fbpx
ส่องเศรษฐกิจปีวัว From Home

ส่องเศรษฐกิจปีวัว From Home

วิมุต วานิชเจริญธรรม เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

 

ซอยลาดพร้าว 130 หรือซอยมหาดไทย 2 ในยามค่ำคืนวันนี้ แม้จะมีรถยนต์วิ่งเข้าออกบ้าง แต่ก็เทียบไม่ได้กับบรรยากาศในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปี 2562

เดิมทีนั้นซอยมหาดไทย 2 เป็นซอยตัน ซึ่งสามารถเข้ามาได้จากทางถนนลาดพร้าวเท่านั้น และเมื่อเข้ามาจนสุดซอยจะไม่สามารถไปเชื่อมต่อกับถนนรามคำแหงได้ เพราะซอยขาดลงที่คลองแสนแสบ ผู้ที่ใช้เส้นทางนี้สัญจรจึงมีเพียงคนที่อาศัยอยู่ในซอยมหาดไทย 2 เท่านั้น ดังนั้นซอยนี้จึงเงียบสงบมาก ทั้งในช่วงกลางวัน (ที่คนส่วนใหญ่ออกไปเรียนหรือทำงาน) และในยามราตรี (เมื่อทุกบ้านเข้านอน)

แต่หลังจากที่ กรุงเทพมหานครได้สร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบ เชื่อมต่อท้ายซอยมหาดไทย 2 กับซอยรามคำแหง 81 เส้นทางเส้นนี้จึงได้พบกับโอกาสทางธุรกิจที่ช่วยเพิ่มพูนมูลค่าทางเศรษฐกิจและช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชนนี้

ที่ดินว่างเปล่าที่เคยถูกปล่อยให้รกร้างจนกลายมาเป็นที่ทิ้งขยะสาธารณะ ถูกกว้านซื้อไปเพื่อพัฒนาให้เป็นอาคารที่พักอาศัยสูง 8 ชั้น

คอนโดและโรงแรมเริ่มผุดขึ้นตลอดแนวสองข้างทาง

และเมื่อภาคการท่องเที่ยวของไทยเฟื่องฟู ธุรกิจในซอยนี้ก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย

ผู้ประกอบการต่างปรับเปลี่ยนกิจการของตนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน

พื้นที่ลานจอดรถหน้าโรงแรม เริ่มปรากฏคาราวานรถทัวร์สองชั้นเข้ามาจอดแทนที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และในช่วงค่ำๆ คนในซอยก็เริ่มชินตากับภาพขบวนรถทัวร์ที่วิ่งเข้ามาส่งนักท่องเที่ยวกลับโรงแรม

ไม่เพียงแค่ธุรกิจโรงแรมเท่านั้น ร้านค้าในซอยต่างปรับตัวเพื่อรองรับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวจีน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านนวดแผนโบราณ รวมถึงร้านค้าปลีกที่นำสินค้ายอดนิยมของทัวร์จีนมาวางขาย

แม้แต่ร้านสะดวกซื้อตรงข้ามบ้านยังต้องจัดชั้นวางสินค้าพิเศษที่มีป้ายภาษาจีนกำกับ

ค่ำคืนในซอยนี้ไม่เงียบเหงา เพราะแม้จะดึกดื่นเพียงใด ก็ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเดินกันอยู่ เสียงพูดคุยภาษาจีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศยามราตรี แม้บางครั้งจะทำให้คนในบ้านเรือนริมทางตกใจบ้าง เพราะเสียงคุยกันนั้นดังเข้ามาถึงในตัวบ้าน

แต่หลังจากการระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในช่วงต้นปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ดังเดิม และซอยมหาดไทย 2 นี้ก็กลับสู่ความเงียบเหงาอีกครั้ง

ไม่มีรถทัวร์วิ่งเข้าออก ไม่มีเสียงคนจีนคุยกันตอนดึกๆ และไม่มีกำลังซื้อมาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและร้านค้าในซอยนี้

ภาพเศรษฐกิจในซอยเล็กๆ ซอยหนึ่งในกรุงเทพนี้ สะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศเราในปีที่เพิ่งผ่านพ้นไปได้เป็นอย่างดี

 

ปี 2563 ปีแห่งธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ถดถอยและรายได้ที่หดหาย

 

ในภาพรวม ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยประสบภาวะถดถอยรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 จากการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฎว่าช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 นี้ มูลค่าของผลผลิตมวลรวมหรือจีดีพีรายไตรมาส มีอัตราการหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.7 ต่อปี โดยในไตรมาสที่สองของปี 2563 ที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์นั้น อัตราการหดตัวของผลผลิตมวลรวมมีความรุนแรงใกล้เคียงกับสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งเลยทีเดียว (อัตราหดตัวของจีดีพีในไตรมาสที่สอง เท่ากับร้อยละ 12.15 เทียบกับอัตราหดตัวในไตรมาสที่สามของปี 2540 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 12.5)

ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่รุนแรงเช่นนี้ ตัวเลขหนึ่งที่บอกถึงวิบากกรรมในระบบเศรษฐกิจได้ดีคือตัวเลขการว่างงาน

แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีอัตราว่างงานต่ำที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ อัตราว่างงานของไทยมักไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี แต่การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้อัตราการว่างงานของไทย กระโดดขึ้นเหนือร้อยละ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2563 และยังคงรักษาระดับอยู่ราวๆ นี้ จวบจนสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (ดูภาพที่ 1 ประกอบ)

การสำรวจภาวะการทำงานเดือนพฤศจิกายน 2563 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จำนวนคนว่างงานในเดือนดังกล่าวมีอยู่รวม 7.8 แสนคน โดยคาดว่าในจำนวนนี้มีบัณฑิตจบใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก และยังหางานทำไม่ได้อยู่เกือบ 4 แสนคน

 

ภาพที่ 1:  อัตราการว่างงานรายเดือน
ที่มา https://tide.pier.or.th/chart/RLLFSWKM00079

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการสำรวจจำนวนคนว่างงาน เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจสักนิดว่าเกณฑ์ที่ใช้จัดภาวะการมีงานทำคือ ใครก็ตามที่ได้ทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะถือว่าเป็นผู้มีงานทำ เกณฑ์การวัดนี้ถือเป็นเกณฑ์สากล เพียงแต่อาจไม่สะท้อนความลำบากของคนที่อาศัยค่าจ้างจากการทำงานไม่กี่ชั่วโมงเป็นรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตลอดเดือน

ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ทำการคำนวณ ‘จำนวนผู้เสมือนว่างงาน’ โดยปรับเปลี่ยนเกณฑ์ให้กลายเป็นว่า แม้จะเป็นผู้มีงานทำ แต่หากจำนวนชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะถือว่าเป็นผู้เสมือนว่างงาน (Underemployed)

ในช่วงก่อนปี 2563 จำนวนผู้เสมือนว่างงานอยู่ที่ราว 2-3 ล้านคน แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้นมา จำนวนผู้เสมือนว่างงานได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 5.4 ล้านคนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563

ตัวเลขนี้สะท้อนการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนทำงานที่ต้องลดเวลาทำงานลง พร้อมๆ กับยอมรับเงินตอบแทนการทำงานที่ลดน้อยลงด้วย เพื่อแลกกับการรักษาตำแหน่งงานนั้นไว้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง แน่นอนว่า รายได้ที่ลดลงย่อมหมายความว่า แรงงานกลุ่มนี้ต้องลดมาตรฐานความเป็นอยู่ลงตามรายได้ที่หดไป

ในขณะเดียวกันข้อมูลอีกชุดก็ชี้ว่า จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ประกันตนในกรณีว่างงานปี 2563 พุ่งสูงขึ้นมาก ภายหลังจากการใช้มาตรการปิดเมือง หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องว่างงานลง (ดูภาพที่ 2 ประกอบ) โดยแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน โดยได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ส่วนแรงงานที่สิ้นสุดการจ้างงานด้วยการลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดเวลา แรงงานจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย

 

ภาพที่ 2 จำนวนผู้ที่ใช้สิทธิ์ประกันตนในกรณีว่างงาน
ที่มา https://tide.pier.or.th/chart/EILFSM00142

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ว่างงานในปีที่ผ่านมา ต่างก็สูญเสียรายได้ไปจำนวนมากจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรายได้ที่สูญไปของคนกลุ่มนี้จะทำให้รายจ่ายของพวกเขาต้องปรับลดลงตาม ส่งผลต่อเนื่องทำให้รายได้ของกลุ่มอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจหดหายตามไปด้วย ผลกระทบที่เกิดจึงสามารถพอกพูนและขยายวง จนทำให้การใช้จ่ายและรายได้ในระดับมหภาคหดตัวลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนดังที่ปรากฎตามแถลงการณ์ของสภาพัฒน์

วิบากกรรมของแรงงานไทยและเศรษฐกิจที่ถดถอยในปีที่ผ่านมาอาจถูกมองว่าเป็น ‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายสำหรับการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดีเราสามารถตั้งคำถามตามมาได้ว่า เราได้จ่ายเงินซื้อสุขภาพในราคาที่แพงเกินไปหรือไม่

 

เราไม่ทิ้งกัน: ไทย vs สหรัฐฯ

 

หากใช้ประเทศสหรัฐฯ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงที่สุดในโลกเป็นตัวเปรียบเทียบ เราจะพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยอยู่ในหลักสิบ (67 ราย – ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2564) ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศสหรัฐฯ นั้นเกินกว่า 3 แสนราย หากเทียบเป็นอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อประชากรทั้งหมด จะพบว่าอัตราส่วนของการเสียชีวิตในประเทศไทยเท่ากับร้อยละ 0.0001 ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ ในขณะที่อัตราส่วนของประเทศสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 0.113 กล่าวได้ว่าสัดส่วนของผู้เสียชีวิตในประเทศสหรัฐฯ สูงกว่าของไทยถึง 1 พันเท่า

ในด้านเศรษฐกิจ ผลผลิตมวลรวมรายไตรมาสของสหรัฐฯ หดตัวลงในช่วงเวลา 9 เดือนแรกของปี 2563 ในอัตราร้อยละ 2.18 ซึ่งถือว่า บอบช้ำน้อยกว่าเศรษฐกิจไทยมาก และเมื่อคิดเทียบเป็นสัดส่วนต่อกัน กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ 3 เท่า

แม้เราอาจจะรู้สึกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยเปรียบเทียบแล้วดูรุนแรงน้อยกว่าอัตราส่วนของการเสียชีวิตจากโรคระบาด ซึ่งมองได้ว่าราคาที่เราจ่ายสำหรับการควบคุมการระบาด อาจไม่ได้แพงมากนักก็ตาม แต่ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้สะท้อนถึงกระบวนการเยียวยาจากภาครัฐที่ได้เติมเม็ดเงินเข้ามาเพื่ออุ้มคนว่างงานและช่วยกอบกู้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง ควบคุมการระบาดของโรคโควิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563

กล่าวคือ แม้ว่าจีดีพีรายไตรมาสของสหรัฐฯ จะหดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนไม่ต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ปรากฏว่ารายได้บุคคลในช่วงเวลาเดียวกันกลับเพิ่มสูงขึ้น!

ข้อมูลจาก Bureau of Economic Analysis ชี้ให้เห็นว่ารายได้ของคนอเมริกันในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน 2563 เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งๆ ที่เงินเดือนและค่าจ้างจะลดลง สาเหตุหลักเป็นเพราะมาตรการอุ้มชูอเมริกันชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิดภายใต้กฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economics Security (CARES Act) ซึ่งมีทั้งการแจกเงินก้อนครั้งเดียว และจ่ายเช็คช่วยเหลือคนตกงานเป็นระยะเวลา 4 เดือน รวมไปถึงเงินที่จ่ายให้กับนายจ้างที่ยังทำกิจการต่อโดยไม่ปลดคนงานออกอีกด้วย

แหล่งข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเม็ดเงินจากกฎหมายดังกล่าวได้ส่งมาถึงกระเป๋าเงินของประชาชน รวมๆ กันได้ราว 8 แสนล้านเหรียญ และส่งผลให้คนอเมริกันมีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้น สวนทางกับมูลค่าจีดีพี

ไม่เพียงเท่านั้น ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจยุคโควิด ทำให้คนอเมริกันตัดทอนรายจ่ายลงและเพิ่มการออมมากขึ้น จนส่งผลให้มีเม็ดเงินมหาศาลไหลเข้าตลาดการเงิน ผลักดันให้ราคาหุ้นและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น จนทำนิวไฮ ครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงปีที่ผ่านมา

ราคาหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้สร้างความร่ำรวยให้กับแค่นักลงทุนอเมริกันเท่านั้น เพราะในโลกสมัยใหม่ที่การลงทุนนั้นไร้พรมแดน นักลงทุนไทยก็สามารถมีเอี่ยวในความมั่งคั่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ด้วย ดังที่มิตรสหายท่านหนึ่งมักโชว์ผลตอบแทนการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในตลาดแนสแด็ก (NASDAQ) ที่มีผลกำไรเกินกว่าร้อยละ 12 ต่อปีให้ผมอิจฉาเล่นๆ

โอกาสได้รับผลตอบแทนการลงทุนสวยๆ แบบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงคนที่มีทรัพย์สินเป็นกอบเป็นกำเท่านั้น กลุ่มชนชั้นกลางที่ยังมีเงินเดือนหรือมีงานประจำทำอยู่ตามปกติ ก็สามารถเข้าถึงกองทุนรวมเหล่านี้ได้ เพียงแค่มีการวางแผนการเงินที่ดี คนกลุ่มนี้ก็สามารถใช้ช่องทางกองทุนต่างประเทศ สร้างรายได้ให้พอกพูนในช่วงปีนี้ได้อย่างสบายๆ

ตรงกันข้ามกับกลุ่มคนที่ว่างงานกับกลุ่มผู้เสมือนว่างงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่หมดเงินออมไปกับการประคองตัวให้ผ่านปี 2563 และยังคงต้องกังวลกับวิบากกรรมที่ตามต่อเนื่องมาในถึงปี 2564 นี้ แหล่งรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มจะเหือดหายไปอีก เนื่องจากการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด และเงินทดแทนที่ได้จากประกันสังคมที่กำลังจะหมดลงก่อนที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

ฉะนั้น ในปีนี้ เราจะเห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้นระหว่างคนที่มีงานทำและคนตกงาน ซึ่งนั่นจะยิ่งซ้ำเติมให้สภาพความเหลื่อมล้ำในรายได้ของประเทศเราย่ำแย่ลงไปอีก

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save