fbpx

ชนชั้นนำ: ต้นเหตุแห่งความรุนแรงในเมืองเมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งห่างหายไปนานเกือบ 10 ปีแล้ว

ในทุกการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ผู้ที่ได้รับเลือกนั้นต่างมีบทบาทในการกำจัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนของตัวเอง และบุคคลเหล่านั้นก็กลายเป็นชนชั้นนำทางการเมือง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มีผู้นำบางส่วน ที่แทนที่จะนำความสงบสุขมาสู่เมือง กลับกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ ดังที่เกิดขึ้นในเมืองเมะดะยีน ประเทศโคลอมเบีย

ในบทความครั้งนี้ของกระผม จึงขอนำเสนอบทบาทของชนชั้นนำอันเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในเมืองเมะเดยีน นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยหวังว่าผู้อ่านทุกท่านที่มีโอกาสในการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้เรียนรู้เป็นบทเรียนว่า ไม่ควรเลือกผู้ว่าฯ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่มีประวัติหรือแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงต่อไปในอนาคต

โคลอมเบียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งถือว่ามีอยู่มากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา พรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษนิยมได้ผลัดกันขึ้นมากุมอำนาจประเทศโดยตลอดจนกระทั่งปี 2003 ซึ่งการถืออำนาจไว้ในลักษณะนี้ได้แสดงถึงความเป็นชนชั้นนำตามแบบฉบับยุคอาณานิคมได้เป็นอย่างดี ความขัดแย้งและการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองทั้งสองได้ทำให้ประเทศก้าวเข้าสู่สงครามกลางเมืองถึงสองครั้ง ได้แก่ สงครามพันวัน (The Thousand Days War) ระหว่างปี 1899–1903 และ La Violencia ระหว่างปี 1948–1953[1] ซึ่งเหตุการณ์สงครามกลางเมืองครั้งที่สองนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสภาพการเมืองโคลอมเบียมาจนถึงปัจจุบัน

La Violencia เกิดขึ้นจากการลอบสังหาร Jorge Eliécer Gaitán ผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีจากพรรคเสรีนิยมในปี 1948 ส่งผลให้เกิดสงครามระหว่างพรรคอนุรักษนิยมและเสรีนิยมแผ่ขยายออกไปจากกรุงโบโกตาไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศเป็นเวลากว่าห้าปี ชาวโคลอมเบียจำนวนมากต้องเสียชีวิตเพียงเพราะสนับสนุนพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน[2]

ในปี 1953 โคลอมเบียเกิดการรัฐประหารเป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนายพล Gustavo Rojas Pinilla การที่กองทัพมีอำนาจมากขึ้นทำให้พรรคเสรีนิยมและพรรคอนุรักษ์นิยมพยายามหาทางออกให้กับ La Violencia[3] โดยทั้งสองพรรคได้จัดทำข้อตกลงภายใต้ชื่อ Frente Nacional (The National Front) ซึ่งได้ตกลงกันว่าทั้งสองพรรคจะผลัดกันขึ้นครองอำนาจ ข้อตกลงฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1958 กระทั่งปั 1974 ขณะเดียวกันก็กีดกันพรรคการเมืองหรือผู้แทนจากภาคส่วนอื่นๆ ออกไปจากการเมืองได้โดยสิ้นเชิง

ดังนั้นในไม่กี่ปีต่อมาหลังจากการลงนามในสนธิสัญญา Frente Nacional จึงเกิดขบวนการกองกำลังฝ่ายซ้ายมาร์กซิสต์จำนวนมาก โดยมีขบวนการที่เป็นที่รู้จักอาทิ Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia [Revolutionary Armed Forces of Colombia, FARC], Ejército de Liberación Nacional [National Front Army, ELN] และ Movimiento 19 de Abril [Movement of the 19th of April, M19] และในช่วงเวลาพร้อมๆ กันนั้นก็เกิดขบวนการกองกำลังกึ่งทหาร (paramilitary) ที่มุ่งสู้รบตอบโต้ขบวนการฝ่ายซ้ายในพื้นที่ชนบท และได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากรัฐบาลโคลอมเบียในยุคนั้นโดยมีสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลัง[4]

ในปี 1962 รัฐบาลได้บังคับใช้แผนการ Plan Lazo เพื่อต่อสู้กับขบวนการกองโจรมาร์กซิสต์ โดยรัฐได้เอื้ออำนวยอาวุธยุทโธปกรณ์แก่กองกำลังกึ่งทหารที่อ้างว่าตนเป็น ‘ผู้ปกป้องประชาชน’ ซึ่งต่อมาได้กลับกลายเป็นปัญหาที่สำคัญในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990s[5]

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าเมืองเมะเดยีนมิได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง La Violencia มากเท่าเมืองอื่นๆ[6] แต่ประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ กองกำลังกึ่งทหาร และกองกำลังฝ่ายซ้าย ความมีอภิสิทธิ์และอำนาจของชนชั้นนำ ล้วนแล้วแต่ส่งผลอย่างมากต่อปัญหาความรุนแรงในเมืองเมะเดยีน ปัญหาระบบการเมืองที่ไม่สนับสนุนแนวทางการเมืองแบบตัวแทนได้ผนวกเข้ากับปัญหาการกีดกันทางเศรษฐกิจและสังคมที่เหลื่อมล้ำในแต่ละเขต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในหลายๆ พื้นที่เสี่ยงต่อการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของหัวหน้าของแก๊งค้ายาเสพติด กองกำลังกึ่งทหาร และกองกำลังติดอาวุธ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เหล่านี้สามารถสร้าง ‘ความปลอดภัย’ แก่ประชาชนได้ดีกว่ารัฐหรือทางการ[7] เป็นการสะท้อนว่าอำนาจและความเป็นผู้นำของกองกำลังผิดกฎหมายเหล่านี้ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมในการยอมรับพวกเขาในหมู่ประชาชนเมะดะยีน

การมีอภิสิทธิ์ของผู้นำทางการเมืองของชนชั้นนำในเมืองเมะเดยีนอันเป็นผลมาจากข้อตกลงระหว่างพรรคอนุรักษนิยมและเสรีนิยม ทำให้โครงสร้างสังคมที่ควรจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยไม่ได้รับการพัฒนา ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในแนวดิ่งกลายเป็นลักษณะที่สำคัญของการเมืองแบบตัวแทนในเมืองเมะเดยีน กล่าวคือ นักการเมืองมักถูกมองว่าเป็นผู้ให้สิทธิแก่ประชาชน มากกว่าเป็นผู้แทนหรือผู้นำที่สนับสนุนสิทธิและการมีส่วนรวมของประชาชน เช่น นักการเมืองที่หาเสียงมักใช้อำนาจของตนในการให้สิ่งของหรือของขวัญแก่ชุมชน หรือตอบสนองข้อเรียกร้องของคนบางกลุ่ม

ลักษณะดังกล่าวสะท้อนความสัมพันธ์แนวดิ่งในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นแบบฉบับสำคัญในบริบทการเมืองลาตินอเมริกา[8] และก็กลายเป็นที่ถกเถียงกันว่าความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นตัวบ่อนทำลายระบบประชาธิปไตยให้อ่อนแอลง และส่งเสริมให้อำนาจตกอยู่ในมือผู้นำ (Caudillo) เพียงผู้เดียวหรือไม่[9] เพราะในหลายๆ ครั้งผู้นำที่ได้มาภายใต้โครงสร้างนี้มักเป็นผู้นำที่มาจากกองทัพ และทำให้อำนาจโดยชอบธรรมของรัฐและทางการค่อยๆ หมดบทบาทลง พร้อมๆ กับที่อำนาจของกลุ่มนอกกฎหมายเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากขาดโครงสร้างสถาบันที่สนับสนุนอำนาจโดยชอบธรรมจากรัฐ จึงทำให้กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลนอกกฎหมายได้ใช้ประโยชน์จากปัญหาความยากจนและการแบ่งแยกทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละเขตเพื่อการสร้างฐานอำนาจให้กับตน

โดยปกติแล้ว กลุ่มผู้มีอำนาจในเมืองเมะเดยีนคือกลุ่มชนชั้นนักธุรกิจที่กุมความร่ำรวยและมั่งคั่งไว้ภายในครอบครัวของตนและส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเห็นได้จากที่บางนามสกุลปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในแวดวงการเมืองและเศรษฐกิจ[10] การที่เมืองเมะเดยีนกลายเป็นศูนย์กลางของวงการอุตสาหกรรมของโคลอมเบียนั้นเป็นผลมาจากความสำเร็จของผู้ประกอบการจากกลุ่มชนชั้นนำที่ได้ดำเนินธุรกิจด้านเหมืองแร่และไร่กาแฟในยุคที่สินค้าประเภทดังกล่าวอยู่ในช่วงขาขึ้น เมื่อมีโรงงานจำนวนมากขึ้นในเมืองเมะเดยีน จึงทำให้เกิดโอกาสทางการงานอาชีพและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้คนจำนวนมาก กลุ่มชนชั้นนำของจังหวัดแอนทิโอเกีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเมะเดยีน จึงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้ลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้มีการเสนอแนวคิดด้วยว่าเหตุผลอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้แอนทิโอเกียเป็นจังหวัดที่ดึงดูดการลงทุนและมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเขตหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ เป็นเพราะบทบาทความรับผิดชอบของชนชั้นนำและลักษณะสังคมอุปถัมภ์ที่เป็นผลมาจากศาสนาคริสต์คาทอลิก [11]

ทั้งนี้ แนวคิดที่ว่าบทบาทของชนชั้นนำเป็นสาเหตุของความรุนแรงในเมืองเมะเดยีนนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในแง่มุมหนึ่งเล็งเห็นว่ากลุ่มชนชั้นนำด้านเศรษฐกิจสร้างความปลอดภัยจากอาชญากรรมและความรุนแรงให้กับเมืองเมะดะยีนโดยการใช้สิทธิพิเศษของตน ขณะที่อีกแง่มุมหนึ่งโต้แย้งว่าวิธีการรักษาสิทธิพิเศษไว้นั้นประกอบขึ้นจากการกีดกันแบ่งแยกซึ่งก่อให้เกิดอาชญากรรมและความรุนแรงในเมือง[12] ด้วยเหตุนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การกีดกัน และระบบอุปถัมภ์อันเป็นลักษณะที่สำคัญในบริเวณดังกล่าวจึงสะท้อนความสัมพันธ์ของอำนาจในลักษณะแนวดิ่ง ดังเช่นที่มีคำกล่าวว่าที่ว่า “La caridad consuela, pero no cuestiona” [Charity comforts, but does not challenge].

ชนชั้นนำของเมะเดยีนมักเกรงกลัวการถูกแทรกแซงอำนาจโดยคู่แข่งจากเมืองโบโกตา และเมื่อบวกกับความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของภูมิภาคตน จึงทำให้เกิดบริษัทและผู้ประกอบการจากภายในภูมิภาคขึ้น โดยมุ่งเน้นขจัดคู่แข่งที่เข้ามาจากเมืองอื่นๆ กลุ่มบริษัทเหล่านี้รวมถึง Grupo Empresarial Antioqueño (กลุ่มธุรกิจแห่งจังหวัดแอนทิโอเกีย – GEA) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อว่า Sindicato Antioqueño (สหภาพแรงงานแห่งจังหวัดแอนทิโอเกีย) อีกด้วย โดย GEA ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970s ภายหลังจากที่กลุ่มธุรกิจจากโบโกตาได้เข้ามากวาดซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดแอนทิโอเกีย[13] โดยในนั้นมีบริษัทที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น Coltejer ซึ่งผลิตเครื่องนุ่งห่มและ The National Chocolate Company (Nacional de Chololates) ซึ่งต่างก็ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำธุรกิจของจังหวัดแอนทิโอเกียได้ก่อตั้งบริษัทที่รวมกิจการหลายประเภทขึ้นเพื่อป้องกันธุรกิจของภูมิภาค โดยทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้นกันเองเพื่อป้องกันมิให้ ‘ต่างชาติ’ เข้ามาแทรกแซง กลยุทธ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘Enroque Paisa’[14]

วงการธุรกิจในเมืองเมะเดยีนมิได้ถูกกระบวนการค้ายาเสพติดแทรกซึมเข้ามาดังเช่นเมืองอื่นๆ ของโคลอมเบียในช่วงเดียวกัน เนื่องจากชนชั้นนำมีบทบาทและอำนาจสูง รวมทั้งยังมีเครือข่ายธุรกิจพิเศษ หรือ ‘Rosca’ ซึ่งคอยกีดกันบริษัทหรือผู้ลงทุนจากโบโกต้าไว้ ดังนั้นขบวนการค้ายาเสพติดจึงแทบไม่มีโอกาสในการครอบครองเมืองเมะเดยีน

แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s พาโบล เอสโคบาร์ ผู้ที่มีทรัพย์สินในขณะนั้นกว่า 2,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[15] ได้เลิกทำธุรกิจสถานบันเทิงในย่านของชนชั้นนำใน El Poblado ด้วยลักษณะการแต่งกายที่ดูพื้นๆ ของเขา และด้วยพื้นเพที่เป็นคนชนชั้นล่างมาก่อน จึงทำให้เขาดู ‘ไม่เหมาะ’ กับย่านดังกล่าว และไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้นถึงแม้เอสโคบาร์จะมีอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองก็ตาม กลุ่มชนชั้นนำก็ไม่ได้ยอมรับเขาเข้าสู่พื้นที่ที่สงวนไว้กับชนชั้นนำด้วยกันเองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ขบวนการค้ายาเสพติดของเมืองเมะเดยีนจึงแยกออกจากภาคธุรกิจทั่วไปของเมืองโดยสิ้นเชิง ซึ่งต่างจากในเมืองกาลิ (Cali) ที่ขบวนการค้ายาเสพติดในเมืองได้รับการขนานนามว่า ‘The Cali Gentlemen’ และมีความใกล้ชิดกับภาคธุรกิจของเมืองอย่างมาก ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่านักธุรกิจในเมืองกาลิต้องการผูกมิตรกับมาเฟียเป็นอย่างมาก เพราะมาเฟียเป็นกลุ่มที่มั่งคั่ง อาทิ หากมีใครต้องการจะขายบ้าน ขณะที่มีคนจากขบวนการค้ายาเสพติดสนใจซื้อขึ้นมา พวกเขาพร้อมจะจ่ายค่าบ้านในราคาที่มากขึ้นกว่าปกติสามเท่าตัวทันที

ทั้งนี้มีคนจำนวนมากเชื่อว่าเศรษฐกิจของเมืองเมะเดยีนย่อมได้รับผลกระทบจากธุรกิจการค้ายาเสพติดของเอสโคบาร์ แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะโต้แย้งว่าขบวนการค้ายาเสพติดนั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของ GDP ของประเทศโคลอมเบียเท่านั้น อย่างไรก็ดี ความมั่งคั่งของพาโบล เอสโคบาร์ได้ส่งผลกระทบต่อเมืองเมะเดยีนเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าภาคส่วนเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นของชนชั้นนำในจังหวัดแอนทิโอเกียจะไม่ได้รับผลกระทบหรือถูกแทรกแซงจากขบวนการค้ายาเสพติด แต่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการค้าและการก่อสร้างกลับได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะภาคธุรกิจเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือฟอกเงินให้กับขบวนการค้ายาเสพติด[16] บางพื้นที่ในเมืองเมะเดยีนก็เป็นที่ร่ำลือว่าสร้างขึ้นจากเงินทุนที่มาจากการค้ายาเสพติด เช่นย่านหมู่บ้านบาริโอพาโบล เอสโคบาร์ (Barrio Pablo Escobar) ที่เอสโคบาร์ได้สร้างไว้ในเขตที่ 9 (Comuna 9) และห้างสรรพสินค้าในเมือง

แม้ว่าครอบครัวชนชั้นนำในจังหวัดแอนทิโอเกียจะมีอำนาจและตระหนักถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และกำลังแรงงาน แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า กระบวนการและความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เช่นนี้ทำให้สถานการณ์การกีดกันทางสังคมแย่ลงหรือไม่[17]

ระบบอุปถัมภ์ได้ส่งเสริมการควบคุมทางสังคมในแนวดิ่งและมีชนชั้น เมื่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลง ลักษณะความสัมพันธ์ของอำนาจในแบบดังกล่าวจึงพังทลายลง[18] เพราะสวัสดิการต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษา ต่างล้วนอิงอยู่กับการมีอาชีพในระบบ ดังนั้นการที่เศรษฐกิจฝืดเคืองและภาคอุตสาหกรรมทยอยปิดตัวลงจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s จึงส่งผลกระทบต่อเมืองเมะเดยีนอย่างรุนแรง อัตราการว่างงานภายในเมืองเมะเดยีนพุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 14-17 ในช่วงระหว่างปี 1982-1988 ส่งผลให้เศรษฐกิจนอกระบบเกิดการขยายตัวขนานใหญ่ โดยมีอัตราการจ้างงานกว่าร้อยละ 50 ตลอดคริสต์ทศวรรษที่ 1980s[19] อีกทั้งยังทำให้การย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้ามาสู่ในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s และ 1990s แม้อัตราความยากจนและความรุนแรงในตัวเมืองอย่างเมะดะยีนจะสูงอยู่แล้วก็ตาม โดยเฉพาะในเขตยากจนทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นแหล่งธุรกิจใต้ดินจำพวกการค้าประเวณี การลักทรัพย์ และการค้ายาเสพติด

ผู้นำทางการเมืองในระบบของเมืองเมะเดยีนมีลักษณะที่เน้นการปฏิบัติ เน้นการหาพันธมิตร ขณะเดียวกันก็มีการคอร์รัปชันในอัตราสูง[20] แนวทางที่เน้นการปฏิบัติอาจเป็นเกราะป้องกันเมืองเมะเดยีนจากปัญหาความรุนแรงได้ประมาณหนึ่ง แต่ก็เป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้เกิดการกีดกันในสังคม

ส่วนการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นแบ่งได้เป็นสองรูปแบบ ได้แก่ การเล่นพรรคเล่นพวกและระบบอุปถัมภ์ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถดำรงอำนาจต่อไปได้ และการติดสินบน การทุจริต รวมถึงการอาศัยอิทธิพลจากผู้ที่มีบทบาททางการเมืองนอกระบบ ซึ่งเห็นได้ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s โดยในช่วงเวลานั้น การทุจริตและติดสินบนภายในวงการการเมืองเมะเดยีนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สืบเนื่องมาจากการที่นักการเมืองสมรู้ร่วมคิดกับขบวนการการค้ายาเสพติดแห่งเมืองเมะเดยีน (narco-politics)[21] ลักษณะการร่วมมือดังกล่าวนี้จึงสามารถอธิบายแหล่งที่มาของอำนาจทางการเมืองนอกระบบ รวมทั้งการที่เส้นแบ่งระหว่างการเมืองในระบบกับนอกระบบได้ถูกทำลายลงไปได้อีกด้วย และเนื่องจากการเมืองในระบบของเมะเดยีนในช่วงเวลาดังกล่าวเต็มไปด้วยการใช้เส้นสาย โครงสร้างทางอำนาจของเมืองจึงเอื้ออย่างยิ่งต่อการถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด


[1] Mary Roldán, “Citizenship, class and violence in historical perspective: The Colombian case” (paper presented at annual meeting of Latin American Studies Association, Guadalajara, Mexico, April 17-19, 1997) accessed April 30, 2022, http://bibliotecavirtual.clasco.org.ar/ar/libros/lasa97/roldan.pdf.

[2] Leah Anne Carroll, Violent democratization: Social movements, elites, and politics in Colombias rural war zone, 19842008 และ Michael J. LaRosa and Germán R. Mejía, Colombia: A concise contemporary history (Plymouth, UK: Rowman & Littlefield, 2012).

[3] Mary Roldán, Blood and fire: La Violencia in Antioquia, Colombia, 19461953 (Chapel Hill, NC: Duke University Press, 2002).

[4] Ana Maria Bejarano and Eduardo Pizarro Leongómez, From “restricted” to “besieged”: The changing nature of the limits to democracy in Colombia, Working Paper 296 (2002), accessed April 30, 2022, https://kellogg.nd.edu/publications/workingpapers/WPS/296.pdf.

[5] NACLA, Legalizing the illegal: Paramilitarism in Colombias postparamilitaryera (2009), accessed April 30, 2022, https:nacla.org/files/A04204014_1.pdf.

[6] Mary Roldán, Blood and fire: La Violencia in Antioquia, Colombia, 19461953.

[7] Francisco Gutiérrez Sanín and Ana María Jaramillo, “Crime, (counter-)insurgency and the privatization of security: The case of Medellín, Colombia,”.

[8] Javier Auyero, “The Logic of clientelism in Argentina: An ethnographic account,” Latin American Research Review 35, no. 3 (2000): 55-81.

[9] Carlos de la Torre, Populist seduction in Latin America, 2nd. ed. (Ohio, OH: Ohio University Press, 2010).

[10] Forrest Hylton, “Medellín’s makeover,” New Left Review, no. 44 (2007): 71-89 และ Nicanor Restrepo Santamaría, Empresariado antioqueño y sociedad, 1940 2004: Influencia de las élites patronales de Antioquia en las políticas socioeconómica (Bogotá, Colombia: Taurus, 2016).

[11] Nicanor Restrepo Santamaría, Empresariado antioqueño y sociedad, 1940 2004: Influencia de las élites patronales de Antioquia en las políticas socioeconómica.

[12] Mary Roldán, “Citizenship, class and violence in historical perspective: The Colombian case,”.

[13] [El] Colombiano, “Así nació el sindicato Antioqueño,” 2011, accessed April 30, 2022 htpp://www.elcolombiano.com/BancoConocimiento/A/asi_nacio_el_sindicato/asi_nacio_el_sindicato_antioqueno.asp.

[14] “Enroque paisa” แปลว่า “Antioquian castling” หมายถึงการเดินหมากเพื่อป้องกันในเกมหมากรุก Paisa เป็นภาษาพูดหมายถึงชาวแอนทิโอเกีย

[15] Forbes, “Billionaire drugloards: El Chapo Guzman, Pablo Escobar, the Ochoa Brothers,” (2012), accessed June 3, 2016, http://www.forbes.com/sites/erincarlyle/2012/03/13/billionaire-drugloards-el-chapo-guzman-pablo-escobar-the-ochoa-brothers/.

[16] Leah Anne Carroll, Violent democratization: Social movements, elites, and politics in Colombias rural war zone, 19842008.

[17] Forrest Hylton, “Medellín’s makeover,”.

[18] Ramiro Ceballos Melguizo and Francine Cronshaw, “The evolution of armed conflict in Medellín: An analysis of the major actors,”.

[19] John J. Betancur, “Approaches to the regulation of informal settlements: The case of PRIMED in Medellín, Colombia,” Global Development Magazine 3, no. 1 (2007): 1-15.

[20] Leah Anne Carroll, Violent democratization: Social movements, elites, and politics in Colombias rural war zone, 19842008 และ Francisco Gutiérrez Sanín and Ana María Jaramillo, “Crime, (counter-)insurgency and the privatization of security: The case of Medellín, Colombia,”.

[21] Robert R. Filippone, “The Medellín Cartel: Why we can’t win the drug war,” Studies in Conflicts & Terrorism 17, no. 4 (1994): 323-344.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save