– 1 –
ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ม็อบ ‘คณะราษฎร’ อยู่ในช่วงพีก 101 เคยไปพูดคุยกับ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักรัฐศาสตร์ที่แหลมคมที่สุดในสังคมไทยร่วมสมัย เพื่อขอให้ช่วยทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
“ในฝั่งภาครัฐ ตอนนี้เป็น absolutism แต่ไม่ปรากฏประจักษ์ชัดในตัวบทกฎหมาย ผมเลยเรียกว่า virtual absolutism นี่คือภาพรวมทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน วิธีใช้อำนาจของรัฐบาลอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินสถานการณ์ร้ายแรงล่าสุดก็มาในลักษณะ absolutism คือเอาอำนาจความมั่นคงการปราบปรามขึ้นหน้า เอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ข้างหลังเสมอ
“ส่วนในฝั่งฝ่ายค้าน ตอนนี้สังเกตเห็นบรรยากาศและจังหวะก้าวที่แตกต่างกันของการเมืองในระบบ การเมืองภาคประชาชน และการเมืองวัฒนธรรม การเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’ การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’ แต่การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ’ ไปแล้ว”
คำอธิบายของ ‘อ.เกษียร’ ไม่ทำให้เราผิดหวัง ภาพใหญ่ทางการเมืองไทยเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้น ในขณะที่ความสับสนกับสถานการณ์เริ่มเบาบางลง
หากมองในฐานะภาคประชาชนและภาคประชาสังคม การเมืองของฝ่ายค้านน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นพลังที่คอยคัดง้างระบอบการเมืองที่มีแนวโน้มจะละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ปัญหาคือ การเมืองสามแบบนี้มีตรรกะกฎเกณฑ์คนละอย่าง
การเมืองในระบบโดยเฉพาะในสภาคือศิลปะของความเป็นไปได้ (the art of the possible) การสร้างเสียงข้างมากขึ้นมาแม้กระทั่งจากฝ่ายตรงข้าม เกมการเมืองในสภาคือการสร้างพันธมิตรทางการเมืองและการสร้างเสียงข้างมาก ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร
ส่วนการเมืองภาคประชาชนมีจุดสำคัญคือการรวมคนให้ได้มากที่สุดและเหลือคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามน้อยที่สุด มีเป้าที่ชัดเจนในเชิงอุดมการณ์ ต่างจากในสภาที่มีชักเท้าเข้า-ออก เปลี่ยนแนวร่วมไปเรื่อยๆ
ขณะที่การเมืองวัฒนธรรม ศัตรูสำคัญคือความคิดข้างในตัวเราเอง อยู่ในหัวเราเอง
“เมื่อการเมืองทั้งสามแบบจังหวะก้าวไม่ไปพร้อมกัน ขัดแย้งกัน แฟลชม็อบที่ผ่านมาแสดงออกว่าข้อคิดทางด้านการเมืองวัฒนธรรมทะลุเพดานไปแล้ว แต่ก็อยู่ในเกมการเมืองภาคประชาชน คำถามคือคุณจะประสานสองสิ่งนี้เข้าหากันให้ได้ยังไง แล้วคุณจะประสานการเคลื่อนไหวเข้าไปในระบบที่เป็นปฏิกิริยายังไง ผมนั่งคิดว่าทั้งสามอย่างนี้จะไปด้วยกันยังไง ยังปวดหัวเลย”
นี่คือโจทย์ที่ อ.เกษียร เปิดทิ้งไว้
– 2 –
ตลอดสองปีที่ผ่านมา แม้โจทย์ที่ อ.เกษียร เคยตั้งไว้จะยังไม่ถูกแก้ ฝ่ายรัฐยังคงละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่คิดเห็นต่างอยู่เนืองๆ ในขณะที่การเมืองของฝ่ายค้านทั้งสามส่วนก็ยังไม่อาจก้าวไปพร้อมกันได้ แต่หากดูในรายละเอียดก็จะพบว่า การเมืองแต่ละส่วนต่างก็มีพลวัตภายใน
ฝ่ายรัฐหันไปเล่นงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองในกลุ่มคนเฉพาะแบบจำกัด แต่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงเพื่อให้ยุติการชุมนุมโดยเร็ว และใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ‘กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ กับกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ชี้ว่า นับตั้งแต่การกลับนำกฎหมายมาตรา112 กลับมาใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 หลังจากไม่มีการบังคับใช้เกือบ 2 ปี มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 225 คนใน 243 คดี นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวเฉพาะในปี 2565 ก็มีคดีมาตรา 112 ที่ทยอยมีคำพิพากษาออกมาแล้วจำนวน 33 คดี ซึ่งส่วนมากเป็นประชาชนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดียแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 17 ใน 26 คดีที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด ศาลลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี ซึ่งเป็นบทลงโทษขั้นต่ำสุดของมาตรา 112
จริงอยู่ว่า ทิศทางและวิธีการเมืองของฝ่ายรัฐไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายสักเท่าไหร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อัปลักษณะที่รัฐแสดงออกอย่างไม่อายใครก็สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยกำลังเจอกับความจริงใหม่ในแบบที่เคยไม่เห็นมาก่อน
การเปลี่ยนแปลงของการเมืองของฝ่ายค้านกลับน่าสนยิ่งกว่า แม้การเมืองในระบบจะยังมีลักษณะของ ‘ปฏิกิริยา’ อยู่ แต่ในหลายคราจะเห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. จำนวนหนึ่งเริ่มหันมาโหวตตามแนวทาง ‘ก้าวหน้า’ ไม่ต้องพูดถึงว่า การมีมติให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในกรณี ‘ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี’ ของศาลรัฐธรรมนูญก็นับเป็นเซอร์ไพรส์ใหญ่ทางการเมือง ในขณะที่ขบวนของการเมืองภาคประชาชนก็เคลื่อนไหวอย่างมียุทธศาสตร์ ให้น้ำหนักกับประเด็นที่หลากหลายมากขึ้นและทำงานกับนักการเมืองในสภาตามวาระและโอกาส ควบคู่กับการเมืองเชิงวัฒนธรรมที่มีการผ่อนหนัก-ผ่อนเบาในการเคลื่อนไหว เน้นทำงานเชิงความคิด ขยายแนวร่วมมากขึ้น และปรากฏให้เป็นรูปธรรมผ่านข้อถกเถียงเชิงนโยบายว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 112
ถ้าให้ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้น จังหวะก้าวของการเมืองฝ่ายค้านมีการปรับจังหวะมากขึ้นในช่วงขวบปีสุดท้ายของรัฐบาลก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นช่วงที่อำนาจของรัฐบาลและองคาพยพในรัฐราชการเริ่มคลายตัว และอำนาจต่อรองของนักการเมืองฝั่งรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การเคลื่อนไหวนอกสภาที่ดำเนินต่อเนื่องกันมาก็เล็งเห็นเช่นกันว่า พื้นที่ทางการเมืองกำลังเปิดมากขึ้น
ภายใต้ภูมิทัศน์การเมืองไทยแบบ ‘ทะลุเพดาน’ การเลือกตั้งจึงไม่ใช่การสรรหาผู้นำและเปลี่ยนผ่านอำนาจตามแบบปกติ แต่เป็นแพลตฟอร์มทางการเมืองที่ทำให้การเมืองในระบบ การเมืองภาคประชาชน และการเมืองวัฒนธรรม กลับมามีจังหวะก้าวที่ตรงกันได้บ้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงสองปีที่ผ่านมา
เพราะแบบนี้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจึงมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย
– 3 –
นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูงที่สุดช่วงหนึ่งของระบอบ virtual absolutism เมื่อสถานะของเหล่าบรรดานายพลที่กุมอำนาจอยู่ฉากหน้าไม่ได้มั่นคงเหมือนที่เป็นมาตลอด 8 ปี – ถ้าให้เดาใจ ชนชั้นนำทางอำนาจไทยคงไม่อยากให้มีเลือกตั้ง
ยิ่งมี ‘ข่าวร้าย – ข่าวลือ’ ด้วยแล้ว การเลือกตั้งยิ่งถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงและความไม่แน่นอน
จะว่าไป นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดที่สำคัญยิ่งของชนชั้นนำทางการเมืองไทย เพราะเอาเข้าจริงแล้วกระบวนการเลือกตั้งมีความเป็น ‘อนุรักษนิยม’ อยู่มาก การชนะเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยง่าย การตัดสินเรื่องใหญ่ในแต่ละครั้งก็ใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี ก่อนที่จะตัดสินแพ้ชนะก็ต้องทำงานทางความคิดอย่างหนัก และต่อให้ชนะเลือกตั้งแล้วก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนประเทศได้ทันที เพราะฝ่ายที่ชนะเลือกตั้งมักจะเป็นกลุ่มที่อยู่ตรงกลางๆ ไม่สุดขั้ว เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากคนส่วนใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงว่า ถ้าชนะไม่เด็ดขาดก็ต้องตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งต้องผ่านการเจรจาและประนีประนอมกับกลุ่มการเมืองที่หลากหลายอีกทีหนึ่ง
(นี่เป็นเหตุผลว่า ‘อนุรักษนิยมที่ฉลาด’ จึงมักยอมรับกระบวนการเลือกตั้ง)
ดังนั้น สถานการณ์เช่นนี้ สังคมไทยต้องช่วยกันยืนยันว่า กระบวนการทางการเมืองต้องดำเนินไปอย่างปกติ (แม้เราจะอยู่ในระบบการเมืองที่ไม่ปกติ) – การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นและเป็นแพลตฟอร์มให้การเมืองแต่ละส่วนได้มาปรับจังหวะก้าวเดินให้ตรงกัน
กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า การเลือกตั้งเป็น ‘ยาวิเศษ’ ที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองได้อย่างชะงัด เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งนั้นต้องใช้เวลา ดังนั้น จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าหลังการเลือกตั้งปัญหาทางการเมืองแบบเดิมก็จะวนกลับมาตราบใดที่โครงสร้างทางการเมืองแบบ virtual absolutism ยังไม่ถูกแก้ไข
แต่ถ้าจะแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองได้ การเมืองของฝ่ายค้าน-การเมืองในระบบ การเมืองภาคประชาชน และการเมืองวัฒนธรรมก็ต้องปรับจังหวะก้าวให้ตรงกันผ่านการออกแบบระบบการเมืองใหม่
การเลือกตั้ง 2566 จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่เราต้องไม่หยุดแค่นั้น