fbpx
เมื่อ ‘โทษหนัก’ อาจไม่ใช่ทางออก : มองอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ผ่านแว่นเศรษฐศาสตร์

เมื่อ ‘โทษหนัก’ อาจไม่ใช่ทางออก : มองอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ผ่านแว่นเศรษฐศาสตร์

แทบทุกครั้งที่เราเห็นข่าวอาชญากรรมสะเทือนขวัญ ก็มักได้ยินเสียงเรียกร้องให้ลงโทษผู้ก่อเหตุในระดับที่เขาหรือเธอผู้นั้นไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากในสังคม ตัวอย่างเช่นคดีข่มขืนซึ่งคนจำนวนไม่น้อยมองว่ามีโทษเบาเกินไป จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ “ข่มขืนเท่ากับประหาร” บนโลกออนไลน์

กระแสดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีในสภาฯ โดยมีการประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการกระทำชำเรา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 โดยเพิ่มโทษการก่อคดีข่มขืนสูงสุดเป็นการประหารชีวิต หากเหยื่อผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย

แต่เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมครับว่า เราคาดหวังอะไรจากการเพิ่ม ‘บทลงโทษ’ ต่ออาชญากรผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง?

บางคนอาจตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าอาชญากรเหล่านั้นทำผิดร้ายแรงและควรรับโทษให้สมน้ำสมเนื้อ บางคนมองว่าโทษที่เพิ่มขึ้นจะสร้างความเป็นธรรมแก่เหยื่อ บางคนก็อาจเสนอเพื่อความสะใจ แต่เสียงส่วนใหญ่จะเทไปทางเหตุผลที่ว่า เพื่อให้เกิดความ ‘เกรงกลัวต่อกฎหมาย’ ซึ่งจะช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุอาชญากรรมเช่นนี้อีกในอนาคต

‘การป้องปราม (Deterrence)’ คือเป้าหมายในอุดมคติของระบบกฎหมาย เพราะหากการป้องปรามได้ผล นอกจากสังคมจะมีความสงบร่มเย็นเพิ่มขึ้นแล้ว ภาครัฐยังไม่ต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการตามจับ พิจารณาคดี ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในเรือนจำ

ตามแบบจำลองเศรษฐศาสตร์คลาสสิค การเพิ่มโทษคือแนวทางหนึ่งที่จะทลายแรงจูงใจไม่ให้เกิดอาชญากรหน้าใหม่ในอนาคต อย่างไรก็ดีหลักฐานเชิงประจักษ์กลับสวนทางกับข้อค้นพบดังกล่าว โดยมีสาเหตุสำคัญคือ อาชญากรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น ‘เศรษฐมนุษย์’ ผู้ซึ่งตัดสินใจกระทำการบางอย่างโดยใช้เหตุผลเป็นตัวตั้ง แต่เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่การกระทำหลายต่อหลายครั้งเกิดจากความไม่ยับยั้งชั่งใจ

อ่านอาชญากรด้วยแบบจำลองเศรษฐศาสตร์

แกรี เบกเกอร์ (Gary Becker) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้วางรากฐานแบบจำลองเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการตัดสินใจก่ออาชญากรรมโดยมีผลงานชิ้นสำคัญเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของอาชญากรซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ราว 50 ปีก่อน โดยใช้สมมติฐานพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิคว่าด้วยมนุษย์เป็นผู้มีเหตุมีผล

แบบจำลองของเบกเกอร์มองการตัดสินใจก่ออาชญากรรมคล้ายกับการตัดสินใจเล่นพนัน โดยมนุษย์จะชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ ต้นทุน และความไม่แน่นอนก่อนเลือกว่าจะกระทำการหรือไม่ หากประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าต้นทุนที่ต้องจ่าย มนุษย์ผู้มีเหตุมีผลย่อมตัดสินใจก่ออาชญากรรม

ผลประโยชน์จากการก่ออาชญากรรมมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับประเภทของคดีที่ก่อ บ้างเป็นการกระทำเพื่อเงิน เช่นการปล้นชิงทรัพย์ บ้างเป็นการสนองความต้องการทางใจ เช่นความรู้สึกคึกคะนอง การยอมรับในหมู่เพื่อน หรือการแก้แค้นเอาคืน บ้างเป็นการสนองตัณหาของผู้กระทำ เช่นการข่มขืน ปัจเจกชนแต่ละบุคคลย่อมให้ค่าผลประโยชน์เหล่านี้แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นค่านิยมที่รัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่มย่ามได้

ส่วนต้นทุนของการก่ออาชญากรรมมีตั้งแต่ค่าวัสดุอุปกรณ์ เช่นอาวุธ หรือต้นทุนทางจิตใจอย่างความรู้สึกผิด ความกระวนกระวาย หรือความหวาดกลัว และยังรวมถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งหมายความว่า แทนที่จะเอาเวลาไปทำงานสุจริตก็ต้องใช้เวลานั้นวางแผน กระทำการ รวมถึงกลบเกลื่อนอาชญากรรมที่ตนเองก่อ

แต่ต้นทุนรัฐสามารถกำหนดได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม คือ ‘ต้นทุนที่คาดหากอาชญากรถูกลงโทษ’ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทได้เป็นต้นทุนทางตรง ได้แก่เม็ดเงินในกรณีที่ต้องเสียค่าปรับ หรือราคาของการสูญเสียอิสรภาพหากต้องติดอยู่หลังตาราง ส่วนต้นทุนทางอ้อมคือ ‘ตราบาป’ ในฐานะอดีตอาชญากรผู้พ้นโทษซึ่งอาจเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากครอบครัว เพื่อน และนายจ้าง อีกทั้งยังส่งผลต่อรายได้หลังจากพ้นโทษอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ต้นทุนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ต้องถูกถ่วงน้ำหนักด้วย ‘ความน่าจะเป็น’ ที่คนร้ายจะถูกจับ ดำเนินคดี และลงโทษ ดังนั้น หากโทษของการก่ออาชญากรรมคือจับคุก 10 ปี อาชญากรมืออาชีพที่มีโอกาสถูกจับเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ย่อมมีต้นทุนที่ต้องจ่ายต่ำกว่าอาชญากรมือสมัครเล่นที่มีโอกาสถูกจับ 50 เปอร์เซ็นต์

จากแบบจำลองดังกล่าว รัฐมี 3 ทางเลือกในการ ‘ป้องปราม’ ไม่ให้ประชาชนผันตัวไปเป็นอาชญากร ทางเลือกแรกก็คือการเพิ่มต้นทุนทางตรง โดยการเพิ่มโทษปรับและจำคุกให้รุนแรงยิ่งขึ้น ทางเลือกที่สองคือเพิ่มโอกาสในการถูกจับกุมและดำเนินคดีผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพหรืองบประมาณหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย และทางเลือกสุดท้ายคือการเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส โดยลดอัตราการว่างงาน เพิ่มสวัสดิการ และให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงาน เพื่อจูงใจให้คนทำอาชีพสุจริต

เบกเกอร์ให้บทสรุปว่า ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องปรามอาชญากรรม คือระบบยุติธรรมที่โอกาสในการถูกจับกุมต่ำ แต่บทลงโทษรุนแรง โดยให้เหตุผลว่าการที่จะเพิ่มความน่าจะเป็นในการถูกจับกุมและลงโทษนั้น สังคมต้องลงทุนเป็นเม็ดเงินมหาศาล ทั้งการใช้งานตำรวจ ทนายความ ผู้พิพากษา และอีกสารพัด ซึ่งต้นทุนส่วนเพิ่มนี้อาจถูกนำไปหักกลบลบกันกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากอาชญากรรมที่สามารถป้องปรามได้ ต่างจากการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งดำเนินการง่ายกว่าและต้นทุนต่ำกว่า โดยที่ผลลัพธ์ของ ‘ต้นทุนที่คาดหากอาชญากรถูกลงโทษ’ มีค่าเท่ากัน

คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักเห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอดังกล่าว แต่หลักฐานเชิงประจักษ์หลายต่อหลายชิ้นชี้ผลลัพธ์ในการป้องปรามจากการเพิ่มโทษไปคนละทิศละทาง โดยยังหาข้อสรุปไม่ได้ ต่างจากการเพิ่มกำลังตำรวจ หรือการเพิ่มโอกาสในตลาดแรงงานซึ่งช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรมได้อย่างชัดเจน

เข้าใจอาชญากรด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

การศึกษาชิ้นหนึ่งใช้วิธีทบทวนวรรณกรรมตลอด 20 ปี เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการก่ออาชญากรรมกับ 3 ปัจจัยในการป้องปราม ได้แก่อัตราโทษ การเพิ่มกำลังตำรวจ และโอกาสทางเศรษฐกิจในตลาดแรงงาน

สำหรับปัจจัยเรื่องอัตราโทษผลการศึกษาเชิงประจักษ์ยังไร้ข้อสรุป โดยมีการศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่าการเพิ่มโทษภายใต้บริบทที่จำเพาะเจาะจง เช่น กฎหมายลงโทษหนักหากกระทำผิดครั้งที่สาม (Three-strikes Law) ซึ่งมีการบังคับใช้ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่าผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อเนื่องเป็นครั้งที่สามจะต้องได้รับโทษขั้นต่ำคือจำคุกอย่างน้อย 25 ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต การศึกษาพบว่ากฎหมายดังกล่าวมีประสิทธิผลในการป้องปรามไม่ให้อาชญากรที่กระทำผิดสองครั้งตัดสินใจกระทำผิดครั้งที่สาม

หากพิจารณาในมุมมองของกรณีทั่วไป สหรัฐอเมริกาได้ทำการทดลองครั้งใหญ่โดยเพิ่มโทษทั้งการปรับและจำคุกตั้งแต่ราว 40 ปีก่อน แต่ผลลัพธ์ในกลับไม่เป็นไปตามที่แบบจำลองทำนาย เพราะรัฐบาลกลับมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนผู้ต้องขังที่ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในทางกลับกัน งานวิจัยหลายชิ้นต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเพิ่มจำนวนตำรวจและการกระจายหน่วยลาดตระเวนจะสามารถป้องปรามการก่ออาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้ มีการศึกษาเชิงทดลองโดยปรับกลยุทธ์การลาดตระเวนของตำรวจให้เน้นไปที่พื้นที่เสี่ยงซึ่งอาจเกิดอาชญากรรม รวมถึงเน้นการป้องปรามมากกว่าจับกุม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวนคดีละเมิดในพื้นที่ดังกล่าวลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับโอกาสในตลาดแรงงาน การศึกษาส่วนใหญ่ต่างค้นพบข้อสรุปเดียวกันว่าอัตราการว่างงานจะขยับไปในทิศทางเดียวกับอัตราการเกิดอาชญากรรม ส่วนค่าจ้างนั้นคือตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจก่ออาชญากรรม

สงสัยไหมครับว่าทำไมแบบจำลองของเบกเกอร์ถึงทำนายพฤติกรรมของอาชญากรได้ไม่แม่นยำ?

คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ มนุษย์ที่หายใจอยู่บนโลกแตกต่างจากมนุษย์ในแบบจำลองแบบฟ้ากับเหว นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังจึงพยายาม ‘ผ่อนคลาย’ สมมติฐานที่ว่ามนุษย์นั้นมีเหตุมีผลซึ่งจะชั่งตวงวัดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ แล้วเพิ่มมิติด้านพฤติกรรมมนุษย์เข้าไปในแบบจำลอง เกิดเป็นสำนักใหม่ที่เราคุ้นหูในระยะหลังคือ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ โดยมีปัจจัยสำคัญคืออัตราคิดลดในหัวของอาชญากร

‘อัตราคิดลด (Discount Rate)’ เป็นแนวคิดสำคัญในแวดวงเศรษฐศาสตร์และการเงินบนพื้นฐานที่ว่า เงินในแต่ละช่วงเวลานั้นมีมูลค่าแตกต่างกัน เช่น การได้เงิน 100 บาทในวันนี้จะมีค่ามากกว่าการได้เงิน 100 บาทในอีกสิบปีข้างหน้า จากปัจจัยเรื่องค่าเสียโอกาส เงินเฟ้อ หรือความเสี่ยง การตัดสินใจที่อาจส่งผลระยะยาวจึงต้องคิดลดมูลค่าทั้งต้นทุนและผลประโยชน์ในอนาคตให้กลายเป็นมูลค่าปัจจุบัน แล้วจึงนำมาหักกลบลบกันเพื่อประกอบการตัดสินใจ

แบบจำลองนีโอคลาสสิคมองอัตราคิดลดดังกล่าวเป็นค่าคงที่ แต่ในทางจิตวิทยา คุณลักษณะหนึ่งที่อาชญากรมีร่วมกันคือการขาดความยับยั้งชั่งใจ ผู้ที่มีโอกาสก่ออาชญากรรมสูงมักเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ซึ่งมักจะมองเห็นประโยชน์และต้นทุนที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่สนใจผลพวงที่จะตามมาในอนาคต นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมองว่าคนกลุ่มนี้จะมีการคิดลดแบบ ‘ไฮเปอร์บอลิค’ (Hyperbolic Discounting) ที่อัตราคิดลดจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเวลาผ่านไป

ดังนั้น การเพิ่มโทษจำคุกจาก 15 ปี เป็น 25 ปี อาจไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจแต่อย่างใด เพราะต้นทุนดังกล่าวถูก ‘คิดลด’ จนแทบไม่หลงเหลือถึงปัจจุบัน ต่างจากต้นทุนที่กองอยู่ตรงหน้า เช่น รายได้จากการทำงานสุจริตที่จะต้องสูญเสียไปหากผันตัวไปเป็นอาชญากร จึงไม่น่าแปลกใจที่ในภาวะเศรษฐกิจดี เราจะพบอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ต่ำลง

ส่วนผลลัพธ์ด้านการป้องปรามจากการเพิ่มกำลังตำรวจและการลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยง สามารถอธิบายได้โดย ‘อคติจากความเด่น (Salience Bias)’ เพราะมนุษย์ปุถุชนจะจดจำสิ่งที่โดดเด่นออกจากสิ่งแวดล้อมปกติ เช่น หากเราพบเห็นตำรวจตามสถานที่ต่างๆ ก็อาจตีความได้ว่า ความน่าจะเป็นที่จะถูกจับกุมหากก่ออาชญากรรมสูงขึ้น โดยอาจสูงกว่าสถิติจริงๆ ด้วยซ้ำ ทำให้เราตัดสินใจไม่ก่ออาชญากรรม เพราะต้นทุนที่คาดมีค่าสูงขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น การเพิ่มโทษให้หนักขึ้นแล้วหวังว่าจะช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดอาชญากรรมซ้ำสอง แม้จะดูเป็นเหตุเป็นผลในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัตินั้น มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งทรงภูมิปัญญาที่มีความสามารถในการประมวลผลแบบไร้ขีดจำกัด หลายครั้งที่การตัดสินใจเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ การเพิ่มโทษทัณฑ์ที่จะสร้างผลกระทบในอนาคตอันไกลแสนไกล อาจไม่ทำให้อาชญากรเลือดร้อนเปลี่ยนใจมาทำอาชีพสุจริต

ในทางกลับกัน ทางที่ดีที่สุดในการป้องปรามการก่ออาชญากรรม รัฐควรยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานและดูแลการจ้างงานโดยเฉพาะผู้ตกงานหรือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานของตำรวจบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้าย แน่นอนว่านโยบายเหล่านี้อาจไม่เร้าใจหรือเรียกคะแนนนิยมได้เท่ากับการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษให้รุนแรง แต่ทางเลือกที่ฟังดูแสนน่าเบื่อนี่แหละครับที่มีประสิทธิผลที่สุดในรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม    

ตัวอย่างการคำนวณการตัดสินใจของอาชญากร

สมมติว่านาย ป. ทำอาชีพรับจ้างอิสระที่เผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซา จนต้องมองหาลู่ทางผิดกฎหมายเพื่อประทังชีพ เขาคิดว่าจะทำการวิ่งราวนาฬิกาหรูซึ่งสามารถนำไปขายในตลาดมืดได้เรือนละ 400,000 บาท โดยมีโอกาสทำสำเร็จ 80 เปอร์เซ็นต์ เขาคาดว่ามีโอกาสถูกจับประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าถูกจับ เขาจะต้องถูกจับคุก 5 ปี ซึ่งจะทำให้เขาสูญเสียรายได้จากงานสุจริตไป 300,000 บาท (เดือนละ 5,000 บาท) นอกจากนี้ เขายังต้องสูญเสียโอกาสอยู่กับคนรักและลูกน้อยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 1,000,000 บาทหลังจากเขาพ้นโทษ การที่เขาเคยเป็นผู้กระทำผิดอาจทำให้รายได้ในอนาคตลดลงคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันราว 1,500,000 บาท

ในหัวของนาย ป. สามารถคำนวณมูลค่าสุทธิเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ดังนี้

ผลประโยชน์: 400,000 x 80% = 320,000 บาท

ต้นทุน: (300,000 + 1,000,000 + 1,500,000) x 10% = 280,000 บาท

ดังนั้นการก่ออาชญากรรมของนาย ป. จะได้ประโยชน์สุทธิเท่ากับ 320,000 – 280,000 = 40,000 บาท หากนาย ป. เป็นมนุษย์ผู้มีเหตุมีผลย่อมเตรียมพร้อมเดินหน้าวางแผนขโมยนาฬิกาหรู

จากสมการเราจะเห็นว่ารัฐสามารถป้องปรามไม่ให้นาย ป. ก่ออาชญากรรมโดยการเพิ่มต้นทุน ไม่ว่าจะการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำหรือสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย การเพิ่มโทษ หรือการเพิ่มอัตราการถูกจับกุม ซึ่งหากเพิ่มมากเพียงพอ ก็จะทำให้นาย ป. เปลี่ยนใจไปประกอบอาชีพสุจริตต่อไปนั่นเอง

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save