fbpx
เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว? โลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์พัฒนา : ธร ปีติดล

เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว? โลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์พัฒนา : ธร ปีติดล

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

‘เศรษฐศาสตร์พัฒนา’ ‘เศรษฐศาสตร์การเมือง’ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ‘นโยบายสวัสดิการ’ คือความสนใจที่ ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญ

หนึ่งในผลงานที่เขาลงลึกเข้าไปศึกษาวิจัยปรากฏการณ์ทางสังคมคือเรื่อง เข้าใจบทบาททางการเมืองของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย: กรณีศึกษาจากปรากฏการณ์ กปปส. ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยทำให้เห็นเข้าใจวิกฤตทางการเมืองผ่านกลุ่ม กปปส. เท่านั้น หากยังเป็นการทบทวนพัฒนาการของเศรษฐกิจและการเมืองไทยในรอบ 30 ปีหลังด้วย

นั่นก็เพราะ ธร ปีติดล เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เพียงเฝ้าติดตาม-ตรวจสอบสังคมไทยผ่านแค่ตัวเลขกำไร-ขาดทุนเท่านั้น หากยังหยิบรายละเอียดชีวิตของผู้คน ทรรศนะทางการเมือง ไปจนถึงผลกระทบทางการเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสังคมไทยด้วย

หลายครั้งที่ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ แวดวงเศรษฐศาสตร์มักถูกคาดหวังไม่ต่างไปจากแวดวงรัฐศาสตร์, นิติศาสตร์ เพื่อให้ตอบคำถามเสมอว่าปัญหาคืออะไร เกิดจากอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร

แต่หลายครั้งก็พบว่าคำตอบและคำอธิบายไม่สามารถชี้ทางสว่าง จึงนำมาสู่คำถามว่า ‘เศรษฐศาสตร์ตายหรือยัง’ เป็นคำถามที่จี้เข้าไปในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์

ก่อนจะไปสู่คำอธิบายถึงทางออกจากปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ไม่แน่ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ก็อาจกำลังเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน

101 ชวนฟังทรรศนะของ ธร ปีติดล ที่พยายามทบทวนกลับไปยังตัวตนของวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าปัญหาคืออะไร เกิดจากอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร

 

 

มีคนวิจารณ์ว่าเศรษฐศาสตร์ตายแล้ว คุณเห็นด้วยไหม

ไม่เห็นด้วย คนที่พูดว่าเศรษฐศาสตร์ตายแล้วคงดูจากจำนวนนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อาจจะลดลง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเอกชน หรืออาจจะดูจากนักเรียนเก่งๆ ที่เหมือนจะให้ความสนใจเศรษฐศาสตร์ไม่เท่าแต่ก่อน แต่ในความเป็นจริง ผมคิดว่าสภาพที่เกิดขึ้นมันสะท้อนสภาพประชากรของวัยเด็กที่มันลดลงเป็นหลัก

อีกประการคือการที่คนจะเลือกเรียนอะไร มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองด้วย อย่างทุกวันนี้คนอาจจะหันไปเรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือบางทีอาจจะหันไปเรียนโรงเรียนนายร้อย พวกนี้เป็นไปตามสถานการณ์บ้านเมืองที่ไปจุดประเด็นความสนใจในตัวเด็กหรือผู้ปกครอง

ในขณะที่ในตัววิชาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ที่จริงมันมีการผลิตความรู้ใหม่ๆ งานวิจัยใหม่ๆ มีงานที่น่าสนใจ แล้วก็น่าตื่นเต้นเยอะมาก ถ้าเราได้ไปดูจริงๆ จะพบว่าพลวัตของโลกวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เสื่อมถอยไปจากเดิมเลย

 

ไม่ใช่แค่เรื่องคนเรียนน้อยลงเท่านั้น แต่คนที่วิจารณ์เขาบอกว่า เศรษฐศาสตร์อธิบายโลกได้น้อยลงด้วย

เศรษฐศาสตร์มีการพัฒนาและการสร้างวิธีการอธิบายโลกแบบใหม่อย่างน่าสนใจ ในโลกของเศรษฐศาสตร์พัฒนาและเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งเป็นวิชาที่ผมสนใจ มีการปรับตัวไปมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการนำวิธีวิจัยใหม่ๆ เช่น การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ซึ่งเปรียบเสมือนการทำการทดลอง (experiment) จากพื้นที่ วิธีวิจัยแบบใหม่นี้ขยับกระบวนการผลิตความรู้ของเศรษฐศาสตร์จากเดิมที่นั่งดูตัวเลขสถิติและทำวิจัยในห้องสมุด ออกไปเจอความจริงจากพื้นที่มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีการทำความเข้าใจปัญหาการพัฒนาแบบเดิมไปเลย

 

อยากให้ยกตัวอย่างรูปธรรมของการทำวิจัยด้วยวิธีการแบบใหม่ให้เห็นภาพมากขึ้น

มีงานวิจัยเชิงนโยบายที่เข้าไปศึกษาการแจกมุ้งเพื่อลดการแพร่ระบาดของโลกมาลาเรีย โดยทดลองแบ่งผู้รับเป็นกลุ่มๆ และกำหนดเงื่อนไขในการรับมุ้งของผู้รับแต่ละกลุ่มให้ไม่เหมือนกัน บางกลุ่มได้รับมุ้งฟรี บางกลุ่มต้องจ่ายเงินบางส่วน หรือบางกลุ่มต้องซื้อในราคาเต็ม แล้วมาดูว่าวิธีการแจกมุ้งแบบไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ทำให้คนนำมุ้งไปใช้จริงได้มากที่สุด

การวิจัยในพื้นที่แบบนี้มีลักษณะเหมือนกับการทดสอบยา นั่นคือ ให้ยาคนละแบบกับกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมาเหมือนกันแล้วดูว่าผลต่างกันอย่างไร การได้ความรู้จากพื้นที่ทำให้เศรษฐศาสตร์เข้าใกล้กับความซับซ้อนและความละเอียดอ่อนของมนุษย์มากขึ้น จากเดิมที่มองมนุษย์ด้วยสมมติฐานแบบแข็งๆ ก่อน เช่น มองว่ามนุษย์สมเหตุสมผล เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ก็เปลี่ยนมาทำความเข้าใจมนุษย์จากการตัดสินใจในความเป็นจริงของเขาก่อน ว่าเขาเลือกอะไร เพราะอะไร บนข้อจำกัดแบบไหน

วิธีการวิจัยแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่กำลังเติบโตและถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหัวข้อที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ในประเทศไทยก็มีงานของอาจารย์ธานี ชัยวัฒน์และทีม ที่นำเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมไปใช้ศึกษาพฤติกรรมคอร์รัปชันของคนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

 

ถ้าความรู้ที่ได้จากพื้นที่เปลี่ยน วิธีคิดนโยบายต้องเปลี่ยนด้วย

ใช่! เดิมถ้ามีสมมติฐานว่า มนุษย์มีเหตุมีผลโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ถ้าชาวบ้านได้รับเงินทุน หรือสวัสดิการต่างๆ ก็ต้องคาดหวังว่า เขาควรจะใช้มันอย่างมีเหตุผล หรือมีความสามารถในการวางแผน แต่ในโลกของความเป็นจริง นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องแปลกใจอยู่เสมอว่า ทำไมนโยบายหลายอย่างจึงไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการ และอาจไปเกิดอคติว่าคนจนวางแผนไม่เป็น ไม่มีเหตุผล ไม่มีความรู้

แต่ความจริงจากพื้นที่ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของคนมากขึ้น มองเห็นเงื่อนไขและบริบทที่อยู่รอบตัวเขา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้เปิดพื้นที่ใหม่ให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถเข้าใจพฤติกรรมที่เคยไม่เข้าใจได้ ทั้งหมดนี้ย่อมมีผลทำให้วิธีคิดในการออกแบบนโยบายเปลี่ยน

พูดแบบเป็นวิชาการหน่อยคือ ระเบียบวิธีวิจัยแบบใหม่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มเห็นแล้วว่า ความจริงไม่ได้มีระนาบเดียว แต่มีบริบท (context) ของมัน ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการแบบที่ศาสตร์อื่นอย่างสังคมวิทยา มานุษยวิทยา หรือรัฐศาสตร์ เข้าใจมานานแล้ว นึกออกไหมว่า นักมานานุษยวิทยาจะไม่บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีความสมเหตุสมผล (rationality) เพราะเขารู้ดีว่าสิ่งที่มนุษย์เข้าใจว่าคือความสมเหตุสมผลแปรเปลี่ยนไปตามบริบทได้เสมอ

 

วิธีคิดแบบนี้ขัดแย้งกับเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมเลย เพราะแต่ไหนแต่ไรมา เศรษฐศาสตร์พยายามที่จะสร้างคำอธิบายที่เป็นข้อสรุปทั่วไป (generalization) มาโดยตลอด

เศรษฐศาสตร์ในยุคก่อนหน้านี้มีปัญหากับการพยายามทำความเข้าใจความจริงแบบมีบริบท นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจำนวนมากเชื่อว่า การวิเคราะห์ต้องมีโมเดล และต้องเป็นโมเดลที่ใช้อธิบายโลกได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ความรู้ใหม่ก็เริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่า บริบทมีความสำคัญมาก การอธิบายโลกหรือการประยุกต์ใช้เชิงนโยบายต้องทำอย่างระมัดระวัง

จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเศรษฐศาสตร์ถึงจุดที่เข้าใจเรื่องนี้ได้ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับสังคมศาสตร์อื่นๆ ที่ผ่านจุดที่เรียกว่า Postmodern Turn มานานแล้ว

 

 

นอกจากระเบียบวิธีวิจัยแล้ว เศรษฐศาสตร์พัฒนาหรือเศรษฐศาสตร์การเมืองมีอะไรที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจอีกไหม

เศรษฐศาสตร์การเมืองสนใจวิธีการวิเคราะห์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ในการตอบโจทย์ด้านความเหลื่อมล้ำ เมื่อก่อนก็ดูกันแค่ดัชนีจีนี (Gini coefficient) แต่ทุกวันนี้การศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำถูกเล่าให้เป็นเรื่องของคนแต่ละกลุ่ม เช่น การพูดถึงคนกลุ่ม top 1 percent ว่ามีการครอบครองทรัพยากรมากขนาดไหน ทำให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้อาจเข้ามามีอิทธิพลกับการทำงานของระบบตลาดได้อย่างไร ทำให้เกิดความรู้ที่สนุก น่าสนใจมากขึ้น

ที่สำคัญ การเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำผ่านกลุ่ม top 1 % ทำให้เนื้อหามีความเป็นการเมืองมากขึ้นและเปิดประเด็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจเต็มไปหมด เช่น เมื่อเราเห็นกลุ่ม top 1% ว่าเป็นใคร ได้รายได้และความมั่งคั่งมาอย่างไร เราก็สามารถวิเคราะห์ต่อได้ว่าพวกเขาใกล้ชิดกับระบบการเมืองมากน้อยแค่ไหน และมีอิทธิพลแค่ไหนกับการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ พูดอีกแบบคือ มันทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองที่อยู่เบื้องหลังความเหลื่อมล้ำ

อันที่จริง ความเหลื่อมล้ำหายไปจากความสนใจหลักของเศรษฐศาสตร์มานานเหมือนกัน แต่ตอนนี้กำลังกลับมาเพราะว่าเกิดความผันผวนทางการเมืองทั่วโลก และคนจำนวนมากเชื่อว่ามันผูกโยงกับสภาพความเหลื่อมล้ำ

 

โจทย์หนึ่งที่เศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์พัฒนาสนใจ คือโจทย์เรื่องการพัฒนากับการเป็นประชาธิปไตยในโลก สถานะองค์ความรู้ของประเด็นนี้ในระดับโลกเป็นอย่างไรบ้าง

โจทย์ประชาธิปไตยกับการพัฒนาคงเป็นโจทย์ที่คนไม่ค่อยถามกันแล้ว (หัวเราะ) เพราะประเทศส่วนใหญ่ในโลกพัฒนามาถึงจุดที่การเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยพอสมควร

ตอนนี้ก็อาจมีโจทย์เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องความผันผวนทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป มีการเมืองกระแสขวาเติบโต นักวิชาการก็สนใจเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำกับการเมืองแบบนี้มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ศึกษาบนพื้นฐานว่า ประเทศเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ส่วนของไทยนี่เราอาจต้องศึกษากันอีกเยอะกว่าจะทันเขา (หัวเราะ)

 

ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหมในโลกปัจจุบัน

ในบริบทสากล เศรษฐศาสตร์ยังมุ่งเน้นความรู้เชิงเทคนิคมากเกินไป ซึ่งพอให้น้ำหนักเรื่องเทคนิคมาก ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เลยเป็นภาษาเฉพาะ ยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึง โลกของเศรษฐศาสตร์จึงเป็นโลกเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้เศรษฐศาสตร์ถอยออกมาจากความแปลกแยก และเชื่อมโยงกับผู้คนให้มากขึ้น

ในบริบทของไทย ปัญหาข้างต้นถูกครอบด้วยโครงสร้างทางการเมืองอีกที ความรู้เชิงเทคนิคของเศรษฐศาสตร์ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กลายเป็นผู้มีอำนาจในกระบวนการกำหนดนโยบาย ในบางบริบททางการเมือง นักเศรษฐศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อตอบสนองกระบวนการทางนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมได้ง่าย ในประเด็นนี้ ผมคิดว่า จำเป็นที่จะต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ต้องเรียนรู้ว่า ความรู้ของตัวเองเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม อย่าหลงสถานะตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เหนือใคร ต้องพยายามถ่ายทอดความรู้ให้กับสาธารณะ และผลักดันนโยบายด้วยการจูงใจสาธารณชนให้เห็นด้วยกับนโยบายของตัวเองมากกว่าการเชื่อมต่อตนเองกับคนที่มีอำนาจให้ได้ผลที่ต้องการ

 

การเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความสนใจของนักศึกษาก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย

นักศึกษาทุกวันนี้โตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว การเข้าถึงความรู้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย นักศึกษาสามารถกูเกิ้ลอะไรก็ได้และได้ข้อมูลมาภายในเวลาสั้นๆ ถึงขนาดว่า เขาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกับเวลาที่เราสอนได้เลย ในเมื่อเทคโนโลยีทำให้คนเข้าถึงความรู้ได้ง่าย คำถามท้าทายคือ ผู้สอนทำหน้าที่อะไรกันแน่ในบริบทแบบนี้

หน้าที่ของอาจารย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ในวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว แต่รวมถึงสาขาวิชาอื่นด้วยคือ การทำให้นักศึกษาเห็นแผนที่ของความรู้ เพื่อให้เขาเห็นภาพรวมว่าแต่ละส่วนแต่ละชิ้นขององค์ความรู้เชื่อมโยงกันอย่างไร

ที่สำคัญกว่านั้น อาจารย์ต้องสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ คอยแนะนำให้เขาเห็นว่า ความรู้ที่เขากำลังเรียนอยู่มีคุณค่ากับเขาอย่างไร

 

 

นักเรียนเศรษฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ต้องมีทักษะอะไรเพิ่มมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ต้องพยายามเชื่อมตัวเองเข้ากับศาสตร์อื่นมากขึ้น เพราะการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาศาสตร์อื่นมาช่วย เช่น สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งมีความเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์มากอยู่แล้ว ก็ควรดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ในการตั้งโจทย์ หรือแม้กระทั่งช่วยตอบคำถามได้ หรืออย่างรัฐศาสตร์ก็ช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ทางอำนาจมากขึ้น ซึ่งก็ช่วยให้เราวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างมีมิติลุ่มลึกมากขึ้น

เศรษฐศาสตร์ไม่ควรจะโดดเดี่ยว ควรจะทลายกำแพงแล้วก็หาเพื่อนหาฝูงให้มากขึ้น

 

นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาและนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งโดยพื้นฐานเลยมักไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี บิ๊กดาต้า หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต้องปรับตัวอย่างไร

นักเศรษฐศาสตร์ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันหมด คนที่เก่งด้านข้อมูลและเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค ก็ย่อมเข้าไปใช้ประโยชน์จากมันได้มาก แต่คนที่ทำไม่เก่งก็สามารถอยู่ได้ในบทบาทอื่นเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามาก ทักษะของนักเศรษฐศาสตร์ก็อาจต้องถอยออกมาเป็นทักษะพื้นฐานมากขึ้น เช่น การตั้งคำถาม การออกแบบการเล่าเรื่อง การวิเคราะห์และสังเคราะห์คำตอบจากข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งคนที่เก่งในเรื่องพวกนี้ ที่จริงแล้วเขาไม่ได้มานั่งเรียนเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวด้วยซ้ำ แต่ได้ทักษะมาจากความสนใจหลากหลายศาสตร์

 

ช่องว่างความรู้ระหว่างไทยกับโลกกว้างไหม

กว้างมาก (เสียงยาว) ส่วนตัวคิดว่า โลกของงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ในเมืองไทยไปง่วนอยู่กับการตอบโจทย์เชิงนโยบายของประเทศมากเกินไป ซึ่งแม้จะสำคัญและจำเป็น แต่บางทีก็ทำให้เราลืมไปว่าโลกที่กว้างกว่าเราเขาคิดอะไรกันบ้าง และโจทย์พื้นฐานอะไรบ้างที่สำคัญกับเรา เช่น ก่อนจะไปช่วยตอบคำถามเชิงนโยบายว่าเราควรจะใช้นโยบายแบบไหน เราอาจต้องการตอบคำถามก่อนว่า ทำไมประเทศไทยเราถึงมาอยู่ตรงจุดนี้ ทำไมเศรษฐกิจการเมืองไทยถึงมาอยู่จุดนี้

คำถามพวกนี้อาจไม่ใช่คำถามเชิงนโยบาย แต่มันเป็นคำถามที่สำคัญกับเรามาก น่าเสียดายว่า นักเศรษฐศาสตร์ไทยมีโอกาสทำโจทย์แบบนี้ค่อนข้างน้อย.

 

ติดตามซีรีส์ “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว?” ทั้งหมดได้ที่ :

สำรวจโลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์กับ 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า ‘เศรษฐศาสตร์ตายแล้วจริงหรือ?’ (คลิปวิดีโอ)

บทสัมภาษณ์ ‘ศรษฐศาสตร์ในโลกของเศรษฐกิจใหม่ : สันติธาร เสถียรไทย

บทสัมภาษณ์ ‘เศรษฐศาสตร์ในโลก Big Data : โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

บทสัมภาษณ์ ‘เศรษฐศาสตร์ในโลกที่ไร้ข้อจำกัด : ธานี ชัยวัฒน์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save