fbpx

เมื่อเอ็มมา ราดูคานู เด็กสาวอายุเพียง 18 ปี ทำลายภาพลวงตาของผู้ติดหล่มชาตินิยม

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาเอ็มมา ราดูคานู (Emma Raducanu) หญิงสาวอายุเพียง 18 ปี สร้างประวัติศาสตร์ในวงการเทนนิสของโลก กลายเป็นแชมป์รายการแกรนด์สแลม หญิงเดี่ยวอายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่มาเรีย ชาราโปวาได้แชมป์วิมเบิลดันเมื่ออายุเพียง 17 ปี ในปี ค.ศ. 2004 แต่ที่สร้างความตื่นเต้นกันมากในประเทศอังกฤษคือเอ็มมาเป็นนักเทนนิสหญิงสัญชาติอังกฤษคนแรกในรอบ 44 ปีที่ได้แชมป์หญิงเดี่ยวในรายการใหญ่ของโลก ทั้งๆ ที่ต้องลงแข่งรอบคัดเลือก (qualifying) ก่อนที่จะได้เข้าสนามแข่งเพราะเป็นผู้เล่นที่ไม่มีอันดับ (unseeded) จึงกลายเป็นม้ามืดที่พุ่งเข้าสู่แชมป์ในสนาม US Open ที่นครนิวยอร์ก

เอ็มมา ราดูคานู สร้างประวัติศาสตร์ในวงการเทนนิส กลายเป็นนักเทนนิสคนแรกของโลกที่เข้าแข่งในรายการแกรนด์สแลมโดยสามารถผ่านเข้ารอบคัดเลือกแล้วยังชนะทุกรอบเข้าสู่รอบชิงแชมป์รวดเดียวในปีแรกที่ลงสนาม โดยไม่แพ้แม้แต่เซ็ตเดียว

นอกจากสร้างประวัติศาสตร์เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการเทนนิสของโลกแล้ว เอ็มมา ราดูคานูสาวเลือดผสมโรมาเนียและจีนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทางด้านสังคมวิทยาในยุคที่อังกฤษถอนตัวออกจากอียู เพราะกระแสชาตินิยมต่อต้านคนต่างชาติ (immigration) เข้าเมืองในอังกฤษและในยุคที่กลุ่มอนุรักษ์ผิวขาวในอเมริกา (white supremacist) ต่อต้านคนเข้าเมือง บรรดาสาวกของโดนัล ทรัมป์ที่แม้ว่าจะแพ้เลือกตั้งแต่ก็ยังไม่ลดละที่จะสร้างกระแสตีกลับมาเพื่อมีอำนาจอีกครั้ง

พลวัตรอบตัวสาวน้อยคนนี้ที่น่าสนใจคือ พ่อเป็นชาวโรมาเนียที่ถือว่าเป็นประเทศชั้นสองของยุโรปและมารดาเป็นชาวจีนอพยพ เธอใช้นามสกุลของพ่อ พูดภาษาโรมาเนียและภาษาจีนแมนดารินได้คล่อง แม้ว่าเธอเกิดในแผ่นดินแคนาดา แต่ครอบครัวย้ายมาอยู่ลอนดอนตั้งแต่เธออายุเพียง 2 ขวบจึงถือหนังสือเดินทางอังกฤษ เรียนโรงเรียนอังกฤษ วิชาเอกคณิตศาสตร์และเพิ่งรู้ผลสอบมัธยมปลาย ได้คะแนนคณิตศาสตร์ระดับ A Star และวิชาเศรษฐศาสตร์ระดับ A เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมนี้เอง 

สามเดือนก่อนหน้านี้ ในสังคมอังกฤษหรืออเมริกา แทบจะไม่มีใครรู้จัก เอ็มมา ราดูคานู เพราะเธอไม่เคยอยู่ในเรดาร์ของสื่อมวลชนทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก สื่อในอังกฤษเพิ่งจะให้ความสนใจเมื่อตอนที่เธอผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศที่สนามวิมเบิลดันเมื่อสองเดือนก่อนเท่านั้น

เอ็มมาถือสัญชาติอังกฤษก็จริงแต่ไม่มีสายเลือดอังกฤษเลย เป็นสาวลูกผสมโรมาเนียและจีน แต่ไปเกิดในแคนาดา เธอไม่เรียกตัวเองว่าเป็นแคนาเดียน และไม่ถือว่าเป็นโรมาเนียนหรือจีน แม้ว่าจะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่บ้านเกิดของพ่อและแม่ทุกปีและพูดภาษาของพ่อแม่ได้ ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งในทั้งสองประเทศถือว่าเอ็มมาเป็นฮีโร่ของพวกตนเช่นกัน แต่เอ็มมาเติบโต เรียนหนังสือ และฝึกตีเทนนิสในลอนดอน เธอจึงแสดงออกอย่างชัดเจนด้วยการถือธงชาติอังกฤษไปลงสนามชิงแชมป์เทนนิส US Open ที่นิวยอร์ก เธอจึงถือว่าตนเองเป็นผลผลิตที่ได้รับการหล่อหลอมมาจากสิ่งที่เรียกว่า British values อันเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมความเปิดกว้าง (openness) ความเท่าเทียม (equality) ความหลากหลาย (diversity) และการหล่อหลอมรวม (inclusiveness)

British values เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากตอนที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโรเมื่อสามเดือนก่อน กรณีที่แฟนบอลชาวอังกฤษผิวขาวออกอาการเหยียดผิวเมื่อนักเตะทีมชาติอังกฤษผิวดำสามคนทำให้แฟนๆ ผิดหวังที่พ่ายแพ้แก่ทีมชาติอิตาลีในสนามบ้านตัวเอง ซึ่งแกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษประกาศว่าการเหยียดผิวเหล่านั้นเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ไม่สอดคล้องกับ British values และไม่ถือว่าพวกเขาเป็นชาวอังกฤษที่รักชาติ (patriot) อย่างแท้จริง

ในสหราชอาณาจักร การโต้เถียงกันเรื่องค่านิยม British values เป็นกรณีพาดหัวข่าวในสื่ออยู่เนืองๆ เพราะเป็นการผลักดันให้สังคมก้าวไปข้างหน้า ไม่หลงสาละวนอยู่ในหล่มชาตินิยม (nationalism) ที่แคบและล้าหลัง แม้กระนั้นก็ยังมีนักการเมือง คนทำสื่อ และกลุ่มประชาชนอนุรักษนิยมขวาจัดบางกลุ่มยังแสดงอิทธิฤทธิ์ออกอาละวาดทางสื่อและโซเชียลมีเดียอยู่เป็นระยะๆ กระแสการโจมตีผู้อพยพซึ่งมักจะถูกหาว่ามาแย่งงาน แย่งสวัสดิการสังคมในอังกฤษ มีส่วนช่วยให้ฝ่ายรณรงค์ Brexit ประสบความสำเร็จในการลงประชามติ

ผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไปลงประชามติให้ถอนอังกฤษออกจากยุโรป ก็เพราะไม่ต้องการคนต่างชาติอย่างพ่อแม่ของเอ็มมาเข้ามาทำมาหากินสร้างครอบครัวในประเทศอังกฤษ แย่งงานและสวัสดิการ โดยเฉพาะคนที่มาจากประเทศอย่างโรมาเนีย ซึ่งถือว่าเป็นชาติชั้นสองของสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่คนเข้าเมืองเหล่านั้นส่วนใหญ่ขยันขันแข็งอดทน ทำงานเสียภาษีเข้ากระทรวงการคลังมากกว่าคนผิวขาวที่ออกมารังเกียจกีดกันเสียอีก

ปรากฏการณ์เอ็มมา ราดูคานู ได้ทำลายภาพลวงตาของกลุ่มคนที่ยังติดหล่มชาตินิยมแคบๆ ของชาติพันธุ์คนผิวขาวที่ถือว่าพวกตนเท่านั้นที่มีความเป็นมนุษย์เหนือกว่าคนผิวพันธุ์อื่น เนื่องจากยุคสมัยหนึ่งพวกตนได้สร้างอาณาจักรและยึดแผ่นดินเป็นเจ้าอาณานิคมในหลายดินแดนทั่วโลก แต่ภาพลวงตาเหล่านี้ค่อยๆ ถูกทำลายไป เห็นได้จากคู่ชิงแชมป์ของเอ็มมา คือเลย์ลาห์ เฟอร์นันเดซ สาวอายุ 19 สัญชาติแคนาดา แต่พ่อเป็นชาวเอกวาดอร์ แม่เป็นชาวฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับเอ็มมา เธอไม่ได้ถือสัญชาติของพ่อหรือแม่

ในรอบหลายปีที่ผ่านมาค่านิยมเสรีนิยมก้าวหน้าในอังกฤษได้สร้างความเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ลูกหลานของผู้อพยพที่เรียนหนักและทำงานหนักต่อสู้กับอคติต่างๆ จนประสบความสำเร็จก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญของประเทศ อย่างรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลของบอริส จอห์นสัน เช่น รัฐมนตรีมหาดไทย คลัง พาณิชย์ ศึกษา สาธารณสุข รวมไปถึงผู้ว่าการกรุงลอนดอนซึ่งเป็นลูกของผู้อพยพเข้ามาทำงานเป็นคนขับรถเมล์ในลอนดอน หนักเอาเบาสู้กับอคติรอบตัว ขยันขันแข็งส่งลูกเรียนจนได้ดี มีการงานดีกว่าเพื่อร่วมรุ่นผิวขาว

นักประพันธ์ชาวอังกฤษชื่อดัง จอร์จ ออร์เวลล์ เคยกล่าวว่า ชาตินิยมเป็นพฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่งที่ถือว่ามนุษย์ควรถูกจัดแบ่งแยกเป็นพวกคนดี พวกคนไม่ดี และที่ร้ายไปกว่านั้นคือพฤติกรรมของมนุษย์กลุ่มนี้ที่มักจะยกตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้าของประเทศชาติแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ยอมรับผิดชอบชั่วดี มุ่งทำอย่างเดียวคือขยายผลประโยชน์ของพวกตน 

จอร์จ ออร์เวลล์ยังเตือนด้วยว่า อย่าสับสนระหว่างชาตินิยม (nationalism) กับความรักชาติ (patriotism) เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่หลงผิดไม่สามารถแยกความแตกต่างและบางคนก็ใช้สลับกัน เพราะสองคำนี้เป็นอุดมการณ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงและเป็นแนวคิดที่บางครั้งก็ขัดแย้งกันเองด้วย

ในความเข้าใจของ ออร์เวลล์ คำว่า patriotism หมายถึงความเชี่อความผูกพันกับถิ่นที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตของถิ่นนั้น โดยเป็นความเชี่อแบบตั้งรับ (defensive) ไม่ก้าวร้าวไม่นิยมใช้ความรุนแรง ไม่มีความมุ่งมาดที่จะบังคับให้ผู้คนอื่นๆ มาเชื่อหรือมาผูกพันให้มีความคิดตามแบบตนเอง แต่ฝ่าย nationalism นั้นเป็นอุดมการณ์ยกชูชาติที่แฝงด้วยแรงปรารถนาถึงความยิ่งใหญ่ ชอบที่จะแสวงหาอิทธิพลและอำนาจเพื่อที่จะไปบีบบังคับให้คนอื่นหันมารับความเชื่อตามแบบที่ตนต้องการ  ผู้คนที่เลื่อมใสลัทธิชาตินิยมมักจะสร้างอัตลักษณ์ให้ตนเองโดดเด่นมีอำนาจและไม่ละอายใจที่จะใช้ความรุนแรงกับคนเห็นต่าง บางครั้งถึงขั้นทำลายล้างผลาญกัน   

ออร์เวลล์กล่าวด้วยว่า ผู้คนที่ลุ่มหลงในลัทธิชาตินิยมมักจะหิวกระหายอำนาจและมักจะหลอกตัวเองอยู่เสมอ ไม่ซื่อสัตย์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น แม้จะมีความจริงและมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ จนถึงมีหลักตรรกะมาหักล้างความเชื่อของเขาอยู่ตรงหน้า แต่พวกเขาก็ยังจะติดหล่มหลงเชี่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้เพราะพวกเขาผิดหลงไปว่ากำลังรับใช้สิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าตัวเขาเอง จึงเชี่อมั่นอย่างไม่เสื่อมคลายว่า พวกเขาต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ [1]

คำอธิบายแยกแยะลักษณะความรักชาติและชาตินิยมของนักประพันธ์อังกฤษผู้โด่งดังตีพิมพ์ออกมาในขณะที่เกิดกระแสชาตินิยมในเยอรมนีและญี่ปุ่น จนนำไปสู่ความขัดแย้งอันเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ มีผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และบาดแผลยังคงบาดลึกมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอ ทุกวันนี้กระแสชาตินิยมในยุโรป อเมริกา และในเอเชียยังคงผุดโผล่มาให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ เพราะยังมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่เชื่อว่าในความเป็นมนุษย์นั้นพวกตนอยู่ในระดับที่เหนือกว่าหรือชาติตนเหนือกว่าชาติอื่น กระทั่งในชนชาติเดียวกันก็มีความเชื่อที่ว่าพวกตนเท่านั้นเป็นคนดี ส่วนคนอื่นๆ เป็นคนไม่ดีถ้ามีความคิดหรือมองโลกที่แตกต่างไปจากตน  

ความคิดเช่นนี้ก็คงไม่ต่างไปจากพวกที่เชื่อว่าหากยืนตรงในโรงภาพยนตร์หรือยืนเคารพธงชาติทุกเช้าจะทำให้พวกตนเป็นคนดีมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่ามนุษย์คนอื่น เกิดมีอำนาจขึ้นในตัวเองอย่างทันใด สามารถออกไปไล่ล่าทำร้ายร่างกายคนอื่นได้หรือลุแก่อารมณ์ทำผิดกฎหมายใดๆ ก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะนึกลำพองใจว่าตนเองกำลังรับใช้สิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก

อิทธิพลทางความคิดจากนักเขียนอย่างออร์เวลล์ และนักปรัชญา ศิลปิน นักกีฬาหัวก้าวหน้าคนอื่นๆ ในเวลาต่อมา อย่างผู้จัดการทีมชาติฟุตบอลอังกฤษ ก็มีส่วนในการเสริมสร้างสิ่งที่เรียกว่า British values คอยทัดทานกระแสชาตินิยมที่โผล่หัวอันน่าเกลียดออกมาเป็นระยะๆ ในขณะเดียวกันสถาบันหลักๆ ของชาติก็พยายามปรับตัวให้เท่าทันกับค่านิยมของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นทันทีที่เอ็มมาได้ชัยชนะรอบชิงสร้างประวัติศาสตร์ในเวทีโลก สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระอักษรแสดงความยินดีส่งสารถึงเอ็มมา ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังบักกิงแฮมว่าพระองค์ชื่นชมความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความมุมานะในขณะที่อายุยังน้อย และถือว่าเอ็มมาจะเป็นตัวอย่างที่จะสร้างแรงบัลดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ต่อไป

ความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของนักกีฬาที่เป็นลูกของผู้อพยพ ผู้เป็นแรงบัลดาลใจของเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ในอังกฤษอีกคนคือ มาร์คัส แรชฟอร์ด ศูนย์หน้าทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ MBE จากสมเด็จพระราชินีเมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าจะรณรงค์ต่อต้านนโยบายการลดทอนสวัสดิการคนจนของรัฐบาลที่ทำให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันต้องเสียหน้าและเสียคะแนนเสียงก็ตาม   

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลมาตรฐานการเรียนการสอบของอังกฤษ (AQA) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระมีมติว่าจะให้บรรจุบทบาทและผลกระทบของการใช้สื่อรณรงค์ของมาร์คัส แรชฟอร์ด ลงในหลักสูตรการเรียนการสอบวิชาสื่อสารมวลชนในโรงเรียนระดับมัธยมปลายของอังกฤษ โดยมุ่งไปที่กลยุทธ์ของแรชฟอร์ดในการใช้สื่อสังคมเป็นปากเป็นเสียงให้แก่เด็กนักเรียนยากจนและตอบโต้การดูถูกเหยีดผิวในวงการกีฬา

การรณรงค์จัดหาอาหารกลางวันฟรีให้แก่เด็กนักเรียนในช่วงฤดูปิดภาคเรียนการศึกษา สร้างกระแสตอบรับในสังคมวงกว้างเขย่าฐานเสียงของ ส.ส. ในพื้นที่และทำให้รัฐบาลจำใจต้องปรับเปลี่ยนนโยบบายถึงสองครั้งในหนึ่งปี จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่า ศูนย์หน้าทีมแมนยู ใช้ media profile ของตนแบบใดในการลดปมด้อยของเด็กนักเรียนยากจนที่ต้องไปลงทะเบียนขอรับอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียน โดยใช้ประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กของเขาเอง รวมไปถึงวิธีการใช้สื่อสังคมดึงเอาสื่อกระแสหลักลงมารายงานข่าวการรณรงค์ได้อย่างกว้างขวาง ขยายวิธีคิดที่แหลมคมของเขาในวงกว้าง จนเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลได้สำเร็จ

References
1 George Orwell’s Notes on Nationalism 1945

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save