fbpx

‘อดอยากปากจมน้ำ’ ชีวิตในอนาคตอันใกล้ (ฉาก 2)

ตอนที่แล้ว ผมพาดพิงถึงข้อเสนอเรื่อง ‘มนุษยสมัย’ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย และเล่าถึงการแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมด้วยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นในเนเธอร์แลนด์ ที่รวมถึงประตูเหล็กกั้นน้ำทะเลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีและวิศวกรรมลอยน้ำ และแนวคิดเรื่อง ‘เมืองฟองน้ำ’

ในตอนนี้ จะเขียนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกประเภทหนึ่ง คือ ภัยแล้งและไฟป่า ซึ่งอุบัติขึ้นในหลายประเทศ และมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างขึ้นอีก และภาวะขาดแคลนอาหาร ที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงปัญหาเหล่านี้ ผมอยากเล่าถึงความรู้ วิธีการและการปรับตัวกับปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นมานานหลายชั่วคนในหลายประเทศ – ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีตัวอย่างในประเทศบังคลาเทศและเปรู

บังคลาเทศ

เป็นประเทศหนึ่งที่ต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย การพังทลายของชายฝั่งทะเล หรือพายุไซโคลนที่บางครั้งมีความรุนแรงอย่างมาก ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนอาจมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติเหล่านี้

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของบังคลาเทศมีความสัมพันธ์กับน้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ที่แม่น้ำใหญ่น้อยมากกว่า 230 สายไหลตัดกันไปมา กลายเป็นเครือข่ายของลำน้ำที่ว่ากันว่ามีความซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเกิดจากแม่น้ำใหญ่สามสาย ได้แก่ แม่น้ำยมุนา (ที่ไหลมาจากแม่น้ำพรหมบุตรในอินเดีย), แม่น้ำปัทมา (ไหลมาจากแม่น้ำคงคา) และแม่น้ำเมฆนา ไหลมาบรรจบกันแล้วไหลลงสู่อ่าวเบงกอล กระแสน้ำได้พัดนำเอาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์หนักประมาณ 1,000-1,400 พันล้านตันมาทับถมกันที่ปากแม่น้ำอันกว้างใหญ่ไพศาล จึงเป็นพื้นที่ที่มีการทำการเกษตรมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ทว่า ที่ลุ่มปากแม่น้ำเป็นที่ซึ่งไร้ความแน่นอนและความมั่นคง เนื่องจากผิวดินจะผันแปรไปตามกระแสน้ำที่ไหลผ่าน เกิดการพังทลายและการก่อตัวขึ้นใหม่ของแผ่นดินอยู่เสมอ และมักเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง เช่น ในปี 2020 พายุมรสุมได้ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ราวหนึ่งในสี่ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ ทำความเสียหายต่อบ้านเรือนเกือบ 1.3 ล้านหลังคา ผู้คนนับแสนมีสภาพเหมือนถูกปล่อยเกาะ และมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

ด้วยเหตุนี้ บังคลาเทศจึงเป็นสังคมที่ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากผลกระทบของภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาน้ำท่วม

สวนผักลอยน้ำ

ประสบการณ์จากอุทกภัยที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ได้นำไปสู่การพัฒนาความรู้และเทคนิคที่ใช้ปฏิบัติกันมานานหลายศตวรรษ เป็นวิธีการที่ง่ายแต่ได้ผลอย่างยอดเยี่ยม นั่นคือ สวนผักหรือแปลงปลูกผักลอยน้ำ (floating gardens)

ในความเป็นจริง สวนผักลอยน้ำไม่ต่างจากสวนผักทั้งหลาย เพียงแต่ลอยได้ และสร้างขึ้นได้ไม่ยาก โดยการนำเอาผักตบชวาที่ลอยอยู่บนผิวน้ำขึ้นมากองทับกันเพื่อทำเป็นฐานของสวนปลูกผัก มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาวแปดเมตรและกว้างหนึ่งเมตร ลักษณะเหมือนแปลงผักทั่วไป แล้วผสมมูลวัวเข้ากับดิน ปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วฝังเมล็ดพืชที่ต้องการปลูกลงในก้อนดินที่ผสมมูลวัว วางแต่ละก้อนให้ห่างกันพอควรลงบนผักตบชวาที่เป็นฐานของสวนผักลอยน้ำ ใช้น้ำที่อยู่รอบๆ แปลงรดพืชผักที่ปลูก ซึ่งมีหลากหลายชนิด เช่น หัวผักกาด กระหล่ำปลี ดอกกระหล่ำ มะเขือเทศ ผักขม น้ำเต้า กระเจี๊ยบ บวม แตง ฯลฯ

แปลงผักลอยน้ำแบบนี้สามารถสร้างขึ้นบนผิวน้ำที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตามลำน้ำสายเล็กและใหญ่ ปากแม่น้ำ ในทะเลสาบ บึง หนองน้ำ และสภาพภูมิประเทศอื่นๆ ที่ล้อมรอบด้วยน้ำ

ข้อดีของสวนผักลอยน้ำนี้มีหลายประการ เช่น เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ เพราะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ที่ทำการเกษตร ทำให้คนท้องถิ่นมีอาหารบริโภคอยู่เสมอ เป็นแหล่งรายได้ เพราะการขายพืชผักที่เหลือจากการบริโภคเป็นรายได้ของครัวเรือนที่เป็นกอบเป็นกำ เป็นการใช้ประโยชน์จากผักตบชวา วัชพืชที่ไร้ค่าและมักสร้างปัญหา นอกจากนี้ ในแง่ของการทำการเกษตร แปลงผักแบบนี้ช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำกร่อยน้ำเค็มในดิน ชาวบ้านบางคนแสดงความเห็นว่าสวนผักลอยน้ำดีกว่าสวนผักทั่วไป เพราะไม่ได้ปลูกพืชอยู่บนพื้นดิน ปัญหาโรคพืชและวัชพืชจึงมีน้อย

อันที่จริง การเกษตรแบบสวนผักลอยน้ำมีปรากฏในพื้นที่หลายแห่ง เช่น บริเวณทะเลสาบดาล (Dal Lake) ในศรีนะเกอร์ (Srinagar) เมืองหลวงของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย – ที่คนท้องถิ่นได้ทำการเกษตรแบบนี้มานานหลายศตวรรษ และบรรทุกพืชผลของตนบนเรือไปค้าขายแลกเปลี่ยนกันในลักษณะของตลาดน้ำอีกด้วย – บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ทางใต้ของเวียดนาม ทะเลสาบอินเลในรัฐฉาน ประเทศพม่า และในที่อื่นๆ ที่ผู้คนเริ่มตื่นตัวเรื่องภัยน้ำท่วม ความจำเป็นของการปรับตัวและการแก้ปัญหานี้ รวมถึงการตระหนักถึงผลประโยชน์ของการทำเกษตรแบบสวนผักลอยน้ำ ทั้งในด้านการผลิตอาหาร การสร้างรายได้ และสนับสนุนวิถีชีวิตที่ต้องอาศัย/พึ่งพาน้ำ

แนวปะการังหอยนางรม

ความคิดในการสร้างแนวปะการังหอยนางรม (oyster reefs) เพื่อป้องกันน้ำทะเลเซาะชายฝั่งทะเลและทำให้หน้าดินพังทลาย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันน้ำทะเลท่วมอีกด้วย เป็นโครงการที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยจิตตะกองทดลองขึ้นที่เกาะคูคุบเดีย (Kutubdia Island) ใน 2012 ว่ากันว่าความคิดนี้ใช้ได้ผลมาแล้วในประเทศเนเธอร์แลนด์ และในมลรัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา

โดยทั่วไป การสร้างแนวป้องกันภัยพิบัติจากน้ำทะเลตามชายฝั่งทะเลด้วยคอนกรีต หรือด้วยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ เป็นเรื่องที่ทำกันอยู่และมีประสิทธิภาพ แต่การสร้างแนวปะการังหอยนางรมเกิดขึ้นเพราะความคิดที่ว่าการสร้างแนวป้องกันจากสิ่งมีชีวิตจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้คอนกรีต ทั้งนี้เพราะแนวปะการังที่เกิดขึ้นจากการก่อตัวของหอยนางรมตามธรรมชาติมีโครงสร้างใต้น้ำที่แข็งแกร่ง ทำหน้าที่กรองและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของสารอาหารในน้ำไว้ ช่วยรักษาคุณภาพของน้ำ จึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร ที่หลบภัย และที่อยู่อาศัยของปลา สัตว์น้ำและพืชน้ำนานาชนิด ทำให้บริเวณแนวปะการังเป็นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ

ที่จริง การสร้างแนวปะการังหอยนางรมปรากฏขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก ที่มักเป็นการฟื้นฟูแนวปะการังเดิมที่กำลังพังทลายหรือเสียหายไปแล้ว แต่โครงการนี้ต่างจากที่อื่น คือเป็นความพยายามที่จะสร้างแนวปะการังขึ้นมาใหม่ เพราะนอกจากจะเห็นประโยชน์ของแนวปะการังหอยนางรมที่กล่าวถึงข้างบนแล้ว ยังมีสมมติฐานว่าแนวปะการังประเภทนี้สามารถลดความรุนแรงของกระแสน้ำได้อีกด้วย กล่าวคือ เมื่อคลื่นน้ำทะเลกระทบกับแนวปะการังก็จะแตกกระจายตัวออกก่อนที่จะถึงชายฝั่ง จึงช่วยลดความเสียหายของการพังทลายของดินชายฝั่งทะเลได้

แนวปะการังหอยนางรมที่เกาะคูคุบเดียจึงเป็นการทดลองเลี้ยงหอยนางรมบนเสาและแนวคอนกรีตที่ฝังลงในทะเล และผลของการศึกษาก็ยืนยันว่าแนวปะการังแบบนี้ใช้ได้ผล มีประสิทธิภาพ หอยนางรมที่เกาะอยู่บนแนวคอนกรีตมีความแข็งแกร่งและทนทานพอๆ กับแนวปะการังหอยนางรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในบางกรณีพบว่ามีขนาดใหญ่กว่าและมีความหนาแน่นของหอยนางรมมากกว่าแนวปะการังหอยนางรมตามธรรมชาติอีกด้วย นอกจากนี้ แนวปะการังหอยนางรมเกิดและตายตามธรรมชาติ จึงเป็นรักษาความสมดุลทางธรรมชาติของแนวปะการัง

ประโยชน์อีกประการหนึ่งคือเนื่องจากแนวปะการังหอยนางรมเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จึงเป็นสถานที่ที่คนท้องถิ่นสามารถจับสัตว์น้ำ เช่น ปูทะเล ที่มีราคาแพง ทำให้มีรายได้สูงขึ้น ชาวประมงท้องถิ่นบางคนยังกล่าวอีกว่าตนทำงานหนักน้อยลง เพราะบริเวณแนวปะการังหอยนางรมมีปลา กุ้งและปูเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาไม่นานนักในการจับก็จะได้สัตว์น้ำมากพอเลี้ยงชีพและครอบครัว

บ้านคือวิมานไร้ราคา

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและไฟป่า ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียของชีวิตมนุษย์ สัตว์นานาชนิดและธรรมชาติแวดล้อมเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจ-การเงินและต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนอีกด้วย

ยกตัวอย่างที่ออสเตรเลีย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดไฟป่าและน้ำท่วมขึ้นบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ภาวะภัยแล้ง พายุไซโคลนและคลื่นน้ำทะเลสูงก็ได้ทำลายชุมชนต่างๆ เป็นจำนวนมาก จนทำให้คนออสเตรเลียต้องประสบกับสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤตการประกันภัย’ ซึ่งจากรายงานของ ‘Climate Council’ ระบุว่าในปี 2030 ในจำนวนบ้าน 25 หลังจะมีบ้านหนึ่งหลังที่ไม่ได้รับการประกันภัย และอีก 11 หลังจะตกอยู่ในความเสี่ยงหรือได้รับการประกันที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้ค่าประกันบ้านที่มีความเสี่ยงสูงมีราคาแพงอย่างยิ่ง หรืออาจไม่ได้รับการประกันภัยเลยก็ได้

ควีนส์แลนด์เป็นรัฐที่ต้องเผชิญกับปัญหาการประกันมากที่สุด คาดการณ์กันว่าเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเรือนจำนวน 500,000 หลังที่จะไม่ได้รับการประกันภัย เพราะรัฐนี้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ จนทำให้คนที่อาศัยอยู่ในรัฐนี้บางคนถึงกับออกปากว่าบ้านของตนกลายเป็นบ้านที่ ‘อยู่ไม่ได้แล้ว’ (unliveable)

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือค่าประกันภัยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ย เจ้าของบ้านในปัจจุบันต้องจ่ายเงินค่าประกันบ้านสูงถึงเกือบสี่เท่าของค่าประกันในปี 2004 และในบางพื้นที่ของประเทศก็ยิ่งน่าตกใจ เช่น ในภาคเหนือ มีกรณีที่เจ้าของบ้านต้องจ่ายค่าประกันบ้านสูงถึง 10 เท่าของค่าประกันในที่อื่นๆ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องประกันบ้านแบบถูกๆ คือจ่ายเงินค่าประกันภัยจำนวนน้อยและได้รับการประกันที่จำกัดหรือจะได้รับเงินค่าประกันในจำนวนจำกัด (ผมได้เขียนถึงเรื่องนี้แล้วใน “เลือกตั้ง ‘ดาวน์อันเดอร์’ กับความหวังของการเปลี่ยนแปลง”, The 101 World, 7 Jun 2022)

ในสหรัฐอเมริกา มีมลรัฐหลายแห่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากการเกิดไฟป่า ทำให้อหังสาริมทรัพย์ เช่น บ้านเรือน มีความเสี่ยงจากการถูกเพลิงไหม้ ส่งผลโดยตรงต่อการทำประกันภัยบ้าน ทำให้กรมธรรม์ประกันภัยมีรายละเอียดที่ซับซ้อนขึ้น มีความยุ่งยาก/จุกจิกมากขึ้น และค่าธรรมเนียมกรมธรรม์ฯ ก็สูงขึ้น

แคนาดาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับวิกฤตการประกันภัย อันเป็นผลมาจากความเสียหายของบ้านเรือนเนื่องจากภัยพิบัติตามธรรมชาติ ทำให้บริษัทประกันทั้งหลายต้องทำการประเมินความเสี่ยงจากการประกันภัย และค้นหาทางออกจากวิกฤตนี้

ภัยแล้ง

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เกิดภาวะภัยแล้งในหลายประเทศทั่วโลก รายงานข่าวใน บีบีซี ระบุว่าสองในสามของทวีปยุโรปอยู่ภายใต้คำเตือนเรื่องภัยแล้ง อันเป็นผลมาจากคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และคาดกันว่าภัยแล้งครั้งนี้ดูจะมีความรุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปี นอกจากนี้ รายงานล่าสุดของ ‘Global Drought Observatory’ ก็ชี้ว่าพื้นที่ราว 47 เปอร์เซ็นต์ของยุโรปทั้งหมดมีสภาพที่อยู่ภายใต้คำเตือนเรื่องภัยแล้ง ตามมาด้วยคำเตือนเรื่องไฟป่า

ความแห้งแล้งในพื้นดินที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก จนทำให้ ‘อียู’ คาดการณ์ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับห้าปีก่อน ในปีนี้การเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวโพดจะลดน้อยลง 16 เปอร์เซ็นต์ ถั่วเหลือง 15% และดอกทานตะวัน 12 เปอร์เซ็นต์

อันที่จริง ความแห้งแล้งมีความรุนแรงกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้ เว็บไซด์ของ ‘Climate Home News’ ได้แสดงภาพถ่ายดาวเทียมแสดงความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เฉพาะในยุโรป ระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญได้ลดลงอย่างน่าตกใจ เช่น ในแม่น้ำลัวร์ในฝรั่งเศส แม่น้ำเทกัสในโปรตุเกส และแม่น้ำไรน์ในเยอรมัน ระดับน้ำลดลงอย่างมาก และบางส่วนของแม่น้ำมีน้ำเหลือเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำปรกติในเดือนสิงหาคมของทุกปี ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) ของทวีปยุโรปหดตัวลงอย่างมาก

ประเทศในตะวันออกกลางก็ประสบกับภาวะภัยแล้งติดต่อกันมาหลายปีแล้ว จนทำให้มีรายงานว่าน้ำในแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติสอาจแห้งแล้งจนหมดสิ้นในปี 2040 ในที่อื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ประสบกับสภาพที่ระดับน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ภาวะภัยแล้งมีความรุนแรง ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำแยงซีที่ลดลงในปีนี้ทำให้พื้นที่หลายแห่งเกิดความแห้งแล้ง นอกจากจะทำการเพาะปลูกไม่ได้แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำน้อยจนไม่เพียงพอต่อการผลิตพลังไฟฟ้า นอกจากนี้ ทะเลสาบโผหยาง ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ปริมาณน้ำลดลงราว 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงแต่ทำให้การเพาะปลูกเกิดความล้มเหลวเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดความกังวลว่าปริมาณน้ำจืดจะไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชาชนอีกด้วย

ข้าวยากหมากแพง

วิกฤตที่น่าตกใจอีกหนึ่งวิกฤต นั่นคือ การขาดแคลนอาหาร ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและกลายเป็นปัญหาใหญ่มาก อันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ภัยแล้งและน้ำท่วม จนทำให้หลายประเทศที่ผลิตอาหารเพื่อการส่งออก เช่น ออสเตรเลีย จีน ฯลฯ ซึ่งประสบกับภัยพิบัติฯ เหล่านี้ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ จนไม่อาจผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค

มีรายงานของ ‘Global Network Against Food Crises’ ที่ระบุว่าก่อนสิ้นปี 2019 ประชากรราว 135 ล้านคนใน 55 ประเทศทั่วโลกต้องประสบกับการขาดแคลนอาหาร ในจำนวนนี้มีเด็กราว 75 ล้านคนที่เกิดภาวะการเติบโตไม่เต็มที่ เกิดการแคระแกร็น และราว 17 ล้านคนที่ต้องประสบกับปัญหาการสูญเสียอาหารอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด นำไปสู่โรคขาดอาหารในเด็ก และเมื่อแยกพิจารณาตามพื้นที่แล้ว พบว่ามากกว่า 73 ล้านคน (จากจำนวนทั้งหมด 135 ล้านคน) อาศัยอยู่ในแอฟริกา จำนวน 43 ล้านคนอยู่ในตะวันออกกลางและเอเชีย และ 18.5 ล้านคนในลาตินอเมริกาและแคริเบียน

สาเหตุอีกประการหนึ่งคือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งได้ซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกเลวร้ายลง เนื่องจากเกิดการล็อคดาวน์ การห้ามการเดินทาง ที่นอกจากจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ-การค้าแล้ว ยังทำให้การดำรงชีวิตและการหาอาหารเกิดความยากลำบากอย่างยิ่งด้วย

นอกจากนี้ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่การขาดแคลนอาหารทั่วโลกเลวร้ายยิ่งขึ้น

รายงานของ ‘Stockholm International Peace Research Institute’ (SIPRI) ปี 2020 ได้ระบุถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระดับโลกว่าจะเกี่ยวข้องกับ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอง ความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้อาวุธและความรุนแรง และได้พาดพิงถึงกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ นั่นคือ รัสเซีย ซึ่งในรายงานกล่าวว่าเป็นประเทศที่ตั้งเป้าหมาย กำหนดบทบาทของตนว่าจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารธัญพืช (grain exports) ที่ถูกตีความว่ามีค่าเสมือน ‘น้ำมันประเภทสอง’ (second oil)

ในเว็บไซด์ของ ‘World’s Top Export’ ให้ข้อมูลว่าในปี 2021 ปริมาณการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 55.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขึ้นสูงถึง 42.7 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีระหว่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2017 ที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลกเพียง 39.1 เปอร์เซ็นต์ และหากพิจารณาเฉพาะปี 2020 ถึงปี 2021 จะพบว่ามูลค่าการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลกขึ้นสูงราว 24.2 เปอร์เซ็นต์

ประเทศที่ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลกมีห้าประเทศ ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และยูเครน ปริมาณการส่งออกข้าวสาลีของทั้งห้าประเทศรวมกันสูงถึง 59.5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก เฉพาะในปี 2021 มีข้อมูลระบุว่ารัสเซียเป็นประเทศส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุด คิดเป็นมูลค่า 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13.1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลก และยูเครน สูงเป็นอันดับสี่ของโลก คิดเป็นมูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.5% เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลก

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวก็อาจเข้าใจได้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเกี่ยวข้องกับภาวะขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและการส่งออกข้าวสาลีที่ถูกกระทบโดยตรงจากการทำสงคราม

นอกจากนี้ สงครามระหว่างทั้งสองประเทศยังสร้างให้เกิดความกังวลเรื่องอาหาร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารในระดับโลกอีกด้วย กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายนของปีนี้ สำนักข่าว บีบีซี ได้รายงานข่าวว่ามาเลเชียสั่งตัดปริมาณการส่งออกเนื้อไก่สด อินโดนิเชียหยุดการส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นการชั่วคราว และอินเดียแบนการส่งออกข้าวสาลี ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลของทั้งสามประเทศเกรงว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเกิดความยืดเยื้อ และส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วโลก จึงตัดสินใจประกาศยุติการส่งออกผลผลิตของตน เพื่อเก็บผลผลิตเหล่านี้ไว้เป็นอาหารเพื่อการอนาคตในอนาคต

ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งคือในช่วงปี 2020-2021 อินเดียได้กลายเป็นประเทศส่งออกข้าวสาลีที่เติบโตเร็วที่สุด (the fastest-growing wheat suppliers) ในโลก กล่าวคือ ส่งออกสูงถึง 609 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการส่งออกปรกติ ด้วยเหตุนี้ การที่อินเดียสั่งแบนการส่งออกข้าวสาลีจึงมีนัยสำคัญยิ่งต่อปัญหาการขาดแคลนอาหารในโลก

อนาคตที่ไม่สดใส

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนจะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่สร้างความยากลำบากต่อการดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาลทั่วโลก แต่ความทุกข์ยากในชีวิตนั้นหนักหนาสาหัสยิ่งนัก เพราะโดนซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดและสงคราม ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น

ในความเห็นของผม ‘มนุษยสมัย’ หรือ ‘Anthropocene’ จึงมิได้มีความหมายแค่กิจกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเท่านั้น หากยังรวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อโรค การรบราฆ่าฟัน/ทำศึก ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม และสร้างให้เกิดความเสียหายอย่างมหันต์ ดังที่ได้แสดงให้เห็นแล้วในงานเขียน ทั้งจากครั้งที่แล้วและครั้งนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save