fbpx
Editor's Note : 2019 - ปีแห่งอนาคตที่เรากำหนดเอง

Editor’s Note : 2019 – ปีแห่งอนาคตที่เรากำหนดเอง

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

(1)

 

“หนังอนาคตอะไร ดูแล้วไร้อนาคต”

เมื่อเดือนก่อน หลัง 10 years Thailand รอบสื่อปิดม่านลง น้องคนหนึ่งรู้สึกสิ้นหวังหลังหนังจบ จนอดถามผมต่อไม่ได้ว่า อนาคตของสังคมไทยอีกสิบปีข้างหน้าในสายตาผมเป็นอย่างไร ยังคิดว่าประเทศนี้มีอนาคตอยู่ไหม

แน่นอนที่สุด – ผมตอบ

เพราะถ้าไม่เชื่อมั่นในพลังของวันพรุ่งนี้ เราคงไม่เลือกที่จะทุ่มพลังใส่ลงไปในวันนี้ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คงหยุดสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ คงเลิกต่อสู้กับ กสทช., ผาสุก พงษ์ไพจิตร ก็ไม่เห็นต้องทำวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ, นิรมล กุลศรีสมบัติ และทีม UddC คงไม่ต้องออกแบบเมืองให้เดินได้เดินดีและนับรวมทุกคน, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ คงไม่จัดเทศกาลบทกวีที่น่าน ส่วนไอดา อรุณวงศ์ คงหยุด ‘อ่าน’ และเลิกรับบทบาทนายประกัน

กระทั่งเหล่าผู้กำกับ 10 Years Thailand รวมถึงโปรดิวเซอร์อย่าง คัทลียา เผ่าศรีเจริญ และโสฬส สุขุม ถ้าพวกเขาคิดว่าบ้านเมืองไร้อนาคต ก็คงไม่ต้องลงทุนลงแรงเหนื่อยกันรากเลือดกับหนังเรื่องหนึ่งขนาดนี้

ผมเชื่อว่า พลังสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้จากทั้งพลังบวกและพลังลบ บ่อยครั้ง โลกมืดที่แลดูหดหู่สิ้นหวังอาจปลุกให้บางคนฝันแรงขึ้น จนอยากตื่นขึ้นมาสร้างโลกสวยด้วยซ้ำ

อนาคตไม่ได้จบลงในหนัง แต่เริ่มขึ้นในมือเราต่างหาก

มันอยู่ที่ตัวเราเองว่าเชื่อมั่นในพลังของวันพรุ่งนี้ไหม เชื่อหรือไม่ว่าอนาคตอยู่ในมือเรา ไม่ได้ถูกกำหนดมาแล้วจากฟากฟ้า ไม่ได้คงที่หยุดนิ่งชั่วนิรันดร แต่เป็นเรื่องที่เราต้องทำเอง ต้องกำหนดเอง เป็นเรื่องของวันข้างหน้าที่ต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้

ยาก แต่เป็นไปได้

เหนื่อย แต่ทำได้

ถ้าวันนี้ยังห่างไกลความสำเร็จ ยิ่งต้องทำงานให้หนักขึ้น

ผมคุยกับน้องแล้ววาบความคิดถึงบันทึกที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนถึงคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร เพื่อนรักผู้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกการถึงแก่กรรมของคุณหญิงสุภาพ เมื่อปี 2517 ตอนหนึ่งความว่า

“คุณพูดว่าไม่มีความยุติธรรมชนิดสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้หรอก และผมก็ตอบคุณว่า ก็เพราะอย่างนั้นสิ เราถึงต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดได้ใกล้ความยุติธรรมสมบูรณ์ให้มากที่สุด”

และอีกตอนหนึ่ง ความว่า

“อุดมการณ์นั้นมีค่าควรแก่การต่อสู้ แม้มองไม่เห็นชัยชนะ”

โจทย์สำคัญอยู่ตรงที่ หลังจากเรา มอง(ไม่)เห็น ภาพ(ไร้)อนาคต ในหนังเรื่องหนึ่ง หรือจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เพลงท่อนหนึ่ง ละครบทหนึ่ง ภาพวาดชิ้นหนึ่ง แล้ว เราจะแปลง ‘ความรู้’ และ ‘ความรู้สึก’ เป็น ‘ปฏิบัติการ’ สร้างอนาคตใหม่ตาม ‘ทาง’ ของเรา ใน ‘พื้นที่’ ของเรา ด้วย ‘จังหวะ’ และ ‘น้ำหนัก’ แบบเรา ให้ลงตัวพอเหมาะพอควรแก่ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตการงานของเราเองได้อย่างไร

คำตอบของปฏิบัติการสร้างอนาคตใหม่จึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ละคนมีคำตอบเฉพาะของตัวเอง ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์แห่งการปะทะและประสานสมดุลกันระหว่าง ‘โลกภายใน’ กับ ‘โลกภายนอก’ โดยเฉพาะการต่อรองกันระหว่าง ‘ความฝัน’ กับ ‘ความเป็นจริง’ ของใครของมัน แต่ความจริงที่ทุกคนเจอเสมอหน้ากันคือ ปฏิบัติการสร้างอนาคตใหม่เป็นการต่อสู้ไม่รู้จบ ยืดเยื้อยาวนาน แถมบ่อยครั้งต้องต่อสู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ ย้ำๆ ย่ำๆ ไม่ไปไหน

แต่คนอย่างเราๆ ที่มาดูหนังเรื่องนี้ในสกาล่าวันนั้น เป็นอื่นไปไม่ได้หรอก นอกจากเชื่อมั่นใน ‘ทาง’ ที่เลือก และลงมือสร้างอนาคตใหม่ใน ‘พื้นที่’ ของเราต่อไป

สูญเสียความเชื่อมั่นเมื่อไหร่ ก็สูญเสียอนาคต

 

(2)

 

บนเส้นทางของปฏิบัติการร่วมสร้างอนาคตใหม่ในสังคมไทย  101 เลือกเดิน ‘ทาง’ ไหน ใน ‘พื้นที่’ เช่นไร

คำตอบของพวกเราคือ การมุ่งมั่นตั้งใจทำสื่อความรู้สร้างสรรค์ (creative knowledge media) ที่มีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพ

ในบทบรรณาธิการเปิดตัว The101.world เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ผมเคยเขียนไว้ว่า

 

“เราอยากทำสื่อที่ชวนสังคมตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในเรื่องสำคัญต่อชีวิต และมีส่วนร่วมในการกำหนดวาระสาธารณะ วาทกรรมสาธารณะ และข้อถกเถียงสาธารณะในสังคม

เราอยากทำสื่อที่บอกเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังของสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจ อย่างครบถ้วน รอบด้าน ถูกต้อง ลึกซึ้ง แตกต่าง และน่าเชื่อถือ

เราอยากทำสื่อที่มองวัฒนธรรมรอบตัวและไลฟ์สไตล์ในแง่มุมใหม่ที่ไม่มีใครเคยมอง เท่าทันโลกร่วมสมัย และมองเห็นมิติเชิงสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ทำงานอยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมรอบตัวและไลฟ์สไตล์ร่วมสมัย

เราอยากทำสื่อที่เป็น ‘สะพาน’ เชื่อม ‘โลกวิชาการ’ เข้ากับ ‘โลกสื่อสารมวลชน’ และเชื่อม ‘โลกความรู้’ เข้ากับ ‘โลกความคิดสร้างสรรค์’ นำเสนอความรู้พื้นฐานด้านต่างๆ ที่สำคัญอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ และเผยแพร่สู่สาธารณะให้เข้าถึงผู้คนวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

เราอยากทำสื่อที่ทำหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพ กล่าวคือ มีความเป็นอิสระ ตรงไปตรงมา เปิดกว้างทางความคิดเห็น เชื่อมั่นในความหลากหลาย มีความสมดุลและรอบด้าน มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพ

เราอยากทำสื่อที่ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และร่วมเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นบนฐานความรู้

 

ถึงวันนี้เราก็ยังยืนยันคำตอบนั้น และพยายาม ‘เกินร้อย’ ในการทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มกำลัง เท่าที่ทรัพยากร ฝีมือ และสติปัญญาของเราจะอำนวย

ในความฝัน เราหมายมั่นให้ The101.world เป็นสื่อมืออาชีพ เป็นคลังความรู้ของสังคม เป็นตลาดวิชาสาธารณะ  และเป็นแหล่งความรู้ที่ได้รับความไว้วางใจ ถูกใช้อ้างอิงทั้งในวงการสื่อและวงการวิชาการ

ในความเป็นจริง เราอยากเก่งขึ้นอีก ทำงานให้มีคุณภาพมากขึ้นอีก เข้าถึงคนวงกว้างยิ่งขึ้นอีก จนกระเถิบเข้าใกล้ความฝันของเราให้มากที่สุด

 

2018 ที่ผ่านมา เราทำอะไรบ้าง?

ปีที่แล้ว โลกและสังคมไทยเผชิญหน้าความท้าทายหลายเรื่อง The101.world บันทึกการเปลี่ยนแปลงของโลกและไทยไว้มากมายหลายมิติ รวมทั้งสำรวจโจทย์ใหม่และคำตอบน่าสนใจ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การระหว่างประเทศ เทคโนโลยี ศิลปะ และวัฒนธรรม ผ่านผลงานหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบทความ สารคดี สัมภาษณ์ อินโฟกราฟิก การ์ตูน คลิปความรู้ และคอลัมน์ต่างๆ

ในช่วงสิ้นปี เรานับถอยหลังขึ้นปีใหม่ ผ่านบทความเชิงสังเคราะห์โดยกองบรรณาธิการที่ชวนผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านโลกและไทยในปี 2018 ผ่านผลงานตลอดทั้งปีของ 101 ในมิติต่างๆ

 

หากอ่านย้อนไปตลอดทั้งปี 2018 101 Spotlights นำเสนอชุดสารคดีข่าวเชิงลึกหลายเรื่อง ตั้งแต่ต้นปีเราตั้งหน้าตั้งตาและตั้งใจนับถอยหลังสู่สนามเลือกตั้ง ด้วยซีรีส์ 4 ปี คสช. – เดินหน้าประเทศใคร และบทสัมภาษณ์ ‘คนการเมือง’ หลากความคิด หลายอุดมการณ์ ในขั้วการเมืองต่างๆ แบบคุยกันให้สุด อ่านกันยาวๆ ลึกๆ แบบเต็มอิ่มครบความ

นอกจากนั้น เรายังทำซีรีส์ ชีวิตติดร่างแห ว่าด้วยสิทธิแรงงานประมงและความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมซีฟู้ด, Dust Atlas: ทางของฝุ่น PM2.5 ว่าด้วยฝุ่นเจ้าปัญหาและราคาชีวิตคนไทย, อ่านอีสาน ว่าด้วยพลวัตการเมืองวัฒนธรรมอีสาน และซีรีส์ยอดฮิต ม้า-มวย-หวย-หม้อ สำรวจเส้นทางชีวิตสังคมไทยผ่านพื้นที่ความสุขและความหวังสุดท้ายของหลายคน

ส่วนซีรีส์ที่เราลงมือทำตั้งแต่ปีก่อน ก็ยังเดินหน้าต่อ ทั้ง Digital Transformation, การปฏิรูประบบภาษี, รู้ทันสุขภาพ และ อนาคตธุรกิจหนังสือ รวมถึงโจทย์สำคัญของสังคมไทยอย่าง การต่อสู้คอร์รัปชัน, การศึกษา, ความยั่งยืน และ ความยุติธรรม

ในปี 2018 101 จัดเสวนาสาธารณะ Digital Dialogue ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งวงสนทนากัน 4 ครั้ง ได้แก่ (1) Digital Communications อนาคตวงการโทรคมนาคมและสื่อไทยใต้ กสทช. ชุดใหม่ (2) Digital Entrepreneurship โลกใหม่ ผู้ประกอบการใหม่ (3) Digital Future อนาคตไทยในโลก 5G : คลื่นความถี่, IoT และสื่อดิจิทัล และ (4) Digital HR กระบวนการ HR ใหม่ในโลกดิจิทัล

ปิดท้ายด้วย โปรเจคขวัญใจนักอ่าน ความน่าจะอ่าน ตั้งแต่ ความน่าจะอ่าน 2017 (long list และ 12 เล่มสุดท้าย) ความน่าจะอ่าน เทศกาลงานหนังสือ (ต้นปี และ ปลายปี) และ ความน่าจะอ่านรับปี 2019 จากเหล่าคอลัมนิสต์ 101

ทุกชิ้นที่เล่ามา ‘น่าจะอ่าน’ กันทั้งนั้น

 

(3)

 

“No one ever reads a book. He reads himself through books, either to discover or to control himself.”

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อ้างถ้อยความข้างต้นของ Romain Rolland นักเขียนฝรั่งเศส ไว้ในบทความ อ่านจดหมาย

เราอ่านหนังสือ อ่านผู้อื่น หรืออ่านตัวเอง?

แล้วอาจารย์ศุภมิตรก็ชวนผู้อ่านคิดต่อใน อ่านแล้วเปลี่ยน

“การอ่านที่จะช่วยขยับปรับเปลี่ยนความคิดของเราไปจากเดิมนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอทุกครั้งที่อ่านอะไรใหม่ๆ นะครับ เมื่อการอ่านต้องใช้สายตา และสายตาของเราก็มักเห็นตามมุมมองที่เรามีอยู่แล้วในใจ ความคิดความเข้าใจที่เรามีอยู่ก่อนจึงตีกรอบเป็นผนังและเพดานของทัศนวิสัยที่จะกั้นเราให้มองออกจากหน้าต่างบานที่เปิดอยู่ไปเห็นอะไรจากสิ่งที่อ่านพบ และเมื่อพบแล้วจะคิดอะไรเลยออกไปจากเดิมได้มากแค่ไหน แทนที่จะเปลี่ยนขยายทัศนวิสัยออกไป ผลจากการอ่านจำนวนมากของเรามักเป็นไปในทางรักษาทัศนคติเดิมที่เราใช้พิจารณาเรื่องราวทั้งหลาย

ชั้นเรียนจิตวิทยาบอกผมว่ามนุษย์เรามีข้อจำกัดในการรับรู้อยู่มาก ข้อมูลใหม่ๆ ที่เราเห็นเรารับเข้ามานั้น จำนวนมากไม่ได้มีผลมาคลอนแคลนเปลี่ยนแปลงความคิดของเรา แต่เป็นการรับรู้ที่มาย้ำสิ่งที่เราคิดที่เราเชื่ออยู่แล้วให้หนาแน่นยิ่งขึ้นมากกว่า พูดให้หนักกว่านั้นก็คือ เป็นการมาเพิ่มลูกกรงกักเราให้ติดแน่นอยู่กับความคิดและฐานคิดที่เรามีอยู่มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ที่ทราบอย่างนั้นแล้ว ความเป็นคนหวาดกลัวที่แคบ ผมเลยมองหากระบวนท่าใหม่ๆ มาใช้ในการอ่าน …”

อาจารย์ศุภมิตรท่านใช้กระบวนท่า ‘อ่านแล้วเปลี่ยน’ พาตัวเองออกจากกรงกักที่คับแคบอย่างไร โปรดหาคำตอบผ่านบทความของท่านกันเอาเอง

แต่สำหรับผม การอ่าน วิธีอ่าน คอลัมน์ของอาจารย์ศุภมิตรเป็นประจำทุกเดือน เป็นหนึ่งในแบบฝึกหัด ‘อ่านแล้วเปลี่ยน’ ของตัวเองที่สนุกสนานรื่นรมย์ เช่นเดียวกับผลงานในอีกหลายคอลัมน์

ผมชอบอ่านหลากหลาย ไม่ได้อยากจะอ่านแต่คนที่ชอบเหมือน คิดเหมือน ทำเหมือน ถนัดเหมือนตัวเองเท่านั้น เมื่อมารับบทบรรณาธิการบริหารก็อยากให้ The101.world เต็มไปด้วยความหลากหลาย ด้วยหวังว่าคนอ่านจะสนุกกับการอ่านหลากหลายเหมือนเรา

ยิ่งหลากหลาย โอกาสที่จะสนุกกับแบบฝึกหัด ‘อ่านแล้วเปลี่ยน’ ก็ยิ่งมาก และสิ่งนี้เป็นฐานสำคัญสำหรับการก่อร่างสร้างอนาคตใหม่

 

นอกจากผลงานของกองบรรณาธิการหลัก The101.world – สมคิด พุทธศรี, ธิติ มีแต้ม, พันธวัฒน์ เศรษฐวิไลปาณิส โพธิ์ศรีวังชัยวจนา วรรลยางกูรศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ และ กานต์ธีรา ภูริวิกรัย แล้ว พวกเราเลยตั้งใจเชิญชวนคอลัมนิสต์มากหน้าหลายตา จากหลากหลายวงการ มาร่วมบรรเลงเพลงอักษร ส่งผ่านความรู้และความคิดเห็น ส่วนจะ ‘อ่านแล้วเปลี่ยน’ หรือไม่ อย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับกรรมส่วนตัวของผู้อ่านแต่ละคน

ใครสนใจเรื่องราวรอบโลก เรามีคอลัมน์ Léman: Letter From Europe ของ พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ เล่าเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ระเบียบการค้าโลก รวมถึงนโยบายสาธารณะ ส่งตรงจากยุโรปด้วยมาตรฐานผลงานระดับโลก, จากยุโรปไปสหรัฐอเมริกา ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เกาะติดปัญหาประชาธิปไตยในอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างใกล้ชิด, อาร์ม ตั้งนิรันดร เจ้าของหนังสือ China 5.0 จับตาจีนในมิติการเมือง เศรษฐกิจ ธุรกิจใหม่ และเทคโนโลยี เป็นประจำ, จิตติภัทร พูนขำ ตามติดเรื่องรัสเซีย รวมถึงระเบียบการเมืองระหว่างประเทศ และ จันจิรา สมบัติพูนศิริ จับกระแสความท้าทายของประชาธิปไตยและการเมืองภาคประชาชนในโลก

นอกจากนั้น คอลัมน์ โลก-อุษาคเนย์ ของ ยุกติ มุกดาวิจิตร พาเราสำรวจประเด็นแหลมคมด้านสังคมวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ บางคราวก็ข้ามไปเยือนอินเดีย ปากีสถาน อีสาน และพิพิธภัณฑ์รอบโลก, เรื่องอินเดียยังมี ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก อีกคนที่เขียนให้อ่านกันผ่านแว่นตาอดีตนักเรียนอินเดีย, ยังมีเรื่องพม่าโดย ลลิตา หาญวงษ์ และสำหรับคนชอบออกเดินทางท่องโลกกว้าง บันทึกการเดินทางรอบโลกของ ธีรภัทร เจริญสุข คือผลงานที่ไม่ควรผ่านเลย

ส่วนเรื่องเทรนด์ใหม่ในโลกใหม่ Global Change ของ วรากรณ์ สามโกเศศ และ Trend Rider ของ โตมร ศุขปรีชา รวมถึง สารกันเบื่อ ของ เอกศาสตร์ สรรพช่าง และงานเขียนเกาะติดวงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ของ โสภณ ศุภมั่งมี ทำหน้าที่อย่างแข็งขันให้ผู้อ่านปรับเปลี่ยนตัวเองให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ

ในด้านเศรษฐกิจ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นำขบวนอ่านสถานการณ์และนโยบายเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างเฉียบคม, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ชวนอ่านเศรษฐศาสตร์การเมือง และข้อถกเถียงใหม่ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ, ปิติ ศรีแสงนาม ชวนอ่านระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ทวีความเข้มข้นในปัจจุบัน, อธิภัทร มุทิตาเจริญ ชวนอ่านนโยบายภาษีและการปฏิรูประบบภาษีของไทย, อิสร์กุล อุณหเกตุ ชวนอ่านเศรษฐศาสตร์สถาบันและเศรษฐศาสตร์กฎหมาย, ธร ปีติดล ชวนทำความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองผ่านวรรณกรรมชั้นนำไทยและเทศ, พลอย ธรรมาภิรานนท์ เล่าความรู้เศรษฐศาสตร์ การเมือง และการพัฒนาใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และ สฤณี อาชวานันทกุล ชวนอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์และธุรกิจเล่มสำคัญ

ในด้านสังคม คอลัมน์ หลักประกันสุขภาพที่รัก ของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ตีแผ่ปัญหาระบบบริการสาธารณสุขไทยผ่านประสบการณ์จริง 30 กว่าปีในฐานะหมอสังกัดโรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย ด้วยเรื่องเล่าที่สั่นสะเทือนหัวใจคนอ่าน, วันดี สันติวุฒิเมธี นำเสนอสารคดีและบทสัมภาษณ์สะท้อนปัญหาสังคมหลายด้าน ตั้งแต่การศึกษา ความรุนแรง และความเท่าเทียมในสังคม นอกจากนั้น กรณิศ ตันอังสนากุล และ เพชร มโนปวิตร ชวนกันเกาะติดเรื่องธุรกิจกับความยั่งยืน จนถึงความรู้และวิถีปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในเศรษฐกิจและระบบนิเวศ

มาถึงคอลัมน์ด้านการเมืองไทย อายุษ ประทีป ณ ถลาง นำทีมอ่านสถานการณ์การเมืองไทย ด้วยลีลาสำนวนตามแบบฉบับนักหนังสือพิมพ์ยุคทอง, สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงระบบกฎหมาย ระบบตุลาการ และกระบวนการยุติธรรมของไทย อย่างตรงไปตรงมาโดยมีหลักวิชาเป็นอาวุธ, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ชวนอ่านปรากฏการณ์สำคัญในสังคมไทย ตั้งแต่ตูนบอดี้สแลม เสือดำ พาราควอต การบินไทย บอกอะไรกับเรา, กษิดิศ อนันทนาธร ชวนอ่านประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทยผ่านชีวิตและความคิดของสามัญชน ผู้ถูกหลงลืมในหน้าประวัติศาสตร์ไทย, ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ชวนอ่านหนังสือสังคมศาสตร์ที่ท้าทายความคิด และ ประจักษ์ ก้องกีรติ อ่านการเมืองไทยและอาเซียน

สำหรับคอลัมน์เชิงวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ และศิลปะ  Third-eye view ของ Eyedropper Fill ทีมนักออกแบบมัลติมีเดีย มีเซอร์ไพรส์ให้เราตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมงานออกแบบใหม่ๆ รอบโลกเสมอ, กับข้าวกับแขก ของ คำ ผกา ยั่วความอร่อยเราทุกเดือน, งานเขียนเรื่องอาหารและปรัชญาที่หลายคนรอคอยของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, โตมร ศุขปรีชา ชวนอ่านหนังสือ Little Read และ Agony Uncle ลุงเฮม่า – ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ ตอบคำถามในเรื่องเล็กๆ รอบตัวที่ไม่เคยง่าย และทำให้เราเผลอไผลตกม้าตายกันบ่อยๆ

นอกจากนั้น วศิน ปฐมหยก มาพร้อมกับการ์ตูน ‘หัวนุ่ม’ ของเขา, อุทิศ เหมะมูล ชวนฟังเพลงใน Songstruck ขณะที่ ธิติ มีแต้ม คุยกับลูก ผ่านบทเพลงใน เมื่อเวลามาถึง, เสร็จแล้วไปทำความเข้าใจโลกของ Gen Why กับ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, สำรวจลึกเรื่องเพศกับ Sex Appear ของศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ และภาพิมล หล่อตระกูล ปิดท้ายด้วยการดูหนังและชมซีรีส์ กับ นรา – พรชัย วิริยะประภานนท์

อนาคต 2019 นี้ The101.world เติมความหลากหลาย เสริมทีมคอลัมนิสต์ใหม่อีกหลายคน อิสระ ชูศรี จะมาพูดการเมือง นำเสนอการเมืองเรื่องคำ สมรภูมิวาทกรรมในการเมืองไทย, สนิทสุดา เอกชัย จะมาสะท้อนสังคมไทย ผ่านปลายปากกาที่หลายคนคิดถึง, สันติธาร เสถียรไทย เล่าเรื่อง digital transformation ในภูมิภาคเอเชีย, เชาวฤทธิ์ เชาวแสงรัตน์ จะมาอ่านลาตินอเมริกา, จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล ชวนมองเรื่องเทคโนโลยีในมุมที่คุณไม่เคยนึกถึง และคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง จะมาเขียนเรื่องวัฒนธรรมร่วมสมัยในสังคมไทยในแบบของเขา

 

‘อ่านแล้วเปลี่ยน’ กันแล้ว มาเพิ่มโอกาส ‘ชมแล้วเปลี่ยน’ และ ‘ฟังแล้วเปลี่ยน’ กันบ้าง

101 One-on-One รายการสนทนาสดทุกวันจันทร์สองทุ่มตรงของเรา ชวนแขกรับเชิญสารพัดวงการมาคุยสดตอบคำถามสด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักธุรกิจ นักเขียน และศิลปิน ชวนคุยโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล โตมร ศุขปรีชา ธร ปีติดล และปกป้อง จันวิทย์

The Reveal รายการเปิดเผยปมปัญหาที่แอบซ่อนอยู่ในชีวิตรอบตัว ด้วยการเล่าเรื่องอย่างมีสไตล์ ผลงานของ อดิศร เด่นสุธรรม และคิริเมขล์ บุญรมย์

Side B สารคดีข่าวสั้น ชวนผู้ชมเปิดมุมมองผ่านเสียงด้านที่ไม่ค่อยได้ยินจากหน้าข่าว Side A ผลงานของ ธิติ มีแต้ม และเมธิชัย เตียวนะ

Threesome จากรายการออนไลน์สู่ podcast วงเม้าท์เรื่องรอบตัวผ่านมุมมองของกองบรรณาธิการ 101

ในปี 2018 ที่ผ่านมา ทีมงาน 101 ยังผลิตคลิปความรู้สร้างสรรค์หลายชิ้น ตั้งแต่ The Trap – ฝ่าวิกฤตกับดักรายได้ปานกลาง ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), เศรษฐกิจสีน้ำเงิน ร่วมกับ Eyedropper Fill และ สกว., ทำไมคนไทยขี้โกง ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สกว., The Calling Home – ตามฝันจากบ้าน และ The Rising Tide – ชีวิตขาขึ้น สารคดีสั้นสองเรื่อง ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน และ I am สมร 4.0 ร่วมกับ Google Thailand และเว็บไซต์ Thaidigizen – พลเมืองดิจิทัล

สำหรับโปรเจคหลัง 101 ยังช่วยรับผิดชอบดูแลการผลิตหนังสือ คู่มือพลเมืองดิจิทัล โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ด้วย อยากชวนให้โหลดเก็บไว้อ่านกันเป็นหนังสือความรู้สามัญประจำบ้านในยุคดิจิทัล

 

(4)

 

นอกจากงานเว็บไซต์และสื่อสังคม The101.world แล้ว ปีที่ผ่านมา 101 ยังเปิด โรงเรียนอนาคต (School of Tomorrow) ประสบการณ์เรียนรู้แนวใหม่ เพื่อร่วมปลูกอนาคตสังคมไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และผม เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนาคต

“โรงเรียนอนาคต” มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ สำหรับพัฒนาศักยภาพของผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ที่จำเป็นสำหรับการรู้เท่าทันและรับมือกับความท้าทายในโลกยุคใหม่

เราประกาศเชิญชวนนักเรียน-นักศึกษา ทุกโรงเรียน ทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถึงระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 (อายุ 17-23 ปี) สมัครเข้าร่วมโครงการ ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของสังคมไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ในรุ่นแรก

ในวันแถลงข่าว อาจารย์ประจักษ์ เล่าว่า “โรงเรียนอนาคต” เกิดขึ้นบนฐานความเชื่อ 3 ประการ

หนึ่ง สังคมมีความหวัง และความหวังอยู่กับคนรุ่นใหม่ เพราะมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกไกล ยิ่งได้รับโอกาสเร็ว ยิ่งมีโอกาสดึงศักยภาพในตัวออกมาได้เร็ว

สอง ความหลากหลายคือพลัง เราอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้องค์ความรู้และทักษะที่หลากหลายรอบด้าน ได้เจอเพื่อนจากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อก้าวออกจากศาสตร์และความสนใจเฉพาะของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เกิดพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

และ สาม การสร้างเครือข่ายคือคำตอบ ลำพังตัวคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ต่อให้เก่งอย่างไรก็ตาม เราอยากให้คนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ ในแต่ละสาขาได้มาเจอกัน ได้สานต่อความสัมพันธ์ และกลายเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลง นำความรู้ที่ได้รับไปสู่เพื่อนๆ ในโรงเรียนและสังคมวงกว้าง

สำหรับผม เสน่ห์ที่น่าตื่นตาตื่นใจของ “โรงเรียนอนาคต” คือความหลากหลายของนักเรียนที่เข้าร่วม เรามีทั้งนักเรียนมัธยม และนักศึกษามหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ ทั้งด้านรัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ จิตรกรรม สถาปัตยกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ปรัชญา ครุศาสตร์ การออกแบบ เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ มาเรียนรู้ร่วมกัน เรียน-กิน-นอนอยู่ด้วยกันสองสัปดาห์เต็ม ซึ่งน่าจะเปิดโลกและเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ข้ามความสนใจของนักเรียนได้อย่างกว้างขวาง

เราจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมาก ทั้งเรียนวิชาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านต่างๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับนักวิชาการชั้นนำ, ฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ผ่านการลงมือปฏิบัติการจริงกับตัวจริงในวงการต่างๆ ทั้งนักคิดนักเขียน ผู้กำกับ นักออกแบบ นักแสดง นักพูด นักเคลื่อนไหวทางสังคม, เปิดวงเสวนาเรื่องอนาคตของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย กับตัวละครสำคัญในวงการต่างๆ ของประเทศ ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ, เดินทางเพื่อเรียนรู้ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเรื่องสตาร์ทอัพและนวัตกรรมทางธุรกิจ และตั้งวงสนทนาแบบไม่เป็นทางการหลังอาหารเย็นกับวิทยากรที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจทางความคิดเกือบทุกวัน ทั้งหมดนี้ภายใต้การอำนวยการเรียนรู้ของวิทยากรกระบวนการมืออาชีพที่จะอยู่กับนักเรียนตลอดสองสัปดาห์

เราหวังว่า “โรงเรียนอนาคต” จะเป็น “ข่าวดี” หนึ่งของสังคมไทยและระบบการศึกษาไทยท่ามกลางบรรยากาศหดหู่และสิ้นหวัง โดยปลุกพลังให้ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กลับมาลงแรงร่วมกำหนดอนาคตของพวกเรากันเองอีกครั้ง โดยใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างอนาคตใน ‘ทาง’ ของตัวเอง

 

วันหนึ่ง นักเรียนในโรงเรียนอนาคตถามผมว่า อาจารย์มีธงในใจไหม ว่าสุดท้ายหลังเรียนจบ อยากเปลี่ยนให้พวกผมออกมาเป็นอย่างไร

ไม่มี – ผมตอบ

เราไม่ได้ทำโรงเรียนเพราะอยากให้นักเรียนเป็นแบบไหนหรือเป็นแบบใคร กระทั่งเป็นแบบเรา เราแค่เชื่อมั่นว่า ถ้าเลือกนักเรียนที่มีตัวตนและความคิดน่าสนใจ, เก่งใน ‘ทาง’ ของตน หลายคนก็หลาย ‘ทาง’, มีภูมิหลัง ความสนใจ และคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน นำมาผสมผสานใช้ชีวิตอยู่ใน ‘พื้นที่’ เดียวกัน ภายใต้เนื้อดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเสรีภาพ ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน พร้อมบรรยากาศการเรียนรู้ที่ปลอดภัย สนุก และตื่นตาตื่นใจ มีโค้ชดีๆ ประกบ มีกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดกว้างในรูปแบบที่หลากหลาย มีครูผู้สอนหลากหลาย มีวิชาการและทักษะให้เรียนรู้อย่างหลากหลาย

พลังที่มองไม่เห็นแต่มีอยู่จริง มันจะทำหน้าที่ของมันไปเอง อย่างเป็นธรรมชาติ

ผมไม่รู้ว่า ผลลัพธ์สุดท้ายจะไปจบที่ตรงไหน ใครจะกลายเป็นแบบไหนหรือแบบใคร พวกเขาจะไปจับมือร่วมกันทำอะไรต่อ – ไม่รู้จริงๆ ไม่ได้อยากรู้ด้วย กระทั่งไม่คิดคาดหวัง

ผมมั่นใจแค่ว่านักเรียนแต่ละคนในโรงเรียน เมื่อผ่านประสบการณ์รวมหมู่นี้ร่วมกันแล้ว เขาคนนั้นจะไม่เหมือนเดิม แต่จะเป็นตัวเขาที่ดีกว่าเดิม กว้างกว่าเดิม ลึกกว่าเดิม รอบด้านกว่าเดิม กลมกล่อมกว่าเดิม และมีพลังในการสร้างอนาคตใหม่ตาม ‘ทาง’ ของเขา ใน ‘พื้นที่’ ของเขาเพิ่มมากขึ้น

‘อนาคต’ ที่เราคุยกันมาแต่ต้น ก็ไม่ต่างจาก ‘โรงเรียนอนาคต’

เสน่ห์ของอนาคตอยู่ตรงนี้ ตรงที่ไม่มีความแน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางจะไปจบที่ตรงไหน ทำได้เพียงแค่ออกแบบส่วนผสมต้นทางให้ดีและทำเต็มที่ระหว่างทาง ส่วนเรื่องผลลัพธ์สุดท้ายนั้น อย่าไปถือสาแบกไว้ ให้ปล่อยวาง และเชื่อมั่น

เรื่องความไม่แน่นอนของอนาคตนี้ บางคนเห็นเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ผมกลับเห็นเป็นเรื่องสนุก

และหลายครั้ง ผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไม่ได้ ไม่รู้หมู่หรือจ่า กลับออกมาเกินจินตนาการ และเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เหนือพ้น ‘การคิดได้’ ของผู้คนเมื่อแรกเริ่มด้วยซ้ำ

อย่าดูเบาพลังแห่งอนาคตเชียว

เช่นนี้แล้ว หลักที่มักใช้เตือนใจตัวเองในปฏิบัติการสร้างอนาคตใหม่คือ เชื่อมั่นใน ‘ทาง’ ที่เลือกแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาลงมือปลูกใน ‘พื้นที่’ ของเรา ด้วย ‘จังหวะ’ และ ‘น้ำหนัก’ ที่เหมาะกับตัวเอง

ทำเต็มที่อย่างดีที่สุดในส่วนที่เราคุมได้ มุ่งมั่น ชัดเจน ไม่ลังเลสงสัย ไม่วอกแวก หนักแน่น อดทน ยืนนิ่งๆ หลักดีๆ ใจเย็นๆ เล่นเกมยาวๆ

สำเร็จก็ยิ้มให้มัน ล้มเหลวก็เรียนรู้ ตรวจสอบพัฒนาตัวเอง รู้สึกผิดหวังได้ แต่อย่าจมปลัก วางมัน เดินหน้าต่อ และพยายามขึ้นเป็นสองเท่า

มาเล่นสนุกกับอนาคต 2019 ด้วยกัน และช่วยกันลงแรงสร้างให้ 2019 เป็นปีแห่งอนาคตที่เรากำหนดเอง

 

MOST READ

editor's note

9 Mar 2022

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

101 เปิดตัว 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำงานบนฐานวิชาการ การพัฒนา และประชาธิปไตย

ปกป้อง จันวิทย์

9 Mar 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save