fbpx
แก่แล้วเลยเป็นอนุรักษนิยม : ศิลปะของการเปลี่ยนใจ

แก่แล้วเลยเป็นอนุรักษนิยม : ศิลปะของการเปลี่ยนใจ

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

คุณคงเคยได้ยินคำกล่าวนี้ “คนอายุน้อยกว่าสามสิบที่ไม่เป็นลิเบอรัลนั้นไร้หัวใจ ส่วนคนอายุมากกว่าสามสิบที่ไม่เป็นคอนเซอร์เวทีฟนั้นไร้สมอง” คำพูดนี้มักถูกอ้างว่าเป็นคำพูดของวินสตัน เชอร์ชิล (แต่ไม่จริง – มีผู้ตรวจสอบแล้ว) และคุณก็คงเคยได้ยินคำพูดนี้ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ “เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยน ผมก็เปลี่ยนใจตาม แล้วคุณล่ะ?”

การเปลี่ยนใจไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่เปลี่ยนไปทางไหน? และเราต้องรับผลกับสิ่งที่เคยทำไว้ไหม?

หนึ่งในความทุกข์ที่กัดกินหัวใจผมสม่ำเสมอคือ ทุกวันที่ผ่านไป เรากำลังเติบโตเป็นคนที่เราไม่รู้จักหรือเปล่า เราเปลี่ยนแปลงไปและเปลี่ยนใจในทุกวัน แต่สารัตถะของความเป็นตัวตนของเราคืออะไร

ที่ผ่านมา มีผู้กล่าวถึงการเปลี่ยนใจของบุคคลมีชื่อเสียงอยู่หลายครั้ง (ระบุชัดเจนลงไป คือการเปลี่ยนใจทางการเมือง – เปลี่ยนขั้ว) ในประเทศไทย ความที่ปัจจุบัน เรานิยมแนวคิดลิเบอรัลกันมากขึ้นบนอินเทอร์เน็ต (หรือถ้าจะเอาให้จริง คือ คนที่เป็นลิเบอรัลออกตัวได้มากขึ้น) เราจึงเห็นการเปลี่ยน หรือขยับ จากคนที่อยู่กลางๆ ไม่ได้คิดอะไร มาเป็นลิเบอรัล หรือคนที่เคยเชื่อมั่นในคอนเซอร์เวทีฟมาเป็นลิเบอรัล

หากผู้เปลี่ยนใจมีชื่อเสียงและเคยมีบันทึกแนวคิดในรูปแบบของภาพถ่าย สเตตัส หรือข้อเขียน ก็เป็นอันว่าจะต้องถูก ‘ขุด’ มาเปรียบเทียบทุกครั้ง ว่าตอนนั้นพูดอย่างนั้น – ทำไมตอนนี้พูดอย่างนี้ รังให้เกิดคำถามว่าตรงไหนคือจุดยืนกันแน่

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือ เราเปลี่ยนจุดยืนไป หรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทำให้เราดูคล้ายกับเปลี่ยนจุดยืนโดยสัมพัทธ์กันแน่? หรือปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน?

คำถามที่ว่า “เราคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้นไหมเมื่อแก่ตัวลง” เป็นคำถามที่ James Tilley นักรัฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ดพยายามหาคำตอบ ในสหราชอาณาจักร อายุเป็นตัวแปรหนึ่งที่สามารถพยากรณ์ได้ว่า คนจะลงคะแนนให้พรรคไหนในการเลือกตั้งครั้งหนึ่งๆ คนที่อายุมากกว่ามักลงคะแนนให้คอนเซอร์เวทีฟ ในขณะที่คนหนุ่มสาวมักลงคะแนนให้พรรคแรงงาน เดโมแครตหรือพรรคกรีน รูปแบบการลงคะแนนเช่นนี้คงตัวตลอดมาหลังยุคสงคราม แต่อะไรที่เป็นสาเหตุของรูปแบบนี้กันแน่?

Tilley เสนอทฤษฎีไว้สองทาง ทฤษฎีแรกเป็นเรื่องของอายุ (เช่นเดียวกับโควตด้านบน) นั่นคือ เมื่อคนเราแก่ตัวลง เรามีแนวโน้มจะเป็นคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้น อาจเพราะกระบวนการของการแก่ตัวนั้นทำให้เรา “อนุรักษนิยม” ขึ้น หรืออีกความเป็นไปได้หนึ่ง คือ คนสูงอายุมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจากคนหนุ่มสาว ทำให้มีการจัดลำดับความสำคัญที่ต่างออกไป

ทฤษฎีที่สองเป็นเรื่องของเจเนอเรชัน คนแก่เติบโตขึ้นมาในยุคสมัยที่แตกต่างจากปัจจุบัน ความคิด ความเชื่อ จึงแตกต่างไปด้วย เมื่อภูมิทัศน์ของสังคมปัจจุบันเลื่อนไปทางลิเบอรัล คนที่เติบโตในยุคก่อนหน้าจึงเป็นคอนเซอร์เวทีฟโดยเปรียบเทียบ (หากคนนั้นไม่พยายามจะ ‘กระโดด’ ลงมาในพื้นที่เล่นใหม่หรือสร้างเรื่องราวใหม่ให้กับตัวเองในวันนี้)

ผมขออนุญาตเจาะลงไปในรายละเอียดของทั้งสองทฤษฎี

 

1) ทฤษฎีคอนเซอร์เวทีฟขึ้นจากอายุ

ในทฤษฎีแรก เมื่อค้นลงไปก็พบข้อมูลสนับสนุนทางจิตวิทยาอยู่พอสมควร หากใช้โมเดลบุคลิกภาพแบบปัจจัย 5 ที่บอกว่าบุคลิกภาพของคนเรามีอยู่ 5 มิติ คือ การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ความพิถีพิถัน ความสนใจต่อสิ่งภายนอก ความยินยอมเห็นใจ และความไม่เสถียรทางอารมณ์เป็นฐานแล้ว งานศึกษาก็มักพบว่า เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น มิติบุคลิกภาพของเราจะดำเนินไปในทางที่อาจพอจัดได้ว่าคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้น นั่นคือ มิติการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ลดลง มีความยินยอมเห็นใจมากขึ้น และมีความไม่เสถียรทางอารมณ์ลดลง

Jonathan Haidt เสนอโมเดลไว้เพื่อจำแนกค่านิยมที่ลิเบอรัลและคอนเซอร์เวทีฟให้ความสำคัญแตกต่างกัน (Moral Matrix) เขาเสนอตัวชี้วัด 6 ประการในการจำแนกคุณค่าเหล่านี้ คือแกน Care/Harm, Liberty/Oppression, Fariness/Cheating, Loyalty/Betrayal, Authority/Subversion และ Sanctity/Degradation

ขณะที่ Haidt มองว่าลิเบอรัลให้คุณค่ากับแกน Care/Harm และ Liberty/Oppression รวมถึง Fairness/Cheating รองลงมา แต่แทบไม่ให้คุณค่ากับสามแกนหลังเลย ส่วนคอนเซอร์เวทีฟนั้น จะให้ความสำคัญกับทุกแกนพอๆ กัน Haidt ใช้โมเดลนี้เพื่ออธิบายว่าทำไมคน “สองฝั่ง” จึงคุยกันไม่รู้เรื่อง เป็นเพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับคุณค่าพื้นฐานแตกต่างกันนั่นเอง[1]

สิ่งที่น่าศึกษาต่อคือ เราสามารถทาบโมเดลบุคลิกภาพแบบปัจจัย 5 ลงกับโมเดล Moral Matrix ของ Haidt ได้ไหม และเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพที่สัมพัทธ์กับค่านิยมเมื่ออายุมากขึ้นไหม?

อีกแขนงหนึ่งของทฤษฎีด้านอายุที่ Tilley เสนอไว้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ การให้ลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนไปเมื่อบริบทเปลี่ยนแปลง เมื่อเราแก่ตัวลง เราอาจมีทุนสะสมไว้มากพอ มีเครือข่ายที่พอพึ่งพาอาศัยได้ มีไลฟ์สไตล์และการดำเนินชีวิตต่างจากสมัยหนุ่มสาวที่อาจเป็นช่วงเวลา ‘ฝ่าฟัน’

โหมดการดำเนินชีวิตต่างกันนี้เองที่อาจเป็นตัวกำหนดว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร

 

2) ทฤษฎีเราเป็นผลผลิตของยุคสมัย

ในทฤษฎีที่สองที่ว่าเราเป็นผลผลิตของยุคสมัยนั้นก็ฟังขึ้น มันชวนให้ผมนึกถึงแนวคิดเรื่อง Adjacent Possible (ความเป็นไปได้ข้างเคียง) ที่ Steven Johnson เป็นผู้เผยแพร่ให้โด่งดัง แนวคิดนี้บอกว่า Adjacent Possible คือ “เงาอนาคตที่ลอยตัวอยู่ใกล้กับสถานะในปัจจุบัน เป็นคล้ายแผนที่ที่วาดทุกความเป็นไปได้ต่อจากจุดที่เรายืนอยู่” Johnson บอกว่า “Adjacent Possible เป็นทั้งข้อจำกัดและศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ในทางนวัตกรรม”

โดยย่นย่อ Adjacent Possible บอกเราว่า การพัฒนานวัตกรรมนั้นต้องอาศัยฐานจากนวัตกรรมเดิมเสมอ การเปิดประตูความเป็นไปได้หนึ่ง ย่อมทำให้เราสามารถเปิดประตูความเป็นไปได้ต่อจากนั้น การกระโดดข้ามไปเปิดประตูความเป็นไปได้ก่อนห่ามทำได้ยาก

หากมองความเชื่อเป็นเทคโนโลยี เราสามารถใช้แนวคิด Adjacent Possible มาอธิบายเรื่อง “ผลผลิตของยุคสมัย” ได้ไหม ทั้งในเชิงรูปธรรมอย่าง “สิทธิมนุษยชนที่เปลี่ยนไปหลังเทคโนโลยีแปลงเพศ” “ความโปร่งใสเมื่อมีเทคโนโลยีบล็อกเชน” หรือในทางสังคมอย่างความคิดเห็นของมวลชนหลังมีข้อมูลสามารถไหลเวียนได้อย่างอิสระ (ขึ้นกว่าแต่ก่อน)

 

แล้วทฤษฎีไหนถูกกันแน่?

ย้อนกลับมาที่ Tilley, เขาพยายามหาคำตอบว่าทฤษฎีไหนที่มีเหตุมีผลและพิสูจน์ได้มากกว่ากันแน่

การศึกษาปี 2014 ของเขาติดตามผู้ลงคะแนนเสียงนับพันคนตั้งแต่ยุค 1960 เรื่อยมา เขาพบว่ากลุ่มศึกษามีแนวโน้มจะเป็นคอนเซอร์เวทีฟมากขึ้นราว 0.32-0.38% ต่อปี ซึ่งอาจฟังดูไม่มากนัก “แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเพิ่มนี้ก็ทบต้นทบดอกขึ้น เมื่อเทียบกันแล้ว ความแตกต่างระหว่างคนอายุ 20 ปีกับคนอายุ 80 ปีจะสูงถึง 20% ซึ่งอาจใช้อธิบายความแตกต่าง 19% ของการลงคะแนนระหว่างคนอายุ 20 กับ 80 ปีให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟในปี 1997 ได้”

Tilley สรุปว่า “เมื่ออิงจากข้อมูลปัจจุบัน การเลือกลงคะแนนให้พรรคใดจึงถูกขับเคลื่อนจากทฤษฎีอายุ มากกว่าทฤษฎีผลผลิตของยุคสมัย”

เขายังเสนอด้วยว่า หลักฐานชี้ว่าค่านิยมที่เปลี่ยนไปนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “เหตุการณ์ในชีวิต” อย่างการแต่งงาน การมีลูก หรือรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่เกิดขึ้นจาก “กระบวนการทางจิตวิทยาที่ทำให้คนเรายอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้น เราจึงมีแนวโน้มโอนเอียงไปทางฝ่ายที่รักษาสภาพที่เป็นมากขึ้น”

บทสรุปของ Tilley ทำให้ผมไม่สบายใจ คล้ายกับเขากำลังพูดว่ากระแสน้ำต่างไหลบ่าสู่คอนเซอร์เวทีฟ – ไม่ใช่กระแสน้ำจากบริบทรอบข้าง แต่กลับเป็นกระแสในใจของเราเอง

 

แต่เดี๋ยวก่อน

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็น Tilley ในปี 2015 เมื่อผมค้นข้อมูลล่าสุดก็พบบทความที่เห็นไปในอีกทาง ซึ่งอ้างอิง Tilley เหมือนกัน

ในบทความนี้ Tilley ให้สัมภาษณ์ว่าการตัดสินว่าทฤษฎีไหนถูกนั้นเป็นเรื่องยาก แต่เขาเห็นว่า “ทฤษฎีผลผลิตของยุคสมัยน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด” (“Of course, we cannot say for sure that [changes] in social conservatism are due to generational differences, although that seems most likely,”)

Robin Archer จาก London School of Economics เห็นด้วยกับแนวคิดนี้โดยเสริมว่า “จากข้อมูลที่มี เราคงไม่ได้เห็นคนเปลี่ยนไปลงคะแนนให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟมากนักหลังช่วงอายุ 20 ปลายๆ [ที่รูปแบบการลงคะแนนได้ปรากฏขึ้นในใจพวกเขาแล้ว]” แต่บทสรุปนี้ก็ยังไม่ถูกฟันธงลงไปนัก

สรุปแล้ว เรายังมีข้อมูลไม่มากพอจะปักใจเชื่อลงไปได้ว่าทฤษฎีไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน

และนั่นก็สะท้อนคำพูดของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ตอนต้นได้อย่างเหลือเชื่อ

 

หมายเหตุ

[1] * มีผู้เสนอว่าโมเดลของ Haidt นั้นไม่เที่ยงตรงและไม่ได้ตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ และเสนอว่าควรกลับไปใช้โมเดลการร่วมมือเพื่อวัดคุณธรรม (Morality as Cooperation) แทน ผู้สนใจสามารถตามลิงก์นี้ และลิงก์นี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save