fbpx
ERP : วิธีแก้ปัญหาจราจรของเมืองใหญ่ (แทบจะ) ในพริบตา

ERP : วิธีแก้ปัญหาจราจรของเมืองใหญ่ (แทบจะ) ในพริบตา

ยังจำได้ไหมครับ ว่าตอนคุณทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก คุณทักษิณเคยสัญญาเอาไว้เรื่องหนึ่ง

เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาหนักอกคาใจคนกรุงเทพฯ มาเป็นสิบๆ ปี และไม่เคยมีใครแก้ปัญหาได้

ปัญหานั้นก็คือปัญหาจราจร

 

ตอนนั้น คุณทักษิณบอกว่าจะแก้ปัญหาจราจรให้ได้ภายใน 6 เดือน แต่ถามว่า – แล้วทำได้ไหม, คำตอบก็คือ คุณทักษิณก็ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้พอๆ กับคนอื่นๆ ที่มาก่อนหน้านั่นแหละครับ – คือทำไม่ได้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ได้ ไม่ว่าจะลงมือทำงานมากแค่ไหนก็ตาม

ปัญหาจราจรเป็นปัญหาใหญ่มาก เป็นเรื่องงูกินหาง เพราะพอแก้เรื่องนี้ ก็มีเรื่องใหม่เข้ามาอีก จำนวนรถยนต์ที่เพ่ิมขึ้นตาม ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ ที่สังคมสมาทานเอาไว้ ทำให้การจราจรเป็นหนึ่งในเรื่องที่ ‘แก้ไม่ได้’ เสียที ไม่ใช่แค่กับกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่กระทั่งหลายเมืองใหญ่ในโลกก็เผชิญหน้ากับปัญหานี้อย่างแก้ไม่ตก

เมืองที่มีปัญหาจราจรมากที่สุด คือเม็กซิโกซิตี้ มีระดับความติดขัด (Congestoion Level) อยู่ที่ 66% ส่วนเมืองที่สองรองลงมา (คุณคงไม่ประหลาดใจเท่าไหร่ – ถ้าจะประหลาดใจ ก็คงประหลาดใจที่ไม่ใช่อันดับ 1) ก็คือกรุงเทพฯ อันเป็นที่รักยิ่งของเรานี่แหละครับ โดยมีระดับความติดขัดอยู่ที่ 61% ตามมาด้วยจาการ์ตาเป็นอันดับสาม (58%)

ที่น่าสนใจก็คือ ในบรรดาเมืองรถติดสิบอันดับแรกของโลกนั้น เจ็ดในสิบเมืองมีระดับความติดขัดเพิ่มสูงขึ้นนะครับ อย่างเม็กซิโกซิตี้นี่เพิ่มขึ้น 7% กรุงเทพฯ ของเรายังดีหน่อย เพิ่มแค่ 4% แต่เมืองอย่างฉงชิ่งในจีนที่มีระดับความติดขัด 52% นี่สิครับ เพิ่มขึ้นมาถึง 14% เฉิงตูก็เพ่ิมขึ้น 6%

ในสิบอันดับเมืองรถติดนี่ มีอยู่เมืองเดียวที่รถติดน้อยลง คืออิสตันบูล (ที่อยู่ในอันดับ 6) แต่ก็ลดลงแค่ 1% เท่านั้นเอง

แล้วทั้งหมดนี้เราจะแก้ปัญหากันอย่างไรดี

ในบทความชื่อ Pay As You Drive – The Congestion Buster ของคุณแอนเดรีย วิลลิจ (Andrea Willige) (ดูได้ที่นี่) เสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ของใหม่ แต่กระนั้นก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจ และเป็นเทรนด์อย่างหนึ่งที่กำลังนิยมใช้กันในหลายประเทศ เพราะมีบางประเทศทดลองทำแล้วได้ผล ที่ว่าได้ผลนี่คือได้ผลในระดับแทบจะทันทีด้วยนะครับ

ที่สำคัญ มันยังเป็นวิธีที่ไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจอะไร ไม่ได้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือลงทุนมหาศาลเท่าไหร่ด้วย

วิธีที่ว่าก็คือวิธีที่หลายคนอาจคุ้นเคยดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่ไปสิงคโปร์บ่อยๆ เพราะตามถนน คุณจะเห็นป้ายเขียนว่า ERP อยู่บ่อยๆ ซึ่งคำว่า ERP ก็คือคำย่อของวิธีแก้ปัญหานี้ อันได้แก่ Electronic Road Pricing นั่นเอง

วิธีทำงานของ ERP นั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยครับ มันก็คือการเก็บเงินค่าผ่านทางนั่นแหละ แต่ไม่ได้เก็บเงินด้วยการตั้งด่านเหมือนที่เราคุ้นเคยในไทย ทว่าใช้วิธีตั้งเป็น ‘ซุ้ม’ (Gantry System) อยู่ด้านบนของถนนตามจุดต่างๆ (ปัจจุบันนี้ในสิงคโปร์มีอยู่ 80 จุด) โดยที่ในรถจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า In-Vehicle Unit (IU) ติดอยู่ตรงกระจกหน้าที่มุมล่างด้านขวาด้วย เจ้าตัวนี้แหละครับจะเป็นเซนเซอร์คอยเก็บเงิน ซึ่งก็ทำงานคล้ายๆ กับบัตรขึ้นทางด่วนที่เก็บเงินโดยอัตโนมัติของบ้านเรา

ทีนี้เวลารถแล่นไปไหนต่อไหน ก็จะถูกเก็บเงินไปเรื่อยๆ (เรียกว่า Road Pricing) ตามแต่ว่าจะแวะเข้าไปบริเวณไหนบ้าง ซึ่งข้อดีของวิธีนี้มีหลายอย่าง อย่างแรกก็คือไม่ต้องมีจุดหยุดเก็บเงินเหมือนด่านทางด่วนบ้านเรา ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ สามารถปรับเปลี่ยนค่าผ่านทางตามช่วงเวลาได้ เช่นถ้าเป็นชั่วโมงเร่งด่วน ค่าผ่านทางอาจจะแพงหน่อย แต่ถ้าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนที่รถน้อย เรตก็จะเปลี่ยนไป อย่างเช่นในย่าน CBD ถ้าเป็นช่วงเร่งด่วนหรือ Peak Hour ค่าผ่านทางจะอยู่ที่ 15 เหรียญ แต่ถ้าเป็นตอนเที่ยงๆ จะอยู่ที่แค่ 2 เหรียญ เท่านั้น

ในแง่หนึ่ง การเก็บค่าผ่านทางที่ราคาผันแปรไป จึงช่วยให้เกิดการเฉลี่ยกระจายการใช้รถ และเป็นการควบคุมการจราจรอีกทางหนึ่งด้วย

หลายคนอาจจะถามว่า อ้าว! แล้วถ้าเป็นรถเช่าหรือรถจากต่างประเทศขับเข้าไปจะทำอย่างไร ก็เลือกได้นะครับ ว่าจะเช่า IU ติดเข้าไปในรถ หรือว่าจะจ่ายในอัตรา Flat Rate ไปเลย เท่านี้ก็แก้ปัญหาได้แล้ว

สิงคโปร์เริ่มใช้ระบบ ERP ในปี 1998 และในทันทีทันใดนั้น ก็พบว่าอัตราการติดขัดลดลงมากถึง 45% ในแบบชั่วข้ามคืนกันเลยทีเดียว ทั้งยังลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ลงถึง 25% ด้วย (ดูบทความนี้)

ในปี 2017 สิงคโปร์เป็นประเทศที่รถติดมากที่สุดเป็นอันดับที่ 55 ของโลก โดยมีอัตราการติดขัดอยู่ที่ 34% (เพิ่มขึ้น 3%) ซึ่งถือว่าเป็นผลมาจากระบบ ERP นี่แหละครับ และในปี 2020 สิงคโปร์มีแผนจะใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อควบคุมการจราจรให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยการเปลี่ยนจาก IU หรือ In-Vehicle Unit มาเป็น OBU หรือ On-Board Unit ที่สามารถทำงานได้ละเอียดขึ้น คือนอกจากจะเก็บค่าผ่านทางแล้ว ยังเก็บค่าจอดรถ และรับข้อมูลคำแนะนำจาก Land Transport Authority หรือ LTA ได้โดยตรงด้วย ว่าในการเดินทางควรจะไปทางไหนอย่างไร เพื่อกระจายความติดขัดออกไป จึงเป็นการปรับปรุงการ ‘ตามรอย’ (Tracking) รถยนต์ รวมถึงสามารถปรับราคาค่าผ่านทางต่างๆ ให้ละเอียดยิ่งขึ้นได้ (ดูรายละเอียดได้ในข่าวนี้)

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ที่ใช้ระบบ ‘ขับไปจ่ายไป’ แต่ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ใช้ระบบนี้ เมืองอย่างสต็อกโฮล์ม ก็เริ่มใช้ระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว โดยการเก็บเงินจากผู้ขับขี่รถยนต์ที่ผ่านใจกลางเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่ยกเว้นรถเมล์ แท็กซี่ และรถที่ใช้พลังงานน้อย ปรากฏว่าเมื่อใช้ระบบนี้ไปได้สองปี การจราจรลดลงราวหนึ่งในสี่ เทียบเท่ากับมีการใช้รถยนต์ในเขตเมืองน้อยลงวันละ 1 ล้านคัน จึงมีการใช้ระบบนี้ต่อเนื่องในเมืองอย่างโกเทนเบิร์ก อันเป็นเมืองใหญ่อันดับสองด้วย

เมืองอื่นที่เริ่มทำตามมีอีกหลายเมือง เช่น มินนิอาโพลิสในอเมริกา ส่วนแคนาดา เมืองอย่างโตรอนโตนั้นมีระบบนี้อยู่แล้ว แต่แวนคูเวอร์กำลังสร้างระบบนี้อยู่

อีกเมืองหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างมาก ก็คือมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ เพราะมะนิลาขอให้สิงคโปร์เข้ามาช่วยดูแลระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบนี้ให้

 

ประชากรโลกกำลังย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองกันมากขึ้น สหประชาชาติประมาณว่า ในปี 2050 ประชากรโลกกว่าสองในสามจะกลายเป็น ‘คนเมือง’ ซึ่งแปลว่าปัญหาจราจรอาจจะหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีแก้ปัญหาจราจรอย่างหนึ่งที่หลายเมืองเห็นพ้องต้องกันก็คือสิ่งที่บางคนพูดขำๆ ว่าเป็นการ ‘แกล้งรถยนต์’ ซึ่งที่จริงก็คือการทำให้ผู้ที่ ‘เลือก’ ใช้รถยนต์ ต้องจ่ายแพงขึ้น แต่เมื่อจ่ายแพงขึ้นก็ต้องเห็นผลด้วยว่าจ่ายแล้วเกิดประโยชน์จริง ไม่ใช่จ่ายเงินเพื่อไปรถติดอยู่บนทางด่วนดังที่หลายๆ คนประสบกันอยู่ทุกวันนี้

คำถามก็คือ – แล้วกรุงเทพฯ ของเราล่ะ, เราจะแก้ปัญหาจราจรกันด้วยวิธีไหนดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save