fbpx
ธุรกิจประกันเอาเปรียบผู้บริโภคจริงหรือ?

ธุรกิจประกันเอาเปรียบผู้บริโภคจริงหรือ?

อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ เรื่อง

ผมได้อ่านบทความของคุณบรรยง พงษ์พานิช เรื่อง “ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นการพนันไหม? …เจ้ามือ (บริษัทประกัน) เอาเปรียบมากไหม?” ตีพิมพ์ในสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า แล้วรู้สึกชอบมาก เพราะคุณบรรยงอธิบายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยได้อย่างน่าสนใจ เปรียบเทียบการซื้อประกันกับการพนันให้คนอ่านทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เหมาะที่จะเป็น “เศรษฐศาสตร์ประกันภัย 101” ก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าควรจะมาเล่าให้ผู้อ่านฟังเพิ่มเติมในประเด็นที่คุณบรรยงได้เกริ่นไว้ว่าทำไมเบี้ยประกันจำเป็นต้องแพง จนทำให้ผู้บริโภคหลายคนเกิดความไม่พอใจเอาได้ง่ายๆ และอาจคิดไปว่าบริษัทประกันภัยจงใจที่จะขูดรีดผู้บริโภค น่าคิดต่อว่าเรามีวิธีที่จะลดราคาเบี้ยประกันได้หรือไม่ การส่งเสริมการแข่งขันระหว่างธุรกิจประกันในไทย โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ เป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร?

 

ธุรกิจประกันภัย ทำไมถึง “ดูเหมือน” เอาเปรียบ?

บทความของคุณบรรยงได้ยกตัวอย่างถึงความไม่ยุติธรรมของบริษัทประกันภัยของไทยไว้ว่า

“ถ้าซื้อประกันไฟไหม้บ้านในเมืองไทย ถ้ามองในแง่สถิติ ก็เท่ากับว่าวางเงินไปร้อยบาท ก็เหลือมูลค่าคาดหวัง (expected value) แค่ 27-32 บาทเท่านั้น มันเป็นการพนันที่เจ้ามือเอาเปรียบ (house edge) สูงถึง 68-72% ทีเดียว นับว่าเป็นอัตราเสียเปรียบมากที่สุดในบรรดาการพนันทั้งหลายแหล่

เมื่ออ่านดูแล้ว รู้สึกค่อนข้างน่าเป็นห่วง

นอกจากนั้น คุณบรรยงได้เปรียบเทียบตัวเลขสถิติเดียวกันกับต่างประเทศ พบว่าตัวเลขในบ้านเราจะดูแย่กว่ากันมาก เนื่องจาก

“อัตราสินไหมจ่าย (loss ratio) เฉลี่ยของประกัน[อัคคีภัย]ของ[ต่างประเทศ] อยู่ที่ 62% ถ้าเป็นประกันรถเขาจะมีเคลมอยู่ที่ 72-75% ของเบี้ยประกันเลยทีเดียว … [ทั้งนี้] เพราะเขามีการแข่งขันที่เข้มข้นเลยต้องมีการตลาด การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ และตลาดเขาใหญ่ อัตราค่าเบี้ยประกันไฟประกันรถต่อทุนประกันของเขาเฉลี่ยตกแค่หนึ่งในสี่ของเราเท่านั้นเอง”

ทำไมเบี้ยประกันถึงมีราคาแพง?

หลายคนอาจรู้สึกว่าเบี้ยประกันมีราคาแพง จ่ายไปแล้วไม่คุ้มค่า แต่เบี้ยประกันจำเป็นต้องมีราคาแพง เพราะการซื้อกรมธรรม์มีต้นทุนแฝงอีกมากที่ผู้เอาประกันยังมองไม่เห็น ต้นทุนเหล่านั้นสะท้อนอยู่ในราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย จนทำให้เกิดความไม่พอใจ คิดว่าถูกเอาเปรียบจากบริษัทประกัน

ธุรกิจประกันภัยเผชิญปัญหาสำคัญที่แก้ไม่ตก นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ความไม่สมมาตรของข้อมูล” (asymmetric information) ปัญหานี้ส่งผลให้เบี้ยประกันต้องมีราคาสูง มิเช่นนั้นธุรกิจประกันเองก็จะอยู่ไม่รอด และตลาดการประกันภัยจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

เมื่อ 40 ปีก่อน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Michael Rothschild และ Joseph E. Stiglitz ได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านงานวิจัยชิ้นคลาสสิกแล้วว่าการตั้งราคาเบี้ยประกันให้ยุติธรรมแบบ “เจ้ามือไม่โกง” นั้น ทำไม่ได้ เนื่องจากความไม่สมมาตรของข้อมูลนั่นเอง[1]

ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่

(1) ปัญหา moral hazard อธิบายง่ายๆ คือ หลังจากผู้เอาประกันทำสัญญาประกันแล้ว มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เพราะเกิดความรู้สึกว่า “ฉันจะทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวประกันก็มาจ่าย” และ “ฉันต้องใช้ประกันให้คุ้ม เพราะจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันไปตั้งเยอะแล้ว”

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้บริษัทประกันต้องรับมือกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนบ่อยขึ้นโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น กรณีประกันสุขภาพ หลายกรณีผู้ป่วยขอให้หมอจ่ายยาแพง เพราะเชื่อว่ายาแพงมีคุณภาพดีกว่า หรือขอให้หมอตรวจโน่นตรวจนี่เพิ่มขึ้นทั้งที่ไม่จำเป็น ท้ายที่สุด ราคาเบี้ยประกันก็ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนส่วนเกินเหล่านี้

(2) ปัญหา adverse selection สมมติว่ามีผู้เอาประกันสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีความเสี่ยงสูง อีกกลุ่มหนึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และผู้เอาประกันทั้งสองกลุ่มต่างรู้ดีแก่ใจว่าตนอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงหรือกลุ่มความเสี่ยงต่ำ แต่บริษัทประกันไม่ทราบ เพราะไม่สามารถประเมินความแตกต่างจากการดูภายนอกอย่างผิวเผินได้ บริษัทประกันจึงไม่สามารถแยกแยะว่าผู้เอาประกันเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงหรือต่ำที่จะเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต

เมื่อบริษัทตั้งราคาเบี้ยประกัน จึงตั้งราคาให้ “กลางๆ” ไว้ก่อน ทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำต้องจ่ายราคาแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จนในที่สุดก็ตัดสินใจไม่ซื้อประกัน ตลาดประกันจึงมีแต่กลุ่มความเสี่ยงสูง ราคาเบี้ยประกันก็ต้องเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย ตัวอย่างในกรณีนี้ ได้แก่ ตลาดประกันชีวิตแบบบำนาญ (annuity market) เป็นต้น

 

ธุรกิจประกันภัย ลงทุนหนัก ค่าใช้จ่ายสูง

เพื่อแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลข้างต้น ธุรกิจประกันภัยจึงต้องมีการลงทุนในการพิจารณาผู้เอาประกัน (underwriting) เพื่อให้บริษัทประกันมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เอาประกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ผู้เอาประกันมีความเสี่ยงสูงหรือความเสี่ยงต่ำ โดยอาจดูจากอายุ (อายุยิ่งมาก ความเสี่ยงยิ่งมาก) หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต (คนสูบบุหรี่มีความเสี่ยงมากกว่า) ราคาเบี้ยประกันก็จะสะท้อนความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มลูกค้า

การลงทุนที่จำเป็นมากในปัจจุบัน ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (big data processing) เพื่อทำนายความเสี่ยงของผู้เอาประกันในอนาคต รวมถึงการลงทุนให้ผู้เอาประกันใช้เครื่องตรวจจับพฤติกรรมการขับรถยนต์ (car tracking device) เพื่อให้ทราบว่าผู้เอาประกันมีความเสี่ยงที่จะก่ออุบัติเหตุมากน้อยเพียงใด เป็นต้น ต้นทุนในการลงทุนเหล่านี้สะท้อนอยู่ในต้นทุนการบริหารจัดการ และส่งผลต่อราคาเบี้ยประกันในที่สุด

นอกจากนั้น ราคาเบี้ยประกันภัยยังมีการขึ้นลงเป็นวัฏจักร หรือที่เรียกว่า “วงจรรับประกันภัย” (underwriting cycle) กล่าวคือ ในช่วงปีหลังจากวิกฤตภัยพิบัติใหญ่ ซึ่งบริษัทประกันต้องจ่ายค่าสินไหมมากเป็นพิเศษ บริษัทก็จำเป็นต้องขึ้นราคาเบี้ยประกัน เพื่อนำมาทดแทนเงินทุนสำรองที่ร่อยหรอลงจากปีก่อนหน้า

จากประเด็นในบทความของคุณบรรยงที่อ้างถึงในตอนต้นนั้น อาจเป็นไปได้ว่าตัวเลขอัตราสินไหมจ่าย (loss ratio) ที่ยกมาอาจเป็นตัวเลขที่อยู่ในช่วงวงจรราคาขาขึ้น ภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานครและภาคกลางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากเป็นตัวเลขในปีอื่นหรือตัวเลขเฉลี่ยสิบปีอาจให้ภาพที่แตกต่างออกไป ในขณะที่วงจรรับประกันภัยของสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ในช่วงขาลงมานานมากเกือบ 20 ปีแล้ว จึงน่าไม่แปลกใจที่ธุรกิจประกันภัยในสหรัฐอเมริกาจะแข่งขันกันสูงในปัจจุบัน เพราะมีทุนสำรองในระดับสูงนั่นเอง

ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ราคาเบี้ยประกันยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ความต้องการป้องกันความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ที่บริษัทประกันจะต้องคุ้มครอง การทะยานขึ้นของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ ที่ทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลโดยทั่วไปแพงขึ้น การที่ผู้เอาประกันมีอายุยืนยาวขึ้นทำให้ต้องจ่ายเงินนานขึ้น การเกิดขึ้นของความเสี่ยงรูปแบบใหม่ในปัจจุบัน เช่น ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาภัยธรรมชาติ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น และกระทบต่อผู้เอาประกันและสินทรัพย์ภายใต้การคุ้มครองจำนวนมากขึ้น

ผู้เขียนคิดว่าต้นทุนการดำเนินธุรกิจประกันภัยอีกส่วนที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงคือ ความสามารถในการระดมทุนสำรองเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติร้ายแรง ส่วนนี้คือต้นทุนแฝงที่เกิดจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งภายในและภายนอกอุตสาหกรรม เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการล้มละลาย (solvency risk) ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงการประกันภัยต่อ (การประกันภัยระหว่างบริษัทประกันด้วยกันเอง) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประกันภัยต่อในต่างประเทศ การได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทแม่ในต่างประเทศกรณีที่ความเสี่ยงของบริษัทลูกในประเทศมีสูง ความสามารถในการออกตราสารหนี้และตราสารทุนให้กับนักลงทุนโดยทั่วไป เป็นต้น

เพราะหากบริษัทประกันภัยไทยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเหล่านี้ได้ หรือแม้เข้าถึงได้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงแล้ว ท้ายที่สุด บริษัทก็จำเป็นจะต้องตั้งราคาเบี้ยประกันแพงๆ เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาป้องกันความเสี่ยงจากการล้มละลายของบริษัทในกรณีที่เกิดภัยพิบัติไม่คาดคิด

 

การถือหุ้นโดยต่างชาติอาจไม่ใช่คำตอบเดียว

นโยบายสำคัญที่คุณบรรยงเสนอไว้ในบทความ คือ การให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น (จาก 49% เป็น 75%) การให้ต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาในไทยได้สะดวกขึ้น หรือการปรับปรุงธรรมาภิบาลองค์กร (corporate governance) ทั้งหมดนี้อาจช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบริษัทประกันในไทยและส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลดีต่อผู้เอาประกันในวงกว้างได้

ผู้เขียนเห็นด้วยในเรื่องการพัฒนาธรรมาภิบาล เพราะจากงานวิจัยหลายชิ้น รวมถึงงานวิจัยของผมเอง[2] ได้แสดงให้เห็นว่าธรรมภิบาลองค์กรถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการขององค์กรให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกมากที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม InsureTech การส่งเสริมการจัดตั้ง Captive Insurance ในไทย เพื่อให้ธุรกิจทั่วไปสามารถตั้งบริษัทประกันสำหรับความเสี่ยงของตัวเองได้ และเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำเข้ามาในระบบมากขึ้น

การส่งเสริมการกระจายความเสี่ยงออกไปยังนอกอุตสาหกรรมประกันภัยก็น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุน ตัวอย่างนโยบายที่สำคัญคือ การออกกฎหมายที่ให้ธุรกิจประกันสามารถออกพันธบัตรหายนภัย (Catastrophe Bond) หรือตราสารที่เชื่อมโยงกับการประกันภัย (Insurance-linked Security: ILS) ดังเช่นที่ทำกันในต่างประเทศ

อธิบายตัวอย่างหลักการง่ายๆ คือ นักลงทุนทั่วไปสามารถพนันได้ว่าพายุลูกใหญ่จะเกิดหรือไม่ หากเกิดขึ้นจริง นักลงทุนก็จะเสียเงินให้กับบริษัทประกัน หากไม่เกิด บริษัทประกันก็จะจ่าย “ดอกเบี้ย” ให้กับนักลงทุน เป็นต้น กองทุนของตราสารเหล่านี้ได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรทั่วไป[3] และความเสี่ยงทางด้านการประกันภัยไม่มีความสัมพันธ์กับตลาดทำให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงในพอร์ตของตัวเองได้ดีขึ้น

เครื่องมือเช่นนี้ทำให้ธุรกิจประกันสามารถกระจายความเสี่ยงให้แก่นักลงทุนทั่วไปได้ แม้ว่าในปัจจุบันตลาด Insurance-linked Security ยังไม่เจริญเติบโตเท่าตลาดประกันภัยต่อ (มูลค่าตลาดราว 1 ใน 4 ของตลาดประกันภัยต่อทั่วโลก)[4] แต่ก็มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งเงินทุนราคาถูกสำหรับธุรกิจประกันไทยในอนาคต

การเปิดเสรีที่เอื้อให้การเข้าถึงตลาดประกันภัยต่อในต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนถูกลง ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา ตามแนวทางนี้บริษัทประกันสามารถกระจายความเสี่ยงออกไปนอกอุตสาหกรรมได้ดีขึ้นเพราะมีแหล่งเงินทุนราคาถูกกว่าในประเทศ ต้นทุนที่ถูกลงก็จะกดดันให้เบี้ยประกันถูกลงได้ด้วย เพราะบริษัทจะแข่งขันเพื่อดึงดูดลูกค้า

สุดท้าย ผู้เขียนมองว่าหากมีการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันเพียงอย่างเดียวและเปิดทางให้ธุรกิจประกันภัยของไทยอยู่ในมือต่างชาติแล้ว เงินเบี้ยประกันก็จะหลั่งไหลออกไปนอกประเทศ ความเสี่ยงอื่นๆ ที่เดิมเคยกระจุกตัวอยู่แต่ในต่างประเทศก็อาจลุกลามมาถึงไทยโดยยากที่จะตั้งตัว เพราะหากบริษัทประกันในต่างประเทศมีปัญหา ผู้เอาประกันในไทยก็จะมีปัญหาตาม ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดกับบริษัท AIG เมื่อปี 2008[5]

หากถึงตอนนั้นแล้วอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยคงเผชิญภัยพิบัติที่ยากจะแก้ไขก็เป็นได้

 

อ้างอิง

[1] ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาได้จากงานวิจัยคลาสสิครางวัลโนเบลของ Rothschild, M., & Stiglitz, J. (1976). Equilibrium in competitive insurance markets: An essay on the economics of imperfect information. The quarterly journal of economics, 629-649.

[2] งานวิจัยฉบับร่าง หัวข้อ Effect of the Sarbanes-Oxley Act on Financial Reporting Quality: Evidence from U.S. Property and Liability Insurance Industry

[3] Mercury investible Catastrophe Risk Index (MiCRIX)

[4] Cummins, J. D. (2008). CAT Bonds and Other Risk‐Linked Securities: State of the Market and Recent Developments. Risk Management and Insurance Review11(1), 23-47.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018