fbpx
Economics for the Common Good คิดแบบ ‘เศรษฐศาสตร์เพื่อส่วนรวม’

Economics for the Common Good คิดแบบ ‘เศรษฐศาสตร์เพื่อส่วนรวม’

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

 

ตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบล่าสุด การติดตามอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องรื่นรมย์มากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตมาก เพราะนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่ก่อนหน้านี้ขลุกอยู่แต่กับแบบจำลอง ห้องเรียนหรือห้องประชุมในคณะของตัวเอง ลุกออกมาเขียนหนังสือเพื่อสื่อสารถึงคนทั่วไป ไม่ใช่เพื่อนร่วมวิชาชีพ หลายคนพยายามอย่างแรงกล้าที่จะนำเสนอความรุ่มรวยหลากหลายของวิชาเศรษฐศาสตร์ และประโยชน์ของวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องว่าเพื่อนร่วมวงการจะต้องมีความถ่อมตัวมากขึ้น และยึด “ประโยชน์สาธารณะ” เป็นที่ตั้ง

หนังสือเล่มหนาหนักแต่อ่านเพลินเรื่อง Economics for the Common Good หรือ “เศรษฐศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะ” โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส ฌอง ทิโรล (Jean Tirole) สรุปประเด็นสาธารณะต่างๆ ที่เศรษฐศาสตร์ช่วยให้คำตอบ ชี้ขอบเขตการอภิปราย และแนะแนวทางหา ‘จุดร่วม’ ในสังคม อย่างน่าคิดและน่าติดตามตลอดเล่ม ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับคนนอกวงการ

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ความหลากหลาย ทิโรลคลี่คลายหัวข้อที่สลับซับซ้อนต่างๆ ออกมาด้วยภาษาและความคิดที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง และหัวข้อที่เขาพูดถึงก็ล้วนแต่เป็น ‘ประเด็นร้อน’ ในสังคม ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) กฎหมายแรงงานในยุคแห่งความก้าวหน้าของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งกำลังจะมาแย่งงานมนุษย์ในหลายสาขา วิกฤตการเงินโลก เศรษฐกิจฟรีแลนซ์ (gig economy) ฯลฯ

ในแต่ละหัวข้อเขายกตัวอย่างจริงที่ชัดเจน และวาดให้เราเห็นชัดว่าข้อถกเถียงต่างๆ มีอะไรบ้าง คนมีมุมมองและจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาและหาทางออกคืออะไร แต่ละบทพูดถึงหนึ่งหัวข้อ ดังนั้นจึงจบในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอ่านรวดเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ใครจะเปิดมาอ่านเฉพาะหัวข้อที่ตัวเองสนใจก็ได้

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้มีหลายจุด แต่เสน่ห์ที่ผู้เขียนชอบที่สุดมีสองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรก การเปิดโลกทัศน์ที่น่าตื่นเต้นออกจากวิธีมองโลกแบบ “ไม่ขาวก็ดำ” ที่คับแคบและครอบงำการถกเถียงประเด็นสาธารณะมาช้านานในหลายประเทศ และ เรื่องที่สอง การนำความคิดเชิงสัมฤทธิ์ผลนิยม (practical) ของทิโรล ควบคู่กับความช่ำชองเชี่ยวชาญของเขาในประเด็นกลไกการกำกับดูแลธุรกิจซับซ้อน (ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเนล) มาฉายภาพกรอบการถกเถียงและแนวทางที่ชัดเจนในประเด็น climate change และเศรษฐกิจดิจิทัล แถมยังชี้ให้เห็นอย่างสุภาพว่า สามัญสำนึกหรือความคิดกระแสหลักอาจทำให้เราเข้าใจผิด หรือพาเราไปผิดทางก็ได้!

ทิโรลเปิดโลกทัศน์คนอ่านอย่างเรียบง่ายแต่ทรงพลังด้วยการชี้ให้เห็นว่า การถกเถียงคลาสสิกว่า “จะเอารัฐหรือเอาตลาด” หรือ “จะเอาฝ่ายขวาหรือว่าฝ่ายซ้าย” นั้น พ้นสมัยและไร้ประโยชน์แล้วในยุคนี้ ยุคที่เราต้องมองเห็นว่า ต้องเอาทั้งรัฐและตลาด คำถามคือจะวาง ‘สมดุล’ ไว้ตรงไหน บทบาทของรัฐไม่ใช่การก้าวเข้ามาผลิตสินค้าหรือบริการแทนที่ตลาด แต่อยู่ที่การส่งเสริมสนับสนุนให้ตลาดทำงานได้ดี ในทางที่สร้างประโยชน์ส่วนรวม ผ่านกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสม

ความ ‘เหมาะสม’ ในแง่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะต้องตะบี้ตะบันส่งเสริมการแข่งขันอย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้ว การเพิ่มสวัสดิการและความอยู่ดีมีสุขในสังคมควรเป็นเป้าหมายสำคัญ ไม่ใช่การแข่งขันหรือประสิทธิภาพในตัวมันเอง และงานวิจัยที่ทำให้เขาได้รางวัลโนเบลก็ชี้ว่า ในหลายธุรกิจที่ไม่ได้มีการแข่งขันสมบูรณ์ การแข่งขันสมบูรณ์อาจเป็นไปไม่ได้เลย และสภาพที่เป็นอยู่ก็อาจสร้างความเสียหายและลิดรอนประโยชน์ส่วนรวม

หลายตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้ฉายภาพปัญหาของสามัญสำนึกหรือการใช้ความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบพื้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทิโรลชี้ว่า การใช้ความคิดแบบพื้นๆ แบบคิดชั้นเดียว หรือเชื่อตามความคิดแรกที่วาบเข้ามาในหัว (intuition) มักจะเน้นเฉพาะ “ผลลัพธ์ทางตรง” (direct effects) มองข้ามผลลัพธ์ทางอ้อมที่อาจสำคัญไม่แพ้กัน หรือสำคัญกว่าด้วยซ้ำไป

ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดในประเทศหนึ่ง อาจส่งผลให้สังคมลดการบริโภคน้ำมัน (และดังนั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็น่าจะลดลงด้วย) นี่คือผลลัพธ์ทางตรง แต่ในขณะเดียวกัน กฎหมายนี้ก็จะลดความต้องการน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง แต่ราคาที่ลดลงนั้นก็จะทำให้น้ำมันดูน่าดึงดูดมากขึ้นในประเทศอื่นๆ ในโลก ซึ่งก็จะทำให้บางประเทศหันมาใช้น้ำมันมากขึ้น เพิ่มระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น – นี่คือผลลัพธ์ทางอ้อมซึ่งเราอาจไม่คาดคิดมาก่อน ตอนผลักดันกฎหมายที่เข้มงวด

ทิโรลเสนอว่าเราต้องหาวิธีรับมือกับผลลัพธ์ทางอ้อมทำนองนี้ด้วย ไม่ใช่มองเห็นแต่ผลลัพธ์ทางตรง ในตัวอย่างประเด็นสิ่งแวดล้อม ทิโรลเสนอว่า วิธีเดียวที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมี ‘ต้นทุน’ โดยไม่บิดเบือนตลาดเชิงลบดังตัวอย่างข้างต้น ก็คือการประกาศเก็บภาษีคาร์บอน (universal carbon tax) ในอัตราเดียวกันทั่วโลก ไม่ใช่การเน้นมาตรการอื่นๆ อย่างเช่นปรับมาตรฐานการใช้พลังงานของรถยนต์ให้เข้มงวดกว่าเดิม

เขาชี้ด้วยว่าที่ผ่านมา การ ‘เล่นการเมือง’ เรื่องสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) หมกมุ่นกับการแสดง ‘จุดยืนเชิงสัญลักษณ์’ ของรัฐบาลประเทศต่างๆ มากกว่าจะพยายามออกนโยบายการกำกับดูแลที่เป็นไปได้จริงในทางเศรษฐศาสตร์

อีกบทที่ผู้เขียนชอบมาก คือ บทที่ว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม ในบทนี้ทิโรลรับมือกับคำถามที่น่าสนใจมากมาย เช่น รัฐควรกำกับดูแลกรรมสิทธิ์เรื่องข้อมูลอย่างไร ในทางที่ไม่ปิดกั้นไม่ให้บริษัทใหม่ๆ เข้ามาแข่งขัน? นัยของปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีเรียนรู้ด้วยตัวเองของคอมพิวเตอร์ (machine learning) ซึ่งทำให้แพล็ตฟอร์มต่างๆ ตัดซอยการผลิตลงเป็นงานเล็กๆ ง่ายๆ และเลือกปฏิบัติต่อลูกค้าด้วยการปรับราคาตามสถานการณ์ (surge pricing) มีอะไรบ้าง? การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบ “ซูเปอร์สตาร์” (superstar economy) นั่นคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายมีอิทธิพลเหนือตลาดมหาศาล จะส่งผลต่อระบบการเก็บภาษีอย่างไร ในโลกที่เป็นรูปธรรมน้อยลง เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยวัตถุน้อยลง (dematerialized คือขับเคลื่อนด้วยนามธรรมอย่างเช่นบริการดิจิทัลต่างๆ) และบริษัทมีช่องทางหลบเลี่ยงและฉวยโอกาสจากระบอบภาษีที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ (tax arbitrage) มากขึ้น?

ต่อคำถามเหล่านี้ ส่วนใหญ่ทิโรลไม่ได้นำเสนอคำตอบแบบฟันธงลงไปว่าเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร แต่เขาตีกรอบขอบเขตของการถกเถียง พยายามมองจุดยืนของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และเสนอว่าเราควรพิจารณาประเด็นอะไรบ้าง โดยที่ย้ำอย่างชัดเจนในทุกเรื่องว่า ถ้าเราอยากจะให้เศรษฐศาสตร์สร้าง “ประโยชน์ส่วนรวม” ได้จริง เราก็ต้องเลิกมองทุกอย่างว่าเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ (เช่น คิดง่ายๆ ว่า เทคโนโลยีจะทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น แล้วทุกอย่างจะดีเอง) แต่ต้องไตร่ตรองศึกษาอย่างจริงจังว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อรายได้ ความเหลื่อมล้ำ และความอยู่ดีมีสุข

เนื้อหาตอนท้ายราวหนึ่งในสามของหนังสือคือจุดที่ทิโรลดูจะมั่นใจที่สุด ถกแถลงอย่างน่าติดตามที่สุด เพราะเขียนถึงสาขาความเชี่ยวชาญของเขาเองเกี่ยวกับกลไกการกำกับดูแล ทิโรลยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่การจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปา จนถึงการเก็บค่าธรรมเนียมลงจอดของเครื่องบิน ทิโรลชี้ว่า การแข่งขันอาจไม่เกิดเพราะการทำซ้ำหรือเลียนแบบโครงสร้างการผลิตมีต้นทุนที่สูงเกินไป อย่างเช่นในการผลิตไฟฟ้าและประปา หรือเป็นเพราะผู้บริโภคมีข้อได้เปรียบสูงมากจากการมีผู้ผลิตรายเดียวที่ครองตลาด อย่างเช่นกูเกิลในวงการเสิร์ชเอนจิ้น

ความหลากหลายของอุตสาหกรรมแปลว่าการออกแบบกลไกกำกับดูแลที่เหมาะสมนั้นไม่มี ‘สูตรสำเร็จ’ หรือ ‘โมเดลมาตรฐาน’ ที่ใช้ได้กับธุรกิจทุกรูปแบบ จะมีก็แต่เพียง ‘ซีรีส์ของการปรับสมดุล’ (series of balancing act) เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ความท้าทายของการกำกับธุรกิจผูกขาดคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ผูกขาดได้กำไรมากพอที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่มากจนถึงระดับที่มีแรงจูงใจจะเอาเปรียบผู้บริโภค ลดคุณภาพของการให้บริการ หรือไม่ลงทุนเพิ่ม

การอภิปรายของทิโรลในประเด็นเรื่องเครือข่ายสังคม (social networks) น่าคิดเป็นพิเศษ เขาชี้ว่าอุตสาหกรรมนี้มีลักษณะพิเศษคือการคิดราคาแบบ ‘สุดขั้ว’ นั่นคือ ผู้ใช้บริการไม่ต้องจ่ายอะไรเลย (เช่น เราทุกคนเล่นเฟซบุ๊กฟรีโดยไม่ต้องจ่ายเงิน) แต่ผู้โฆษณาจ่ายในราคาที่ใกล้เคียงกับระดับการผูกขาดมาก นี่เป็นลักษณะที่ดูเหมือนจะสร้างปัญหา แต่ผู้ใช้บริการก็ดูจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆ จากการกระทำแบบนี้ ประเด็นอยู่ที่อำนาจและอิทธิพลของการครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมหาศาลมากกว่า

ทิโรลเสนอว่า “โดยทั่วไป บริษัทใดที่สะสมข้อมูล อย่างน้อยก็ควรจะมีส่วนรับผิดชอบในการใช้ข้อมูลนั้นๆ ในทางที่สร้างความเสียหาย ต่อให้เป็นคนอื่นที่ใช้ข้อมูลก็ตาม” และเขาก็มองว่า ทางออกในอนาคตสำหรับสังคมที่พึ่งพาอัลกอริทึมและบริการดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นการให้สังคม ‘ร่วมเป็นเจ้าของ’ สิทธิบัตรที่จดโดยบริษัทไฮเทคจำนวนมาก

ทิโรลไม่ลังเลที่จะเสนอทางออกของปัญหาหรือความท้าทายใหญ่ๆ ที่เขาพูดถึง และอธิบายจุดยืนของเขาในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน ตั้งแต่เหตุผลที่เขาสนับสนุนสหภาพยุโรปและการมีค่าเงินสกุลเดียวกัน ไปจนถึงเหตุผลที่สนับสนุนการบัญญัติรายได้ขั้นต่ำ (guaranteed income) สำหรับโลกที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังจะมาทำงานแทนมนุษย์ในหลายวงการ แต่ที่น่าประทับใจคือ ทุกเรื่องที่เขาเสนอทางออก ทางออกที่เขาเสนอนั้นก็ไม่ใช่วิถีที่หยุดนิ่งตายตัว และเขาก็เผื่อพื้นที่เสมอให้กับจุดยืนที่แตกต่างหรือแม้แต่ตรงกันข้ามกับเขา พยายามทำความเข้าใจกับจุดยืนเหล่านั้น ตลอดจนเงื่อนไขและบริบทที่เกี่ยวข้อง

เขาย้ำแล้วย้ำอีกในหนังสือว่า การใช้วิธีทางเศรษฐศาสตร์มาหาทางออกในประเด็นสาธารณะย่อม “เป็นศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ [เพราะ]… ยากมากที่เราจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็น ในการวัดอย่างเที่ยงตรงว่าผลลัพธ์ซึ่งทฤษฎีคาดการณ์นั้นมีอะไรบ้าง” ยิ่งไปกว่านั้น บริบทและสถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความแตกต่างทางวัฒนธรรมธุรกิจ และความซับซ้อนของแรงจูงใจของมนุษย์ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเขียน ‘กฎทั่วไป’ ที่ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา

ในฝรั่งเศส ประเทศบ้านเกิดของเขา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Economics for the Common Good โดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับการขนานนามว่า นักคิดสำนักเสรีนิยมสายคลาสสิก จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ในแนวที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เป็นอุดมคติน้อยลง แต่ยังคงยึดมั่นใน “ประโยชน์ส่วนรวม” และเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการปิดประตูต่ออุดมการณ์และฐานที่มั่นแหล่งท้ายๆ ของสำนักเศรษฐศาสตร์แนวมาร์กซ์

นอกประเทศฝรั่งเศส ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้เพลิดเพลินกับการถกเถียงอภิปรายในประเด็นสาธารณะที่หลากหลาย ผ่านแว่นของวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการศึกษาลักษณะความล้มเหลวของตลาด และกลไกกำกับดูแลที่เหมาะสม แต่มีนิสัยถ่อมตัวอย่างเหลือล้น ผู้จรดปากกาเขียนประโยคสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ว่า

“นักเศรษฐศาสตร์จะต้อง… ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยความถ่อมตัวและความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า”

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save