fbpx
การ “ปฏิวัติ” ผ่านคูหาเลือกตั้งที่มาเลเซีย

การ “ปฏิวัติ” ผ่านคูหาเลือกตั้งที่มาเลเซีย

ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง

 

เช้าวันที่ 10 พฤษภาคม ชาวมาเลเซียตื่นขึ้นมาพร้อมกับข่าวว่า พวกเขากำลังจะมีรัฐบาลใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 61 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2500 ในประเทศที่พรรคการเมืองแนวร่วมฝ่ายรัฐบาลชนะเลือกตั้งแบบผูกขาดฝ่ายเดียวมาอย่างต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์ของการตั้งประเทศ

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือการเริ่มประวัติศาสตร์บทใหม่ของประเทศ ที่นักสังเกตการณ์หลายคนบอกว่า มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนรัฐบาลหรือพรรคการเมือง แต่มันคือ “การปฏิวัติ” เงียบของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง ชัดเจนว่าครั้งนี้ประชาชนชาวมาเลเซียลงคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนทิศทางของประเทศ (vote for changes)

หากถามลงไปรายละเอียดว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อาจจะตอบได้ว่ามาจาก 3 ปัจจัยดังต่อไปนี้

 

1. พฤติกรรมคอร์รัปชันและการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของผู้นำฝ่ายรัฐบาล และการเห็น “ประชาชนเป็นของตาย”

 

ปัจจัยนี้น่าจะมีความสำคัญที่สุด แนวร่วมพรรคการเมืองรัฐบาลในชื่อ ‘บาริซัน เนชันแนล’ หรือบีเอ็น (Barisan Nasional-BN) ภายใต้การนำของ ‘พรรคอัมโน’ (UMNO หรือ United Malays National Organisation) พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซียซึ่งผูกขาดอำนาจมาอย่างยาวนาน ประเมินกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อปัญหาคอร์รัปชัน การใช้อำนาจเพื่อพวกพ้อง และการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลต่ำเกินไป ทั้งที่สัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่การเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้

ในการเลือกตั้งครั้งที่ 12 (2551) อำนาจของฝ่ายรัฐบาลเริ่มถูกสั่นคลอน เมื่อแนวร่วมบีเอ็นได้ที่นั่งไม่ถึง 2 ใน 3 ของสภาเป็นครั้งแรก ช่วงนั้นกระแสความไม่พอใจต่อการผูกขาดอำนาจและการใช้อำนาจอย่างไม่โปร่งใสของรัฐบาลเริ่มปรากฏตัวผ่านกระแสการเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนหลายครั้ง จนก่อตัวเป็นพลังฝ่ายค้านที่เป็นการจับมือกันระหว่างภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินแนวทางการต่อสู้บนท้องถนนและนอกรัฐสภา ร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภา การประสานความร่วมมือดังกล่าวนับว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการเมืองมาเลเซีย เพราะทำให้ฝ่ายรัฐบาลถูกท้าทายจากพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อภาคประชาชนกับพรรคการเมืองมารวมตัวกันทำให้ฝ่ายค้านมีทั้งกำลังคน เงิน องค์กร และการจัดตั้งที่แข็งแรงกว่าฝ่ายค้านในยุคก่อนๆ

ทั้งนี้ แนวร่วมฝ่ายค้านได้นำชุดนโยบายเสนอทางเลือกให้กับสังคมที่ต่างไปจากฝ่ายรัฐบาล คือ หนึ่ง นโยบายกระจายรายได้ที่ไม่แบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ สอง นโยบายช่วยเหลือชนชั้นแรงงานให้มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สาม สร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันมากขึ้นเพื่อลดการผูกขาดและเศรษฐกิจแบบพวกพ้อง และสุดท้าย คือการเปิดเสรีทางการเมือง ซึ่งแนวทางเช่นนี้มุ่งไปที่การหาความสนับสนุนจากชนชั้นแรงงาน นักศึกษาปัญญาชน คนรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง นักธุรกิจระดับกลางที่ไม่มีเส้นสาย กลุ่มเชื้อชาติที่ไม่ใช่ชาวมาเลย์ และกลุ่มประชากรที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงพุ่งขึ้นถึงกระแสสูงในการเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 2556 ซึ่งผลการเลือกตั้งสะท้อนถึงการแข่งขันที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของมาเลเซีย เมื่อแนวร่วมฝ่ายค้านที่นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี สามารถชิงที่นั่งจำนวนมากมาได้จากฝ่ายรัฐบาล แม้ฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค สามารถชนะเลือกตั้ง แต่ก็ได้ที่นั่งลดลง (ได้ 133 ที่นั่ง จาก 222 ที่นั่ง ในขณะที่ฝ่ายค้านได้ 89 ที่นั่ง) แถมยังเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐบาลได้คะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ (popular vote) น้อยกว่าฝ่ายค้านด้วย ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้ว่าประชาชนเริ่มหันเหไปสนับสนุนฝ่ายค้านที่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน สนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง

มาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐบาลของนาจิบยังคงหาเสียงด้วยแนวทางแบบเดิม โดยบอกให้ประชาชนเลือกรัฐบาลเพื่อความต่อเนื่องในการบริหาร เน้นการลดแลกแจกแถม และยังใช้แนวทางการหาเสียงแบบเดิมๆ ที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์ คือ ปลุกกระแสการแบ่งแยกทางเชื้อชาติระหว่างคนมาเลเซียเชื้อสายจีนกับคนมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ โดยไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม

รัฐบาลยังหลบเลี่ยงการตอบคำถามชี้แจงประชาชนถึงกรณีคอร์รัปชันอื้อฉาวที่โด่งดังไปทั่วโลกของนายกฯนาจิบ ที่พัวพันกับการถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินจากกองทุน 1MDB ของรัฐบาลเข้ากระเป๋าตัวเองสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 22,400 ล้านบาท ไม่เพียงแต่ยืนกรานปฏิเสธ รัฐบาลยังขัดขวางการสอบสวนในเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนั้น ประชาชนยังรู้สึกไม่พอใจมาตรการหลายอย่างที่ออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และจงใจเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายรัฐบาล อาทิ การกำหนดวันเลือกตั้งให้ตรงกับวันทำงานกลางสัปดาห์แทนที่จะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ โดยคาดหวังว่าประชาชนจะมาใช้สิทธิน้อยลง (จนประชาชนออกมาประท้วงอย่างถล่มทลาย รัฐบาลจึงยอมประกาศให้เป็นวันหยุด) การไม่ยอมให้พรรคฝ่ายค้านจดทะเบียน กีดกันการโฆษณาหาเสียงของฝ่ายค้าน การตัดสิทธิผู้สมัครฝ่ายค้านหลายราย การกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรครัฐบาล ฯลฯ มาตรการเหล่านี้แทนที่จะช่วยรัฐบาล กลับทำให้เกิดกระแสโต้กลับ ประชาชนทั่วไปมองว่ารัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจ กลั่นแกล้งฝ่ายค้าน และบิดเบือนการแข่งขัน

สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางเลือก ทำให้ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมคอร์รัปชันและการใช้อำนาจที่ไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำรัฐบาลเผยแพร่อย่างรวดเร็วในวงกว้าง แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะประสบความสำเร็จในการควบคุมสื่อทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสื่อออนไลน์และเครือข่ายสื่อส่วนตัวของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนว่าประชาชนลงคะแนนเสียงเพื่อลงโทษรัฐบาล และเป็นการโหวตเพื่อให้โอกาสฝ่ายค้านได้ขึ้นมาบริหารประเทศ เห็นได้ชัดเจนจากการที่พรรคแนวร่วมรัฐบาลได้ที่นั่งลดลงอย่างมากจาก 133 ที่นั่งเหลือเพียง 79 ที่นั่ง ส่วนคะแนน popular vote ก็ลดลงจาก 47% เหลือเพียง 34% ที่สำคัญนักการเมืองระดับรัฐมนตรีและระดับผู้บริหารพรรคของฝ่ายรัฐบาลยังถูก “ล้มยักษ์” สอบตกกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นฝ่ายรัฐบาลยังพ่ายแพ้ในเขตเลือกตั้งซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของตนเองอีกด้วย

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลเคยให้สัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศให้มีการเปิดเสรีทางการเมืองมากขึ้น ให้เสรีภาพกับสื่อ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และขจัดการอุปถัมภ์ทางการเมือง ทำให้ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐบาล รวมถึงปรับเปลี่ยนนโยบายแบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ แต่คำสัญญาในการปฏิรูปดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง ภาวะชะงักงันทางการเมืองและความล้มเหลวในการปฏิรูประบบการเมืองและเศรษฐกิจจึงนำมาซึ่งความผิดหวังของประชาชน และนำมาสู่ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลอย่างหมดรูปในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

2. “มหาเธร์แฟคเตอร์”

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาเล่นการเมืองและสวมบทผู้นำพรรคฝ่ายค้านของมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 92 ปี ทำให้แนวร่วมฝ่ายค้าน ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ (Pakatan Harapan – PH) หรือ ‘แนวร่วมแห่งความหวัง’ มีความเข้มแข็งมากขึ้น

ก่อนหน้าการเข้ามาของมหาเธร์ ฝ่ายค้านกำลังตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย เนื่องจากผู้นำของพวกเขาคืออันวาร์ถูกตัดสินจำคุกอีกครั้ง นอกจากนั้นพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพาส (Parti Islam SeMalaysia – PAS) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวร่วมยังแยกตัวออกไปลงแข่งขันอิสระ ไม่ร่วมกับฝ่ายค้านอีกต่อไป พรรค PAS มีฐานเสียงเข้มแข็งในหมู่คนมาเลย์ที่เคร่งศาสนาและมีฐานเสียงที่ดีในรัฐกลันตัน ซึ่งฝ่ายค้านอื่นๆ ไม่มี ด้วยภาวะขาดผู้นำที่เข้มแข้งและแตกแยกเช่นนี้ หลายฝ่ายจึงมองว่าฝ่ายบีเอ็นจึงน่าจะชนะการเลือกตั้งอย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าจุดอ่อนของพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านคือ ไม่สามารถเจาะฐานเสียงชนบทและเจาะเขตเลือกตั้งที่มีคนมาเลย์อาศัยอยู่หนาแน่นได้ เพราะรัฐบาลมักจะปลุกกระแสความกลัวขึ้นมาในจิตใจของผู้เลือกตั้งคนมาเลย์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ในมาเลเซีย คนเชื้อสายมาเลย์คิดเป็น 69% ของประชากร ในขณะที่เชื้อสายจีนมี 24% และเชื้อสายอินเดีย 7%) ว่าหากหันไปเลือกฝ่ายค้าน จะทำให้คนเชื้อสายจีนขึ้นมาครอบงำประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนจีน และทำให้สิทธิพิเศษของคนเชื้อสายมาเลย์สูญสลายไป การปลุกกระแสเช่นนี้ได้ผลก่อนหน้านี้เพราะในบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคที่มีที่นั่งมากสุดคือพรรค DAP ซึ่งเป็นพรรคของคนเชื้อสายจีนเป็นหลัก

ข้าราชการเป็นอีกกลุ่มที่สำคัญ เพราะมีปริมาณมากและส่วนใหญ่ลงคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงระบอบ  บีเอ็นปกครองประเทศยาวนานถึง 61 ปี ทำให้กลไกรัฐทั้งหมดอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมือง ข้าราชการไม่แน่ใจว่าชะตาชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร หากพรรคอัมโนไม่ได้เป็นรัฐบาล หลายคนกลัวความระส่ำระสายหากอำนาจเกิดการเปลี่ยนมือ

ในบริบทเช่นนี้เองที่มหาเธร์มีความสำคัญมากๆ เพราะมหาเธร์ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนมาเลย์และคนรุ่นเก่าที่โตมาทันช่วงที่เขาปกครองประเทศ คนเหล่านี้เชื่อมั่นในประสบการณ์และความสามารถ และยังมีภาพจำถึงมหาเธร์ในฐานะผู้ที่ทำให้มาเลเซียพัฒนาอย่างรวดเร็วจนขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำในอาเซียน การที่ฝ่ายค้านมีมหาเธร์เป็นผู้นำยังทำให้รัฐบาลไม่สามารถปลุกผีความกลัวเรื่องคนจีนขึ้นมาปกครองประเทศได้อีกต่อไป

ที่สำคัญการที่มหาเธร์กลับมาเล่นการเมืองโดยท้าชนกับนาจิบซึ่งเป็นทายาททางการเมืองที่เขาเคยปลุกปั้นมากับมือ และโจมตีนาจิบอย่างรุนแรงว่าทำให้พรรคอัมโนตกต่ำ ยังมีผลทำให้พรรคอัมโนเกิดความระส่ำระสายและรอยร้าวภายใน ผู้นำอัมโนบางคนออกจากพรรคมาร่วมกับมหาเธร์ บางคนมาขึ้นเวทีของฝ่ายค้านช่วยมหาเธร์หาเสียง

พรรคการเมืองใหม่ชื่อ “เบอร์ซาตู” ที่มหาเธร์ตั้งขึ้น เน้นส่งผู้สมัครที่เป็นคนมาเลย์ (หลายคนก็คือนักการเมืองที่แยกตัวมาจากพรรคอัมโนนั่นเอง) และเน้นเจาะเขตเลือกตั้งที่คนมาเลย์อยู่แน่นหนาซึ่งเป็นฐานเสียงของอัมโน การชูมหาเธร์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ยังช่วยดึงคะแนนจากข้าราชการได้ด้วย เพราะมหาเธร์คือนายเก่าของข้าราชการจำนวนมาก ทำให้ช่วยลดความหวาดกลัวว่าการเลือกฝ่ายค้านจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ไม่ราบรื่นได้

 

3. ปรากฏการณ์ “มาเลย์สึนามิ”

 

ช่วงแคมเปญหาเสียง ผมมีโอกาสไปเก็บข้อมูลวิจัยที่มาเลเซีย ได้สัมภาษณ์คนในแวดวงการเมืองหลายกลุ่ม เกือบทุกคนล้วนบอกให้คอยจับตาสิ่งที่เรียกว่า มาเลย์สึนามิ” ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ที่คนเชื้อสายมาเลย์ซึ่งเป็นฐานเสียงที่ค่อนข้างภักดีกับฝ่ายรัฐบาลจะหันมาลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายค้านอย่างถล่มทลาย

นักการเมืองฝ่ายค้านที่ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่า ฝ่ายตนจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะคนมาเลย์จะเปลี่ยนข้าง อันเกี่ยวโยงกับปัจจัยข้อที่หนึ่งและสองที่กล่าวไปข้างต้น คือ หนึ่ง คนมาเลย์เบื่อหน่ายและผิดหวังรัฐบาลในหลายเรื่องทั้งในเรื่องคอร์รัปชัน การเมืองแบบอุปถัมภ์พวกพ้อง และค่าครองชีพที่พุ่งสูง และสอง การชูมหาเธร์เป็นผู้นำจะช่วยดึงคะแนนจากคนมาเลย์ได้

เหตุที่คะแนนเสียงของคนเชื้อสายมาเลย์สำคัญ ก็เพราะว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ฝ่ายค้านทำได้ดีมากในเขตเมืองและในเขตที่มีคนจีนอยู่หนาแน่น คนจีนโหวตให้ฝ่ายค้านถึง 80-90% พูดง่ายๆ ว่าฝ่ายค้านครองใจคนจีนและชาวเมืองแบบเกือบเบ็ดเสร็จจนไม่สามารถขยายที่นั่งในกลุ่มคนดังกล่าวไปได้มากกว่านั้นอีกแล้ว ฉะนั้น ถ้าไม่สามารถดึงให้คนมาเลย์มาโหวตให้ฝ่ายค้านได้ ฝ่ายค้านก็ไม่มีทางพลิกชนะได้ อย่างมากก็ได้ที่นั่งเท่าเดิม

ตอนนั้นผมฟังหูไว้หู เพราะคิดว่าฝ่ายค้านย่อมวิเคราะห์ไปในทางที่ปลุกปลอบใจให้ตัวเองฮึกเหิมและย่อมต้องมองโลกในแง่ดีไว้ก่อน ฝ่ายรัฐบาลเองก็ปรามาสเรื่องนี้ มั่นใจว่าไม่มีทางที่จะเกิดสึนามิของคนมาเลย์อย่างเด็ดขาด แต่ผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่า คลื่นสึนามิของคนมาเลย์รุนแรงจริงๆ จนกระทั่งทำให้พรรคแนวร่วมบีเอ็นของนาจิบต้องหลุดออกจากอำนาจไปอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

การใช้สิทธิของคนมาเลเซียในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงความไม่พอใจที่มีต่อนักการเมืองและผู้นำของพรรคแนวร่วมบีเอ็น แต่คือการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อระบบการเมืองและโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บีเอ็นสร้างขึ้นและคงระบบนี้ไว้เป็นเวลานาน โดยที่ไม่มีการปฏิรูปให้สอดคล้องกับกระแสความต้องการของประชาชนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

คงเร็วเกินไปที่จะทำนายได้ว่ามาเลเซียจะก้าวต่อไปอย่างไร แต่แน่นอนว่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้ถูกเขียนขึ้นแล้วโดยประชาชนทั้งประเทศ ผ่านการใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้ง คนมาเลเซียส่งเสียงอันก้องกังวานและชัดเจนว่าพวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง…

 

เสน่ห์ของการเลือกตั้งก็อยู่ตรงนี้ มันคือการคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินอนาคตของประเทศ เลือกอนาคตที่พวกเขาต้องการ

 

เชิงอรรถ

ข้อมูลส่วนหนึ่งในบทความนี้มาจากงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน : ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์” สนันสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save