fbpx

เลือกตั้งยังไงไม่ให้ ‘เบียว’ ไม่ให้ ‘เบี้ยว’

การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แรกทีก็ฟังดูเหมือนง่ายและตรงไปตรงมา มีนักการเมืองประกาศนโยบาย ประชาชนรับฟังตามความสนใจ เลือกตามความชอบใจ แล้วก็ออกไปเลือกตั้ง หลังจากนับคะแนนแล้ว คนหรือพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดก็ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล  

แต่ทุกขั้นตอนที่ว่ามาต่างก็มีรายละเอียดและปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อกัน เหมือนจุดต่างๆ บนใยแมงมุมที่หากกระทบกระเทือนก็จะส่งผลกับใยแมงมุมส่วนที่เหลือทั้งหมด ต่างกันแค่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงเท่านั้น ในการเลือกตั้ง เมื่อหนึ่งในปัจจัยแวดล้อมถูกสะกิด ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกของผู้มีสิทธิลงคะแนน

เริ่มกันที่สื่อ คนจำนวนมากหรืออาจจะส่วนใหญ่เชื่อว่าสื่อมีผลต่อการออกไปใช้สิทธิใช้เสียง และสื่อเลือกข้างทางการเมือง มีการสำรวจพบว่าคนอเมริกันมากกว่า 70% เชื่อว่าสื่อต่างๆ มีอคติในการเขียนพาดหัวและเนื้อหา อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติในสหรัฐอเมริกาที่สื่อประกาศตัวโจ่งแจ้งว่าสนับสนุนพรรคใด ไม่มีเหนียมอายหรือแอบๆ แบบแถวนี้ อคติแบบนี้กว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่พาดหัวหนังสือพิมพ์ The New York Times ไปจนถึงข้อคิดเห็นหรือรายงานจากคณะทำงานชุดใดชุดหนึ่งของนโยบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สื่อใช้อ้างอิงในการเสนอข่าว

สำนักงานวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (National Bureau of Economic Research: NBER) สำรวจข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 1996 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่ Fox News สื่อโทรทัศน์อนุรักษ์นิยม ออกอากาศทางช่องเคเบิลทีวีครอบคลุมเมืองต่างๆ ราว 20% ในสหรัฐฯ คณะนักวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการรับชม Fox News กับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างปี 1996-2000 โดยฝั่งพรรครีพับลิกันได้คะแนนสูงขึ้นในเมืองที่ Fox News ฉายราว 0.4%-0.7% แม้ผลกระทบดังกล่าวดูจะไม่ได้มากมายนัก แต่ก็เชื่อมโยงชัดเจนว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมีผลต่อการเลือกของผู้รับสาร และนี่เป็นเพียงปัจจัยจากการออกอากาศของสถานีข่าวเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ผลกระทบในลักษณะนี้ยังพบในผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกด้วยเช่นกัน ผลการสำรวจประมาณไว้ว่ารายการของ Fox News ทำให้ผู้ชมราว 3%-8% ของผู้ชมทั้งหมด ตัดสินใจเลือกโหวตให้ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในการสำรวจ คือในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เนื้อหาจะไม่ระบุชื่อผู้สมัครชัดเจนเท่ากับในกรณีการเลือกวุฒิสมาชิก

ผลวิจัยเหล่านี้จึงเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่าสื่อส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งจริง ไม่มากก็น้อย หากประชาชนรับชมสื่ออย่างจำเพาะและจำกัด ก็อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจได้ กรณีการเมืองไทยก็อาจเกิดปรากกฎการณ์แบบนี้ได้เช่นกัน ดังที่หลายคนมักอ้างถึงการรับฟัง รับชมสื่อบางช่องอย่างเกาะติด ทั้งโทรทัศน์และวิทยุ  

นอกจากการชี้นำจากสื่อแล้ว ยังมีเรื่องอคติในการทำโพลสำรวจความเห็น มี 2 กรณีอันโด่งดังในสหรัฐอเมริกา มาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง

กรณีแรกคือ การทำโพลโดยนิตยสาร The Literary Digest เมื่อปี 1936 ซึ่งเป็นการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างอัลเฟรด แลนดอน (Alfred Landon) จากพรรครีพับลิกัน และแฟรงคลิน รูสต์เวลต์ (Franklin Roosevelt) จากพรรคเดโมแครต นิตยสารดังกล่าวทำการสำรวจในคนกลุ่มใหญ่มาก และทำนายผลการเลือกตั้งก่อนรอบสุดท้ายได้ถูกต้องหรือใกล้เคียงอยู่หลายครั้งหลายหน สุดท้าย โพลของนิตยสารทำนายว่าแลนดอนจะชนะโหวตด้วยเสียง 57% และรูสเวลต์จะได้อีก 43% ที่เหลือ แต่ผลลัพธ์กลับผิดคาด เพราะแลนดอนได้คะแนนเพียง 38% ขณะที่รูสเวลต์ได้ 62%

ที่ผลโพลผิดคาดเช่นนี้มีสาเหตุมาจากวิธีการที่ใช้สำรวจความเห็นยังมีช่องโหว่ การสุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วมสำรวจไม่ได้เป็นการสุ่มอย่างเหมาะสม เพราะใช้การส่งไปรษณีย์ไปยังสมาชิกนิตยสารกับรายชื่อสมาชิกคลับต่างๆ รวมไปถึงชื่อ ที่อยู่ ที่สุ่มมาจากสมุดโทรศัพท์ ในสมัยนั้น โทรศัพท์ยังเป็นของแพงหรูหรา การสุ่มจากเบอร์โทรศัพท์จึงเป็นการจำกัดกลุ่มตัวอย่างให้อยู่ในกลุ่มคนชั้นกลางและชั้นสูงเท่านั้น ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีรายได้น้อยถูกตัดออกไปจากการสำรวจโดยปริยาย ทั้งหมดนี้มีการกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างไม่สม่ำเสมอมากพอ จึงใช้เป็นตัวแทนกลุ่มประชากรไม่ได้

ในการสำรวจคราวนั้น จากจำนวน 10 ล้านคนที่สุ่มสำรวจ มีคนส่งผลกลับมาเพียง 2.4 ล้านคน ความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ตอบกลับมาจึงไม่อาจคาดเดาได้ แต่ส่วนใหญ่ของคนที่ตอบกลับมาเลือกพรรครีพับลิกัน ผลโพลที่ผิดพลาดในครั้งนี้ ทำเอา The Literary Digest ต้องเลิกทำโพล อันที่จริงถึงกับเจ๊งจนต้องเลิกกิจการทำนิตยสารไปด้วยเลยทีเดียว

กรณีเช่นนี้มักเกิดกับกลุ่มเป้าหมายของโพลของบางสำนักในไทยในปัจจุบัน ที่มีอคติสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด จึงพลอยทำให้ผลการสำรวจที่ได้บิดเบี้ยวและเชื่อถือไม่ได้ไปด้วย โดยเฉพาะการโหวตผ่านทางโทรทัศน์หรือเพจเฟซบุ๊กที่ผู้รับชมอาจเป็นแฟนประจำ ซึ่งอาจมีความหลากหลายไม่มากพอ

กรณีที่สองคือการทำโพลโดยสำนักสำรวจความคิดเห็น Gallup ในปี 1948 ซึ่งเป็นศึกระหว่างธอมัส ดิวอี้ (Thomas Dewey) ผู้เป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก แข่งขันกับแฮร์รี ทรูแมน (Harry Truman) ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ในขณะนั้น ในการทำโพลคราวนั้นมีการแบ่งกลุ่มตามโควตา เช่น ผู้สัมภาษณ์คนหนึ่งอาจกำหนดว่าจะสัมภาษณ์ชายผิวขาวอายุต่ำกว่า 40 ปี 7 คน ผู้หญิงผิวดำ 6 คน อายุต่ำกว่า 40 ปี ที่อาศัยอยู่ในแถบชนบทบริเวณนั้นบริเวณนี้ ฯลฯ

ปัญหาของการคัดเลือกกลุ่มคนตัวอย่างแบบนี้ก็คือ การกำหนดลักษณะต่างๆ ทำได้ยาก จะเลือกรายได้ เพศ อายุ หรือชาติพันธุ์ ฯลฯ มาใช้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะลักษณะสำคัญหลายอย่างอาจตกหล่นหายไป อีกทั้งคนในโควตาก็อาจไม่ตรงกับลักษณะที่กำหนดไว้ทั้งหมด หรือหาคนที่มีลักษณะตามที่ตั้งไว้ได้ไม่ครบ  

นอกจากนี้ การสำรวจคราวนั้นใช้การสัมภาษณ์ ทำให้ปัจจัยเรื่องความสะดวกของกลุ่มตัวอย่างผู้ให้สัมภาษณ์มีส่วนในการกำหนดผลลัพธ์การสำรวจ เมื่อพิจารณาผลโพลที่ผ่านมาของ Gallup พบว่าการกำหนดโควตาแบบนี้มักทำให้พรรครีพับลิกันได้คะแนนโหวตสูงเกินจริง สำหรับโพลของ Gallup ในคราวนั้นก็ทำนายว่าดิวอี้จากพรรครีพับลิกันจะชนะด้วยคะแนนโหวต 50% ต่อทรูแมน 44% คะแนนส่วนที่เหลือเป็นของผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ แต่ผลการโหวตจริงกลับเป็นตรงกันข้ามคือ ทรูแมนได้ 50% ส่วนดิวอี้ได้ 45% และคนอื่นที่เหลือได้ 5%

ดังนั้น ผลโพลจึงขึ้นอยู่กับกระบวนการทำโพลเป็นอย่างมาก ยังไม่นับเรื่องโพลที่ตั้งเป้าหมายหรือผลลัพธ์ไว้แต่ต้นแล้วที่อาจมองว่าเป็น ‘โพลเหนี่ยวนำ’ หรือ ‘โพลจูงใจ’ ก็พอได้ เพราะคนปกติทั่วไปมีนิสัยชอบอิงกลุ่ม กลัวความแปลกแยกจากสังคม เมื่อเห็นว่าคนส่วนใหญ่เลือกอะไรก็มักจะเฮตามไปด้วย และกลุ่ม ‘สวิงโหวต’ ทำนองนี้ก็มีไม่น้อยเสียด้วย     

นอกจากนี้ การหยิบยกเรื่องชาติพันธุ์หรือศาสนามาเป็นประเด็นในการหาเสียงก็ส่งผลต่อการรับรู้ของสาธารณชนเช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) มีการสำรวจในปี 2016 โดยศูนย์กฎหมายคนยากจนทางใต้ (Southern Poverty Law Center) ในครูอาจารย์ราว 2,000 คน พบว่าการรณรงค์เลือกตั้งส่งผลกระทบด้านลบอย่างลึกซึ้งต่อครู อาจารย์และเด็กนักเรียนทั้งประเทศ

ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ มีครูราว 2 ใน 3 ที่รายงานว่า นักเรียนของพวกเขา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้อพยพและคนมุสลิมแสดงให้เห็นถึงความกังวลใจหรือความกลัวว่า ผลการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อตัวเองและครอบครัว มีอยู่มากกว่ากึ่งหนึ่งที่พบเห็นการใช้วาทกรรมทางการเมืองอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น และมีราว 1 ใน 3 ที่พบว่าความรู้สึกต่อต้านมุสลิมและผู้อพยพเพิ่มขึ้นในหมู่นักเรียน แต่ที่แย่ที่สุดคือ ครูอาจารย์มากกว่า 40% รู้สึกลังเลใจที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง!  

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงคือรูปร่างหน้าตาของผู้สมัคร เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า รูปร่างหน้าตาที่ดีกว่าทำให้ได้คะแนนเสียงมากกว่า และปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก และเป็นทั้งกับผู้สมัครชายและหญิงไม่ต่างกัน

ผู้มีสิทธิโหวตมักจะเชื่อมโยงเรื่องหน้าตาเข้ากับความคาดหวังว่า คนที่หน้าตาดีกว่าจะให้ความรู้สึกว่ามีความสามารถเหนือกว่า ผลสำรวจในฟินแลนด์พบว่า ในกลุ่มผู้สมัครที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อนการเลือกตั้ง เรื่องรูปร่างหน้าตาส่งผลต่อการได้รับเลือกมากกว่าความรู้ ความสามารถ และความน่าเชื่อถือเสียอีก (ราว 20% ในกรณีแรกเทียบกับ 5% ในสองกรณีหลัง)

นักการเมืองฝ่ายขวาในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย มักจะมีรูปร่างหน้าตาท่าทางที่ดูแล้วดึงดูดมากกว่า ที่สำคัญอีกเรื่องคือความหล่อหรือความสวยในทางการเมืองของพวกประเทศพัฒนาแล้วยังเข้ากันได้ดีกับพรรคอนุรักษ์นิยม มุมสุดท้ายนี้อาจจะกลับกับการเมืองไทยอยู่สักหน่อย  

ลองเชื่อมโยงกันดูนะครับว่า ผลที่วิจัยพบในต่างประเทศเหมือนหรือต่างกับที่พบในประเทศไทยมากน้อยเพียงใด และตั้งหลักคิดให้ดีว่า เราเลือกนักการเมืองคนนั้นและพรรคการเมืองนั้น เพราะอะไรกันแน่ เพราะนโยบายที่ดีต่อประเทศและตัวเรา หรือเพราะปัจจัยแวดล้อมอย่างข่าวจากสื่อ ผลโพลสำรวจ และ ‘ข่าวปล่อย’ ทั้งหลายทั้งปวงในช่วงหาเสียงเลือกตั้งกันแน่

ถ้าทำเช่นนี้ได้ ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้เราระมัดระวัง ไม่ให้ตัวเองตกหลุมพรางทางการเมืองทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save