fbpx
ชนชั้นนำกับประชาธิปไตยในโลก

ชนชั้นนำกับประชาธิปไตยในโลก

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เวลาพูดถึง ‘ชนชั้นนำ’ ในบริบทการเมืองไทย เรามักนึกถึงฝ่ายที่ไม่เป็นหรือไม่เอาประชาธิปไตย กระทั่งเป็นฝ่ายที่ตรงข้ามกับประชาชน ภาพลักษณ์นี้เริ่มเปลี่ยนช่วงวิกฤติการเมืองเสื้อเหลือง-แดง ที่ชนชั้นนำและประชาชนแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ดูเหมือนมีทั้งชนชั้นนำและประชาชนฝั่งที่สนับสนุนประชาธิปไตย ส่วนชนชั้นนำและประชาชนอีกฝั่งตั้งคำถาม รวมถึงปฏิเสธกลไกหลักของระบอบประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้ง

การถกเถียงเรื่องชนชั้นนำกับประชาธิปไตยในโลกวิชาการ มีความซับซ้อนกว่าที่เราเข้าใจจากบริบทการเมืองไทย งานเหล่านี้สร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายพฤติกรรมและการตัดสินใจของชนชั้นนำจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (democratic transition) ในยุโรปตะวันออกและละตินอเมริกา ในช่วงคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม (ระหว่างทศวรรษ 1980 ถึง 1990) ทั้งที่เป็นการศึกษาระดับภูมิภาคหรือการเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคทั้งสอง

งานศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยและชนชั้นนำ แบ่งได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกถามว่าชนชั้นนำเป็นภัยหรือช่วยให้เกิดประชาธิปไตย กลุ่มที่สองระบุว่าชนชั้นนำจะช่วยให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง (democratic consolidation) หลังการเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิถีทางในการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย (mode of transition) ส่วนกลุ่มที่สาม สงสัยว่าชนชั้นนำระบอบเก่า (old regime elite) หายไปไหนหลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้ว

 

ชนชั้นนำกับการเปลี่ยนจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย

 

งานวิจัยด้านการสร้างประชาธิปไตยในช่วงแรกๆ พยายามอธิบายปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และระดับการศึกษาของพลเมือง ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศเปลี่ยนจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย ต่อมานักวิจัยเช่น John Higley และ Richard Gunther เสนอว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างสำคัญจริง แต่อย่าลืมว่าตัวละครอย่างชนชั้นนำมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ชนชั้นนำมิได้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะฉะนั้นชนชั้นนำบางกลุ่มภายในพรรครัฐบาลหรือกองทัพ อาจเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองสุกงอม เช่น สภาพสังคมเปลี่ยน หรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ความชอบธรรมรัฐบาลเผด็จการจึงลดลง ฉะนั้นจึง ‘คำนวณ’ ว่าการยอมเจรจากับฝ่ายค้านหรือแกนนำผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ยังผลดีต่อตนมากกว่าการดื้อแพ่งไม่ยอมเจรจา และเสี่ยงต่อการถูกโค่นล้มแบบถอนรากถอนโคน

ในแง่นี้ นักวิชาการสาย ‘ชนชั้นนำศึกษา’ (Elite Studies)[1] ยึดทฤษฎีการเลือกแบบมีเหตุมีผล (rational choice theory) โดยชี้ว่าการคำนวณกะเกณฑ์ของชนชั้นนำ ‘สายกลาง’ กอปรกับความร่วมมือของชนชั้นนำกลุ่มนี้กับชนชั้นนำของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ช่วยให้ตนรักษาผลประโยชน์บางอย่างไว้ได้ แม้บ้านเมืองจะเปลี่ยนไปสู่ระบอบสถาบันประชาธิปไตยก็ตาม[2]

งานอันน่าตื่นเต้นชิ้นล่าสุดของ Dan Slater และ Joseph Wong เดินตามรอยตามวิถีทางของ ‘ชนชั้นนำศึกษา’ แต่โต้แย้งว่าเหตุที่ชนชั้นนำในระบอบเผด็จการยอมถอย ไม่ใช่เพราะคำนวณจากผลเสียของการไม่ยอมเปลี่ยน แต่คิดสะระตะแล้วว่าระบอบเดิมของตนเข้มแข็งพอที่จะ ‘คุม’ ระบอบประชาธิปไตยใหม่ได้ ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านจึงมิได้มาจากความอ่อนแอของชนชั้นนำดังที่นักวิชาการกลุ่มแรกชี้ ทว่ามาจากความได้เปรียบเหนือชั้นในเกมการเมือง

Slater และ Wong ศึกษาเปรียบเทียบพรรครัฐบาล ซึ่งคุมระบอบเผด็จการและอำนาจนิยมในเกาหลีใต้ (ระบอบปัก จุง ฮี) ไต้หวัน (พรรคก๊กมินตั๋ง) และอินโดนีเซีย (ระบอบซูฮาร์โต) พบว่าระบอบเหล่านี้อยู่ในการควบคุมของพรรคเดี่ยว ซึ่งอาศัยจังหวะที่อยู่ในอำนาจมายาวนานออกแบบโครงสร้างราชการและเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์แก่ตน เมื่อถึงวาระที่ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย ชนชั้นนำในระบอบเหล่านี้คำนวณแล้วว่า เครือข่ายอิทธิพลของตนเข้มแข็งพอที่จะคุมกระบวนการเลือกตั้ง มี ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ สำหรับแคมเปญหาเสียง มีระบบราชการซึ่งจะเอื้อให้ได้เปรียบในการออกแบบนโยบาย ตลอดจนได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน เพราะอ้างว่าตนเป็นหัวหอกพัฒนาเศรษฐกิจหรือช่วยธำรงความมั่นคงของประเทศชาติ ฉะนั้นจึงยอมให้เกิดการเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ชนชั้นนำเก่าจึงชนะการเลือกตั้งครั้งแรกๆ ในประเทศเหล่านี้ และอยู่ในอำนาจหลายปีจนกว่าพรรคฝ่ายค้านจะขึ้นมาทัดทานได้ เช่นในไต้หวัน พรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้งแบบรัวๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 จนถึงปี 2000 และในปี 2008 และ 2012 ผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคฝ่ายค้าน[3]

ชนชั้นกับวิถีการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย

 

การล่มสลายของระบอบเผด็จการไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะงอกงามชั่วข้ามคืน ในช่วงทศวรรษ 1990 นักวิชาการด้านประชาธิปไตยศึกษา สนใจว่าประชาธิปไตยจะพัฒนา หยั่งราก และทนทานต่อแรงเสียดของกระแสอำนาจนิยม และไม่หวนคืนสู่ระบอบเผด็จการได้อย่างไร[4] งานกลุ่มหนึ่งแตกแขนงออกไป โดยศึกษาว่าวิถีทางที่แต่ละประเทศเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย ส่งผลต่อการหยั่งรากของประชาธิปไตยในลักษณะต่างกัน

งานจำนวนมากชี้ว่าหากการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นจากการตกลงกันเองระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ (elite pact) เป็นไปได้ว่าประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนผ่านจะอ่อนแอ เพราะชนชั้นนำย่อมพยายามรักษาอิทธิพลของตน และฉวยใช้กลไกเลือกตั้งเพื่อรักษาฐานอำนาจ ใช้กลไกทางการศาลเพื่อหลีกเลี่ยงธรรมาภิบาล ใช้กลไกกฎหมายรวมถึงหน่วยงานความมั่นคงเพื่อปรามปราบสื่อและภาคประชาสังคมผู้เห็นต่าง และที่สำคัญคือกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ กอบโกยทรัพยากรเข้าสู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง

วิถีการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้จึงถือว่าเป็นภัยต่ออนาคตของประชาธิปไตยที่สุด ตัวอย่างที่สะท้อนประเด็นนี้ได้ดีที่สุดคือกรณีบราซิล ซึ่งเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยในปี 1985 ด้วยการเจรจากันเองระหว่างกลุ่มชนชั้นที่ขัดแย้งกัน ชนชั้นนำจากระบอบเก่าโดยเฉพาะกองทัพ จึงยังกุมอำนาจในรัฐบาล ควบคุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงไม่ยอมรับผิดเมื่อถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงระบอบเผด็จการ ความต่อเนื่องของชนชั้นนำจากระบอบเก่าสู่ประชาธิปไตย เป็นสาเหตุประการหนึ่งค้ำจุนความเหลื่อมล้ำในบราซิล ทั้งยังทำให้เส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยในบราซิลขรุขระตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา[5]

อีกวิถีทางคือการที่พรรคฝ่ายค้านและมวลชน ระดมพลังกดดันให้ชนชั้นนำต้องเจรจาและยอมประนีประนอม (participated pact หรือ pacted transition) แม้ว่าจะสูญเสียผลประโยชน์บางอย่าง การประนีประนอมอาจส่งผลให้ชนชั้นนำ ‘สายกลาง’ คงอิทธิพลของตนต่อไปได้บ้าง ทว่าหากต้องการอำนาจในรัฐบาล จะต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แข่งขันกับชาวบ้านภายใต้กฎกติกาเดียวกัน เชื่อว่าวิถีนี้ช่วยให้สถาบันประชาธิปไตยพัฒนาได้บ้าง เพราะชนชั้นนำเก่าที่ไม่เอาประชาธิปไตยถูกเบียดขับออกนอกพื้นที่การเมือง ขณะที่ตัวละครใหม่ๆ มีโอกาสในรัฐบาลและระบบราชการมากขึ้น

กรณีการเปลี่ยนผ่านในโปแลนด์ช่วงปี 1989 สะท้อนพัฒนาการเช่นนี้ แต่ข้อเสียของวิถีทางนี้คือ ไม่มีอะไรรับประกันว่าชนชั้นนำเก่าที่เหลืออยู่จะมีความ ‘ภักดี’ ต่อระบอบประชาธิปไตยแค่ไหน และไม่มีใครแน่ใจได้ว่าคนเหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มต้านประชาธิปไตยเมื่อผลประโยชน์ตนถูกคุกคามหรือไม่[6]

สำหรับโหมดสุดท้าย คือการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยโดยการประท้วงของพรรคฝ่ายค้านและมวลชน ซึ่งผลักดันให้ชนชั้นนำในระบอบเก่าออกจากอำนาจไปเองโดยไม่ต้องเจรจา (eventful democratization)

ภาพที่เราคุ้นชินหน่อยเมื่อไม่นานมานี้ คือการประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดี Ben Ali แห่งประเทศตูนีเซียออกจากตำแหน่ง เมื่อประธานาธิบดีต้องหลบออกจากประเทศ ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกทิ้งไว้เบื้องหลังให้ตัดสินใจว่าจะเจรจาต่อรองกับพรรคฝ่ายค้านและมวลชน หรือจะสู้หัวชนฝา โดยมากแขนขาของระบอบเก่ามักเลือกข้อแรกมากกว่าข้อหลัง เพราะมวลชนที่อยู่บนท้องถนนมีมากเกินกว่าจะสู้ให้ชนะได้ และมีความชอบธรรมในการปกครองต่อไปได้ งานศึกษากลุ่มนี้ชี้ว่าวิถีเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยดังกล่าว มักให้กำเนิดภาคประชาสังคมและกลไกตรวจสอบรัฐอื่นๆ ที่เข้มแข็ง รวมทั้งยังแทนที่ชนชั้นนำเก่าด้วยชนชั้นนำใหม่ซึ่งภักดีต่อระบอบประชาธิปไตย[7]

ก่อนไปจะถึงส่วนที่สาม ข้าพเจ้าอยากชวนให้เราคิดย้อนกลับมาบริบทประเทศไทยว่าในปี 2535 เราเปลี่ยนผ่านด้วยวิถีทางใด ชนชั้นนำดั้งเดิมมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว และบทบาทนี้ส่งผลอย่างไรต่อ ‘ชีวิต’ ของประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนผ่านในปี 2535 รวมถึงจะเกิดอะไรขึ้นกับชนชั้นนำในระบอบเก่า หลังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะมาถึง

บทความชิ้นหน้าจะเล่ากันต่อถึงดีเบตของแวดวงวิชาการ ว่าด้วยชีวิตของชนชั้นนำหลังการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย

 


[1] ดูปริทรรศน์งาน “ชนชั้นนำศึกษา” เช่น Matias López, “Elite theory,” Sociopedia 2013, http://www.sagepub.net/isa/resources/pdf/elitetheory.pdf.

[2] ดูตัวอย่างเช่น John Higley and Richard Gunther, eds. Elites and Democratic Consolidation in Latin America and Southern Europe (Cambridge: Cambridge University Press, 1995); John Higley and Michael G Burton, “The elite variable in democratic transitions and breakdowns,” American Sociological Review 54(1) (1989): 17-32; John Higley and Jan Pakulski, “Elite Power Games and Democratic Consolidation in Central and Eastern Europe,” Historical Social Research 37(1) (1999): 292-319; Daron Acemoglu and James A. Robinson, Economic Origins of Dictatorship and Democracy (New York: Cambridge University Press, 2006).

[3] Slater, Dan and Joseph Wong. 2013. “The Strength to Concede: Ruling Parties and Democratization in Developmental Asia.” American Political Science Association 11(3): 717-733. และดูเพิ่มเติมใน Steven Levitsky and Lucan A. Way, Competitive Authoritarianism: Hybrid Regimes after the ColdWar (New York: Cambridge University Press, 2010).

[4] ดูตัวอย่างเช่น Guillermo O’Donnell, Philippe C. Schmitter and Laurence Whitehead, Transitions from Authoritarian Rule: Comparative Perspectives (Baltimore: John Hopkins, 1986); Larry Diamond, “Toward Democratic Consolidation,” Journal of Democracy 5(3) (1994): 4-17; Juan J. Linz and Alfred Stepan, Problems of Democratic Transition and Consolidation (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1996); Andreas Schedler, “What is Democratic Consolidation,” Journal of Democracy 9(2) (1998): 91-107; Larry Diamond, Developing Democracy: Toward Consolidation (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1999).

[5] Terry Lynn Karl, “Petroleum and Political Pacts,” Latin America Research Review 22(1987): 63-94; Frances Hagopian, “Democracy by Undemocratic Means’? Elites, Political Pacts, and Regime Transition in Brazil,” Comparative Political Studies 23(2) (1990): 147-170; Michael Albertus and Victor Menaldo, Authoritarianism and the Elite Origins of Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2018); Michael Albertus, “The Fate of Former Authoritarian Elites Under Democracy,” Journal of Conflict Resolution XX(X) (2018): 1-33.

[6] Samuel. Valenzuela, J. “Democratic Consolidation in Post-Transitional Settings: Notion, Process, and Facilitating Conditions,” Working Paper no. 150. Kellogg Institute, 1990; Terry Karl, Lynn and Philippe Schmitter, “Modes of Transition in Southern and Eastern Europe, Southern and Central America,” International Social Science Journal 128 (1991): 343-362.

[7] Michael D. Ward and Kristian S. Gleditsch. Democratizing for Peace,” American Political Science Review 92(1) (1998): 51-61; Stradiotto and Sujian Guo, “Transition modes of democratization and democratic outcomes,” International Journal on World Peace XXVII(4) (2010): 5-40; Petter Grahl Johnstad, “Nonviolent Democratization: A Sensitivity Analysis of How Transition Mode and Violence Impact the Durability of Democracy,” Peace & Change 35(3) (2010): 464-82; Markus Bayer, Felix S. Bethke and Daniel Lambach, “The democratic dividend of nonviolent resistance,” Journal of Peace Research 53(6) (2016): 758-71; Felix Bethke and Jonathan Pickney, “Nonviolent Resistance and the Quality of Democracy,” Variety of Democracy Institute (July 2016); Donatella della Porta, Where did the Revolution Go?: Contentious Politics and the Quality of Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2016); Jonathan Pinckney, When Civil Resistance Succeeds: Building Democracy After Popular Nonviolent Uprisings (Washington DC: International Center for Nonviolent Conflict, 2018).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save