fbpx
ครุศาสตร์ต้องรอด

ครุศาสตร์ ต้องรอด! : “จะเป็นครู ต้องไม่หยุดเรียนรู้” – ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ และ ชุติกาญจน์ บุญสุทธิ ภาพ

เคยมีคำเปรียบเปรยไว้ว่า ครู คือ แม่พิมพ์ของชาติ

เหตุผลของการใช้สมญานามว่า ‘แม่พิมพ์’ เพราะการเป็นครู เท่ากับการเป็น ‘ต้นแบบ’ ของเด็กนักเรียน ทั้งในด้านความรู้ความสามารถ การประพฤติปฏิบัติตัว เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างอนาคตของชาติผ่านระบบการศึกษา และไม่ว่าสังคมใดก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะขาดไปไม่ได้

การเป็นแม่แบบของใครหลายคนนี่เอง ที่ทำให้ครูกลายเป็นอาชีพในฝันอันดับต้นๆ ของเด็กไทย มีคนจำนวนไม่น้อยวาดหวังว่าสักวัน จะได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาในห้องเรียน รวมถึงได้เขียนบนกระดาน ตรวจการบ้าน และเขียนข้อแนะนำลงในสมุดพก เหมือนอย่างที่เคยเห็นครูทำในความทรงจำ

ทว่า อาชีพครูก็ถือเป็นงานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง เพราะการที่คนในสังคมจะยอมรับให้ครูเป็น ‘ต้นแบบ’ แก่ลูกหลานของพวกเขาได้ หมายความว่า ครูต้องมีความพิเศษเหนือคนอื่นๆ ต้องก้าวนำผู้อื่นอย่างน้อยหนึ่งก้าว อะไรที่ว่า ‘ดี’ อะไรที่ว่า ‘ใหม่’ ครูอาจต้องรู้ก่อนใคร เพื่อไม่ให้แม่พิมพ์ของชาติถึงคราวตกรุ่น ตกขบวน

ทำนองเดียวกัน ความคาดหวังเจือความกดดันจึงสะท้อนกลับมายังวงการครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตครูรุ่นใหม่ว่าต้องเปลี่ยนและปรับตัวให้ไวไม่แพ้ศาสตร์ใดๆ โดยเฉพาะในโมงยามที่โลกบันดาลสารพัดเหตุการณ์เข้ามาท้าทายครูไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งประเด็นยืนยงคงกระพันมาหลายปีอย่างการปรับหลักสูตรเพื่อสอนทักษะในศตวรรษที่ 21 ประเด็นที่เกิดขึ้นกะทันหันจากช่วงโรคระบาดแพร่กระจาย และประเด็นที่กำลังก่อตัวเช่นการเคลื่อนไหวในรั้วโรงเรียนของนักเรียน ฯลฯ

อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์จะเป็นเช่นไร? 101 ชวน ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีบทบาทในการบ่มเพาะแม่พิมพ์หลายต่อหลายรุ่นสู่ระบบการศึกษา มาร่วมค้นหา ‘ทางรอด’ ของครูและศาสตร์การสอนครูในยุคที่ผันผวน ยากคาดการณ์ แต่เรียกร้องให้ครูก้าวทันความเป็นไปในสังคมอยู่เสมอ

เพราะครุศาสตร์ต้องรอด การศึกษาของประเทศจึงจะรอด

 

ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

ภาพรวมการศึกษาครุศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร

โดยภาพรวมแล้ว มีความคล้ายคลึงกันแทบทุกมหาวิทยาลัย กล่าวคือ หลักสูตรครุศาสตร์แบ่งออกเป็นภาคทฤษฏีกับภาคปฏิบัติ ด้านทฤษฎีจะเรียนเกี่ยวแนวคิดจิตวิทยาการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร วิธีการสอน การวิจัย การวัดประเมินผล และเนื้อหาสาระวิชาที่นักศึกษาเลือกเป็นวิชาเอก เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม ส่วนภาคปฏิบัติเป็นเรื่องการฝึกสอนในโรงเรียน ให้นักศึกษาได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีที่เรียนมาสอนจริง เจอเด็กจริง และเรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมโรงเรียน นี่คือพื้นฐานหลักๆ ที่ทุกสถาบันมีเหมือนกัน

เรื่องรายละเอียดของหลักสูตรก็มีปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนรู้ ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย ที่สอนเพื่อให้เข้าใจพื้นฐานการออกแบบการสอนแก่เด็กแต่ละกลุ่ม เป็นเรื่องคลาสสิก สามารถใช้ได้ตลอด จึงอาจไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก

แต่เรื่องวิธีการสอน เรียกได้ว่าปรับไปตามหลักสูตรการศึกษาที่รัฐกำหนดแก่โรงเรียน ตัวอย่างหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่อาจารย์มองเห็น คือการปฏิรูปครั้งใหญ่ในปีพ.ศ.2542 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542

การปฏิรูปครั้งนั้นมีจุดมุ่งหมายในการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังภาคส่วนต่างๆ พยายามลดกรมกองที่ทำงานซ้ำซ้อน เชื่องช้า และประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดให้จัดการศึกษาด้วยแนวคิดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนบทบาทครูและวิธีจัดการเรียนการสอนทั้งหมดที่เคยมีมา

ก่อนหน้านั้น เราเรียนกันด้วยหลักสูตรปีพ.ศ.2533 ซึ่งเป็นการเรียนท่องจำ เนื่องจากสมัยก่อนเราเริ่มต้นจากการเรียนในวัดในวัง มีพระหรือข้าราชการเป็นผู้สอน ถ่ายทอดเนื้อหาประสบการณ์ ดังนั้น ยุคแรก ครูจึงเน้นทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เนื้อหาวิชา สอนแบบเปิดหนังสืออ่านให้ฟัง จดบนกระดานให้เด็กเขียนตาม และวัดประเมินผลจากคะแนนสอบ ใครไม่ผ่านเกณฑ์ก็ซ้ำชั้น

เมื่อมีการปรับเปลี่ยนในปีพ.ศ.2542 กระทรวงอยากให้โรงเรียนปรับการสอนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง หรือเรียกว่า Child Centered มากขึ้น ครูจึงต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องเริ่มคิดว่าจะออกแบบวิธีสอนอย่างไรให้มีผู้เรียนเป็นสำคัญ จากที่เคยจดบนกระดาน ยืนเปิดหนังสืออ่านให้เด็กฟังก็ต้องเปลี่ยน ไม่เปิดหนังสือ ไม่จดกระดาน และหันมาดีไซน์กิจกรรมในห้องเรียนเพิ่มขึ้นเพื่อให้เด็กมีส่วนร่วม มีแรงจูงใจ เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ ได้อย่างสนุกสนาน วิธีการสอนจึงเปลี่ยนไปเป็นเพิ่มกิจกรรม เช่น เปิดโอกาสให้ทำงานกลุ่ม อภิปราย (discuss) กัน ออกมาพูดหน้าห้องเรียน หรือแสดงบทบาทสมมติแทน หมดยุคของการสอนแบบมีครูเป็นศูนย์กลาง

ตอนนั้น ตัวอาจารย์เองกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ในคณะครุศาสตร์ ได้เห็นภาพว่าคณะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนนักศึกษาเช่นกัน แต่ก็มีอุปสรรคอยู่ที่ครูไทยไม่รู้ว่าควรทำอะไรบ้าง ควรจะจัดการเรียนการสอนแบบไหน เพราะเดิมทีไม่ได้ถูกสอนมาให้สอนแบบนี้ กว่าจะลงตัวจึงต้องใช้เวลาหลายปี เรียนรู้และทดลอง พัฒนาไปพร้อมๆ กับครูในโรงเรียน

นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติการศึกษาปีพ.ศ.2542 ยังเริ่มกำหนดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ การศึกษาภาคบังคับไม่ได้มีตัวบทกฎหมายประกาศชัดเจน ทำให้พ่อแม่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อมีประกาศแล้ว ถ้าไม่ทำถือว่าผิดกฎหมาย  การศึกษาชั้นประถมจึงมีความสำคัญ และทำให้ครูประถมเป็นที่ต้องการในหลายๆ โรงเรียนมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากการปฏิรูปปีพ.ศ.2542 เกิดแนวคิดอะไรใหม่ๆ ในการศึกษาไทยบ้าง และมันส่งผลแค่ไหนต่อวงการครุศาสตร์

หลังจากปีพ.ศ.2542 หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ค่อนข้างเสถียรมาเรื่อยๆ จนถึงประมาณปีพ.ศ.2558 มีแนวคิดใหญ่ๆ เรื่องการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ หรือ Active Learning เข้ามาต่อยอด และต่อมา ก็มีการเรียนการสอนแบบ STEM เน้นการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ ที่อยู่ภายใต้ Active Learning อีกทีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงหลัง

แนวคิดเหล่านี้อาจไม่ได้เปลี่ยนวงการครุศาสตร์แบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็ทำให้ครูได้เห็นจุดเน้นใหม่ๆ  ต้องออกแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จากเดิม Child Centered เปลี่ยนมุมมองของครูให้เห็นว่าเด็กสามารถทำอะไรได้บ้าง เพิ่มบทบาทให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำกิจกรรมในห้องเรียน แนวคิด Active Learning และ STEM ก็เน้นให้เด็กได้สืบสอบขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้อง รู้ว่ามีแหล่งข้อมูลให้ศึกษาเรื่องต่างๆ ได้ที่ไหน เก็บรวบรวมความรู้มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในห้อง หรือนำมาแก้ปัญหาจากโจทย์ที่ครูตั้งให้ ทำให้เด็กคิดเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากความรู้ที่สั่งสมมา เป็นลักษณะประชากรที่เราต้องการในตอนนี้

ปัจจุบัน หลักสูตรเราก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่แนวคิด Active Learning, STEM รวมถึงพวกการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) ที่มีหัวใจสำคัญให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง มีครูเป็นผู้ชี้แนะ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในระดับโลกตอนนี้ คือ การเรียนการสอนแบบเน้นสร้างทักษะมากกว่าความรู้แก่เด็ก โดยเฉพาะทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่แม้จะมีการพูดถึงมานาน แต่ก็ยังคงอินเทรนด์อยู่

การศึกษาไทยเองคงต้องปรับเปลี่ยนอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพราะถ้าเราไม่ตามเทรนด์โลกเลยก็คงไม่ได้

สัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่อาจารย์เห็นคืออะไร และภาพการศึกษาไทยในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน

ในปีพ.ศ. 2565 ที่กำลังจะถึงนี้ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเน้นเนื้อหาสาระ อิงมาตรฐาน ทำตามเกณฑ์แล้วตัดเกรดมีแนวโน้มอาจจะถูกยกเลิก และเปลี่ยนมาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ สอนโดยมีเป้าหมายให้เด็กใช้ความรู้ผนวกกับทักษะและคุณลักษณะบางประการของตนในสถานการณ์จริงได้ เมื่อเจอกับปัญหาแล้ว สามารถแก้ไขหรือเอาตัวรอด ไม่ได้เน้นแค่ความรู้ ดูว่าเด็กสามารถจดจำเนื้อหาได้ไหม หรือใช้การสอบแบบวัดผลสัมฤทธิ์อีกต่อไป

เมื่อใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ การเรียนการสอนจะแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่เน้นทักษะที่ใช้ในการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพในอนาคต เนื้อหาการสอนที่เคยแบ่งเป็นกลุ่มสาระต่างๆ อย่างภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคม จึงอาจจะไม่ตอบโจทย์แล้ว ในเมื่อความเป็นจริง เราต้องประยุกต์ความรู้ทั้งหมดที่มีมาใช้แก้ปัญหา ดังนั้น จะรู้แค่เนื้อหารายวิชาแบบแยกกันไม่ได้ ภาพของการแบ่งรายวิชาอาจไม่มีอีกต่อไป แต่กลายเป็นการเรียนรู้แบบขอบข่ายรายวิชา หรือ learning area แทน เช่น ขอบข่ายการเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร รวมวิชาที่เกี่ยวกับการสื่อสารทั้งหมด อย่างภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม และอื่นๆ มาอยู่ด้วยกัน เพื่อสร้างทักษะด้านการสื่อสาร ได้พูดภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เรียนรู้ว่าเวลาที่อยู่กับคนอื่นๆ ควรใช้คำพูดอย่างไร

ที่ผ่านมา ไทยเองก็ได้ดูตัวอย่างหลักสูตรฐานสมรรถนะจากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ อเมริกา จนสังเคราะห์หลักสูตรและกำหนดเป้าหมาย 10 สมรรถนะที่สำคัญที่เหมาะกับบริบทของประเทศไทย ตอนนี้ได้ยินว่าเริ่มมีการสอนนำร่อง เพื่อทดลองกระบวนการ รับฟังความคิดเห็นบ้างแล้ว

การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ต่อตัวครูเช่นเดียวกัน มองไปในอนาคต ถ้ามีการเรียนการสอนแบบขอบข่ายรายวิชามากขึ้น ครูแต่ละวิชาอาจต้องมานั่งคุยกันว่า แต่ละคนจะสอนนักเรียนแบบไหน เรื่องอะไร มีเนื้อหาแบบไหนบ้าง และระดมความคิดว่าจะผสมผสานวิชาต่างๆ เพื่อสอนให้เกิดสมรรถนะได้อย่างไร เราจะได้เห็นครูทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะถ้าแยกเป็นรายวิชาเดี่ยวๆ เหมือนตอนนี้ ต่างคนต่างสอน ไม่ได้คุยกันเลย จะสอนอย่างไรสมรรถนะก็คงไม่เกิด

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องยาก และจะเปลี่ยนไปเยอะมาก คือการวัดประเมินผล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสอน หลักสูตรนี้จะมาเปลี่ยนรูปแบบการประเมินผลไปโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าเป็นการสอนแบบอิงมาตรฐาน ยังสามารถใช้ข้อสอบแบบช้อยส์ตัวเลือก เติมคำ จับคู่ ได้ แต่พอเป็นสมรรถนะ ข้อสอบเดิมๆ จะใช้ไม่ได้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่าครูจะออกแบบการวัดประเมินผลอย่างไรถึงจะสะท้อนสมรรถนะของเด็กออกมาได้ ต่อไปเราอาจจะได้เห็นวิธีการวัดผลที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ครูมีการสังเกตพฤติกรรม จดบันทึกพัฒนาการการเรียนรู้ สัมภาษณ์เด็ก ให้เด็กลงมือทำให้ดู เป็นต้น

ข้อสอบกลางที่ใช้ประเมินผลระดับชาติอย่าง O-NET ก็ต้องเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตร การสอบแบบเน้นความรู้ การท่องจำ แก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ กาช้อยส์ลงในกระดาษ คงไม่มีอีกแล้ว กระทั่งมหาวิทยาลัยเองก็คงต้องเปลี่ยนระบบการรับเด็กใหม่เมื่อมีเด็กที่จบจากหลักสูตรฐานสมรรถนะมาเรียนต่อในอนาคต

 

ฟังดูเหมือนหลักสูตรฐานสมรรถนะกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนองคาพยพของการศึกษาแทบทั้งหมด แล้วการเรียนการสอนครุศาสตร์ในปัจจุบันควรปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ครูที่จบไปสามารถรับมือกับหลักสูตรใหม่นี้ได้

นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายของครุศาสตร์ตอนนี้เช่นกัน อาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยคงต้องตระหนักเรื่องวิธีการสอนแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะมากขึ้น หรืออย่างน้อยต้องทำให้เด็กที่จบไปมีความรู้ สามารถปรับตัวไปสอนหลักสูตรใหม่ได้ โดยส่วนตัวมองว่าการสอนทฤษฎียังคงมีความสำคัญ เพราะทำให้นักศึกษาได้รู้จักว่าการเรียนการสอนแบบนี้จะมีหน้าตาหลักสูตร (curriculum) เป็นอย่างไร มีจุดประสงค์แบบไหน แล้วจึงเสริมเรื่องการปฏิบัติ ทดลองสอนเพื่อให้รู้ว่าการจัดการเรียนการสอนแบบไหนถึงใช้ได้ดีสำหรับหลักสูตรนี้ บางทีอาจารย์อาจใช้วิธีสอนผ่าน case study เปิดโอกาสให้นักศึกษาอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็นกันให้มาก เพื่อระดมความคิดออกแบบการสอนใหม่ๆ และเสริมทักษะคิด วิเคราะห์ สื่อสาร ของครูที่ต้องสอนเด็กๆ ในอนาคตด้วย

สำหรับตอนนี้ สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด คือการพัฒนารายวิชาขึ้นใหม่ หรือปรับเนื้อหารายวิชาที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น เช่น วิชาหลักสูตร เป็นวิชาบังคับที่สำคัญของครุศาสตร์ สอนให้นักศึกษารู้ว่าหลักสูตรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง สามารถวิเคราะห์และพัฒนาหลักสูตรออกมาเป็นเล่มด้วยตัวเอง ตรงนี้สามารถเปลี่ยนมาเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะมากขึ้น และวิชาการออกแบบการจัดการเรียนการสอน ที่ต้องสอดรับกับวิชาหลักสูตร ก็สามารถเปลี่ยนได้เลยเช่นกัน

ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

การเรียนการสอนในโรงเรียนที่เปลี่ยนไป จากเดิมแบ่งกลุ่มสาระวิชากลายมาเป็นการเรียนแบบขอบข่ายรายวิชา จะทำให้เนื้อหาการเรียนของครุศาสตร์แต่ละสาขาต้องเปลี่ยนตามหรือไม่ ครูรุ่นใหม่ต้องเรียนเนื้อหาหลายวิชาเพื่อสอนแบบผสมผสานด้วยตัวคนเดียวหรือเปล่า

หากมองในมุมของนักศึกษาเอกประถมศึกษา อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะธรรมชาติของครูประถมต้องสอนได้ทุกวิชาอยู่แล้ว การรวมกลุ่มสาระมาเป็นขอบข่ายรายวิชาจึงไม่น่าเป็นห่วงอะไร ที่น่าเป็นห่วงคือฝ่ายมัธยม ซึ่งแยกเอกเป็นรายวิชาต่างๆ และเรียนเข้มข้นแค่วิชาใดวิชาหนึ่ง ไม่ได้ถูกสอนเนื้อหาวิชาอื่นเลย เพราะลำพังเนื้อหาหรือคอนเซปต์การสอนของวิชาเดียวก็มีมากพออยู่แล้ว ถ้าให้ไปสอนวิชาอื่นก็อาจจะติดขัด สอนได้ไม่ถูกต้องนัก อย่างมากก็อาจจะพอกล้อมแกล้ม สอนได้แค่วิชาที่ใกล้เคียง เช่น วิชาสายมนุษยศาสตร์ด้วยกัน ครูภาษาไทยอาจจะสอนสังคมพอได้เท่านั้น

ถ้ารวมเอกเข้าด้วยกัน แล้วตั้งเป็นเอกใหม่ที่สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ เช่น เอกทักษะการสื่อสาร ก็ถือเป็นงานใหญ่พอสมควร เพราะทุกสาขาวิชาอาจต้องมาวางแผน ออกแบบการเรียนการสอนของครุศาสตร์ใหม่ทั้งหมด และอาจจะมีอุปสรรคเรื่องอื่น เช่น ต้องคิดว่าอาจารย์ที่มีอยู่จะรับหน้าที่สอนเนื้อหาใดบ้าง มีความเชี่ยวชาญเพียงพอไหม ต้องใช้เวลานานในการคิดและทำ ดังนั้น อาจารย์คิดว่าครุศาสตร์อาจจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น อย่างน้อยก็ในเร็วๆ นี้

แม้อนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเอก หรือเปลี่ยนการเรียนการสอนมิติใดมิติหนึ่งในแต่ละเอกได้ แต่สำหรับสิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นคนสอนครูรุ่นใหม่ๆ ทำได้ในตอนนี้ คือการบอกกับนักศึกษาว่าคุณจะต้องเจอกับอะไร ที่แน่ๆ คือการทำงานร่วมกับคนอื่น ต้องออกแบบวิธีการเรียนการสอนร่วมกับคนในโรงเรียน ทั้งครูด้วยกันไปจนถึงระดับผู้บริหารสถานศึกษา ส่งเสริมให้เขาได้ทำงานร่วมกับคนหลายๆ แบบตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะเมื่อเข้าไปทำงานจริงแล้ว เขาต้องปรับตัวให้กับปัจจัย บริบทที่แตกต่างกันในโรงเรียนแต่ละที่ได้ และเน้นกระบวนการสอนแบบใหม่ๆ ที่เข้ากับยุคสมัย

นอกจากการเตรียมตัวต้อนรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีโจทย์อะไรอีกไหมที่อาจารย์เห็นว่าแวดวงครุศาสตร์ควรใส่ใจมากขึ้น

จุดที่น่าให้ความสนใจคือตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้พ่อแม่บางส่วนอาจไม่มีเวลาดูแลลูก ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว สื่อหรือเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงดูเด็กแทน เด็กได้ดูแท็บเล็ต เล่นมือถือตั้งแต่อายุน้อย การเล่นบ่อยๆ ก็มีผลต่อการเรียนรู้ เช่น ทำให้เด็กจดจ่อกับสิ่งที่ครูสอนได้น้อยลง เพราะติดมาจากการเล่นแท็บเล็ตที่ทุกอย่างบนจอภาพเปลี่ยนไปเร็ว เด็กจะอ่านหนังสือ มองภาพนิ่งๆ อยู่นิ่งๆ ไม่ได้นาน อยากจะลุกออกไปข้างนอก อยากจะเล่นกับเพื่อน ครูอาจต้องหาวิธีดึงดูดความสนใจ วิธีการสอนที่แปลกใหม่แทบตลอดเวลา

เดิมเราไม่ค่อยได้เห็นเด็กสมาธิสั้นในโรงเรียนเท่าไร แต่เดี๋ยวนี้จำนวนต่อห้องถือว่าเยอะทีเดียว เมื่อก่อนครูสามารถแยกกลุ่มเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการเรียนรู้ เช่น เด็ก LD หรือเด็กเรียนช้า เด็กที่มีสมาธิสั้น ออกจากเด็กทั่วไปได้ชัดเจน แต่เมื่อมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเข้ามา เด็กหลายคนที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องสมาธิ ต่อมาอาจจะมีปัญหาก็ได้ ทำให้ครูอาจสับสน รับมือไม่ทัน ไม่รู้ว่าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับสมองหรือไม่

ดังนั้น เนื้อหาเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กพิเศษที่ไม่เคยเป็นหลักสูตรบังคับ ตอนนี้ควรจะเสริมเข้ามามากขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานแก่ครูในอนาคต เผื่อว่าถ้าต้องเจอกับเด็กเหล่านี้ในห้องเรียนจริงๆ จะได้เข้าใจ รู้ได้ว่าใครมีปัญหาบกพร่องทางสมองหรือไม่มี และสามารถรับมือ ออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กได้

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของเด็กก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ครูควรจะเป็นคนช่างสังเกตเมื่ออยู่ในห้องเรียน ต้องคอยดูว่าใครมีท่าทีแปลกไปจากคนอื่นๆ หรือเปล่า เข้าไปพูดคุยกับเขา แสดงความใส่ใจเพื่อให้เด็กเปิดใจพูดคุยกับเรามากขึ้น ปรึกษาพ่อแม่ผู้ปกครองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยไม่ตีตราหรือด่วนตัดสิน

การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องพยายามสอนเรื่องนี้ พยายามยกตัวอย่างเคสมาบอกเล่าให้นักศึกษาฟัง จำลองสถานการณ์รูปแบบต่างๆ เช่น เคสผู้ปกครองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเรียนของบุตรหลานมากเกินไป กดดันมากเกินไป ให้นักศึกษาไปค้นคว้า ออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แล้วแสดงบทบาทสมมติให้คนอื่นๆ ได้เห็น ให้ทุกคนวิพากษ์กันว่าวิธีแก้ไขดีไม่ดีอย่างไร เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง

สุดท้าย สิ่งที่ควรเติมใส่หลักสูตรครุศาสตร์มากขึ้น คือ การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องเพศ ตอนนี้มีความหลากหลายมาก ถ้าครูไม่เปิดใจ ตำหนิเด็กที่เป็นเพศทางเลือก ไม่ยอมรับสิ่งที่เขาเป็น การศึกษาก็ไม่สามารถก้าวหน้าไปได้ไกล และไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่อยากให้รวมถึงเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ครูควรจะมองเห็นคุณค่าว่าเด็กแต่ละคนมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรายวิชาแยกออกมาสอนเรื่องความแตกต่างอย่างชัดเจน ใช้วิธีสอดแทรกในแต่ละรายวิชาที่มีอยู่ก็ได้

ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

ด้านการฝึกสอนในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเรียนครุศาสตร์ ที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงบ้างไหม

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องการฝึกสอนอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนแรกหลักสูตรครุศาสตร์ต้องเรียน 4 ปี เรียนทฤษฎีจบออกไปฝึกสอนตอนเทอมต้นของช่วงปี 4 เป็นจำนวน 1 เทอม ต่อมามีการปรับหลักสูตรครุศาสตร์ให้เรียน 5 ปี เพื่อให้ออกฝึกสอนได้นานขึ้น จากเทอมเดียวกลายเป็น 2 เทอม แต่ผ่านไปสักพัก ณ ตอนนี้ก็เปลี่ยนกลับมาเป็นหลักสูตรเรียน 4 ปีเหมือนเดิมอีก ซึ่งส่วนตัวเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าทำไมถึงเปลี่ยนกลับไปกลับมา

บางคนว่าเรียน 4 ปี ฝึกปฏิบัติเทอมเดียว 3-4 เดือนก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่บางคนก็คิดว่าเรียน 5 ปีคงดีกว่า เพราะการได้เจอเด็กทุกวัน ทำงานนานขึ้น คงได้ฝึกทักษะการสอนมากขึ้น ซึ่งถือว่าใช้ได้ทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม อาจารย์มองว่าการฝึกสอนที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลา แต่ขึ้นอยู่กับการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงมือทำ นำความรู้ไปประยุกต์สอนนักเรียนจริงๆ ไม่ใช่ให้เขาไปทำงานอื่นมากกว่าสอน เขาจะได้เห็นว่าตนเองสามารถถ่ายทอดความรู้ที่มีให้เด็กได้จริงไหม สมมติว่าเป็นครูที่เรียนได้เกรดดี แม่นเนื้อหาสาระมาก แต่เวลาสอนจริง เด็กกลับไม่เข้าใจ ไม่สนใจที่จะเรียน ก็แสดงว่าเขาล้มเหลวเหมือนกันนะ มันไม่ได้หมายความว่านักศึกษาที่เก่งมากในห้องเรียนของคณะ จะเป็นครูที่เก่งในห้องเรียนจริงเสมอไป ดังนั้น จะเรียน 4 ปี หรือ 5 ปี ก็ไม่เท่ากับการที่นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ ได้สื่อสารกับเด็ก และเห็นจุดอ่อนจุดแข็งในการสอนของตัวเอง

ถ้ามีการเพิ่มระยะเวลาฝึกสอนให้นานขึ้น อาจารย์คิดว่าก็ควรมีการเปลี่ยนโรงเรียนสอนในแต่ละเทอม เพราะโรงเรียนในประเทศไทยมีหลายสังกัด ไม่เหมือนต่างประเทศที่มีสังกัดเดียว และมีความเสมอภาคมากกว่า ไม่ว่าฝึกโรงเรียนไหนก็ไม่ค่อยแตกต่างกัน ประเทศไทยมีทั้งสังกัดสพฐ. โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนทางเลือก มีความหลากหลายมาก ถ้านักศึกษาได้ฝึกสอนแค่บางโรงเรียน เช่น โรงเรียนสาธิต ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเกือบเป็นโรงเรียนในอุดมคติ เด็กมีความพร้อม อุปกรณ์การเรียนพร้อม แทบไม่ต้องเจอกับความท้าทายเรื่องการเรียนการสอนมากมายเมื่อเทียบกับโรงเรียนสังกัดอื่นๆ

ฉะนั้น ถ้าเราสามารถจัดหลักสูตรให้เด็กได้ลองฝึกในโรงเรียนหลายๆ แบบก็น่าจะดี เมื่อเปลี่ยนโรงเรียน นักศึกษาก็ต้องรับมือกับบริบทของโรงเรียนที่ตัวเองไปเจอ จะได้ฝึกประสบการณ์ที่หลากหลายกว่า เวลาที่เรียนจบออกไปประกอบอาชีพครู ไม่ว่าจะเป็นครูในโรงเรียนแบบไหนก็จะมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งจากการการที่เคยฝึกสอนมาก่อน

จำเป็นไหมว่าเราควรให้ยาแรงอย่างการส่งนักศึกษาไปฝึกสอนในโรงเรียนห่างไกล เพื่อฝึกรับมือกับความท้าทายในการสอน

คิดว่าไม่จำเป็นขนาดนั้น อันที่จริงก็มีอุปสรรคอยู่ว่า ถ้าส่งนักศึกษาไปฝึกสอนแบบสุดโต่ง ไปอยู่ถิ่นทุรกันดาร อยู่บนดอย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยอาจไม่สามารถตามไปนิเทศเขาได้ เพราะปัญหาเรื่องระยะทางและภาระหน้าที่ อาจารย์คนหนึ่งรับหน้าที่ดูแลนักศึกษาหลายคน ต้องไปนิเทศหลายครั้งตลอดระยะเวลาการฝึกสอน อย่างต่ำก็เดือนละ 1-2 ครั้ง ไม่ใช่ไปดูครั้งเดียวแล้วจบ ดังนั้น หากนักศึกษาไปฝึกสอนที่ไกลๆ แต่ละคนไปต่างจังหวัดกัน อาจจะทำให้ขาดกระบวนการนิเทศได้ ซึ่งมันเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่ควรขาด

ถ้าไม่มีการนิเทศ ไม่มีการให้ฟีดแบ็กจากอาจารย์ เพื่อปรับเปลี่ยนเรียนรู้จากการสอนจริง ต่อให้ไปฝึกในที่ห่างไกล มีความท้าทายมาก ก็อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณของคณะในการส่งนักศึกษาและอาจารย์ไปฝึกสอนหรือไปนิเทศด้วย เราจึงต้องเลือกทางที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้

ถ้านักศึกษาในมหาวิทยาลัยตัวเมืองไม่อาจออกไปฝึกสอนในชนบทเพราะติดข้อจำกัด เช่น เรื่องการเดินทางหรืออื่นๆ จะทำให้ครูที่จบออกมามีแนวโน้มอยู่แค่ในตัวเมืองหรือเปล่า

ไม่เลย นี่เป็นเรื่องที่มักเข้าใจผิดกัน เพราะความจริงแล้ว คณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในเมืองก็มีเด็กต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลเข้ามาเรียนค่อนข้างเยอะ แถมเป็นเด็กต่างจังหวัดระดับหัวกะทิ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในสังคมที่เขาอยู่มองว่าการรับราชการเป็นครูมีความมั่นคง เวลาอาจารย์มีโอกาสสัมภาษณ์นักศึกษาก่อนเข้ามาเรียน ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ให้เหตุผลว่าพ่อแม่อยากให้เข้ารับราชการ ดังนั้น เด็กต่างจังหวัดที่เห็นคุณค่าของอาชีพครูนั้นมีอยู่มาก คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดของตัวเอง สอบบรรจุในโรงเรียนแถวบ้าน แถมยังมีนักศึกษาครุศาสตร์ส่วนหนึ่งอยู่ในโครงการครูคืนถิ่น ทำให้เมื่อเรียนจบแล้ว จะมีครูส่วนหนึ่งที่ไม่อยู่กรุงเทพฯ แน่ๆ

มหาวิทยาลัย โรงเรียน ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

ในภาพรวม มุมมองของผู้เรียนที่มีต่อครุศาสตร์ตอนนี้เป็นอย่างไร มีแนวโน้มสนใจครุศาสตร์สาขาไหนเป็นพิเศษ

สมัยก่อน ครุศาสตร์ถือว่าเป็นคณะเหลือเลือกสำหรับนักศึกษา คือถ้าสอบไม่ติดคณะที่อยากได้ ก็จะมาเข้าครุศาสตร์เพราะคิดว่าเข้าได้ง่าย แต่ ณ ปัจจุบันมุมมองนี้เปลี่ยนไป มีคนที่เข้ามาเรียนเพราะอยากมาเรียน อยากเป็นครูจริงๆ มากขึ้น นี่เป็นแนวโน้มที่น่าดีใจเหมือนกันว่าเด็กสมัยใหม่สนใจอาชีพครู ถึงแม้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากผู้ปกครองที่อยากให้ลูกมีงานที่มั่นคง อยากให้สอบบรรจุรับราชการด้วย แต่ภาพรวมก็ถือว่าดีขึ้นกว่าอดีตมาก

ส่วนเรื่องความสนใจ เป็นเรื่องที่ตอบยากเหมือนกัน เพราะนักศึกษาก็สนใจแตกต่างกันไป หลักๆ ถ้ามองจากความต้องการครูในโรงเรียนส่วนใหญ่ อาจกล่าวได้ว่าครูประถมศึกษากับการศึกษาปฐมวัยค่อนข้างเป็นที่นิยมพอสมควร เพราะมีสถาบันผลิตครูประถมฯ น้อย นักศึกษาก็มีน้อย แต่การศึกษาขั้นประถมถือเป็นการศึกษาภาคบังคับและมีโรงเรียนประถมทั่วประเทศกว่า 40,000 โรงเรียน การศึกษาชั้นปฐมวัยก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเด็ก มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น นักศึกษาที่ต้องการเข้ารับราชการ ก็มักจะเข้าเอกเหล่านี้ เพราะเมื่อเรียนจบจะถูกยื้อแย่งตัวกันมาก

อย่างไรก็ตาม คนที่จบครุศาสตร์แต่ไม่ได้เป็นครูก็มี เพราะคณะครุศาสตร์มีสาขาหลากหลาย เช่น ธุรกิจศึกษา รองรับกลุ่มที่เข้ามาเรียนเพื่อต้องการไปทำงานบริษัท หรือครุฯ ดนตรีที่จบไปเป็นนักดนตรี แต่ส่วนใหญ่คนที่เรียนคณะนี้จบไปก็มักทำงานเกี่ยวกับการศึกษาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นวิทยากรอบรมบ้าง ทำงานสำนักพิมพ์บ้าง ช่วยส่งเสริมการศึกษาทางอ้อมแทนที่จะทำงานเป็นครู

ปัจจุบันมีคนที่ไม่ได้จบครุศาสตร์หันมาทำงานเป็นครูมากขึ้น อาจารย์มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร

จริงๆ ก็ยินดีนะ ไม่ได้ว่าอะไร ถือว่าเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจารย์คิดว่าคนที่ไม่ได้จบครุศาสตร์อาจเป็นครูได้แค่ในสถาบันกวดวิชาหรือเป็นติวเตอร์ เพราะตอนนี้มีโรงเรียนน้อยมากที่จะรับคนไม่จบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เข้ามาเป็นครู ส่วนมากจะระบุเป็นคุณสมบัติขั้นต้นอย่างชัดเจนตอนสมัคร เท่าที่เห็นจึงมีแค่ในวงการกวดวิชาเท่านั้นที่มีคนไม่ได้จบครุฯ มาสอน

แล้วการมีครูในสถาบันกวดวิชาเหล่านี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่วงการครูในโรงเรียนบ้างหรือไม่

ไม่เลย เพราะครูในโรงเรียนและครูกวดวิชาแตกต่างกันมาก ถ้าพูดถึงสถาบันกวดวิชา เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นการเรียนจากคลิป จากทีวี มีสอนสดน้อยมาก อีกทั้งเนื้อหาก็เป็นการเน้นสอนทริคให้จำ เป็นทางลัดสำหรับนำไปสอบ เปรียบได้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ใส่น้ำแล้วพร้อมกิน

ในขณะที่ครูในโรงเรียนจะสอนหลักสูตรซึ่งถูกกำหนดมาเป็นแผนการเรียนรู้ระยะยาว เน้นการสอนให้เข้าใจคอนเซปต์ พยายามพัฒนาเด็กไปทีละขั้น ถ้ามีเด็กคนไหนเรียนไม่เข้าใจ ก็จะพยายามเข้าไปอธิบาย สอนซ้ำๆ จนกว่าจะรู้ หรือสามารถมาถามนอกเวลาเรียนได้ตลอด ทำให้เปรียบเหมือนอาหารที่ทำเอง ค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่คัดเลือกวัตถุดิบ หั่นเนื้อ หั่นผัก และปรุงออกมา

ต้องยอมรับว่าครูในสถาบันกวดวิชามีจุดเด่นที่เขาแม่นเนื้อหาวิชาการมาก ซึ่งบางทีครูในโรงเรียนอาจสู้ไม่ได้ แต่เรื่องวิธีการสอน การถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เด็กเข้าใจ อาจารย์คิดว่าครูในโรงเรียนทำได้ดีกว่า บางทีครูกวดวิชาเร่งอัดเนื้อหาให้นักเรียนมากเกินไป จนมองข้ามสเต็ปการเรียนรู้แต่ละช่วงวัย ซึ่งอันที่จริงก็โทษเขาไม่ได้ เพราะสังคมเราตอนนี้เน้นการวัดประเมินผลเด็ก วัดความเก่งกันด้วยเกรด ดังนั้นเมื่อถึงช่วงใกล้สอบ พ่อแม่บางคนอาจรู้สึกว่าครูในโรงเรียนสอนได้ไม่ทันใจ ทำให้เด็กต้องออกไปเสาะหาสถาบันกวดวิชา เรียนกับติวเตอร์ เน้นท่องจำเทคนิคเพื่อไปสอบ ใครได้คะแนนดีจะได้ถือว่าเรียนเก่ง เป็นที่ชื่นชม

ตราบใดที่เรายังเน้นการวัดความรู้ที่มากเกินไปแบบนี้ สถาบันกวดวิชาก็ยังบูม อยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง

ถ้าลองเปลี่ยนสภาพสังคม ไม่เน้นการประเมิน จัดอันดับ นับคะแนน หันใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าสถาบันกวดวิชาจะอยู่ต่อได้ไหม

 

ครูในโรงเรียนมักถูกมองว่ารู้เนื้อหาวิชาการน้อยกว่าครูกวดวิชา ระยะหลังจึงมีการพูดถึงแนวคิดการสอนแบบ Pedagogical Content Knowledge (PCK) ซึ่งเป็นการผสมผสานความรู้ในเนื้อหาวิชาเข้ากับความรู้ด้านวิธีการสอน ในทางปฏิบัติจริง เราจะทำให้ครูคนหนึ่งรู้ทั้งเนื้อหาวิชาการอย่างเข้มข้น และถ่ายทอดออกมาได้อย่างไรบ้าง

คนอาจคิดว่าความเข้าใจด้านเนื้อหาวิชาการ และวิธีการถ่ายทอดออกมาเป็นทักษะคนละส่วน แต่จริงๆ แล้วอาจารย์มองว่ามันเกิดขึ้นพร้อมกัน สำหรับคนที่เรียนครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ทักษะแบบ PCK จะเกิดขึ้นได้ด้วยประสบการณ์ การสอนเนื้อหาบ่อยๆ และได้เจอเหตุการณ์ในห้องเรียนหลายๆ แบบ จะทำให้ครูเข้าใจวิชาการและมีองค์ความรู้ว่าจะถ่ายทอดเรื่องๆ หนึ่งได้อย่างไร ในรูปแบบไหนบ้าง

วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ได้เจอกับเหตุการณ์ แทบไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน แต่ละเทอม เมื่อนักเรียนเปลี่ยนหน้าไป ก็เกิดเรื่องใหม่ๆ ขึ้น ดังนั้น ยิ่งสอนนาน จะยิ่งมี PCK มากขึ้น ครูที่จบใหม่ก็อาจจะต้องใช้เวลาพัฒนาทักษะด้านนี้อยู่พอสมควร

ในมหาวิทยาลัย เราจะช่วยสร้างทักษะ PCK ให้กับนักศึกษาได้ผ่านการฝึกปฏิบัติ ทดลองสอนในห้องเรียนที่เรียกว่า ทดลองสอนจุลภาค ก่อน และตอนที่นักศึกษาออกไปฝึกสอน อาจารย์ต้องช่วยสะท้อนให้เขาเห็นว่าตนเองยังขาดเรื่องอะไร ต้องเสริมเรื่องวิชาการหรือการสอน ถ้าเห็นว่าสอนผิดคอนเซปต์ของเนื้อหาก็จะรีบทักท้วงกันทันที เพราะครูควรเข้าใจคอนเซปต์ของเนื้อหาอย่างถ่องแท้ก่อนนำไปสอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสอนผิด ให้นักเรียนจำไปแบบผิดๆ

การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อระบบการศึกษาทั่วทั้งโลก สำหรับแวดวงครูหรือครุศาสตร์ อาจารย์มองเห็นผลกระทบอะไรที่เป็นโจทย์สำคัญให้ต้องเริ่มปรับตัวจากเหตุการณ์ครั้งนี้

เรื่องที่เห็นได้ชัดคือ ทักษะการใช้เทคโนโลยีของครู ครูหลายแสนคนในประเทศไทยตอนนี้มีหลายเจเนอเรชันมาก ไม่ได้มีแค่กลุ่มเจน X เจน Y เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มครูอายุมากที่ไม่ค่อยได้สัมผัสกับเทคโนโลยี เพราะในยุคของเขาเทคโนโลยียังไม่บูมขนาดนี้ พอมีการระบาด ต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สอนผ่านแอปพลิเคชัน จึงเรียนรู้ไม่ทันหรือเรียนรู้ได้อย่างจำกัด จนเกิดปัญหาในการสอน ถ้าเป็นครูอายุประมาณ 30-40 กว่ายังไม่น่าเป็นห่วง ยังใช้เทคโนโลยีพอได้ ถึงจะไม่ช่ำชองเท่าครูจบใหม่ อายุ 20 กว่าๆ ก็ตาม

คนที่ต้องปรับตัวอย่างหนักจึงเป็นกลุ่มครูอายุเยอะเหล่านี้ ต้องเปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ เรียนรู้จากครูรุ่นน้อง ไม่ยึดติดกับกรอบการสอนเดิมๆ ฝึกใช้เทคโนโลยีแบบต่างๆ ให้เคยชินจนเกิดเป็นทักษะ อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ครูมีความรู้ด้านเทคโนโลยี และสามารถใช้ทักษะนี้ในการสอนได้ หมายความว่า สภาพแวดล้อมต้องเอื้ออำนวยด้วย อย่างน้อยโรงเรียนต้องมีอุปกรณ์ ทรัพยากรที่พร้อม ในเมืองอาจจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้มากนัก แต่ตามชนบทยังมีปัญหาอยู่มาก เช่น อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ไฟฟ้าไม่มี แบบนี้ต่อให้ครูมีทักษะก็อาจจะไม่มีประโยชน์ ภาครัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเรื่องนี้เพิ่มเติม

ด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ปกติแล้ว คณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์จะมีภาคเทคโนโลยีที่รับผิดชอบสอนเรื่องทักษะการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานให้กับนักศึกษามาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 แต่การระบาดทำให้เราได้เห็นเทรนด์ว่าในอนาคตจะมีการสอนออนไลน์ สอนทางไกลมากขึ้น ก็คงต้องพัฒนารายวิชาใหม่ๆ ออกมา เช่น วิธีการทำคลิปการสอนคู่ไปกับการสอนสด และอาจจะมีวิชาให้ได้ฝึกสอนผ่านระบบออนไลน์ รับฟีดแบ็กจากอาจารย์ว่ายังติดขัดตรงไหนเพื่อให้พัฒนาต่อได้

นอกจากนี้ ถึงโรงเรียนจะเปิดเทอม กลับไปเรียนในห้องแล้ว แต่โควิด-19 ก็ทำให้บางวิชาเจอปัญหาในการสอนมากขึ้น เช่น การสอนออกเสียงวิชาภาษาอังกฤษ เด็กต้องฟังเสียงครูพูด ต้องเห็นรูปปากเพื่อออกเสียงให้ถูกต้อง แต่เมื่อครูต้องใส่แมสก์ หรือ face shield อาจทำให้เด็กไม่เห็น หรือฟังไม่ถนัด ซึ่งนี่เป็นโจทย์ที่แก้ได้ยากเหมือนกัน

โควิด-19 ทำให้การสอนออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น บางโรงเรียนและมหาวิทยาลัยถึงกับวางแผนใช้เป็นตัวเลือกใหม่สำหรับการเรียนการสอน อาจารย์มองว่ามีข้อควรตระหนักอะไรบ้างไหมในการนำวิธีการสอนออนไลน์มาใช้

การสอนออนไลน์แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่โต้ตอบ (interact) กันได้เรียลไทม์ เช่น สอนผ่านโปรแกรม zoom กับแบบที่เป็นคลิปวิดีโอ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน การสอนออนไลน์แบบเรียลไทม์อาจจะมีวิธีถ่ายทอดความรู้ไม่ต่างจากการเรียนในห้องมาก เพราะครูทำหน้าที่สอนคอนเซปต์ และตอบคำถามของนักเรียนได้ สิ่งที่จะต่างอย่างเห็นได้ชัด คือการทำกิจกรรม เช่น จัดกลุ่ม อภิปรายกันในห้องเรียนอาจจะทำยากขึ้นมาก และบางรายวิชาก็มีข้อจำกัด ยกตัวอย่างวิชาพละ เราคงไม่สามารถนำให้นักเรียนเล่นกีฬา ออกกำลังกายไปพร้อมๆ กันทั้งหมดได้

การสอนออนไลน์จึงทำได้ดีแค่ส่วนที่ต้องสอนแบบเลคเชอร์ ตรงนี้ยิ่งเห็นได้ชัดจากการสอนออนไลน์แบบคลิปวิดีโอที่มีแต่เลคเชอร์อย่างเดียว ซึ่งปัจจุบัน การเรียนการสอนส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้เน้นการสอนแบบเลคเชอร์แล้ว อยากให้ทำกิจกรรมกันมากกว่า จะให้สอนแบบเลคเชอร์อย่างเดียว มันก็ดูแห้งแล้งมากเลยนะ

การสอนออนไลน์ยังมีข้อจำกัดว่า ผู้เรียนต้องรู้จักกำกับตัวเอง มีวินัยในการเรียนหรือ self-directed learning ด้วย ซึ่งเด็กเล็ก อย่างเด็กประถมไม่มีสมาธิกำกับตัวเองได้ขนาดนั้น บางทีสอนออนไลน์ ให้ดูคลิป ผ่านไปสัก 5-10 นาที เด็กก็ไม่จดจ่อแล้ว นี่เป็นอุปสรรคสำหรับการนำวิธีการสอนออนไลน์มาใช้ ถ้าจะมีวิชาอะไรที่สอนออนไลน์ได้ดีกว่าสอนในห้องเรียน ก็คงเป็นวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ละมั้ง (หัวเราะ)

แล้วเราจะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพ และไม่แห้งแล้งได้อย่างไรบ้าง

ถ้าอยากให้สนุกสนานเหมือนเรียนในห้องเรียน ก็อาจต้องสร้างการเรียนรู้ด้วยแนวคิด Gamification หรือนำหลักการของเกมมาใช้ สร้างบทเรียนให้มีความท้าทาย เช่น ได้ระดับดาว สะสมแต้ม สะสมคะแนน แข่งขันกัน เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่จะทำให้เด็กไม่เบื่อ และถ้าอยากทำให้การเรียนออนไลน์มีประสิทธิภาพ ต้องจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งอาจารย์มองคำว่ายืดหยุ่นใน 4 มิติ

หนึ่ง ด้านเวลา สมมติว่าเราสร้างบทเรียนออนไลน์ ต้องทำให้นักเรียนสามารถเรียนตอนไหนก็ได้ ไม่บังคับเรียนเวลาเดิมเหมือนอยู่ในห้อง และระยะเวลาในการเรียนแต่ละครั้ง แต่ละคลิปไม่จำเป็นต้องยาว อาจจะแบ่งเป็นคลิปสั้นๆ คลิปละ 10-15 นาทีแทนคลิปเดียวยาวหลายชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนได้มีช่วงเวลาผ่อนคลายบ้าง ไม่ต้องทนนั่งหน้าคอมนานๆ

สอง ด้านสถานที่ จะเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนในห้องน้ำ นอนเรียนบนเตียง หรือเรียนขณะทอดไข่เจียวไปก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด

สาม ด้านจัดรูปแบบการเรียนการสอน ครูควรสอนหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเลคเชอร์เท่านั้น เราสามารถใช้การบรรยาย สลับอภิปราย แสดงบทบาทสมมติให้ดู ผสมผสานกันไป เพื่อทำให้น่าสนใจได้มากขึ้น

สุดท้าย ด้านการวัดและประเมินผล ครูต้องพิจารณาว่าจะวัดประเมินแบบไหนถึงเหมาะสมที่สุด ไม่ใช่ว่าสอนออนไลน์แล้วมานั่งสอบแบบเดิม เราอาจจะให้ทำแบบทดสอบท้ายคลิปการสอน ให้โจทย์ไปตอบภายใน 1 วัน หรือเปลี่ยนจากการสอบเป็นการทำงานส่ง พรีเซนต์ผ่าน zoom เป็นต้น ต้องมีวิธีการประเมินผลที่หลากหลายมากกว่าการสอบเหมือนในห้องเรียน

แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์เชื่อว่าการสอนออนไลน์ไม่สามารถใช้แทนการสอนในห้องเรียนได้ครบถ้วน เพราะมันไม่มีชีวิตชีวามากเท่า เวลาเราเรียนในห้อง เราได้บรรยากาศการนั่งกับเพื่อนๆ ฟังเสียงรอบข้าง มีปฏิสัมพันธ์กับครูหรือเพื่อน สามารถสัมผัสเนื้อตัวกันได้ เห็นหน้า อารมณ์ชัดเจน ซึ่งการเรียนผ่านหน้าจอคนเดียวทำให้บรรยากาศเหล่านั้นหายไป เด็กส่วนใหญ่จะไม่อยากเรียนรู้มากเท่าเดิม

 

มหาวิทยาลัย โรงเรียน เรียนออนไลน์ ขนบท ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

นอกจากการสอนออนไลน์ อีกเทรนด์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือการศึกษาทางไกล ในช่วงโควิด-19 เราได้เห็นตัวอย่างการสอนผ่าน DLTV ไปบ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักใช้คลิปการสอนเป็นหลัก อาจารย์คิดว่าเราจะพัฒนาการศึกษาทางไกลให้ไม่แห้งแล้งได้อย่างไร

อาจารย์คิดว่าเราต้องเล่นใหญ่หน่อย เปลี่ยนการสอนธรรมดาให้กลายเป็นละคร เช่น ถ้าจะสอนเรื่องพระอภัยมณี ครูก็อาจจะแต่งตัวเป็นตัวละครมา มีพร็อบต่างๆ ให้ดูน่าสนใจ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการพูด จากปกติกล่าวสวัสดีค่ะ วันนี้ครูจะมาสอนเรื่องหน้าที่พลเมือง ก็เปลี่ยนมาพูดคล้ายกับการแสดงทอล์กโชว์ ทำให้สนุก ขำขันโดยแทรกเนื้อหาที่เรียน ไม่ก็นำคลิปอื่นๆ มาแทรกเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ไม่ใช่คลิปการสอนในห้องอย่างเดียว

สิ่งสำคัญของการสอนผ่าน DLTV นอกจากความสนุก คือ ความถูกต้อง หมายความว่าครูต้องเข้าใจเนื้อหา มีวิธีถ่ายทอดความรู้อย่างถูกต้อง สื่อประกอบการสอนที่ใช้ถูกต้อง เพราะการศึกษาทางไกลเป็นการอัดคลิป ครูไม่สามารถเข้าหาเด็กแต่ละคน ไม่เห็นสีหน้าแววตาของเด็กว่าใครเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เป็นการศึกษาที่เหมือนอยู่ในอุดมคติหน่อยๆ ว่าเด็กที่เรียนจะไม่ลุกไปไหน ไม่ซน ไม่เล่น จะตั้งใจเรียน และทุกคนล้วนเข้าใจเนื้อหา ไม่ตั้งคำถาม ทั้งที่สภาพจริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น

ในเมื่อครูไม่สามารถเข้าถึงเด็กที่อยู่หลังจอได้ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือต้องไม่สอนผิด ไม่ให้เด็กจำเนื้อหาไปแบบผิดๆ โดยที่ครูไม่มีโอกาสได้แก้ไขภายหลังเหมือนอยู่ในห้องเรียน

ทุกวันนี้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเองผ่านอินเทอร์เน็ต มีความรู้หลากหลายด้าน แล้วครูจะมีส่วนช่วยในการเรียนรู้อย่างไรบ้าง

สิ่งที่ครูทำได้ คือ การเป็นผู้ชี้แนะและช่วยคัดกรองข้อมูล เพราะบางครั้งความรู้ที่เด็กไปค้นหาจากอินเทอร์เน็ตอาจไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ครูจึงมีส่วนช่วยในการแนะนำ บอกให้เขารู้ว่าข้อควรระวังของการใช้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตคืออะไร มีแหล่งเรียนรู้ที่ไหน เว็บอะไรบ้างที่เชื่อถือได้ มีข้อมูลถูกต้อง สามารถนำมาใช้ ช่วยเติมทักษะ digital literacy ให้กับนักเรียน

นอกจากผู้คัดกรองความรู้ บทบาทอื่นๆ ของครูในห้องเรียนปัจจุบันที่อาจารย์มองเห็นมีอะไรอีกบ้าง

ครูสามารถมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนศักยภาพและตัวตนของเด็กในห้องเรียนผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน โดยครูต้องสังเกตเด็กในชั้นเรียนของตัวเอง รู้ว่าแต่ละคนถนัดเรียนรู้แบบไหน และมีจุดเด่นเรื่องอะไร ถ้าเด็กคนหนึ่งมีความสามารถในการพูด เรียนรู้ได้ดีเมื่อได้พูดออกมา ก็ควรจัดการสอนที่ส่งเสริมให้เด็กคนนั้นได้แสดงความคิดเห็น เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของเขา ทำให้เขาได้โดดเด่น

นอกจากนี้ อาจารย์เชื่อว่าครูยังมีบทบาทต่อความคิดของเด็กอยู่ เพราะวันๆ หนึ่งเด็กอาจต้องอยู่กับครูมากกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเสียอีก อย่างต่ำก็ในโรงเรียนกว่า 7 ชั่วโมง ดังนั้น เด็ก โดยเฉพาะเด็กประถมมักจะเชื่อฟังครูมาก เวลาครูสอนหรือพูดอะไร เขามีแนวโน้มเชื่อและจำฝังใจ เวลาลงมือทำอะไรก็จะนึกถึงคำเตือนคำสอนของครูเป็นอันดับต้นๆ ถึงปัจจุบัน เด็กจะเริ่มมีความคิดเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น แต่ก็ยังกล่าวได้ว่าครูเป็นผู้มีบทบาททางความคิดที่สำคัญของนักเรียนอยู่

สิ่งที่ครูต้องคำนึงถึงในฐานะผู้มีบทบาททางความคิดคืออะไร

ในวันที่ทุกคนมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ครูควรจะตั้งตนเป็นกลาง มองทุกๆ เรื่องทั้งด้านดีและด้านเสีย สอนให้เด็กมองอย่างรอบด้าน และต้องปฏิบัติกับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เห็นดีเห็นงามกับคนบางกลุ่มมากเกินไป หรือกระทบกระทั่งกับอีกกลุ่มจนถูกตั้งคำถามเรื่องการเลือกปฏิบัติ

อีกเรื่องหนึ่งคือต้องระวังเรื่องการพูดปมด้อยของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กอย่างเด็กประถม ครูบางคนเมื่อเกิดอารมณ์โกรธอาจจะเผลอใช้คำพูดรุนแรง ดึงสิ่งที่เป็นปมด้อยของเขามาตำหนิ โดยลืมไปว่าบางที แค่คำพูดของครูคำเดียวอาจทำให้เขาฝังใจไปตลอดชีวิตก็ได้ แม้กระทั่งการนำเรื่องของเด็กคนหนึ่งมาประกาศกับคนอื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม เช่น ในห้องมีเด็กพิเศษ ครูก็ประกาศกับเพื่อนในห้องเพราะอยากให้ช่วยกันดูแล บางครั้งก็อาจทำให้เขารู้สึกแย่ รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนได้ นี่เป็นสิ่งที่ต้องระวัง

มุมมองของนักเรียนที่มีต่อครูในตอนนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ได้มองครูในฐานะพระคุณที่สาม แต่มองเป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สอนเท่านั้น เรื่องนี้อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร

สำหรับครูรุ่นใหม่ ทัศนคติเรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหาต่อเขามากเท่าไรนัก เพราะเขาเองก็เติบโตมาด้วยความคิดคล้ายคลึงกัน ดังนั้น อาจไม่รู้สึกว่าเด็กจำเป็นต้องเคารพครูบาอาจารย์ แต่ถ้าเป็นอาจารย์ที่อายุมากหน่อย มีช่องว่างทางอายุห่างจากนักเรียนมาก ก็อาจจะรับไม่ได้ และเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย

ส่วนตัวอาจารย์มองว่า ระหว่างนักเรียนกับครูน่าจะต้องมีเส้นบางๆ คั่นอยู่ อย่างน้อยก็ให้เกียรติและเคารพกันในฐานะครู ไม่ได้มองว่าครูรับเงินจากพ่อแม่เขาไปแล้ว เพราะงั้นจะทำอะไรเขาไม่ได้ ยุ่งเรื่องของเขาไม่ได้ คำว่า ‘ฉันเสียเงินให้แกไปเรียน’ ของพ่อแม่อาจทำให้นักเรียนบางคนรู้สึกว่าจ่ายมาเพื่อใช้บริการครู แต่จริงๆ แล้วความสุภาพอ่อนน้อม และใส่ใจต่อคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรทำต่อกัน

อาจารย์เข้าใจว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว เด็กเจนฯ ใหม่ มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ตอนนี้สังคมเราก็ยังให้คุณค่ากับการเคารพผู้อาวุโสอยู่ ดังนั้น ครูจึงมีหน้าที่ต้องสอนและตักเตือนนักเรียนในบางที เพื่อให้เขาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ และความเป็นคนที่รู้จักให้เกียรติผู้อื่น อ่อนน้อมถ่อมตนจะช่วยให้เกิดความเจริญแก่สังคม

 

มหาวิทยาลัย โรงเรียน เรียนออนไลน์ ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

กระแสที่น่าจับตามองอีกเรื่องคือความเคลื่อนไหวของนักเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ในโรงเรียน เช่น เรื่องทรงผม เรียกร้องสิทธิบนเรือนร่างตนเอง อาจารย์มองเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง

เรื่องทรงผม อาจารย์มองสองด้าน ด้านแรกคือเข้าใจ และเห็นด้วยกับนักเรียนว่าเป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่ง การไว้ผมทรงไหนล้วนไม่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่ได้ชี้วัดว่าเด็กที่ผมสั้นจะเรียนเก่งกว่าคนอื่น หรือจะด้อยกว่าคนอื่นเพราะผมยาว

แต่อีกด้านหนึ่งคือเมื่อมองในภาพกว้าง สังคมทุกสังคมล้วนมีกฎระเบียบ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพของตนเองก็จริง สามารถทำอะไรก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ก็จริง แต่เราต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว การที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขต้องมีกฎระเบียบบางอย่าง ในโรงเรียนเองก็เป็นสังคมเล็กๆ เพียงสังคมหนึ่งเท่านั้น กฎระเบียบที่มี บางครั้งก็อาจแฝงไว้ด้วยเหตุผลหรือเป็นกุศโลบายบางอย่าง ยกตัวอย่างการไว้ผมสั้น อีกนัยหนึ่งก็มองได้ว่าทำให้ดูแลความสะอาดได้สะดวก เด็กประถมชอบเล่นสนุกกัน ถ้าไว้ผมยาว ไม่รักษาความสะอาด ใครเป็นเหาก็ติดกันได้ง่าย เราต้องเข้าใจเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนี้ด้วย

การเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้ โดยเราต้องบาลานซ์หาจุดตรงกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ เช่น เด็กมีอิสระในการทำทรงผมได้ประมาณหนึ่ง ไม่ต้องเข้มงวดว่าต้องสั้นมาก และเด็กก็ไม่ได้ทำทรงผมแปลกเกินไป ทำเดดล็อก โมฮอว์ค หรือทรงหวือหวามาโรงเรียน ถ้าทำได้ ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี

 

ทราบมาว่าอาจารย์ศึกษาจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ระบบการศึกษาในฟินแลนด์มีอะไรน่าสนใจที่อาจารย์คิดว่าควรนำมาปรับใช้ในไทย

อาจารย์ชอบความง่ายๆ มินิมอลของเขานะ ในฟินแลนด์เขาจะคิดแกนหลักของระบบการศึกษาอย่างกว้างๆ ครอบคลุม แล้วใช้ในระยะยาว เมื่อมีแนวคิดการศึกษาแบบใหม่ๆ ก็นำมาเป็นส่วนหนึ่งของแกนได้ พยายามต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ซึ่งหนึ่งในแกนหลักของการศึกษาฟินแลนด์คือความเท่าเทียม เสมอภาค ทุกโรงเรียนของฟินแลนด์ต้องได้มาตรฐานเหมือนกัน เด็กทุกคนได้เรียนหนังสือ ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาใหม่ การศึกษาก็ต้องตอบโจทย์เรื่องนี้เสมอ

อีกเรื่องที่น่าชื่นชมมาก คือความร่วมมือกับทุกภาคส่วน พัฒนาการศึกษาไปพร้อมๆ กัน โดยเขาสามารถมองเห็นปัญหาที่ต้องแก้ และผลลัพธ์ที่ต้องการได้อย่างชัดเจน กำหนดธีมขึ้นมาธีมหนึ่ง เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน ธีมนี้จะถูกใช้ทุกส่วนของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงทุกกระทรวง มหาวิทยาลัย ไปจนถึงโรงเรียน แต่ละฝ่ายสามารถตีความธีม มีอิสระในการศึกษาวิจัย หาวิธีการของตัวเองได้ ทำให้พัฒนาไปได้เร็วและสอดคล้องกัน

ระบบบริหารของฟินแลนด์เป็นแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) เขามอบอิสระในการคิดให้แก่ทุกฝ่าย แม้กระทั่งส่วนเล็กๆ เช่น ครูในห้องเรียน ก็ยังมีอิสระในการออกแบบแผนการสอนของตัวเองอย่างไรก็ได้ ครูใหญ่ ผอ.โรงเรียน หรือผู้มีอำนาจต่างๆ ไม่ได้จับตามองให้ครูทุกคน ทุกโรงเรียนต้องทำตามรูปแบบเดียวกันหมด ไม่ปิดกั้นว่าห้ามทำอะไรหรือต้องทำอะไร เขาเชื่อมั่นในตัวครูและเชื่อใจซึ่งกันและกัน

แตกต่างกับระบบบริหารบ้านเราที่เป็นแบบ Top-Down การศึกษาของเราอยู่ภายใต้อำนาจบางอย่าง ยังไม่มีความไว้ใจกัน ทำให้ครู มหาวิทยาลัย หรือคณะครุศาสตร์จะมาเป็นผู้นำเทรนด์การสอนใหม่ๆ ด้วยตัวเองยาก ถ้ามีอาจารย์คนหนึ่งลุกขึ้นมาลงมือทำ แต่สังคมรอบข้างมองเป็นของแปลก ไม่ทำตามคำสั่ง ก็อาจจะสร้างความกดดันจนไม่กล้าทำอะไร เวลาเราจะเปลี่ยนแปลงการศึกษา ทุกภาคส่วนจึงต้องเห็นพ้องต้องกัน ร่วมมือกันขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทุกวันนี้ผู้ปกครองบางคนยังคิดว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของครูในโรงเรียนอยู่ฝ่ายเดียวเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วเราควรจะช่วยกัน

เรื่องทัศนคติ ค่านิยมเกี่ยวกับวิชาชีพครูก็ควรปรับด้วย ในฟินแลนด์ ครูถือเป็นวิชาชีพอันดับหนึ่งเทียบเท่ากับหมอในบ้านเรา การจะเป็นครูนั้นยากมาก มีแต่หัวกะทิเท่านั้นที่มาเรียน สมัครสองหมื่นคน รับแค่สองพัน แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับครูมาก ถ้าเรามีความเข้มข้นแบบนั้น คัดเลือกให้คนเก่งๆ มาเป็นครู อาจจะดีก็ได้ จะได้ช่วยผลิตประชากรที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศ

สุดท้าย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ วัน อะไรคือคุณสมบัติที่ครูยุคใหม่ควรจะมี

อย่างแรกคือครูต้องยึดหลักเหตุและผล เชื่อว่าทุกสิ่งที่คนทำล้วนมีเหตุผล อย่าเพิ่งรีบไปตัดสิน เวลาเกิดปัญหาต้องคุยกับเด็กก่อน ทุกวันนี้ ข่าวแย่ๆ ที่เกิดขึ้นอาจารย์คิดว่ามาจากความไม่มีเหตุผล ครูใช้อารมณ์เป็นหลัก ซึ่งจริงๆ แล้วครูควรจะมีทักษะในการจัดการอารมณ์ ควบคุมตัวเองด้วย

ต่อมาคือ ต้องมีคุณธรรมจริยธรรม ครูต้องรู้ถูกผิด รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ต้องทำอะไร ควรมุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน ไม่ใช่แค่เนื้อหาวิชา แต่ยังรวมถึงความรู้รอบตัว การปฏิบัติตน สิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตทุกสิ่งทุกอย่าง สอนอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ ครูยุคใหม่ต้องรู้จักคิดสิ่งใหม่ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เด็กได้สนุกสนาน เรียนอย่างมีความสุข

ที่สำคัญ ครูต้องรักในวิชาชีพตัวเอง หมั่นต่อยอดความรู้ของตนเองไปเรื่อยๆ ต้องไม่หยุดอยู่กับที่ อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ สิ่งใหม่ ต้องศึกษาค้นคว้า พัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญมากในตอนนี้และอนาคต

เมื่อสังคมเปลี่ยน การเรียนการสอนต้องเปลี่ยน ครูต้องพัฒนาหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่หยุดเรียนรู้ ต้องก้าวไปกับความเปลี่ยนแปลง

 

WHAT’S IN YOUR TEACHER BAG ?

การเป็นครู คือการเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว และนี่คือรายชื่อหนังสือ ภาพยนตร์ สารคดี Podcast ที่จะมาช่วยเติมความรู้ เปิดหูเปิดตาให้กว้างไกล จากคำแนะนำของดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

ของชิ้นที่ 1 หนังสือ 

ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร หนังสือ

Finnish Lesson โดย Pasi Sahlberg  และ Teach like Finland โดย Timothy D. Walker

“อ่านวิธีสร้างระบบการศึกษาให้มีคุณภาพระดับโลกตามแบบฉบับฟินแลนด์ และประสบการณ์จากครูชาวอเมริกันที่ลองไปเป็นครูในโรงเรียนฟินแลนด์ ว่าเขาเจอกับอะไร แล้วทำไมครูฟินแลนด์ถึงทำแบบนั้น อ่านง่าย ไม่ยาก ไม่วิชาการจ๋า แต่เป็นประโยชน์สำหรับครูไทย”

 

ศาสตร์การสอน โดย ทิศนา แขมมณี

“หนังสือศาสตร์การสอนของอาจารย์ทิศนาเปรียบได้กับคัมภีร์การสอน มีทุกสิ่งอย่างที่ครูควรจะรู้ ตั้งแต่ระบบการเรียนการสอน รูปแบบการเรียนการสอน และความหมายของศัพท์ต่างๆ ครบครัน”

 

ของชิ้นที่ 2 ภาพยนตร์

ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร ภาพยนตร์

คิดถึงวิทยา

“เรื่องนี้ดีมาก อยากให้การเรียนการสอนทุกที่เป็นแบบในเรื่อง ครูสามารถหยิบจับสิ่งต่างๆ รอบตัวมาสอนเด็ก มันทำให้เห็นว่าความรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในห้องเรียน มันเกิดได้ทุกที่ และคนที่เป็นครูเจออะไรก็นำมาประยุกต์ใช้สอนได้หมด ทำให้ทั้งครูและเด็กๆ มีความสุขและสนุกในการเรียนรู้ไปด้วยกัน อยากให้มีบรรยากาศแบบนั้นเกิดขึ้นเยอะๆ”

 

สารคดี The Finland School System Phenomenon

“เป็นสารคดีชาวอเมริกันที่ไปถ่ายทำเรื่องระบบการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับครู หาชมได้ใน https://documentarylovers.com/film/finland-phenomenon-school-system/”

 

ของชิ้นที่ 3 Podcast

ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร podcast

TED Talk หมวด Education

“แนะนำให้ฟัง Ted Talk หมวดการศึกษา เนื้อหาในนั้นมีความหลากหลายมาก ใหม่ และสนุก สามารถเลือกฟังตามหัวข้อที่สนใจได้เลย”

ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save