fbpx
101 Round table : รวมมิตรวงสนทนา "เลือกตั้งที่รัก"

101 Round table : รวมมิตรวงสนทนา “เลือกตั้งที่รัก”

หลังจากห่างหายไป 7 ปี ในที่สุดการเลือกตั้งอันเป็นที่รักก็ใกล้เข้ามาถึง

ช่วงนี้เราคงสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่คึกคักขึ้นเรื่อยๆ ผ่านดีเบตของตัวแทนพรรคการเมือง การลงพื้นที่หาเสียงอย่างเอาจริงเอาจัง กระแสความคิดเห็นที่แพร่สะพัดไปทั่วโซเชียลมีเดีย แม้แต่ meme การเมืองที่กลายเป็นช่องทางให้คนคิดถึงการเลือกตั้งอย่างเราๆ ได้ปลดปล่อยความกลัดมันออกไปบ้าง

แต่หนึ่งในกลุ่มคนที่เราอาจยังไม่ได้ยินเสียงของพวกเขาเท่าไหร่นัก คือคนหนุ่มสาวที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของประเทศ ตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่น New Voter ไปจนถึงคนวัยสามสิบต้นๆ ที่เคยผ่านการเลือกตั้งใหญ่แค่เพียงครั้ง​เดียว​ในปี 2554

ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งที่เรารอคอยนี้ 101 จึงขอจ่อไมค์ไปที่คนรุ่นใหม่ในหลายแวดวง จับมาล้อมวง แล้วถกกันอย่างเข้มข้น ว่าด้วยการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง อนาคตประเทศไทยที่พวกเขาอยากเห็น และต้องการมีส่วนร่วม

  • เด็กรุ่นใหม่ ผู้มีสิทธิ์​เลือกตั้ง​เป็นครั้งแรก
  • นักการเมืองรุ่นใหม่ ผู้ลงสนามการเมืองครั้งแรกในชีวิต
  • นักธุรกิจรุ่นใหม่ เจ้าของ Start up เจ๋งๆ
  • ศิลปินรุ่นใหม่จากหลากสาขา

รวมกับอีกหนึ่งวงสนทนา แกนนำพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีดีเบตหน้าจอกับเขา

และการรับฟังเสียงจาก ‘คนไร้บ้าน’ ทั่วกรุงเทพมหานคร ที่มี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่าเทียมกับเรา

ทั้งหมดนี้คือวงสนทนาที่ 101 อยากให้คุณได้ฟัง อ่าน คิด และถกเถียงไปกับพวกเขา

 

จับเข่าคุย ‘New voter’ ท่ามกลางมรสุมการเมืองของ “ลุง ป้า น้า อา”

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ธิติ มีแต้ม ชวน ‘New Voter’ 4 คน มาสังสรรค์เสวนาว่าพวกเขาคิดอ่านอะไรอยู่ เมื่อวันเลือกตั้งกำลังร่นเข้ามา บรรยากาศในการหาเสียง รวมไปถึงเสียงเมาท์มอยรอบตัวพวกเขาเป็นอย่างไร

วัยรุ่นทั้ง 4 คนประกอบด้วย ‘แบม’ ธัญชนก คชพัชรินทร์ นักเรียน ม.6 กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, ‘ซู’ ซูรัยยา วาหะ นักศึกษาและนักกิจกรรมสันติภาพจากยะลา, ‘พอลลีน’ เทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ บัณฑิตนิเทศศาสตร์หมาดใหม่ และ ‘อาร์ต’ จิรเมธ คิญชกวัฒน์ นักศึกษาปี 1 ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์และระบบประสาท ที่เกาหลีใต้

“ถ้าเผด็จการมัน offer ผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเดียว มันอยู่ไม่ได้ ผมว่าบางทีการที่จะหนีออกจากสภาพแบบนี้ก็เป็นการลงทุนที่น้อยกว่าการอยู่แบบนี้ต่อไป”

“เราเห็นภาพของพม่า ช่วงที่ทหารรัฐประหาร แล้วก็อองซาน ซูจีโดนจับไปกักบริเวณ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในไทยจริงหรือเปล่า เรามองว่าประชาชนคงทนไม่ไหว เขาคงไม่ทนอยู่แบบนี้ตลอดไป”

“กรณี ‘เหตุการณ์ 8 กุมภาฯ’ ทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่มีวันนั้น คนรุ่นเราคงไม่ตื่นตัวกันขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมาคนอาจจะยังงงๆ แต่พอมีวันนั้นวันเดียว มันเหมือนจุดประกายเลย”

พวกเขาเป็น New Voter ท่ามกลางกติกาใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ที่ผู้ร่างส่วนใหญ่มีอายุรุ่นราวคราวลุงคราวป้า ยังไม่นับว่าเป็น New Voter ท่ามกลางฝุ่นตลบของการเมืองไทย ที่ไม่มีใครรู้ว่าหลังเลือกตั้งแล้วการเมืองไทยจะออกหัวหรือก้อย สุดจะคาดเดาว่าประเทศจะราบรื่นหรือราบคาบ

แต่เมื่อมีสิทธิเลือก อะไรคือภาพที่พวกเขาอยากเห็น เมื่อ กกต.เริ่มนับคะแนนในหีบเลือกตั้ง สังคมแบบไหนที่พวกเขาอยากให้เป็นและต้องใช้ชีวิตร่วมไปอีกนาน แม้ว่าผู้เขียนกติกาอาจอยู่ไม่ถึงวันนั้น…

 

ฝ่าขัดแย้ง มองความหวังใน ‘เลือกตั้งครั้งแรก’ ของนักการเมืองหน้าใหม่

 

โดย วจนา วรรลยางกูร และ สมคิด พุทธศรี 

วจนา วรรลยางกูร และสมคิด พุทธศรี ชวนนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งครั้งแรกจาก 4 พรรค มาร่วมพูดคุยกันถึงความหวังทางการเมือง และโอกาสที่พวกเขาเห็นในการเลือกตั้งครั้งนี้

“พลังประชารัฐมองโดยเอาโจทย์ของปัญหาเป็นตัวตั้ง สิ่งที่เราจะรับไม่ได้เลยคือไม่แก้ปัญหา ถ้าถึงจุดหนึ่งที่บอกว่าปัญหานี้ไม่แก้ เพราะมีอะไรบางอย่าง เราอาจพิจารณาว่าอย่างนี้เรารับไม่ได้ ไม่ได้มีเรื่องอุดมการณ์อะไรเป็นตัวตั้งจนคิดว่าจะรับมันไม่ได้ เพราะพลังประชารัฐมองโจทย์แค่ว่า ทำยังไงจะขับเคลื่อน ทำยังไงที่จะเสนอตัวแล้วประชาชนยอมรับเรื่องวิธีคิดของเรามากกว่า” – ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง พรรคพลังประชารัฐ

“ความขัดแย้งหรือการเห็นต่างไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ประเทศจะพัฒนาได้ คนเราต้องคิดไม่เหมือนกัน แล้วมาถกเถียงกันในระบอบประชาธิปไตย แต่ปัญหาของประเทศไทยที่เกิดความขัดแย้งก็คือ ทุกครั้งที่ประชาธิปไตยกำลังก้าวไปเรื่อยๆ ก็เกิดการรัฐประหาร การบอกว่าบ้านเมืองไม่สงบแล้วส่งอำนาจที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเข้ามา ตรงนี้เป็นปัญหาที่สำคัญมากกว่า” – นพมาศ การุญ พรรคอนาคตใหม่

“หากเรายังยึดมั่นกับคำว่าเสรีประชาธิปไตย และยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย คุณต้องให้ที่มาของทุกอย่างมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้ ไม่ใช่รัฐประหารอย่างนี้ เพราะทหารไม่มีอำนาจในการมาถ่วงดุลคนที่มาจากการเลือกตั้ง ระบบ 3 เสาหลักชัดเจนคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่ใช่กองทัพมาถ่วงดุล เพราะคุณไม่ใช่คนที่มาจากประชาชน” – ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส พรรคเพื่อไทย

“การเมืองไทยปัจจุบันที่ค่อนข้างแบ่งขั้วอย่างชัดเจน เป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนโยบาย ถ้านโยบายไหนดีก็อยากให้ร่วมกันผลักดัน ถ้านโยบายไหนไม่ดีก็มีสิทธิแย้งหรือค้านได้ อย่าคำนึงว่าเราอยู่ฝ่ายไหน เพราะผลประโยชน์จะไม่ได้ตกแก่ประชาชน อย่าสร้างวาทกรรมปลุกปั่นยุยงกลุ่มคนให้แตกแยก แต่ควรเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน ว่านโยบายของพรรคไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร” – นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ พรรคประชาธิปัตย์

 

‘สตาร์ทอัพ’ กับการเมืองก่อนและหลังเลือกตั้ง

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ชวน จักรพงษ์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้ง Moonshot บริษัททำ Content Agency และ Digital PR, อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ก่อตั้ง Techsauce Thailand ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารสตาร์ทอัพไทย และ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ผู้ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน Treasurist และเพจ Thailand Investment Forum ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสตาร์ทอัพและธุรกิจดิจิทัล มาพูดคุยในเรื่องธุรกิจยุคใหม่ กับการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง

“ตอนนี้คำว่า สตาร์ทอัพ กลายเป็น buzzword ที่ทุกพรรคจะต้องพูดว่าฉันจะทำ เพราะยังไงก็ได้ฐานเสียงคนรุ่นใหม่แน่นอน แต่ว่าเข้าใจไม่เข้าใจอีกเรื่อง”

“สำหรับพรรคการเมือง เรื่องสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่อง top 3 หรือ top 5 แน่นอน คำว่าปากท้องชัดเจนกว่า ปัญหาของประเทศไทยในภาพรวม ไม่ใช่เรื่องว่าสตาร์ทอัพจะโตมั้ย แต่คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้คนลืมตาอ้าปากได้”

“ผมเคยคุยกับรุ่นพี่ที่เป็นผู้บริหาร ว่ามีมุมมองกับสตาร์ทอัพยังไง แกว่า ออกไปแค่สมุทรปราการ คำว่าสตาร์ทอัพไม่มีใครพูดแล้ว มันอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ไม่กี่แห่ง ซึ่งก็จริง เหมือนเราโตในบับเบิ้ลของเรา เราระดมทุนได้ มีความเท่ แต่ความจริงในระดับประเทศ โดยเฉพาะในชนบท สตาร์ทอัพคืออะไร เขาไม่เข้าใจ”

“โลกมันอาจหมุนเร็วเกินกว่าที่จะมียุทธศาสตร์ 20 ปี แต่มีไว้ก็ดีกว่าไม่มี เป็นเหมือนแกนให้เกาะแล้วเดินไปด้วยกัน เรารู้สึกว่าจริงสิ่งที่เขาเขียนไว้ เข้าใจได้หลายอย่างนะ เพียงแต่ถ้าเทียบกันว่านี่คือ OKR มันอาจมีแค่ O (Objective) แต่ไม่มี KR (Key Result) ให้จับต่อ”

 

คิดใหญ่-ไซส์เล็ก : คุยกับพรรคการเมืองขนาดย่อม ที่อยากพลิกโฉมประเทศด้วยการเลือกตั้ง

 

โดย ธิติ มีแต้ม และ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

101 คุยกับ พงศา ชูแนม หัวหน้าพรรคกรีน, ชาลี ลอยสูง หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย, พาลินี งามพริ้ง แคนดิเดตนายกฯ พรรคมหาชน และ ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคสามัญชน ว่าด้วยจุดยืนของพรรคการเมืองขนาดย่อมในการเลือกตั้ง 2562 ไล่ตั้งแต่นโยบายที่เป็นจุดเด่นของแต่ละพรรค ภาพรวมบรรยากาศการเลือกตั้งที่ถูกบีบให้มีเพียง 2 ขั้ว ไปจนถึงความ ‘ไม่แฟร์’ ในการเลือกตั้งผ่านสายตาพรรคการเมืองเล็ก

“พรรคเล็กต้องรวมกัน ช่วยกัน ต้องใจใหญ่ๆ กล้าเสนอนโยบายที่เป็นสัจจะวิถี ไม่แจกตามเพื่อน แน่นอนพรรคใหญ่ๆ ทำอะไรแล้วคนจะเชื่อมากกว่า แต่วันหนึ่งถ้าเขาสืบค้นว่าพวกนี้มันทำมากี่ปีแล้ว มันโกหกทั้งนั้น ถ้าอยากให้ลึกจริงๆ ต้องดูพรรคเล็กๆ อย่างพวกเรา” – พงศา ชูแนม

“วันที่โหวตโนแพ้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน สามัญชนคุยกัน 3 วัน 3 คืนว่าเราจะตั้งพรรคในรัฐธรรมนูญนี้ยังไง คำตอบที่ได้ก็คือว่า มันเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จังหวะที่เวลามือถือไมค์ไฟส่องหน้า ยืนบนหลังรถสิบล้อ มันห้าวหาญมากนะ แต่ขาก็สั่น เพราะมองไปเห็นทหารถือปืนอยู่สามกองร้อย แล้วมันก็ไม่รู้ว่าทางออกคืออะไร นอกจากการดันไปข้างหน้า” – ปกรณ์ อารีกุล

“เมื่อก่อนผมอยู่ในโรงงาน ลูกน้องผมเยอะ เวลามีการเลือกตั้ง แม่โทรมาแล้ว หนูต้องกลับมาเลือกพรรคนี้นะลูก เพราะแม่รับเงินเขามาแล้ว ถ้าหนูไม่ไปแม่แย่แน่ๆ คือเขากดดันพ่อแม่ให้มาดึงลูกไปลงคะแนนเสียง แต่เดี๋ยวนี้ ลูกเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้ว ก็ไปบอกแม่ว่าอย่าไปทำแบบนั้นนะ ในอนาคตถ้าเราปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ตั้งแต่วันนี้ ผมคิดว่าประเทศชาติเราน่าจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือแน่นอน” – ชาลี ลอยสูง

“สิ่งที่เราและหลายพรรคมุ่งมั่น ก็คือการแก้ปัญหา ไม่ใช่การเลือกตั้งแล้วฉันอยู่ฝั่งนี้ ฉันอยู่ฝั่งนั้น สิ่งที่น่ากังวลคือประเทศไทยยังมีการตีตรากันอยู่ว่า นี่เผด็จการ นี่ประชาธิปไตย” -​ พาลินี งามพริ้ง

 

จัดจ้าน น้ำเน่า เบาหวิว : เปิดใจ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ มองประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ล้อมวงคุยกับ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ ว่าด้วยการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง 2562

พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล นักร้อง-นักแสดง ผู้แจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ก่อนจะหันมาคลุกคลีอยู่ในแวดวงละครเวทีโรงเล็ก ทั้งในบทบาทนักแสดง ผู้เขียนบท รวมถึงผู้กำกับ ผลงานล่าสุดคือละครเวทีเรื่อง ‘นางร้าย’

ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพสายสตรีท อดีตบรรณาธิการนิตยสาร The Jam Factory Magazine และผู้ร่วมก่อตั้ง Clapper Club

น้ำใส ศุภวงศ์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ ผู้สร้างสรรค์งานภาพประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ใน The Matter เป็นหนึ่งในทีมงานของ Boonmee Lab ร่วมจัดทำเว็บไซต์ ELECT ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2562 อย่างเจาะลึก โดยใช้ Data Visualization ประมวลข้อมูลมานำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย

คาลิล พิศสุวรรณ นักเขียนและคอลัมนิสต์รุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เติบโตมาในครอบครัวของนักการเมืองสายประชาธิปัตย์

ที่ผ่านมา คุณอาจเคยชมหรือเสพผลงานของพวกเขาและเธอผ่านจอภาพยนตร์ โรงละครเวที แกลลอรี่ศิลปะ ไปจนถึงคอนเทนต์ในโลกออนไลน์

แต่พนันได้ว่า คุณน่าจะยังไม่เคยได้รับฟังทรรศนะเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทย อย่างเปิดอกและตรงไปตรงมาเท่าบทสนทนาต่อไปนี้

“เคยมีเพื่อนต่างชาติถามเราว่า ทำไมอาหารไทยถึงมีรสจัด พอคิดไปคิดมา เออ อาหารไทยมันก็เหมือนประเทศไทยนะ หลายๆ ครั้งมันถูกปรุงให้จัดจ้านก็เพื่อกลบวัตถุดิบที่ไม่สด” – วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล

“การรวมตัวกันเพื่อสร้างคอมมูนิตี้ เป็นสิ่งสำคัญของการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำศิลปะ แต่ไม่มีพื้นที่ในการมาแชร์หรือแลกเปลี่ยนกัน มันจะตัน ไปต่อไม่ได้ แล้วสุดท้ายจะจบที่ individual ตัวใครตัวมัน” – สิริมา ไชยปรีชาวิทย์

“บางครั้งคนรุ่นเราก็ไปวาดภาพผู้ใหญ่ให้เป็นผู้ร้ายอย่างชัดเจนมาก แล้วก็ไม่รับฟังเขาเท่าที่ควร ซึ่งพอเป็นอย่างนี้ ก็จะเกิดสภาวะอย่างที่เราเคยประสบมาตอนเด็กๆ คือการที่ผู้ใหญ่พยายามกีดกันเราออกจากการเมือง โดยบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่ก็กีดกันผู้ใหญ่ด้วยเหมือนกัน” – คาลิล พิศสุวรรณ

“ในมุมของคนที่ทำงานกับข้อมูล สมมติว่าเราอยากนำเสนอข้อมูลจากภาครัฐให้เข้าใจง่าย แต่บางทีเราเจอกำแพง เพราะไม่รู้จะไปหาข้อมูลที่ไหน บางทีก็ต้องอาศัยข้อมูลจากวงในบ้าง ไม่ก็ต้องไล่ถามจากคนนั้นคนนี้ ถึงจะได้ข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้คนทั่วไปควรเข้าถึงได้โดยง่าย” – น้ำใส ศุภวงศ์

 

“ฉันจะไปเลือกตั้ง” : Homeless Election

 

โดย ภาวิณี คงฤทธิ์, พิมพ์ใจ พิมพิลา และเมธิชัย เตียวนะ

ไม่ว่าคุณจะจบ ป.4 หรือจบด็อกเตอร์จากต่างประเทศ ในการเลือกตั้ง เรามี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน

เราต่างเชื่อมั่นว่าเรามีเสียงที่พร้อมจะส่งออกไป และเสียงของเรามีคุณค่าพอที่จะรับฟัง

#เลือกตั้ง62 ที่กำลังจะถึงภายในไม่กี่วันนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ หลังจากประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. มากว่า 5 ปี ดูเหมือนว่าผู้คนจะคิดถึงการเลือกตั้งมากกว่าครั้งไหนๆ และตั้งอกตั้งใจว่าการใช้สิทธิครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญในระดับ ‘ห้ามพลาด’

ในโซเชียลมีเดีย เราต่างถกเถียงและแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองของเราออกไป บ้างเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นสัญลักษณ์ของพรรคที่เราจะเลือก และบ้างก็ประกาศชัดเจนว่าจะเลือกฝั่งประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

บางคนจองตั๋วกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อไปเลือกตั้งโดยเฉพาะ บางคนเลือกตั้งล่วงหน้าโดยจดจำเขตมาแล้วอย่างแม่นยำก่อนเข้าคูหา

แต่กับกลุ่มคนไร้บ้าน เลขที่บ้านของพวกเขาอาจมีอยู่แค่ในหน้าบัตรประชาชน — และกับบางคน พวกเขาทำบัตรประชาชนหายไปอย่างไร้ร่องรอย

คนไร้บ้านที่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนมาก มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากันกับทุกคน และพวกเขากระตือรือร้นที่จะไปเลือกตั้ง

101 ลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยกับคนไร้บ้านย่าน หัวลำโพง-เสาชิงช้า-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ว่าด้วยการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

พวกเขามีความคิดความอ่านอย่างไร และอยากเห็นประเทศเดินไปในทิศทางไหน

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save