fbpx

หลังเสียงไซเรน : ความเหลื่อมล้ำในการจัดการบริการแพทย์ฉุกเฉิน

เราอาจจะคุ้นชินกับเสียงไซเรนของรถฉุกเฉินบนท้องถนนและการทำความเร็วของรถฉุกเฉิน ซึ่งทั้งหมดนั่นอยู่ภายใต้การบริการที่เราไม่คุ้นหูอย่าง EMS หรือ emergency medical service หรือในภาษาไทยคือ ‘การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน’

สิ่งสำคัญคือหน่วยงานที่ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ EMS จำเป็นต้องกระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่เพื่อให้สามารถเข้าถึงเหตุฉุกเฉินได้ทันท่วงทีแต่ถึงอย่างนั้นความรวดเร็วที่ต้องการกับจำนวนบุคลากรและจำนวนรถฉุกเฉินกลับดูสวนทางกัน

คนไม่มี รถฉุกเฉินไม่พอ – ปัญหานี้ทำให้ในแต่ละปีมีผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือต่างจังหวัดที่มีการกระจุกตัวของเมือง รวมถึงจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปลายทางของเหล่าแรงงานทั้งในประเทศและจากประเทศข้างเคียง ต้นเหตุของการเข้าไม่ถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาจากการจัดบริการที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่และการจัดสรรทรัพยากรที่จะช่วยลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ นั้นก็ไม่เพียงพอ ความเหลื่อมล้ำจึงเกิดขึ้น

เพราะทุกนาที คือ ชีวิตของผู้ป่วย – คำถามท้าทายจึงตกไปที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลระบบการบริการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อการจัดสรรทรัพยากรและบุคคลากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อในแต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

101 ชวนเปิดปมปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผ่านงานวิจัย ‘ความเหลื่อมล้ำด้านการบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย’ (Inequality in Life Safety of Thai People) โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และคณะ เพื่อสะท้อนปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

แพทย์น้อย งานเยอะ – ‘อุบัติเหตุ’ สร้างภาระงานเพิ่ม

จำนวนการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เพิ่มขึ้นทุกปีกลุ่มหลักๆ มาจากการป่วยฉุกเฉิน (acute or emergency) และ อุบัติเหตุบนท้องถนน (traffic injury or trauma) ซึ่งจากสถิติในงานวิจัยพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ถึง 2561 การเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ต่อปีและนั่นทำให้มีอัตราผู้พิการจากอุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในระยะเวลา 9 ปี

ผลกระทบจากอุบัติเหตุไม่เพียงแต่ส่งผลต่อครอบครัวเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริการสุขภาพทั้งในด้านงบประมาณ ทรัพยากร และภาระงานของบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

งานวิจัยพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า อุบัติเหตุเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างภาระงานให้บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น จนเกิดภาวะการขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ ซึ่งถ้าเราดูจำนวนบุคลากรบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ EMS ที่แยกตามรายจังหวัดหรือรวมทั้งประเทศจะพบว่าแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินมีจำนวนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับบุคลากรด้านอื่น

ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี 2560 บอกว่าโรงพยาบาลในจังหวัดมีจำนวนแพทย์น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดบึงกาฬที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 5,021 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นการขาดแคลนบุคลกรด้านการแพทย์โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข และนำไปสู่ภาวะแออัดของผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีจำนวนคนเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินจำนวนมากและนั่นย่อมส่งผลต่อคุณภาพในการให้บริการและความล่าช้าในการรักษาผู้ป่วยซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการเสียชีวิตตามมาด้วย

8 นาทีเป็นหรือตาย? – นาทีวิกฤตผู้ป่วยฉุกเฉิน

การจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินก็เหมือนการจัดบริการสาธารณะอื่นๆ ของรัฐที่ต้องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินคือ ‘ความรวดเร็ว’

8 นาทีต้องถึงผู้ป่วย – นั่นคือกฎเหล็กของการแพทย์ฉุกเฉิน

เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุก็ตาม นั่นคือ ‘นาทีวิกฤต’ ของผู้ป่วย แต่สถิติกลับพบว่าบางจังหวัดมีค่าเฉลี่ยมากถึง 10 นาที ซึ่งได้แก่ จังหวัดตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี และสมุทรปราการ แต่ข้อมูลเฉลี่ยทั่วประเทศในปี 2561 ก็พบว่าเวลาเฉลี่ยในการเข้าถึงผู้ประสบเหตุก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอยู่ที่ 8.33 นาที จากจำนวนสถิติเหตุการณ์จำนวน 1.025 ล้านครั้ง มีเพียง 316,406 ครั้งหรือคิดเป็นร้อยละ 30 เท่านั้นที่ใช้เวลาในการเข้าถึงผู้ประสบเหตุมากกว่า 8 นาที

แต่ที่น่าสนใจคือเวลาที่ใช้ในการเข้าถึงผู้ป่วยมากที่สุดเท่าที่เคยพบจากสถิติของศูนย์ความปลอดภัยทางถนนใช้เวลามากถึง 45 นาที ในขณะที่ระยะเวลาที่ดีที่สุดในการเข้าถึงผู้ประสบเหตุคือไม่ถึง 1 นาที

งานวิจัยบอกว่านอกจากเรื่องระยะทางระหว่างศูนย์รถกู้ชีพแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าจำนวนจุดให้บริการศูนย์กู้ชีพที่มีน้อยอาจส่งผลต่อระยะเวลาเฉลี่ยในการเข้าถึงตัวผู้ประสบเหตุด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วข้อมูลในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนจุดให้บริการรถกู้ชีพเฉลี่ยราว 8.6 แห่งต่อประชากร 100,000 คน โดยบางจังหวัดมีจุดบริการมากถึง 21.6 แห่งต่อประชากร 100,000 คน

แต่บางจังหวัดกลับมีเพียงจุดบริการเดียวเท่านั้น

จังหวัดชลบุรีเป็นอีกจังหวัดที่พบว่ามีจำนวนจุดบริการแพทย์ฉุกเฉินต่อประชากรเพียง 1.2 แห่งต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น รวมถึงระยะเวลาในการเข้าถึงผู้ป่วยก็สูงเกินมาตรฐานอีกด้วย ในขณะที่ปัญหาอุบัติเหตุที่เป็นภาระต่อการแพทย์ฉุกเฉินก็ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ

เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากการที่จังหวัดชลบุรีเป็นเมืองชุมทาง (transport junction) มีทั้งการย้ายถิ่นฐานของแรงงานและนักท่องเที่ยวที่มาพำนักในประเทศไทยระยะยาว (long stay living) เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ซึ่งเข้ามาทำงานในโรงงานขนาดใหญ่หรือสถานประกอบการ

ทิศทางการขยายตัวของการใช้ที่ดินเพื่อเขตชุมชน เมืองและเขตอุตสาหกรรมกับการพัฒนาเส้นทางถนนเพื่อการขนส่งและการจราจรโดยคำนึงถึงความปลอดภัยน้อยส่งผลให้มีการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ในขณะที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ตั้งในพื้นที่ชายทะเลเป็นหลัก ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะต้องเดินทางไกล 30-50 กิโลเมตรซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระยะเวลาเดินทางที่ใช้ในการเข้าถึงผู้ป่วยสูงเกินค่ามาตรฐาน

งบบาน เงื่อนไขเยอะ – อบจ. ปัดตอบรับเป็น ‘ศูนย์สั่งการ’

จากปัญหาทั้งจำนวนแพทย์ที่น้อย ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละพื้นที่ซึ่งสร้างภาระงานเพิ่มให้แก่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินแล้ว กลไกสำคัญที่ทำหน้าที่จัดบริการแพทย์ฉุกเฉินคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ย้อนกลับไปในปี 2551 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายการบริการการแพทย์ฉุกเฉินพร้อมกับให้มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) มีอำนาจการบริหารและกำกับดูแลพร้อมกับจัดสรรงบประมาณประจำปี ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้พยายามกำหนดนโยบายโดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็น ‘ศูนย์สั่งการ’ เพราะเห็นถึงศักยภาพด้านการเงินและประสบการณ์ในเชิงพื้นที่แต่ดูเหมือนการตอบรับจะยังไม่ดีนัก เพราะจากสถิติในปี 2561 องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมด 76 จังหวัด เข้าร่วมให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินเพียง 7 แห่งเท่านั้น

การวิจัยเผยเหตุผลที่ได้จากการสัมภาษณ์หน่วยงานท้องถิ่นถึงสาเหตุที่ไม่เข้าร่วมให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน สาเหตุหลักข้อหนึ่งคือ การเข้าร่วมจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินมีเงื่อนไขสูง เช่น กำหนดว่ารถกู้ชีพต้องให้บริการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่าและเห็นว่ารถกู้ชีพสามารถปฏิบัติได้หลายภารกิจ (multiple functions) เช่น งานบรรเทาสาธารณภัย งานบริการที่จังหวัดร้องขอ การจัดงานประเพณีก็จำเป็นต้องมีรถกู้ชีพเฝ้าระวัง

ถึงตรงนี้จึงเป็นความท้าทายที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินพยายามผลักดันให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็น ‘ศูนย์สั่งการ’ เพราะค่าใช้จ่ายการลงทุน การจัดหาทรัพยากร บุคลากร และระบบความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ อาจยังเป็นอุปสรรค

แต่นั่นเป็นเรื่องที่จะปล่อยผ่านไม่ได้เพราะมันหมายถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ด้วย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save