fbpx
สิ่งที่เคนส์ย้ำ กับคำที่เคนส์ลืม

สิ่งที่เคนส์ย้ำ กับคำที่เคนส์ลืม

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร และ นภนต์ ภุมมา[1] เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes, 1883–1946)  ไม่เคยตาย

ชื่อของเขาจะกลับมาทุกครั้งในยามที่รัฐบาลใดต้องการใช้งบประมาณมหาศาลเกินปกติ จนทำให้ “เคนส์” กลายเป็นคำไวพจน์อันไพเราะเสนาะหูที่ถูกใช้แทนคำอย่าง “การขาดดุลการคลัง” หรือ “หนี้สาธารณะ”

เคนส์เป็นนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้มีสำนักคิดที่ตั้งตามชื่อของเขา เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงด้านความหลักแหลมมาตั้งแต่เด็ก หนังสือของเขาชื่อ The Economic Consequences of the Peace ตีพิมพ์ในปี 1919 ชำแหละความไร้ศีลธรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม และเป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลก

หลังจากนั้น ในปี 1936 ผลงานชิ้นเอกของเขา The General Theory of Employment, Interest and Money ก็ปรากฏตัวออกมาและเปลี่ยนวิธีการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคไปตลอดกาล

ในยามที่รัฐบาลกำลังจะอัดฉีดบาซูก้าการคลังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มีหลักการพื้นฐานของเคนส์อย่างน้อย 4 ข้อที่เราควรให้ความสำคัญ คือ การขจัดความไม่แน่นอน การใช้ประโยชน์จากตัวคูณทวี การมองแยกปัญหาระหว่างปัจเจกกับส่วนรวม และการการุณยฆาตเสือนอนกิน

 

Keynes
John Maynard Keynes

หนึ่ง – กระตุ้นสัญชาตญาณสัตว์ ขจัดความไม่แน่นอน

 

เราต้องอ่านเคนส์ในฐานะข้อเสนอทางเลือกของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลัก

ข้อถกเถียงสำคัญข้อหนึ่ง คือเรื่องของ “พฤติกรรมการลงทุน” ซึ่งนีโอคลาสสิกมองว่าเป็นเรื่องของปัจเจกชนที่จะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลเพื่อแสวงหาประโยชน์สูงสุด

แต่เคนส์เสนอว่า การออมและการลงทุนเป็นเรื่องของจิตวิทยาหมู่ (mass psychology) เสียมากกว่า เราจึงต้องให้ความสนใจกับสภาวะ “ความไม่แน่นอน” เป็นพิเศษ

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความไม่แน่นอน (uncertainty) แตกต่างจากความเสี่ยง (risk) เพราะความเสี่ยงหมายถึงสิ่งที่สามารถประเมินความน่าจะเป็นในการเกิดขึ้นได้ ธุรกิจประกันภัยก็ตั้งอยู่บนฐานคิดนี้ จึงสามารถคำนวณเบี้ยประกันได้ตามความเสี่ยงของแต่ละคน

แต่ความไม่แน่นอนคือสภาวะที่เราไม่รู้แม้กระทั่งความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ในอนาคต เมื่อโลกข้างหน้าเต็มไปด้วยความคลุมเครือ นักลงทุนจึงไม่กล้าลงทุนเพราะตื่นตระหนกไม่ต่างจากคนทั่วไป

การลงทุนที่ลดลงส่งผลให้อุปสงค์ที่เกิดขึ้นจริง (ความต้องการซื้อที่มีกำลังซื้อรองรับ) หดตัวตามไปด้วย ระดับรายได้ของทั้งสังคมจึงลดลง

ปริมาณการลงทุนจะสูงพอให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ก็ต่อเมื่อ “สัญชาตญาณสัตว์” (animal spirits) หรือ การตอบสนองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของนักลงทุนได้รับการกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่หรือข่าวดีในตลาด

ในภาวะปัจจุบัน หากวิกฤตโควิด-19 ยังลากยาวและอึมครึมเช่นนี้ การคลังเชิงรุกในเชิงปริมาณอย่างเดียวคงไม่เพียงพอและอาจสูญเปล่า รัฐบาลจำเป็นต้องลดความไม่แน่นอนเชิงทิศทางด้วย

แม้แต่รัฐบาลประเทศร่ำรวยก็ไม่สามารถทำหลายอย่างพร้อมกันได้ จึงมีการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะใช้บาซูก้าการคลังไปโฟกัสในเรื่องใด เพื่อที่สังคมจะได้ปรับตัวไปในทางเดียวกัน

เช่น รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่าจะเน้นการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวทาง Green New Deal อย่างจริงจัง จะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอน ให้หน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานฟอสซิล และสร้างกลไกสนับสนุนให้มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น

ประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรจำกัดอย่างไทยยิ่งต้องชัดเจนว่าจะมุ่งไปในเส้นทางไหนกันแน่ ธุรกิจไหน อุตสาหกรรมใดที่จะเป็นตัวชูโรงของไทยในช่วงต่อไป เพราะยุทธศาสตร์ของประเทศไม่ได้หมายถึงการนำหลักการดีๆ มารวมกัน แต่หมายถึง การมีสัญญาประชาคมที่จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย (priority) มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเป็นธรรม (socialisation of risk) โดยสาธารณะรับรู้ร่วมกันว่ามีต้นทุนอะไรบ้างที่ต้องแลกกับการเลือกเส้นทางดังกล่าว (trade-off)

 

สอง – ใช้ประโยชน์ตัวคูณทวีให้เต็มกำลัง

 

ในทางปฏิบัติ นโยบายการคลังเชิงรุกของรัฐบาลจะมีประสิทธิภาพได้ ต้องคำนึงถึงบทบาทของ ตัวคูณทวี (multiplier) ในระบบเศรษฐกิจ

ริชาร์ด คาห์น (Richard F. Kahn) นักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยอีกคนแห่งเคมบริดจ์ เป็นผู้เสนอแนวคิดเรื่องตัวคูณทวีในปี 1931 โดยใช้อธิบายว่า การจ้างงานหนึ่งตำแหน่งสามารถนำไปสู่การจ้างงานได้อีกหลายตำแหน่งตามมา เพราะผู้ถูกจ้างจะนำรายได้ไปใช้จ่ายให้เกิดเงินหมุนเวียน สร้างงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าเงินก้อนแรกจะถูกดูดซับกลับไปเป็นเงินออมหรือภาษี

เคนส์นำแนวคิดตัวคูณทวีมาใช้อธิบายผลสืบเนื่องของเงินลงทุนที่จะนำไปสู่ธุรกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นวัฏจักร เกิด “ปฏิกิริยาลูกโซ่” ของการจับจ่ายใช้สอย เพราะการใช้จ่ายของคนหนึ่งจะกลายเป็นรายได้ของคนอีกคนหนึ่งเสมอ

สิ่งที่เคนส์แนะนำจึงไม่ใช่การตะบี้ตะบันอัดฉีดเงินลงไปเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหาช่องทางอัดฉีดเงินโดยหวังผลให้ตัวคูณทวีเพิ่มขึ้นด้วย จึงจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจจริงๆ งบประมาณที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องประเมินล่วงหน้าว่าจะสร้างตัวคูณทวีให้สูงที่สุดได้อย่างไร หากเงินไหลออกจากรัฐแล้วกลับไปเป็นเงินออมของกลุ่มธุรกิจไม่กี่กลุ่มทันที ก็เท่ากับว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตัวคูณทวีให้คุ้มค่า

เขากล่าวว่า “ประสบการณ์บอกเราว่า ในสภาพที่เป็นอยู่ การออมโดยสถาบันและการออมผ่านกองทุนจมนั้นมากเกินพอ และมาตรการในการกระจายรายได้กันใหม่ในแนวทางที่จะเพิ่มความโน้มเอียงในการบริโภคน่าจะเกิดผลดีต่อการเจริญเติบโตของทุน”[3]

บาซูก้าการคลังรอบนี้มีเม็ดเงินมหาศาล กระบวนการออกแบบต้องทำอย่างรอบคอบ หาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากตัวคูณทวีให้ได้มากที่สุด รวมทั้งมีกลไกประเมินผลระหว่างทางตามหลักวิชาที่จะช่วยปรับปรุงนโยบายได้โดยไม่ต้องรอจนหมดรอบงบประมาณ

 

สาม – สิ่งที่ดีกับปัจเจกอาจไม่ดีกับส่วนรวม

 

เราสามารถสรุปหลักการที่ทำให้แนวคิดของเคนส์โดดเด่นแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์สำนักอื่นได้ภายในประโยคเดียวว่า “สิ่งที่ดีกับปัจเจกอาจไม่ดีกับเศรษฐกิจทั้งระบบ”

นี่คือหัวใจข้อเสนอของเคนส์ที่ควรตระหนัก เพราะเป็นสิ่งที่ฟังดูขัดกับความเชื่อหลักของสังคมไทย ที่มักเห็นว่าอะไรที่ดีกับปัจเจกย่อมดีกับส่วนรวมไปโดยปริยาย ซึ่งอาจไม่จริงเสมอไป

ยกตัวอย่างเช่น การออมเงินนั้นดีกับปัจเจกแน่ แต่หากทุกคนเก็บออมเงินกันหมด (โดยเฉพาะนักลงทุน) เศรษฐกิจย่อมไม่มีทางกลับมาขยายตัวได้

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลายว่า ขอให้คนไทยผู้มีรายได้ไม่มากได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญคือต้องรู้จักอดออม เวลาเศรษฐกิจชะงักงันจะได้มีกันชนให้ตนเอาตัวรอดไปได้

เคนส์กล่าวไว้ว่า “อันที่จริงแล้ว การออมเป็นเพียงส่วนเหลือเท่านั้น”[4]  ซึ่งหมายความว่า การออมนั้นคือส่วนของรายได้ที่เหลือจากการบริโภค

การบอกว่าแต่ละคนต้องรู้จักออมเพื่อเป็นกันชนในยามวิกฤต จึงกลายเป็นการโยนต้นตอปัญหากลับไปที่ปัจเจก โดยละเลยความจริงที่ว่า ความล้มเหลวของเศรษฐกิจและนโยบายรัฐที่ผ่านมาอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้คนไทยจำนวนมากมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะมี “ส่วนเหลือ” เพื่อนำไปออมด้วยซ้ำ

เคนส์เตือนให้เราใช้ “หน่วยวิเคราะห์” ให้เหมาะสมกับผลกระทบของนโยบายที่จะเกิด การดำเนินนโยบายเพื่อส่วนรวมจำเป็นต้องใช้หน่วยการวิเคราะห์เป็น “ส่วนรวม” ไม่บิดเบือนสาเหตุและการแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องมหภาคให้กลายเป็นเรื่องของปัจเจก

 

สี่ – การุณยฆาตเสือนอนกิน

 

ข้อเสนอสำคัญที่มักถูกลืมอีกข้อหนึ่งของเคนส์คือเรื่อง “Euthanasia of the Rentier” หรือที่สฤณี อาชวานันทกุล แปลไว้ว่า “การการุณยฆาตเสือนอนกิน[5]

โดยเสือนอนกินในที่นี้หมายถึง กลุ่มนายทุนผู้ได้ประโยชน์จากความขาดแคลนของทุนในสังคม จนสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากค่าเช่าและดอกเบี้ยโดยไม่ต้องลงแรงคิดหรือทำสิ่งใด เคนส์เรียกนายทุนกลุ่มนี้ว่า “Functionless Investors”

ในทางการแพทย์ การุณยฆาต หมายถึง การงดเว้นการช่วยเหลือรักษา หรือทำให้บุคคลค่อยๆ สิ้นชีพอย่างสงบ

ในทางเศรษฐกิจ การการุณยฆาตเสือนอนกินทำได้หลายแนวทาง มาตรการที่เคนส์เสนอก็มีเช่น การเก็บภาษีมรดก การใช้กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (Usury laws) มาตรการควบคุมอัตราค่าเช่า เป็นต้น

เคนส์เห็นว่าหากทรัพย์สินของเสือนอนกินมีมากเกินไป ทุนก็จะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มที่ รัฐบาลจึงควรการุณยฆาตนายทุนกลุ่มนี้ เพื่อให้ทุนถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเศรษฐกิจมวลรวมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

เพื่อเป้าหมายสูงสุดที่เคนส์อยากเห็น นั่นคือเศรษฐกิจที่ทุกคนมีงานทำและมีการกระจายความมั่งคั่งที่เป็นธรรม

ดังที่เขาเขียนไว้ในบทสรุปของ The General Theory ว่า “ข้อบกพร่องอันเด่นชัดในสังคมเศรษฐกิจของเราทุกวันนี้มีอยู่สองอย่าง หนึ่ง คือความล้มเหลวในการจัดการให้ทุกคนมีงานทำ สอง คือการกระจายรายได้และความมั่งคั่งที่ถูกจัดการตามอำเภอใจและไม่เป็นธรรม”[6]

ในแง่นี้ “มาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท” หรือที่มักเรียกกันว่า “พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ” ที่กำลังจะผ่านรัฐสภาดูเหมือนจะไม่ได้ตอบเป้าหมายของเคนส์เท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นด้านการปรับโครงสร้างทุน กระจายความมั่งคั่ง หรือส่งเสริมการจ้างงาน

เช่นในด้านการปรับโครงสร้างทุนและกระจายความมั่งคั่ง ธนาคารพาณิชย์ยังคงกุมอำนาจการจัดสรรทุนในภาวะวิกฤต เพราะเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะมีสิทธิรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท  ก็ต่อเมื่อเป็นผู้ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินอยู่เดิมแล้ว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยวงเงินที่ให้กู้ยืมจะเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมได้ไม่เกิน 20%[7]

แต่ในความเป็นจริง งานศึกษาของปี 2561 พบว่า จากจำนวนผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3 ล้านรายในประเทศไทยนั้น มีกิจการที่ใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อยู่เพียง 5 แสนราย หรือ 17% ของ SMEs ทั้งหมดเท่านั้น นอกจากนี้ 84% ของมูลค่าสินเชื่อทั้งหมดก็ยังกระจุกอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการเพียง 10% หรือราว 50,000 ราย[8]

แนวทางดังกล่าวแตกต่างจากมาตรการของหลายประเทศ ที่ถือโอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นจัดสรรเงินทุน เน้นช่วยเหลือกิจการขนาดเล็ก หรือกำหนดกลุ่มธุรกิจและพื้นที่ที่ควรให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

ตัวอย่างเช่น เยอรมนีให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการจ่ายเงินโดยตรงกับ SMEs และยังเน้นการช่วยเหลือกิจการขนาดเล็ก (micro-enterprises) เป็นสำคัญ ออสเตรเลียจัดงบประมาณดูแลกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นการเฉพาะ (อาทิ การท่องเที่ยว เกษตร การศึกษา) ในขณะที่เกาหลีใต้เพิ่มสินเชื่อเป็นพิเศษให้กับกิจการในพื้นที่ที่ประสบปัญหาหนักอย่างเมือง Daegu[9]

นอกจากนี้ พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับของไทยก็ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรักษาระดับการจ้างงานอย่างจริงจัง หากเปรียบเทียบหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรมีแผน Job Retention Scheme จ่ายเงินช่วยเหลือให้บริษัทที่ไม่ได้เลิกจ้างพนักงานสูงสุดถึง 80% หรือเดือนละ 2,500 ปอนด์ต่อคน[10]

ชวนให้กังวลว่าประชาชนกลุ่มไหนและธุรกิจกลุ่มใดกำลังถูกการุณยฆาต ปล่อยให้สิ้นชีพอย่างสงบด้วยบาซูก้าการคลังรอบนี้

จะดีกว่าหรือไม่ หากการออกแบบนโยบายคำนึงถึงผลด้านการปรับโครงสร้างทุนของประเทศไปสู่ภาคการผลิตที่มีประสิทธิภาพ กระจายความมั่งคั่งไปสู่ผู้ประสบปัญหารายสาขาและพื้นที่โดยตรง และส่งเสริมการจ้างงานให้ผู้คนมีงานคุณภาพทำอย่างทั่วถึง

 

หนังสือ The General Theory of Employment, Interest and Money

 

ที่มา: https://biblio.co.nz/book/general-theory-employment-interest-money-keynes/d/956151368

[box]

บทส่งท้าย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในข่าวเกี่ยวกับ พ.ร.ก. เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท คือ แทบไม่มีรายละเอียดว่าสังคมจะสามารถตรวจสอบการใช้เงินมหาศาลก้อนนี้ได้อย่างไร

ครั้งหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ คอลิน คลาร์ก (Colin Clark) เล่าถึงการสนทนากับเคนส์ในเรื่องการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นว่าจะเป็นช่องทางในการคอร์รัปชัน แต่เคนส์กลับไม่ได้กังวลอะไรมาก บอกเพียงว่า “ไม่สร้างอันตรายใหญ่โตอะไร”[11]

นั่นเป็นเพราะเคนส์ไม่รู้จักคำว่า “ค่าหัวคิว”

งานวิจัยในอดีตพบว่า เวลาพูดถึงคอร์รัปชันในไทยนั้น เขาพูดถึงการหักค่าหัวคิวระดับ 20–30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการ

หากผู้เกี่ยวข้องใจดียอมลดราคาให้ สัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของเงิน 1 ล้านล้านบาท ก็ยังมีค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาท

ตัวเลขศูนย์มากพอที่จะกระตุ้นสัญชาตญาณสัตว์ที่กำลังบาดเจ็บจากวิกฤตโควิด-19 ให้ฟื้นคืนชีพในพริบตา

กลายเป็นความแน่นอนท่ามกลางความไม่แน่นอน ที่เคนส์ลืมใส่ในสมการเศรษฐกิจมหภาคของเขา

[/box]

 

อ้างอิง

 

  • [1] อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจเศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์
  • [2] “I expect to see the State… taking an ever greater responsibility for directly organising investment” (มาจาก John Maynard Keynes (1936) The General Theory of Employment, Interest and Money. London: Macmillan, หน้า 164)
  • [3] “Experience suggests that in existing conditions saving by institutions and through sinking funds is more than adequate, and that measures for the redistribution of incomes in a way likely to raise the propensity to consume may prove positively favourable to the growth of capital” (The General Theory หน้า 373)
  • [4] “Saving, in fact, is a mere residual” (The General Theory หน้า 64)
  • [5] เคนส์: ความรู้ฉบับพกพา, แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล. กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส, 2558
  • [6] “The outstanding faults of the economic society in which we live are its failure to provide for full employment and its arbitrary and inequitable distribution of wealth and incomes.” (The General Theory หน้า 372)
  • [7] https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/COVID19/Pages/FAQ_SMEs.aspx
  • [8] นฎา วะสี และคณะ (2561) “มุมมองสินเชื่อธุรกิจไทยจากข้อมูลรายสัญญา ตอนที่ 1” https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=5814
  • [9] ตัวอย่างมาตรการในต่างประเทศนำมาจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (23 มีนาคม 2563) “สถานการณ์ COVID-19 และมาตรการเยียวยาในต่างประเทศ” https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/COVID-19_23032020.pdf
  • [10] https://www.gov.uk/government/collections/coronavirus-job-retention-scheme
  • [11] Colin Clark (1977) ‘The “Golden” Age of the Great Economists: Keynes, Robbins et al. in 1930’, Encounter, 48(6) June, 80-90.

 

 

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save