fbpx

โลกการศึกษา 2021: สอบภาคปฏิบัติวิชา ‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’

เมื่อโลกการเรียนรู้พลอยติดไวรัสโควิด-19 บทเรียนเรื่องความเหลื่อมล้ำฉบับเร่งรัดและไร้ปรานี คือบทเรียนอันหนักหน่วงแต่ล้ำค่าที่ปี 2020 ได้ฝากเอาไว้

หากปีที่แล้วคือปีแห่งการเปิดแผลและเรียนรู้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างถึงแก่น ปีนี้ก็คือปีแห่งการ ‘สอบภาคปฏิบัติ’ ว่าจะมุ่งสู่กลับสู่เส้นทางแห่งความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างไรบ้าง

เพราะการเรียนรู้ไม่เคยหยุด – เหมือนกับโลกที่ไม่เคยหยุดหมุน และไม่มีวันย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิม – นี่คือห้วงเวลาที่นวัตกรรมและแนวทางการเรียนรู้หลากรูปแบบถูกหยิบขึ้นมาทดสอบในห้องเรียน

อย่างไรก็ตาม รอยแผลแห่งความเหลื่อมล้ำยังไม่จางหาย ภาวะสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนกำลังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะกับนักเรียนผู้ยากไร้

โรคระบาดยังไม่ทันหายดี ความผันผวนของโลกก็เรียกร้องทักษะใหม่และหลากหลายจากผู้คน – หนึ่งในนั้นคือทักษะอาชีพ

แล้วโลกการศึกษาจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร?

ร่วมสอบภาคปฏิบัติวิชา ‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’ ในปี 2021 ได้ ณ บัดนี้

บทเรียนโควิด-19 กับรอยแผลแห่งความเหลื่อมล้ำจากการสูญเสียการเรียนรู้

นับเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่การระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่าสร้างความปั่นป่วนให้โลกการศึกษา จนรั้วโรงเรียนจำต้องปิดลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แลกกับการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างไปกว่าเดิม จนในช่วง ‘พีก’ ที่สุดของวิกฤต มีนักเรียนกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลก จากกว่า 190 ประเทศไม่ได้เข้าไปเรียน-เล่น-เติบโตในโรงเรียนอย่างที่ควรจะเป็น

แม้ว่าสิ่งหนึ่งที่ต่างไปจากปีที่แล้วอย่างการมาถึงของวัคซีน จะจุดประกายความหวังว่าโรงเรียนจะกลับมาเปิดได้อย่างเต็มที่ 100% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ยากที่จะปฏิเสธว่าการปิดโรงเรียนกลายเป็นหนึ่งในสภาวะปกติ (ใหม่) ไปชั่วขณะหนึ่งของโลกการศึกษาเสียแล้ว จนฝาก ‘อาการข้างเคียง’ และ ‘รอยแผลเป็น’ ไว้ในระบบการศึกษา – อาจกล่าวได้ว่าโลกการศึกษากำลังอยู่ห่างไกลออกจากความเสมอภาคยิ่งกว่าเดิม

จากการรวบรวมข้อมูลโดย UNESCO ตั้งแต่ราวมีนาคม 2020 จนถึงพฤศจิกายน 2021 ฉายภาพปราฏกการณ์การปิดโรงเรียนทั่วโลกให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า โดยเฉลี่ยแต่ละประเทศตัดสินใจปิดโรงเรียนทั่วประเทศ (full closure) เป็นระยะเวลา 19 สัปดาห์ และปิดโรงเรียนในบางพื้นที่ของประเทศ (partial closure) เป็นระยะเวลาราว 18 สัปดาห์

จากแนวการวิเคราะห์ข้อมูลของ วรรษกร สาระกุล ในช่วงการระบาดระยะแรก ระหว่างมีนาคม 2020 – สิงหาคม 2020 ประเทศส่วนใหญ่เลือกใช้นโยบายปิดโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ ส่วนในช่วงระยะหลังตั้งแต่สิงหาคม 2020 เป็นต้นมา ประเทศส่วนใหญ่เลือกปิดโรงเรียนแค่ในบางพื้นที่แทน และประเทศส่วนใหญ่ปิดโรงเรียนทั่วประเทศไม่เกิน ไม่เกิน 21 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 ภาคการศึกษา

ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย มีการใช้มาตรการปิดโรงเรียนทั่วประเทศไปแล้ว 16 สัปดาห์และปิดบางส่วน 36 สัปดาห์ สพฐ. กำหนดให้ 1 ภาคการศึกษามี 20 สัปดาห์ นั่นเท่ากับว่านักเรียนไทยไม่สามารถไปโรงเรียนได้แล้วอย่างน้อยที่สุดนานกว่า 3 ใน 4 ของภาคการศึกษา

ระยะเวลาวันปิดโรงเรียนบอกอะไรกับเราบ้าง?

อย่างไม่ต้องสงสัย ปรากฏการณ์ที่ตามมาจากการปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานานอย่างเลี่ยงไม่ได้ – หากไม่นับว่ามีเด็กยากจนจำนวนไม่น้อยที่จำต้องออกจากโรงเรียนและหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะความยากจนที่หนักข้อขึ้นจากการระบาดบีบคั้นจนฟางเส้นสุดท้ายขาดลง แลกกับการต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจของครอบครัว – คือต้นเหตุแห่งความถดถอยของ ‘ทุนมนุษย์’ อย่าง ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (COVID Slide) หรือภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (learning losses) – นี่คือ 1 ใน 3 แกนของความท้าทายสำคัญที่โลกการศึกษาต้องเผชิญท่ามกลางโรคระบาด ตามที่ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุไว้

ยิ่งปิดโรงเรียนนาน ภาวะสูญเสียการเรียนรู้ยิ่งสาหัส ปรากฏการณ์เช่นนี้ รายงานพิเศษจาก OECD มองว่าน่ากังวล

“…ประเทศที่มีระยะเวลาการปิดโรงเรียนนานคือประเทศที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ค่อยดีนัก เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับผลคะแนนการสอบ PISA ด้านการอ่านในปี 2018 อาจกล่าวได้ว่า ในประเทศที่ระบบการศึกษาที่คุณภาพไม่ค่อยดีนักและมีความเหลื่อมล้ำสูงอาจต้องเผชิญต่อสภาวะการสูญเสียการเรียนรู้และโอกาสในการเรียนรู้ที่รุนแรงหนักกว่าเดิมหลังปี 2020 … ที่น่ากังวลที่สุดคือ สภาวะการสูญเสียการเรียนรู้จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในสังคมยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต”

และแน่นอนว่าภาวะสูญเสียการเรียนรู้จะสาหัสยิ่งกว่าสำหรับเด็กนักเรียนผู้ยากไร้ ที่ความยากจนทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ยากลำบากกว่าเด็กจากครอบครัวมีฐานะ ซ้ำความยากจนยังจำกัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ให้เด็กยากจนไล่ตามเด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยทันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

แม้การย้ายโรงเรียนไปไว้บนโลกออกไลน์ชั่วคราวจะพอประคับประคองให้การเรียนรู้ดำเนินต่อไปได้บ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรประกันว่าการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคนจะได้รับการประคับประคองอย่างเสมอหน้า ไม่ว่าจะยากดีมีจน เพราะความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) กลับกลายเป็นกำแพงขวางกั้นสูงเสียดฟ้า ถ่างช่องว่างและตอกย้ำความเสี่ยงที่จะสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนยากจนยิ่งขึ้นไปอีก

หากมองในระดับโลก รายงาน The Global Risks Report 2021 เผยว่า ในประเทศรายได้สูง ประชากรมากกว่า 87% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอันเป็นลมหายใจของการเรียนออนไลน์ได้ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นประเทศรายได้ต่ำ อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอาจลดลงต่ำกว่า 17% – ยังไม่ต้องพูดถึงเสียด้วยซ้ำว่า จะมีเด็กยากจนสักกี่คนที่มีคอมพิวเตอร์พร้อมเรียนออนไลน์บนแพลตฟอร์มอย่างเต็มประสิทธิภาพที่บ้าน หรือมีครอบครัวที่พร้อมดูแลกวดขันการเรียน หรือช่วยสอนการบ้าน ทบทวนหนังสืออย่างเต็มที่

และแล้ว ร่องรอยของภาวะสูญเสียการเรียนรู้ค่อยๆ ปรากฏชัดกว่าที่เคย พร้อมกับร่องรอยของความไม่เท่าเทียมในการสูญเสียการเรียนรู้ระหว่างเด็กจากครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะดีและเด็กจากครอบครัวยากจน จากงานวิจัยที่วรรษกรหยิบขึ้นมาเล่า กระทั่งหลายประเทศยุโรปในกลุ่มรายได้สูงก็หลบความเหลื่อมล้ำของการสูญเสียการเรียนรู้ไม่พ้น

หนึ่งในประเทศยุโรปรายได้สูงที่สะท้อนภาพได้ชัดเจนที่สุดคือเบลเยียม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลสอบระดับประเทศของนักเรียนชั้นป.6 ที่ต้องเผชิญการปิดโรงเรียนนานกว่า 3 เดือนลดลงทุกวิชาเมื่อเทียบกับผลสอบของนักเรียนในปีการศึกษาก่อนๆ รวมทั้งผลการเรียนยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่มากกว่า มักเผชิญการสูญเสียการเรียนรู้มากกว่า

หากประเทศรายได้สูงในยุโรปยังไม่รอด สิ่งที่อีกหลายประเทศต้องเผชิญย่อมไม่ต่างกัน – อาจเหลื่อมล้ำรุนแรงกว่าเสียด้วยซ้ำในระยะยาว จากการสำรวจในหลายประเทศของ McKinsey พบว่า หากเกิดเป็นเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) จะสูญเสียการเรียนรู้กว่า 2.5 เดือนเลยทีเดียว ส่วนเด็กนักเรียนที่เกิดในครอบครัวที่อยู่ในครัวเรือนซึ่งอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนมากกว่า 80% จะสูญเสียการเรียนรู้ร่วม 1.6 เดือน

แม้จะโหดร้าย แต่คงไม่เกินความเป็นจริงนักที่เด็กยากจนคือผู้ที่เจ็บซ้ำเจ็บซ้อน และเจ็บหนักที่สุดจากภาวะการสูญเสียการเรียนรู้

น่าคิดว่าเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กที่มีฐานะยากจนจะสูญเสียการเรียนรู้ไปมากเท่าไหร่?

ยิ่งหากปล่อยให้ช่องว่างการสูญเสียการเรียนรู้ถ่างกว้างยิ่งขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็จะยิ่งหยั่งรากลึกขึ้น ก้าวย่างบนเส้นทางการพัฒนา ‘ทุนมนุษย์’ ให้มีทักษะและศักยภาพเต็มเปี่ยมในการขับเคลื่อนประเทศถูกชะลอ

ลมหายใจของความเสมอภาคทางการศึกษายังคงรวยรินในปีนี้

นวัตกรรมการเรียนรู้สู่ความเสมอภาค: ถึงเวลาสอบภาคปฏิบัติ

ในยุคที่เด็กนักเรียนทุกคนตกอยู่ในสภาวะที่ต้อง ‘โตมากับจอ’ เทคโนโลยีก็ไม่ได้เป็นตัวการที่ทำให้สภาวะสูญเสียการเรียนรู้รุนแรงเสมอไป กลับกัน ยิ่งเด็กมีฐานะยากจน ก็จะยิ่งได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และมีความเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีอาจมีส่วนส่งเสริมการเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ เพราะจากงานวิจัยการทดลองเชิงเศรษฐศาสตร์พบว่า เมื่อมอบแท็บเลตและอินเทอร์เน็ตให้แก่เด็กเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นครนายก ยะลา และกรุงเทพฯ เด็กที่อยู่ในจังหวัดห่างไกลและมีอัตราความยากจนสูงอย่างแม่ฮ่องสอนและยะลา มีคะแนนเวลาการอ่านและคะแนนความต่อเนื่องในการอ่านสูงกว่าเด็กในกรุงเทพฯ และนครนายกที่มีความเป็นเมืองอย่างชัดเจน

การปฏิเสธเทคโนโลยีการศึกษาและการเรียนออนไลน์โดยสิ้นเชิงอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเสียทีเดียว แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การขจัดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ทำให้เด็กยากจนมีอุปกรณ์เพียบพร้อม มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียรพอสำหรับการเรียนออนไลน์ต่างหาก  

ในวันที่การเรียนรู้ต้องอยู่ในโหมดออนไลน์ การทำให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงหน้านานาประเทศ วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา หยิบยกตัวอย่างการรับมือต่อความท้าทายดังกล่าวที่น่าสนใจจากหลายประเทศรอบโลก หนึ่งในประเทศที่โดดเด่นคือสิงค์โปร์ ที่เร่งแจกแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกคนให้ครบก่อนสิ้นปี 2021 พร้อมทั้งเติมเงินอุดหนุนสำหรับซื้ออุปกรณ์ให้กับนักเรียนทุกคนอีกคนละ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนอีกประเทศหนึ่งคือเกาหลีใต้ที่เปิดให้เช่าอุปกรณ์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่มนักเรียนด้อยโอกาส รวมทั้งทำระบบให้นักเรียนสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ได้ โดยไม่คิดดาต้าอินเทอร์เน็ต

แต่นี่เป็นเพียงแค่โจทย์เฉพาะหน้าเท่านั้น โจทย์ต่อไปที่ทั้งแวดวงการศึกษาเห็นพ้องต้องกันว่าต้องแก้ให้ตกในระยะยาวคือ รัฐต้องเล่นบทบาทในการออกนโยบายลงทุนและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานในการเรียนออนไลน์

ที่สำคัญไม่แพ้กัน คุณภาพการเรียนการสอนและการเรียนรู้ก็ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง

เป็นความจริงที่ปฏิเสธได้ยากว่า การเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการเรียนภาคปฏิบัติ ที่ต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงอย่างการทดลองวิทยาศาสตร์หรือการเรียนทักษะสายอาชีพ แต่เมื่อโลกการเรียนรู้ไม่อาจย้อนกลับเป็นเหมือนเดิม และการเรียนรู้ย่อมต้องเดินหน้าต่อไปไม่หยุด การคิดหาหนทางจัดการเรียนการสอนออนไลน์ใหม่ให้เด็กๆ ได้รับความรู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สนุก ดึงดูด รักษาปฏิสัมพันธ์ และบรรเทาความเหนื่อยล้าจากการนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟนเครื่องจิ๋วเป็นเวลานานให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ก็เป็นอีกโจทย์สำคัญสำหรับครู – หนึ่งในกุญแจที่สำคัญที่สุดที่จะรักษาการเรียนรู้ของนักเรียนเอาไว้

การออกแบบบทเรียนให้เหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้โหมดออนไลน์และธรรมชาติของนักเรียน คือหนึ่งในแนวทางที่บรรดาครูจากวงเสวนา 101 Policy Forum #12 : Back to School: รื้อบทเรียน-เปลี่ยนการเรียนรู้ฉบับคุณครู ตกผลึกจากประสบการณ์การสอนออนไลน์ โดย ชนากานต์ วาสะศิริ Content Development Manager จาก StartDee แอปพลิเคชันเรียนออนไลน์ ร่วมแบ่งปันว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบทเรียนออนไลน์ประกอบไปด้วย

(1) Micro-Learning ย่อยบทเรียนเป็นคลิปสั้นๆ ความยาวไม่เกิน 10-15 นาที เพื่อดึงความสนใจของนักเรียนให้จดจ่อกับบทเรียน (2) วางวัตถุประสงค์ของบทเรียนให้ชัดเจนในแต่ละคลิปวิดีโอ โดยตีโจทย์และพยายามหยิบแก่นที่หลักสูตรต้องการให้นักเรียนรู้มาสอนเพื่อให้ตอบโจทย์มากที่สุดในระยะเวลาสั้นๆ (3) สร้างปฏิสัมพันธ์ในบทเรียนกับนักเรียน ผ่านการตั้งคำถามระหว่างบทเรียน (4) แทรกเคล็ดลับและเทคนิคการฝึกต่างๆ พานักเรียนทำโจทย์หรืออธิบายสิ่งที่ซับซ้อน เน้นย้ำประเด็นสำคัญต่างๆ และ (5) การวัดและประเมินผล

ส่วนเกรียงกมล สว่างศรี ครูฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่นักเรียนมีความพร้อมทางวิชาการ เสริมว่าอีกโจทย์หนึ่งของครูคือ ‘ออกแบบเวลาเรียนใหม่’ เพื่อลดเวลาเรียน ไม่ให้นักเรียนต้องนั่งจ้องหน้าจอทั้งวัน โดยเปลี่ยนจากการกำหนดตารางสอนให้หนึ่งสัปดาห์มีคาบเรียนหลายวิชา ไปเป็นการจัดตารางเรียนแบบบล็อก เรียนให้จบเป็นรายวิชาไป

อย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถกู้วิกฤตการเรียนรู้ของเด็กทุกคนได้อย่างเสมอหน้า การจัดการเรียนการสอน ‘ลูกผสม’ อย่างที่สัญญา มัครินทร์ ครูสังคมศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย (ในขณะนั้น) โรงเรียนรัฐขยายโอกาส ที่นักเรียนเกินกว่าครึ่งไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และมีสภาพแวดล้อมที่บ้านที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยทลายข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ โดยทีมครูโรงเรียนบ้านโนนชัยออกแบบโมเดลกระบวนการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ผ่านการลงพื้นที่จัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน เน้นไปที่การเรียนรู้เนื้อหาวิชาผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัวในชุมชน และเรียนรู้ทักษะอาชีพและทักษะชีวิตที่สัมพันธ์กับชุมชน

อีกวิธีหนึ่งที่มัทนา รุ่งแจ้ง ครูคณิศาสตร์จากโรงเรียนบ้านเวียงหวาย โรงเรียนระดับประถมศึกษาในอำเภอฝางใช้ คือการแจกเอกสารใบงาน (On-Hand) บูรณาการความรู้ปรับให้เข้ากับชีวิตนักเรียน และเน้นการอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากนักเรียนที่โรงเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นเด็กด้อยโอกาส

ในแง่หนึ่ง วิกฤตครั้งนี้อาจเขย่าและปฏิวัติรื้อสร้างโลกการจัดการเรียนรู้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อศักยภาพและทักษะของเด็กๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างน้อยก็ยังประคองการเรียนรู้ไม่ให้สูญเสียหนักไปกว่าเดิม – แนวทางหนึ่งที่ครูสามารถช่วยติดอาวุธ เสริมทักษะให้นักเรียนในช่วงเวลาที่ห้องเรียนยังเปิดได้ไม่เต็มที่ คือการสร้างเด็กๆ ให้กลายเป็นผู้เรียนที่มีทักษะการเรียนรู้และแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

“ต้องมีการปลูกฝังวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ตั้งแต่ในห้องเรียนให้ทุกคนเชื่อว่าตนเองมีอำนาจในการสร้างการเรียนรู้และสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง

“เพราะฉะนั้น การจัดการเรียนรู้ในระบบควรลดน้อยลง และอาจต้องให้คุณค่ากับการเรียนรู้นอกระบบและการเรียนรู้ตามอัธยาศัยมากขึ้น เพราะสถานการณ์การระบาดส่งผลให้คาดเดาไม่ได้ว่านักเรียนจะมาเรียนเพื่อรับความรู้จากครูเหมือนเดิมได้ รวมทั้งควรมีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจเพื่อการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมต่อเงื่อนไขของพื้นที่เพิ่มมากขึ้น” สัญญาเล่าถึงหนทางในการรื้อสร้างการเรียนรู้ในโลกใหม่หลังโควิด-19

ชนากานต์ต่อยอดจากทัศนะของสัญญาว่า “ครูต้องปรับการเรียนการสอนใหม่ จากเดิมที่เน้นสอนความรู้เนื้อหา (content-based) ไปเป็นการเน้นสอนทักษะ (skill-based) ให้เหมาะกับนักเรียนมากขึ้น ดังนั้น หน้าที่สำคัญของครูในช่วงที่ต้องสอนออนไลน์คือ การแนะนำแหล่งการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักเรียน และติดอาวุธให้นักเรียนสามารถค้นคว้าเองได้อย่างมีวิจารณญาณ เช่น วิธีการค้นหาที่มีประสิทธิภาพ หรือการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล” ส่วนเกรียงกมลเห็นไปในแนวเดียวกันว่า การเรียนรู้ต้องเปลี่ยนไปสู่การลงมือทำ ผ่านการทำโครงงานที่ตั้งต้นจากความสนใจหรือการตั้งคำถามของตัวนักเรียนเอง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิด สงสัย ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และค่อยๆ หาคำตอบ

ควบคู่กันไปกับการพลิกโลกการเรียนรู้เพื่อเติมเต็มศักยภาพของเด็กๆ อีกสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือการ ‘เติมเชื้อเพลิง’ สร้างแรงกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้และอยากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ กระนั้น การกลับสู่โรงเรียนอีกครั้งหลังปิดโรงเรียนมาเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ไฟในการเรียนรู้อ่อนแรง หรือกระทั่งดับมอดลงจนตามบทเรียนไม่ทัน

แนวทางหนึ่งในการจุดไฟการเรียนรู้ให้โชติช่วงอีกครั้งอาจเริ่มต้นได้จากการจัดการเรียนรู้ที่ ‘สนุก’ เพราะเมื่อนำองค์ความรู้ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) มาประยุกต์ใช้ในแวดวงการศึกษา อย่างที่ ดร.นันทินี แชตเตอร์จี ซิงห์ นักประสาทวิทยาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ จากสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมหาตมะคานธี ภายใต้องค์การยูเนสโก กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียทำอยู่ พบว่าอารมณ์มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้เพราะสมองส่วนการคิดและอารมณ์เชื่อมโยงกัน เพราะฉะนั้น “เราต้องให้จัดการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีอารมณ์ร่วมด้วย”

“เราต้องจัดการเรียนรู้ที่สนุกสนานหรือดึงดูดใจ เพื่อให้สมองส่วนอารมณ์มีส่วนร่วมไปกับการเรียน ยิ่งถ้าเป็นอารมณ์เชิงบวก เด็กก็จะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น สังเกตง่ายๆ ว่า ถ้าเด็กๆ ได้เล่น แล้วเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการเล่น เขาจะจำมันได้แม่นและมีความสุขกับการเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ กลับกัน ถ้าการเรียนทำให้เขาอารมณ์ไม่ดี ไม่มีทางเลยที่เขาจะตั้งสมาธิในห้องเรียนได้ นี่คือสาเหตุสำคัญว่าทำไมการศึกษาจำเป็นต้องสนุก ต้องทำให้เขาอารมณ์ดีและมีสมาธิ เพราะมันคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเรียนสัมฤทธิ์ผล”

“แน่นอน การเรียนที่สนุกหนีไม่พ้น ‘การเล่นเกม’ “… การเล่นเกมนี่แหละที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีเยี่ยม เพราะเกมทำให้พวกเขาได้ใช้ปฏิสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างการเรียน ช่วยกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความรู้สึกอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง ทำให้จดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และสมองยังเกิดความรู้สึกของการได้รับรางวัล ทำให้เมื่อเด็กเล่นเกมแล้ว มักจะอยากกลับไปเล่นอีก เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาเกมมาประยุกต์ใช้กับการเรียนของเด็กได้ หรือทำบรรยากาศการเรียนให้เป็น ‘การเรียนการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์’” ดร.นันทินีอธิบาย

การประยุกต์ใช้เกมกับบทเรียนชวนหลับได้รับการพิสูจน์จากครูนัท-สิทธิชัย จูอี้ และนักเรียนจากโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีแล้วว่า ได้ผลอย่างดีเยี่ยมในการยกระดับการเรียนรู้ หรือหากพูดในภาษาเกม การสอนเช่นนี้ต้องถูกจัดอยู่ในระดับแรงก์ S อย่างแน่นอน โดยเกมที่ครูนัทนำมาใช้สอนมีตั้งแต่นำสไตล์การเล่นของเกมประเภท MOBA มาประยุกต์ในการแข่งตอบคำถามวิชาสังคม ไปจนถึงการนำเกมวางแผนและบริหารสวนสนุก-สวนสัตว์ อย่างเกม Planet Coaster และ Planet Zoo ที่เด็กๆ เป็นคนเสนอมาช่วยอธิบายหลักเศรษฐศาสตร์เรื่องอุปสงค์-อุปทาน

“เดิมทีวิชาสังคมจะเป็นวิชาที่มีภาพจำว่าเน้นท่องจำ เนื้อหาเยอะ แต่นักเรียนที่เรียนกับผม ถามว่าเขาท่องจำเลยไหม ก็ไม่ขนาดนั้น แต่ถ้าถามอะไรปุ๊บเขาจะตอบได้ คือเขาเข้าใจเนื้อหาโดยที่ไม่จำเป็นต้องท่อง เน้นความเข้าใจมากกว่า นักเรียนบางคนจากที่เรียนในห้องไม่เข้าใจ เวลาสอบอาจทำคะแนนได้ไม่ดีนัก ผมเริ่มเห็นว่าพวกเขามีแรงจูงใจมากขึ้น

“…ครูนี่แหละต้องเป็นคนสร้างแรงจูงใจ ต้องทำให้เขารักที่จะเรียนรู้ แม้ว่าสุดท้ายเขาอาจจะเรียนจบชั้นปีไป เขาอาจจะลืมเนื้อหาบางอย่าง เขาจะจำเราได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่จะติดตัวไปกับเขาคือความรักที่จะหาความรู้ต่อ ซึ่งเกมช่วยเรื่องนี้ได้”

ท่ามกลางความแสนสาหัส อย่างน้อยที่สุดการเรียนรู้ยังไม่ถูกทอดทิ้ง

อาชีวศึกษา: บททดสอบต่อไปของระบบการศึกษาไทย

นอกจากการศึกษาจะต้องตอบสนองความใคร่รู้และเติมเต็มศักยภาพของเด็กๆ เพื่อให้สามารถบรรลุตัวตนและสิ่งที่ตนเองอยากทำแล้ว ในอีกแง่หนึ่ง การศึกษาย่อมต้องเป็นบันไดไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า และสามารถพัฒนาคุณภาพแรงงานให้มีทักษะตอบโจทย์ความต้องการแรงงานตลาด และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ – ทักษะที่ใช่ คือประตูไปสู่โอกาสทางอาชีพและค่าตอบแทนที่สูง

เมื่อมองไปในอนาคตอันไกลหลังโรคระบาดที่เต็มไปด้วยผันผวน ผนวกกับกระแส technology disruption และ digitalization โลกใหม่เรียกร้องทักษะที่หลากหลายจากแรงงานและเด็กๆ ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างนวัตกรรม ทักษะการรับมือกับความกดดันและมีความยืดหยุ่น ทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม ทักษะการใช้เทคโนโลยี อีกทั้งยังต้องมี growth mindset เพื่อเตรียมพร้อมรับสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ท่ามกลางความรู้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา – นี่คือโจทย์ที่ระบบการศึกษาต้องตอบให้ได้ ทั้งในการเรียนรู้สายสามัญในรั้วโรงเรียนและการเรียนรู้ทักษะสายอาชีพในสถาบันอาชีวศึกษา

แต่ที่ยิ่งไปกว่าทักษะแห่งอนาคต ทักษะที่ระบบการศึกษาหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งในไทยเองยังตอบโจทย์ที่ตลาดแรงงานให้มาได้อย่างไม่หมดจดนัก คือการพัฒนา ‘ทักษะสายอาชีพ’ – ทักษะคู่ใจของแรงงานที่ชำนาญการลงมือปฏิบัติจริง พัฒนาผ่านประสบการณ์การทำงานจริง

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา แรงงานจากรั้ว ‘อาชีวศึกษา’ คือฟันเฟืองสำคัญที่หายไปจากระบบตลาดแรงงานไทย

มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้การศึกษาไทยไม่สามารถผลิตฟันเฟืองชิ้นสำคัญได้เต็มที่

ประการแรก ค่านิยมในการเรียนต่อสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ ซึ่งการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นการเรียนทฤษฎีมากกว่าการสอนทักษะเฉพาะหรือให้ลงมือปฏิบัติในหน้างานจริง นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีทักษะอย่างที่นายจ้างต้องการอย่างเลี่ยงไม่ได้

หากมองผ่านมุมเศรษฐศาสตร์การศึกษา “การเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยอาจจะได้ผลตอบแทนดีกว่า ผู้ปกครองจึงอาจเลือกให้ลูกเข้าสู่สายสามัญ ในขณะที่นักเรียนสายสามัญที่จบชั้น ม.6 เมื่อออกมาทำงานก็อาจไม่ได้งานที่มีผลตอบแทนสูง ซึ่งโดยหลักการแล้ว กลุ่มที่ได้เงินเดือนระดับสูงน่าจะเป็นสายวิชาชีพที่มีทักษะสูง เราจึงต้องพยายามปรับกระบวนการคิดในระดับประเทศว่าควรสร้างคนจากสายอาชีวะเพิ่มขึ้น” ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

ประการที่สอง คุณภาพของการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการเรียนการสอนอาชีวศึกษาอาจไม่สามารถผลิตผู้เรียนที่มีทักษะเพียงพอหรือผลิตผู้เรียนที่มีทักษะตรงตามความต้องการและตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

ประการที่สาม ภาพลักษณ์ ‘เด็กช่างอาชีวะฯ’ ที่ดื้อ ไม่สนใจเรียน ขาดเรียน เกเร ทะเลาะต่อยตี สู้นักเรียนสายสามัญไม่ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะเด็กอาชีวะฯ ไม่ได้มีแค่ ‘สารพัดช่าง’ เท่านั้น แต่ยังมีเชฟ – ช่างตัดเสื้อ – คนทำหุ่นยนต์ – ครูสอนศิลปะ และนักจัดดอกไม้ฝีมือระดับโลก ที่มีทักษะอาชีพเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น หรือหากไม่สนใจเรียน ตีรันฟันแทงจริง ลึกๆ แล้วนั่นก็ไม่ใช่เนื้อแท้ของเด็ก และครูสามารถช่วยเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ จากโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสาตร์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา ใช้ความเข้าใจและการส่งเสริมศักยภาพเข้าไปเปลี่ยนชีวิตเด็ก

ทั้งหมดนี้ตามมาด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ติดหล่มอยู่ที่กับดับรายได้ปานกลางเพราะผลิตภาพจากแรงงานในภาคอุตสหากรรมไม่เพียงพอ การยกระดับและพัฒนาอาชีวศึกษาจึงกลายเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของระบบการศึกษาไทยให้ประสบความสำเร็จตามรอยเยอรมนี เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการสอนสายอาชีพที่เข้มแข็ง จนพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างโดดเด่น

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่านักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำมักเลือกเรียนอาชีวศึกษาแทนการเรียนสายสามัญ เนื่องจากมีค่าเล่าเรียนถูกกว่า และเชื่อว่าการเรียนอาชีวศึกษาจะเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทักษะที่มีจะเป็นที่ต้องการ มั่นคงและแน่นอน การศึกษาสายอาชีพที่มีคุณภาพสูงอาจสร้างแรงจูงใจให้เด็กที่อยู่นอกระบบกลับมาเรียนเพื่อเพิ่มพูนฝึกทักษะที่ ‘ใช้ได้จริง’ ในชีวิต และช่วยเสริมพลังให้กับเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษากลางคันมีความพร้อมในการประกอบอาชีพและมีรายได้เพียงพอในวันที่จำต้องออกจากระบบการศึกษา

หากประเทศไทยจะฝ่าทางตันอาชีวศึกษา รายงานจาก OECD ได้ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจไว้ 4 ข้อ

ข้อเสนอแรก รวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพสูงเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็น เพื่อช่วยออกแบบนโยบายการเรียนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย และผลิตแรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาดได้

ข้อเสนอสอง รวมเอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาร่วมออกแบบ ร่วมจัดการเรียนการสอนและอบรมอาชีวศึกษา เพราะแรงงานต้องมีทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากทักษะเฉพาะของอาชีพตนเองด้วย และผู้ที่จะตอบได้ว่าแรงงานควรมีทักษะอะไรบ้าง ก็คือผู้ว่าจ้างหรือคนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของครูประทินว่า “อยากให้สถานประกอบการเข้ามาช่วยร่วมพัฒนาเด็กอาชีวะฯ ให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาในการจัดการศึกษาทั้งระบบทวิภาคี และการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน ร่วมพัฒนาตั้งแต่หลักสูตร ส่งผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมานาน ชำนาญเรื่องทักษะมาร่วมวางแผนฝึกทักษะเด็กอาชีวะฯ หรือมาเป็นครูอาชีวะฯ เลย” ส่วนศุภชัยมองอีกว่า สถานประกอบการต้องจ่ายค่าแรงเด็กอาชีวะฯ ตามผลิตภาพให้ได้ ไม่ติดอยู่กับวุฒิ และต้องส่งสัญญาณเรื่องค่าแรงให้ชัดเจน

ข้อเสนอที่สาม อำนวยความสะดวกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนและอบรมในระดับอาชีวศึกษา ทลายความเป็น ‘ไซโล’ ระหว่างหน่วยงานต่างๆ และทบทวนกลไกให้เอื้อต่อการมีส่วนร่วมนี้ พร้อมกับเปิดโอกาสให้นายจ้างจากธุรกิจขนาดเล็กหรือภาคธุรกิจที่ไม่เป็นทางการเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีภาครัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคอยให้การสนับสนุน

และข้อเสนอสุดท้าย เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐาน (work-based learning: WBL) เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนจะได้พัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

“หนึ่งในรูปแบบที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมของ WBL คือการฝึกอาชีพ (apprenticeships) หรือที่บางประเทศเรียกว่าระบบคู่ขนาน (dual system) เป็นการผสมผสานกันระหว่างการเรียนรู้ในที่ทำงานจริงโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในเชิงโครงสร้าง โดยผู้เรียนจะใช้เวลามากกว่าครึ่งของการเรียนในสถานที่ทำงาน เช่น ใช้เวลา 3-4 วันในที่ทำงาน และใช้เวลา 1-2 วันอยู่ที่สถาบันอาชีวศึกษา” นี่คือโมเดลต้นแบบที่พาอุตสาหกรรมเยอรมนีและเกาหลีใต้ไปสู่แนวหน้า และตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้างได้จริง

ภาพลักษณ์เด็กอาชีวะฯ เช่นกันที่ต้องเปลี่ยนเพื่อให้สังคมมองเห็นศักยภาพที่แท้จริงของอาชีวะศึกษา ศิษย์เก่าอาชีวะอย่างกอล์ฟ-พิทักษ์ หังสาจะระ มองว่า ต้องมีสปอตไลต์ส่องไปที่คนอาชีวะฯ ที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น

“สถาบันอาชีวะควรร่วมมือกันผลักดันคนที่ประสบความสำเร็จออกมาให้สังคมชื่นชมเหมือนกับที่ชื่นชมหมอ ทำให้เกิดชื่อเสียง เกิดภาพลักษณ์ที่ดี กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังได้เห็นผลงานของอาชีวะฯ เพราะอาชีวะฯ ผลิตคนเก่งเยอะมากนะ เชฟดังๆ นักจัดสวนดังๆ ก็เรียนจบอาชีวะฯ หลายคนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ถูกโปรโมตขึ้นมา คนส่วนหนึ่งจึงยังมองว่าเรียนอาชีวะแล้วไม่ดีเท่าเรียนหมอหรือสายสามัญ”

นอกจากตัวเด็กแล้ว ครูอาชีวะฯ เองก็มีส่วนร่วมในการช่วยเปลี่ยนภาพจำเก่าๆ ได้เช่นกัน สำหรับครูประทิน การพาเด็กอาชีวะฯ ไปทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมหรือชุมชนจะค่อยๆ เปลี่นยนมุมมองที่สังคมมีต่อเด็กอาชีวะฯ เอง

“การที่ชุมชนได้เห็นเด็กอาชีวะฯ ลงไปทำกิจกรรมดีๆ ช่วยก่อสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัย หรือลงไปช่วยสอนวิชาชีพในชุมชน จะค่อยๆ ทำให้สังคมรู้จักว่าจริงๆ แล้วเด็กอาชีวะฯ เป็นอย่างไร และก็ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคมได้ไม่ต่างจากคนอื่น”

หลังอาชีวศึกษาไทยผ่านพ้น pain points เหล่านี้แล้ว ใช่ว่าจะไม่มีความท้าทายอื่นรออยู่ในอนาคต

หากจุดเด่นของการเรียนเทคนิคและอาชีวศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาคนให้มีทักษะตรงความต้องการของตลาดแรงงาน ท่ามกลางโลกที่เทรนด์เศรษฐกิจและเทรนด์โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่งที่เร็วและแรงขึ้นเรื่อยๆ การปรับหลักสูตรและการสอนทักษะไม่ให้ล้าหลังกว่าความเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องที่ขาดไปไม่ได้

ในบทความ พลิกโฉมหน้าอาชีวะ ด้วยเทรนด์ทักษะแห่งโลกอนาคต ซึ่งเก็บความจากรายงานของ UNEVOC เสนอว่า อาชีวศึกษาต้องพัฒนาทักษะผู้เรียนให้โต้คลื่นในกระแส digitalization ได้

“การเรียนเทคนิคและอาชีวศึกษาควรสร้างทักษะพื้นฐาน อย่างการเรียนเขียนอ่าน คิดคำนวณ digital literacy ควบคู่กับทักษะการรู้คิดขั้นสูง เช่น การคิดวิเคราะห์ (critical thinking) ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ไขปัญหาแบบ complex problem solving การหาความรู้ด้วยตัวเอง และการมีวินัย ที่สำคัญ ไม่ควรลืมทักษะด้านอารมณ์และสังคม เช่น ความรับผิดชอบ ละเอียดลออ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รู้เท่าทันตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องผนวกรวมเข้ากับการเรียนรู้ทักษะเฉพาะทางตามแต่ละสาขาอาชีพอันเป็นจุดเด่นของอาชีวศึกษา”

ไม่ต่างจากแรกเริ่มปี 2021 – ปี 2022 ส่อเค้าลางของการระบาดอีกระลอก ความไม่แน่นอนยังคงแน่นอนเสมอในโลกการศึกษา แม้ว่าการวัคซีนจะพอบรรเทาไม่ให้ต้องเผชิญต่อวิกฤตที่หนักหน่วงไปกว่าปี 2020

แต่แน่นอน สอบภาคปฏิบัติยังคงดำเนินต่อไปตราบเท่าที่รอยแผลแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังไม่จางหาย และการเรียนรู้ยังไม่ถูกโอบอุ้มอย่างเสมอหน้า

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save