คุณอาจเคยกินเค้กมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเค้กวันเกิด เค้กงานแต่ง เค้กปีใหม่ วันครบรอบวาระต่างๆ และเค้กอีกสารพัดก้อนที่มาพร้อมการเฉลิมฉลอง แล้วเคยลอง “เค้กวันเลือกตั้ง” หรือยัง?
ในไทยคงจะมีน้อยคนนักที่เคยได้ชิมหรือแม้กระทั้งแค่เคยได้ยินเกี่ยวกับเค้กวันเลือกตั้ง ไม่ใช่เพราะเราไม่ได้เลือกตั้งกันนานจนพานนึกอะไรก็ตามเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ค่อยจะออก แต่เค้กวันเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองของอเมริกัน ซึ่งได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว
ในวัฒนธรรมสมัยใหม่ เค้กคืออาหารที่เป็นตัวแทนของการเฉลิมฉลอง และเป็นเครื่องแสดงความยินดีในโอกาสพิเศษต่างๆ เค้กไม่ว่าก้อนใหญ่หรือเล็กต่างทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนที่มารวมตัวกันเข้าด้วยกัน ด้วยรสชาติที่หอมหวาน สีสันหน้าตาที่สวยงามดึงดูดใจ และวิธีการกินที่ต้องแชร์กัน
แม้ว่าวัฒนธรรมการกินเค้กเพื่อเฉลิมฉลองนี้จะเป็นวัฒนธรรมร่วมที่พบเห็นได้ในหลายสังคมทั่วโลก แต่คุณแอนน์ เบิร์น (Anne Byrn) อดีตบรรณาธิการวารสารเกี่ยวกับอาหาร และผู้เขียนหนังสือ American Cake กล่าวไว้ว่า เค้กกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอเมริกันไปแล้ว และเป็นหน้าต่างที่ทำให้เข้าใจสังคมอเมริกันได้
บ่อยครั้งที่เค้กก้อนใหญ่ถูกวางไว้ในพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมอเมริกัน แม้กระทั่งพื้นที่วัฒนธรรมการเมืองอย่างเขตเลือกตั้ง
เรื่องเล่าของเค้กวันเลือกตั้ง
ย้อนกลับไปในยุคอาณานิคม ภายใต้การปกครองของจักรภพอังกฤษ ที่นิวอิงค์แลนด์ ผู้ชายน้อยใหญ่ วัยตั้งแต่ 16-60 ปี ที่ร่างกายยังแข็งแรงสมบูรณ์ มีหน้าที่ต้องถูกเกณฑ์ไปฝึกทหารเป็นกำลังพล หรือที่เรียกว่า “Mustering” เมื่อถึงฤดูฝึก กำลังพลเหล่านี้จะเดินทางไปรวมตัวกันในเมืองต่างๆ เพื่อฝึก
การฝึกทหารในยุคนั้นไม่เหมือนอย่างที่คุณจินตนาการไว้แน่นอน เพราะมันเป็นเหมือนงานเทศกาลใหญ่ที่ผู้คนมาพบปะ พูดคุย ดื่มกิน เล่นกัน ข้ามวันข้ามคืนกันอย่างสนุกสนาน ชาวเมืองเจ้าภาพจะเตรียมการต้อนรับกำลังพลเป็นอย่างดีด้วยที่พักและอาหารพร้อมเครื่องดื่มมากมาย และแน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับงานเทศกาลแบบนี้ก็คือ “เค้ก”
เค้กในวันฝึกทหารนี้ชื่อว่า Muster Cake เป็นเค้กก้อนโต อบตามแบบเค้กของอังกฤษประเทศเจ้าอาณานิคมที่เรียกว่า Great Cake เป็นเค้กเนื้อแน่น หนัก อัดแน่นด้วยผลไม้และเครื่องเทศต่างๆ และออกจะคล้ายขนมปังเสียมากกว่าเค้กเป็นชั้นๆ แบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
เค้กแบบเดียวกันนี้ถูกอบขึ้นอีกครั้งในชื่อ เค้กวันเลือกตั้ง (Election Cake) ช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าในบางเขตปกครอง เช่น คอนเนตทิคัต และโรดไอแลนด์ ที่ผู้ว่าไม่ถูกแต่งตั้งมาจากอังกฤษโดยตรง ยิ่งกว่าวันเกณฑ์ทหาร วันเลือกตั้งคือเทศกาลงานฉลองขนาดใหญ่ ที่มีทั้งขบวนพาเรด ดนตรี งานเต้นรำ เต็มไปด้วยอาหารเครื่องดื่มให้ได้ปาร์ตี้กันอย่างเต็มที่ ถ้าดูภาพวาดเกี่ยวกับการเลือกตั้งในยุคนั้น เราจะเห็นใบหน้าข้องผู้คนที่แดงก่ำด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์อยู่ถัดไปจากเขตเลือกตั้งไปไม่ไกล เค้กวันเลือกตั้ง ทำหน้าที่ต้อนรับผู้คนที่เดินทางมาโหวตและเฝ้ารอการนับคะแนนซึ่งบางครั้งใช้เวลานานข้ามคืน

ที่มาภาพ: The Colonial Williamsburg Foundation
ในยุคนั้นวันเลือกตั้งเป็นวันที่ทุกคนรอคอยเสียขนาดที่ว่าถูกยกให้มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวันขอบคุณพระเจ้าเลยทีเดียว นักประวัติศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะชาวโปรเตสแตนต์ผู้มีอิทธิพลมากในยุคนั้นปฏิเสธการเฉลิมฉลองวันคริสมาสต์และอีสเตอร์ ทำให้ไม่ค่อยมีวาระที่ผู้คนและชุมชนจะมารวมตัวกันมากๆ เท่าไหร่ พอมีวันเลือกตั้งขึ้นมาที เลยเป็นโอกาสที่ผู้คนจากทั่วสารทิศและญาติมิตรจะได้มาพบปะและเฉลิมฉลองร่วมกัน

ที่มาภาพ: The Colonial Williamsburg Foundation
ภายหลังสงครามปฏิวัติอเมริกาและการประกาศอิสรภาพจากจักรภพอังกฤษ ในปี 1775 การเกณฑ์ทหารได้ถูกยกเลิกไป ผู้คนต่างตื่นเต้นและภาคภูมิใจกับชัยชนะที่มาพร้อมกับของขวัญชิ้นใหญ่ที่ชื่อว่าเสรีภาพและความเท่าเทียม เค้กกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองนี้อีกครั้งในชื่อ Independence Cake เค้กก้อนใหญ่ ฉาบด้วยอิสรภาพและความหวังอย่างหอมหวาน
และเมื่อถึงวันเลือกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ “เค้กวันเลือกตั้ง” ก็ได้กลับมาก็ทำหน้าที่ของมันอีกครั้งในการต้อนรับผู้คนที่เดินทางมาเพื่อลงคะแนนและรวมตัวกันในกิจกรรมทางการเมือง ที่เพิ่มเติมก็คือมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ที่มีระบบการปกครองใหม่โดยประชาชนเพื่อประชาชนซึ่งโดดเด่นและก้าวหน้ากว่าใคร ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จะแค่มาเลือกตั้งเฉยๆ ได้อย่างไร มันต้องฉลอง!
ทุกวันนี้เค้กวันเลือกตั้งเป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีต ที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้จัก วัฒนธรรมนี้ได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์อเมริกันราวศตวรรษที่ 19 พร้อมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่การพัฒนาเมืองและการคมนาคมขนส่ง ที่ทำให้การเลือกตั้งถูกกระจายไปยังเมืองต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทางมารวมกันยังที่ที่เดียวอีกต่อไป และที่สำคัญคือการพัฒนาทางการเมืองการปกครองที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นระบบและเป็นทางการมากขึ้น
ประชาธิปไตยที่กินได้?
การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องของทุกคน ในยุคแรกเริ่มของการเลือกตั้งในอเมริกาภายหลังการประกาศอิสรภาพ ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งในตอนนั้นมีแค่ชายผิวขาวที่มีทรัพย์สินถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ชายผิวขาวที่ไม่มีทรัพย์สิน คนผิวดำ ทาส คนพื้นเมือง และแน่นอนว่าผู้หญิง ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในกระบวนการทางการเมืองใหม่นี้
สำหรับผู้หญิงยุคนั้น สิ่งที่ใกล้เคียงการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุดคือการเป็นฝ่ายสนับสนุนอยู่ห่างๆ ด้วยการเตรียมงานฉลองและการอบเค้กวันเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดเค้กของพวกเธอก็เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย…ที่กินได้!
ถ้ากางตำราทำอาหาร American Cookery ของคุณอมิเลีย ซิมมอน (Amelia Simmon) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตำราอาหารเล่มแรกของอเมริกาออกมาดู[1] แล้วลองอบตาม เราจะได้เค้กก้อนใหญ่ยักษ์ ที่อัดเน้นด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ในปริมาณมหาศาล เริ่มจากแป้ง 15 กิโลกรัม เนย 4.5 กิโลกรัม น้ำตาล 6 กิโลกรัม ลูกเกด 5.5 กิโลกรัม ไข่ 3 โหล ไวน์ 1 ไพน์ บรันดี 1 ควอร์ท นม และเครื่องเทศอีกหลายชนิด
นักประวัติศาสตร์อาหารจึงเชื่อว่าผู้ที่จะสามารถอบเค้กเลือกตั้งแบบนี้ได้คงจะมีแต่กลุ่มผู้หญิงชนชั้นสูงผิวขาวเท่านั้น เพราะในอดีตน้ำตาลถือเป็นของหรูหรามีราคาแพง ของหวานและเค้กซึ่งต้องใช้อุปกรณ์และทักษะในการทำที่ซับซ้อน จึงทำและบริโภคกันในหมู่คนรวยเท่านั้น และในสมัยนั้นบ้านเรือนทั่วไปไม่มีเตาอบภายในบ้านยกเว้นบ้านคนรวยชนชั้นสูง แต่ในชุมชนจะมีเตาอบขนาดใหญ่ไว้ให้ใช้ร่วมกัน แต่กระนั้นพวกเธอคงไม่สามารถทำเค้กเลือกตั้งได้โดยลำพัง
ถ้าดูจากสูตรแล้ว จะอบเค้กเลือกตั้งได้มันช่างยุ่งยากต้องใช้เวลาและแรงงานไม่น้อย ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดแต่ คุณไมอา เซอร์ดาม (Maia Surdam) นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่า การอบเค้กวันเลือกตั้งน่าจะไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลหรือภายในครัวเรือนแต่เป็นเรื่องของชุมชน นอกจากผู้หญิงชนชั้นสูงผิวขาวแล้ว น่าจะมีแรงงานทาสหญิงผิวสีหรือหญิงรับใช้มีส่วนร่วมในการทำเค้กพิเศษที่มีความหมายในทางการเมืองนี้ไม่มากก็น้อย[2]
มองผ่านเค้กวันเลือกตั้ง วันเลือกตั้งในยุคนั้นจึงไม่ใช่แค่วันหนึ่งในกระบวนการทางการเมือง แต่มันคือการเชื่อมโยงผู้คนที่หลากหลายเข้าด้วยกัน
ด้วยสปิริตแห่งประชาธิปไตยและความเป็นชาติเท่าที่แต่ละคนจะทำได้ แม้หนทางแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างจะอยู่อีกยาวไกลและยากลำบากก็ตาม
เมื่อเค้กวันเลือกตั้งกลับมา ความหอมหวานที่อาจจะฝืดคอ
ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2016 ที่ผ่านมา กลุ่มนักอบขนมและนักประวัติศาสตร์ นำโดยคุณซูซานนาห์ เกบฮาร์ต (Susannah Gebhart) และคุณไมอา เซอร์ดาม (Maia Surdam) รันแคมเปญ #MakingAmericanCakeAgain ขึ้นมาล้อกับแคมเปญ Make American Great Again ของโดนัล ทรัมป์ เชื้อเชิญให้นักอบขนมทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นทั่วอเมริกาลุกขึ้นมาจุดเตาอบเค้กวันเลือกตั้งแบบดั้งเดิมอีกครั้ง ในขนาดที่เล็กลงและปรับสูตรให้เหมาะกับการอบสมัยใหม่
พวกเธอให้สัมภาษณ์ผ่าน NPR ว่าต้องการเชื่อมโยงการเมืองเข้ากับสิ่งพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ซึ่งก็คืออาหารอีกครั้ง เป็นการลุกขึ้นมาเฉลิมฉลองประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ที่ผ่านการต่อสู้มายาวนานเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมของผู้คนที่หลากหลาย ทั้งเพศ ศาสนา และเชื้อชาติ ท่ามกลางสังคมที่มีความแตกแยกมากขึ้นทุกวัน และเป็นการระลึกถึงบทบาทของผู้หญิงในวัฒนธรรมการเมืองในอดีตและการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่เท่าเทียมอย่างยากลำบากตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ที่มาภาพ: NPR
แคมเปญนี้ได้รับการตอบรับไม่น้อยจากนักอบขนมทั่วประเทศ แต่คุณซูซานนาห์และคุณไมอา หารู้ไม่ว่าเค้กของพวกเธอกลายเป็นลางบอกเหตุว่าสังคมอเมริกันภายหลังการเลือกตั้งอาจจะกำลังเดินถอยหลังกลับไปคล้ายยุคหลังการปฏิวัติใหม่ๆ ที่ผู้หญิง คนต่างชาติ ต่างศาสนา ถูกละเลย ดูหมิ่น และจำกัดสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยลง
ถึงกระนั้นในประเทศที่มีประชาธิปไตยไว้ให้เฉลิมฉลอง ต่อให้เค้กวันเลือกตั้งที่อบขึ้นมาใหม่จะหวานปนขมแค่ไหนมันก็ยังพอจะกินได้ ต่างกับในประเทศที่ท่านผู้นำไม่สู้จะโปรดปรานเค้กเสียเท่าไหร่ อย่าว่าแต่เค้กวันเลือกตั้งเลย เค้กธรรมดาๆ ท่านยังว่าฝืดคอกลืนไม่ลง สงสัยมันจะไทยไม่พอ
[1] สูตรเค้กวันเลือกตั้งปรากฎในการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 1796
[2] บทความว่าด้วยแรงงานทาสหญิงผิวสีหรือหญิงรับใช้มีส่วนร่วมในการทำเค้กวันเลือกตั้ง Election Cake: A Forgotten Democratic Tradition ของ Maia Surdam จาก THE AMERICAN HISTORICAL ASSOCIATION, November 1, 2016
อ่านเพิ่มเติม
-บทความ Election Day Cake History and Recipe จาก What’s Cooking America
-บทความ Election Cake ของ Alice Ross จาก The Journal of Antiques, October 2003
-บทความ Voting in Early America ของ Ed Crews จาก The Colonial Williamsburg Foundation, 2007
-ข่าว ‘บิ๊กตู่’ ไม่ปลื้ม บราวนี่ !! ‘บิ๊กต๊อก’ โชว์ฟิต จาก คมชัดลึก วันที่ 23 มกราคม 2559