fbpx
‘สโมสรกีฬา BBG’ กับภารกิจเปลี่ยนชีวิตเยาวชนที่ก้าวพลาดด้วยกีฬา

‘สโมสรกีฬา BBG’ กับภารกิจเปลี่ยนชีวิตเยาวชนที่ก้าวพลาดด้วยกีฬา

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาการก่ออาชญากรรมในเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ทำให้สังคมจำเป็นต้องเข้าใจปัญหา และหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน

หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ได้รับการพูดถึงกันคือ การนำกีฬาเข้ามาใช้เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม โดยงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า กีฬาหรือกิจกรรมทางกายจะช่วยเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ อคติ และพฤติกรรมของคน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและพังทลายกำแพงของการแบ่งแยกและกีดกัน ที่สำคัญคือ ช่วยลดความขัดแย้ง และป้องกันอาชญากรรมด้วย

ตัวอย่างของการนำกีฬาเข้ามาช่วยเยียวยาและส่งเสริมเยาวชนที่เคยผิดพลาด ให้ได้รับโอกาสครั้งใหม่ในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คือการเกิดขึ้นของ สโมสรกีฬา ‘BBG’ (Bounce Be Good) จากพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงเล็งเห็นถึงการนำกีฬามาเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม รวมถึงฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดในประเทศไทย โดยมีกีฬาเป็นสื่อกลางเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิด

สิ่งที่น่าสนใจคือ สโมสร BBG มีวิธีการอย่างไรในการเปลี่ยนชีวิตเยาวชนที่ก้าวพลาดจนต้องไปอยู่ในสถานพินิจฯ ให้กลับมาสู่ครรลองชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นได้ในฐานะนักกีฬามืออาชีพ

ความสำเร็จของสโมสร BBG ได้นำมาสู่การยกระดับแนวทางการป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด โดยกระทรวงยุติธรรม ผ่านการประสานงานระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสโมสร BBG และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือนำพาเยาวชนที่เคยผิดพลั้ง ให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีความหวัง และได้เสนอข้อมติ ‘การนำกีฬาไปใช้เพื่อการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน’ (Integrating Sport into Youth Crime Prevention Strategies) สู่วาระการประชุมคณะกรรมาธิการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนเมษายน 2562

ผลปรากฏว่า ที่ประชุมนานาชาติได้ลงฉันทามติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว ก่อนจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมของสหประชาชาติ เมื่อช่วงปลายปี 2019 โดยมีประเทศร่วมสนับสนุน ได้แก่ แอนดอร่า เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เบลารุส บัลแกเรีย เปรู ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น กาตาร์ นอร์เวย์ และปานามา

ในโอกาสนี้ 101 จึงได้นัดหมายกับ เอกภพ เดชเกรียงไกรสร ประธานสโมสรกีฬา BBG หนึ่งในผู้บุกเบิกความสำเร็จ เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปและเป้าหมายของสโมสรกีฬาแห่งนี้ รวมไปถึงมุมมองที่เขามีต่อกลุ่มเยาวชนที่ถูกสังคมตีตราว่าเป็น ‘เด็กเกเร’

 

เอกภพ เดชเกรียงไกรสร

 

ที่ผ่านมาสโมสร BBG ได้ไปร่วมมือกับศูนย์เยาวชนต่างๆ เพื่อคัดเลือกเด็กเข้ามาในสโมสร อยากทราบว่ากระบวนการในการคัดเลือกเด็กเป็นยังไง คุณสมบัติแบบไหนที่สโมสรมองหา

เป้าหมายหลักของทางสโมสรคือ ช่วยเหลือเด็กที่เคยกระทำความผิดมาก่อน ซึ่งคือกลุ่มเด็กที่อยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือเด็กที่พ้นจากสถานพินิจฯ มาแล้ว เด็กกลุ่มนี้คือเป้าหมายหลักของเรา ดังนั้น เราจึงเริ่มจากการทำงานร่วมกับสถานพินิจฯ โดยให้ทางนั้นช่วยจัดสรรทั้งสถานที่และเวลาในการฝึกกีฬาให้เยาวชน ซึ่งเราเริ่มต้นจากกีฬาปิงปองก่อน เพราะเป็นกีฬาที่ใช้พื้นที่ไม่เยอะ และสามารถเริ่มต้นได้ง่าย

จริงๆ ตัวสถานพินิจฯ จะมีกิจกรรมหรืออาชีพทางเลือกให้กับน้องๆ อยู่แล้ว กีฬาก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่สิ่งที่ทำให้โครงการของเราแตกต่างจากกิจกรรมอื่นคือ ถ้าเป็นงานอื่นๆ เวลาเด็กพ้นจากสถานพินิจฯ ไปแล้ว อายุมักจะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะทำงานได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องกีฬา เราสามารถรับเขาเข้ามาเป็นนักกีฬาเยาวชนแล้วให้ค่าตอบแทน พร้อมกับมีบ้านพักให้ด้วย พูดง่ายๆ คือเราสามารถดูแลเขาได้ 24 ชั่วโมง

สำหรับการคัดเลือกเด็ก เราจะเริ่มจากการคัดเลือกเด็กที่มีทักษะด้านกีฬาเป็นเลิศ โดยคัดจากการแข่งขันกีฬาของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (DJOP) ซึ่งเป็นรายการที่นำเด็กจากสถานพินิจฯ ทั่วประเทศมาแข่งกัน เราก็ไปดึงตัวเด็กที่ชนะการแข่งขัน 3 อันดับแรก มาสัมภาษณ์ว่าเขาสนใจไหม พร้อมไหม นี่คือเด็กกลุ่มที่หนึ่ง

อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่ทักษะด้านกีฬาอาจไม่เด่นมาก แต่เราเห็นความตั้งใจของเขาที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลุ่มนี้เราจะได้มาจากการที่เจ้าหน้าที่ของเราลงไปเก็บข้อมูลร่วมกับโค้ชและเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจฯ เพื่อช่วยกันหาว่าเด็กคนไหนมีแวว พอได้มาแล้วก็เรียกมาสัมภาษณ์ ถ้าสัมภาษณ์แล้ว ผ่านการประเมินจากนักจิตวิทยา ดูแล้วมีความพร้อม เห็นว่าใจเขามาจริง เราก็จะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

 

ในมุมของคนทั่วไป อาจมองว่าเด็กในสถานพินิจเป็นเด็กไม่ดี พอคุณได้ลงไปสัมผัสและพูดคุย คุณเห็นอะไรในตัวเด็กเหล่านี้บ้าง

เราบอกเด็กๆ เสมอว่า ไม่ว่าคุณจะเคยทำอะไรมา และไม่ว่าสังคมจะมองยังไง ไม่เป็นไร ประเด็นคือถ้าพลาดแล้ว คุณยอมรับได้ไหม คิดได้ไหม ถ้าคุณคิดได้ คุณต้องยอมรับก่อนว่าสิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นจริง ยอมรับในความผิดนั้น เมื่อยอมรับได้แล้ว แปลว่าคุณรู้แล้วว่ามันผิดยังไง แล้วเดี๋ยวจะทำให้ถูก ทีนี้ลองคิดซิว่าจะทำยังไงให้มันถูก

พูดง่ายๆ คือเขาต้องยอมรับก่อน ว่าเขามาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง แล้วให้เขาเรียนรู้ว่าเขาพลาดได้ยังไง พอเขาเรียนรู้ เขาถึงจะเริ่มแก้ไขมันได้

ทีนี้ เวลาเราพูดกันแบบนี้มันดูง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่ยากมากคือ การที่เขาเคยทำผิดมา แล้วจะกลับมาเข้าสังคมอีกครั้ง โดยเฉพาะถ้าเขากลับไปอยู่ในสังคมเดิมๆ ครอบครัวแบบเดิม ชุมชนแบบเดิม เราเห็นว่ายังไงก็เละแน่ ต่อให้มีหน่วยงานไหนก็แล้วแต่ที่เข้าไปช่วยเหลือ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ จับมือเขาให้ลุกขึ้นมา แต่ทันทีที่เราหันหลังกลับ เขาก็จะโดนมองในแง่ลบอยู่ดี

ดังนั้น เราจึงมองว่าสุดท้ายแล้ว เด็กเหล่านี้ต้องการ Badge หรือตราประทับอะไรสักอย่างที่ป้องกันเขาได้ สมมติว่าคุณเป็นแบบน้องๆ เหล่านี้ ต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ เคยทำผิด เคยติดยา ค้ายา หรือสักมาเต็มตัว อะไรก็ตามแต่ วันหนึ่งเมื่อคุณกลับออกมาเข้าสังคมปกติ ไม่ว่าจะกลับมาเข้าโรงเรียน หรือเข้ามหาวิทยาลัย เจอเพื่อนถามว่า เฮ้ย มึงหายไปไหนมาวะ สองสามปี แล้วตอนนี้มึงทำอะไรอยู่ พอเจอคำถามแบบนี้ คุณจะเริ่มปิดตัวเองทันที ไม่อยากให้รู้ว่ากูอยู่สลัม ไม่อยากให้รู้ว่ากูเคยทำอะไรผิดมา นี่คือปัญหาที่เราเจอจากการลงไปคลุกคลีกับเด็กเหล่านี้

พูดง่ายๆ ว่าเวลาออกมาสู่สังคมช่วงแรกๆ ทุกคนกลัวหมด ซึ่งเราใช้เวลาอยู่เป็นปีๆ เพื่อทำความเข้าใจกับเขาว่า คุณต้องยอมรับให้ได้ว่าตัวเองเคยผ่านอะไรมา แต่การยอมรับจากตัวเองอย่างเดียวไม่พอ เพราะเขาก็ไม่อยากให้ใครมาดูถูกเขาอีก สุดท้ายแล้วเราจึงพบว่า สิ่งที่เราให้เขาได้และมีค่ากับเขามาก คือ Badge ของสโมสร BBG เพราะเมื่อเขาใส่ชุดนักกีฬาที่มีตราสโมสร และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมแล้ว เวลาเพื่อนถามว่า เฮ้ย ตอนนี้มึงทำอะไรอยู่ เขาก็จะตอบได้ว่า อ๋อ เป็นนักกีฬาอยู่สโมสรนี้ หรือถ้าเขามีแฟน ครอบครัวแฟนก็ยอมรับเขาได้ เพราะเขาคือนักกีฬา เขาไม่อายแล้ว

ทุกปี งานปลายปีของเราจะมีนักกีฬาของสโมสรที่เป็นนักกีฬาดีเด่น ซึ่งได้รับพระราชทานเข็มจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เวลาเขาไปแข่งที่ไหน สังคมก็จะรู้จักว่าสโมสรนี้เป็นยังไง ตอนนี้ในวงการปิงปอง วงการแบดมินตัน ทุกคนรู้จักเราหมด รู้ว่าเราทำอะไร รู้ว่านี่คือเด็กที่มาจากสถานพินิจฯ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เขากลับมองมุมบวกด้วยซ้ำว่า เด็กเหล่านี้คือคนที่เริ่มมาจากการติดลบ พอถึงจุดหนึ่งที่เขาทำได้ดี มีผลงาน สังคมไม่ได้มีปัญหากับเขาเลย ทันทีที่เขาใส่ชุดนักกีฬาของสโมสร ความภูมิใจมันมา แล้วความภูมิใจตรงนี้แหละ คือสิ่งที่ทำให้สโมสร BBG ประสบความสำเร็จ

 

BBG เปลี่ยนคนที่เคยติดลบให้กลายเป็นคนใหม่ได้ยังไง

(นิ่งคิด) จริงๆ แล้วแค่ตราที่อยู่บนเสื้อ บวกกับความเชื่อ ความศรัทธา ก็รุนแรงพอที่จะเปลี่ยนได้ทุกอย่างเลยนะ เมื่อคนเราศรัทธาในอะไรสักอย่างที่ถูกต้อง เช่น ศาสนา ไม่ใช่ศรัทธาในสิ่งที่ผิด เช่น ก่อนหน้านี้เขาอาจศรัทธาในพ่อค้ายา หรือศรัทธาในแก๊ง เราแค่โยกศรัทธาเขาให้กลับมาเข้าที่เข้าทาง จริงๆ แล้วมันแค่นั้นเอง สิ่งที่เราทำคือการสร้างศรัทธาใหม่ให้เขา

ตราสโมสรของเราเป็นรูปยูนิคอร์น ซึ่งมีตำนานว่า ไม่ว่าใครเป็นอะไรมาก็ตาม ถ้าเป็นคนเลวแล้วโดนเขาของยูนิคอร์นจิ้มจะตาย แต่ถ้าเป็นคนดีจะรอด บวกกับปีที่พระองค์ท่านฯ ประสูติเป็นปีม้า เราเลยใช้โลโก้เป็นยูนิคอร์น ซึ่งมีนัยยะว่า เราเชื่อว่าเราจะสามารถเยียวยาเด็กทุกคนที่เข้ามาอยู่กับตัวเรา ทันทีที่เขาใส่เสื้อกีฬาหรือเสื้อวอร์มของเรา แล้วอยู่กับเรา เราสามารถปกป้องเขาได้ ทั้งจากอดีตที่เลวร้ายหรือจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย และเราก็มั่นใจว่าเขาจะมีทางไปต่อได้ในอนาคต

เอาจริงๆ เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีอะไรมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะชีวิตเขาผ่านมาโชกโชนกว่า ถ้าเทียบกับเด็กปกติในวัยเท่ากัน แต่เด็กพวกนี้ เวลาสุดมันสุดจริงๆ แต่เมื่อเขาคิดได้ แล้วเดินต่อด้วยตัวเองได้ ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะทำให้แข็งแกร่งกว่าคนอื่น

สิ่งที่เราสังเกตเห็นอย่างหนึ่งคือ ธรรมชาติการแสดงออกของเด็กที่มาจากสถานพินิจฯ จะมีความแข็งกร้าว (aggressive) อยู่พอสมควร แต่เมื่อเราดึงเขามาเล่นกีฬา ข้อดีคือเขาสามารถเอาความแข็งกร้าวของตัวเองไปลงกับกีฬาได้ แทนที่จะเอาพลังที่มีไปค้ายาหรือคิดว่าจะไปถล่มแก๊งอีกฝั่งยังไง ก็ให้เขาแสดงออก พิสูจน์ตัวเอง และให้เขาเอาพลังมาลงกับกีฬาแทน

 

เอกภพ เดชเกรียงไกรสร

เมื่อเป็นสโมสรกีฬา แน่นอนว่าต้องมีตัวชี้วัด อยากให้เล่าถึงผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของเด็กที่เข้ามาอยู่สโมสรให้ฟังหน่อย

ตัวชี้วัดแรกคือ เราจะผลักดันให้เด็กที่อยู่กับเราทุกคนจบการศึกษาขั้นต่ำ คือม.6 ไปจนถึงปริญญาตรี ตอนแรกเราตั้งใจว่าจะเปิดให้ถึงอายุ 21 ปี เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว น่าจะเดินต่อเองได้แล้ว แต่คิดไปคิดมา เด็กของเราบางคนอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวทางการศึกษา ทำให้ระดับการศึกษาอาจไม่ตรงกับอายุเท่าไหร่ เราเลยกราบทูลกับพระองค์ท่านฯ ซึ่งพระองค์ท่านฯ ก็เห็นด้วยว่าให้ขยายไปถึงจนจบมหาวิทยาลัย ประคองไปให้ถึงตอนเขาเรียนจบ

ผมขอพูดแบบตรงไปตรงมาว่า เด็กที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ คือเด็กที่หลุดออกไปจนสุดทางแล้ว เรื่องเรียนนี่ไม่ต้องพูดถึง พอเราดึงเขาเข้ามาก็ไม่ต้องคิดเรื่องที่เขาจะกลับไปเรียนในระบบหรอก เขาบอกว่าเขาอาย เพราะเข้าไปก็ตัวโตกว่าเพื่อน เราเลยให้เขาไปเรียน กศน. เอาวุฒิขั้นต่ำมาให้ได้ ไม่งั้นอนาคตจะประกอบอาชีพลำบาก

เราก็พยายามผลักดันไปมา จนทุกวันนี้ เริ่มมีเด็กในสโมสรหลายคนเดินเข้ามาหาเรา ปรึกษาเรื่องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ หรือปรึกษาเรื่องเข้ามหาวิทยาลัย พวกเขาเริ่มมองเห็นอนาคตทางการศึกษาของตัวเอง นี่คือตัวชี้วัดที่ดีมากจากพวกเรา และเป็นขั้นแรกในเรื่องการศึกษาด้วย

อีกตัวชี้วัดคือด้านกีฬา เมื่อเขาได้เป็นนักกีฬาสโมสร เขาจะได้ติด ranking ทันที นี่คือความภูมิใจของเขา หลายคนพอเข้ามหาวิทยาลัย เขาได้เป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย ไปแข่งก็ได้รางวัล มีบางคนที่เราเคยดันจนขึ้นมาได้ถึง ranking อันดับที่ 25 ของประเทศก็มี อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องสุขภาพ เพราะเด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งเคยใช้สารเสพติด หรือสูบบุหรี่มาก่อน เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพของร่างกายในฐานะนักกีฬาจะดร็อปกว่าเด็กทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าเด็กทั่วไปต้องใช้ความพยายาม 100 เด็กของเราก็ต้องใช้ 150 หรือ 200 เพื่อให้ทัดเทียมเขา ซึ่งเรามีนักกายภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดลมาคอยเก็บบันทึกข้อมูลด้านร่างกาย สุดท้ายเราพบว่า กราฟพัฒนาการของน้องๆ หลังจากที่เข้ามาอยู่ในสโมสรเพิ่มขึ้นทุกด้าน

ตัวชี้วัดสุดท้ายคือเรื่องอาชีพ เด็กบางคนที่กำลังจะพ้นจากสโมสรมีมาปรึกษาเราว่า จะสมัครงานที่ไหน ทำงานอะไรดี เราก็จะบอกว่า เรามี partnership อยู่ กางให้ดูเลยว่ามีกี่ตัวเลือก จะไปอยู่สโมสรนี้หรือทำงานด้านกีฬาแบบนี้ไหม แล้วถามเขาต่อว่าเขาอยากเป็นอะไร นักกีฬา โค้ช หรือว่าครู เราก็จะมี option ให้เขา และส่งเขาไปอยู่ในจุดที่เขาอยากเป็นได้

 

ในส่วนของกีฬา อยากทราบว่าทำไมถึงเริ่มต้นจากปิงปองก่อน

ปิงปองเป็นกีฬาที่ใช้พื้นที่น้อยกว่ากีฬาชนิดอื่น ถ้าเราไปดูพื้นที่ในสถานพินิจฯ ไม่ใช่ว่าทุกแห่งจะมีพื้นที่ที่ทำเป็นสนามแบดมินตันหรือสนามฟุตบอลได้ แต่ปิงปอง ขอแค่มีห้องสักห้อง ตั้งโต๊ะปิงปองได้ตัวนึง ก็เล่นได้ 4 คนแล้ว ถ้าจัดรอบดีๆ เช้าบ่าย ก็ได้ 8 คน แค่โต๊ะปิงปองตัวเดียว ช่วยเด็กได้ 8 คนแล้ว ฉะนั้นเราเลยพิจารณาว่าปิงปองเป็นกีฬาที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำเข้าไปให้เด็ก

ข้อดีอีกอย่างคือ เราสามารถขยายไปยังพื้นที่กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ นอกจากสถานพินิจฯ ได้ด้วย เช่น สถานสงเคราะห์ หรือชุมชนแออัด เพราะโต๊ะปิงปองสามารถนำไปกางตรงไหนก็ได้

ส่วนแบดมินตันหรือฟุตบอลจะต้องใช้พื้นทีเยอะกว่า และต้องทำอาคารหรือยิมขึ้นมาเฉพาะ ไม่สามารถใช้ห้องอเนกประสงค์ได้ ทีนี้พอทำไปสักระยะ เราพบความพิเศษของกีฬาปิงปองอย่างหนึ่งว่า คนที่ได้ก็จะได้เลย แต่คนที่เล่นไม่ได้ก็จะรู้สึกว่า ปิงปองเป็นอะไรที่ยากมาก เด็กบางคนที่รู้สึกว่าเขาไม่เข้ากับปิงปองก็จะเริ่มมองหาว่า มีกีฬาชนิดอื่นอีกไหม เราเลยมองว่าคงต้องเพิ่มกีฬาชนิดอื่นเข้ามา เลยไปสอบถามเด็กว่าเขาอยากเล่นอะไร แน่นอนว่ากีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งคือฟุตบอล อีกกีฬาที่ทุกคนสามารถเล่นได้เลยคือแบดมินตัน เราเลยเพิ่มกีฬาสองชนิดนี้เข้ามาเป็นทางเลือกให้เด็กในสโมสร

บางคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อเด็กส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ทำไมไม่เอาฟุตบอลหรือมวย ซึ่งน่าจะเหมาะกับผู้ชายมากกว่า เหตุผลคือมันเป็นกีฬาที่มีแรงปะทะโดยตรง เราเลยเอาไว้ทีหลัง ส่วนปิงปองกับแบดมินตัน มันไม่ได้แตะต้องตัวกัน แต่ฟุตบอลนี่มันมีโอกาส บางทีวิ่งชนกัน ปะทะกัน ก็อาจจะเกิดอารมณ์โกรธได้ง่าย เราเลยเอามาไว้ทีหลัง ขอรู้จักเด็กพวกนี้ให้ดีก่อน

 

แล้วการฝึกซ้อม มีความเคร่งครัดจริงจังแค่ไหน

เราใช้ตารางฝึกซ้อมแบบเดียวกับนักกีฬาทีมชาติเลย เพียงแต่จะมีการปรับเวลาให้เหมาะสมขึ้น

มีคนชอบถามเราว่า เราบังคับให้เด็กต้องซ้อมอยู่ตลอดเวลารึเปล่า เราก็บอกไปตามตรงว่าบังคับเขาไม่ได้หรอก คุณไม่มีทางบังคับให้เด็กทำตามแบบนักกีฬาทีมชาติได้ทุกวัน เพราะต้องอกแตกตายแน่ๆ (หัวเราะ) แล้วถ้าใจเด็กไม่อยากอยู่ เขาอยู่ไม่ได้หรอก ฉะนั้นคนที่อยู่ได้คืออยู่เพราะใจจริงๆ

 

เอกภพ เดชเกรียงไกรสร

 

มีเด็กที่ไม่ไหว ไม่เอา จนขอถอนตัวบ้างมั้ย

ก็มีบ้าง แต่ต้องบอกว่าองค์ประกอบส่วนหนึ่งอยู่ที่สังคมของเขา เช่น เด็กบางคนที่มีพ่อแม่ที่ไม่ดีอยู่แล้ว แล้วเราเป็นสโมสรกีฬาที่รับลูกเขามาดูแล เราจะมีสิทธิทางกฎหมายครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งอยู่กับพ่อแม่ บางทีพ่อแม่ก็บอกว่า เฮ้ย ออกมาทำอันนี้ที่บ้านดีกว่า จะไปอยู่แบบนั้นทำไม ซึ่งพอเขากลับไปอยู่บ้าน เด็กก็กลับไปสู่สังคมเดิมๆ สภาพแวดล้อมเดิมๆ

ทีนี้ ต้องเข้าใจว่าสมการเดิม แทนค่าแบบเดิม มันไม่มีทางได้ผลลัพธ์ใหม่ ถ้าเขากลับไปอยู่ในสังคมเดิม เจอเพื่อนกลุ่มเดิม ขับรถมาเรียก เฮ้ยมึง ไปกัน มันก็ไปแล้ว ง่ายๆ แบบนั้นเลย ตรงนั้นเราไม่สามารถไปควบคุมได้

แต่ตราบใดที่เด็กอยู่กับเรา แทบไม่เคยมีปัญหาเลย จะมีแค่ช่วงแรกๆ ที่บางคนรู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ เขาก็ไป เรามีพี่ๆ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เข้าไปคุยกับเขาก่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไหวไม่ไหวยังไง แต่สุดท้ายถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้

 

คนในสังคมอาจยังติดภาพว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กเกเร เด็กใจแตก อยากถามในมุมของคุณที่คลุกคลีกับเด็กเหล่านี้ เห็นมุมมองอะไรที่ต่างออกไปบ้างไหม

ก่อนที่เราจะเป็นสโมสร ช่วงก่อนปี 2557 เราเป็นแค่โปรเจ็กต์เล็กๆ ในโครงการส่วนพระองค์ สมัยนั้นยังไม่มีสโมสร ยังไม่มีบ้านพัก เด็กคนแรกที่เข้ามา ผมให้ไปนอนบ้านผม (หัวเราะ) ตอนนั้นก็มีคนถามว่า ไม่กลัวเขาลุกขึ้นมาเอามีดแทงเหรอ ผมก็บอก แล้วเขาจะมาแทงทำไม สุดท้ายอยู่กันไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราไม่ได้อยู่แบบมีกระบอง ผมใช้ชีวิตปกติ เขาก็ใช้ชีวิตปกติ ก็อยู่กันมาได้

ในมุมของผม ผมไม่เคยมองว่าเขาแตกต่าง คนที่อยู่ดีๆ ลุกขึ้นมาแล้วอยากทำร้ายคนอื่น หรืออยากทำตัวเองให้เลว มันไม่มีหรอก เพียงแต่เขาโดนอะไรมา เจออะไรมา ก็เท่านั้นเอง พอเราไปนั่งคลุกคลีกับเขาและได้รู้เรื่องราวของเขาจริงๆ ผมยังคิดเลยว่า เออ ถ้าเราเจอแบบนั้นมา โดนกระทำแบบนั้นมา โดนสอนมาแบบนั้น หรืออยู่ในสภาพสังคมแบบนั้น ผมว่าผมก็เป๋เหมือนกัน เขาแค่ไม่มีโอกาสได้อยู่ในที่ที่ให้โอกาสเขา แต่ในเมื่อวันนี้เขามีโอกาส แล้วเขาทำได้ เขาก็โอเค

พูดง่ายๆ ว่าทุกคนมีจุดระเบิดหมด มีจุดที่ทำให้ตัวเองข้ามไปสู่อะไรบางอย่างอยู่แล้ว อยู่ที่ว่ามีใครหรืออะไรมากระตุ้น มากน้อยแค่ไหน เพราะยังไงเขาก็เป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์ทุกคนพลาดได้ ผมเองก็พลาดได้ คุณก็พลาดได้ วันนี้คุณบอกว่าคุณเป็นคนดี พรุ่งนี้คุณอาจเผลอพลาดเป็นคนไม่ดีก็ได้ เขาไม่ได้ต่างจากเราเลย

 

แล้วในความเป็นนักกีฬา สโมสรคาดหวังกับเขาแค่ไหน ในแง่ของผลการแข่งขันหรือความสำเร็จในฐานะนักกีฬา

เราคือสโมสรกีฬา แน่นอนว่าเราต้องคาดหวังรางวัล คาดหวังถ้วย เพราะผู้สนับสนุนของเราเองก็คาดหวัง สังคมก็คาดหวัง

ทั้งนี้ มันไม่ใช่การคาดหวังในแง่ที่ว่าถ้าคุณทำไม่ได้แปลว่าคุณห่วย แต่คาดหวังเพราะเมื่อเขาทำได้ มันจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าเด็กอีกหลายๆ คนที่มองดูอยู่ข้างในสถานพินิจฯ ในสถานสงเคราะห์ หรือในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง จะได้เห็นว่าคนที่โตมาแบบเดียวกับเขา เคยอยู่ที่เดียวกับเขา สามารถขึ้นไปถึงจุดนั้นได้ แล้วเขาเองก็สามารถทำได้เหมือนกัน

สำหรับผม มันคือการขยายความหวังและแรงบันดาลใจให้กับเด็กอีกหลายพันหลายหมื่นคน ให้เห็นว่าถ้าเขาจะทำ เขาทำได้ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง และคาดหวังมากด้วย ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่า ภายใน 5 ปีเราจะมีนักกีฬาที่ติดทีมชาติ และผมเชื่อมั่นมากว่าเราจะทำได้ เราเป็นสโมสรกีฬา แน่นอนว่าเราคาดหวังความสำเร็จด้านกีฬาอยู่แล้ว (หัวเราะ) ไม่งั้นเราคงเป็นมูลนิธิหรือเป็นเอ็นจีโอไปแล้ว

ตอนนี้หลายคนจะมอง BBG ว่าเป็นเหมือนเอ็นจีโอ แต่จริงๆ เราคือสโมสรกีฬา เพียงแต่เราแค่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนว่าจะเอาเด็กกลุ่มนี้มาปั้นเป็นนักกีฬา เราไม่ต่างจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่ต่างจากเลสเตอร์ ไม่ต่างจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่แทนที่เราจะไปคัดเด็กที่เก่งอยู่แล้วมา เราแค่เชื่อว่าเด็กเหล่านี้ที่เคยไปจนสุดทางมาแล้วในฝั่งหนึ่ง เขาก็น่ามาสุดทางในอีกฝั่งหนึ่งได้

 

เอกภพ เดชเกรียงไกรสร

 

 

[box]

จากเด็ก ‘บ้านกรุณา’ สู่นักกีฬาแบดมินตันสโมสร BBG

‘แคมป์’ บูรพา แก้วยศ

 

หลังจากเปิดสโมสรอย่างเป็นทางการมาเป็นเวลาราว 5 ปี สโมสรกีฬา BBG ได้บ่มเพาะนักกีฬาเยาวชนให้ถึงฝั่งฝันมาแล้วหลายต่อหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ‘แคมป์’ บูรพา แก้วยศ วัย 18 ปี ซึ่งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพัฒนานักแบดมินตันของสโมสร BBG จากเดิมที่ถูกส่งเข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกรุณา

“ผมชอบเล่นกีฬาอยู่แล้วครับ เล่นบอลมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นนักฟุตซอล ตอนแรกอยู่ที่ศูนย์ฝึกบ้านกรุณา ก็ซ้อมบอลอยู่ข้างในนั้น ทีนี้สโมสร BBG มีโครงการที่เอาโค้ชเข้ามาสอนแบดมินตัน ก็สนใจ อยากเข้าร่วมโครงการนี้ ตอนนั้นทางบ้านกรุณาก็คัดเลือกคนที่มีความประพฤติดีมาเข้าร่วมโครงการ ผมก็ได้รับคัดเลือกเข้ามา ตอนนี้อยู่มาสองปีแล้วครับ

แคมป์เล่าประสบการณ์ช่วงแรกของการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร BBG ว่า “ช่วงแรกๆ ก็ยากครับ ต้องหัดใหม่หมดเลย ตั้งแต่การจับไม้ การเสิร์ฟ ภายใต้การดูแลของโค้ช แต่ผมอยากเป็นเหมือนรุ่นพี่นักกีฬาคนอื่นด้วย ผมไม่อยากด้อยกว่าคนอื่น เห็นเขาเก่ง เราก็อยากเก่งตาม พี่ๆ ในสโมสรบอกว่า เราเข้ามาทีหลัง ถ้าอยากเก่งก็ต้องขยันกว่า เวลาว่างๆ ผมก็ซ้อม ตีเล่นให้มันเข้ามือ ใช้เวลากับมันให้เยอะกว่าคนอื่น ผมได้ไปแข่งครั้งแรกที่ฉะเชิงเทรา ตอนนั้นลงไปแข่งก็มึนๆ ครับ มันตื่นเต้น (หัวเราะ) ก็แพ้กลับมา มันไม่ค่อยกล้าตีเพราะคนดูเยอะ พอแข่งครั้งที่ 2-3 ก็เริ่มชิน ตอนแข่งครั้งที่ 2 ผมได้รองแชมป์แบดมินตันคู่ พอครั้งที่ 3 ก็ได้เป็นแชมป์เดี่ยว”

“แต่ก่อนผมเกเร ไม่ฟังใคร เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ แล้วชอบสอนคนอื่นด้วย ทั้งที่ตัวเองก็ทำไม่ได้นะครับ ชอบสอนคนอื่นว่าให้ทำแบบนี้ๆ แต่ผมไม่เคยทำเลย เมื่อก่อนผมไม่มีอะไรเลย เที่ยวเล่นอย่างเดียว ไม่ได้เรียน ไม่ได้นอนบ้าน ชีวิตไม่ได้ทำอะไรดีๆ แต่พอมาอยู่ที่นี่ มันเหมือนได้ใช้ชีวิตแบบคนปกติ ได้เรียน ได้ซ้อมกีฬา ไม่ได้เละเทะเหมือนแต่ก่อน”

“พอเข้ามาที่นี่ พี่ๆ ที่นี่ก็โตกว่า แล้วเขาเคยเกเรมาก่อน บางคนผมเคยเห็นเขามาก่อนตอนอยู่ในสถานพินิจฯ เขาก็เคยดื้อและเกเรมาเหมือนกัน แต่พอมาเจอกันในนี้ เขาเหมือนเป็นคนละคน ที่เห็นชัดคือเขาดูดีด้วยครับ พอเขาเป็นนักกีฬาแบบนี้ ทำตัวแบบนี้ มันดูดี เราเลยรู้สึกเกรงใจตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาเจอกันที่นี่ เพราะเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของเขาด้วย เห็นว่าแต่ก่อนเขาเป็นยังไง พอมาที่นี่แล้วเขาเปลี่ยนไปยังไง”

“จริงๆ ผมทำมาหมดแหละครับ ไถเงิน ปล้น จี้ ทำมาทุกอย่าง แต่ตอนที่โดนส่งเข้าบ้านกรุณา ตอนนั้นอายุ 13 ผมโดนเรื่องปล้น กับพยายามฆ่า วันนั้นผมไปขี่รถเล่นกับรุ่นพี่แถวอยุธยา ทีนี้ก็อยากได้รถ อยากได้ตังค์ด้วยนิดๆ หน่อยๆ พอขี่ไปปุ๊บ เจอเหยื่อพอดี รุ่นพี่ผมก็เอาปืนไปจ่อหัว ตอนนั้นผมไม่มีปืนติดตัว พกแต่มีด ก็เอามีดไปจ่อเขาด้วย คนที่ผมเอามีดจ่อก็ต่อยหน้าผม รุ่นพี่ผมก็ยิงเลย ก่อนหน้านั้นก็มีเรื่องอยู่เรื่อยๆ ครับ ตามปกติของวัยรุ่นตีกัน รุ่นพี่ผมเรียนช่าง ก็ตามๆ เขาไป”

“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมว่าผมก็ยังทำแบบเดิมอยู่ดีนะ ทำอะไรชุ่ยๆ แบบนั้นแหละ มันจะได้เป็นประสบการณ์ของตัวเองด้วย เพราะถ้าเราดีมาตั้งแต่เด็กๆ เราจะไม่รู้ว่าความชั่วเป็นยังไง (หัวเราะ) จะไม่เห็นด้านเลวของตัวเอง แต่ถ้าจะมีอะไรที่กลับไปแก้ไขได้ ผมอยากกลับไปขอโทษคนที่ผมไปทำให้เขาเดือดร้อนครับ ทั้งที่ทำให้เขาเจ็บตัว หรือไปเอาของเขามา”

“ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ตอนที่จะเข้ามา BBG ผมไม่ได้ปรึกษาใคร ผมเลือกของผมเอง เพราะผมรู้ว่าแม่ผมอยากให้ผมได้ดีอยู่แล้ว พอเขาเห็นเราเล่นกีฬา แม่บอกว่าดีแล้วที่คิดได้ เขาไม่อยากให้กลับไปเละเหมือนแต่ก่อน เมื่อก่อนเวลาแม่ผมบ่น ผมก็ไม่ฟังครับ พอบ่นปุ๊บผมหนีออกไปข้างนอกเลย”

“ผมอยากเป็นทหารไม่ก็ตำรวจ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอะไรดี รู้แต่ว่าอยากรับราชการ ส่วนการเป็นนักกีฬาก็คิดเหมือนกันครับ แต่ยังไม่คิดถึงขั้นนักกีฬาทีมชาติ แต่ถ้าได้เป็นโค้ช ช่วยสอนคนอื่น ก็ดีนะครับ รู้สึกว่ามันไม่ไกลมาก แต่ถ้าเป็นนักกีฬาทีมชาติมันไกลเกิน ส่วนเรื่องเรียน ตอนนี้ก็เรียน กศน. อยู่ครับ เทียบเท่าม.ปลาย ส่วนมหาวิทยาลัย ก็อยากเรียนต่อครับ มีพี่ของ BBG ช่วยหาที่ให้ แต่ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะเข้าคณะไหน”

“ไอดอลของผมคือพี่แมน บุญศักดิ์ พลสนะ ครับ อยากเก่งแบบเขา ท่าเขาเยอะดี ตีเก่งมาก เสียดายตอนนี้เลิกเล่นไปแล้ว”

‘แคมป์’ บูรพา แก้วยศ

[/box]

 

[box]

รู้จักกับ ‘สโมสรกีฬา BBG’

 

สโมสรกีฬา BBG มีจุดเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2557 โดยเริ่มจากการส่งโค้ชปิงปองมืออาชีพ เข้าไปฝึกสอนในสถานพินิจฯ เด็กชาย 1 แห่ง และเด็กหญิง 1 แห่ง หลังจาก 1 ปีผ่านไป พบว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดี สามารถส่งไปฝึกภายนอกและแข่งขันกับคนอื่นได้ ระหว่างนั้นก็ขยายผลไปยังสถานพินิจฯ สถานสงเคราะห์อื่นๆ รวมทั้งพื้นที่ที่มีเด็กกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กเริ่มพ้นโทษ ทางสโมสรได้เล็งเห็นปัญหาว่า หากเด็กกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ อาจนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำ จึงเกิดเป็นการตั้งสโมสรกีฬาอย่างเต็มรูปแบบขึ้น เพื่อให้ที่นี่เป็นเสมือน ‘บ้าน’ ของเด็กที่พ้นโทษแล้ว โดยกระบวนการทำงานของสโมสร BBG จะเริ่มจากการคัดเลือกเยาวชนที่มีศักยภาพทางกีฬา รวมทั้งมีความตั้งใจและมุ่งมั่นเข้ามาเก็บตัว และใช้ชีวิตที่ศูนย์ฝึกและบ้านสโมสร โดยจะได้รับการพัฒนาทักษะทางกีฬา ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต รวมทั้งได้เข้ารับการศึกษาด้วย

ปัจจุบันสโมสร BBG ได้ขยายชนิดกีฬาเพิ่มเติมอีก 2 ชนิด คือแบดมินตัน และฟุตบอล โดยมีเยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการราวๆ 470 คน และมีนักกีฬา ‘ทีมเอ’ ที่สามารถยกระดับสู่การแข่งขันระดับอาชีพได้อย่างสม่ำเสมอ

[/box]

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save