fbpx
Economics Rules : เมื่อเศรษฐศาสตร์รุ่มรวยกว่าภาพจำของสังคม

Economics Rules : เมื่อเศรษฐศาสตร์รุ่มรวยกว่าภาพจำของสังคม

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

 

วิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตการเงินระลอกแล้วระลอกเล่าในระยะเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ล้วนแต่ทิ้งความเสียหายและรวดร้าวให้กับคนหลายล้านคนทั่วโลก คนนับล้านสูญเสียเงินทั้งหมดที่เพียรอดออมมาตลอดชีวิต หรือบ้านที่เคยคิดว่าจะได้พำนักในบั้นปลาย

ยิ่งเกิดวิกฤต นักเศรษฐศาสตร์ยิ่งถูกตั้งคำถามว่าวิชาของพวกเขามีประโยชน์อันใด และที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนภูมิใจกับการใช้สมการคณิตศาสตร์น่าเวียนหัว ภูมิใจกับการประกาศว่า เศรษฐศาสตร์เป็น “วิทยาศาสตร์” ที่สุดแล้วในบรรดาศาสตร์สายสังคมทั้งมวลนั้น แท้จริงแล้วเป็นภาพลวงตา เป็นอหังการ์ของหมอตี๋ลวงโลกที่สำคัญตนผิดว่าเป็นหมอจริง ใช่หรือไม่?

คงมีน้อยคนที่จะเผชิญหน้ากับคำถามข้อนี้ได้อย่างรอบด้านเท่ากับ ดานี ร็อดริก (Dani Rodrik) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อดังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้หาญกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมวงการอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

ร็อดริกกลั่นเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ ผสมกับประสบการณ์โชกโชนของเขาเองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกหาว่า “นอกคอก” บ่อยครั้ง มานำเสนอในหนังสืออ่านสนุกเรื่อง Economics Rules ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะพัฒนาให้โลกนี้ดีขึ้นได้ แต่เฉพาะในเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์ยอมทิ้งทฤษฎีที่ตนอ้างว่าเป็น “สากล” ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา หันมาให้ความสำคัญกับ “บริบท” ที่ถูกต้องแทน

ในหนังสือเล่มนี้ ร็อดริกยกตัวอย่างมากมายในเนื้อที่หกบท ไล่มาตั้งแต่ยุค อาดัม สมิธ (Adam Smith) บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ จนถึงงานของเขาเองว่าด้วยโลกาภิวัตน์ ร้อยรัดเรื่องราวเพื่ออธิบายอย่างแจ่มชัดว่า แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่เต็มไปด้วยสมการคณิตศาสตร์น่าเวียนหัว แบบจำลองซึ่งถูกค่อนขอดตลอดมาว่าไม่สะท้อนโลกแห่งความเป็นจริง ทว่าสิ่งนี้เองคือความแข็งแกร่งที่แท้ของวิชาเศรษฐศาสตร์ แบบจำลองคือเครื่องมือที่ทำให้เศรษฐศาสตร์มี “ความเป็นวิทยาศาสตร์”

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าแบบจำลองไหนๆ ก็ไร้ประโยชน์ ปัญหามักจะอยู่ที่ว่านักเศรษฐศาสตร์สำคัญผิด เชิดชูแบบจำลองใดแบบจำลองหนึ่งประหนึ่งว่าเราสามารถประยุกต์ใช้มันได้ทุกที่ทุกเวลา ร็อดริกชี้ว่าสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายย่อมต้องการแบบจำลองที่แตกต่างหลากหลายตามไปด้วย แบบจำลองแต่ละอันเล่าเรื่องราวที่อธิบายการทำงานของสังคมเศรษฐกิจของมนุษย์ได้เพียงหนึ่งเสี้ยว เมื่อเรามองเรื่องราวต่างๆ จากหลากหลายแบบจำลองพร้อมกัน มันย่อมดูแตกต่างและบางครั้งก็ให้บทเรียนที่ขัดแย้งกันเอง ไม่ต่างกับที่นิทานก่อนนอนนำเสนอบทเรียนทางศีลธรรมอย่างหลากหลาย อยู่ที่ว่าอ่านเรื่องอะไร

สำหรับใครก็ตามที่ข้องใจใน “คุณค่า” ของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ร็อดริกนำเสนอตัวอย่างมากมายหลายประเทศหลากสถานการณ์ ตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ การเก็บค่าธรรมเนียมรถติด การลดความเหลื่อมล้ำ การบรรเทาผลกระทบเชิงลบจากการเปิดเสรีการค้า คุณค่าของการใช้จ่ายงบประมาณแบบขาดดุล ฯลฯ เพื่อชี้ว่าการเลือกแบบจำลองที่ “ถูกต้อง” คือเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถให้บทเรียนทรงคุณค่าเกี่ยวกับ “ความจริงทางสังคม” ที่นำไปใช้ได้จริงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

นอกจากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์หลายอันจะเป็นประโยชน์แล้ว กล่องเครื่องมือของนักเศรษฐศาสตร์ก็รุ่มรวยกว่าแบบจำลองตลาดเสรีสุดขั้วที่คนทั่วไปคุ้นชิน และเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแบบจำลองแบบเดียวเท่านั้นที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้

สาเหตุหนึ่งเพราะนักเศรษฐศาสตร์ที่บูชาตลาดเสรีสุดขั้วหลายคนชอบอวดอ้างต่อสาธารณชนว่า แบบจำลองของพวกเขาดีที่สุดและอธิบายความจริงได้สมบูรณ์ที่สุด ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ผู้เห็นต่างหลายคนก็ไม่ออกมาถกเถียงเพราะ “ไม่อยากมีเรื่อง” หรือพูดจากับคนทั่วไปไม่เป็น

“ความเสียหายเกิดขึ้นเมื่อนักเศรษฐศาสตร์เริ่มมองว่า แบบจำลองเฉพาะคือแบบจำลองสากล จากนั้นเรื่องราวก็จะโลดแล่นมีชีวิตของตัวเองและหลุดออกจากบริบทที่ผลิตมันขึ้นมา กลายเป็นชุดคำอธิบายสารพัดนึก บดบังเรื่องราวทางเลือกที่อาจมีประโยชน์มากกว่า โชคดีที่เรามียาแก้อาการนี้ภายในเศรษฐศาสตร์เอง ยานั้นก็คือให้นักเศรษฐศาสตร์กลับเข้าห้องสัมมนา เตือนตัวเองว่าในคอลเล็กชั่นของพวกเขามีแบบจำลองอื่นๆ ด้วย

“…โลกมีนักเศรษฐศาสตร์สองแบบ … นักเศรษฐศาสตร์แบบ “เม่น” นิยมความคิดใหญ่ๆ อะไรสักอย่าง เช่น ตลาดทำงานได้ดีที่สุด รัฐบาลคอร์รัปชัน การแทรกแซงให้ผลตรงกันข้าม ซึ่งหยิบไปใช้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ในทางกลับกัน นักเศรษฐศาสตร์แบบ “หมาจิ้งจอก” ไม่มีวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่อะไร มีหลากหลายมุมมองเกี่ยวกับโลก บางมุมมองอาจขัดแย้งกันเอง เราคาดเดาได้เสมอว่าเม่นจะรับมือกับปัญหาอย่างไร – ทางออกอยู่ในตลาดที่เสรีกว่าเดิม ไม่เกี่ยงธรรมชาติหรือบริบทของปัญหาทางเศรษฐศาสตร์นั้นๆ ส่วนหมาจิ้งจอกจะตอบว่า “แล้วแต่กรณี” บางครั้งพวกเขาจะแนะนำให้ใช้ตลาดมากขึ้น บางครั้งใช้รัฐมากขึ้น

“ในวงวิวาทะสาธารณะ เศรษฐศาสตร์ต้องการเม่นน้อยลงและหมาจิ้กจอกมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ที่สามารถกระโดดไปมาระหว่างกรอบคำอธิบายต่างๆ ตามแต่สถานการณ์เรียกร้อง น่าจะนำทางเราไปถูกทิศกว่า”

Economics Rules ย้ำชัดเจนว่า เศรษฐศาสตร์เป็น “ศาสตร์” อย่างแน่นอน เพราะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องใช้ “ศิลป์” ในการเลือกเฟ้นแบบจำลองที่เหมาะสมกับบริบท วิชาเศรษฐศาสตร์จึงจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้จริง มิใช่ลำพองใจว่าแบบจำลองของตนเป็นสากลจริงแท้แน่นอน – ร็อดริกบอกว่าไม่มีหรอกแบบจำลองอย่างนั้น นักเศรษฐศาสตร์ควรเลิกฝันว่าวันหนึ่งอาจค้นพบ “สัจธรรมหนึ่งเดียว” อย่างวิชาฟิสิกส์

ชัดเจนว่าร็อดริกตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ให้คนทั่วไปและเพื่อนร่วมวิชาชีพอ่าน บทที่ผู้เขียนชอบที่สุดคือบทที่ร็อดริกเล่าเรื่องจากประสบการณ์ตรงของเขาเอง ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญในการชี้ให้เห็นอันตรายและจุดบอดของการเปิดการค้าเสรี โดยเฉพาะนโยบายเปิดเสรีแบบ “สำเร็จรูป” ที่ไม่คำนึงถึงบริบทเฉพาะของท้องถิ่น และเชื่อผิดๆ ว่านโยบายชุดเดียวกันย่อมสามารถทำให้ทุกประเทศเติบโตได้เหมือนกัน

“…วิธียัดทุกอย่าง ร่ายเรียงรายการแล้วบอกว่านี่คือ “นโยบายพัฒนา” นั้น ทำให้รัฐบาลต่างๆ เผชิญกับวาระการพัฒนาที่ทะเยอทะยานชนิดเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะสามารถนำไปปฏิบัติจริง

“…ผมกับเพื่อนร่วมงานเสนอให้รัฐคิดอย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น มองการปฏิรูปในกรอบแคบกว่าเดิม การปฏิรูปทั้งหมดควรพุ่งเป้าไปยังอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ว่ารัฐจะใช้ทุนทางการเมืองมหาศาลอย่างสิ้นเปลืองโดยที่ได้เศรษฐกิจเติบโตต่ำเป็นการตอบแทน แต่มีการปฏิรูปอะไรบ้างเล่าในรายการยาวเหยียดข้างต้นที่รัฐควรทำ?

“…เราพัฒนา ‘ต้นไม้การตัดสินใจ’ ที่จะช่วยล่องสายธารระหว่างแบบจำลองต่างๆ … เราจะเริ่มที่ชั้นบนสุดของต้นไม้ ถามว่าข้อจำกัดการลงทุนนั้นอยู่ที่ฝั่งอุปทาน หรือว่าฝั่งอุปสงค์ พูดอีกอย่างคือ การลงทุนตกต่ำเพราะมีเงินลงทุนไม่พอ หรือว่าเพราะโครงการต่างๆ ให้ผลตอบแทนต่ำ? ถ้าหากข้อจำกัดอยู่ที่ฝั่งอุปทาน เราก็จะถามต่อว่ามันเกิดจากการขาดเงินออม หรือว่าระบบการเงินทำงานได้ไม่ดีพอ?

“ถ้าหากข้อจำกัดอยู่ที่ฝั่งอุปสงค์ เราก็จะถามต่อว่าผลตอบแทนการลงทุนนั้นต่ำเพราะความล้มเหลวของตลาด หรือเพราะความล้มเหลวของรัฐ ถ้าหากตัวการดูจะเป็นความล้มเหลวของรัฐ ก็ถามต่อว่ามันเกิดจากการเก็บภาษีสูงเกินไป คอร์รัปชัน หรือความไร้เสถียรภาพเชิงนโยบาย? ฯลฯ

“…ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์ได้รับเงินโอนเหลือเฟือจากต่างแดนและสามารถเข้าถึงตลาดทุนระหว่างประเทศ เพราะประเทศมีอันดับความน่าเชื่อถือดีมาก ฉะนั้นปัญหาต้องไม่ได้อยู่ที่ฝั่งอุปทาน[เงินลงทุน] การลงทุนที่ต่ำเตี้ยดูจะเป็นผลจากความยากลำบากของบริษัทต่างๆ ในการริเริ่มธุรกิจในภาคส่วนที่เป็นสมัยใหม่และมีผลิตภาพสูง

“ความยากลำบากนี้บางส่วนเกิดจากความล้มเหลวที่แพร่หลายของการ(ไม่)ประสานงานกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตสัปปะรดกระป๋องทำกำไรสูงๆ ไม่ได้ ถ้าหากไม่มีเที่ยวบินบรรทุกสินค้าถี่ๆ ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา แต่เส้นทางบินนี้ก็ไม่มีทางทำกำไรได้ ถ้าหากไม่มีบริษัทผู้ส่งออกจำนวนมาก รวมถึงโรงงานบรรจุสัปปะรดกระป๋องด้วย

“ปัญหาอื่นๆ มีอาทิ ข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับต้นทุนและตลาดในธุรกิจใหม่ ในเมื่อไม่มีบริษัทผู้บุกเบิกใดๆ ให้คนอยากเข้าตลาดสามารถใช้ประสบการณ์ของผู้บุกเบิกเป็นบทเรียน ข้อเสนอเชิงนโยบายของเราพุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาเหล่านั้นตรงๆ”

Economics Rules เป็นหนังสืออ่านสนุกเปี่ยมสาระที่ยืนยันว่าร็อดริก “รัก” วิชาเศรษฐศาสตร์และแวดวงวิชาการของเขามากเพียงใด รักถึงขนาดที่ยกตัวอย่างสนุกๆ มากมายมายืนยันว่ากล่องเครื่องมือของมันมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้รักอย่างตาบอดถึงขั้นจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับความเสียหายในโลกจริงที่เกิดจากมิจฉาทิฐิของนักเศรษฐศาสตร์เสียงดังที่สำคัญตนผิด

ความรักทางปัญญาที่ว่านี้สื่อสารอย่างแจ่มชัดใน Economics Rules หนังสือดีที่ทุกคนควรอ่าน และนักเศรษฐศาสตร์ยิ่งต้องอ่าน

“เราสร้างสะพานปิดการแบ่งขั้วแบ่งค่ายเหล่านี้ได้ด้วยการมองว่า เศรษฐศาสตร์คือคอลเล็กชั่นแบบจำลอง และมีระบบการท่องสายธารแบบจำลอง นักเศรษฐศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จและได้รับคำชื่นชมสูงสุดในวิชาชีพล้วนเดินบนวิถีนี้ ฌอง ทิโรล (Jean Tirole) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ในปี 2014 สำหรับงานศึกษาเรื่องกฎเกณฑ์กำกับดูแล เป็นตัวอย่างที่ดี หลังจากที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศผล ทิโรลก็เผชิญกับคลื่นนักข่าว อยากให้เขาสรุปสั้นๆ ถึงงานวิจัยที่ทำให้เขาได้รางวัล แต่คนที่มาสัมภาษณ์กลับต้องอึดอัด ทิโรลประท้วงว่า “ไม่มีประโยคสั้นๆ ที่สรุปผลงานผมได้ง่ายๆ ครับ … มันแล้วแต่ว่าพูดถึงอุตสาหกรรมไหน วิธีที่คุณกำกับดูแลบัตรจ่ายเงินไม่เกี่ยวอะไรเลยกับวิธีที่คุณกำกับดูแลทรัพย์สินทางปัญญาหรือทางรถไฟ มีปัจจัยแปลกๆ เยอะแยะมากมาย นี่แหละมันถึงได้น่าสนใจมาก รุ่มรวยมาก … มันไม่ใช่เรื่องที่สรุปได้ในประโยคเดียว”

“นักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดมั่นในหลักวิชาชีพจำเป็นจะต้องถ่อมตนเหมือนทิโรล วิชานี้สอนพวกเขาว่า มีน้อยเรื่องมากๆ ที่จะแสดงมุมมองแบบคงที่ตายตัวได้ ปฏิกิริยาของพวกเขาต่อคำถามส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูป “แล้วแต่ว่า…” “ไม่รู้ครับ/ค่ะ” “ขอเวลาหลายปี (และทุนวิจัย)ให้ไปศึกษาปัญหานี้ก่อน” “เรื่องนี้มีสามมุมมอง…” หรือบางที “สมมติว่าเรามีสินค้า n ชนิด และผู้บริโภค k คน…” ในบทบาทนี้พวกเขาย่อมอ่อนไหวต่อเสียงวิพากษ์ที่ว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์หอคอยงาช้าง อุทิศให้กับแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรมและสถิติแฟนซี ไม่มีส่วนร่วมใดๆ ต่อการสร้างความเข้าใจร่วมทางสังคมและหาทางแก้ปัญหาสาธารณะ แต่ในฐานะวิทยาศาสตร์ของการแลกได้แลกเสีย เศรษฐศาสตร์สร้างความเข้าใจให้เราได้อย่างช่ำชอง ส่องให้มองเห็นเหรียญทั้งสองด้าน ทั้งด้านต้นทุนและประโยชน์ ด้านที่รู้และด้านที่ไม่รู้ ด้านที่เป็นไปไม่ได้และด้านที่เป็นไปได้ ด้านที่เป็นไปได้และด้านที่น่าจะเป็น ความจริงทางสังคมมีความเป็นไปได้ที่หลากหลายเพียงใด แบบจำลองเศรษฐศาสตร์ก็ชี้ฉากทัศน์ที่หลากหลายเพียงนั้น 

“ความเห็นต่างในบรรดานักเศรษฐศาสตร์คือธรรมชาติในสถานการณ์เช่นนี้ และความถ่อมตนก็คือทัศนคติที่ถูกต้องสำหรับทุกคน ให้คนทั่วไปมองเห็นความเห็นต่างและความไม่แน่นอนของเศรษฐศาสตร์ ดีกว่าหลอกให้พวกเขามั่นใจอย่างผิดๆ ในคำตอบที่เศรษฐศาสตร์มอบให้”

 

หมายเหตุ: รอพบกับ Economics Rules ฉบับแปลไทย สำนวนแปล สฤณี อาชวานันทกุล ได้ไม่นานเกินรอ จากสำนักพิมพ์ openworlds

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save