fbpx
จากโนเบลเศรษฐศาสตร์ สู่นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ (2) : RCTs กับความเสมอภาคทางการศึกษา

จากโนเบลเศรษฐศาสตร์ สู่นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ (2) : RCTs กับความเสมอภาคทางการศึกษา

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภาพ

 

ในโลกที่ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานับเป็นประเด็นสำคัญที่นักวิชาการทั่วโลกให้ความสนใจ เช่นเดียวกับสามนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุด ที่พยายามใช้วิธีการวิจัยเชิงทดลองมามาประยุกต์เข้ากับแนวทางของเศรษฐศาสตร์พัฒนา เพื่อแก้ปํญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก ชี้ว่าปัจจุบันยังมีเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อยู่ในวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน ขณะที่ในประเทศไทย ปัจจุบันยังมีเยาวชนในครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสอีกมากกว่า 670,000 คน ยังไม่นับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวที่ยากจนและยากจนพิเศษอีกเกือบ 2 ล้านคน ที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จุดที่น่าสนใจคือ การประกาศรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปีล่าสุด นอกจากจะช่วยจุดกระแสให้สังคมให้หันมาสนใจการปัญหาความยากจนกันอย่างจริงจังแล้ว หลายภาคส่วนยังพยายามนำองค์ความรู้มาต่อยอด เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในขอบเขตที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่

เช่นเดียวกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ตามพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู

ในวาระของการประกาศรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี 2019 กสศ. และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ร่วมกันจัด​เวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง ‘จากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2562 สู่การใช้นวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย’ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ มาออกแบบนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และการศึกษา

ในส่วนของภาพรวมการใช้นวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์เพื่อความเหลื่อมล้ำ รวมถึงกลไกในการออกแบบนโยบาย 101 ได้สรุปประเด็นสำคัญๆ เอาไว้ในรายงานตอนที่แล้ว สำหรับรายงานชิ้นนี้ เราจะนำเสนอมุมมองจากฝั่งนักวิชาการที่ทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษา ว่าด้วยการใช้นวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลองที่เรียกว่า Randomized Controlled Trials (RCTs) หรือการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม มาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จากกรณีตัวอย่างทั้งในและต่างประเทศ

ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง
ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 เริ่มจากการหา insight ในห้องเรียน – วีระชาติ กิเลนทอง

“สิ่งที่สำคัญที่สุดและยากที่สุดในการพัฒนาการศึกษา คือครูสอนอะไรเด็ก และสอนอย่างไร มันไม่ใช่เพียงตำราเล่มหนึ่ง แต่อยู่ที่ว่าเราส่งผ่านความรู้จากตำรานั้นไปถึงตัวเด็กอย่างไร” คือมุมมองต่อการแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยจาก ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เขาคือนักเศรษฐศาสตร์ที่ผันตัวมาทำงานวิจัยและขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีมานี้ ผ่านโครงการที่เขาเป็นผู้ริเริ่มอย่าง RIECE Thailand รวมถึงการร่วมมือกับ กสศ. ใน โครงการวิจัยพัฒนาเครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียน

ดร.วีระชาติเล่าว่า จากประสบการณ์ 4-5 ปีที่ผ่านมาที่ได้เข้ามาทำเรื่องการศึกษา ทำให้มุมมองที่มีต่อปัญหาการศึกษาเปลี่ยนไปพอสมควร “จากเดิมที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เรามักจะหมกมุ่นอยู่กับระเบียบโครงสร้างต่างๆ ผมพบว่าความจริงแล้วปัญหามันอยู่ที่ระดับรากหญ้า ก็คือในห้องเรียน ซึ่งเป็นสเกลที่เล็กที่สุด เราแทบไม่รู้เลยว่าในห้องเรียนเกิดอะไรขึ้นบ้าง นั่นคือสิ่งที่เรามองไม่เห็น เราตาบอดมาตลอด”

ดร.วีระชาติ กล่าวอย่างติดตลกว่า แม้กระทั่งเอสเธอร์ ดูโฟล นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุด ก็ยังไม่ค่อยได้ทำเรื่องนี้ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ กสศ. เริ่มทำแล้ว

“สิ่งที่ กสศ. ทำ ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าไปช่วยนิดหน่อย คือการพยายามเปลี่ยนวิธีการสอนของครู ซึ่งยากมาก ไม่เหมือนการเปลี่ยนขนาดห้องเรียน สร้างอาคาร หรือจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนต่างๆ สิ่งที่เราสนใจคือกระบวนการ คือเครื่องมือต่างๆ ที่เราใส่ไปให้ครู โดยใช้การทดลองสุ่มหรือ RCTs สุ่มตัวอย่างแล้วเปรียบเทียบว่า กลุ่มที่ได้รับเครื่องมือที่เราออกแบบให้นั้นเป็นอย่างไร กลุ่มที่ไม่ได้รับเป็นอย่างไร ผลต่างกันแค่ไหน”

อย่างไรก็ดี ดร.วีระชาติชี้ว่า ข้อจำกัดอย่างหนึ่งจากการทำโครงการนี้ คือข้อจำกัดเรื่องข้อมูล เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก ซึ่งสัมพันธ์กับงบประมาณ โดยในระยะแรกนั้นมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 33 โรงเรียน ทำให้ยังไม่เห็นผลเปรียบเทียบที่ชัดเจนนัก ต่อมาเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 มีการขยายโครงการให้ใหญ่ขึ้นเป็น 111 โรงเรียน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานด้านการศึกษา แต่ก็พบข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งว่า แต่ละหน่วยงานมักพุ่งเป้าไปที่ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายตั้งต้นของการวิจัย

“ทัศนคติที่เราต้องเปลี่ยนให้ได้คือ การทำเพื่อหวังผล ทุกคนต้องยอมรับว่าสิ่งที่ทำอาจไม่ได้มีผลเป็นรูปธรรม แต่เราทำเพื่ออยากรู้ insight เมื่อรู้แล้วจะได้ขยับไปข้างหน้า เพื่อออกแบบสิ่งที่ดีขึ้นในอนาคต ทุกคนต้องยอมรับว่าเราอยากเรียนรู้มากขึ้น อยากเข้าใจปัญหามากขึ้น ไม่ใช่แค่ต้องการความสำเร็จ แน่นอนว่าความสำเร็จก็สำคัญ แต่ความสำเร็จอาจไม่ได้เกิดจากการทดลองครั้งนี้ แต่เกิดจาก insight ที่ได้จากการทดลองครั้งนี้ต่างหาก”

จากการมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันกำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่จะขยายผลไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ดร.วีระชาติได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก คือการที่แต่ละหน่วยงานตระหนักว่า การสุ่มเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับการทดลองสุ่ม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจและให้อิสระกับนักวิจัยในการสุ่ม ต้องพร้อมที่จะยอมรับถึงโอกาสที่อาจจะไม่เห็นผลกระทบ (impact) ด้วย

ประการที่สอง ในส่วนของนักวิจัย ดร.วีระชาติชี้ว่า เพื่อให้สามารถได้องค์ความรู้ที่เพียงพอต่อการออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพ นักวิจัยควรจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับระดับคุณภาพของการนำไปใช้ (adoption quality) เพราะบางครั้งหลักสูตรหรือวิธีการอาจจะมีคุณภาพจริง แต่ครูไม่ได้นำไปใช้อย่างจริงจัง ก็อาจทำให้ผลการวิเคราะห์ไม่มีนัยสำคัญได้

ประการสุดท้าย คือการทดลองแบบสุ่ม จำเป็นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก และมักจะสามารถตอบโจทย์ได้เพียงบางอย่างเท่านั้น งานวิจัยที่ใช้แบบจำลองที่มีโครงสร้าง (structual model) ยังมีความจำเป็นและมีประโยชน์ในการออกแบบนโยบาย

“ถ้าเรา randomised ได้ แล้วเรามีการเก็บข้อมูลที่ดี เราจะเข้าใจได้มากกว่าแค่ผลของ impact ที่เราทำ เราจะได้เข้าใจอะไรที่เป็นเชิงลึกมากขึ้น และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ทัศนคติของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าทุกคนเข้าใจว่าไม่มีใครที่อยากเห็นความล้มเหลว แต่ต้องการเรียนรู้ มากกว่าที่จะยึดติดหรือเข้มงวดกับอะไรบางอย่าง โดยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย” ดร.วีระชาติกล่าว พร้อมทิ้งท้ายเกี่ยวกับการใช้ RCTs และการมอบรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“สำหรับผม การทำ RCTs แล้วเอาค่าเฉลี่ยมาเทียบกัน เป็นแค่การวัดผลระยะสั้น เมื่อต้องการเข้าใจอะไรบางอย่างแบบเร็วๆ แต่สุดท้ายถ้าเราอยากเข้าใจอะไรมากขึ้น และหวังผลระยะยาว เราต้องเข้าใจโครงสร้างมากขึ้น เข้าใจ conceptual framework ที่ดีขึ้น ซึ่งวิธีที่จะเข้าใจได้ เราคงต้องมี conceptual เป็นตัวกำหนด แล้วใช้ข้อมูลและการทดลองเข้ามาประกอบ การทดลองจะทำให้กระประมาณค่าหรือการออกแบบแบบจำลองต่างๆ ดีขึ้น ชัดขึ้น และแม่นยำขึ้น

“ถ้าจะทำ RCTs ให้ประสบความสำเร็จในประเทศ เราต้องเปลี่ยนทัศนคติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน อีกข้อที่อยากเสนอคือ RCTs ไม่ใช่วิธีเดียวในการแก้ปัญหา เช่นเดียวกับที่นักเศรษฐศาสตร์โนเบลปีล่าสุดทั้งสามคน ก็ไม่ใช่คนแรกที่ได้รางวัลโนเบลการแก้ปัญหาความยากจน โนเบลเศรษฐศาสตร์สนใจความยากจนมาโดยตลอด สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำมาตลอด เพียงแต่ว่าวิธีการมันต่างกัน ยุคสมัยต่างกัน”

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักการศึกษาจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อจำกัดของ RCTs กับกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ – ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

 

ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักการศึกษาจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงปัญหาการศึกษาไทยว่า เป็นปัญหาที่ที่ซับซ้อนและพัวพันกันหลายชั้น

“บางคนบอกว่าต้องแก้ที่หลักสูตร บางคนก็บอกต้องแก้ที่คุณภาพครู บางคนก็บอกต้องแก้เรื่องทรัพยากรที่จัดสรรให้โรงเรียน มีแนวคิดเยอะมากที่บอกว่าต้องทำแบบไหนให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกปัจจัยล้วนมีผลหมด”

ทั้งนี้ ดร.ภูมิศรัณย์ได้ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาการศึกษาที่ประสบผลสำเร็จในหลายๆ ประเทศ หนึ่งในนั้นคือผลงานขององค์กรที่ชื่อว่า ‘Pratham’ กลุ่มเอ็นจีโอในประเทศอินเดีย ซึ่งทำการอบรมครูผู้สอนและอาสาสมัครในชุมชน เพื่อให้ไปสอนนักเรียนในกลุ่มที่ยากจนและล้าหลังในการเรียนโดยเฉพาะ ปรากฏว่าได้ผลกระทบเชิงบวกที่สูงมาก มีการนำไปขยายผลต่อในหลายประเทศ อาทิ กาน่า และแซมเบีย

“วิธีการที่เขาทำคือใช้ระบบอาสาสมัครในชุมชน โดยมุ่งไปที่คนหนุ่มสาวที่เพิ่งจบศึกษา เอามาอบรมในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อให้ไปช่วยติวเด็กกลุ่มนี้ช่วงเลิกเรียน หรือช่วงเสาร์-อาทิตย์ โดยงานวิจัยของ J-PAL พบว่าโปรแกรมนี้สามารถช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้กับเด็กอินเดียราวห้าแสนคน และต่อมาก็กลายเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ นำโมเดลนี้ไปปรับใช้ เช่นในกาน่าและแซมเบีย”

อีกกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้การทดลองเพื่อช่วยเหลือด้านข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจนแต่เรียนดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนผิวสี ได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพดี พบว่าเป็นวิธีการที่ทดลองแล้วได้ผล ทำให้เด็กยากจนสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้มากขึ้น

การทดลองดังกล่าวเริ่มจากสองนักเศรษฐศาสตร์การศึกษาชาวอเมริกา แคลโรไลน์ ฮอกซ์บี้และ ซาราห์ เทินเนอร์ ซึ่งทำเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอเมริกา ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดเยาวชนในกลุ่มคนผิวสีและชนชั้นแรงงาน จึงไม่สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเท่าใดนัก

“วิธีการที่เขาใช้คือการทดลองส่งใบสมัคร พร้อมแพคเกจในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เข้าใจง่าย ให้กับเด็กกลุ่มที่ยากจนแต่เรียนดี เป้าหมายคือทำให้คนกลุ่มนี้เห็นโอกาสหรือช่องทางในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ ผลปรากฏว่าเด็กราวๆ 46% จากกลุ่มทดลอง มีแนวโน้มที่จะส่งสมัครเข้าไปในมหาวิทยาลัยดังๆ ในสหรัฐฯ”

ดร.ภูมิศรัณย์เสริมว่า การทดลองดังกล่าวเป็นการนำเอา RCTs มาปรับใช้กับปัญหาด้านการศึกษา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขยายผลออกไปในระดับทั่วประเทศ กลับไม่พบผลกระทบเชิงบวกที่เด่นชัด จึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักว่า บางครั้งการทดลองที่ได้ผล อาจนำไปปฏิบัติไม่ได้ผลอย่างที่คิดก็ได้ ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ RCTs กับปัญหาด้านการศึกษา ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร

“หลายๆ ประเทศได้นำเอาวิธีการ RCTs มาใช้ แต่ก็อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากปัญหาการศึกษามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยจากตัวนักเรียน โรงเรียน ครูผู้สอน ไปจนถึงสภาพแวดล้อมในครอบครัว ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าการทำการทดลองในเชิงวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์”

นอกจากนี้ ดร.ภูมิศรัณย์ยังชี้ให้เห็นตัวอย่างของแนวทางการพัฒนา Growth Mindset ให้กับนักเรียนด้อยโอกาสที่ในสหรัฐอเมริกา โดยใช้การอบรมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ พบว่าเป็นแนวทางที่ได้ผล นักเรียนมีทักษะดีขึ้น ทำคะแนนได้ดีขึ้น สามารถปรับตัวได้ในช่วงสั้นๆ โดยใช้ต้นทุนไม่สูงนัก โดยโครงการนี้เริ่มต้นการทดลองจากกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยเท็กซัส ก่อนจะขยายสเกลไปยังสถานศึกษาอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา

ในช่วงท้าย ดร.ภูมิศรัณย์ ตั้งข้อสังเกตว่า บางโครงการแม้จะได้ผลจากการทดลองในกลุ่มเล็กๆ ก็จริง แต่เมื่อทำไปขยายผล ก็ใช่ว่าจะได้ผลเชิงบวกหรือประสบความสำเร็จเสมอไป เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้ ขณะเดียวกัน บางโครงการแม้จะใช้ต้นทุนต่ำ และไม่ได้ให้ผลเชิงบวกอย่างชัดเจนในตอนแรก แต่ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้ สุดท้ายก็ขึ้นอยู่ว่าผู้กำหนดนโยบาย จะเลือกแนวทางไหนไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของปัญหา

 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

เส้นทางสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา – ดร.ไกรยส ภัทราวาท

 

ในส่วนของการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเกิดขึ้นจริงนั้น หนึ่งในองค์กรก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในช่วงสองปีมานี้ ก็คือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กสศ.ได้ร่วมประชุมหาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์วิจัย (Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab) J-PAL แห่งมหาวิทยาลัย MIT สาขาภูมิภาคอาเซียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนากรอบแนวทางความร่วมมือเพื่อวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. ด้วยนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งเป็นแนวทางของนักวิจัยรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ โดยศูนย์วิจัย J-PAL จะคัดเลือกทีมนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย MIT และ สถาบันวิชาการภาคี เพื่อมาสนับสนุนการทำงานวิจัยประเมินผลโครงการของ กสศ. ในประเทศไทย โดยอาจเริ่มทดลองในบางพื้นที่ก่อนในปีการศึกษา 1/2563

ดร.ไกรยศชี้แจงว่า ปัจจุบัน กสศ. พยายามจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ตรงจุด โดยเฉพาะปัญหาในฝั่งอุปสงค์ทางการศึกษา (demand-side) ทั้งเรื่องการลดต้นทุนในการเข้าสู่ระบบการศึกษา และการประเมินคุณค่าในการศึกษาต่อของผู้เรียนจากครอบครัวที่ยากจน ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้เงินไม่มาก แต่ได้ผลสูง (High-impact)  เช่น โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Tranfer: CCT) นั้น เด็กๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนไป จะต้องมีเงื่อนไขตามเกณฑ์ คือมาเรียนไม่น้อยกว่า 80 % ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่านักเรียนยากจนพิเศษที่รับทุน กสศ.ไป มาเรียนครบตามเกณฑ์ 98 % ส่วนอีก 2% กสศ.จะต้องไปติดตามว่าเด็กมีปัญหาอย่างไร

“สิ่งที่ กสศ. โฟกัสตอนนี้ คือการแก้ปัญหาที่ demand-side เพื่อแก้ปัญหาเรื่องโอกาสของเด็กในการเข้าเรียนได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น จากข้อมูลที่สำรวจมา เราพบว่าเด็กบางคน จะขาดเฉพาะวันจันทร์ เราก็งงว่าทำไมถึงขาด พอครูไปเยี่ยมที่บ้าน ปรากฏว่าวันจันทร์มีตลาดนัด เด็กต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของทุกวันจันทร์ เลยต้องขาดเรียน ผลที่ตามมาเด็กคนนี้ก็จะได้คะแนนต่ำในวิชาที่ต้องขาดเรียนวันจันทร์ ส่วนภาพที่เราอยากเห็นใน 10 ปีถัดจากนี้ คือสามารถแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้”

นอกจากนี้ ดร.ไกรยสยังได้ยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลแบบอื่นๆ ด้วย เช่น การเก็บข้อมูลดัชนีมวลกาย หรือ ค่า BMI จากกลุ่มตัวอย่าง โดยพบว่ามีเยาวชนราวสองแสนคน หรือประมาณร้อยละ 30 ที่ยังมีน้ำหนักส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่ 1.3 แสนคนสูงเกินมาตรฐาน

“ตรงนี้เป็นสิ่งที่ กสศ. พยายามจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นทางให้ตรงจุด จากการนำงานวิจัยทางเศรษฐศาตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลมาเรียนรู้ และทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยในต่างประเทศและในประเทศเพื่อช่วยให้สังคม ผู้เสียภาษี มีความมั่นใจมากขึ้น ว่า กสศ. เราจะใช้เงินเหล่านั้นไปถึงตัวเด็กเยาวชน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดของเงินที่ได้รับมาทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาทั้งจากรัฐบาล และจากการบริจาคของภาคเอกชนและประชาชน” ดร.ไกรยสกล่าว

ในช่วงท้าย ดร.ไกรยสย้ำว่า กสศ. เป็นองค์กรที่ยังใหม่มาก และยังต้องการความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน เพื่อผลักดันภารกิจในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้สำเร็จ โดยหวังว่างานในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์ที่หลากหลาย มาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่อไป

“เรามองว่าเราเป็นช่างเชื่อมมากกว่า ไม่ใช่ช่างซ่อม เพราะการจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คงต้องให้ทุกๆ ฝ่ายในสังคมไทยมาร่วมมือกัน ถ้าเกิดใครมีไอเดียอะไรดีๆ หรืออยากจะร่วมงานกัน มาหาเราได้เสมอครับ เราอยากเจอ”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save