fbpx
ปรับ-ค่า-ปรับ

ปรับ-ค่า-ปรับ

อิสร์กุล อุณหเกตุ เรื่อง

“ของอื่นนั้นขึ้นราคา แต่ค่าตัวน้องรับรองเหมือนเดิม”

เพลง จะขอก็รีบขอ โดย ศิรินทรา นิยากร

 

ทำไมไม่ปรับ?

‘นักโทษล้นคุก’ เป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมของไทย จากการรวบรวมสถิติของสถาบันเพื่อวิจัยนโยบายอาญา (Institute for Criminal Policy Research) ที่เบิร์คเบ็ค มหาวิทยาลัยลอนดอน (Birkbeck, University of London) พบว่า นักโทษของไทยมีจำนวนกว่าสามแสนคน ซึ่งมากเป็นลำดับที่ 5 ของโลก และจำนวนนักโทษดังกล่าวนั้นสูงเกินกว่าระดับที่เรือนจำจะรองรับได้ถึง 44%

อะไรคือสาเหตุของนักโทษล้นคุก?

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือกฎหมายของไทยนั้นเน้นการลงโทษทางอาญามากเกินไป (over-criminalization) และการตัดสินลงโทษนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้การจำคุกมากกว่าการลงโทษด้วยวิธีอื่นๆ รวมถึงการใช้โทษปรับ

คำถามที่ต้องถามต่อคือทำไมจึงไม่ใช่โทษปรับ?

คำตอบเป็นเพราะค่าปรับในกฎหมายไทยนั้นต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม

ทำไมต้องปรับ ‘ค่าปรับ’

ให้แพงขึ้น?

แม่บ้านพ่อบ้านจำนวนมากมักบ่นเรื่องข้าวของเครื่องใช้ขึ้นราคา แต่สิ่งหนึ่งที่มีราคาคงที่มาเป็นเวลานานไม่ต่างจากค่าตัวน้องคือค่าปรับในกฎหมายไทย

ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากค่าปรับเกือบทั้งหมดในกฎหมายไทยนั้นเป็นค่าปรับที่ระบุจำนวนเงินไว้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานบุกรุกมีโทษ “จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จำคุกหนึ่งปีนั้นอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ค่าปรับสองพันบาทนั้นเป็นปัญหา เพราะมูลค่าลดลงทุกปีเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทำให้ค่าปรับที่แท้จริงมีค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะกฎหมายที่มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลานาน จากภาพจะเห็นได้ว่า มูลค่าที่แท้จริงของค่าปรับจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จากสองพันบาทเมื่อปี 2499 เหลือเพียงสองร้อยบาทในปัจจุบัน

เมื่อไม่มีการปรับเพิ่มค่าปรับมาเป็นเวลานานจึงทำให้ไม่สามารถใช้โทษปรับเป็นเครื่องมือในการป้องปรามการกระทำผิดได้ เราอาจเคยได้ยินคำพูดทำนองว่า “ตบเลยๆ เดี๋ยวไปจ่ายพันนึงที่โรงพัก” นั่นเป็นเพราะเงินหนึ่งพันในปัจจุบันซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เพียงไม่กี่ชาม ต่างจากในช่วงเวลาที่ออกกฎหมายซึ่งเงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เป็นร้อยชาม

จากตารางจะเห็นได้ว่า เวลาผ่านไปกว่า 60 ปี รัฐไทยเพิ่งจะขยับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยแก้ไขโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 31 มาตรา[1] และเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมาก็แก้ไขโทษปรับเพิ่มอีกถึงกว่า 200 มาตรา[2] แต่ถ้าเวลาผ่านไปอีก เงินเฟ้อก็จะทำให้เราต้อง…

เดี๋ยวก่อน…

ทำไมเราต้องทำอะไรยุ่งยากแบบนี้ล่ะ?

ประเทศอื่นๆ แก้ปัญหานี้อย่างไร?

ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอปัญหาค่าปรับที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามเงินเฟ้อ ประเทศอื่นๆ แต่ละประเทศมีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างที่น่าสนใจมีสองตัวอย่าง

ตัวอย่างแรกคือสหราชอาณาจักร ที่แก้ไขปัญหาผ่านการริเริ่มใช้มาตราส่วนค่าปรับมาตรฐาน (standard scale) ในช่วงต้นคริสตทศวรรษ 1980

ตัวอย่างที่สองคือการกำหนดหน่วยการลงโทษ (penalty unit) ของออสเตรเลีย ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

แรกเริ่มนั้นสหราชอาณาจักรมีการแก้ไขค่าปรับสำหรับความผิดฐานต่างๆ เป็นรายมาตรา ในปี ค.ศ. 1977 เหมือนกับที่ไทยเพิ่งแก้ประมวลกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม ห้าปีต่อมา สหราชอาณาจักรก็เปลี่ยนใจ และ ‘ยกเครื่อง’ ระบบค่าปรับโดยออกพระราชบัญญัติความยุติธรรมทางอาญา ค.ศ. 1982 (Criminal Justice Act 1982) เพื่อกำหนดค่าปรับสำหรับแต่ละฐานความผิดตามระดับความรุนแรง 5 ระดับ แทนที่การกำหนดค่าปรับสูงสุดรายมาตรา ระบบค่าปรับแบบนี้ช่วยให้สามารถแก้ไขค่าปรับได้สะดวกขึ้นโดยการปรับเพิ่มจำนวนค่าปรับในแต่ละระดับ โดยไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าปรับในแต่ละฐานความผิดรายมาตรา ทั้งนี้ การปรับเพิ่มจำนวนค่าปรับภายใต้ระบบมาตราส่วนค่าปรับมาตรฐานของสหราชอาณาจักรนี้เกิดขึ้น 2 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1984 และ 1991

ออสเตรเลียใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปจากสหราชอาณาจักร โดยออกแบบระบบค่าปรับที่ใช้การกำหนดหน่วยการลงโทษ ระบบดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในรัฐวิกตอเรียผ่านการออกพระราชบัญญัติการลงโทษและการตัดสินลงโทษ ค.ศ. 1981 (Penalties and Sentences Act 1981) และถูกนำไปใช้ในรัฐอื่นๆ ในเวลาต่อมา

การกำหนดหน่วยลงโทษนี้เป็นการแทนที่การกำหนดค่าปรับสูงสุดสำหรับแต่ละฐานความผิดด้วยการระบุจำนวนหน่วยการลงโทษ ซึ่งแปรผันไปตามระดับความร้ายแรงของความผิด และกำหนดค่าปรับสำหรับความผิดต่อหน่วยการลงโทษ ตามสูตรการคำนวณได้ดังนี้

ค่าปรับ = จำนวนหน่วยการลงโทษ x ค่าปรับสำหรับความผิดต่อหน่วย

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังสร้างกลไกการปรับเพิ่มค่าปรับโดยอัตโนมัติ โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Treasurer) ประกาศค่าปรับต่อหน่วยการลงโทษภายในวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี กลไกการปรับเพิ่มค่าปรับโดยอัตโนมัตินี้ ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของค่าปรับยังคงเดิมเมื่อเวลาผ่านไป โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อแก้ไขค่าปรับต่อหน่วยการลงโทษ

ไทยควรออกแบบระบบค่าปรับอย่างไร?

รัฐไทยมาถูกทางแล้วเมื่อมีการพิจารณาปรับเพิ่มค่าปรับในกฎหมาย แต่เพิ่งมาได้เพียงก้าวเดียว เพราะกฎหมายอื่นๆ นอกเหนือจากประมวลกฎหมายอาญาก็มีโทษปรับเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในเมื่อเห็นปัญหาเรื่องเงินเฟ้อกับค่าปรับแล้ว ไทยควรออกแบบระบบเพื่อปรับค่าปรับ ให้เพิ่มขึ้นได้ตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้โดยอัตโนมัติ แทนที่จะพิจารณาปรับเพิ่มค่าปรับตามโอกาสอำนวย และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้แก้ไขอีกที

ความท้าทายอื่นๆ ที่อาจจะสำคัญกว่า คือ ความทันสมัยของกฎหมาย เงินเฟ้อเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ทำให้เห็นว่ากฎหมายล้าสมัยเมื่อเวลาผ่านไปได้อย่างไร ในขณะที่กฎหมายอื่นๆ นั้นอาจไม่มีตัวเทียบเคียง

คำถามสำคัญคือกฎหมายอะไรบ้างที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว เช่น การกำหนดโทษจำคุกสำหรับคดีเช็คเด้งยังจำเป็นหรือไม่ หรือการบังคับเกณฑ์ทหารยังคงเป็นประโยชน์แก่ประเทศโดยส่วนรวมจริงหรือ.

 

เชิงอรรถ

[1] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558

[2] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023