fbpx

ยามสำเร็จคือคนใน ยามล้มเหลวคือคนนอก: เศรษฐศาสตร์การเมืองของความเป็นพลเมืองและทุนมนุษย์

หลังจากได้รับคำชวนเขียนคอลัมน์ร่วมกับ the101.world ผมกลับไปคิดถึงเรื่องที่จะเขียน และตกผลึกได้ชื่อคอลัมน์ Embedded Economy ซึ่งมาจากแนวคิดของนักสังคมศาสตร์ชาวออสเตรียอย่าง คาร์ล โพลันยี (Karl Polanyi) ใจความสำคัญของคอลัมน์นี้คือ การเผยให้เห็นว่าปริมณฑลทางทางเศรษฐกิจไม่สามารถแยกขาดจากปริมณฑลด้านการเมืองและสังคมได้ ในด้านหนึ่งสภาวะและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจถูกก่อรูปจากเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมไม่มากก็น้อย  แต่ในอีกด้านหนึ่ง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่กำหนดลักษณะของปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคม

สำหรับบทความแรกในคอลัมน์นี้ ผมขอเริ่มต้นด้วยการเขียนถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยความเป็นพลเมืองและแรงงานในมิติของการนับรวมและคัดออกในฐานะผู้อพยพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางการเมืองในแต่ละประเทศ แรงจูงใจของการเลือกเรื่องนี้มาจากรอบรองชนะเลิศของฟุตบอลโลกที่กาตาร์เมื่อปลายปีก่อน ทั้ง 4 ทีมที่ฝ่าฟันเข้ามาจนถึงรอบนี้มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับการอพยพทั้งสิ้น

เริ่มจากทีมชาติโครเอเชียที่มีนักเตะอย่าง ลูกา โมดริช (Luka Modric) เคยเป็นผู้ลี้ภัยในช่วงสงครามกลางเมืองในภูมิภาคบอลข่าน อันเป็นผลจากการแตกสลายของรัฐยูโกสลาเวียในช่วงหลังสงครามเย็น หรือทีมชาติอาร์เจนตินาที่มีนักเตะสืบเชื้อสายผู้อพยพทั้งจากสเปนและอิตาลี อย่างลีโอเนล เมซซี และจากผู้อพยพไอร์แลนด์อย่าง อเล็กซิส แมคอลิสเตอร์ (Alexis MacAlister) อีกทั้งในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของอิตาลี ยังมีนักเตะชาวอาร์เจนไตน์ที่มีเชื้อสายอิตาเลียนร่วมลงแข่งในฐานะ ‘ผู้ร่วมชาติที่ไปเติบโตนอกมาตุภูมิ (Oriundi)’ และพาทีมอัซซูรี (Azzurri) คว้าชัยในการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ หนึ่งในนักเตะกลุ่มนี้คือ เมาโร คาโมราเนซี (Mauro Camoranesi) ผู้มีบรรพบุรุษอพยพจากอิตาลีสู่อาร์เจนตินาในปลายศตวรรษที่ 19 และเขากลับมาเป็นกองกลางให้กับทีมอัซซูรีชุดแชมป์ฟุตบอลโลก ปี 2006

กระนั้น คู่ที่ผมคิดว่าช่วยขับเน้นภาพของผู้อพยพและการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ให้เด่นชัดขึ้น คือ การแข่งขันระหว่างฝรั่งเศสและโมร็อกโก อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไป นักเตะของฝรั่งเศสจำนวนมากมีเชื้อสายของผู้อพยพจากชาติที่เคยอยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น คีเลียน เอ็มบัปเป้ (Kylian Mbappé) บิดาของเขาเป็นชาวแคเมอรูนและมารดามาจากแอลจีเรีย แต่นักเตะอพยพกับทีมชาติฝรั่งเศสไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเลส เบลอส เคยมีนักเตะอย่าง มิเชล พลาตินี (Michel Platini) ที่มีเชื้อสายของผู้อพยพจากอิตาลี หรือซีเนอดีน ซีดาน (Zinedine Zidane) ที่มีเชื้อสายแอลจีเรีย ดังนั้น ทีมเลส เบลอสพร้อมรับนักเตะที่มีเชื้อสายผู้อพยพเข้าสู่ฝรั่งเศสเข้าสู่รั้วทีมชาติ หากนักเตะผู้นั้นมีความสามารถเพียงพอและเข้ากับระบบการทำงานของผู้จัดการทีมได้ 

ในทางตรงกันข้าม ทีมชาติโมร็อกโกไม่ได้พึ่งพานักเตะที่เป็นลูกหลานของผู้อพยพเข้าโมร็อกโกเสียเท่าไหร่ หากแต่ใช้บริการของนักเตะเชื้อสายโมร็อกโกที่ต้องอพยพตามครอบครัวไปเติบโตและแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยทีมสิงโตแห่งแอตลาสมีกลยุทธ์ในการแสวงหานักเตะฝีเท้าดีผ่านการใช้แมวมองควานหาผู้เล่นในทวีปยุโรปที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวของผู้อพยพจากโมร็อกโก นักเตะที่มีภูมิหลังดังกล่าวเช่น อัชราฟ ฮาคิมี (Achraf Hakimi) แบคขวาที่ติดทีมยอดเยี่ยมในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์จากการจัดอันดับของหลายสำนักข่าว เขาเกิดที่สเปน ในครอบครัวของชาวโมร็อกโกที่ไปตั้งรกราก ณ กรุงมาดริด ทำให้มีสิทธิเลือกเล่นให้ทีมชาติสเปนด้วย แต่สุดท้ายเขาเลือกที่จะอยู่กับทีมชาติโมร็อกโก

ความแตกต่างของทีมชาติของฝรั่งเศสและโมร็อกโกในการค้นหานักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่ทีมไม่เพียงเปิดบทสนทนาแก่เราในเรื่องของบทบาทลูกหลานผู้อพยพในการสร้างตัวตนในทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ แต่ยังผลักเราให้ต้องตอบคำถามที่พื้นฐานว่า เงื่อนไขแบบใดที่เปลี่ยนให้ผู้อพยพให้กลายเป็นสมาชิกหรือพลเมืองของชาติอย่างทรงเกียรติ หรือในอีกนัยหนึ่ง ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการบรรลุสถานะความเป็นพลเมืองของบุคคลที่มีภูมิหลังทางชาติกำเนิดไม่เกี่ยวข้องกับประเทศที่ตนเป็นตัวแทนอยู่ กรณีของนักเตะฝรั่งเศสและโมร็อกโกเผยให้เราเห็นว่า คนกลุ่มนี้มีสองสถานะที่มีความซ้อนทับกันอย่างแยกไม่ออก ถึงแม้ในหลายครั้ง สถานะสองประการนี้ไม่สามารถเข้ากันได้อย่างแนบเนียนนัก 

สถานะแรกของพวกเขาเหล่านี้คือ การได้รับเกียรติเป็นสมาชิกของสมาคมที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่และภูมิใจของชาติต้นสังกัด ไม่ว่าจะเป็นในฐานะพลเมืองหรือผู้ถูกได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของชาติ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขามีสถานะของแรงงานที่ต้องใช้เวลา ความสามารถ ทักษะ และกำลังแรงงานของตนเองในการรับใช้รัฐต้นสังกัด และคุณสมบัติข้างต้นของพวกเขามักได้รับการทดสอบและประเมินซ้ำอย่างสม่ำเสมอว่า พวกเขาบรรลุเงื่อนไขเพียงพอในการเป็นทรัพยากรมนุษย์ ของรัฐต้นสังกัดหรือไม่

การเข้าใจสถานะของผู้อพยพที่ประสบกับชะตากรรมอันแตกต่างหลากหลาย แม้พวกเขา/เธอเหล่านั้นเดินทางมาจากสถานที่เดียวกันก็จำเป็นต้องเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่าง (1) สถานะทางการเมือง คือความเป็นพลเมือง (citizenship) ที่ผูกอยู่กับการถูกผนวกรวมเข้าเป็นสมาชิกที่มีสิทธิตามกฎหมายของชุมชนการเมืองที่การดำรงอยู่ผูกอยู่กับเส้นพรมแดน และ (2) สถานะทางเศรษฐกิจที่ผูกอยู่กับระดับของทุนมนุษย์ที่เกี่ยวเนื่องกับหลายเงื่อนไข เช่น ทักษะด้านอาชีพที่มีความเฉพาะเจาะจง ทุนทรัพย์ติดตัวที่เคลื่อนย้ายมาจากมาตุภูมิ หรือสภาพร่างกายที่เอื้อต่อการสร้างคุณูปการทางเศรษฐกิจหรือไม่ ตัวอย่างของปฏิสัมพันธ์ทั้งสองอาจเห็นได้จากความแตกต่างของแนวทางการปฏิบัติและมุมมองต่อกลุ่มผู้อพยพที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจต่างกัน เช่น ความยากง่ายในการออกเอกสารสำหรับพักอาศัยอย่างถูกกฎหมายในประเทศระหว่างกลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาขายแรงงาน และกลุ่มผู้อพยพที่เคลื่อนย้ายปัจจัยทุนข้ามประเทศกับผู้ย้ายถิ่นฐานที่เปี่ยมไปด้วยทักษะทางเศรษฐกิจขั้นสูง

บทความของ Luca Mavelli เรื่อง Citizenship for Sale and the Neoliberal Political Economy of Belonging  แสดงให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องของความไม่ลงรอยและขัดแย้งกันในสถานะพลเมืองและทุนมนุษย์ โดยเฉพาะในหมู่ผู้อพยพ ยิ่งทวีความยุ่งเหยิงในโลกยุคปัจจุบันที่อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ทรงอิทธิพล เพราะอุดมการณ์ข้างต้นบีบให้รัฐต่างๆ ต้องรับบทเป็นรัฐผู้ประกอบการ (entrepreneurial state) ที่ต้องสร้างทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ในการผลิตสินค้าและนำเสนอบริการในต้นทุนที่แข่งขันได้ ไปพร้อมกับยกระดับความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (competitive advantage) ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขัน รัฐที่สมาทานอุดมการณ์นี้จึงต้องจัดการคิดคำนวณในการจัดการทุนลักษณะต่างๆ ทั้งทุนการเงิน ทุนที่ผูกอยู่กับการครอบครองเขตแดนและทรัพยากรธรรมชาติ ทุนประเภททรัพย์สินทางปัญญาที่จับต้องไม่ได้ และทุนมนุษย์กับทรัพยากรที่ติดตัว

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของรัฐ ในการดึงทุนมนุษย์และทรัพยากรที่ติดตัวพวกเขา/เธอ โดยเฉพาะรัฐที่เล่นเกมเป็นผู้ประกอบการ คือการมอบสถานะความเป็นพลเมืองหรือสิทธิในการพำนักเพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์จากผู้อพยพที่ครอบครองทักษะและทรัพย์สมบัติที่รัฐเหล่านั้นต้องการใช้ประโยชน์ เช่น การเสนอโครงการการลงทุนเพื่อครอบครองความเป็นพลเมือง (citizenship-by-investment scheme) ที่เปรียบเสมือนการนำสถานะความเป็นพลเมืองมาเร่ขายในท้องตลาด (Citizenship for Sale) โครงการนี้สร้างแรงจูงใจให้ชาวต่างชาติที่มีเงินถุงเงินถังเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการป่าวประกาศว่า ชาวต่างชาติสามารถได้รับสถานะพลเมืองหรือครอบครองหนังสือเดินทาง หากพวกเขานำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศตามมูลค่าที่รัฐบาลกำหนด

ตัวอย่างของรัฐที่ดำเนินมาตรการเช่นนี้คือ มอลตา ประเทศที่เป็นเกาะในทะเลเมดิเตอเรเนียน โดยระบุว่า นักลงทุนต่างชาติสามารถครอบครองหนังสือเดินทางมอลตาที่พ่วงสถานะพลเมืองของสหภาพยุโรปพร้อมไปกับสิทธิในการพำนักในประเทศ หากพวกเขา/เธอจัดสรรเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ทางการเงิน อย่างพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นในมูลค่าที่รัฐบาลกำหนด 

แทบไม่ต้องสงสัยว่ากลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนแลกกับสถานะความเป็นพลเมืองของมอลตาได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เนื่องจากหลักการว่าการพิจารณาความเป็นเมืองของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปควรตั้งอยู่กับพื้นฐานของความผูกพันทางการเมืองและสังคมมากกว่าความมั่งคั่งที่อยู่ในกระเป๋าของแต่ละคน ในอีกนัยหนึ่ง โครงการการลงทุนเพื่อครอบครองความเป็นพลเมือง คือการแปลงสมาชิกภาพของรัฐให้กลายเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดตามกฎอุปสงค์และอุปทาน

นอกจากการแปลงสถานะความเป็นพลเมืองเป็นสินค้า รัฐบางแห่งยังใช้การได้รับสมาชิกภาพหรือการให้สิทธิในการพำนักอาศัยเป็นเงื่อนไขสร้างแรงจูงใจให้ปัจเจกชนหรือกลุ่มคนที่มีลักษณะพึงประสงค์เข้ามา โดยหวังว่าปัจเจกชนและกลุ่มชนเหล่านั้นช่วยรัฐเหล่านี้ในสะสมทุน ทั้งทุนทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและทุนทางอารมณ์ (emotional capital) ที่ผูกอยู่กับการแสดงออกในเรื่องที่ละเอียดอ่อน เช่น โครงการของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่เปิดโอกาสให้ผู้รับสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ (อิงกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลกโดยสำนักอย่าง Times Higher Education หรือ QS) ให้สามารถเข้ามาพำนักและหางานได้เป็นระยะเวลาที่แน่นอน หรือโครงการของรัฐบาลในหลายประเทศที่พยายามดึงดูดให้ผู้อพยพที่ครอบครองทักษะที่ตลาดแรงงานในประเทศขาดแคลนเข้ามาพำนักเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังเพิ่มแรงจูงใจผ่านการออกแคมเปญการสมัครเข้าเป็นพลเมืองของประเทศเมื่อเข้ากับเงื่อนไขต่างๆ หรือการอนุญาตให้ผู้อพยพพาครอบครัวมาอาศัยได้

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังใช้มาตรการการผู้อพยพเข้ามาพำนักหรือมอบสิทธิความเป็นพลเมืองเพื่อยกระดับทุนทางอารมณ์ของตนเอง โดยเฉพาะการปลูกฝังความเข้าใจตนเองเชิงศีลธรรมของพลเมืองในประเทศนี้ มาตรการเช่นนี้มักพบได้จากการเลือกปฏิบัติในการรับผู้อพยพเข้ามาสู่ประเทศ โดยในหลายครั้ง การเลือกผู้อพยพไม่ได้คิดคำนวณบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากไปกว่าการคำนึงถึงการแสดงภาพลักษณ์ความสูงส่งทางศีลธรรมให้เห็น เช่น การประกาศต้อนรับผู้อพยพจากประเทศที่เผชิญกับปัญหาและอยู่ในจุดสนใจของสื่อมวลชน แม้ว่ารัฐที่ประกาศรับจะไม่ได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและต้องเผชิญกับต้นทุนของการดูแลผู้คนเหล่านี้อย่างแน่นอน แต่ก็ถือว่าได้รับมากไปกว่าการต้อนรับผู้อพยพที่มีความบกพร่องทางความสามารถหรือเดินทางมาจากประเทศที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ  กระนั้นผู้อพยพที่รัฐดึงดูดเข้ามาด้วยเหตุผลทุนทางอารมณ์อาจเผชิญกับความกดดันทางสังคมในประเทศที่เข้ามาอยู่ใหม่ หากผู้คนที่อยู่เดิมรู้สึกว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้สร้างคุณูปการทางเศรษฐกิจ และยังใช้เงินภาษีของพวกเขา/เธอเสียอีกด้วยซ้ำ

เมซุต โอซิล (Mezut Ozil) อดีตกองกลางตัวรุกทีมชาติเยอรมนีที่เคยพูดในทำนองว่า ยามที่ทีมชาติชนะ ผมเป็นเยอรมัน แต่ในยามที่ทีมชาติแพ้ ผมกลายเป็นคนตุรกีไป เฉกเช่นเดียวกับสถานะของผู้อพยพในโลกที่แนวคิดเสรีนิยมใหม่และกระแสการสร้างรัฐผู้ประกอบการครอบงำ ผู้อพยพกลายเป็นคนในที่มีสิทธิพักอาศัยได้ต่อเมื่อพวกเขา/เธอครอบครองคุณสมบัติหรือทรัพยากรที่ช่วยรัฐสะสมทุนทางเศรษฐกิจและเพิ่มพูนทุนทางอารมณ์ โดยในบางครั้ง พวกเขาที่มาพักอาศัยมีสิทธิที่เหนือกว่าพลเมืองที่อยู่มาแต่เดิมเสียด้วยซ้ำ

แต่เมื่อใดที่ผู้อพยพสูญเสียหรือขาดแคลนคุณสมบัติและทรัพยากรเหล่านั้น พวกเขา/เธอกลายเป็นเพียงคนนอกที่อาจไม่ได้รับแม้กระทั่งการต้อนรับ

แหล่งอ้างอิง

  • ข้อถกเถียงเรื่องของสถานะของผู้อพยพที่ถูกตัดสินจากตรรกะเรื่องของพลเมืองและทุนมนุษย์สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก Mavelli, Luca. (2018). “Citizenship for Sale and the Neoliberal Political Economy of Belonging.” International Studies Quarterly 62, 482-493. 

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save