข. : ต่อกรกับการสูญเสีย

ความตาย ข. : ต่อกรกับการสูญเสีย

นิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อาจเป็นคนมองโลกแง่ร้ายก็ได้ แต่ผมคิดว่าข่าวดีมักตามมาด้วยเรื่องไม่ค่อยน่ายินดี หรือความเศร้าโศก และถ้าความคิดของผมมีแนวโน้มเป็นจริง ผู้คนทั้งหลายดำรงชีวิตอยู่กับความย้อนแย้ง/ซับซ้อนเช่นนี้ได้อย่างไร?

ในขณะที่รายงานข่าวเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยดูคลี่คลายไปในทางบวก มีผู้ติดเชื้อไม่มาก คนป่วยก็รักษาหาย จำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้มีเพียง 58 คน (ตามที่ระบุใน มติชนออนไลน์, วันที่ 29 มิ.ย. 2563) ทว่า เรื่องเศร้าโศกและความตายดูมิได้ลดน้อยลงเลย

ข่าวคราวการฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุของความยากจนและ/หรือการว่างงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ หนึ่งในคนเหล่านี้ที่ทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจอย่างมากคือกรณีของหญิงสาววัย 19 ปีที่วาดภาพของนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความตัดพ้อต่อชีวิตว่า “รูปนี้วาดด้วยน้ำตา เสียใจร้องไห้ที่ไม่เหลือเงินให้ลูกซื้อนมกิน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง แต่ไม่มีเงินเหลือ” เป็นความทุกข์ยากที่นำไปสู่การจบชีวิตของเธอด้วยการผูกคอตนเองเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา[1]

เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์ของสามีคนปัจจุบันของเธอก็ยิ่งน่าเศร้า เพราะในด้านที่เกี่ยวกับผู้ตายนั้น เธอได้ผ่านชีวิตที่ “รันทดมาก ทั้งป่วยมีโรคประจำตัว เคยถูกสามีเก่าที่ติดยาเสพติดชอบทำร้ายร่างกาย”

นอกจากนี้ สามียังระบายความในใจว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี ผมทั้งรักและรู้สึกสงสารภรรยาเป็นอย่างมาก หลังจากนี้ก็คงจะช่วยดูแลด้านค่าใช้จ่ายของน้องกล้า ลูกติดของภรรยา (กับสามีเก่าที่มีอายุ 9 เดือน ซึ่งแม่และญาติของผู้ตายช่วยกันเลี้ยงดูอยู่)”[2]

ใครๆ ก็คงพอจะจินตนาการได้ว่าสามี แม่และญาติพี่น้องของหญิงผู้ตายคนนี้จะเศร้าโศกเพียงใดกับการตายของเธอ และทำให้ผมสงสัยเสมอว่าคนเรารับมือหรือต่อกรกับความตายอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นความตายที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน กับผู้ที่เรารักใคร่ ?!

 

ความเดือดดาลและการแก้แค้น

 

เมื่อความตายมาพรากคนรักไป มนุษย์จะตอบสนองหรือทำอย่างไร ?

นี่อาจเป็นหนึ่งในคำถามที่นักเรียนมานุษยวิทยาสนใจ อยากหาคำตอบ และหลายคนคงคิดถึงนักมานุษยวิทยาอเมริกันนาม Renato Rosaldo ผู้โด่งดังจากการวิจัย/ศึกษาชาวอิลองก๊อต (Ilongot) ชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาทางทิศตะวันออกของเกาะลูซอน ประเทศพิลิปปินส์

ในงานเขียนเรื่อง “Grief and a Headhunter’s Rage”[3] โรซัลโด้อธิบายเกี่ยวกับการล่าหัวมนุษย์ (Headhunting) ของชาวอิลองก๊อต – ซึ่งภายหลังกลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญชุดหนึ่งในวงการมานุษยวิทยาว่าการกระทำดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการตายของคนที่รักใคร่ ทำให้เศร้าโศก เป็นความรู้สึก/อารมณ์ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Bereavement” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่าความทุกข์โศกจากการสูญเสียคนรัก ที่อาจทำให้บันดาลโทสะ เป็นความโกรธที่พลุ่งพล่าน เดือดดาล (Rage) จนทำให้ต้องล่าหัวมนุษย์ หรือจะกล่าวว่าการล่าหัวมนุษย์ของชาวอิลองก๊อตเป็นผลมาจากหรือเป็นการระบายความโกรธที่พลุ่งพล่าน เดือดดาล ที่เกิดจากความทุกข์โศกที่ต้องสูญเสียคนรักไปก็คงไม่ผิดนัก

แรกๆ ที่ฟังคำอธิบายเช่นนี้ โรซัลโด้ก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก ไม่สามารถหาเหตุผลได้ด้วยวิธีคิดในกรอบความคิดที่เขาคุ้นเคย/เข้าใจ เขาพยายามเสนอการวิเคราะห์เชิงวิชาการหลายประการต่อชาวอิลองก๊อตในเรื่องนี้ แต่คนพื้นเมืองเหล่านั้นกลับไม่เข้าใจการวิเคราะห์หรือมุมมองของเขาเลย

คนพื้นเมืองคงงงงวยที่คนแปลกหน้าผิวขาวมีคำถามแปลกๆ และคนแปลกหน้าฯ ผู้พยายามหาคำตอบเชิงวิชาการก็ไม่สามารถรับรู้ถึงอารมณ์/ความรู้สึกของคนพื้นเมืองได้เลย จนกระทั่งภรรยาของเขาตกเขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1981 โรซัลโด้บรรยายว่าเขารู้สึกเศร้าโศกมากที่สูญเสียภรรยา อยากร้องไห้แต่ก็ร้องไม่ออก รู้สึกเดือดดาล เขาจึงเริ่มเข้าใจอารมณ์ของความทุกข์โศกที่ต้องสูญเสียคนรัก โทสะที่เดือดดาล และเข้าใจว่าทำไมชาวอิลองก๊อตจึงล่าหัวมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอของเขาเกี่ยวกับการสูญเสียคนรัก ความโศกเศร้า ความรุนแรงและการสังหารผู้อื่นเพื่อระบายความโกรธแค้นในบทความชิ้นดังกล่าว และเป็นผลงานเขียนที่ถูกกล่าวขานถึง ตีความ โต้แย้ง ถูกวิพากษ์/วิจารณ์ในอย่างกว้างขวางในหมู่นักมานุษยวิทยาอเมริกัน และถูกตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือหลายเล่ม

 

หาคำตอบด้านจิตวิญญาณ

 

คำอธิบายและข้อเสนอของโรซัลโด้อาจดูน่าสนใจและน่าตื่นเต้น (คงไม่ค่อยมีใครคิดว่าการล่าหัวมนุษย์เป็นผลพวงของความเศร้าโศกและความโกรธที่นำไปสู่การแก้แค้น อันเนื่องมาจากการสูญเสียคนรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยพุทธ ผู้ถูกอบรม/สั่งสอนให้เชื่อในเรื่องการระงับความโกรธ ความเคียดแค้น และการละเว้นจากการฆ่าฟันผู้อื่น)

ทว่า มีคำอธิบายเกี่ยวกับความทุกข์โศกจากการสูญเสียคนรักในมุมมองหรือแนวทางอื่นๆ อีกหลายประการ ซึ่งหนึ่งในที่ผมสนใจคือการค้นหาคำตอบในแง่จิตวิญญาณหรือเชิงความเชื่อทางศาสนา

Elaine Pagles ผู้เชี่ยวชาญด้านคริสต์ศาสนายุคแรกๆ เป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านประวัติศาสตร์ศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เธอเขียนหนังสือและบทความเป็นจำนวนมากในเชิงวิเคราะห์เหตุการณ์ในยุคสมัยที่ศาสนาคริสต์เริ่มก่อตัวขึ้น และเสนอการตีความที่แปลกใหม่เกี่ยวกับผู้คนที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิ้ล ซึ่งรวมถึงพระเยซูด้วย แต่เธอต้องประสบกับความโศกเศร้าและความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียคนรักไปถึงสองคน คือลูกชายของเธอที่มีชื่อว่ามาร์ค ซึ่งเสียชีวิตใน ค.ศ. 1987 ขณะมีอายุเพียงหกปีครึ่งเท่านั้น

ความเศร้าและการสูญเสียลูกชายปรากฏเป็นคำอุทิศให้ผู้ตายในหนังสือชื่อ Adam, Eve, and the Serpent (New York: Vintage Books, 1989) ตีพิมพ์ในอีกสองปีต่อมา และหลังจากนั้นอีกราวสิบห้าเดือน เธอก็ต้องสูญเสียสามีที่แต่งงานอยู่กินมานานราวยี่สิบปี ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะปีนเขา การสูญเสียครั้งนี้ทำให้อิเลน แพเกิ้ลส์เริ่มตระหนักว่าคนที่ทุกข์โศกเพราะการสูญเสียเช่นเธอมีชีวิตอยู่กับการดำรงอยู่ของสิ่งที่มองไม่เห็น (Invisible being) นั่นคืออยู่กับผัสสะหรือการรับรู้ว่าผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วยังอยู่รอบๆ ตัวเรา หลังจากนั้นเธอก็เริ่มทำการค้นคว้า/ศึกษาศาสนาต่างๆ ที่ให้ความสนใจและนำไปสู่การสร้างความเชื่อเกี่ยวกับโลกที่มองไม่เห็น (Invisible world) และทำความเข้าใจว่าการรับรู้เชิงจินตนาการนี้เกี่ยวข้องกับการที่เรามีปฏิสัมพันธ์หรือพฤติกรรมต่อคนรอบข้าง เหตุการณ์ต่างๆ และโลกธรรมชาติ (Natural world) อย่างไรบ้าง นอกจากนี้เธอยังพยายามศึกษาว่าความเชื่อในจารีตของกรีกโบราณ ยิวและคริสเตียนจัดการอย่างไรกับเคราะห์ร้ายและการสูญเสีย

ความพยายามที่จะทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน “บทนำ” ของหนังสือเรื่อง The Origin of Satan (New York: Vintage Books, 1996) ซึ่งเธอเขียนโต้แย้งกับความเชื่อในศาสนาคริสต์เกี่ยวกับการตายของพระเยซู ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับจูดาส (Judas Iscariot) สาวกผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศ บทบาทของสาวกคนอื่นๆ และผู้นำในศาสนายิวในขณะนั้น โดยเธอได้ใช้หลักฐานหลายชิ้นประกอบกันในการวิเคราะห์/ตีความ และได้กลายเป็นข้อโต้แย้ง/ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่นักวิชาการด้านศาสนาและคริสตศาสนิกชนที่ถูกปลูกฝังมากับคำอธิบายในคัมภีร์ไบเบิ้ล จึงไม่คล้อยตามการวิเคราะห์ของเธอ

สำหรับผม ความน่าสนใจของงานเขียน/การวิเคราะห์ของแพเกิ้ลส์อยู่ที่การกลับไปพิจารณา/ตรวจสอบความเชื่อเรื่องโลกที่มองไม่เห็นและสิ่งที่มองไม่เห็นรอบตัวเรา ซึ่งเราอาจรับรู้ได้ด้วยผัสสะหรือประสาทสัมผัสทั้งหลาย[4]

ผมไม่ต้องการที่จะถกเถียงว่าความเชื่อเรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ เพราะประเด็นที่ผมสนใจมากกว่าคือเหตุใดมนุษย์จึงเชื่อในเรื่องเหล่านี้?

จินตนาการที่มักมาควบคู่กับความเชื่อนี้มีนัยอะไร ?

มีคำอธิบายอะไรบ้างที่ไม่ใช่เพียงตัดสินว่าถูกหรือผิด ? และคำอธิบายที่ว่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์ได้อย่างไร ?

เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความพยายามในการมีชีวิตกับความตายและความทรงจำเกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งผมจะกล่าวถึงข้างหน้า เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำความเข้าใจเรื่องโลกที่มองไม่เห็นและสิ่งที่มองไม่เห็นรอบตัวมนุษย์ และการที่มนุษย์อยู่กับสิ่งเหล่านี้

 

การหลอกหลอนของสิ่งที่มองไม่เห็น

 

เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากมักมีสารพันเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนตาย หรือการเห็นผี/วิญญาณปรากฏตัวขึ้นในลักษณะต่างๆ ซึ่งมักทำให้ผู้ฟังเกิดความกลัว สยดสยอง

การตายของผู้คนจำนวนมากอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ เช่น โรคระบาด (เชื้อโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้เป็นตัวอย่างที่ดี) สงคราม อุบัติภัย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ บ่อยครั้งที่ภัยเหล่านี้นอกจากจะคร่าชีวิตมนุษย์มากมายแล้ว ยังทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำของเรื่องราวที่น่าสะพรึงกลัว โหดร้าย จนยากที่จะลืมเลือน

แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 อาจเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศนั้น รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 15,899 คน บาดเจ็บ 6,157 คน และสูญหาย 2,529 คน[5] ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจนั้นมหาศาล ส่วนความเสียหายทางกายภาพคงยากที่จะประเมิน แต่สิ่งที่ดูจะประเมินไม่ได้เลยคือความทุกข์ทรมานทางจิตใจของผู้คนที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนั้น

Richard Lloyd Parry[6] เขียนเล่าประสบการณ์ของเขาที่พบกับคาเนดะ เจ้าอาวาสวัดเซนแห่งหนึ่งในเมืองคูริฮาร่าทางภาคเหนือของญี่ปุ่น เมืองนี้ห่างจากทะเลราวสามสิบไมล์ พระคาเนดะและชาวเมืองจึงไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของสึนามิจนกระทั่งเริ่มมีการนำศพมาที่วัดเพื่อทำพิธีทางศาสนา ภายในเวลาหนึ่งเดือนเจ้าอาวาสท่านนี้ต้องทำพิธีให้ถึงสองร้อยศพ

ทว่า เรื่องที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือผู้ที่รอดชีวิต เจ้าอาวาสเล่าว่าคนเหล่านี้ต้องสูญเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน การดำรงชีวิต และครอบครัว พวกเขาดูไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่ร้องไห้ ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่พูดคุย/สนทนาด้วย เจ้าอาวาสจึงทำได้เพียงอยู่เป็นเพื่อนคนเหล่านี้ อ่านคัมภีร์พระสูตรให้ฟัง และทำพิธีทางศาสนาให้

ต่อมามีชายคนหนึ่งมาหาเจ้าอาวาสเพื่อขอความช่วยเหลือ แพร์รี่เรียกชายคนนี้ว่า “ทาเคชิ โอโนะ” ซึ่งเป็นนามสมมติเพื่อปกป้องเขา โอโนะมีอาชีพก่อสร้าง ตอนที่เกิดสึนามิขึ้นเขามิได้ใส่ใจหรือรู้อะไรมากนัก แต่พอเริ่มมีรายงานข่าวภัยพิบัตินี้ทางทีวีเขาก็ดูแล้วดูอีก เขาเห็นบ้านเรือน เมือง ผู้คน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขารู้จักคุ้นเคยพังพินาศ กลายเป็นภาพที่ฝังตาฝังใจเขา แล้วเขาก็เริ่มรู้สึกทุกข์โศกกับการสูญเสียทั้งหลาย

สิบวันหลังการเกิดสึนามิเขาและครอบครัวขับรถไปดูสถานที่ต่างๆ ที่ถูกคลื่นสึนามิทำลาย โอโนะแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองกับสิ่งที่เห็น ความทุกข์โศกครอบงำเขาจนหมดสิ้น แล้วเขาก็แสดงพฤติกรรมแปลกๆ ต่อหน้าต่อตาภรรยาและแม่ของเขา เขายืนสี่ขาและเลียเสื่อทาทามิและที่นอน แล้วตะโกนว่า “แกต้องตายๆ ทุกคนต้องตาย ทุกอย่างต้องพินาศ” แล้ววิ่งออกไปที่นอกบ้าน นอนกลิ้งตัวไปมาบนโคลน กิริยาเหมือนคนเสียสติ แต่เขากลับจำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ แล้วเขาก็เห็นร่างเงาของผู้คนเดินผ่านหน้าบ้านในเวลากลางคืน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทุกคนเลอะเทอะด้วยโคลน ในที่สุดครอบครัวของเขาทนไม่ไหว ต้องขอให้เขาไปหาเจ้าอาวาสคาเนดะ ซึ่งรู้ว่าโอโนะกำลังมีอาการซึมเศร้า ท่านพาโอโนะเข้าไปในศาลาของวัดเพื่อทำพิธีทางศาสนา โดยตีกลองไปพร้อมๆ กับการอ่านคัมภีร์พระสูตร หลังจากนั้นก็พรมน้ำมนต์ให้เขา แล้วโอโนะก็หายเป็นปกติเช่นเดิม

แพร์รี่เล่าถึงเรื่องราวของคนอีกหลายคนที่มีอาการผิดปกติแบบโอโนะ และมาขอความช่วยเหลือทางศาสนาจากเจ้าอาวาสคาเนดะ เขาบรรยายว่าเจ้าอาวาสทำพิธีไล่ผี (Exorcised) ที่สิงคนเหล่านี้ บางคนถูกผีหลายตนเข้าสิง เช่น หญิงที่มีชื่อว่ารูมิโกะ ทาคาฮาชิ ถูกผีสิงถึง 25 ตน!

ผีมีจริงหรือไม่? คนเหล่านี้ถูกผีสิงหรือคิดไปเอง? ผมคิดว่าคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะความน่าสนใจ (อย่างยิ่งยวด) ของเรื่องราวต่างๆ ที่แพร์รี่เล่าดูจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนตายและคนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีความรักและความผูกพันเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงทั้งสองฝ่าย เขากล่าวถึงมาซาชิ ฮิจิคาตะ ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ ผู้สนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและตีพิมพ์เรื่องราวเหล่านั้น ฮิจิคาตะเล่าถึงหญิงคนหนึ่งที่สูญเสียลูกชายไปเพราะสึนามิ แล้วรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งบางอย่างตามหลอกหลอนเธอ จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอก็ให้กินยารักษาโรคซึมเศร้า พอไปหาพระที่วัด พระก็ขายเครื่องรางให้ และบอกให้เธออ่านคัมภีร์พระสูตรเพื่อให้จิตใจสงบ แต่สิ่งที่เธอต้องการคือได้เจอลูกชายอีกครั้ง

ฮิจิคาตะเล่าว่ามีคนจำนวนมากที่เหมือนเธอ ซึ่งไม่สนใจว่าคนที่ตนเองรักเป็นผีหรืออะไร พวกเขาแค่ต้องการพบคนที่รักใคร่เท่านั้น เขาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จึงรื้อฟื้นสิ่งที่เคยมีในสมัยที่ญี่ปุ่นยังเป็นสังคมศักดินาที่เรียกว่า “ไคดัน” (Kaidan) ซึ่งหมายถึงเรื่องราวแปลกประหลาด (Weird tale) โดยจัดงานไคดันไค (Kaidankai) หรือปาร์ตี้เรื่องราวแปลกประหลาดที่ในอดีตนิยมจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อน เขาใช้ศูนย์ประจำชุมชนหรือศาลาประชาคม ซึ่งเป็นที่สาธารณะ เป็นสถานที่ในการจัดงาน แล้วให้คนที่สูญเสียคนที่ตนรัก ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา แม่บ้าน คนทำงานหรือเกษียณอายุแล้ว มาเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการโดนหลอกหลอนให้ผู้อื่นฟัง แล้วฮิจิคาตะก็นำเรื่องราวเหล่านั้นไปตีพิมพ์ ทำให้คนที่เล่าประสบการณ์ของตนรู้สึกว่าเรื่องราวและการสูญเสียของตนมีคนรับรู้แล้ว มิใช่อยู่แต่ในจิตใจของตนเท่านั้น

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ผมไม่สามารถพาดพิงได้หมด แต่ประเด็นสำคัญที่แพร์รี่ต้องการกล่าวถึงเกี่ยวกับผู้ที่ประสบภัยสึนามิคือการที่ผู้รอดชีวิตจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับอาการที่เรียกว่า “Trauma” ซึ่งหมายถึงประสบการณ์ของความทุกข์ทรมานหรือความชอกช้ำอย่างรุนแรงทางจิตใจ (severe psychological distress) อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เลวร้ายหรือคุกคามต่อชีวิต เป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายอย่างสุดขีดจนทำให้ไม่อาจลืมได้ เสมือนเป็นบาดแผลทางจิตใจที่ยากจะรักษาให้หายได้

 

รับมือกับความชอกช้ำทางจิตใจ

 

แม้ว่าแพร์รี่จะระบุว่าคนญี่ปุ่นที่เขาพบเจอมีประสบการณ์ที่อาจระบุได้ว่าเป็นความชอกช้ำอย่างรุนแรงทางจิตใจหรือทรอม่า (ซึ่งเป็นคำอธิบายของการแพทย์สมัยใหม่) แต่เขากลับพาดพิงถึงการรักษาทางจิตใจเชิงความเชื่อตามจารีตเดิม (ไคดัน และ ไคดันไค) และพิธีไล่ภูตผีมากกว่าการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ แต่การรักษาทั้งสองก็ดูจะบรรลุผลมากทีเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่คนในสังคมอื่นก็นิยมการรักษาในเชิงความเชื่อดั้งเดิมหรือด้านศาสนา

เช่น กรณีของหญิงมุสลิมมลายูในภาคใต้ที่เป็นห่วง/กังวลถึงพ่อของตนเสียชีวิตลงว่าจะได้รับความลำบาก วิญญาณจะไม่ได้ไปอยู่กับพระเจ้า เพราะติดค้างหนี้สินเพื่อนไว้ก่อนตาย จนเธอต้องไปขอความช่วยเหลือจากหมอทำพิธีหรือโบโมห์มาเรียกวิญญาณของพ่อ “มาเข้าทรงเพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ รวมไปถึงสอบถามเรื่องเจ้าหนี้”

หรือกรณีของหญิงชาวมหาสารคามที่ฝันถึงแม่และน้องชายที่เสียชีวิตแบบตายโหง (ผมได้กล่าวถึงทั้งสองกรณีในงานเขียนชิ้นก่อนๆ ไปแล้ว) เป็นตัวอย่างที่ดีของความนิยมในการรักษาตามความเชื่อตามจารีตเดิมและด้วยพิธีกรรมทางศาสนา

ผมสันนิษฐานว่าการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ผล มีพลัง อาจเป็นเพราะว่าความกังวล/ห่วงใยต่อผู้ที่จากไปของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ดูคลี่คลายลง ฝ่ายหลังรับรู้ว่าอีกฝ่ายมีความสงบสุขในอีกภพหนึ่งหรือในโลกที่มองไม่เห็นที่อยู่รอบตัวเรา รับรู้ว่าตนสามารถติดต่อ/สื่อสารกับอีกฝ่ายได้ (ผ่านคนกลางที่อาจเป็นพระ โบโมห์ หรือเจ้าของสำนักพิมพ์ที่เอาเรื่องราวต่างๆ ไปตีพิมพ์) บาดแผลและความชอกช้ำทางจิตใจจากการสูญเสียคนรักค่อยๆ ทุเลา จนในที่สุดอาจหายกลายเป็นปกติได้ และความรักใคร่ต่อผู้ที่จากไปแล้วก็มิได้เลือนลางหมดไป

คงไม่มีตัวอย่างอะไรที่ดีไปกว่าเรื่องราวในภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Departures ที่ออกฉายในปี 2008 เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มผู้หนึ่งที่ตกงาน จึงเดินทางกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดและได้งานใหม่เป็นช่างแต่งหน้าแต่งตัวให้ศพก่อนทำพิธีทางศาสนา

ผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่องนี้ (ซึ่งโดยส่วนตัว ผมชอบมาก) แต่จะพาดพิงถึงบางฉากที่เรื่องราวบอกเราว่าความรักทำให้การตายเป็นอมตะ สิงสถิตอยู่ในความทรงจำของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ฉากงานศพหญิงคนหนึ่งที่หัวหน้าของชายหนุ่มแต่งหน้าศพให้ แล้วเอ่ยถามว่า “ผู้ตายมีลิปสติกแท่งโปรดรึเปล่าครับ?” ผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นลูกสาวรีบลุกไปเอาลิปสติกแท่งที่แม่ชอบใช้มาให้หัวหน้า ซึ่งภายหลังกล่าวว่า “เพื่อชุบความมีชีวิตชีวาให้ผู้ตาย และคงความงามไว้ชั่วนิรันดร์ เราต้องทำอย่างนุ่มนวลและพิถีพิถัน และเหนืออื่นใดก็ต้องทุ่มเทความรักลงไป เพื่อเป็นของขวัญในการบอกลาครั้งสุดท้าย และส่งผู้ตายไปสู่สุคติ มันช่างเงียบสงบและสง่างามในทุกการกระทำ”

ผู้ชมเห็นภาพของสามีผู้ร่ำไห้บอกลาภรรยาผู้วายชนม์ และภาพของหัวหน้ายืนถือฝาโลงเตรียมปิด เป็นภาพที่สวยงามและสร้างอารมณ์โศกเศร้าได้ดีกว่าคำพูดพรรณนาใดๆ และเมื่อหัวหน้าและชายหนุ่มเดินออกจากบ้านแล้ว ชายผู้เป็นสามีก็วิ่งออกมาขอโทษที่ใช้วาจาหยาบคาย แล้วกล่าวว่า “นาโอมิ ภรรยาของผม ดูสวยมาก เท่าที่เธอเคยสวยเลยล่ะครับ ต้องขอขอบคุณจริงๆ ครับ” แล้วโค้งให้ทั้งสองแทนคำขอบคุณ

หรือฉากงานศพคุณป้าผู้ดูแลห้องอาบน้ำร้อน คุณลุงที่ทำหน้าที่จุดเพลิงเผาศพที่โรงเผาเอ่ยขึ้นว่า “พอมาทำงานที่นี่นานๆ ฉันก็คิดว่าความตายก็คืออีกวิถีหนึ่ง ความตายไม่ใช่จุดจบ แต่คือการทิ้งสิ่งปัจจุบัน เพื่อไปสู่อนาคต สู่วิถีที่แท้จริง ในฐานะที่เป็นผู้นำวิถี ฉันก็ได้พูดกับคนมากมายว่า “เดินทางโดยสวัสดิภาพ แล้วพบกันใหม่นะครับ””

ความทรงจำที่ดี ภาพที่งดงามของผู้ตาย คงช่วยรักษาบาดแผลและความชอกช้ำทางจิตใจจากการสูญเสียให้หายได้ ช่วยให้คนที่รักใคร่เป็นอมตะ ดำรงอยู่ในความทรงจำที่สวยงามของเรา และช่วยให้คนที่ยังมีลมหายใจ ต้องดิ้นรน ปากกัดตีนถีบ ต่อสู้กับความเสียร้ายของโลกที่มองเห็น/สัมผัสได้ สามารถมีชีวิตต่อไปได้จนกว่าจะเดินทางไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ภพที่น่าสยดสยอง และความตายก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเลยแม้แต่น้อย

ตรงกันข้าม ความตายเป็นเรื่องของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่มากกว่าของผู้ที่จากไปแล้ว ความตายไม่ใช่ช่วงเวลาของการร้องไห้เศร้าโศกและการกัดฟันอดทนยอมรับความเจ็บปวด แต่ความตายคือการสังเกตการณ์ว่าชีวิตเป็นเรื่องที่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องคิดทบทวนไตร่ตรองอย่างมีสมาธิ มีสติ (It is an observation that a life has been left for the contemplation of the survivors.)[7]

 

อ้างอิง

[1] ไทยรัฐออนไลน์, “อาลัย สาววัย 19 วาดภาพนายกฯ โอดรัฐบาลใจร้าย เครียดไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก”, 29 เมษายน 2563

[2] ไทยรัฐออนไลน์, “เปิดใจสามีสาววัย 19 วาดรูปบิ๊กตู่ ก่อนผูกคอดับ เผย “ชีวิตเมียผมน่ารันทด””, 29 เมษายน 2563

[3] เป็นบทความที่ถูกตีพิมพ์หลายครั้ง แต่ที่ผมใช้อยู่ใน Renato Rosaldo, Culture & Truth: The Remaking of Social Analysis (London: Routledge, 1993), pp. 1-21

[4] มีการศึกษาและงานเขียนในเรื่องผัสสะและปฏิสัมพันธ์กับวัตถุที่น่าสนใจ เช่น ธูปและกลิ่นธูปทำให้มนุษย์รับรู้และ/หรือมีจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องใด? เหตุใดธูปจึงถูกใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา? และอีกหลายประเด็น ซึ่งผมไม่อาจอภิปรายได้ในที่นี้

[5] Wikipedia, the free encyclopedia, “2011 Tohoku earthquake and tsunami”

[6] Richard Lloyd Parry, “Ghosts of the Tsunami”, London Review of Books Vol. 36 No. 3 (6 February 2014), เป็นบทความที่ต่อมาได้กลายเป็นหนังสือชื่อ “Ghosts of the Tsunami: Death and Life in Japan’s Disaster Zone” (MCD/Farrar, Straus & Giroux, 2017) ซึ่งได้รับรางวัล The Rathbones Folio Prize 2018 และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของปี 2017 โดย The Guardian, NPR, GQThe EconomistBookforum, Amazon และ Lit Hub น่าเสียดายที่ผมยังหาหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ จึงได้อ่านที่เป็นบทความเท่านั้น

[7] Robert Ebert, “Reviews. Death is for the living and not for the dead so much”, RobertEbert.com, May 27, 2009

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save