fbpx
ชันสูตรประวัติศาสตร์ กับ รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช

ชันสูตรประวัติศาสตร์ กับ รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

 

ขึ้นชื่อว่าคุยกับหมอ ภาพการตรวจร่างกายและหัวข้อเรื่องโรคภัยไข้เจ็บย่อมขึ้นมาในหัว แต่การคุยกับ รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช สูติแพทย์ประจำโรงพยาบาลราชวิถี อาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป

ช่วงตุลาคม 2560 หนังสือ ชันสูตรประวัติศาสตร์ เมื่อคราวสวรรคต ของหมอเอกชัย ออกมาวางบนแผง เกิดเป็นกระแสในหมู่คนรักประวัติศาสตร์ในวงกว้าง เป็น ‘ประวัติศาสตร์’ ที่ใส่ ‘วิทยาศาสตร์’ เข้าไปอย่างเนียนกริบ ว่าด้วยเรื่องกรณีสวรรคตของพระมหากษัตริย์ไทย มีตั้งแต่องค์สำคัญในยุคกรุงศรีฯ มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์เกือบทุกพระองค์ และยังมีของสมเด็จพระราชินีและบรมวงศานุวงศ์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจซ่อนอยู่อีกมาก

คำถามที่ว่า รัชกาลที่ 4 สวรรคตเพราะไข้ป่าจริงไหม หรือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชอาจถูกลอบปลงพระชนม์ สามารถตอบได้ด้วยการค้นเอกสารชั้นต้นมาผนวกรวมกับความรู้ทางการแพทย์ จนได้เป็นข้อสรุปที่ชวนให้เรามองประวัติศาสตร์ด้วยแว่นตาอันใหม่

ล่าสุด หมอเอกชัยเพิ่งออกหนังสือ ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระเจ้าตาก มาอีกเล่ม ว่าด้วยข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับกษัตริย์ที่มีตำนานเรื่องเล่ามากที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์สยามประเทศ

จากนิสิตสัตวแพทย์ จุฬาฯ ที่เคยคิดจะย้ายไปเรียนวิศวะฯ ลาดกระบัง จนสุดท้ายกลายเป็นนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มุ่งตรงมาทางสูติแพทย์ และทำงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ทำงานที่โรงพยาบาลราชวิถีมากว่า 25 ปี

101 ชวนคุณหมอนักประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง มานั่งคุยแบบ ‘ประวัติศาสตร์วิเคราะห์’ ที่ไม่ได้จำแค่ พ.ศ. เท่านั้น แต่ว่าด้วยความตาย และการชำระ-ชำแหละประวัติศาสตร์ด้วยวิทยาศาสตร์

รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช

อะไรที่ทำให้นายแพทย์หันมาสนใจประวัติศาสตร์อย่างจริงจังจนถึงขั้นเขียนหนังสือ

ผมชอบประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เพราะว่าครูที่สอนสมัยประถมสอนสนุกมาก พอโตขึ้น ความรักในประวัติศาสตร์ก็ยังมีอยู่ แต่ผมก็ชอบวิชาแพทย์ ผมรักทั้งสองวิชาเลย แต่วิชาแพทย์เรียนเองไม่ได้ วิชาประวัติศาสตร์ยังพอค้นคว้าหาเรียนเองได้ ผมเลยเข้าเรียนหมอและเรียนประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง

หนังสือในชั้นหนังสือของผมเกือบทั้งหมดเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ไล่ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ ผมเก็บมาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงตอนนี้ พออ่านมากเข้าก็อยากเขียน มีหลายประเด็นที่เราสงสัย ไม่เห็นด้วย ผมก็คิดว่าอาจจะมีความรู้ที่พอจะเขียนถ่ายทอดได้ เลยเริ่มเขียนลงนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

งานชิ้นแรกที่เขียนคือเรื่องอะไร

เรื่องนางนากตายเพราะอะไร พอดีผมเป็นสูติแพทย์ เลยสนใจไปทางนี้ ผมไปค้นหนังสือเกี่ยวกับนางนากมาทั้งหมด จนได้ข้อสรุปว่าตอนนั้นนางนากเบ่งคลอดอยู่นาน สันนิษฐานว่าเด็กตัวใหญ่ แล้วก็เกิดภาวะศีรษะผิดสัดส่วนกับอุ้งเชิงกรานมารดา เด็กตัวใหญ่ เชิงกรานเล็ก ก็ออกไม่ได้ พอนานเข้า มดลูกแตก จนท้ายที่สุดก็ตกเลือดในท้องจนเสียชีวิต

หลังจากนั้น ผมก็อ่านเจอเรื่องพระนางโสมนัส พระมเหสีของรัชกาลที่ 4 ปรากฏว่าท่านก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคประหลาดพร้อมกับทรงประสูติพระราชโอรสก่อนกำหนด ผมอ่านเสร็จก็ไปค้นเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ที่ผมมีอยู่ แล้วผมอ่าน textbook ทางการแพทย์ประกอบด้วย หนังสือกองเป็นตั้งเลย ผมเอาข้อมูลทั้งหมดมา mapping ก็เจอว่าบางเรื่องไม่ตรงกัน ผมก็เขียนแย้ง อธิบายมาเรื่อยๆ ลงเป็นตอนๆ แล้วก็นำมาวิเคราะห์ใหม่หาสาเหตุการสวรรคตใหม่ก็พบว่าพระโรคประหลาดนั้นคือพระโรคที่มีการอักเสบติดเชื้อใน Meckel’s diverticulum มีลำไส้อุดตันรุนแรงและต่อมาเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด หลังจากนั้นไม่นานก็สิ้นพระชนม์

ช่วงนั้นผมอ่านงานของคุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ ลูกของหลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์ไทย ท่านเขียนถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 3-5 ผมก็ใช้หลักการดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถจะฟันธงได้ระดับหนึ่งว่าพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยสาเหตุใดกันแน่

เอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับพระอาการ มีบอกละเอียดขนาดที่สามารถเอามาวินิจฉัยได้เลยใช่ไหม

ข้อดีอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ไทย คือ จะมีมหาดเล็กนั่งเขียนเกี่ยวกับพระอาการประชวรเกือบทุกวัน เล่าว่าวันนี้เป็นแบบนี้ อย่างรัชกาลที่ 4 มีคำถามว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เพราะไข้ป่าจริงมั้ย ก็มีมหาดเล็กจดละเอียด เช่น ทรงถ่ายพระบังคนหนักเป็นเลือด ผมอ่านไปอ่านมาแล้ววิเคราะห์ ก็สรุปได้ว่าใช่ พระองค์สิ้นพระชนม์เพราะไข้ป่าจริงๆ

หรืออย่างรัชกาลที่ 6 พระองค์เคยผ่าตัดไส้ติ่งตอนเรียนอยู่ที่อังกฤษ การผ่าสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้า สมัยก่อนเขาจะเย็บเฉพาะชั้นผิวหนัง ทำให้ผนังหน้าท้องบริเวณนั้นไม่แข็งแรง ต่อมาก็เป็นรอยโหว่สามารถโป่งเป็นถุงออกมาได้ ทำให้ลำไส้สามารถเคลื่อนลงมา แล้วจะมีเหมือนไส้เลื่อนที่ถุงอัณฑะ ดังนั้นเวลาที่พระองค์เสวยพระกระยาหาร จะมีมหาดเล็กอยู่ใต้โต๊ะคอยดันเวลาลำไส้ปูดออก พอลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้อง  พระองค์ก็จะทรงมีพระอาการดีขึ้น ก็หาย แล้วก็เป็นใหม่เรื่อยๆในระหว่างที่ทรงเสวยพระกระยาหาร

ทีนี้พอพระอันตะออกมาแล้วก็ไม่ยอมกลับคืน ปกติไส้จะมีเส้นเลือดไปเลี้ยง แต่พอมันบีบตัน เลือดก็เข้าไปเลี้ยงไม่ได้ พอไม่มีอาหาร มันก็เน่าจนแตก จนเกิดการติดเชื้อในช่องท้อง ก็สวรรคต

แล้วมีอีกเรื่องที่เล่ากันมา คือ หมอเมนเดลสันที่เป็นหมอในกรมนครบาล ตอนนั้นได้รับการเชิญมารักษา แต่พอถึงเวลาจะต้องตรวจ หมอเมนเดลสันบอกว่าขอไปเต้นรำก่อน พอกลับมาก็สายเกินไป ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ ผมไปอ่านข้อเขียนเรื่อง I lost a king ที่หมอเมนเดลสันเขียนเอง มีแปลลงในวชิราวุธานุสรณ์สารซึ่งเป็นวารสารของโรงเรียนวชิราวุธ เป็นเอกสารชั้นต้นอย่างดีเลย หมอก็เขียนพระอาการแต่ละวัน ผมเชื่ออันนี้นะ เพราะเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งความจริงคือหมอเมนเดลสันถูกเรียกมารักษาตั้งแต่ต้นและสามารถวินิจฉัยภาวะลำไส้อุดตันได้ ซึ่งจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดโดยด่วน แต่ได้รับอนุญาตให้ผ่าตัดเมื่อสายไปแล้ว ลำไส้แตกไปแล้ว ไม่ทันการณ์ ไม่ใช่เพราะไปเต้นรำก่อน

เหตุที่ผมเรียนแพทย์ ผมก็จะมองเป็นวิทยาศาสตร์ และผนวกความชอบในวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาในสาขาสังคมศาสตร์ที่ผมมีมาแต่เดิม พอผมมีข้อมูลต่างๆ ที่สะสมมานานแล้วก็ค้นคว้าดูว่าพระโรคที่เขียนไว้ว่าเป็นสาเหตุแห่งการสวรรคตนั้นจริงหรือไม่

ข้อได้เปรียบของผมมากกว่าคุณหมอคนอื่นๆ คือผมมีเอกสารทั้งชั้นต้นและชั้นรองเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ในขณะที่ข้อได้เปรียบของผมมากกว่านักประวัติศาสตร์คือผมมีความรู้ทางการแพทย์และสามารถสืบค้นโรคทางการแพทย์ พอศึกษาแล้ว ผมฟันธงฉับๆ ออกมา คือผมชอบสรุปว่าตกลงเป็นอะไรโดยประมวลทั้งเหตุและผลของโรคต่างๆ ความเป็นไปได้ตามแนวทางวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยความคิดเห็นผม ใครเชื่อไม่เชื่ออีกเรื่องหนึ่ง ผมยินดีเปิดโอกาสให้ทั้งแพทย์และนักประวัติศาสตร์มาถกเถียงกันได้

นอกจากเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เห็นคุณเขียนเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การฆาตกรรม ศึกษาประเด็นนี้อย่างไร

ผมยกตัวอย่างกรณีของพระนารายณ์ ท่านสวรรคตเพราะถูกฆาตกรรม ก็ไม่ใช่เชิงการแพทย์เสียทีเดียว เพราะต้องหาสาเหตุหลายอย่าง พอดีผมไปเจอข้อเขียนอันหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ที่กล่าวว่าสมเด็จพระนารายณ์ถูกลอบปลงพระชนม์ ว่า

พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพทราชา พญาสุรศักดิ์ว่าพร้อมหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจากพระองค์ พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป วันเสาร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เพลา 10 ทุ่ม เสด็จพระนิพพาน

คำเหล่านี้แปลว่าอะไร แปลว่าฆาตกรรม แต่เขาไม่ได้เขียนหรอกว่าฆาตกรรม เราต้องวิเคราะห์ว่าแบบนี้คืออะไร มันคือฆาตกรรมชัดๆ ซึ่งการสืบสวนแบบนี้มีเยอะ อาจจะไม่ใช่โรคทั้งหมด

หนังสือ ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระเจ้าตาก และ ชันสูตรประวัติศาสตร์ เมื่อคราวสวรรคต
หนังสือ ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระเจ้าตาก และ ชันสูตรประวัติศาสตร์ เมื่อคราวสวรรคต

พอขยับมาที่เล่ม ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระเจ้าตาก มีคำถามหลายประเด็นที่ไปไกลกว่าเรื่องโรคภัยและการสืบสวนสอบสวน แต่มีเรื่องบริบททางการเมืองด้วย มุมมองของเล่มนี้เป็นแบบไหน

เรื่องพระเจ้าตาก ผมเริ่มต้นจากทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งสำคัญมาก มีคนพยายามจะใช้ทฤษฎีสมคบคิดเพื่ออธิบายว่าพระเจ้าตากไม่ได้โดนปลงพระชนม์จริง ก็ต้องย้อนไปถึงเรื่องที่ว่าพระองค์ไปกู้เงิน 60,000 ตำลึงจากเมืองจีน ไม่มีเงินคืน เลยต้องแกล้งเปลี่ยนราชวงศ์ ให้รัชกาลที่ 1 ขึ้นแทนเพื่อไม่ให้ทางจีนมาทวงหนี้ ซึ่งมันมองได้หลายประเด็นมาก

หนึ่ง มีข้อมูลชัดเจนว่าสมัยธนบุรีมีการส่งทูตและพระราชบรรณาการไปจีนทางเรือไม่รู้ตั้งกี่ลำ เงิน 60,000 ตำลึงนี่กระจอกเลยนะ เราจะกู้เงินแค่นั้นแล้วหนีหนี้ทำไม ในเมื่อเราส่งสมบัติไปได้จำนวนมากขนาดนั้น

สอง มีพระราชสาส์นที่ส่งไปจีนเขียนชัดว่า รัชกาลที่ 1 เป็นพระโอรสของพระเจ้าตาก จะขอมีสัมพันธไมตรีต่อไป ซึ่งชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นการบอกว่าเปลี่ยนราชวงศ์ ทีนี้เราก็มาดูว่าทำไมก่อนหน้านี้ ทางจีนไม่ยอมรับพระเจ้าตากอยู่นานมาก เพราะมองว่าพระองค์เป็นคนสามัญกลับขึ้นครองราชย์เอง แทนที่จะให้รัชทายาทของกษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้นครองราชย์ ต้องทรงพยายามมีพระราชสาส์นไปสิบกว่าครั้ง จีนถึงยอมรับ

ทีนี้พอมาถึงยุครัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกขึ้น น่าคิดว่าพอเปลี่ยนราชวงศ์แล้วก็อาจพบกับปัญหาแบบเดิมอีก เลยต้องบอกว่าเป็นพระโอรสของพระเจ้าตาก ทางจีนก็โอเค เพราะสมัยก่อนการสื่อสารไม่ได้ดีขนาดนี้ ทำให้สามารถหลอกจีนได้ จึงสามารถมีสัมพันธไมตรีก็ต่อไปได้เนื่องจากจีนเชื่อว่าเป็นราชวงศ์เดิม

เพราะฉะนั้นผมแย้งได้เลย แล้วในเล่มนี้ผมภูมิใจอย่างหนึ่งว่า มีเรื่องทางการแพทย์อยู่แค่ 2 บท คือเรื่องพระเจ้าตากประชวรด้วยพระวัณโรค กับเรื่องเสียพระสติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและยาวที่สุดในเล่มนี้ นอกนั้นเป็นเรื่องทางการเมือง เรื่องตำนานเล่าขานอื่นๆ

สรุปเรื่องพระเจ้าตากเสียพระสติ ในทางการแพทย์ถือว่าจริงไหม

เนื่องจากว่าพระองค์มีพฤติกรรมที่คนปัจจุบันเห็นว่าผิดปกติ เช่น เฆี่ยน สั่งตัดคอ ทั้งที่บางอย่างเป็นค่านิยมที่ปกติของสมัยนั้น แต่เราเอาบริบทปัจจุบันไปจับ เพราะตอนนี้เราไม่ยอมรับว่าการเฆี่ยนเป็นเรื่องปกติ ก็เลยต้องดูหลายอย่าง

ทีนี้ ที่เขียนยากคือ ในทางการแพทย์ต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางจิตแล้วจึงสรุปได้ แต่ในกรณีพระเจ้าตาก ประวัติก็มีเท่าที่เห็น แล้วรัตนโกสินทร์เป็นฝ่ายเขียนซึ่งเป็นคนละราชวงศ์ ก็อาจจะมี bias ได้ การตรวจร่างกาย ก็ไม่มีใครไปตรวจพระองค์ได้ ตรวจทางจิตยิ่งแล้วใหญ่ ไม่มีใครตรวจ ความรู้ทางจิตเวชตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมี

การเขียนต้องใช้ข้อมูลหลายๆ ด้านมาประกอบ สุดท้ายผมสรุปว่าพระเจ้าตากไม่ได้เสียพระสติ ผมไปดูเกณฑ์ของแต่ละโรค เช่นโรคซึมเศร้า ปรากฏว่าพระองค์ไม่เข้าสักเกณฑ์ นี่ก็เป็นการเอาความรู้ทางการแพทย์มาใช้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์

คุณศึกษาประวัติศาสตร์ชนชั้นสูงมาเยอะ เห็นด้วยไหมกับคำว่าในไทยไม่ค่อยมีประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อย

สมัยก่อนคนรู้หนังสือน้อย คนเขียนประวัติศาสตร์ก็เป็นชนชั้นสูง มีความรู้ เอาง่ายๆ ว่าอยู่ในรั้วในวังนั่นแหละ เพราะฉะนั้นข้อมูลส่วนใหญ่มาจากชนชั้นสูง เขาก็ต้องเขียนให้ตัวเองดูดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไร เป็นเรื่องธรรมดาของคน ต่างจากในต่างประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของคนสามัญอยู่ทั่วไป ส่วนหนึ่งคือการศึกษาของคนสามัญมีมานานกว่าไทย และคนต่างชาติมีวัฒนธรรมของการเขียนหนังสือมากกว่าคนไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ตอนหลัง หากมีข้อมูลหลายด้านทั้งจากชนชั้นสูงและคนสามัญ หากไม่ตรงกัน เราต้องดูว่าอันไหนจริงไม่จริง เราต้องหาทางพิสูจน์ว่าตกลงมันยังไงแน่ อันนี้แหละที่ผมกล่าวว่าต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยตัดสินใจ โดยยึดหลักความเป็นไปได้ สมเหตุสมผล หรือไม่ก็เหมือนอย่างกรณีทฤษฎีสมคบคิดที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้น

มีบางคนถามผมว่า ทำไมไม่เขียนเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยบ้าง เขียนประวัติศาสตร์สามัญชนบ้าง คำตอบก็คือ ไม่รู้จะไปหาข้อมูลจากไหน มันหายาก เพราะในอดีตไม่มีคนเขียนไว้ แต่ต่างประเทศ เขามีเขียนหมดเลยนะ ประวัติแต่ละแฟมิลี่ ของเราถ้าจะละเอียดก็มีของตระกูลบุนนาค ซึ่งก็เป็นชนชั้นสูงอยู่ดี

ชนชั้นล่างเราได้มีการศึกษาหลังสมัย ร.5 นอกนั้นก็ไม่ค่อยมีใครได้เรียน มีการจำกัดอยู่ในวง แต่ระยะหลังๆ ก็จะกว้างแล้ว มีคนเขียนอะไรเยอะ มีไอเดียที่หลายหลากขึ้น

แล้วเรื่องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในไทยล่ะ คุณมองอย่างไร

บางทีคนสอนไม่ได้จบประวัติศาสตร์โดยตรง บางทีเปิดหนังสือสอน แต่ถ้าเราถนัด เราหลับตาสอนก็ได้ เหมือนอาจารย์ที่สอนผมสมัยเด็ก เขาสอนแบบไม่ต้องถืออะไรในมือเลยนะ สอนสนุกมาก

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่ตายแล้ว มานั่งท่องจำ พ.ศ. ยังมีเหตุการณ์อีกหลายอย่างให้ศึกษา แต่ปัญหาในบริบทของไทยคือ เราต้องฟังอาจารย์ ถ้าตอบไม่ตรงกับครูก็คือผิด ครูว่าอะไรก็ว่าตาม  อย่าไปคิดต่างจากที่ครูสอนเป็นอันขาด

หรืออย่างเวลาสอน ทำไมกรุงศรีฯ ถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 เราฟังแล้วก็ต้องตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์หาเหตุผล ไม่ใช่เชื่ออย่างที่เขาบอกๆ กันมา

ต้องทำให้เป็นประวัติศาสตร์วิเคราะห์ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ท่องจำ?

ใช่ ผมใช้คำว่าประวัติศาสตร์วิเคราะห์ในงานของผม เราต้องคิดในแง่วิเคราะห์ เพราะไม่อย่างนั้นเราก็เชื่อหมด พอเชื่อก็ไม่มีองค์ความรู้ใหม่ เวลาผมเขียนหนังสือหรือทำวิจัยก็เพื่อให้มีองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งผมก็มีความรู้ทางแพทย์เข้ามาช่วย เราไม่ได้เชื่อทั้งหมด แต่ต้องหาเหตุผลมาช่วยสนับสนุนด้วย

อย่างที่เรารู้ว่า ผู้เขียนประวัติศาสตร์คือผู้ชนะ เขาก็ต้องเขียนไม่ให้เขาเสียหาย ถึงต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ไง แต่ปัญหาคือยังไม่มีคนชำระละเอียด เพราะฉะนั้นเราก็บอกไม่ได้หรอกว่าอะไรถูกผิด ตอนนี้มีแค่เป็นส่วนๆ

ตั้งแต่ศึกษาประวัติศาสตร์มา คุณชอบเรื่องของกษัตริย์องค์ไหนที่สุด

ผมถนัดในสมัยรัตนโกสินทร์ เท่าที่ผมศึกษามานะ ผมศรัทธารัชกาลที่ 3 มากที่สุด หนึ่ง พระองค์มีความเสียสละสูงมาก ในสมัยท่าน ไม่ได้ตั้งใครเป็นราชินีเลยนะ พอไม่มีราชินีก็ไม่มีเจ้าฟ้า เพราะท่านเห็นแก่ผลประโยชน์ประเทศชาติ ท่านเล็งแล้ว คนที่เหมาะสมที่สมควรจะเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ คือ รัชกาลที่ 4 ซึ่งตอนนั้นทรงผนวชอยู่ ถ้ารัชกาลที่ 3 ทรงตั้งใครเป็นเจ้าฟ้า รัชกาลที่ 4 จะหมดสิทธิ์เลยนะ เพราะสิทธิ์ในการสืบสันตติวงศ์ของรัชกาลที่ 4 จะหมดไปเพราะพระองค์ทรงเป็นลูกของกษัตริย์องค์ก่อน (รัชกาลที่ 2) แต่ท่านไม่ทรงตั้งใครเป็นเจ้าฟ้าเลย ท่านเห็นแก่บ้านเมือง ไม่ได้เห็นแก่ลูก นี่สำคัญ

คือต้องย้อนกลับไปตอนรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ ท่านไม่ได้ปราบดาภิเษกตัวเองนะ แต่พระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าเสนาบดีประชุมกันเรียกว่า “เอนกมหาชนนิกร สโมสรสมมุติ” ซึ่งนับว่าเป็นประชาธิปไตยระดับหนึ่งที่มีแม้ว่าจะมีแต่ตัวแทนของชนชั้นสูง

ตอนนั้นรัชกาลที่ 4 มีพระชนมายุ 20 พรรษา ส่วนรัชกาลที่ 3 ตอนนั้น 37 พรรษาแล้ว รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) มาเป็นเวลานานตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เพิ่งทรงขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ  พอในปลายรัชกาลที่ 2 อังกฤษ ฝรั่งเศสก็เริ่มเข้ามาในไทยแล้ว เลยต้องให้รัชกาลที่ 3 ขึ้นก่อน จนพอถึงเวลา รัชกาลที่ 4 ออกผนวชจนสุกงอม ก็ค่อยขึ้นครองราชย์

เรื่องวิจารณญาณของ ร.3 ก็ยอดเยี่ยมมาก มีบทรำพึงก่อนท่านสิ้นว่า การสืบสงครามข้างญวนเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็แต่ข้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดี จะเสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดที่คิดว่าจะร่ำเรียนไว้ได้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่านับถือเลื่อมใส  วิสัยทัศน์ดีมากเลยนะ เมื่อสมัย 200 กว่าปีก่อน พระองค์เห็นแล้วว่า ฝรั่งมาแน่ แล้วก็ต้องตั้งรับ แต่ว่าอย่าไปเชื่อหมด แล้วพระองค์ก็ทำนุบำรุงหลายๆ ด้าน เช่นการแพทย์ การศาสนา วัฒนธรรม วรรณกรรมตลอดจนการศึกสงครามเพื่อป้องกันประเทศ อีกทั้งทรงได้สะสมเงินถุงแดงที่ได้ใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ในเวลาต่อมาดังที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดีอยู่แล้ว

แม้ว่าดูแล้วอาจจะไม่ได้ทำอะไรเยอะเหมือน ร.5 แต่สิ่งที่พระองค์ทรงทำไว้ให้แก่สยามนั้นยิ่งใหญ่มาก ทำให้ผมศรัทธาพระองค์ท่านมาก

คุณศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ และทางการแพทย์มามาก ได้อ่าน ได้เห็นความตายมามาก โดยส่วนตัวคุณมองเรื่องความตายอย่างไร

ปรัชญาตะวันออก มองเรื่องเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมชาติ แต่ปรัชญาตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน เขาพยายามจะต่อสู้กับความตายให้ถึงที่สุด ในอดีตคนไทยตายที่บ้านท่ามกลางลูกหลาน ญาติมิตร เป็นการตายดี แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ตายที่โรงพยาบาล แล้วตอนตายมีท่ออะไรเสียบอยู่สารพัด ซึ่งถามว่าตายแบบนั้นจะสงบสุขมั้ย เพราะปรัชญาฝรั่งเขาไม่ยอมให้ตาย ถ้าคนไข้ตายถือว่าแพ้ เพราะฉะนั้นจะช่วยหมด ใส่นู่น ใส่นี่ ยา ปั๊มหัวใจ เอาให้ถึงที่สุด

แล้วในระยะสุดท้ายของชีวิตนี้ หนึ่ง ค่าใช้จ่ายมหาศาล สอง คนไข้ทรมานมั้ย สาม ในที่สุดตายมั้ย เขาเรียก prolong death ยืดการตาย ซึ่งอันนี้เป็นปรัชญาตะวันตก แต่ถ้าในไทยเหรอ ตายก็ตายบ้าน ไปดูแลตามสมควร ลูกหลานอยู่พร้อมกันนะ คนไข้พอถึงเวลาไปก็ไป ไม่ได้มองว่าการตายเป็นการเสียหน้า ปรัชญาตะวันตกก็มีข้อดีนะ แต่ส่วนนี้ไม่ถูก มันไม่ได้ humanize

ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์ ก็เป็นการเรียนรู้จากความตายนั่นแหละ เราศึกษาอดีตเพื่อรู้จักปัจจุบัน เรียนรู้ปัจจุบันเพื่อรู้อนาคต เพราะวันนี้เป็นผลของประวัติศาสตร์ ก็ต้องดูว่าทุกวันนี้ที่แย่ๆ เพราะอะไร ก็เพราะในอดีตมีการกระทำอะไรบางอย่างที่อาจจะไม่ค่อยดี เราจะได้เปลี่ยนเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นได้ ก็โดยการทำปัจจุบันนี้ให้ดี เหมือนเราปลูกมะม่วงไว้ อีกหลายปีต่อมา เราก็จะได้กินมะม่วงไม่มีทางได้กินทุเรียนอย่างแน่นอน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save