fbpx
มอง ‘Fake News’ ช่วงเลือกตั้งผ่านแว่นตานักเศรษฐศาสตร์

มอง ‘Fake News’ ช่วงเลือกตั้งผ่านแว่นตานักเศรษฐศาสตร์

อิสร์กุล อุณหเกตุ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เวลาผ่านไปเกือบ 5 ปีนับจากการรัฐประหารในปี 2557 ในที่สุดประชาชนชาวไทยก็ได้เริ่มต้นนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ฤดูหาเสียง สิ่งที่ตามมาคือข้อมูลข่าวสารที่ล้นทะลักโลกโซเชียล รวมถึง ‘ข่าวปลอม’ (fake news) จำนวนมหาศาล ตัวอย่างล่าสุดคือ เว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งที่เผยแพร่ข่าวรองนายกรัฐมนตรีจิบ ‘กาแฟราคาแก้วละ 12,000 บาท’ ซึ่งมีผู้หลงเชื่อและแชร์ต่อหลายราย รวมถึงรองหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และทำให้ คสช. แจ้งความดำเนินคดีในเวลาต่อมา

 

‘ข่าวปลอม’ คืออะไร?

 

‘ข่าวปลอม’ (fake news) เป็น ‘คำแห่งปี’ ประจำปี ค.ศ.2017 ของทั้ง American Dialect Society และพจนานุกรม Collins โดย American Dialect Society นิยาม ‘ข่าวปลอม’ ว่า “ข้อมูลผิดๆ ที่ถูกนำเสนอว่าเป็นข่าวจริง” หรือ “ข่าวที่ได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง” ขณะที่พจนานุกรม Collins ให้ความหมายว่า “ข้อมูลเท็จ ซึ่งโดยมากแล้วเน้นดราม่า ที่เผยแพร่ในรูปแบบของการรายงานข่าว”

โดยทั่วไป ข่าวปลอมแตกต่างจากข่าวทั่วไปตรงที่มิได้มีบรรณาธิการข่าวเป็นผู้กลั่นกรอง ข่าวปลอมจึงไม่ถูกต้องและไม่น่าเชื่ออย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ข่าวปลอมบางข่าวเป็นบทความที่มีลักษณะเสียดสี หรือประชดประชัน แต่ถูกเข้าใจว่าเป็นความจริงเมื่ออยู่นอกบริบท หรือผู้อ่านสนใจเฉพาะพาดหัวเป็นหลัก

คำว่า ‘ข่าวปลอม’ กลายเป็นคำแห่งปีภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี ค.ศ.2016 งานศึกษาบางชิ้นพบว่า อเมริกันชนเกิน 60% บริโภคข่าวทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งข่าวปลอมมักถูกรีทวีตทางทวิตเตอร์และแชร์ทางเฟซบุ๊กมากกว่าข่าวจริง โดยข่าวปลอมส่วนใหญ่มักเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน มากกว่าฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต นักข่าวบางสำนักจึงเชื่อว่า ข่าวปลอมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา

 

ทำไมจึงมีข่าวปลอม?

 

จากข้อมูลที่รวบรวมโดย Allcott และ Gentzkow (2017) พบว่า เฉพาะช่วงสามเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งดังกล่าว มีข่าวปลอมซึ่งเข้าข้างคลินตันจำนวน 41 ข่าว และเข้าข้างทรัมป์จำนวน 115 ข่าว ซึ่งถูกแชร์บนเฟซบุ๊ก 7.6 ล้านครั้ง และ 30.3 ล้านครั้งตามลำดับ

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมจึงมีข่าวปลอมจำนวนมากเช่นนี้? คำตอบอาจจะฟังดูกำปั้นทุบดิน เพราะ Allcott และ Gentzkow เสนอว่า ข่าวปลอมเกิดขึ้นเพราะมีตลาดข่าวปลอม

ตลาดข่าวปลอมประกอบด้วยอุปทานและอุปสงค์ต่อข่าวปลอม โดยในฝั่งอุปสงค์นั้น ผู้บริโภคได้รับอรรถประโยชน์จากการบริโภคข่าวสองทาง  ในทางแรกผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการรู้ ‘ข้อมูลที่เป็นจริง’ ของผู้สมัครแต่ละคน เพื่อที่ตนจะสามารถเลือกผู้สมัครได้อย่างถูกต้อง แต่ในทางที่สองนั้น ผู้บริโภคอาจไม่ต้องการอ่านข่าวที่เป็นความจริง เท่ากับข่าวที่สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมของตน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงอาจเลือกอ่านข่าวปลอมมากกว่า หากข่าวนั้นๆ ยืนยันข้อมูลเดิมที่ตนมี

ขณะที่ในฝั่งอุปทานนั้น ผู้ผลิตข่าวมีแรงจูงใจสองด้าน ด้านแรกคือเหตุผลเรื่องเงิน เพราะสื่อย่อมสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ ขณะที่ด้านที่สองเป็นเหตุผลด้านอุดมการณ์ เนื่องจากสื่อจำนวนไม่น้อยผลิตข่าวปลอมเพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่ผู้สมัครที่ตนชื่นชอบ

โดยปกติแล้ว สื่อจะรายงานข่าวตามข้อมูลที่ได้รับมา ซึ่งข้อมูลที่ได้รับอาจมีความแม่นยำแตกต่างกันไป และสื่ออาจรายงานอย่างตรงไปตรงมา หรือรายงานอย่างมีอคติก็ได้ หากผู้บริโภควัดคุณภาพของสื่อจากความถูกต้องของข้อมูล สื่อจะมีแรงจูงใจในการสร้างสมชื่อเสียงผ่านการรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคไม่เลือกอ่านข่าวที่เป็นจริง แต่นิยมข่าวที่ตรงกับสิ่งที่อยากอ่าน สื่อก็จะมีแนวโน้มบิดเบือนข่าวให้เป็นไปในทางนั้น และโซเชียลมีเดียก็ช่วยทำให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดได้ง่ายขึ้น

 

ข่าวปลอมในโซเชียลมีเดีย

 

ข่าวปลอมมิได้เพิ่งเกิดขึ้นในโลกยุคอินเทอร์เน็ต แต่เนื่องจากต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดข่าวในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลมีเดียนั้นต่ำกว่าสื่อดั้งเดิมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ผู้ผลิตข่าวปลอมจึงสามารถเข้า-ออกจากตลาดได้ง่าย เมื่อการเข้า-ออกจากตลาดง่าย ผู้ผลิตข่าวรายใหม่จำนวนไม่น้อยจึงเลือกทำกำไรระยะสั้น ผ่านการสร้างเนื้อหาที่ดึงดูด ‘คลิก’ โดยปฏิเสธบรรทัดฐานของการทำข่าวอย่างตรงไปตรงมา และไม่ใส่ใจการสั่งสมชื่อเสียงด้านคุณภาพในระยะยาวแต่อย่างใด

เมื่อข่าวปลอมมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคสื่อย่อมประสบปัญหาในการแยกแยะสื่อที่มีคุณภาพออกจากสื่อที่ผลิตข่าวปลอม (โดยเฉพาะสื่อที่รายงานทั้งข่าวจริงและข่าวปลอมปะปนกัน) และตั้งข้อสงสัยกับเนื้อหาข่าวที่รายงานอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ดังนั้น สื่อที่วางตัวเป็นกลางจึงมีแรงจูงใจที่จะนำเสนอข่าวอย่างเที่ยงตรงน้อยลง ซึ่งทำให้ความเชื่อถือของสังคมที่มีต่อสื่อนั้นตกต่ำลงอย่างมาก และส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวม

นอกจากนี้ ข่าวปลอมยังแพร่กระจายได้ดีในกลุ่มคนที่มีความคิดไปในทางเดียวกัน  งานศึกษาโดยนักวิจัยของเฟซบุ๊กพบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กมี ‘เพื่อน’ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกันข้ามเฉลี่ยประมาณ 18-20% ของเพื่อนทั้งหมดเท่านั้น เมื่อมีเพื่อนที่มีจุดยืนต่างกันจำนวนไม่มากนัก  ผู้ใช้เฟซบุ๊กจึงมักได้อ่านและแชร์ข่าวที่ตรงกับอุดมการณ์ของตนเองเป็นหลัก และไม่ค่อยได้รับข้อมูลที่เห็นแย้งเท่าที่ควร

การรับข่าวสารจากฝั่งที่มีความเห็นต่างเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล จึงถูกจำกัดด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ (echo chamber) ศาสตราจารย์ Cass R. Sunstein เห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ความแตกแยก การแบ่งขั้ว และพวกสุดโต่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้คนจะเชื่อสิ่งที่เป็นเท็จ และล้มเหลวในการเรียนรู้สิ่งที่เป็นจริง ซึ่งนับเป็นเรื่องสยองขวัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 

ข่าวปลอมในไทยกับการเลือกตั้ง 2562

 

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครต่อปัญหาข่าวปลอม พบว่าประชาชนราว 85% เคยเห็นข่าวปลอม โดย 73% เห็นข่าวปลอมทางเฟซบุ๊ก ซึ่งประมาณ 28% เป็นข่าวปลอมทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ข่าวปลอมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมานั้นมี ‘ข่าวปลอม’ จำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งหลายต่อหลายครั้งกลายเป็นความเข้าใจผิดขนานใหญ่ที่แก้ไม่หายจนถึงปัจจุบัน

ปัญหาที่ทำให้ข่าวปลอมทางการเมืองแตกต่างไปจากข่าวปลอมประเภทอื่นๆ (เช่น โซดามะนาวช่วยรักษาโรคมะเร็ง) คือ เราไม่อาจตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อข่าวปลอมนั้นเป็นคุณแก่ฝั่งผู้มีอำนาจ

ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หากเราเห็นว่าข่าวปลอมเป็นความล้มเหลวของตลาด การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น การยืนยันข้อเท็จจริงโดยบุคคลที่สาม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่คำถามที่สำคัญกว่า และเป็นคำถามที่งานศึกษาของ Allcott และ Gentzkow ทิ้งท้ายไว้ก็คือ ใครเล่าจะเป็นผู้จัดการความจริง?

 


 

อ่านเพิ่มเติม

Allcott, Hunt, and Matthew Gentzkow. “Social Media and Fake News in the 2016 Election.” Journal of Economic Perspectives. 31.2 (2017): 211-36.

Bakshy, Eytan, Solomon Messing, and Lada A. Adamic. “Exposure to Ideologically Diverse News and Opinion on Facebook.” Science. 348.6239 (2015): 1130-1132.

Lazer, David MJ, et al. “The Science of Fake News.” Science. 359.6380 (2018): 1094-1096.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save