fbpx
เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2021: หรือเราจะสิ้นหวังแล้ว?

เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2021: หรือเราจะสิ้นหวังแล้ว?

โลกเริ่มฟื้นไข้ แต่อาการยังไม่สู้ดี

“เศรษฐกิจโลกติดโรคร้าย” คือประโยคที่ 101 เปรียบเปรยเอาไว้ถึงภาวะเศรษฐกิจโลกตลอดทั้งปี 2020 ที่พิษการระบาดของโควิด-19 เล่นงานจนเศรษฐกิจติดลบระเนระนาด แดงเกือบทั้งกระดานทั่วโลก แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นพิษไข้ ตั้งหลักดีดตัวกลับมายืนบนแนวบวกได้แล้ว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่าจะโตได้ที่ร้อยละ 5.9 ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.6

ถ้ามองตัวเลขเผินๆ อาจดูเหมือนเศรษฐกิจโลกกำลังกลับมาสดใส แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียด การฟื้นตัวที่ว่านี้กลับเป็นการฟื้นตัวที่ช่างเปราะบาง หากเปรียบเป็นคน ก็เหมือนคนที่เพิ่งฟื้นไข้ แต่ร่างกายยังเจ็บออดแอด ภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ และพร้อมกลับมาป่วยใหม่ได้ทุกเมื่อ

ตลอดปีที่ผ่านมา หลายประเทศเจอการระบาดซ้ำระลอกแล้วระลอกเล่า ย้ำเตือนให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าโควิด-19 จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน หลายชาติจึงเลือกปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการพยายามกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ มาเป็นการ ‘อยู่ร่วมกับโควิด-19’ ให้ได้ โดยกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19ได้ก็คือ ‘วัคซีน’ ทว่าไม่ใช่ทุกคนและทุกประเทศที่จะเอื้อมมือถึงกุญแจดอกนี้ได้อย่างง่ายๆ

แม้วัคซีนจะเป็นพระเอกคนสำคัญของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกในปีนี้ แต่รายงานของ IMF ชี้ว่าวัคซีนกำลังทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มชาติพัฒนาแล้วกับชาติกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล เพราะกลายเป็นว่าบรรดาประเทศพัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากและรวดเร็วกว่า ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้จะฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าระดับก่อนโควิด-19 ได้ภายในปีหน้า ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเข้าถึงวัคซีนได้ช้า จนต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจไปมหาศาลจากการระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีมาตรการอัดฉีดทางเศรษฐกิจที่ไม่ใหญ่โตเท่าประเทศร่ำรวย จึงยังไม่เห็นวี่แววที่ประเทศกลุ่มนี้จะสามารถฟื้นคืนเศรษฐกิจไปถึงระดับก่อนโควิด-19 ได้ แม้ผ่านไปจนถึงปี 2024 มูลค่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ไม่รวมจีน) ก็จะยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 อยู่ถึงร้อยละ 5.5  

ในบทความ ‘ความเหลื่อมล้ำโลก (Global Inequality) และการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด’ วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ พูดถึงความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนที่ชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะประเทศยากจนมีระบบสาธารณสุขแย่กว่าและขาดการเตรียมพร้อมในการจัดการระบาด ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีกฝั่งหนึ่งมองว่าความเหลื่อมล้ำโลกยังคงลดลง เพราะพบจากตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2020 ว่ารายได้ต่อหัวของชาติยากจนลดลงน้อยกว่าชาติร่ำรวย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในปีนี้อาจเปลี่ยนไป เนื่องจากชาติกำลังพัฒนาเจอปัญหาจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่หนักหนาสาหัสกว่า จึงต้องรอดูตัวเลขที่ชัดเจนในต้นปีหน้า

ความไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 นี้เองที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกเป็นไปอย่างเปราะบางและสั่นคลอน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” โดย OECD ชี้ว่า “ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดคือการที่กลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนต่ำจะเป็นบ่อเกิดของไวรัสกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงกว่าเดิม” ดังที่เห็นได้ชัดจากการกลายพันธุ์ล่าสุดสู่สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศกลุ่มแอฟริกาที่มีอัตราการเข้าถึงวัคซีนต่ำ จนเป็นที่กังวลว่าจะนำไปสู่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ ขณะที่ IMF ชี้ว่า “รอยแยกที่ถูกเปิดชัดขี้นจากโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะเรื้อรังมากขึ้น เพราะรอยแยกที่เกิดขึ้นนี้คาดว่าจะสร้างรอยแผลเป็นให้กับศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะกลาง”

นอกจากความไม่เท่าเทียมในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้ง IMF และ OECD ระบุถึงอีกหนึ่งความท้าทายใหญ่ของเศรษฐกิจโลก นั่นคือปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ ตามที่พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เคยเขียนไว้ในบทความ ‘ฤๅเงินเฟ้อกำลังจะกลับมา (จริงๆ)’ ตั้งแต่ต้นปี โดยชี้สาเหตุถึงนโยบายการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลของหลายประเทศ รวมถึงการทยอยเปิดเมืองที่ทำให้ความต้องการสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตสินค้ายังคงกลับมาไม่ได้เต็มที่ จนไม่อาจปรับตัวได้ทันอุปสงค์ที่สูงขึ้น ดันให้ราคาสินค้าหลายประเภทพุ่งสูงขึ้น จนพิพัฒน์มองว่าอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกได้

ช่วงครึ่งปีหลัง ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานชัดเจนขึ้น ทั้งการขาดแคลนชิปสำหรับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค กระทั่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ขนส่งสินค้า ทั้งยังเจอปัญหาการขนส่งทางเรือแออัด จากท่าเรือหลายแห่งที่ยังเปิดให้บริการไม่เต็มที่ รวมถึงอุบัติเหตุคาดไม่ถึงอย่างเหตุการณ์เรือเกยตื้นขวางคลองสุเอซ จึงเห็นภาพราคาสินค้าทะยานสูงขึ้นในหลายประเทศ อย่างสหรัฐฯ ก็เจออัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปยืนสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 (Hamburger Crisis) ทว่าเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ได้ว่า ‘Stagflation’ (Stagnation + Inflation) ซึ่งพิพัฒน์ได้เขียนถึงในบทความถัดมา ‘Stagflation เงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจไม่ดี ความท้าทายต่อธุรกิจและธนาคารกลาง’ โดยชี้ว่าปรากฏการณ์นี้กำลังสร้างความคับข้องใจในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก “เพราะถ้าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็อาจจะทำให้ค่าเงินอ่อน และเงินเฟ้อก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีก แต่จะขึ้นดอกเบี้ยในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ก็อาจจะไม่ได้” ถือเป็นความท้าทายของการเดินทิศทางนโยบายการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่อาจสืบเนื่องไปถึงปีหน้า

ประเทศไทยดิ้นหนีตายกันอีกปี

หลังจากที่โควิด-19 เล่นงานเศรษฐกิจไทยจนติดลบถึงร้อยละ 6.5 ในปีที่แล้ว กระทรวงการคลังก็ได้ตั้งคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2021 เมื่อเดือนมกราคมไว้ที่ร้อยละ 2.8 แต่ตัวเลขก็ถูกปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนล่าสุดในเดือนตุลาคมเหลืออยู่เพียงร้อยละ 1.0 เท่ากับการคาดการณ์จากรายงานของ IMF ในเดือนเดียวกัน เพราะสาเหตุหลักคือการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างรุนแรง และที่น่าเศร้าคือตัวเลข 1.0 นี้เป็นตัวเลขการเติบโตที่ต่ำที่สุดในอาเซียน หากไม่นับพม่าที่กำลังระส่ำจากวิกฤตการเมือง

การที่ไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากโควิด-19 ช้ากว่าประเทศอื่นๆ เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว สันติธาร เสถียรไทยชี้ว่าเป็นเพราะประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศสูงกว่าชาติอื่นๆ ในเอเชียมาก บวกกับปีนี้มีความท้าทายใหม่เข้ามา 3 ประการ ซึ่งสันติธารเรียกว่า ‘3V’ ได้แก่ ‘Variants’ หรือการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งทำให้โจทย์การเปิดประเทศและการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ยากขึ้น โดยเราเห็นได้ชัดเจนจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาตลอดปีที่ผ่านมา ตามด้วย ‘Vaccine’ หมายถึงการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ต้องมียุทธศาสตร์ และ ‘Vulnerable’ คือความเปราะบางของเศรษฐกิจจากการต้องต่อสู้กับการระบาดเป็นระยะอย่างไม่จบสิ้น ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจคนไทย

Vulnerable ถือเป็นภาพที่เราล้วนมองเห็นได้ชัดเจนในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมาท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จนต้องกลับไปปิดเมืองครั้งใหญ่กันอีกระลอก ฉุดให้คนไทยที่ยังไม่ทันได้โผล่ขึ้นมาหายใจพ้นน้ำ ต้องดำดิ่งลึกสู่ใต้น้ำกันต่ออย่างทุรนทุราย โดย 101 ได้ลงพื้นที่สำรวจความยากลำบากทางเศรษฐกิจของคนไทยหลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร, แรงงานที่เดือดร้อนจากการหยุดกิจการ, คนขับแท็กซี่, ผู้คนในชุมชนแออัด, ผู้ค้า-ผู้ส่งของออนไลน์ และธุรกิจกลางคืน สะท้อนภาพว่าการล็อกดาวน์เมืองสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจต่อสังคมไทยอย่างหนัก

หากแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะแบกรับต้นทุนดังกล่าวเท่ากัน และกลายเป็นว่าคนที่แบกรับหนักกว่าใครนั้นคือคนจนมากเสียกว่าคนรวย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา องค์กร OXFAM International ได้ออกรายงานสถานการณ์ความยากจน ซึ่งระบุว่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 1,000 คนแรกใช้เวลาเพียง 9 เดือนตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดในการฟื้นตัวจากปัญหาการเงิน ขณะที่คนจนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี นานกว่าคนรวยถึง 14 เท่า OXFAM จึงเรียกโควิด-19 เป็น ‘ไวรัสแห่งความไม่เท่าเทียม’ (Inequality Virus) แน่นอนว่าไวรัสนี้แพร่มาถึงประเทศไทยเช่นกัน ทำให้ถ่างขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่กว้างอยู่แล้วให้กว้างออกไปอีก

ธร ปิติดลได้พูดคุยกับ 101 ในบทความ ‘รวยต่อไม่รอแล้วนะ!: คุยกับ ธร ปีติดล ในวันที่พิษจากโควิดผลักช่องว่างระหว่างเรากับเขาให้กว้างขึ้น’ โดยชี้ว่าในช่วงการระบาด คนจนมีวิถีชีวิตและรูปแบบการทำงานที่ยากต่อการปรับตัวยิ่งกว่าคนรวย ขณะที่คนรวยเจอความเสี่ยงในการปรับตัวน้อยกว่า สินทรัพย์ในตลาดทุนก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทั้งยังสามารถใช้วิกฤตเป็นโอกาสสั่งสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นได้ จนนำไปสู่การกว้านซื้อธุรกิจ กลายเป็นปัญหาการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งก็เป็นประเด็นร้อนตลอดปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากจะโทษโควิด-19 เป็นตัวการสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะสำหรับประเทศไทย ธรชี้ว่ารัฐเสียเองที่ดูเหมือนจะทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้หนักลงไปอีก เช่น การสั่งปิดสถานที่ที่เป็นที่ทำมาหากินของคนชั้นแรงงานมากเสียกว่ากิจการของทุนใหญ่ สอดคล้องกับบทความ ‘เป็นบ๊วยได้อย่างไร : เมื่อความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการวิกฤตโควิด-19’ โดยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยกตัวอย่างถึงประเด็นการจัดการตรวจโรค การจัดการเตียงผู้ป่วย และการกระจายวัคซีนของรัฐ ซึ่งล้วนแต่ทำให้คนมีรายได้น้อยและแรงงานนอกระบบเข้าถึงได้ยากกว่า 

ภายใต้ V-Vulnerable สันติธารมองว่านโยบายเศรษฐกิจมหภาคในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เปราะบางจัดว่ามีบทบาทสำคัญ

101 มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ถึงมาตรการทางการเงินท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปใช้มาตรการช่วยเหลือระยะยาวและเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพราะการระบาดยาวนานกว่าที่คิดและยังส่งผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน ต่างจากเมื่อปีที่แล้วที่ใช้มาตรการช่วยเหลือแบบปูพรมและให้แบบจัดเต็ม เพราะตอนนั้นยังประเมินว่าวิกฤตโควิด-19 รุนแรงแต่ไม่ยาวนาน

101 ยังคุยลึกลงไปถึงรายละเอียดของมาตรการการเงินชุดใหม่ของ ธปท. กับผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผ่านการออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งทำให้เกิดสองมาตรการใหม่อย่าง ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ ที่ขยายระยะเวลาและวงเงินการให้สินเชื่อจากมาตรการเดิม ทั้งยังขยายความครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กมากขึ้น และมาตรการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สูง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว

ในฝั่งมาตรการทางการคลัง เราก็ยังคงเห็นหลากหลายโครงการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐต่อเนื่อง ทั้งคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ กระนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการอัดฉีดเศรษฐกิจของรัฐดูเหมือนจะยังน้อยเกินไป และการกู้เงินเพิ่มก็เป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลานี้ โดยฉัตร คำแสงเขียนไว้ในบทความ ‘สร้างหนี้ทะลุเพดาน = โง่?’ ซึ่งตอบโต้คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “ผมไม่โง่กู้ถึง 60% โดยที่มันผิดกฎหมายหรอก” โดยฉัตรชี้ว่าประเทศไทยกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ต่ำ จนเป็นข้อจำกัดในการใช้จ่ายเงินของรัฐในยามวิกฤต และที่สำคัญการกำหนดตัวเลขเพดานหนี้ตายตัวเป็นเรื่องที่มีหลักฐานทางวิชาการน้อย จึงไม่ควรยึดติดกับเพดานหนี้ในยามนี้ที่เราจำเป็นต้องใช้เงินมาก เช่นเดียวกับสันติธารก็มองว่าการกู้เพิ่มเป็นเรื่องจำเป็นแม้จะต้องเกินกรอบเพดานหนี้ก็ตาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอีดฉีดทางเศรษฐกิจสำคัญมากในห้วงเวลาแห่งวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตามเศรษฐพุฒิให้ความเห็นว่า “นโยบายการเงินการคลังเป็นแค่ตัวประกอบในวิกฤตครั้งนี้เท่านั้น ‘วัคซีน’ ต่างหากคือทางออกที่แท้จริง” เพราะไม่เช่นนั้น การระบาดก็ไม่จบสิ้น และนั่นก็หมายถึงการใช้เงินเยียวยาทางเศรษฐกิจที่จะไม่จบสิ้นเช่นกัน

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย เขียนในบทความ ‘วัคซีนที่ล่าช้า คือต้นทุนและความทุกข์ยากของพี่น้องคนไทย’ ว่าวัคซีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากเป็นพิเศษ ด้วยความที่เราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนสูงมาก การมีแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ชัดเจนและรวดเร็วจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย

สันติธารให้ข้อเสนอแนะภายใต้ V-Vaccine ถึงยุทธศาสตร์วัคซีนที่ต้องให้ความสำคัญกับ 3 มิติคือ ‘ซัพพลาย’ (Supply) หมายถึงต้องมีวัคซีนมากพอและมียี่ห้อหลากหลาย ตามด้วย ‘การกระจายวัคซีน’ ที่ต้องคิดลำดับความสำคัญให้ดีว่าใครควรได้วัคซีนก่อนหรือหลัง และ ‘ดีมานด์’ (Demand) คือการจูงใจให้คนกล้าฉีดวัคซีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามประเด็นการจัดการวัคซีนของรัฐกลายเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยจากสาธารณชนตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ดูล่าช้าไม่ทันการณ์ การเลือกยี่ห้อวัคซีนที่ไม่หลากหลายจนเสมือนการแทงม้าเพียงไม่กี่ตัว และการกระจายวัคซีนต่อคนแต่ละกลุ่มที่ดูไม่เป็นไปตามแผนลำดับความสำคัญ ซึ่งล้วนถูกมองว่าเป็นต้นเหตุให้ประเทศต้องเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องสังเวยชีวิตผู้คนมหาศาล ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

ปัญหาวัคซีน ผนวกกับปัญหาการจัดการระบาดและการประคองเศรษฐกิจ กลายเป็นชนวนสำคัญที่ดึงให้คนพากันตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของรัฐไทย พร้อมกับดับความหวังคนไทยหลายคนต่ออนาคตประเทศจนมอดลง แม้ตอนนี้การกระจายวัคซีนในประเทศไทยจะเริ่มอยู่ตัว โดยมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสไปแล้วเกินกว่าร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ บวกกับสถานการณ์การระบาดที่ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง จนทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น เริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้ความสิ้นหวังต่อประเทศลดน้อยถอยลง

ไวรัสแห่งความสิ้นหวังระบาดหนัก

#ย้ายประเทศกันเถอะ กลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่บนโลกออนไลน์ในช่วงปีที่ผ่านมา แม้เราจะไม่รู้ว่าคนที่คิดจะย้ายประเทศจริงจังมีมากน้อยขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ สิ่งนี้ทำให้เรารู้ว่าคนที่รู้สึกสิ้นหวังต่ออนาคตของประเทศมีอยู่มากมายมหาศาล

ต่อให้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ก็ใช่ว่าการระบาดของ ‘ไวรัสแห่งความสิ้นหวัง’ จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะอันที่จริงโควิด-19 เป็นเพียงโรคแทรกซ้อนหนึ่งของประเทศที่กำลังป่วยเรื้อรังมานานร่วมทศวรรษ

กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์เคยเขียนบทความวิชาการไว้ในหัวข้อ ‘The Thai Economy: A Lost Decade?’ เมื่อปี 2019 กฤษฎ์เลิศชี้ว่าประเทศไทยอยู่ในช่วง ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ ในช่วงปี 2006-2015 หลังเกิดการรัฐประหาร สะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้ามาก และยังต่ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จากปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งการขาดการพัฒนาผลิตภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาการศึกษา และความเหลื่อมล้ำ ผสมโรงกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตการเมืองของไทยเอง

ปีนี้กฤษฎ์เลิศได้มาสนทนาประเด็นนี้กับ 101 ซึ่งก็ชี้ว่าสภาวการณ์เศรษฐกิจไทยจนถึงตอนนี้ก็ดูเหมือนยังไม่ดีขึ้น จึงเสี่ยงมากที่เราจะเข้าสู่ทศวรรษที่สองของการสูญหาย ขณะที่โควิด-19 ก็เข้ามาซ้ำเติมและเพิ่มความท้าทายมากขึ้น และถึงแม้การระบาดจะสิ้นสุด แต่โควิด-19 จะยังทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้หลายแผล ทั้งปัญหาหนี้ ทักษะแรงงานที่หายไป ลูกค้าและห่วงโซ่อุปทานที่หายไป ปัญหาการศึกษา รวมทั้งความเหลื่อมล้ำ และที่สำคัญ กฤษฎ์เลิศยังมองว่าสิ่งที่ประเทศไทยกำลังขาดมากที่สุดในการจะพาประเทศหลุดพ้นจากความสูญหายได้ก็คือ ‘ความหวัง’

ในประเด็นการเข้าสู่สองทศวรรษที่สูญหาย 101 ยังได้พูดคุยกับพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย และสฤณี อาชวานันทกุล ทั้งคู่เห็นพ้องกันว่าปัญหาใหญ่ที่ฉุดไทยสู่ความสูญหายก็คือปัญหาการเมืองภายใต้ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การถกเถียงเชิงนโยบายอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการที่นโยบายของรัฐไม่สะท้อนความต้องการของคนในประเทศ และยังขาดซึ่งความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง ดังนั้นหากประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยากที่จะออกจากความสูญหาย

ขณะที่มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ซึ่งก็ได้มาพูดคุยกับ 101 มีแนวคิดที่สอดคล้องกันว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาความเปราะบางหลายด้านมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ทั้งการพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป การขาดการพัฒนาทักษะแรงงานระดับสูง การพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากเกินไป การถดถอยของการลงทุนจากต่างประเทศ สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการกระจายอำนาจที่ไม่มากพอ ถึงแม้ประเทศไทยจะได้รับการยกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงเมื่อปี 2011 แต่ความสำเร็จยังต่ำกว่าในอดีตมาก จนเชื่อว่าจะติดกับรายได้ปานกลางอีกยาวนาน มิ่งสรรพ์จึงให้นิยามเศรษฐกิจไทยไว้ว่า ‘โชติช่วงแต่ยังไม่ชัชวาล’

ทั้งหมดนี้ล้วนมีแนวคิดเดียวกัน คือการย้ำเตือนว่าหากรัฐไทยยังไม่มุ่งแก้ไขปัญหาที่หมักหมมและปรับตัวพาประเทศรับโลกใหม่อย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยก็จะดำดิ่งสู่หลุมลึกอย่างไม่เห็นหนทางกลับขึ้นมาได้ ปรากฏการณ์คนไทยพากันโบยบินออกนอกประเทศจึงอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาอีกไม่ไกลนัก 

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ชวนคนไทยถอดบทเรียนจากไต้หวัน ในบทความ ‘ชิปหาย–คนรุ่นใหม่–สมองไหล: ชิป 3 นาโนเมตรของไต้หวันกับรัฐสภาหมื่นล้านของไทย’ โดยเล่าว่าครั้งหนึ่งไต้หวันก็เคยเจอปัญหาคนรุ่นใหม่สมองไหล แต่ที่สุดก็ตัดสินใจปรับเปลี่ยนบรรยากาศเศรษฐกิจสังคม เปิดพื้นที่ ขยายโอกาส และสร้างความหวังให้คนรุ่นใหม่ ดึงสมองไหลกลับมาช่วยพัฒนาประเทศ จนสามารถขึ้นมายืนหยัดเป็นหนึ่งในเจ้าแห่งเทคโนโลยี ผู้ครอบครองตลาดชิปของโลก และกำลังเดินหน้าสู่การผลิตชิปที่เล็กที่สุดในโลก สวนทางกับรัฐไทยที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ตั้งความฝันไว้กับเรื่องอย่างการสร้างรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามที่ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ในไทยถึงคิดอยากออกนอกประเทศ

ถึงเวลาพาประเทศไทยตั้งหลักใหม่

สถานการณ์ต่างๆ ในไทยตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ล้วนเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนสีแดง ที่กำลังดังลั่นเตือนให้ประเทศไทยต้องไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้น เราก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินหน้าสู่การเป็นเศรษฐกิจไร้ความหวัง-ไร้อนาคต  

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา 101 ได้เผยแพร่หลากทัศนะของนักคิด นักเขียน นักวิชาการในแวดวงต่างๆ ถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด-19 พร้อมกับหลายข้อเสนอนำพาประเทศไทยกลับมายืนตั้งหลักเผชิญหน้ากับโลกใหม่ ผ่านทั้งบทความ บทสัมภาษณ์ต่างๆ รวมทั้งคอลัมน์พิเศษคอลัมน์ใหม่ในชื่อ ‘Thailand: The Great Reset ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ โดยแต่ละคนต่างให้แง่คิดน่าสนใจในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านไว้ดังนี้

กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ พูดถึงเมกะเทรนด์ (megatrends) ที่ประเทศไทยต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองโลก พร้อมให้ข้อเสนอแนะถึงการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจว่าควรคำนึงถึง 4 มิติ มิติแรกคือ ‘ความเจริญรุ่งเรือง’ ทำอย่างไรให้เรามั่งคั่งขึ้น มิติต่อมาคือ ‘ความยืดหยุ่น’ ต้องมีความสามารถในการปรับตัวและรับมือผลกระทบที่เข้ามา มิติที่สามคือ ‘ความยั่งยืน’ มองระยะยาวด้วยว่าเราจะโตไปทางไหน และมิติที่สี่คือ ‘การเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง’ จะทำอย่างไรให้เราเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้กฤษฎ์เลิศยังมองว่าสิ่งสำคัญคือการสร้าง ‘ความหวัง’ ให้กับคนไทย โดยต้องสร้างความเสมอภาคทางโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และต้องปฏิรูปภาครัฐให้ลดการรวมศูนย์ไปสู่การกระจายอำนาจมากขึ้น

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มองว่าประเทศไทยจะต้องมองหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่หาเงินให้ประเทศ แต่ต้องสะสมทุนได้ด้วย อย่างภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องมีการอัปเกรดเทคโนโลยีและพัฒนาทักษะแรงงาน ส่วนการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักมาตลอดก็ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน โดยการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้มากขึ้น หาทางให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น ปรับการท่องเที่ยวให้สอดรับเทรนด์โลกอย่างเทรนด์สุขภาพและเทรนด์สิ่งแวดล้อม ดึงเศรษฐกิจฐานรากอย่างสินค้า-ภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมามีบทบาท และพยายามสร้างประสบการณ์ระยะยาวให้นักท่องเที่ยวมากขึ้นแทนที่จะเป็นการเที่ยวครั้งเดียวจบ  นอกจากนี้มิ่งสรรพ์ยังเสนอเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างการเข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการกระจายอำนาจให้มากขึ้น

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มองว่ามาตรการเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาวมากขึ้น หลังจากที่เน้นเยียวยาเป็นหลักมานาน โดยพูดถึงการใช้ดิจิทัลที่สามารถเข้ามาช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยได้หลายด้าน การให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้นตามกระแสโลก การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสเพื่อปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจของคนระดับฐานราก รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการ เพิ่มการกระจายอำนาจ และลดความซับซ้อนของข้อระเบียบกฎหมายต่างๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

สันติธาร เสถียรไทย ให้สัมภาษณ์กับ 101 ไว้ในบทความ ‘Remake โลกสู่เวอร์ชันใหม่ บนโลกปัจจุบันอันไร้ความแน่นอน กับ สันติธาร เสถียรไทย’ โดยพูดถึงตัว D 6 ตัว ได้แก่ Debt (หนี้), Divided (ความไม่เท่าเทียม), Divergence (การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ), Deglobalization (กระแสโลกาภิวัตน์ที่ถดถอย), Degradation (ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม) และ Digitalization (การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล) ซึ่งล้วนเป็นเทรนด์โลกที่ส่งผลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายในโลกหลังโควิด-19 ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ถึงเวลาต้องหันมาทบทวนจุดเด่นของแบรนด์ประเทศตัวเอง แล้วนำจุดเด่นเหล่านั้นมาผสมผสานกันจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ซอฟต์พาวเวอร์ใหม่ๆ ซึ่งสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศด้วยการสร้างประสบการณ์ทางดิจิทัล นอกจากนี้รัฐไทยยังต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมากขึ้น โดยต้องพัฒนาทักษะความสามารถคน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และปฏิรูปกฎกติกาให้รองรับ และที่สำคัญระบบราชการต้องปฏิรูปโดยการนำหลักคิดของการบริหารแพลตฟอร์มมาใช้กับรัฐ

ฉัตร คำแสง ในบทความ ‘ความมั่งคั่งของชาติ การก้าวข้ามตัวเลข GDP และนัยยะจาก Code Red ด้านสภาพภูมิอากาศ’ พูดถึงการเลิกยึดติดกับการใช้ตัวเลข GDP วัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากเกินไป เพราะไม่สามารถวัดได้หลายเรื่อง ที่สำคัญคือไม่สามารถวัดการสะสมทุน ซึ่งบ่งบอกถึงการสั่งสมความมั่งคั่งของชาติได้ โดยการสะสมทุนของไทยจัดว่ากำลังอยู่ในความเสี่ยงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจทำลายทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ ฉัตรจึงเสนอให้ประเทศไทยเริ่มวัดทุนทางสิ่งแวดล้อมอย่างให้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น  

ในอีกบทความของฉัตรเรื่อง ‘โรคสมองกับกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กันในภาครัฐ’ ซึ่งสาธยายปัญหาของระบบรัฐไทยที่มีความเทอะทะ ทำงานสะเปะสะปะ ไม่สอดประสานกัน ฉัตรเสนอว่าหากประเทศจะไปต่อได้ การปฏิรูประบบราชการเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ด้วยการตัดทอนระเบียบกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพออก จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ให้กระชับขึ้น กระจายอำนาจมากขึ้น และต้องทำงานให้เหมือนกับสตาร์ทอัพมากขึ้น

ในบทความ ‘ประเทศไทยพร้อมหรือยัง?: เมื่อหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังจะ disrupt ตลาดแรงงานไทย’ ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย ชี้ว่าแรงงานไทยหลายกลุ่มกำลังมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทักษะให้เท่าทัน ขณะที่รัฐก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทยมหาศาล โดยเฉพาะการเพิ่มปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ เขียนหลายบทความตลอดปีที่ผ่านมาในคอลัมน์ใหม่ Dancing with Leviathan ซึ่งชวนถอดบทเรียนจากนานาประเทศประสบความสำเร็จในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจขั้นสูง โดยประเทศเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘เสือเศรษฐกิจ’ เพื่อนำมาสู่แนวทางการพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวหน้าและสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนใหม่ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ และการมีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น

ตลอดปีที่ผ่านมา 101 ยังจับตาเทรนด์เศรษฐกิจแห่งโลกอนาคตอีกหลายประเด็น เช่น เทรนด์เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งกำลังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยหลายมิติ ทั้งประเด็นแรงงาน การพัฒนาเมือง และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านคอลัมน์พิเศษ ‘Platform Economy’ และอีกเทรนด์ใหญ่ที่คนไทยกำลังให้ความสนใจ นั่นคือเทรนด์เงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งกำลังเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในตลาดเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก โดย 101 ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ผ่านหลายบทความและบทสัมภาษณ์ เช่น การเงินและการธนาคารในโลกคริปโต และ NFT กับเส้นทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของวิมุต วานิชเจริญธรรม รวมถึงบทสัมภาษณ์เรื่อง ‘เจาะกระแส มองอนาคต Cryptocurrency’ กับสถาพน พัฒนะคูหา

นับถอยหลังสู่ปี 2022 เรากำลังตื่นจากฝันร้าย…จริงหรือ?

เศรษฐกิจโลกปีหน้าได้รับการคาดการณ์ว่ายังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย IMF คาดว่าโตได้ที่ร้อยละ 4.9 พร้อมกับประมาณการเศรษฐกิจไทยว่าจะดีดตัวขึ้นมาโตได้ร้อยละ 4.5 ขณะที่กระทรวงการคลังคาดไว้ที่ร้อยละ 4.0 จากแนวโน้มการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว

แต่นั่นคือการคาดการณ์ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา วันนี้เศรษฐกิจโลกกำลังเจอความเสี่ยงใหม่จากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งกำลังทำให้หลายประเทศกำลังก้าวถอยหลังมาใช้มาตรการคุมเข้มกันอีกครั้ง หลังเพิ่งจะเริ่มตั้งตัวเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจกันได้ไม่นาน

นอกจากโควิด-19 แล้ว มีอีกหลายประเด็นที่อาจกระทบเศรษฐกิจเราได้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเกมการแข่งขันบนเวทีภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังทวีความตึงเครียด และการเมืองไทยที่อาจร้อนแรงขึ้นได้ทุกขณะ

แต่ต่อให้ปี 2022 จะเป็นไปอย่างราบรื่น เศรษฐกิจเราอาจโตได้ตามที่คาดไว้ แต่นั่นก็ใช่ว่าเราจะตื่นจากฝันร้าย เพราะหลังเกิดโควิด-19 โลกนี้ช่างเปลี่ยนไปมหาศาลเกินกว่าที่เราจะมาให้ความสำคัญกับแค่ตัวเลขการฟื้นตัว

หากเรายังไม่เริ่มตั้งหลักใหม่ประเทศไทยให้พร้อมเผชิญหน้าโลกใหม่เสียแต่วันนี้ เราอาจต้องดำดิ่งสู่ฝันร้ายไปอีกนานแสนนาน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save