fbpx
ครั้งแรกของฉัน เกิดขึ้นตอน 11 ขวบครึ่ง – เมื่อเด็กไทยมีประจำเดือนเร็วขึ้น

ครั้งแรกของฉัน เกิดขึ้นตอน 11 ขวบครึ่ง – เมื่อเด็กไทยมีประจำเดือนเร็วขึ้น

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

หากชีวิตของหญิงสาวเป็นดั่งดอกไม้ วัยเด็กคงเปรียบได้กับดอกตูมที่รอวันแย้มบานเมื่อถึงฤดูกาลอันเหมาะสม

และหนึ่งในสัญญาณของฤดูกาลที่ว่า สิ่งที่เด่นชัดกว่าหน้าอก เอวคอด และสะโพกผาย คือการมีระดูหรือประจำเดือน เมื่อใดก็ตามที่เด็กคนหนึ่งเริ่มแสดงอาการ เท่ากับว่าเธอได้ก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจาก ‘เด็กหญิง’ ไปสู่ ‘เด็กสาว’ และกำลังจะเป็น ‘หญิงสาว’ เต็มตัวในไม่ช้า

ในห้วงจังหวะนั้น พวกเธอจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ เรียนรู้การดูแลสุขอนามัย เพื่อจะได้กลายเป็นดอกไม้ที่ผลิบานสดสวยงดงาม แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้กลับดำเนินตรงกันข้าม ทั้งเต็มไปด้วยปัญหาเรื่องเพศศึกษา การดูแลสุขภาวะเด็กสาว การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดถึงการเกิดคุณแม่วัยใสจำนวนมากต่อปี

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อเท็จจริงล่าสุดจาก “โครงการศึกษาสถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย” ที่ ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และคณะวิจัยค้นพบคือ เด็กหญิงจำนวนมากกำลังโตเป็นสาวเร็วขึ้นทุกวัน สัญญาณของวัยแรกแย้มสำคัญอย่างประจำเดือน ก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กอายุน้อยลงเรื่อยๆ

นั่นเท่ากับว่านิยามอายุของ ‘วัยสาว’ ไปจนถึงช่วงเวลาที่ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถกลายเป็น ‘แม่’ กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประเด็นที่น่าสนใจในบรรทัดถัดจากนี้คือ ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ผลกระทบหรือความเสี่ยงที่ตามมาคืออะไร และอะไรที่สังคมไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อต้อนรับสาวน้อยอีกจำนวนมากในภายภาคหน้า

 

โตเป็นสาวไว เทรนด์ใหม่ของโลก?

 

ก่อนเริ่มต้นเข้าสู่เนื้อหาผลการศึกษา ศ.ดร.ปังปอนด์ เลือกเกริ่นถึงที่มาที่ไปของความสนใจและข้อเท็จจริงที่น่าตกตะลึงในสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องแม่วัยใส จากการทำวิจัยให้กับสภาพัฒน์ฯ เมื่อหลายปีที่แล้ว

“ในตอนนั้น (ราวปี 2554) เราพบว่าตัวเลขเด็กที่เกิดจากคุณแม่วัยใสมีอยู่ประมาณ 120,000 คน แต่ตัวเลขที่เราประมาณการณ์ว่าเกิดการตั้งท้องในกลุ่มแม่อายุน้อยกว่า 20 ปีอยู่ที่ 400,000 กว่าราย นั่นหมายความว่าส่วนต่างคือคนที่เลือกทำแท้ง หรือการตั้งครรภ์นั้นไม่แข็งแรงสมบูรณ์จนสามารถคลอดออกมาเป็นเด็ก

“และจากการพูดคุยกับตัวแทน UNICEF ในวันนี้ ข้อมูลสถิติบ่งบอกว่าจำนวนคุณแม่วัยใสในประเทศไทยไม่ได้ลดลงเลย”

แม้ปัญหาแม่วัยใสอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งการขาดความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเหมาะสม สวัสดิการทางสังคม อาชญากรรม การล่วงละเมิดทางเพศ แต่มองอีกแง่หนึ่ง ปัญหาดังกล่าวก็เชื่อมโยงถึงการเริ่มมีประจำเดือนตามธรรมชาติของเด็กสาวอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้

“ถ้าเด็กหญิงยังไม่มีประจำเดือน ก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และจะมีความเสี่ยงเป็นคุณแม่วัยใสน้อยลง” ศ.ดร.ปังปอนด์ มองว่าการค้นหาช่วงเวลาที่เด็กหญิงเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก หรือช่วงเวลา ‘เข้าสู่วัยสาว’ จึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหา และออกแบบนโยบายรับมือในมิติต่างๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น

 

“เมื่อเราศึกษาก็พบว่าเกิดปรากฏการณ์ที่เด็กเข้าสู่วัยสาวเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งโลก”

 

จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1830-2010 โดย Sørensen and Mouritsen สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าแนวโน้มอายุที่มีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กหญิงใน 11 ประเทศทั่วโลกลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1970-1990 ก็พบว่าอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรกลดลงจาก 12.8 ปี เป็น 12.5 ปี – หรือเท่ากับลดลงเฉลี่ย 2.5 เดือนทุกปี

ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยทางการแพทย์ในเดนมาร์ก เผยว่าจำนวนเด็กหญิงที่เข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการเข้าสู่วัยสาวเร็วเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2002 อย่างมีนัยสำคัญ หรือกระทั่งผลสำรวจจากประเทศแถบเอเชียเช่นเกาหลีใต้ ก็ระบุว่าขณะที่อัตราการแตกหนุ่มของเด็กชายไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เด็กหญิงกลับมีอัตราการเข้าสู่วัยสาวเร็วขึ้นแบบก้าวกระโดด

เมื่อเนื้อตัวของเด็ก ‘โตเป็นสาว’ ในเวลาที่ยังไม่เหมาะควร ย่อมส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของเด็กอย่างใหญ่หลวง ตามที่ นพ.คมศักดิ์ ศรีลัญชกร กล่าวว่าประจำเดือนและอาการแตกเนื้อสาวต่างๆ นานา อาจทำให้เด็กสูญเสียความสูงสุดท้าย (impaired adult height) จากภาวะกระดูกปิด จนมีรูปร่างเตี้ยกว่าศักยภาพของพันธุกรรมหรือเตี้ยกว่าเด็กที่เข้าสู่วัยสาวช้ากว่า ทั้งยังได้รับผลกระทบจากฮอร์โมนเพศที่มาเร็วก่อนวัยอันควร ทำให้อ้วน เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจหรือหลอดเลือด อ้างอิงจากงานศึกษาเมื่อปี 2009 ที่พบว่ากลุ่มคนไข้ซึ่งมีประจำเดือนเร็ว รอบเอวจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับคนมีประจำเดือนช้า นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ และโรคสโตรคเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งไปกว่านั้น นพ.คมศักดิ์ เสริมว่างานศึกษาในอเมริกาหลายชิ้นบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมอีกด้วย ที่สำคัญที่สุด .. “เด็กอาจจะเกิดความเครียดจากความรู้สึกแปลกแยก กระอักกระอ่วนที่ร่างกายกลายเป็นผู้ใหญ่ แต่ความรู้สึกนึกคิดยังเป็นเด็ก ถูกล้อเลียนเรื่องขนาดหน้าอก อวัยวะต่างๆ หรือร้ายแรงที่สุด คือถูกล่วงละเมิด คุกคามทางเพศโดยที่ยังไม่มีวุฒิภาวะพอจะปกป้องตนเอง” ..ซึ่งหมายถึงเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นคุณแม่วัยใสนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม อาการเป็นสาวก่อนวัยสามารถรักษาได้ และยิ่งรักษาเร็วเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก ยืนยันผ่านงานวิจัยปี 2017 ที่ระบุว่าหากเด็กได้รับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยหรือตั้งแต่เริ่มมีอาการแตกเนื้อสาว จะช่วยลดการสูญเสียส่วนสูงสุดท้ายในอนาคต พร้อมๆ กับช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิต ลดความเครียดของเด็กได้

“การรักษาจะใช้ยากลุ่ม GnRH Agonist เป็นยาฉีดทุก 3 เดือน ใช้เวลารักษาเฉลี่ย 3 ปี หรือขึ้นอยู่กับอาการเข้าสู่วัยสาวเร็วของเด็กด้วย” นพ.คมศักดิ์อธิบาย “ในไทย ยาดังกล่าวตกเข็มละ 7,383 บาท หากฉีด 12 ครั้ง และใช้สิทธิ์บัตรทองรักษาในโรงพยาบาลรัฐ จะต้องใช้เงิน 88,596 บาทต่อคน ยังไม่รวมว่าถ้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ค่ายาอาจเพิ่มขึ้นอีกประมาณสามเท่า เฉลี่ยแล้ว 200,000-300,000 บาทต่อคน

“การรักษาเด็กเข้าสู่วัยสาวจึงมีผลกระทบทางด้านการเงินของครอบครัวอย่างชัดเจน”

แม้ที่ผ่านมา ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะพยายามผลักดันผู้ป่วยที่เป็นสาวก่อนวัยให้สามารถเข้าถึงยาได้มากที่สุด โดยมีเงื่อนไขในการเบิกจ่ายยาภายใต้สิทธิการรักษาบัตรทองและสิทธิสวัสดิการข้าราชการว่าต้องเป็นเด็กหญิงอายุไม่เกิน 8 ปี และให้หยุดยาเมื่อเด็กมีอายุกระดูกมากกว่า 13 ปี แต่ในความเป็นจริง โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกบางแห่งกลับมีเด็กบางส่วนเข้ารับการรักษาด้วยยาดังกล่าวโดยไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ของกรมบัญชีกลาง

ประเด็นนี้ ศ.ดร.ปังปอนด์ คาดว่า “เนื่องจากการเข้าสู่วัยสาวเร็วเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกกลุ่ม ทำให้ที่ผ่านมา กลุ่มครอบครัวฐานะดีที่อยากให้ลูกสูง เข้าสู่วัยสาวช้า จึงไปฉีดยาดังกล่าว ทั้งที่แต่เดิมยารักษา หรือที่เรียกว่า ‘ยาสต็อปสาว’ มีไว้เพื่อรักษาเด็กอายุน้อยมากที่โตเป็นสาวเท่านั้น เด็กทั่วไปไม่จำเป็นต้องฉีด”

ในโลกที่เด็กหญิงต่างโตเป็นสาวกันเร็วยิ่งขึ้น เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าเด็กคนไหนสมควรได้รับการรักษา และแท้จริงแล้ว เด็กไทยตอนนี้มีประจำเดือนครั้งแรกกันเมื่อไร

ที่สำคัญ การให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยและการดูแลตนเองสำหรับเด็กหญิงในโรงเรียนหรือครอบครัวนั้นเหมาะสม ทั่วถึง พร้อมต้อนรับวัยเบ่งบานของพวกเธอแล้วหรือยัง

 

ประจำเดือนเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเด็กไทยเข้าสู่วัยสาวเร็วขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยใช้ข้อมูลอ้างอิง (benchmark) ของกลุ่มประชากรคนขาว (Caucasian) มาเป็นเกณฑ์นิยามอายุเข้าสู่วัยสาวของเด็ก ทำให้ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยสักเท่าไรนัก อีกทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับวัยสาวและประจำเดือนในประเทศที่ผ่านมายังคงศึกษาอยู่ในวงจำกัด เช่น งานศึกษาเด็กหญิงในกรุงเทพมหานคร พบว่าเด็กในเมืองกรุงเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกอายุเฉลี่ย 11.8 ปี ขณะที่เมื่อศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลับเฉลี่ยอยู่ที่ 11.6 ปี และภาคใต้ เฉลี่ยที่ 12.2 ปี อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีตัวเลขใดที่สามารถใช้เป็นตัวแทนอ้างอิงได้อย่างแม่นยำ

“หนึ่งในจุดประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการทำข้อมูลอ้างอิงการมีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กไทย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อ เช่น การออกแบบแผนยุทธศาสตร์สุขภาวะเด็กและเยาวชนด้านต่างๆ การดูแลเรื่องโภชนาการ การศึกษา ปัจจัยทางสังคมอื่นๆ” ศ.ดร.ปังปอนด์กล่าว

หลังการทำงานร่วมกับนักเรียนกว่า 8,161 คนจาก 95 โรงเรียนทั่วประเทศ ปรากฏว่า กลุ่มเด็กอายุ 8-9 ปีมีประจำเดือนแล้วร้อยละ 2.2 จากเด็กวัยเดียวกันทั้งหมด ด้านกลุ่มอายุ 9-10 ปี มีร้อยละ 2 และเริ่มเพิ่มขึ้นในกลุ่ม 10-11 ปี คือร้อยละ 11.2

“ขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 11-12 ปี มีคนเป็นประจำเดือนแล้วร้อยละ 36.2 หรือ 1 ใน 3 ของประชากร เด็กอายุ 12-13 ปี มีร้อยละ 67.5 หรือ 2 ใน 3 ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 13 ปี ต่างมีประจำเดือนแล้วแทบทั้งหมด

 

“เมื่อคำนวณจากข้อมูล จะพบว่าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 อายุเฉลี่ยของคนที่เริ่มมีประจำเดือนคือ 11.57 ปี ซึ่งถือว่าเป็นที่ตัวเลขที่น้อย ส่วนอายุต่ำสุดที่เป็นประจำเดือนคือ 7.96 ปี ช้าสุดอยู่ที่ 16.92 ปี”

 

ศ.ดร.ปังปอนด์ เสริมว่า เมื่อลองสอบถามช่วงอายุแรกเริ่มมีประจำเดือนของแม่เด็ก ซึ่งเกิดในช่วงปี 2510 ถึง 2540 เพื่อเปรียบเทียบกับอายุเฉลี่ยที่ได้ ผลคือประชากรหญิงไทยสมัยก่อนมีประจำเดือนช้ากว่าเด็กสมัยนี้มาก

“เมื่อเรียงข้อมูลของเด็กที่เกิดปี 2546 ถึง 2550 พบว่าเด็กปี 2546 เริ่มมีประจำเดือนที่อายุ 12.71 ปี ในขณะที่เด็กปี 2550 มีประจำเดือนครั้งแรกเฉลี่ยอายุ 11.42 ปี

“หากลบกันดูจะเห็นส่วนต่าง 1.29 ปี หรือเท่ากับว่าภายใน 4 ปี อายุแรกเริ่มมีประจำเดือนของเด็กลดลงถึงปีกว่า ซึ่งเราต้องเริ่มคิดหนักแล้ว เพราะถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย งานศึกษาที่ผ่านมาในต่างประเทศต้องผ่านไปเป็น 10 ปีจึงค่อยลดลงปีนึง แต่ของไทยถือว่าลดลงเร็วมาก”

สาเหตุของการเข้าสู่วัยสาวอย่างรวดเร็วสันนิษฐานว่ามีผลมาจากตัวเด็กเองและปัจจัยทางสังคมประกอบกัน โดยปัจจัยแรกได้แก่ พันธุกรรม กล่าวคือถ้าแม่เด็กมีประจำเดือนหรือเข้าสู่วัยสาวตั้งแต่อายุน้อย ลูกเองก็มีแนวโน้มจะมีประจำเดือนเร็วเช่นเดียวกัน

ปัจจัยต่อมาคือ ความอ้วน ซึ่ง ศ.ดร.ปังปอนด์ ชี้แจงว่า “ถ้าเด็กมีสัดส่วนไขมันในร่างกายสูง จะทำให้มีประจำเดือนเร็ว” หากเด็กมีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน จะมีแนวโน้มเป็นสาวก่อนวัยมากกว่าเด็กหญิงน้ำหนักปกติราว 6-8 เดือนเลยทีเดียว ในทางกลับกัน เด็กที่มีน้ำหนักน้อย ผอมกว่าเกณฑ์ ก็อาจมีประจำเดือนช้ากว่าเด็กทั่วไปถึง 1.5 ปี

สิ่งเหล่านี้สอดคล้องมาถึงปัจจัยด้านที่สาม หรือปัจจัยด้านโภชนาการ อาหารการกินต่างๆ งานวิจัยหลายชิ้นที่ผ่านมาต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการได้รับสารอาหารแคลอรีสูง โปรตีน วิตามิน หรือสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อพัฒนาการทางร่างกายมากเกินไปอาจเร่งให้เด็กโตเป็นสาวก่อนวัย และการบริโภคฟาสต์ฟู้ดบ่อยครั้งก็มีหลักฐานว่าทำให้ประจำเดือนมาเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เป็นไปได้ว่าอาหารเหล่านั้นทำให้เด็กอ้วนหรือมีไขมันตามร่างกายมากขึ้นจนมีประจำเดือนเร็ว เพราะในงานศึกษาของ ศ.ดร.ปังปอนด์ ก็พบว่า อาหารที่เป็นปัจจัยเร่งการมีประจำเดือนคือขนมกรุบกรอบ เฟรนช์ฟราย เบเกอรี น้ำอัดลม ชา กาแฟ รวมถึงนมวัว และการกินวิตามินหรืออาหารเสริมมากเกินไปเช่นกัน

“หลายคนคิดว่าถ้ากินไก่จะทำให้เป็นประจำเดือนเร็ว ในงานของเราไม่พบปัจจัยเร่งจากไก่นะคะ ไข่ หรือน้ำมะพร้าวก็เช่นกัน” ศ.ดร.ปังปอนด์ เล่าว่าตนก็สงสัยความเชื่อเรื่องกินไก่แล้วโตเป็นสาวเร็ว เพราะได้รับฮอร์โมนที่ถูกฉีดเร่งการเจริญเติบโตของไก่ จึงลองสอบถามเกษตรกรเรื่องดังกล่าว

“คำตอบที่เราได้คือเป็นไปไม่ได้ การเลี้ยงไก่อาจมีการหยอดวิตามินบ้าง แต่ไม่มีการฉีดโกรทฮอร์โมนแน่นอน เพราะต้นทุนแพงเกินกว่าจะฉีดให้ไก่ทุกตัว”

นอกจากอาหารที่เร่งการเกิดประจำเดือนแล้ว ศ.ดร.ปังปอนด์ ยังเปิดเผยรายชื่ออาหารที่ช่วยชะลอการมีประจำเดือน เป็นต้นว่านมแพะ น้ำเต้าหู้ ผักผลไม้ ถั่ว เนื้อหมูหรือเนื้อวัวที่ไม่มีฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ช่วยชะลอการเข้าสู่วัยสาวได้ดีที่สุดคือการเล่นกีฬา มีงานวิจัยยืนยันชัดเจนว่าการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ใช้พละกำลัง จะทำให้ชะลอการเป็นสาวได้ ตรงกับข้อมูลจากการศึกษาของ ศ.ดร.ปังปอนด์ ว่า หากเด็กยิ่งมีมวลกล้ามเนื้อมาก จะยิ่งเข้าสู่วัยสาวช้าลง

อีกหนึ่งปัจจัยซึ่งเป็นที่ถกเถียงกัน คือการได้รับสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน โดยคณะผู้วิจัยสันนิษฐานว่าการใช้ขวดพลาสติกและเครื่องสำอางเวชภัณฑ์อาจส่งผลให้เด็กโตเป็นสาวเร็วขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเพียงพอ ต่างจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การรับสื่อเนื้อหาเรื่องเพศ ที่ดูจะมีนัยสำคัญต่อการกระตุ้นให้มีประจำเดือนเร็วขึ้นมากกว่า

ทั้งนี้ ปัจจัยด้านภูมิหลังทางสังคมเศรษฐกิจก็อาจทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าเด็กหญิงกลุ่มไหนที่มีแนวโน้มโตเป็นสาวไว เพราะงานศึกษาบางงาน เช่น ในอินเดีย พบว่าเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้สูงมักเข้าสู่วัยสาวเร็วกว่าครอบครัวรายได้ต่ำ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตเมืองหรือเขตชนบทก็ตาม

 

นับจากนี้ วิชาเพศศึกษาถึงเวลาต้องเปลี่ยน!

 

เมื่อตัวเลข 11.57 ปีกลายเป็นอายุเฉลี่ยแรกเริ่มมีประจำเดือนใหม่ของเด็กไทย ทำให้เราต้องย้อนกลับมาทบทวนและ ‘อัปเดต’ องค์ความรู้ทั้งในด้านการแพทย์และการศึกษา

ศ.ดร.ปังปอนด์ เสนอว่า เกณฑ์การรักษาอาการโตเป็นสาวก่อนวัยอาจต้องเปลี่ยนแปลงตามผลวิจัย เบื้องต้นสามารถแบ่งเคสการรักษาได้ 2 กรณี คือรักษาเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 8 ปีที่มีประจำเดือนตามเกณฑ์คัดกรองเดิม หรือรักษาเด็กอายุต่ำกว่า 9.4 ปี – อายุน้อยสุดที่สามารถมีประจำเดือนและยังถือว่าเป็นปกติ รักษาไปจนถึงอายุ 11.57 ปีที่เป็นอายุเฉลี่ยปกติใหม่

ส่วนเรื่องการศึกษา จากข้อมูลสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีประจำเดือนและการดูแลตนเองของเด็กไทย อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมนั้น ‘น่าเป็นห่วงมาก’ เพราะถ้าจำแนกเด็กหญิงตามการมีประจำเดือนและมีความรู้ความเข้าใจ พบว่ากลุ่มที่พร้อมทั้งคู่ มีเพียงร้อยละ 53.1 หรือแค่ครึ่งหนึ่งจากเด็กทั้งหมด ขณะที่กลุ่มเสี่ยงสูง คือมีประจำเดือนแต่ไม่มีความรู้มีถึงร้อยละ 22.7 – เกินหนึ่งในสี่ของประชากร เช่นเดียวกับกลุ่มที่ไม่มีทั้งประจำเดือนและความเข้าใจอีกราวร้อยละ 23.3 ทั้งหมดนี้กลุ่มที่ถือว่ามีคุณภาพ คือมีความรู้ก่อนมีประจำเดือน ยังมีเพียงแค่ร้อยละ 18.9 เท่านั้น

สิ่งนี้สะท้อนว่าการเรียนการสอนเกี่ยวกับสุขภาวะและเพศศึกษาในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งในครอบครัว ยังคงปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสังคม

“แม้เด็กจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกที่อายุ 11 ปีครึ่ง หรือประมาณชั้น ป.6 แต่ในความเป็นจริง ยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่เป็นประจำเดือนตอนอายุน้อยกว่านั้น และมีโรงเรียนน้อยมากที่พูดถึงเรื่องประจำเดือน พูดว่าเพศสัมพันธ์หมายถึงอะไร ส่งผลอย่างไรต่อการตั้งครรภ์ ในวิชาเพศศึกษาชั้น ป.3 ป.4 ป.5” ศ.ดร.ปังปอนด์เผย “ขณะเดียวกัน ชั้นมัธยมเองก็ไม่ค่อยมีสอน เพราะหันไปสอนเรื่องอื่นๆ โดยหลายโรงเรียนบอกว่าสอนกันไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้สอนเลย”

หากดูกันในรายละเอียดเนื้อหา วิชาเพศศึกษาในโรงเรียนมักเริ่มพูดถึงหัวข้อการมีเพศสัมพันธ์และความเชื่อมโยงต่อการตั้งครรภ์ในช่วงประถมศึกษาปีที่ 3 แต่ด้านทักษะการปฏิเสธ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์ การตัดสินใจแก้ปัญหาและความตระหนักในการมีเพศสัมพันธ์ที่รับผิดชอบนั้นถูกสอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ โรคติดต่อทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ ก็ยังไม่ถูกสอนอย่างแพร่หลาย กระทั่งผู้ปกครองเองยังไม่มีบทบาทด้านการให้ความรู้บุตรหลานของตนเกี่ยวกับเรื่องเพศเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านข้อมูลในงานวิจัยว่า เด็กหญิงชั้น ป.3 ถึง ม.3 จำนวนกว่า 1 ใน 3 ไม่รู้ว่าหากมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่มีประจำเดือนแล้วอาจเกิดการตั้งครรภ์ได้ และเกือบครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่าในช่วงที่ตั้งครรภ์จะไม่มีประจำเดือน

นอกจากนี้  เมื่อถูกถามว่าประจำเดือนเป็นของต่ำหรือของอัปมงคลใช่หรือไม่ เด็กไทยกว่าร้อยละ 55 ยังตอบว่าใช่ และมีถึงร้อยละ 74.64 คิดว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ขณะที่เด็กอีกส่วนหนึ่ง ราวร้อยละ 29.91 คิดว่าการมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องน่าอาย

แม้ผลการสำรวจจะชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีภูมิหลังทางสังคมดี เช่น เด็กในโรงเรียนขนาดใหญ่ เด็กจากครอบครัวฐานะดี เด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เด็กในกรุงเทพฯ หรือเด็กในโรงเรียนหญิงล้วน รวมถึงเด็กที่เข้าถึงสื่อเรื่องเพศจะเป็นกลุ่มมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมากกว่า แต่ประเด็นที่ ศ.ดร.ปังปอนด์ และคณะผู้วิจัยพยายามเน้นย้ำ คือไม่สำคัญว่าใครจะรู้มากกว่าใคร

เพราะในวัยที่กำลังจะเติบโตเป็นหญิงสาว เด็กทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงความรู้และการดูแลในทุกมิติอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้ากัน

 

หมายเหตุ – อ้างอิงเนื้อหาจากงานแถลงผลการศึกษา “โครงการศึกษาสถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย” ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save