fbpx
เจาะลึกพลัง ‘3นิ้ว’ ในชายแดนใต้/ปาตานี เอกรินทร์ ต่วนศิริ

เจาะลึกพลัง ‘3นิ้ว’ ในชายแดนใต้/ปาตานี – เอกรินทร์ ต่วนศิริ

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เอกรินทร์ ต่วนศิริ ภาพ

ในสถานการณ์ความรุนแรงที่ชายแดนใต้ที่เรื้อรังมาหลายสิบปี วันนี้นอกจากเสียงระเบิดและเสียงปืนแล้ว สุ้มเสียงใหม่กำลังปรากฏขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะเสียงของคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษาที่ออกมาชู 3 นิ้ว เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา น่าสนใจว่าพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ พื้นที่ที่มีการใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มายาวนาน จะเปิดรับเสียงของคนรุ่นใหม่อย่างไร

ทั้งฝ่ายความมั่นคงและขบวนการติดอาวุธ ไปจนถึงชนชั้นนำจะมีท่าทีอย่างไรต่อยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวกำลังมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

101 สนทนากับ ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้อำนวยการปาตานีฟอรั่ม เพื่อเจาะลึกและทำความเข้าใจพลัง ‘3นิ้ว’ ในชายแดนใต้/ปาตานี

เอกรินทร์ ต่วนศิริ

สายธารประชาธิปไตย

หมุดหมายสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพื้นที่ปาตานี คือหลังจากคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และคณะราษฎรก็มีกลุ่มคนมุสลิมเข้าไปร่วมด้วย บุคคลสำคัญคืออาจารย์แช่ม พรหมยงค์ ซึ่งมีความสนิทกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และหะยีสุหลง

แช่ม พรหมยงค์ เป็นข้อต่อสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในภาคใต้ เพราะอาจารย์แช่มพยายามนำเสนอประเด็นปัญหาภาคใต้ผ่านคณะราษฎร โดยเฉพาะอาจารย์ปรีดี ทำให้อาจารย์ปรีดีลงมาที่ปัตตานีตอนเปิดโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนแห่งแรก ซึ่งขณะนั้นหะยีสุหลงเป็นคนดูแลอยู่

สมัยนั้นคนยังเชื่อมั่นกับรัฐไทย ยังไม่มีกลุ่มติดอาวุธ แต่เมื่อหะยีสุหลงถูกทำให้หายตัวไป ถือเป็นการตัดขาดที่สำคัญ เมื่อมีความรุนแรงจากรัฐกระทำต่อผู้นำท้องถิ่นก็ทำให้เกิดขบวนการต่อสู้ที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาหรือระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่องค์กรติดอาวุธสู้กับรัฐขึ้นมา

หมุดหมายทางประวัติศาสตร์ต่อมาคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นอีกหมุดหมายสำคัญ เนื่องจากในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมีปัญญาชนมุสลิมเข้าร่วมด้วย มีชื่อกลุ่มว่า ‘สลาตัน’ เพราะคนจากสามจังหวัดได้เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ทำให้ปัญหาภาคใต้ถูกพูดถึงในที่ชุมนุม

เหตุการณ์สำคัญที่ถูกพูดถึงคือกรณีฆาตกรรมที่สะพานกอตอ นำไปสู่การอภิปรายสาธารณะที่ท้องสนามหลวง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบ และกรณีดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ของคนสามจังหวัดในปี 2518 ที่มัสยิดกลางปัตตานี สมัยนั้นปัญญาชนคนรุ่นใหม่หลายคน เช่น สุธรรม แสงประทุม ก็มาที่ภาคใต้เพื่อรับฟังปัญหาด้วย

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเส้นทางของประชาธิปไตยไทยกับประเด็นภาคใต้เดินขนานไปด้วยกันตลอด เพียงแต่ว่าเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการคุกคามประชาชน ทำให้คนจำนวนมากต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไป โดยเฉพาะการโต้กลับของฝ่ายขวาในช่วงปี 2519 บางคนลี้ภัยไปมาเลเซีย บางคนไปสวีเดน หลายคนบอกว่าไม่อยากจากบ้านจากเมืองไป แต่ตอนนั้นสภาพบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ เพราะถูกคุกคาม ไม่มีใครปกป้อง ไม่มีช่องทางที่จะบอกว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ

เมื่อไม่มีพื้นที่สำหรับการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนปาตานี และยังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ทำให้คนไม่เชื่อมั่น ไม่มั่นใจในหลักประกันว่าถ้าเขาพูดข้อเรียกร้องออกไปจะทำให้เขาปลอดภัยหรือข้อเสนอจะได้รับการตอบสนอง

เปิดพื้นที่สนทนา

ในปี 2547 เมื่อเกิดความรุนแรงระลอกใหม่จากเหตุการณ์ปล้นปืน หลังจากนั้นก็มีคนหนุ่มสาวพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ และกรณีอุ้มหาย

การเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนว่าการที่พวกเขาพยายามส่งเสียงเพราะยังมีความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ยังเชื่อในองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ทั้งกรรมการสิทธิฯ หรือแม้แต่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง หลายคนก็เข้ามารับฟังปัญหา ช่องทางนี้เหล่านี้เป็นช่องทางสำคัญสำหรับคนหนุ่มสาวในการตรวจสอบรัฐบาล

แต่พอเกิดการรัฐประหารปี 2549 ทำให้ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนในพื้นที่มีความสับสนพอสมควร ต้องยอมรับว่ารัฐบาลทักษิณมีการละเมิดสิทธิคนในพื้นที่อย่างเปิดเผย และทหารที่เข้ามาก็พยายามใช้อำนาจแบบอ่อน มีการส่งคนเข้ามาพูดคุยกับคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารตอนนั้นก็ได้กล่าวคำพูดสำคัญที่คุณทักษิณไม่เคยกล่าวคือขอโทษคนในพื้นที่ ประเด็นแบบนี้ ผมคิดว่าช่วงนั้นเกิดความสับสนกับแนวคิดประชาธิปไตยในกลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่พอสมควร

หลังจากนั้น เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเฉพาะรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ได้มีความพยายามเปิดการพูดคุยกับขบวนการติดอาวุธ เพราะหนทางที่จะทำให้ภาคใต้เกิดสันติภาพแทบไม่มีเลย แม้จะมีโครงการต่างๆ ที่ทำผ่านหน่วยงานความมั่นคง มีการเข้าไปประสานในหมู่บ้านต่างๆ แต่โครงการเหล่านี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพพอที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ไม่ได้ทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น เป็นเพียงแค่การให้บรรเทาในนามของโครงการพัฒนาเท่านั้น

แต่พอรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เปิดการพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธ ความหวังของผู้คนก็มีมากขึ้น พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีสาธารณะมากขึ้น นัยสำคัญที่สุดของการเปิดการพูดคุยอย่างเป็นทางการคือทำให้คนที่นี่พูดถึงเรื่องเอกราชได้ในพื้นที่สาธารณะ ก่อนหน้านี้ถูกปิดมาตลอด ใครที่พูดเรื่องเหล่านี้ถูกหาว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือเป็นฝ่ายเดียวกับกลุ่มติดอาวุธไป เพราะฉะนั้นการเปิดพื้นที่การพูดคุยจึงเป็นหลักประกันว่าใครพูดเรื่องเอกราชจะไม่โดนจับ

คนรุ่นใหม่พูดเรื่องนี้ได้อย่างมั่นอกมั่นใจ มีการถกเถียงกันเชิงคุณภาพมากขึ้น ว่าถ้ามีเอกราชจะเป็นแบบไหน มีตัวแบบอย่างไรบ้าง แล้วถ้าเป็นเอกราชจะต้องจัดการอย่างไรในรัฐสมัยใหม่ พูดง่ายๆ ว่าบนพื้นที่สาธารณะ ทำให้การดีเบตมีคุณภาพมากขึ้น เพราะความคิดไม่ได้ถูกปิดกั้น

พอคนพูดถึงความในใจหรือเรื่องเอกราชมากขึ้น ฝ่ายขบวนการติดอาวุธเองก็ต้องคิดมากขึ้นว่าการต่อสู้ด้วยความรุนแรง จะมีข้อเสนอแบบไหน โครงสร้างเศรษฐกิจจะเป็นแบบไหน ถ้าคุณจะเอาเอกราช มันทำให้ต้องคิดมากกว่าการใช้ความรุนแรงเป็นธงนำอย่างเดียว การเปิดพื้นที่จะทำให้การเมืองนำการทหาร มันเปลี่ยนบทสนทนาของผู้คนไปอย่างมหาศาล

บทบาทกลุ่มติดอาวุธ

ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ขบวนการติดอาวุธต้องรับฟังและส่งคนมาสังเกตการณ์ หรือพิจารณาข้อเสนอของนักศึกษาในเวลานี้

ช่วง 3-4 ปีมานี้ ผมอยู่ในพื้นที่ สังเกตว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนมลายู เขามีความคิดความฝันที่เปลี่ยนไปพอสมควร เราจะพูดว่ามีแต่เด็กกิจกรรมที่มีความเป็นชาตินิยมมลายู เชื่อมั่นในการเป็นเอกราชอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ตอนนี้มีความหลากหลายมาก

การที่พวกเขาอยู่ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์มา 6 ปี เจอปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความคิดความฝัน ผมไม่คิดว่าการติดอาวุธและยึดถืออุดมการณ์ชาตินิยมมลายูอย่างเดียว จะทำให้ประสบความสำเร็จหรือทำให้มีแรงสนับสนุนเพิ่มจากคนที่มีอัตลักษณ์หลากหลายได้ เพราะมีบางส่วนที่ไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นชาตินิยมมลายู

เด็กรุ่นใหม่ผูกโยงตัวเองกับความเป็นสากลมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างทางเพศเยอะขึ้น ความคิดด้านเพศสภาพไม่ได้มีแค่ชายหรือหญิงอย่างเดียว แต่มีลักษณะ LGBTQ+ อยู่ด้วย ลูกศิษย์ผมเองก็มีเยอะ แล้วพวกเขาก็อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีด้วยเช่นกัน

ขบวนการติดอาวุธเป็นเพียงกลุ่มๆ หนึ่งเท่านั้นที่มีความคิดความฝันในเรื่องเอกราช ซึ่งยังมีความย้อนแย้งทั้งวิธีการและข้อเสนอพอสมควร แต่ในสังคมประชาธิปไตยยุคสมัยใหม่ ความรุนแรงมันถูกปฏิเสธจากคนรุ่นใหม่ ถูกปฏิเสธจากคนที่เขาเชื่อในการไม่ใช้อาวุธสู้

สิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่สร้างบทสนทนาคือการคิดถึงชีวิตที่ดีในแบบของเขา เพราะฉะนั้นข้อเรียกร้องของกลุ่มติดอาวุธไม่ได้มีข้อเสนอพ่วงท้ายว่าจะจัดการระบบเศรษฐกิจอย่างไร จะจัดการเรื่องคุณภาพชีวิตอย่างไร และมากกว่านั้น พวกเขามีสิทธิเสรีภาพที่จะอยู่ที่นี่และบอกว่าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มติดอาวุธได้ไหม บางส่วนเชื่อว่าไม่ควรจะไปถึงเอกราช เขาอาจจะเชื่อเรื่องปกครองตนเองได้ไหม หรือเชื่อว่าเป็นแบบเดิม แต่ขอให้มีการกระจายอำนาจและตรวจสอบได้

ถ้ามีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตย การสนับสนุนจากคนอื่นๆ ก็จะลดน้อยถอยลง และจะถูกทำให้โดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะสังคมสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่เริ่มปฏิเสธอำนาจนิยม เด็กมัธยมที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเริ่มชูสามนิ้วกันแล้ว เพเราะเขาปฏิเสธระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน

ถ้าหน่วยงานความมั่นคงจะฉวยโอกาสและหนุนเสริมกระบวนการเคลื่อนไหวสันติวิธีไปเลย ก็ต้องรีบฉวยโอกาสนี้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าหน่วยงานความมั่นคงจะฉลาดพอไหม เขาอาจจะยังรักษาโครงสร้างความรุนแรงที่เป็นอยู่ เพราะดอกผลของงบประมาณต่างๆ มีจำนวนมหาศาล และมีคนได้ประโยชน์จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ผมคิดว่าข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ก็คือ 2 ไม่เอานั่นเอง 1. ไม่เอาความรุนแรงจากการก่อเหตุความไม่สงบ และ 2. ไม่เอาทหารที่เป็นเผด็จการแบบปัจจุบันนี้

ผู้แทนราษฎรอยู่ตรงไหน

ต้องยอมรับว่าบทบาทของ ส.ส. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ส.ส. ฝ่ายค้านในพื้นที่ชายแดนใต้มีบทบาทอย่างมากในกรณีตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ หรือประเด็นสถานการณ์โควิด ถือว่ามีบทบาทที่ดีมากๆ แต่พอมาประเด็นเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ผมยังไม่เห็นบทบาทของ ส.ส. ออกมาพูดเรื่องแบบนี้มากนัก

ผมคิดว่าอาจจะเพราะในพื้นที่เวลานี้ไม่มี ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ จากงานวิจัยของผมคือเป็นการโยกย้ายไปมาระหว่างพรรคการเมือง แสดงให้เห็นว่าช่วงวัยมีความแตกต่างกัน และที่สำคัญมากๆ คือนักศึกษากับ ส.ส. ในพื้นที่มองโจทย์คนละโจทย์กัน การที่มีข้อเสนอที่ก้าวหน้าจากนักศึกษาเวลานี้ ในช่วงเวลาที่สั้นขนาดนี้ ส.ส. ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

เรื่องอ่อนไหวในปาตานี

 

เวลาเราพูดถึงปัญหาชายแดนใต้ ข้อกล่าวหาใหญ่มากๆ คือเรื่องมาตรา 1 ใครพูดหรือเสนอประเด็นนี้ขึ้นมาจะกลายเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก ทำให้เปิดช่องให้หน่วยงานความมั่นคงฟ้องร้อง

ส่วนเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่น่าสนใจคือเด็กมัธยมในพื้นที่มีความสนอกสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ก่อนจะมีข้อเสนอ 10 ข้อ ผมเห็นมีป้ายบางป้ายพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์มาก่อนแล้ว ผมไปคุยกับน้องๆ ว่าเขาคิดอย่างไร ทำให้เห็นว่าเด็กมัธยมเขาเข้าถึงข้อมูลทั่วไปได้แล้ว ไม่ได้ตกอกตกใจอะไร

เราต้องเข้าใจว่าปัญหาทางภาคใต้ที่ผ่านมามีบทบาทของสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ไม่ว่าจะด้านบวกหรือในแง่คนที่ไม่เห็นด้วย

ในรายงานที่องค์กรระหว่างประเทศมีการพูดถึงบทบาทของบุคคลในสถาบันกษัตริย์ที่เคยเข้ามามีส่วนร่วมในการติดอาวุธให้แก่คนพุทธในพื้นที่ วิธีการแบบนี้ทำให้คนในพื้นที่ไม่สามารถคัดค้านได้ และวิธีการแบบนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์ภาคใต้ย่ำแย่ลง แต่อีกส่วนหนึ่งในบางประเด็น บทบาทของสถาบันกษัตริย์ก็ถือว่าเป็นการดุลอำนาจกับอำนาจการทหารเช่นดียวกัน

ปัญหาภาคใต้กับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ผมคิดว่าจำเป็นต้องพูดในพื้นที่สาธารณะ เพราะหลายองค์กรมีการอ้างสถาบันกษัตริย์เข้ามาทำโครงการในพื้นที่จำนวนมหาศาล ซึ่งชาวบ้านรู้ แต่เขาไม่สามารถพูดอะไรได้

แม้กระทั่งที่ผมศึกษาเรื่อง Islamophobia ก็ยังมีนายทหารเก่ามาพูดทำนองว่าจำเป็นจะต้องกำจัดอิสลามออกไปเพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์และศาสนาพุทธ ตัวอย่างแบบนี้ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีการตรวจสอบและถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะได้

อนาคตของปาตานี

ในสถานการณ์แบบนี้ สิ่งสำคัญที่ควรเป็นขั้นต่ำสุดคือไม่ว่าใครพูดเรื่องอะไรก็ตาม คนพูดจะต้องได้รับการปกป้องให้ปลอดภัย เพราะการแสดงความเห็นหรือการคิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม ถ้าเราเชื่อมั่นในประชาธิปไตย เราควรยอมรับความหลากหลายและความแตกต่างได้

ถ้าใครจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มติดอาวุธ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเอกราช ก็ไม่ใช่อาชญากรรม เขาต้องไม่ถูกทำให้โดดเดี่ยว และเขามีสิทธิ์ที่จะพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ถูกคุกคามข่มขู่จากคนที่มีความคิดแตกต่างกัน

คนที่มีความคิดความเชื่อไม่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้เป็นคนมลายู แต่มีความคิดเชื่อมกับโลกสมัยใหม่ เป็น LQBTQ+ หรือเป็นมุสลิมที่เป็น LQBTQ+ เองก็ตาม เขาต้องได้รับการปกป้องชีวิต

สิ่งที่ควรระวังก็คือในสถานการณ์แบบนี้สำหรับขบวนการประชาธิปไตย เราต้องไม่ถือว่าข้อเสนอของเราเป็นหมุดหมายหรือข้อสรุปสุดท้ายของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เราต้องเปิดใจรับฟังคนที่มีข้อเสนอแนะอื่นๆ เพิ่มเติม แล้วแลกเปลี่ยนต่อรองกัน อาจจะมีข้อเสนอที่เห็นต่างจากข้อเสนอ 3 ข้อหรือเพิ่มขึ้นจากกรณี 10 ข้อหรือมากกว่านี้ก็ได้

ผมคิดว่าเมื่อเราอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวแล้ว จะต้องมีใจที่เปิดกว้างไว้ให้คนที่จะเห็นต่างจากเรา เราไม่สามารถขยายมวลชนได้ ถ้าปิดโอกาสคนที่เห็นต่างจากเรา เช่น คนรุ่นเก่าหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 10 ข้อ แต่เขายังอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง บางทีก็ต้องให้เวลาพวกเขา

คนเราผิดพลาดกันได้ คนที่ทำงานขับเคลื่อนประชาธิปไตยต้องมีสปิริตการให้อภัย คนรุ่นใหม่ต้องเปิดกว้างและโอบอ้อมแก่คนที่ผิดพลาดมาก่อนได้ เราต้องการคนเหล่านี้จำนวนมหาศาลในสถานการณ์ปัจจุบัน

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าใครจะมีความเห็นต่างจากเราจนสุดขั้วขนาดไหน เขาก็ควรจะมีพื้นที่ และมีพื้นฐานที่เคารพความเป็นมนุษย์ด้วยกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save