fbpx
Empathy : สิ่งสำคัญที่ขาดหายไป

Empathy : สิ่งสำคัญที่ขาดหายไป

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“พวกมันนั่งอยู่ตรงข้ามกัน ยื่นปากออกมาสัมผัสกันและกัน ตัวหนึ่งเอามือไปจับไหล่ของอีกตัวหนึ่ง แล้วพวกมันก็กอดกันกลมในอ้อมแขนของกัน หลังจากนั้นพวกมันก็ยืนขึ้น แต่ละตัววางแขนโอบไหล่ของอีกตัวไว้ เชิดหัวขึ้น อ้าปาก แล้วตะโกนออกมาอย่างพึงพอใจ”

ตอนหนึ่งจาก The Expression of the Emotions in Man and Animals

โดย ชาร์ลส์ ดาร์วิน เขาเล่าถึงความสัมพันธ์ของชิมแปนซีสองตัว

 

เรามักคิดว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มี empathy หรือมีความเข้าอกเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

แต่จริงๆ แล้ว มีหลักฐานมากมายที่บอกว่า สัตว์อื่นก็มี empathy เช่นเดียวกัน

ฟรานส์เดอวาล (Frans de Waal) แห่งมหาวิทยาลัยอีโมรี (Emory University) เคยเล่าเรื่องชิมแปนซีสองตัวที่ถูกขังไว้นอกกรงระหว่างเกิดพายุฝน ปรากฏว่านักไพรเมตวิทยาอย่างวูล์ฟกัง โคห์เลอร์ (Wolfgang Kohler) ไปพบเข้า เขาเห็นเจ้าสัตว์สองตัวนี้สั่นเทาและชุ่มโชกอยู่ข้างนอก เลยเปิดประตูให้พวกมัน แทนที่พวกมันจะรีบเข้ามาข้างใน ทั้งสองตัวกลับหยุดแล้วเข้ามากอดเขาอย่างกระตือรือร้นก่อน

เดอวาลยังเคยเล่าถึงกอริลลาตัวเมียชื่อ บินติฮัว (Binti Jua) ไว้ในหนังสือ Our Inner Ape ด้วย มันกลายเป็นสัตว์ดังระดับโลกเมื่อมันช่วยเด็กคนหนึ่งที่ตกลงไปในบ่อจัดแสดงที่สวนสัตว์บรูคฟิลด์ในชิคาโก มันไม่ได้ทำร้ายเด็ก

ยังมีลิงโบโนโบอีกตัวหนึ่ง ที่เจอนกบินชนกระจกตกลงมาสลบ แต่ลิงไม่ได้ทำร้ายนก ทว่าพยายามช่วยให้มันบินขึ้นได้จนนกฟื้นและบินจากไป

เรื่องพวกนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้นหรอกที่มี empathy แต่กับสัตว์ (โดยเฉพาะสัตว์ที่ใกล้ชิดกับมนุษย์) ก็มี empathy ด้วยเหมือนกัน เพราะมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เหนือกว่าสัญชาตญาณทั่วไป

คนเยอรมันมีคำเรียกการรับรู้สภาวะอารมณ์ของอีกฝ่ายอย่างใกล้ชิด หรือเจ้า empathy นี้ว่า Einfühlung ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘รู้สึกเข้าไปในอีกฝ่าย’ ซึ่งในวิทยาศาสตร์ทางสมอง คำว่า ‘อารมณ์’ ก็คือการตอบสนองทางเซลล์ประสาทหรือต่อมไร้ท่อต่อสิ่งเร้าหนึ่งๆ หน้าที่ของมันก็คือการควบคุมโลกภายในของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ เพื่อให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในโลกภายนอก

อารมณ์ก็เลยไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการรับสัมผัสในทางกายภาพ แล้วแสดงออกมาเป็นความรู้สึก โดยความรู้สึกหนึ่งๆ คือการตระหนักรู้ถึงการมีอารมณ์นั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ความสามารถที่จะหยั่งรู้ความคิด ความรู้สึก และเจตนาของคนอื่นนั้น พัฒนาขึ้นในมนุษย์ตอนเราอายุราวๆ สองขวบ นั่นคือช่วงเวลาเดียวกับที่เราเริ่มตระหนักถึงตัวเองในกระจก ดังนั้น การตระหนักรู้ถึงตัวตนและความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกและเจตนาของคนอื่น จึงอาจเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน

คำถามก็คือ แล้วอะไรเป็นตัวการทำให้เรารับรู้ความรู้สึกของ ‘คนอื่นๆ’ ได้

คำตอบก็คือ ‘เซลล์ประสาทกระจก’

ในทศวรรษ 1980s นักสรีระประสาทวิทยาอย่าง เจียโคโม ริซโซลัตตี (Giacomo Rizzolatti) เคยทดลองกับลิงกัง โดยการสอดขั้วไฟฟ้าเข้าไปที่สมองของลิงโดยตรง แล้วให้มันถือวัตถุต่างๆ หลายแบบ การวัดค่าในสมองที่แม่นยำมากทำให้ริซโซลัตตีและทีมงานแยกแยะเซลล์ประสาทเฉพาะของลิงได้ว่าตรงไหนถูกกระตุ้นในเวลาไหน

จากการทดลองนี้ นักวิทยาศาสตร์พบบางสิ่่่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน นั่นคือเมื่อนักวิจัยคนหนึ่งหยิบถั่วเพื่อจะยื่นให้กับลิง ระบบประสาทเดียวกันที่ควบคุมการเคลื่อนที่ในสมองลิงก็ทำงานไปด้วย มันเหมือนกับตัวลิงเองเป็นผู้หยิบถั่วเอง แถมเซลล์ประสาทที่ทำงานตอนลิงหยิบถั่วใส่ปาก ก็ทำงานด้วยเหมือนกันเมื่อนักวิจัยหยิบถั่วใส่ปากตัวเอง

ริซโซลัตตีตั้งชื่อเซลล์เหล่านี้ว่า ‘เซลล์ประสาทกระจก’ หรือ mirror neurons ซึ่งก็คือตัวการสำคัญในการทำให้เรา ‘สะท้อน’ สิ่งที่คนอื่นทำเข้ามาในตัวเรา เหมือนกับการส่องกระจกเห็นตัวเราเอง

ต่อมาภายหลังมีการค้นพบว่า สมองอีกหลายต่อหลายส่วนทำงานแบบเดียวกันนี้ ทำให้เรามีความรู้สึก ‘คิดถึงคนอื่น’ หรือ ‘พยายามทำความเข้าใจคนอื่น’ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ แม้แต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้เพราะเซลล์ประสาทกระจกเหล่านี้ทำงานนั่นเอง

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เวลาเราดูหนังแล้วเห็นตัวละครถูกตีหัว เราอาจรู้สึกหวาดเสียว นั่นก็คือการทำงานแบบเดียวกันนี้ หรือยกตัวอย่างให้ง่ายขึ้นไปอีก ก็คือเวลาเราเห็นคนกินของเปรี้ยว เราจะรู้สึกเข็ดฟันไปด้วยทั้งที่เราไม่ได้กินของเหล่านั้นเลย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าเรื่องเหล่านี้นี่เอง ที่คือเรื่องของ empathy โดยเฉพาะเมื่อเราให้ความหมายของ empathy ว่าคือการ ‘เข้าใจลึกเข้าไปในคนอื่น’

ในหนังสือ How to Make Good Decisions and Be Right All the Time ของ Iain King เขาให้เหตุผลว่าทำไม empty ถึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ของการชี้ถูกชี้ิผิด หรือเห็นว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด เขาบอกว่าที่จริงแล้วสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ศีลธรรม’ นั้น แท้จริงล้วนมีฐานวางอยู่บน empathy ทั้งสิ้น มันสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับเราทั้งภายนอกและภายใน แถมเรายังใช้ empathy ในการสร้างคุณค่าให้กับชีวิตด้วย เพราะฉะนั้น ในอีกแง่หนึ่ง ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น มนุษย์เราก็เรียกร้องต้องการจากคนอื่น ให้คนอื่นมามี empathy กับตัวเอง

ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราเอาประเด็นเรื่อง ‘อำนาจ’ เข้าไปจับกับ empathy ด้วย เราก็จะพบว่าคนมีอำนาจมักเรียกร้องให้คนอื่นๆ ‘เข้าใจ’ หรืออย่างน้อยก็คล้อยตามพวกเขามากกว่ากลุ่มคนไม่มีอำนาจ แถมอำนาจยังเป็นตัวกำหนดหรือกะเกณฑ์ให้เกิดมาตรฐานในการทำความเข้าใจบางอย่างขึ้นมาได้ด้วย

empathy ในมนุษย์จึงซับซ้อน

บางครั้งเวลาเห็นผู้บริหารประเทศนั่งไหล่ห่ององุ้ม หน้าตาไม่มีสง่าราศี เราอาจนึกสงสาร เพราะเราใช้ empathy ที่เรามีโดยธรรมชาติไปจับไปมอง แต่ในทางกลับกัน นั่นคือการเรียกร้อง empathy ผ่านภาพ โดยที่ผู้นำคนนั้นอาจไม่เคยมี empathy ต่อคนอื่นเลยก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อคิดว่า empathy ของตัวเองคือฐานในการสร้างระบบศีลธรรมบางอย่างขึ้นมา

สำหรับสัตว์ empathy อาจเกิดขึ้นจากเซลล์ประสาทกระจก ทำให้ empathy เป็นเรื่องทางกายหรือทางสมองล้วนๆ แต่สำหรับมนุษย์ ถ้าเชื่อตาม Iain King ก็แปลว่ามนุษย์สร้างระบบศีลธรรมขึ้นมาบนฐานของ empathy ทั้งหมดนั่นเอง

แล้วถ้าผู้มีอำนาจทำเป็นแค่เรียกร้อง empathy จากคนอื่น แต่โดยตัวเองหลงใหลได้ปลื้มอยู่กับยอดบนสุดของพีระมิด โดยไร้ empathy ให้กับคนที่ลดหลั่นต่ำชั้นลงมา

ก็ยากจะคาดคิดได้ — ว่าสุดท้ายแล้วสังคมที่มีผู้ถือครองอำนาจนี้อยู่จะลงเอยอย่างไร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save