fbpx
การศึกษาและต้นทุนในระยะยาวของเศรษฐกิจถดถอย

การศึกษาและต้นทุนในระยะยาวของเศรษฐกิจถดถอย

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีความรุนแรงยิ่งขึ้น และสร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเกินกว่าที่คาด จึงปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียงร้อยละ 0.7 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายนว่าจะโตร้อยละ 1.8  

อัตราการเติบโตเพียง 0.007 นี้ บ่งบอกว่ามูลค่าการผลิตและรายได้ของไทยในปีนี้จะไม่ต่างจากปีก่อนหน้าเท่าใดนัก

และหากมองย้อนกลับไปในปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยได้ซึมซับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เกือบตลอดทั้งปี เราพบว่า จีดีพีของไทยหดตัวลงจากปีก่อนหน้า (2562) ในอัตราสูงถึงร้อยละ 6.1 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

รูปที่ 1: มูลค่าจีดีพีและรายได้ต่อหัวของประเทศไทย 2561-2563
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดังนั้น เมื่อเชื่อมต่อข้อมูลในอดีตเข้ากับปัจจุบัน เราจะพบว่า หากในปีนี้ จีดีพีของไทยเติบโตในอัตราเดียวกันกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้จริง ผลผลิตของประเทศไทยและรายได้ต่อหัวในปี 2564 นี้จะถดถอยลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อ 3 ปีก่อน (ปี 2561) เลยทีเดียว (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)  

อันที่จริง เศรษฐกิจมหภาคย่อมต้องเผชิญกับความผันผวนในรายได้ ผลผลิต และการจ้างงาน ในลักษณะเป็นวัฏจักรอยู่แล้ว ดังที่นักวิเคราะห์มักเรียกกันว่าเป็น ‘วัฏจักรธุรกิจ’ (business cycle) กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจจะมีช่วงของภาวะถดถอยสลับกันกับช่วงที่เติบโตต่อเนื่องอยู่เป็นนิตย์ ฉะนั้น เมื่อใดที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ช่วงระยะของการเติบโต ทั้งการผลิต รายได้และการจ้างงานที่หดหายไปในช่วง 2 ปีนี้ ก็จะกลับคืนมา และความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำก็จะเป็นเพียงเหตุการณ์ในอดีต  

หากตีกรอบการวิเคราะห์ความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ไว้เพียงแค่ขาลงของวัฏจักรธุรกิจ เราอาจสามารถคำนวณค่าออกมาเป็นตัวเลขได้จาก ‘มูลค่าจีดีพีที่เกิดขึ้นจริง’ กับ ‘มูลค่าจีดีพีในกรณีที่ไม่เกิดการระบาดของโควิด’

ในโลกสมมติที่ปราศจากการระบาดของโควิด-19 เราอาจวาดภาพว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในอัตราคงที่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (สมมติขึ้นโดยอิงจากอัตราเติบโตของจีดีพีในปี 2562) ดังนั้น รายได้ประชาชาติของไทยในเหตุกรณ์สมมตินี้จะเท่ากับ 1.73 ล้านล้านบาท และ 1.77 ล้านล้านบาท ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ (แสดงในรูปที่ 1 ภายใต้ชื่อ ประมาณการจีดีพี)

ตัวเลขนี้สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์เพื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในโลกความเป็นจริง ซึ่งมีมูลค่าจีดีพีเท่ากับ 1.569 ล้านล้านบาท ในปี 2563 และคาดว่าจะเท่ากับ 1.5777 ล้านล้านบาท ในปี 2564 นี้

เราจึงเห็นว่าส่วนต่างของจีดีพีระหว่างโลกสมมติที่ไม่มีโควิดกับโลกความเป็นจริงของ ปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ 1.61 แสนล้านบาท และ 1.93 แสนล้านบาท ตามลำดับ และมูลค่าของส่วนต่างนี้ก็บ่งบอกถึงรายได้ที่เราสูญเสียไปจากการเกิดวิกฤติโควิดในช่วง 2 ปีนี้

อย่างไรก็ดี ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์นั้นมิได้มีเพียงแค่มูลค่าจีดีพีที่สูญเสียไปในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ความเสียหายในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ในลักษณะ ‘ผลกระทบที่ฝังลึกถาวร’ ด้วย

งานวิจัยของไบรอัน สจ๊วต (Bryan Stuart) เรื่อง ‘The Long-run Effects of Recessions on Education and Income‘ ซึ่งกำลังจะได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร American Journal of Economics: Applied Economics พยายามประเมินถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของเศรษฐกิจถดถอยในประเทศสหรัฐฯ ช่วง ค.ศ. 1980-1982 และประมวลออกมาในรูปของทรัพยากรที่เราสูญเสียไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษ 70’s นั้นประสบภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักในช่วงต้น ค.ศ. 1980

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะถดถอยในช่วง 7 เดือนแรกของ ค.ศ. 1980 ถึงแม้จะเริ่มฟื้นตัวได้ในเดือนสิงหาคมก็ตาม แต่ทว่าในปีถัดมานั้น อัตราดอกเบี้ยที่ถูกธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตรึงไว้ในระดับสูงต่อเนื่อง (เพราะยังคุมให้เงินเฟ้อลดลงไม่ได้) ได้กลายเป็นปัจจัยลบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง ในเดือนกรกฎาคม 1981 และต้องใช้เวลาถึง 1 ปี 4เดือน กว่าที่จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ดังนั้นช่วง ค.ศ. 1980-1981 จึงมีความ ‘พิเศษ’ เหมาะสำหรับการศึกษาวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องผลกระทบที่เกิดจากภาวะ ‘ซึมยาว’ ทางเศรษฐกิจ เพราะในภาวะดังกล่าว ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงต่อเนื่องและรายได้ของครัวเรือนหดหายไปยาวนาน กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาของผู้คนในขณะนั้น เพราะนักเรียนจำนวนมากตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เพราะคิดว่าตัวเองคงไม่สามารถแบกรับภาระการใช้คืนเงินกู้เพื่อการศึกษาได้

นักเศรษฐศาสตร์แรงงานถือว่า โอกาสทางการศึกษาที่หายไปนี้เป็นความสูญเสียของสังคมในการสั่งสมทุนมนุษย์ (human capital)

ทุนมนุษย์นั้นไม่แตกต่างจากทุนกายภาพ (เช่น เครื่องจักร เครื่องมือ ฯลฯ) ที่ช่วยให้แรงงานสามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้นจากแรงงานที่มี โดยคนเราสามารถสั่งสมทุนมนุษย์ได้จากหลากหลายช่องทาง อาทิ จากการศึกษา หรือจากการสั่งสมประสบการณ์การทำงาน ทุนมนุษย์ไม่เพียงช่วยเพิ่มผลิตภาพการทำงานให้กับตัวแรงงานเองเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของเพื่อนร่วมงานได้อีกด้วย

กลไกราคาในตลาดแรงงานย่อมให้ผลตอบแทนที่สูงกับแรงงานที่มีทุนมนุษย์ในระดับสูง (นายจ้างมักให้ผลตอบแทนการทำงานหรือเงินเดือนตามระดับความรู้และประสบการณ์การทำงาน) ดังนั้น ทุนมนุษย์ที่หดหายไปย่อมส่งผลต่อเนื่องไปถึงรายได้ของแรงงานด้วย

สจ๊วตพยายามที่จะประเมินถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการที่คนจำนวนหนึ่งเสียโอกาสทางการศึกษาไปเพราะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งตามระเบียบวิธีวิจัยนั้น เขาต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบกับ ‘สิ่งที่อาจเกิดขึ้นหากไม่มีเศรษฐกิจถดถอย’ ซึ่งตัวเปรียบเทียบนี้ นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถเก็บข้อมูลจริงได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในความเป็นจริง

อย่างไรก็ดี สจ๊วตแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยอาศัยแบบจำลองทางเศรษฐมิติที่เรียกว่า Difference-in-Differences Regression ซึ่งเป็นเสมือนการสร้าง ‘โลกคู่ขนาน’ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขึ้นมา โดยโลกคู่ขนานที่ว่านี้หมายถึงระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปราศจากภาวะถดถอยในช่วงเวลาดังกล่าว จากนั้นก็ทำการประเมินต้นทุนค่าเสียโอกาส โดยเปรียบเทียบระดับการศึกษาและรายได้ของกลุ่มตัวอย่างในความเป็นจริงกับคนในโลกคู่ขนาน (ที่สร้างขึ้น)

สจ๊วตใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลสำมะโนประชากรซึ่งครอบคลุมประชากรจำนวน 23 ล้านคนที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1950-1979 รวมทั้งชุดข้อมูลสำรวจจากฐานข้อมูลผู้ประกันตนของสหรัฐฯ โดยดึงกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย มาสร้างเป็นกลุ่มตัวอย่างในโลกคู่ขนาน (หรือกลุ่มตัวอย่างสำหรับเปรียบเทียบกับโลกความเป็นจริง) ซึ่งในชุดข้อมูลดังกล่าว มีสารสนเทศทั้งวันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด ระดับการศึกษาสูงสุดที่บรรลุ และรายได้/ค่าจ้างที่ได้รับเมื่อคนกลุ่มนั้นเข้าสู่ตลาดแรงงานในเวลาต่อมา

แบบจำลองเศรษฐมิตินี้พบว่า ช่วงเศรษฐกิจถดถอยในช่วง ค.ศ. 1980-1982 นั้น ทุกๆ 10% ของรายได้ต่อหัวที่ลดลงไป ส่งผลให้จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเวลาต่อมา ลดลงไป 10 % และทำให้รายได้ในวัยทำงานของกลุ่มตัวอย่างหายไป 3%

ผลการคำนวณดังกล่าวนำมาสู่ข้อสรุปว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาสของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในช่วง ค.ศ. 1980-1982 คือจำนวนบัณฑิตระดับปริญญาตรีที่หายไปราว 0.8-1.8 ล้านคน และรายได้ที่บัณฑิตเหล่านั้นสามารถสร้างได้ในช่วงวัยทำงานประมาณ 42-87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจที่ถดถอยยาวนานสามารถสร้างความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ที่ฝังลึกยาวนานได้

อย่างไรก็ดี ในวิกฤติโควิด-19 นี้มีมิติของความสูญเสียทุนมนุษย์ที่แตกต่างไปจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งอื่นๆ

กล่าวคือ ความเสียหายนั้นไม่ได้มาจากคนที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปสู่คนที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาทุกระดับอีกด้วย เนื่องจากในวิกฤติครั้งนี้ โรงเรียนและสถานศึกษาต้องปิดตัวลงตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้เรียนขาดโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในสถานศึกษา รวมทั้งไม่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้อย่างเต็มที่กับอาจารย์และเพื่อนนักเรียน-นักศึกษา เพราะต่างต้องแยกตัวมาเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน ดังนั้นจึงเกิดเป็นประเด็นชวนคิดตามมาว่า มิติเรื่อง ‘คุณภาพ’ ของการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียนรู้ทางไกลนี้ จะซ้ำเติม ลดทอนทุนมนุษย์ และเพิ่มต้นทุนของเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาวมากน้อยเพียงใด

งานวิจัยเรื่อง ‘Learning Loss due to School Closures during the Covid-19 Pandemic‘ ซึ่งศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า การปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ (ในช่วงระหว่างวันที่ 16 มีนาคม-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2563) มีผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นประถมศึกษาที่มีช่วงอายุระหว่าง 8 ถึง 11 ปี ลดลงต่ำกว่าการเรียนในห้องเรียนปกติ

คณะผู้วิจัยอาศัยผลสอบระดับประเทศในวิชาหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ ทักษะการเขียน และทักษะการอ่าน ที่มีการสอบ 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นการสอบวัดผลกลางปีการศึกษา และอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการสอบปิดท้ายปีการศึกษา

ในปี 2563 นี้ การสอบวัดผลกลางปีการศึกษาเกิดขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 ในขณะที่การสอบปลายภาคเกิดขึ้นในช่วงของการระบาด และหลังจากที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน ดังนั้น หากการเรียนออนไลน์ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เราจะเห็นได้ผลนั้นได้จากคะแนนสอบของนักเรียนในตอนปลายภาค และจากพัฒนาการของการเรียนรู้เมื่อเทียบกับคะแนนที่ได้ในตอนกลางภาค

ผู้วิจัยใช้ผลต่างของอันดับคะแนน (ระหว่างอันดับจากผลสอบปลายภาคเทียบกับอันดับจากผลสอบกลางภาค) เป็นตัวชี้วัดพัฒนาการของการเรียนรู้ระหว่างการสอบระดับประเทศในปีการศึกษา 2563 และใช้ผลต่างของอันดับคะแนนของนักเรียนกลุ่มอายุเดียวกันในช่วงปี 2560-2562 เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ (แบบจำลองที่งานวิจัยนี้ใช้ก็เป็นแบบจำลอง Difference-in-Differences เช่นเดียวกับงานของไบรอัน สจ๊วต)

ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนในปี 2563 มีการเรียนรู้ที่ต่ำกว่ากลุ่มนักเรียนในปีก่อนหน้าในทุกวิชา นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียนที่มีผลการเรียนถดถอยมากนั้น โดยส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับสูง และมาจากครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกมาก

งานศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์มีความน่าสนใจหลายประการ อาทิ คุณภาพการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นจัดได้ว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก โรงเรียนแต่ละแห่งได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในจำนวนที่เท่าเทียมกันทำให้คุณภาพของโรงเรียนไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ละครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวก อีกทั้งการปิดโรงเรียนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ก็ถือว่าสั้นกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ดังนั้นจึงถือได้ว่าการประเมินผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนประถมศึกษาในเนเธอร์แลนด์เป็น best case scenario

กล่าวคือ ความสูญเสียในการเรียนรู้ของนักเรียนประถมศึกษาที่พบในงานวิจัยนี้ ถือได้ว่าเป็นความเสียหายขั้นต่ำหรือความเสียหายที่น้อยที่สุดภายใต้สถานการณ์โควิดครั้งนี้ ซึ่งคณะผู้วิจัยเชื่อว่าความสูญเสียในการเรียนรู้ที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้มีมาตรฐานการศึกษาหรือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตดีเท่าเนเธอร์แลนด์ จะมีมากกว่านี้

มาถึงบรรทัดนี้ ก็ชวนให้มองย้อนกลับมาที่ประเทศเราที่มาตรฐานการศึกษาด้อยกว่าเนเธอร์แลนด์มาก ซ้ำร้ายยังต้องให้นักเรียนนักศึกษาเรียนออนไลน์ มายาวนานเกือบปีแล้ว สุดท้ายแล้วความสูญเสียในทุนมนุษย์ของแรงงานไทยในอนาคตนั้นจะมากเพียงใด

เพราะ ณ วันนี้ เรายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยว่า เมื่อใดที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ดังเดิม


บทความอ้างอิง

Bryan Stuart “The Long-Run Effects of Recessions on Education and Income,” American Economic Journal: Applied Economics, Forthcoming

Per Engzell, Arun Frey, Mark D. Verhagen “Learning loss due to school closures during the COVID-19 pandemic” Proceedings of the National Academy of Sciences  April 2021, 118 (17) e2022376118; https://doi.org/10.1073/pnas.2022376118

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save