fbpx
เพราะการศึกษาหยุดไม่ได้ ต่างประเทศเรียนกันอย่างไรในช่วงโควิด

เพราะการศึกษาหยุดไม่ได้ ต่างประเทศเรียนกันอย่างไรในช่วงโควิด

เมื่อการระบาดของโควิด-19 ลุกลามไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ‘โรงเรียน’ ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่หนีไม่พ้นต้องปิดประตูรั้วลง แม้การปิดโรงเรียนจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด แต่เมื่อยิ่งปิดนาน ต้นทุนก็ยิ่งพอกพูน โดยต้นทุนที่ว่านั้นอาจไม่ได้มาให้เห็นเป็นตัวเงิน แต่เป็นต้นทุนระยะยาว ซึ่งก็คือการเสียโอกาสที่จะเรียนรู้พัฒนาตัวเองของเด็กและเยาวชนนับล้าน

ต่อให้การระบาดของโควิด-19 จะยังไม่สิ้นสุด และยังเปิดโรงเรียนไม่ได้ แต่ละประเทศจึงต่างก็ต้องหาทางให้การเรียนการสอนยังคงเดินหน้าต่อไป หรือแม้โรงเรียนบางแห่งอาจจะยังเปิดต่อไปได้หรือเริ่มกลับมาเปิดได้เมื่อการระบาดเริ่มซาลง แต่ก็อาจไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน จึงเป็นโจทย์ที่แต่ละโรงเรียน รวมถึงคนวางนโยบายการศึกษาต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้นักเรียนยังคงเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในภาวะที่บ้านหลังที่สองของพวกเขายังไม่กลับสู่ภาวะปกติ หรือจะใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส พัฒนาทักษะความรู้นักเรียนมากขึ้นได้หรือไม่

101 พาไปสำรวจการปรับตัวของรูปแบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจในต่างประเทศ ว่าทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนยังคงพัฒนาทักษะความรู้ตัวเองต่อไปได้ หรือเรียนรู้ได้มากกว่าเดิม แม้โรงเรียนจะยังไม่กลับคืนสู่ปกติ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบสิ้น

ปรับโหมดการเรียนสู่ออนไลน์ ไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีทำให้วงการการศึกษาทั่วโลกได้รู้จักกับการเรียนการสอนในรูปแบบ ‘ออนไลน์’ มาแล้วได้พักใหญ่ แต่ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนผ่านจอไม่อาจได้ผลลัพธ์ดีเท่ากับการเรียนในห้องเรียน ที่ครูกับนักเรียน รวมถึงนักเรียนด้วยกันเองได้มีปฏิสัมพันธ์กันแบบเห็นหน้ากันจริงๆ การเรียนออนไลน์ที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่ถูกใช้บางโอกาสเท่านั้น

ทว่าเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 การเรียนในโหมดออนไลน์ก็ได้กลายจากทางเลือกมาเป็น ‘ทางหลัก’ ของการเรียนการสอนในหลายพื้นที่ทั่วโลกทันที แต่ละประเทศจึงต่างพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ของตัวเองออกมาในรูปแบบต่างๆ หรือไม่ก็นำโปรแกรมเดิมที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้

การปรับโหมดการเรียนการสอนมาสู่ออนไลน์แบบฉับพลันทันที ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเกือบทุกโรงเรียนทั่วโลก ที่ไม่เคยเรียนผ่านหน้าจอกันแบบร้อยเปอร์เซนต์กันมาก่อน แต่อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าเรื่องความไม่คุ้นชิน ก็คือความจริงที่ว่า ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่พร้อมจะเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบได้เหมือนกันหมด

การทำให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียมจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของคนวางนโยบายการศึกษาทั่วโลก เริ่มจากโจทย์พื้นฐานที่สุดก็คือจะทำอย่างไรให้เด็กๆ มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนหรือมีพื้นฐานการเงินระดับไหนก็ตาม

หลายประเทศได้ออกนโยบายที่จะแก้ปัญหานักเรียนเข้าถึงอุปกรณ์ได้ไม่เท่าเทียมกัน อย่างเช่น สิงคโปร์ซึ่งแต่เดิมมีแนวคิดที่จะแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกคนอยู่แล้ว ภายใต้โครงการ National Digital Literacy Program แต่หลังจากที่โควิดเริ่มระบาด รัฐบาลก็เร่งเป้าหมายให้แจกครบภายในสิ้นปี 2021 เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม 7 ปี พร้อมทั้งเติมเงินอุดหนุนสำหรับซื้ออุปกรณ์ให้กับนักเรียนทุกคนอีกคนละ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 4,600 บาท) และถ้าเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ ก็จะได้รับพิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนอีก

ขณะที่เกาหลีใต้ก็มีการแจกอุปกรณ์ดิจิทัล รวมถึงเปิดให้เช่าอุปกรณ์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สำหรับกลุ่มนักเรียนที่ด้อยโอกาส รวมทั้งทำระบบให้นักเรียนสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มสำหรับเข้าสู่การเรียนออนไลน์ได้ โดยไม่คิดดาต้าอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ เกาหลีใต้ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่กับนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงกลุ่มนักเรียนที่มีข้อเสียเปรียบอื่นๆ ด้วย เช่น การทำซับไตเติ้ลในระหว่างการเรียนให้สำหรับนักเรียนที่พิการทางการได้ยิน และการทำสื่อการเรียนแบบหลายภาษาสำหรับนักเรียนที่มาจากครอบครัวผสมเชื้อชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาในช่วงเวลาการเรียนออนไลน์ การช่วยให้เด็กๆ เจ้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลและสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น บางประเทศให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการเรียนทางออนไลน์ให้กับนักเรียนในแง่อื่นๆ ด้วย เช่น อังกฤษและฟินแลนด์ ที่มีนโยบายอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็กนักเรียนมาแต่เดิม ก็ยืนยันว่าเด็กๆ จะยังคงได้รับอาหารฟรีแม้จะเรียนทางออนไลน์ ด้วยการส่งอาหารไปตามบ้าน ขณะที่ประเทศอย่างอิตาลี เซอร์เบีย และโปรตุเกส ก็พยายามช่วยให้บางพื้นที่ชุมชนเข้าถึงน้ำประปา อาหาร และยาได้มากขึ้น ช่วยให้นักเรียนไม่เจอความยากลำบากขณะเรียนอยู่บ้าน

หลายประเทศยังให้ความสำคัญกับการดูแลความแข็งแรงทางจิตใจของเด็กๆ เพราะการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรืออาจสร้างความเครียดมากกว่าการเรียนที่โรงเรียน นอกจากนี้การใช้เวลาอยู่บ้านตลอดวันยังทำให้เด็กบางกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งหรือความรุนแรงในบ้านมากขึ้น แคนาดาจัดให้มีโครงการ Kids Help Phone ที่ให้เด็กๆ สามารถโทรขอคำปรึกษาด้านจิตวิทยาจากผู้เชี่ยวชาญได้ ขณะที่ออสเตรเลียก็มีบริการคล้ายกันอย่าง Kidshelpline ส่วนอิตาลีก็มี Telefono Azzurro

กลับสู่โรงเรียนอีกครั้งอย่างปลอดภัยและไม่ขาดช่วง

แม้การปิดโรงเรียนอาจทำให้หลายประเทศเริ่มปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ได้มากขึ้น แต่ถึงอย่างไร การเรียนที่ห้องเรียนก็ยังคงเป็นแนวทางที่หลายโรงเรียนอยากใช้มากกว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มเบาบางลง หรือเริ่มมีแนวทางชัดเจนที่จะควบคุมได้ หลายประเทศจึงเลือกที่เปิดโรงเรียนต้อนรับเด็กๆ อีกครั้ง แทนที่จะยังคงเดินหน้าเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดโรงเรียนใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่คิดแล้วจะทำได้อย่างง่ายๆ ทันที แต่ยังมีหลายปัจจัยที่คนวางนโยบายการศึกษาและโรงเรียนต้องคำนึง ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ

ที่ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลอัดฉีดงบเพิ่มให้กับโรงเรียนต่างๆ ไปว่างจ้างครูหรือครูผู้ช่วยเพิ่ม เพื่อช่วยลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ถือเป็นการลดความแออัดในห้องเรียนซึ่งเสี่ยงนำไปสู่การระบาด รวมถึงนำไปจ้างบุคลากรอื่นๆ ที่จำเป็นเพิ่ม เช่น เจ้าหน้าที่ด้านสุขอนามัย และที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาสำหรับเด็กๆ นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้งบเพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องการป้องกันการระบาดของโรค อย่างน้ำยาฆ่าเชื้อ เทอร์โมมิเตอร์ และเครื่องระบายอากาศ รวมถึงการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็น และการปรับปรุงพื้นที่หรือห้องว่างในโรงเรียน เพื่อสร้างพื้นที่จัดการเรียนการสอนเพิ่ม ช่วยระบายจำนวนเด็กต่อห้องเรียน

นอกจากการปรับโรงเรียนให้สอดรับกับสถานการณ์โรคระบาดแล้ว หลายประเทศยังคำนึงถึงเด็กบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนหรือขาดโอกาสทางสังคม ซึ่งไม่สามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่าเด็กกลุ่มนี้จะเรียนตามเพื่อนไม่ทันเมื่อกลับมาเปิดโรงเรียนใหม่

ประเทศอย่างอังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา จึงเพิ่มงบให้กับโรงเรียนเพื่อจัดกิจกรรมในลักษณะโรงเรียนภาคฤดูร้อน (Summer School) หรือค่ายการเรียนรู้ (Learning Camp) ให้เด็กๆ กลุ่มที่มีแนวโน้มเรียนไม่ทันเพื่อน ได้ปรับพื้นฐานความรู้ก่อนกลับสู่โรงเรียน ขณะที่ฝรั่งเศสก็เติมงบประมาณเป็นค่าจ้างเพิ่มเติมสำหรับครู เพื่อไปสอนนักเรียนบางกลุ่มเสริมในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนด้วย   

สร้างสรรค์การเรียนรู้ ในยุคห้องเรียนไฮบริด

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด การกลับมาเปิดโรงเรียนอีกครั้งในหลายประเทศจึงแน่นอนว่าไม่ใช่การเปิดแบบปกติเหมือนก่อนเกิดการระบาด หากแต่เป็นการเปิดแบบ ‘กึ่งเปิดกึ่งปิด’ อย่างการสลับวันเรียน บางวันเรียนที่โรงเรียน บางวันเรียนออนไลน์ที่บ้าน เพื่อลดความแออัดในพื้นที่โรงเรียน หรือเมื่อการระบาดกลับมาหนักอีก โรงเรียนก็ต้องย้ายการเรียนการสอนกลับลงไปสู่ออนไลน์ได้ทันที เห็นได้ว่าการเรียนออนไลน์ยังไม่ได้สิ้นสุดลงไป แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเรียนการสอนใหม่ในสภาวะไม่ปกติ ห้องเรียนหลายแห่งในช่วงเวลานี้จึงอยู่ในสภาพของ ‘ห้องเรียนไฮบริด’

โจทย์ที่ตามมาก็คือ จะทำอย่างไรให้ห้องเรียนไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างการเรียนที่โรงเรียนกับการเรียนผ่านหน้าจอที่บ้าน ยังคงมีประสิทธิภาพ หรือสามารถใช้โอกาสนี้ทำให้เด็กๆ เรียนรู้อะไรได้มากกว่าเดิม

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือประเทศญี่ปุ่น ระบบการศึกษาที่นั่น นอกจากจะให้ความรู้เชิงวิชาการทั่วๆ ไปแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะทั่วไปนอกตำรา (Non-subject Education) ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต โดยญี่ปุ่นเรียกแนวคิดการศึกษาแบบนี้ว่า ‘Tokkatsu’

Tokkatsu เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Education) ที่ครอบคลุมการปลูกฝังทักษะที่เป็น Soft Skills หลายอย่างให้กับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลตัวเอง การพัฒนาบุคลิกภาพ การทำงานเป็นทีม มนุษยสัมพันธ์ การคิดแบบสร้างสรรค์ และอีกหลากหลายทักษะ ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบในโรงเรียน และมักจะเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกแบบกิจกรรมด้วย

การระบาดของโควิดที่บีบให้โรงเรียนต้องย้ายไปสู่ออนไลน์ อาจไม่มีปัญหามากนักสำหรับการเรียนรูปแบบวิชาการ แต่เป็นอุปสรรคสำหรับ Tokkatsu ซึ่งโดยมากต้องใช้ปฏิสัมพันธ์ทางกายระหว่างนักเรียน จึงไม่อาจแทนที่ด้วยออนไลน์ได้เต็มรูปแบบ ถึงแม้ระยะหนึ่ง โรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดได้อีกครั้ง การเรียน Tokkatsu ก็ยังคงเจอปัญหาว่าไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้ เพราะยังคงต้องเว้นระยะห่าง นอกจากนี้ เนื่องจากการเรียนแบบไฮบริดทำให้นักเรียนไปโรงเรียนบ้างไม่ไปบ้าง Tokkatsu ก็ขาดความต่อเนื่องสำหรับนักเรียน

เพื่อให้นักเรียนญี่ปุ่นไม่เสียโอกาสในการพัฒนาตัวเองในช่วงโควิด หลายโรงเรียนในญี่ปุ่นตัดสินใจออกแบบกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ให้ Tokkatsu ยังดำเนินต่อไปได้ควบคู่กับการเรียนเชิงวิชาการ โดยยังคงให้นักเรียนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์และนำกิจกรรมได้ตามเดิม อย่างเช่นการใช้แอพลิเคชันทางการศึกษาอย่าง MetaMoji Classroom ให้นักเรียนจับกลุ่มทำหนังสือพิมพ์ประจำวันด้วยกันทางออนไลน์ การให้นักเรียนเล่นเกมแข่งขันกันผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รวมทั้งการฝึกให้นักเรียนถ่าย ตัดต่อ และโพสต์วีดีโอบันทึกกิจกรรมที่ทำร่วมกับเพื่อนๆ ลงบนแพลตฟอร์ม

นอกจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการเรียนการสอนในช่วงไฮบริด โดยจัดโปรแกรม ‘การเรียนแบบผสม’ (Blended Learning) ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งจัดสรรเวลาให้กับทั้งการเรียนที่โรงเรียนและการเรียนจากบ้านควบคู่กัน โดยกำหนดให้ในแต่ละเดือนมี 2 วันที่นักเรียนจะได้เรียนจากบ้าน (Home-based Learning – HBL)

การเรียนแบบ HBL ของสิงคโปร์ให้ความยืดหยุ่นกับนักเรียนมากกว่าการเรียนในห้อง โดยนักเรียนสามารถจัดตารางเรียนเองในวันนั้นได้ และที่สำคัญ HBL ยังไม่ใช่แค่ให้นักเรียนนั่งเรียนผ่านหน้าจอตามรายวิชาธรรมดาเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งเลือกเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองถนัดหรือสนใจนอกเหนือหลักสูตร (Student-Initiated Learning) อย่างเช่นการเรียนภาษาต่างประเทศอื่นเพิ่มเติม หรือการเรียนเครื่องดนตรีบางชนิด

การเรียนจากบ้านในแบบสิงคโปร์จึงไม่ได้มีหน้าที่แค่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้โดยที่นักเรียนไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ สนใจที่จะเรียนรู้และค้นหาตัวเองมากขึ้น

ขณะเดียวกัน โรงเรียนในสิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียน สร้างความแตกต่างจากการเรียนออนไลน์ ด้วยการปรับการเรียนไปเน้นรูปแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based learning) ซึ่งเน้นให้ตั้งคำถาม ทดลอง ค้นคว้าหาคำตอบมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับรูปแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning) ให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง แทนที่จะเป็นการเรียนแบบที่ครูป้อนความรู้ให้นักเรียน (Passive Learning) อย่างเดียว

นอกจากนี้ หลายโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ยังเริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีจำลองโลกเสมือน (VR) มาใช้ในการเรียนการสอน เช่น การใช้ VR จำลองระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์ การจำลองสถานที่ท่องเที่ยวแทนการออกไปทัศนศึกษาในสถานที่จริง หรือการเล่นเกมเชิงการศึกษาต่างๆ ซึ่งช่วยให้การเรียนในห้องเรียนสนุกสนาน น่าสนใจ กระตุ้นให้เด็กๆ อยากเรียนรู้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยทดแทนการที่เด็กๆ ไม่สามารถออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ท่ามกลางการระบาดของโควิดได้ด้วย   

ห้องเรียนกลางแจ้ง
ทางเลือกสู่การเรียนที่ปลอดภัยและเปิดโลกกว้าง

ขณะที่หลายโรงเรียนกลับมาเปิดโรงเรียนด้วยการพึ่งพาเทคโนโลยี อีกหลายโรงเรียนเลือกที่จะพึ่งพาธรรมชาติ โดยพานักเรียนออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยม ไปนั่งเรียนกลางแจ้งท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้าที่มีอากาศถ่ายเทดี ลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจากการนั่งเรียนในห้องแบบปิด

การปรับตัวรูปแบบนี้พบเห็นได้ส่วนมากในโรงเรียนของซีกโลกตะวันตก ซึ่งมีพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนกลางแจ้งมาก่อน อย่างโมเดลโรงเรียนในป่า (Forest School) ที่เป็นที่นิยมในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งเน้นให้เด็กๆ ใช้เวลาเรียนรู้และทำกิจกรรมต่างๆ ท่ามกลางป่าไม้ สอนให้เด็กๆ เรียนรู้จากธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะชีวิตจากการเล่นและลงมือทำ เช่น การสำรวจต้นไม้ และการก่อกองไฟ โดยปกติแล้ว โรงเรียนที่ใช้โมเดลโรงเรียนในป่ามักจะเป็นโรงเรียนเอกชนทางเลือก แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น โมเดลนี้ก็เริ่มถูกหลายโรงเรียนหยิบมาใช้เป็นทางหลักในการสอนหนังสือ แม้จะเพียงชั่วคราวก็ตาม

การไม่มีประสบการณ์จัดห้องเรียนกลางแจ้งมาก่อน ทำให้หลายโรงเรียนต้องพึ่งพาอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ มาช่วยหาพื้นที่ จัดวางรูปแบบของห้องเรียน รวมถึงช่วยออกแบบรูปแบบการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับบรรยากาศของสถานที่ ขณะที่บางโรงเรียนก็ทำด้วยตัวเอง

การออกไปเรียนกลางแจ้ง ไม่ใช่แค่การย้ายโต๊ะเรียนและกระดานจากห้องเรียนออกไปข้างนอก แล้วให้เด็กๆ นั่งเรียนแบบเดิมเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สัมผัสใกล้ชิดและเรียนรู้จากธรรมชาติและวิถีชีวิตของพื้นที่นั้น พร้อมจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ตามสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โดยส่วนมากแล้ว โรงเรียนมักเลือกย้ายห้องเรียนออกไปกลางป่ากลางสวน ตามโมเดลโรงเรียนในป่า แต่บางโรงเรียนก็พานักเรียนไปเรียนในสภาพแวดล้อมอื่นๆ อย่างเช่น โรงเรียน Felix Rodriguez de la Fuente School ที่ประเทศสเปน พาเด็กๆ ออกไปนั่งเรียนริมชายหาด พร้อมกับมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง เรียนวิธีการจับปลา รวมถึงการเล่นดนตรีและกีฬาชายหาด ซึ่งก็ช่วยให้เด็กๆ สนุกสนานไปกับการเรียนมากขึ้นกว่าเดิม  

ปรับหลักสูตร เปิดประตูสู่โลกหลังโควิด

ผู้วางนโยบายการศึกษาบางประเทศมองเห็นว่า การระบาดของโควิดจะไม่ได้เข้ามากระทบการศึกษาแค่ในระยะสั้นเท่านั้น ต่อให้การระบาดอาจสิ้นสุดลงในวันใดวันหนึ่ง แต่ผลพวงหลายอย่างของการระบาดจะยังคงอยู่และเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้หลักสูตรการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนในระยะยาวเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาพร้อมที่จะรับมือโลกหลังโควิดที่ไม่เหมือนเดิมด้วย ประเทศหนึ่งที่มีแนวคิดนี้ออกมาเป็นรูปธรรมที่สุดและเริ่มใช้แล้วในตอนนี้ก็คือสิงคโปร์

กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์มีแนวคิดปรับปรุงหลักสูตรตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดใหม่ๆ เมื่อปีที่แล้ว อันดับแรก รัฐบาลตระหนักว่าเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คนทั้งในช่วงการระบาดและหลังการระบาด จึงปรับหลักสูตรให้มีเนื้อหาการเรียนเกี่ยวกับการเขียนโค้ด (Coding) การคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) และวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computing) ที่เข้มข้นขึ้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา พ่วงด้วยการเติมเต็มทักษะความรู้ทางด้านการเงินในหลักสูตร รองรับการเติบโตของการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังจำเป็นมากขึ้นจากการระบาดของโควิด พร้อมกับส่งเสริมให้นักเรียนสิงคโปร์มีสมุดบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อความคุ้นเคยในการใช้จ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสด

รายวิชาหน้าที่พลเมือง (Character and Citizenship Education) ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงระหว่างและหลังการระบาด โดยเพิ่มเนื้อหาการเรียนเกี่ยวกับการท่องโลกไซเบอร์อย่างมั่นคงปลอดภัย (Cyber Wellness Education) และยังบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต (Mental Health) เพื่อให้นักเรียนจัดการความเครียดของตัวเอง รวมถึงช่วยดูแลจิตใจเพื่อนได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาด

นอกจากนี้ ในระดับอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยังมีแนวคิดปรับรูปแบบหลักสูตรให้เป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary Learning) คือเรียนแบบบูรณาการหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน แทนที่จะเน้นเรียนสาขาเดียว เพื่อสร้างคนสิงคโปร์ให้มีทักษะความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น รองรับโลกหลังโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนจนแรงงานไม่อาจเชี่ยวชาญเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อีกต่อไป หลายสถาบันอุดมศึกษาในสิงคโปร์ได้เริ่มปรับเปลี่ยนให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาเอกได้ 2 สาขาวิชา เปิดกว้างให้เลือกวิชาเรียนข้ามสาขามากขึ้น รวมถึงจัดตั้งหลักสูตรใหม่ที่ผสมผสานหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น เศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Economics and Data Science) และธุรกิจวิศวกรรม (Business Engineering) เป็นต้น

หลักสูตรอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาในสิงคโปร์บางหลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 อย่างการท่องเที่ยว การโรงแรม และคหกรรม ก็เริ่มปรับเปลี่ยนเนื้อหา เน้นพัฒนาทักษะให้สอดรับกับการปรับตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ จากผลพวงโควิด เช่น สาขาคหกรรม ได้เพิ่มเนื้อหาการปรับสูตรอาหารหากขาดแคลนวัตถุดิบหรือต้นทุนวัตถุดิบผันผวน และสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ก็เพิ่มเนื้อหาอย่างเช่น การจัดงานประชุมหรืออีเวนต์ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำความสะอาดโรงแรม

การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาของสิงคโปร์ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยลอเรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ กล่าวว่า “วิกฤตการระบาดครั้งนี้สร้างความท้าทายใหญ่หลวงให้กับทุกประเทศ แต่เราจะต้องพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการออกแบบระบบการศึกษาใหม่ และสร้างอนาคตการเรียนรู้ที่เด็กๆ จะเรียนได้อย่างสนุก กระตือรือร้น และมีเป้าหมาย ทั้งในโรงเรียนและตลอดชีวิต เรายังคงเปิดรับไอเดียใหม่ๆ ยังเดินหน้าทดลองสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสรรค์สร้างระบบการศึกษาที่พร้อมสำหรับอนาคต”   


วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤตโรคระบาดระดับโลก แต่ยังเป็นวิกฤตการศึกษาระดับโลก ถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของแวดวงการศึกษาทุกประเทศ ที่ต่างต้องกุมขมับหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้การเรียนรู้ของเด็กๆ ยังเดินหน้าต่อไปให้ได้มากที่สุดกลางสภาวะที่ไม่ปกติ

แต่อีกด้าน วิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้ภาคการศึกษาหลายประเทศได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยทำมาก่อน สำหรับหลายประเทศ ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนที่แปลกใหม่ในช่วงเวลานี้อาจกลายบทเรียนสำคัญที่ภาคการศึกษาจะสามารถนำไปต่อยอด สู่การ ‘คิดใหม่’ ระบบการศึกษา ที่สามารถปรับตัวได้ยืดหยุ่นมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมกับสามารถพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวทันอนาคตโลกหลังโควิดที่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ห้วงเวลาโควิดจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางยาวไกลในการปรับตัวของระบบการศึกษาทั่วโลกเท่านั้น


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save