fbpx
เมื่อไวรัสเปลี่ยนโลก(ดิจิทัล)-หาโอกาสในวิกฤต

เมื่อไวรัสเปลี่ยนโลก(ดิจิทัล)-หาโอกาสในวิกฤต

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ไวรัสนี้จะเปลี่ยนโลก

หลายการเปลี่ยนแปลงอาจเปลี่ยนแค่ชั่วคราว แต่อาจมีบางส่วนที่เปลี่ยนถาวร

งานวิเคราะห์ส่วนใหญ่รวมทั้งของตัวผมเองที่ผ่านมาโฟกัสเรื่องผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและหนทางเยียวยา-ป้องกัน

แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส วันนี้เลยอยากชวนตั้งคำถามใหม่ว่ามีโอกาสทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่สำคัญจากภัยพิบัติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บ้าง

โดยผมมองว่ามี 2 อุตสาหกรรมที่โดดเด่นเป็นพิเศษ คือ “For Health” และ “From Home” หรือ ด้านสาธารณสุขและสิ่งที่ผมเรียกว่า “เศรษฐกิจคนติดบ้าน”

ด้านสาธารณสุข (Health)

 

ในยามเกิดโรคระบาดเรามักจะเห็นนวัตกรรมด้านสาธารณสุขถูกพัฒนาขึ้นและนำมาใช้ ที่อยากจะพูดถึงวันนี้ไม่ใช่นวัตกรรมด้านการแพทย์และการพัฒนาวัคซีน-ยารักษาโดยตรง (ซึ่งสำคัญมากๆ) แต่จะชี้ให้เห็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการตรวจและควบคุมการระบาดของโควิด-19 สามประเภทใหญ่ๆ

เก็บข้อมูล ติดตาม ควบคุม

ในเมือง Hangzhou ประเทศจีนมีการใช้ฟีเจอร์ Heath Code ทั้งบนแอปพลิเคชันวีแชทและอาลีเพย์ โดยหลังจากประชาชนลงทะเบียนแล้วโทรศัพท์จะคอยติดตามว่าเราไปที่ไหนบ้าง หากเราปลอดภัยดี ไม่ได้ไปพื้นที่เสี่ยง ตัว QR Code ของเราจะเป็นสีเขียว

หากไปพื้นที่เสี่ยงปานกลาง Code จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและโดนกักตัว 7 วัน หากเป็นพื้นที่เสี่ยงมาก (Code สีแดง) จะโดนกักตัว 14 วัน เวลาจะไปไหนมาไหนส่วนใหญ่ก็จะมีการตรวจอุณหภูมิพร้อมสีของ Health Code ถ้าไม่เขียวก็ห้ามเข้า

นอกจากนี้ในกรุงปักกิ่งมีการให้บริษัท AI บิ๊กดาต้าที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ติดตั้งเครื่องมือวัดอุณหภูมิโดยอุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับอุณหภูมิร่างกายที่ผิดปกติ และแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ให้ทำการตรวจวัดไข้บุคคลนั้นซ้ำอีกครั้ง และยังมีระบบอัลกอริธึมที่สามารถตรวจจับคนที่ไม่สวมหน้ากากในที่สาธารณะด้วย

ให้ข้อมูลกับประชาชน

ในไต้หวัน รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ออเดรย์ ถัง จับมือกับสำนักงานประกันสุขภาพทำแพลตฟอร์มและแผนที่แบบอินเตอร์แอคทีฟเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบว่าอุปกรณ์ทางอนามัย เช่น หน้ากากอนามัย มีขายที่ไหนบ้าง และในแต่ละร้านขายยาเหลือสต็อกเท่าไร

มีการจัดทำแผนที่ของสถานที่ทุกแห่งในไต้หวัน ที่ผู้โดยสารของเรือสำราญ “ไดมอนด์ ปรินเซส” เคยเดินทางไปเพื่อให้คนคอยระวัง

คุณออเดรย์ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการมาช่วยควบคุมโรคและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในสิงคโปร์มีการทำกลุ่ม Whatsapp ให้ทุกคนได้รับข้อมูลจากรัฐบาลอย่างละเอียดทุกวัน ตั้งแต่ว่ามีการติดเชื้อใหม่กี่คน อยู่แถวไหน เกี่ยวข้องกับเคสอื่นๆ ที่ผ่านมาไหมอย่างไร มาจากต่างประเทศหรือในประเทศ อยู่ใน ICU กี่คน ออกจากรพ. แล้วกี่คน มีข่าวปลอมอะไรบ้างที่แพร่สะพัด รัฐบาลทำอะไรเพิ่ม (รวมทั้งมีแหล่งข้อมูลดีๆ ที่ไหน) ไปจนถึงข้อควรปฏิบัติใหม่ๆ สำหรับคนแต่ละกลุ่ม

การแพทย์ทางไกล

ในยามที่คนมีคำถามเรื่องการแพทย์มากมายแต่กลัวที่จะไปหาหมอ การแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine กลายเป็นทางออกที่สำคัญ เช่น Trusted Doctor แพลตฟอร์มด้านนี้ในประเทศจีนรายงานว่ามีการปรึกษาหมอออนไลน์ถึง 1.2 ล้านครั้งในช่วงวันที่ 23-29 มกราคม โตกว่าการใช้งานในช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้านี้ถึง 4 เท่า

รักแท้อย่าใกล้ชิด – เศรษฐกิจ “คนติดบ้าน”

 

นอกจากด้านสาธารณสุขแล้วไวรัสระบาดอาจมีผลกระทบกับเศรษฐกิจดิจิทัลทางอ้อม

เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส รัฐบาล บริษัท มหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ จึงมีมาตราการที่ทำให้เราต้องห่างกับผู้คน อยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มหันไปใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม มีทั้งด้าน เล่น เรียน ชิม ช้อป ใช้(งาน) จนเกิด “เศรษฐกิจคนติดบ้าน” (From-Home Economy)

เล่น

เมื่อเพื่อนไม่ได้เจอ ออกไปเที่ยวก็ไม่ได้ คนก็มีสังคมกันทางออนไลน์แทน เช่น ในประเทศจีนพบว่าเยาวชนเล่นเกมออนไลน์มากขึ้น จนมีรายงานข่าวว่าเกม ROV เวอร์ชันจีนมียอดคนเล่นพุ่งเกินกว่า 100 ล้านคนต่อวัน จากปกติอยู่ที่ 60 ล้านคนต่อวัน

การทำไลฟ์สตรีมผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็บูมหนัก มีทั้งคอนเสิร์ต มีไกด์พาเดินเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ เห็นว่ามีแม้แต่การให้คนไปกินร้าน Hot Pot ยอดฮิตแล้วไลฟ์สตรีมมาให้คนทางบ้านดู (แต่ยิ่งดูอาจยิ่งหิว)

และเริ่มมีธุรกิจออนไลน์แหวกแนวเพิ่มมาให้เห็น เช่น เมื่อคนดูหนังอยากกินป๊อปคอร์น โรงหนังต่างๆ ที่ตอนนี้ร้างคน ก็เริ่มขายป๊อบคอร์นออนไลน์แบบมีบริการส่งถึงบ้าน

2.เรียน

บทความจากองค์กรยูเนสโก (UNESCO) บอกว่า เพื่อให้การเรียนของนักเรียนไม่โดนกระทบจากโควิด-19 มากเกินไป รัฐบาลจีนได้เร่งผลักดันการศึกษาออนไลน์ผ่านหลายช่องทางและรูปแบบ (ทั้งทีวี แอปพลิเคชันการศึกษา ทั้งไลฟ์สตรีมผ่านโซเชียลมีเดีย)

โดยมีความร่วมมือระหว่าง แพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ มหาวิทยาลัย และภาคประชาชน เปิดหลักสูตรออนไลน์กว่า 24,000 หลักสูตรให้นักเรียนมหาวิทยาลัย ดึง 22 แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์มาใช้ และยังให้บริษัทโทรคมนาคมช่วยเพิ่มสัญญาณอินเทอร์เน็ตในที่ห่างไกล เพื่อให้เด็กเรียนได้พร้อมๆ กัน

ถือเป็นไอเดียที่น่าสนใจมากเพราะใช้โอกาสนี้ผลักดันการเรียนรู้ทางออนไลน์ที่น่าจะมีประโยชน์แม้ในยามปกติ

3.ชิม

เมื่อไปกินร้านอาหารไม่ได้คนก็สั่งอาหารมาส่งมากขึ้น ทำให้ความต้องการธุรกิจส่งอาหารพุ่งสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายด้านการส่งถึงมือคนที่บ้านในยามที่คนกลัวความใกล้ชิด จึงต้องมีวิธี contactless delivery หรือส่งของโดยไม่สัมผัส เช่น Mcdonald ในจีน จะใส่อาหารในถุงปิดสนิท ให้คนไปส่งตามจุดส่งของ (drop off point) ที่แต่ละตึก แล้วใช้ยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดตัวถุงอีกที คนส่งของก็ต้องถือใบรับรองว่าได้รับการตรวจไข้เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเชฟจากร้านอาหารดังๆ ทำไลฟ์สตรีมสอนวิธีทำอาหารจานเด็ดที่บ้านได้โดยไม่ต้องไปที่ร้านด้วย

ช้อป

ตอนที่โรค SARS ระบาด ทำให้การซื้อของออนไลน์ในจีนโตอย่างก้าวกระโดด แต่ในวันนี้ที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นและคุ้นเคยกับการช้อปผ่านอีคอมเมิร์ซอยู่แล้ว ผลกระทบจะยิ่งกว้างกว่าเดิม ทำให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ของอีคอมเมิร์ซได้รับการกระตุ้นไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การชำระเงินออนไลน์อาจได้รับความนิยมยิ่งกว่าเดิมเพราะคนกลัวทั้งการเจอหน้ากัน ทั้งการจับธนบัตรใช้แล้ว ในประเทศจีนถึงกับมีการต้อง “ซักฟอก” เงิน คือทำความสะอาดธนบัตรที่ใช้ในพื้นที่เสี่ยงและอาจมีเชื้อไวรัสจริงๆ (ไม่ใช่ “ฟอกเงิน”ในความหมายที่คุ้นกัน)

อีกบริการหนึ่งคือการทำไลฟ์สตรีมคุยกับลูกค้าโดยตรง ในยามที่หลายคนติดอยู่ที่บ้านและมองหาความบันเทิง การทำธุรกิจต่างๆ แม้แต่ SME ก็ยังหันมาใช้ไลฟ์สตรีม ไม่ใช่แค่เพื่อขายของทันที แต่เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาวซึ่งจะเป็นผลดีกับธุรกิจในช่วงหลังโรคระบาดด้วย เช่น ในประเทศจีนมีร้านหนังสือที่ทำกิจกรรมชั่วโมงอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง

ใช้ (ทำงาน)

และแน่นอนที่สำคัญมากคือการทำงานไม่ให้ธุรกิจขาดตอนในเวลาที่เราไม่สามารถเข้าออฟฟิศได้ แพลตฟอร์มที่ช่วยให้สื่อสาร ประชุม จัดอีเวนท์ และทำงานร่วมกันจากบ้านได้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก

ในประเทศจีนมีการใช้ DingTalk และ WeChat Work แอปพลิเคชันที่เป็นผู้นำตลาด เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าต่อไปความต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้ในประเทศอื่นๆ คงพุ่งขึ้นสูงเช่นกัน

ไม่แน่ว่าหลังจากนี้แม้ในยามปกติแล้ว หลายคนอาจพบว่าการประชุมระยะไกลอาจมีประสิทธิภาพกว่าการต้องมานั่งในห้องเดียวกันเป็นชั่วโมงๆ อีก

ไฟไหม้ฟาง หรือ ประกายแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

แน่นอน หลายเทรนด์ในนี้คงเป็นการปรับตัวชั่วคราวในยามไวรัสระบาด เสมือนไฟไหม้ฟางที่มอดไป แต่บางครั้งพายุที่รุนแรงเช่นนี้ก็จุดประกายให้พฤติกรรม ความคุ้นเคย และทัศนคติเดิมๆ ค่อยๆขยับสู่การเปลี่ยนแปลงแบบถาวรได้เหมือนกัน

ในปี ค.ศ. 2002 ก่อนโรค SARS จะแพร่กระจาย ในจีนมีบริษัทออนไลน์เจ้าหนึ่งทำธุรกิจหลักคือจับคู่ผู้ผลิตอุตสาหกรรมจากต่างประเทศและซัพพลายเออร์ในจีนผ่านเว็บไซท์ของตน หรือเรียกกันว่าเป็นธุรกิจแบบ B2B (Business to Business)

บริษัทนี้โดนคลื่นซัดหลายระลอกเมื่อ SARS ระบาด เช่น งานกวางเจาเทรดแฟร์ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเพื่อการส่งออกและนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนซบเซายอดขายตก 80% เทียบกับปีก่อน เนื่องจากกวางเจาถูกประกาศเป็นแหล่งโรคระบาด ทำให้ทั้งบริษัทจีนและต่างประเทศไม่กล้าไปงาน

ซ้ำร้าย พนักงานของบริษัทออนไลน์นี้ที่ไปงานกลับยังติดโรค SARS กลับมาเสียอีก ก่อให้เกิดการตื่นตระหนกกันอย่างเต็มที่ว่าเชื้อจะถูกแพร่ในบริษัทและในเมืองนั้นหรือไม่ สุดท้ายแต่ละทีมต้องถูกกักตัวอยู่บ้านไม่สามารถมาทำงานในออฟฟิศได้ในยามที่มีปัญหาสารพัดต้องแก้ บริษัทจึงต้องหาทางทำงานจากที่บ้านผ่านช่องทางโทรศัพท์และออนไลน์ บางทีมต้องมานอนบ้านเดียวกันเหมือนเข้าค่าย

แต่แล้ว SARS กลับมีผลที่คาดไม่ถึง เนื่องจากบริษัทต่างชาติไม่สามารถบินมาเจอซัพพลายเออร์ในจีนได้จึงต้องใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ร้านค้า SME ทั้งหลายที่ปกติไม่นิยมดิจิทัลก็หันมาลองใช้เทคโนโลยีออนไลน์ เช่น อีคอมเมิร์ซ เพื่ออยู่รอด และเป็นผลมาจากการประกาศสนับสนุนของรัฐบาล

ผู้บริโภคจีนที่ติดอยู่ที่บ้านหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้นทั้งการซื้อของ ทั้งทางบันเทิง จนเริ่มคุ้นเคย ไม่ใช่ของแปลกตาอีกต่อไป ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทนี้โตแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญกว่านั้นคือ บริษัทได้ใช้โอกาสนั้นเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ที่เชื่อมผู้บริโภคจีนโดยตรงกับร้านค้ารายย่อย SME ต่างๆ หรือแบบ Consumer-to-Consumer (C2C)

ชื่อของแพลตฟอร์มนั้นคือ “เถาเบ่า” และชื่อของบริษัทนั้นคือ “อาลีบาบา”

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องราวของอาลีบาบา แต่เป็นเรื่องราวของหนึ่งในหลายกลุ่มคนที่ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส

พอส่องทั้งนวัตกรรมทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจคนติดบ้านจากต่างประเทศแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่าอยากให้ประเทศไทยได้นำไอเดียเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในประเทศเรา เพื่อช่วยให้เราฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และอาจทำให้เราแกร่งยิ่งกว่าเก่าเมื่อภัยผ่านพ้นไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save