fbpx
ธนาคารแห่งประเทศไทยRemove term: อัตราแลกเปลี่ยน อัตราแลกเปลี่ยนRemove term: ค่าเงินบาท ค่าเงินบาทRemove term: การเงินระหว่างประเทศ การเงินระหว่างประเทศ

โลกร้อนอาจทำให้เราโง่ลง: เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ส่งผลกับสมอง

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ตลอดวิวัฒนาการของมนุษย์ ตั้งแต่เราผุดบังเกิดขึ้นมาบนโลก เราอยู่ในสภาวะที่คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกกวัดแกว่งไปมาระหว่าง 200-300 ส่วนในล้านส่วนมาโดยตลอด ถ้าพูดเป็นค่าเฉลี่ยแบบหยาบๆ ก็จะอยู่ที่ราว 250 ส่วนในล้าน

เป็นเวลาสามแสนปีแล้ว ที่ตัวเลขนี้ไม่เคยสูงขึ้นเกิน 300 ส่วนในล้านส่วน จะมียกเว้นบ้างก็เมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ๆ ระดับมโหฬาร แต่กระนั้นก็ไม่ได้เกิน 300 ส่วนไปมากเท่าไหร่ ทว่าเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ตัวเลขนี้กลับพุ่งพรวดๆ ขึ้นมาไม่หยุดหย่อน จนมาอยู่ที่ 407.4 (ซึ่งเป็นตัวเลขเฉลี่ยในปี 2018) และคาดกันว่า หากมันไปถึง 450 ส่วนในล้านส่วนเมื่อไหร่ มนุษย์ก็โบกมือลาความเป็นมนุษย์กันได้เลย เพราะนั่นอาจเป็นจุดที่ไม่อาจหวนคืนกลับได้อีก

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น คำถามก็คือ การที่คาร์บอนไดออกไซด์มีความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศสูงอย่างนี้ มันมีผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ใช่ — ผลอย่างแรกคือผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพราะคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจก สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่

แต่นั่นคือเรื่องภายนอก เป็นเรื่องนอกตัวของเรา หลายคนจึงอาจไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่คำถามก็คือ แล้วมันส่งผลกระทบต่อ ‘ภายใน’ ของมนุษย์ หรือส่งผลกระทบไปถึง ‘สมอง’ และการรับรู้ของเราได้หรือเปล่า?

ที่จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 2015 เคยมีการศึกษาพบว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในตึก (indoor carbon dioxide level) อาจมีผลต่อการทำงานของสมองได้ ถึงขั้นมีการเสนอว่า ตึกต่างๆ ควรติดตั้งเครื่องดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ เพื่อลดปริมาณลง (ดูที่นี่)

แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่แน่ชัดขนาดนั้น เพราะมีอีกการศึกษาในปี 2016 ที่พบว่าแม้เพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในตึกให้เข้มข้นถึง 3,000 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งมากกว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์นอกตึก (หรือกลางแจ้ง) ในปัจจุบันถึง 7 เท่า คนที่เข้าทดลองก็ยังไม่ได้แสดงอาการว่าสมองของตัวเองมี ‘กระบวนการรับรู้’ บกพร่อง (cognitive impairment) อะไร นั่นหมายความว่ามีการเติมคาร์บอนไดออกไซด์เพียวๆ เข้าไปในอากาศในห้องนะครับ แต่ถ้าเป็นการเติมคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากมนุษย์ (ซึ่งแปลว่าไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์ แต่มีก๊าซอื่นๆ เจือปนในปริมาณเล็ฺกน้อย) คนที่เข้าทดลองเริ่มมีรายงานว่าตัวเองมีอาการหลายอย่าง เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วง และคิดอะไรๆ ได้ไม่กระจ่างชัดเหมือนก่อน

แต่กระนั้น ก็มีงานวิจัยอื่นอีก ที่บอกว่าหากความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ไปอยู่ที่ 1,200 ส่วนต่อล้านส่วนแล้ว การตัดสินใจ (decision-making skills) ของมนุษย์จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ตัวการรับรู้หรือ cognition ทั่วไปอาจไม่ได้ย่ำแย่ลดลงจนรู้สึกได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของฮาร์วาร์ด ในปี 2016 ที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก เพราะบอกว่าถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องมีความเข้มข้นถึงระดับเพียง 950 ส่วนในล้านส่วน ก็ทำให้ตัวชี้วัดความรับรู้ของเราพร่องลงได้แล้ว แต่ถ้าไปถึง 1,400 ส่วนในล้านส่วน ก็จะยิ่งดิ่งลงไปอีก โดยเฉพาะในการทำงานที่ซับซ้อนและยาก อย่างเช่นการคำนวณและการตัดสินใจเรื่องต่างๆ

ท่ีน่าสนใจก็คือ มีการศึกษาพบว่า นักบินที่ใช้เครื่องซิมูเลเตอร์จำลองการบินนั้น ถ้าหากว่าอยู่ในห้องที่มีคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 1,200 ส่วนในล้านส่วนจะเริ่มมีประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมากๆ ในวงการการบิน

หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า จะบ้าหรืออย่างไร อากาศที่ไหนจะมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงเป็นพันๆ ส่วนในล้านส่วนได้ ไหนว่าถ้าถึงแค่ 450 ส่วน ก็ถึงจุดที่หวนกลับไม่ได้แล้วไม่ใช่หรือ แล้วเป็นพันส่วนจะมาจากไหน

คำตอบก็คือ ตัวเลข 450 ส่วนในล้านส่วนนั้นเป็นอากาศข้างนอก แต่อากาศ ‘ในอาคาร’ ทั้งหลายที่ผู้คนเข้าไปกระจุกตัวอยู่ เช่น ในห้องประชุมเล็กๆ ที่ประชุมกันนานๆ หรือมีคนเข้าไปอัดแน่น เป็นไปได้อย่างยิ่งที่คาร์บอนไดออกไซด์จะสูงลิบลิ่ว

งานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งอัปโหลดในโลกออนไลน์เมื่อเดือนที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ทว่าก็สร้างความฮือฮาอย่างสูง บอกเราว่า ถ้าเราอยู่ในห้องปิด (เช่นในเมืองหนาวที่ต้องหับหน้าต่างประตูเอาไว้เสมอ หรือในเมืองร้อนที่เปิดแอร์ตลอดเวลา) แค่อยู่คนเดียวในห้องนอน แล้วนอนหายใจไปเรื่อยๆ ห้องนอนนั้นสามารถมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นถึงระดับ 1,000 ส่วนในล้านส่วนได้อย่างรวดเร็ว แล้วถ้าเป็นห้องประชุมเล็กๆ ที่มีคนอัดแน่น ความเข้มข้นนี้อาจขึ้นไปถึง 3,000 ส่วนในล้านส่วนได้ไม่ยากนัก

งานวิจัยนี้ก้าวหน้าไปอีกขั้น เพราะผู้ทดลองได้เชื่อมโยงระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในตึกหรือแบบอินดอร์ เข้ากับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ด้านนอกหรือเอาท์ดอร์ และพบว่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เอาท์ดอร์นั้น ส่งผลต่อความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์อินดอร์อย่างมาก พูดง่ายๆ ก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์ภายนอกตึก จะทำหน้าที่เป็น ‘ฐานล่าง’ หรือ baseline ให้กับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในตึก

ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน ระดับคาร์บอนไดออกไซด์เอาท์ดอร์ในตอนนี้ (อยู่ที่ราวๆ 400 ต้นๆ) ทำให้ค่าเฉลี่ยของคาร์บอนไดออกไซด์ในตึกพุ่งไปอยู่ที่ 809 ส่วนในล้านส่วน (ดูที่นี่) แต่ถ้าเรายังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศกันแบบนี้ ตัวเลขคาร์บอนไดออกไซด์อินดอร์เฉลี่ยอาจพุ่งสูงขึ้นไปได้ถึง 1,250 ส่วนในล้านส่วน

งานวิจัยนี้บอกด้วยว่า ถ้าหากแนวโน้มของคาร์บอนไดออกไซด์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงสิ้นศตวรรษ (คือปี 2100) เป็นไปได้ว่านักเรียนที่อยู่ในห้องปิด อาจมีสมรรถภาพในการเรียนรู้ลดลงได้ถึงราว 25% แล้วถ้าเป็นการทำงานซับซ้อนหรือยาก ก็อาจลดลงได้ถึง 50% น่ันคือลดลงถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

แน่นอน การศึกษานี้ยังต้องดำเนินการต่อไปอีกมากเพื่อยืนยันว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่งานนี้และงานอื่นๆ ก่อนหน้าแสดงแนวโน้มให้เห็นค่อนข้างชัด ว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นนั้นมีผลต่อการทำงานของสมองได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันอาจทำให้เรา ‘โง่’ ลงได้นั่นเอง

คำถามถัดมาก็คือ แล้วระดับคาร์บอนไดออกไซด์มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า?

คำตอบก็คือเป็นไปได้อย่างยิ่ง เพราะมีหลายสัญญาณที่บ่งชี้แบบนั้น เช่น แม้ในอเมริกาและยุโรปจะใช้ถ่านหินลดลงแล้ว แต่ในจีนยังใช้เพิ่มขึ้น ปีที่ผ่านมา จีนใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นราว 1% ซึ่งฟังดูเป็นตัวเลขที่น้อย แต่เมื่อคำนึงถึงขนาดประเทศแล้วต้องบอกว่ามหึมาทีเดียว ในขณะที่การใช้พลังงานหมุนเวียนในโลกก็เติบโตเร็วไม่มากพอ จึงยังไม่สามารถทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้

ที่แย่ก็คือ ความหวังที่เคยเรืองรองในช่วงปี 2015-2016 เมื่อหลายประเทศลงนามในข้อตกลงปารีสเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนเริ่มริบหรี่ลง เพราะหลายประเทศเริ่มไม่ทำตามหรือถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ทำให้มลพิษคาร์บอนเพิ่มขึ้นติดต่อกันสามปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่อาจเป็นสัญญาณดีๆ อยู่บ้าง เช่น สถิติบอกเราว่า มลพิษคาร์บอน (คือคาร์บอนไดที่ปล่อยออกจากอุตสาหกรรมโดยรวม) กับค่าจีดีพีนั้นมีสหสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และแทบจะเป็นตัวเลขเดียวกันมาตลอด ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วมลพิษคาร์บอนเพิ่มขึ้น 2.7% ในขณะที่จีดีพีโลกเติบโต 3.0% แต่พบว่าในปีที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ราว 3.0% แต่การปล่อยมลพิษคาร์บอนกลับเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% ซึ่งอาจมองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีได้เหมือนกัน แต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่า นี่คือการ ‘เพิ่มขึ้นที่ลดลง’ เท่านั้น ไม่ใช่การ ‘ลดลง’ จริงๆ ซึ่งก็ยังแปลความได้ว่า ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

และโปรดอย่าลืมว่า เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ หรือคาร์บอนไดออกไซด์เอาท์ดอร์นี่แหละครับ ที่จะเป็น ‘เบสไลน์’ หรือค่าตั้งต้นให้กับระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในตึกหรืออินดอร์ ซึ่งจะว่าไปมีระดับสูงกว่าการอยู่นอกบ้านอีก แล้วพอจะออกไปสูดอากาศนอกบ้าน ก็เป็นไปได้ว่าจะพบเจอกับฝุ่นพิษ​ PM 2.5 ชีวิตของเราจึงเหมือนติดกับ อยู่ที่ไหนก็แย่ไปหมด

การพูดว่า ‘โลกร้อนอาจทำให้เราโง่ลง’ อาจฟังดูเป็นการเอ่ยอ้างเกินจริงก็ได้ แต่ถ้าหากว่ามันเป็นจริง คือระดับคาร์บอนไดออกไซด์ส่งผลต่อการทำงานของสมองมนุษย์จริง ก็คงต้องบอกว่านั่นน่าจะเป็นอีกเรื่องเลวร้ายที่มนุษย์ไม่เคยคาดคิดไว้ล่วงหน้า และอาจเป็นการตอบแทนกลับของธรรมชาติในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

ใช่แล้ว — ธรรมชาติทำให้เราประหลาดใจได้เสมอจริงๆ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save