fbpx
เมื่อโลกป่วยเราก็ป่วย: ทำไมต้องรักษาธรรมชาติเพื่อหยุดโรคระบาดครั้งต่อไป

เมื่อโลกป่วยเราก็ป่วย: ทำไมต้องรักษาธรรมชาติเพื่อหยุดโรคระบาดครั้งต่อไป  

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การแก้แค้นของธรรมชาติ เราต่างหากที่ทำตัวเราเอง” โธมัส เลิฟจอย นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ระดับตำนานผู้ค้นคิดคำว่า ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ (biological diversity) ขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ให้ความเห็นต่อวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก ใครจะคิดมาก่อนว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์เกือบทั้งโลกได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้แม้จะเป็นเพียงชั่วคราวก็ตาม World Economic Forum คาดว่าในปีนี้จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการรับมือโรคระบาดไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยชุมชนที่มีฐานะยากจนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คนเกือบครึ่งในแอฟริกาและเอเชียอาจจะตกงาน

จากสถิตินักวิทยาศาสตร์พบว่าโรคระบาดที่เกิดในมนุษย์ราว 75% มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ (zoonotic transmission) และมีไวรัสเกิดใหม่ 2-4 ชนิดทุกๆ ปี อันเป็นผลมาจากการรุกรานธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการล่าและการค้าขายสัตว์ป่า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดของโรคร้ายแรงหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นซาร์ส (ติดจากค้างคาวผ่านชะมด) เอดส์ (ติดจากชิมแปนซี) อีโบล่า (ยังไม่รู้ต้นกำเนิด แต่คาดว่าติดจากลิงที่เป็นพาหะ) เวสไนล์ (ติดจากยุงผ่านการค้านกในตะวันออกกลาง) ไข้หวัดนก (คาดว่าเกิดจากการค้านกป่า) มาจนถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV สาเหตุของโรคโควิด-19 (ยังไม่สามารถระบุต้นตอได้ แต่มีความคล้ายคลึงกับไวรัสที่พบในตัวลิ่นและค้างคาว)

ไม่เพียงการค้าสัตว์ป่าเท่านั้นที่เร่งให้มีการถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปมาระหว่างสัตว์พาหะชนิดต่างๆ และมีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับมนุษย์ จนเกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นโรคระบาด แต่การตัดไม้ทำลายป่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ถนน เขื่อน การขยายพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว การทำเหมือง กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้คุกคามระบบนิเวศ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และเกิดสภาพแวดล้อมที่ผิดธรรมชาติ จุลชีพที่มีประโยชน์ลดจำนวนลง เชื้อโรคที่เป็นอันตรายเพิ่มจำนวนขึ้น ในขณะที่ไวรัสปกติไม่เป็นอันตรายก็มีโอกาสกลายพันธุ์ ติดต่อสู่มนุษย์ และเกิดเป็นโรคระบาดได้ง่ายขึ้น

เมื่อระบบนิเวศถูกรบกวนจนเสียสมดุล ก็สะท้อนออกมาในปรากฏการณ์สุขภาพของโลกที่ป่วยไข้ลงไปเรื่อยๆ ดินเสื่อมสภาพ น้ำเน่าเสีย อากาศเต็มไปด้วยมลพิษ ทะเลเริ่มเป็นกรดเพราะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป และโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยล้มตาย ในระยะหลังเราจึงได้ยินเรื่องของแนวความคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) บ่อยมากขึ้น One health เป็นแนวทางการจัดการสุขภาพที่ตระหนักว่าสุขภาพของมนุษย์เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพของสัตว์และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่อาศัย การจัดการด้านสาธารณสุขให้ได้ผลโดยเฉพาะในการจัดการโรคอุบัติใหม่จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนและการบูรณาการแบบข้ามสาขาวิชา (transdisciplinary) เน้นการบูรณาการความรู้หลายศาสตร์หลายประเภท ทั้งทางวิชาการ จากประสบการณ์ทำงานและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน นำความรู้ด้านนิเวศวิทยา มาทำความเข้าใจการจัดการด้านสาธารณสุข ใช้ความรู้ด้านระบาดวิทยามาปรับใช้ในการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

แนวความคิดสุขภาพหนึ่งเดียวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในหลายมิติ ตั้งแต่จำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นและขยายตัวรุกรานเข้าไปในระบบนิเวศดั้งเดิม การเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีปริมาณมหาศาล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค และรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปิดโอกาสให้เกิดการส่งผ่านของโรคระหว่างสัตว์พาหะหลายชนิด รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายของคนและสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ขนส่งทางอากาศ ทำให้เชื้อโรคมีโอกาสระบาดในระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว

ในระยะหลังจึงมีการพบการะบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนทั้งที่เป็นโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำเพิ่มมากขึ้น เช่น พิษสุนัขบ้า แอนแทรกซ์ โรคไลม์ ไวรัสเวสต์ไนล์ อีโบล่า ไข้หวัดนก มาจนถึงโคโรน่าไวรัสตัวล่าสุด นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า โรคระบาดในอนาคตมีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้น กระจายตัวรวดเร็วมากขึ้น สร้างความปั่นป่วนในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้น หากเรายังไม่ทบทวนแนวทางในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

ในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ เกิดปรากฏการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ดีขึ้นเนื่องจากมีการจำกัดกิจกรรมมนุษย์ในหลายรูปแบบ มลภาวะทางอากาศในหลายเมืองใหญ่ดีขึ้น น้ำในคลองและชายทะเลใสสะอาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สัตว์ป่าพากันออกมาใช้พื้นที่ในเมือง แม้แต่สัตว์ทะเลหายากก็ปรากฏตัวให้เห็นมากขึ้นในแนวชายฝั่งของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นพะยูนฝูงใหญ่ เต่าทะเล โลมา ปรากฏการณ์เหล่านี้ชวนให้นึกทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่ผ่านมาเราใช้ประโยชน์จากธรรมชาติกันเกินขอบเขตไปมากใช่หรือไม่

หากพิจารณาให้ดีสิ่งที่หายไปในช่วงล็อคดาวน์ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่ไม่ยั่งยืนต่างหาก ตั้งแต่การจราจรที่ติดขัดไม่มีประสิทธิภาพ โรงงานที่ปล่อยน้ำเสีย อากาศเสีย จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินศักยภาพในการรองรับของพื้นที่ เมื่อสิ่งเหล่านี้หายไป ก็ไม่น่าแปลกใจที่ธรรมชาติจะฟื้นคืนกลับมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ คำถามสำคัญคือเราจะเดินหน้าต่อไปกันอย่างไรเมื่อวิกฤตจากโรคระบาดผ่านพ้นไปแล้ว โควิด-19 ทำให้เกิดการกดปุ่ม reset ในหลากหลายมิติ ทั้งยังทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและจุดอ่อนมากมายของวิถีการพัฒนาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่คำกล่าวที่ว่า “ไวรัสโคโรน่ากำลังช่วยเยียวยาโลก” หรือ “มนุษย์ต่างหากที่เป็นเชื้อโรค” นอกจากจะไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมในการพูดถึงโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2 แสน 9 หมื่นคน (ข้อมูลวันที่ 13 พ.ค. 2563) และทำให้คนอีกหลายล้านตกอยู่ในภาวะจนตรอกแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ยังเป็นการมองข้ามความเป็นจริงอันซับซ้อนของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะจริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ใช่ปัญหา ระบบเศรษฐกิจ วิถีการบริโภคและการพัฒนาที่ละเลยต่อความยั่งยืนต่างหากที่เป็นรากของปัญหาทั้งปวง

กรณีของโรคระบาดครั้งนี้จะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดคือชุมชนที่ไม่ได้ก่อปัญหา ในขณะที่คนที่ใช้ทรัพยากรมากที่สุด สร้างผลกระทบมากที่สุดกลับเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และมีความพร้อมที่สุดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ รากปัญหาที่แท้จริงจึงอยู่ที่ระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างกำไรสูงสุดโดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาที่แท้จริงของต้นทุนธรรมชาติ และกลุ่มคนที่ต้องจ่าย ‘ราคา’ ของสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมมักเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากระบบที่บิดเบี้ยวนี้น้อยที่สุด

การจัดการวิกฤตโควิด-19 ด้วยการล็อคดาวน์เพื่อยับยั้งการระบาด แสดงให้เห็นว่าเมื่อรัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ก็สามารถนำมาตรการเด็ดขาดมาใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่เพื่อป้องกันความสูญเสียในชีวิตของผู้คนจำนวนมากได้ การแก้ปัญหาตามแนวทางวิทยาศาสตร์และหลักวิชาการจึงเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นักวิทยาศาสตร์ส่งเสียงเตือนดังขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไวรัสที่เรามองไม่เห็นสามารถสร้างผลสะเทือนเลือนลั่นได้ขนาดนี้ ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดภาวะปั่นป่วนขนาดไหน

การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้จึงต้องพยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุด อันดับแรกทุกประเทศต้องจัดการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะนี่คือต้นตอสำคัญของวิกฤตโรคระบาดครั้งแล้วครั้งเล่า หากไม่ต้องการเห็นโควิด-19 ภาคสอง ประชาคมนานาชาติต้องกดดันจีนให้เอาจริงและมีมาตรการขั้นเด็ดขาดกับขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า ความต้องการบริโภคสัตว์ป่า รวมทั้งการรักษาและการใช้ยาจีนแผนโบราณที่ยังคงใช้อวัยวะของสัตว์ป่าหายากหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ ความเชื่อและความต้องการในการใช้สัตว์ป่าไม่ใช่เป็นปัญหาแค่ด้านโรคระบาด แต่เป็นหายนะของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์และพื้นที่ธรรมชาติทั่วโลก และเป็นอาชญากรรมข้ามชาติอย่างแท้จริง

อันดับสอง ทุกประเทศต้องหันมาลงทุนในการอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพราะพื้นที่ที่ยังคงความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้เปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันของโลก เป็นปราการด่านสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์เสนอว่าเราควรมีพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่คุ้มครองอย่างน้อยร้อยละ 30 ทั้งทางบกและทางทะเล เครือข่ายของพื้นที่คุ้มครองไม่เพียงช่วยป้องกันโรคระบาด แต่ยังเป็นแหล่งผลิตอาหาร ผลิตน้ำสะอาด และอากาศบริสุทธิ์ที่เราหายใจ ทั้งยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อันดับสาม รัฐบาลต้องส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนอย่างจริงจัง การบริโภคของคนในเมืองส่งผลกระทบไปกว้างไกล เพราะระบบผลิตอาหารในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น การเกษตร การประมง การปศุสัตว์ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จนเกินขอบเขต นอกจากนี้ยังทำให้เกิดของเสียและขยะภายหลังการบริโภคจำนวนมากย้อนกลับไปทำลายธรรมชาติและตัวเราเองอีกต่อหนึ่ง การหันมาสนับสนุนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนในลักษณะสวนผักคนเมือง หรือแปลงผักของชุมชน นอกจากช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤตแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว และความร่วมมือร่วมใจทางสังคมซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับภัยพิบัติใดๆ ก็ตาม

ข้อสุดท้ายคือการปฏิรูปความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะแนวทางสำคัญในการจัดการกับโรคติดต่ออย่างยั่งยืน ไม่ใช่การฆ่าเชื้อทุกประเภท แต่คือการพัฒนาภูมิคุ้มกันให้สามารถจัดการกับเชื้อโรคต่างๆ ได้ new normal ที่มีการพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ว่าพฤติกรรมหลายอย่างอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคมในการใช้ชีวิต การสวมใส่หน้ากาก มาตรการเหล่านี้มีความจำเป็นในการควบคุมการระบาดของโรคในช่วงนี้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่อาจปฏิเสธการอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นรอบๆ ตัวเราได้

สมมติฐานหนึ่งที่มีข้อมูลสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ คือทฤษฎีสุขภาวะกับความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity Hypothesis หมายความว่าการอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมีประโยชน์หลายด้านโดยเฉพาะการทำงานของร่างกาย ที่เราพูดกันเล่นๆ ว่าให้เด็กเล่นดินเล่นทราย ออกไปเล่นนอกบ้านบ้างจะได้สร้างภูมิคุ้มกัน เอาเข้าจริงๆ แล้ว เริ่มมีข้อมูลหลายอย่างที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ เด็กๆ จึงควรต้องมีเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเพื่อจะได้รับจุลชีพที่มีประโยชน์ไปสร้างความสมดุลของร่างกาย นักวิทยาศาสตร์พบว่าเวลาที่เราพยายามฆ่าเชื้อทุกอย่างในบ้าน (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) เราฆ่าเชื้อส่วนใหญ่ที่มีประโยชน์ไปด้วย และทำให้เชื้อโหดปราศจากคู่แข่ง ยิ่งเบ่งบานและวิวัฒนาการสู้ยาฆ่าเชื้อได้เร็วขึ้นอย่างน่ากลัว มีการสำรวจพบว่ามีสิ่งมีชีวิตในบ้านและรอบๆ บ้านเรือนมนุษย์กว่า 2 แสนชนิด โดยเฉลี่ยมีสิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกับเราในบ้านกว่า 1,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่มองไม่เห็น และส่วนมากเป็นประโยชน์มากกว่ามีโทษ

การรักษาความสะอาดและดูแลสุขอนามัยพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็น แต่เราต้องไม่เกิดภาวะกลัวเชื้อโรคจนเกินเหตุ ออกไปท่องเที่ยวชื่นชมธรรมชาติ และปล่อยให้ภูมิคุ้มกันได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามสายวิวัฒนาการ แต่นอกจากดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงแล้ว เราต้องช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติและระบบนิเวศรอบๆ ตัว ช่วยกันหยุดยั้งนโยบายการทำลายธรรมชาติทุกรูปแบบ และผลักดันให้การพัฒนาและภาคธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพราะสุขภาพของโลกและสุขภาพของเราเป็นเรื่องเดียวกัน

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save