fbpx
"คลื่นยักษ์เก่า" ที่มาก่อนกำหนด - อ่านอนาคตหลังโควิด

“คลื่นยักษ์เก่า” ที่มาก่อนกำหนด – อ่านอนาคตหลังโควิด

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หนึ่งใน New Normal หรือ ความปกติใหม่ในวันนี้คือการที่คำว่า “New Normal” กลายเป็นคำยอดฮิตที่เห็นได้จากเกือบทุกภาษา

สาเหตุมาจากการที่คนกำลังพยายามเข้าใจว่า อนาคตของโลกที่โดนโควิด-19 ‘เขย่า’ แตกต่างจากอนาคตที่เราเคยคิดไว้ก่อนเราจะรู้จักไวรัสโคโรนาอย่างไร

แต่การจะตอบคำถามนี้ได้ เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า ‘อนาคตเก่า’ ที่เราเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นมันหน้าตาเป็นอย่างไร และโควิดมาเปลี่ยนมันไปหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร?

เพื่อตอบคำถามนี้ ผมได้กลับไปอ่านเรื่อง ‘คลื่นยักษ์ขยับโลก’ (Megatrends) ที่เคยเขียนวิเคราะห์ไว้ในหนังสือ Futuration และบทความต่างๆ ตั้งแต่ก่อนโควิด และพบว่าส่วนใหญ่โควิดน่าจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คลื่นแห่งอนาคตที่มีอยู่แต่เดิม ‘มาถึงเร็วขึ้น’ มากกว่าจะพลิกอนาคตจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยอาจมีข้อยกเว้นคือเทรนด์ด้านการท่องเที่ยวโลกที่อาจเปลี่ยนไปอย่างถาวร

วันนี้ขอหยิบคลื่นอนาคตเก่าที่ถูกเร่งให้มาเร็ว-แรงขึ้นมา 6 ข้อใหญ่ๆ

 

1. การเสื่อมถอยของการค้าโลก

 

การค้าโลกเสื่อมถอยอยู่แล้วแต่เดิม เพราะเทคโนโลยีใหม่ได้ลดบทบาทคนในกระบวนการผลิตลง ทำให้การไปตั้งโรงงานในประเทศที่ค่าแรงถูกมีความจำเป็นน้อยลงกว่าก่อน ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำที่สูงสะสมทำให้เกิดกระแสต่อต้านการค้าโลก และการห้ำหั่นกันเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของอเมริกาและจีนทำให้เกิดสงครามการค้าบ่อยขึ้น

หลังโควิดกระแสชาตินิยมและต่อต้านโลกาภิวัตน์อาจรุนแรงกว่าเดิมด้วยหลายสาเหตุ

หนึ่ง ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข และอาหารจะกลายเป็นเรื่องสำคัญที่อาจทำให้บางประเทศผลักดันให้บริษัทยา อุปกรณ์การแพทย์ และอุตสาหกรรมที่สำคัญอื่นๆ ทางเศรษฐกิจย้ายการผลิตสำคัญๆ กลับมาในประเทศมากขึ้น

สอง ความเหลื่อมล้ำที่น่าจะรุนแรงขึ้นอาจเติมน้ำมันให้กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ (ดูข้อ 6 ด้านล่าง)

สาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แย่ลง เมื่อผู้นำประเทศมหาอำนาจบางคนใช้วิธีโทษประเทศอื่นเรื่องปัญหาไวรัสทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งราวฉาน ทั้งยังมีการแย่งชิงอุปกรณ์การแพทย์แทนที่จะใช้โอกาสที่ทุกคนเจอปัญหาเดียวกันมาร่วมมือกัน

ในวันที่ความร่วมมือระดับโลกเกิดได้ยากขึ้น ความร่วมมือระดับภูมิภาคอาจมีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างน้อยในบางด้าน

 

2. การผงาดขึ้นของเอเชีย

 

ตั้งแต่เดิมคงไม่มีใครปฏิเสธว่าเอเชียโดยเฉพาะจีนกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ทั้งทางการผลิต-การค้า การเงินและเทคโนโลยี ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเทรนด์ข้อ 1

หลังโควิดภาพนี้น่าจะยิ่งชัดขึ้น แม้ไวรัสนี้จะทำให้คนเข่าอ่อนกันทั้งโลกไม่เว้นทั้งเอเชียและจีน แต่จากภาพในวันนี้ชี้ให้เห็นว่าอเมริกาและยุโรปโดนเขย่าจากไวรัสรุนแรงกว่ามาก จนเศรษฐกิจน่าจะถดถอยรุนแรงที่สุดตั้งแต่ยุค Great Depression

อเมริกาขนาดใช้เงินการคลังระดับ บาซูก้ากว่า 10% ของGDP ยังเจอคนตกงานเพิ่มเป็น 20ล้านคนภายในเดือนเดียว สหภาพยุโรปเองกำลังต่อสู้ภายในจนอนาคตเงินยูโรไม่รู้จะเป็นอย่างไร

ในขณะที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่คุมโรคได้ดีกว่าอย่างน้อยในวันนี้ดูจะอยู่ในเอเชียเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น จีน เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย

จีนเริ่มเปลี่ยนบทบาทจากผู้ได้รับการช่วยเหลือกลายมาเป็นผู้หยิบยื่นมือช่วยประเทศอื่น เพิ่มบารมีในเวทีโลกในขณะที่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลอเมริกาตกต่ำลงไปอีก หากสมมติว่าจีนเป็นผู้คิดค้นวัคซีนได้ก่อนอีก การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจคงยิ่งแรงขึ้น

ซ้ำจีนยังสร้างความสนใจจากทั่วโลกด้วยการเดินหน้าทดลองการใช้เงินหยวนดิจิทัล (DCEP) ที่ออกโดยธนาคารกลางให้คนทั่วไปใช้  ถือได้ว่าเป็นที่แรกของโลก พร้อมกับประกาศลงทุนมหาศาลในโครงการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อสร้างความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี

อาเซียนเองแม้จะโดนโควิดหนักสาหัสแต่ก็จะยังเป็นหนึ่งในร้อยที่ในโลก ที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวและตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นน่าจะดึงดูดการลงทุนได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยังถือว่ามีช่องทางให้โตอีกมาก 

3. การเข้าสู่โลกดิจิทัล

 

ก่อนโควิด คำว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นคำที่ไม่พูดไม่ได้ แต่ทำจริงหรือไม่ จริงแค่ไหน เป็นอีกเรื่อง แต่หลังโควิดดิจิทัลได้เปลี่ยนสถานะจาก ‘อาหารเสริม’ กลายเป็น ‘น้ำ’ ที่คนและธุรกิจขาดไม่ได้

การเว้นระยะห่างทางสังคมแต่ทำให้เกิด ‘เศรษฐกิจคนติดบ้าน‘ เมื่อคนทั้งทำงานและใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกผ่านช่องทางดิจิทัลปรากฏการณ์นี้ได้ตอกย้ำเทรนด์สำคัญทางดิจิตอลต่างๆ ที่มีอยู่เดิม เช่น การที่คนใช้ชีวิตในโลกออนไลน์นานขึ้น การที่มีคนนอกเมืองใหญ่เริ่มเข้าโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และการที่ภาคธุรกิจเริ่มใช้เครื่องมือทางดิจิทัลมาปรับปรุง ‘หลังบ้าน’ เช่น Cloud AI ระบบชำระเงินดิจิทัล

แต่เมื่อโลกดิจิทัลมาแรงขึ้น ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงดิจิทัล (Digital Divide) ก็แรงขึ้นเช่นกัน (ข้อ 6) ทำให้แต่ละประเทศต้องเร่งหันมาหาทางพัฒนาทักษะดิจิทัลพื้นฐานให้คนมากขึ้น

 

4. คนถูกท้าทายด้วยหุ่นยนต์

 

เดิมทีเราก็กลัวจะถูกแทนที่ด้วย ‘หุ่นยนต์’ (automation) กันอยู่แล้ว เพราะ AI เหมือนจะเก่งขึ้นทุกวันในยุคดิจิทัลที่ดาต้าเติบโตอย่างมหาศาล

แต่ตอนนี้หุ่นยนต์มีข้อได้เปรียบอีกอย่างคือ ‘มันไม่ติดโควิด’

นักธุรกิจอาจเริ่มเห็นว่าหากโรงงานและสถานบริการลดคนแล้วเพิ่มหุ่นยนต์ย่อมสามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นในยามนี้ คำถามคือ แล้วพอโควิดผ่านไปเขาจำเป็นจะต้องกลับไปจ้างคนเท่าเดิมหรือ?

งานที่ใช้ทักษะไม่สูง งานที่ทำซ้ำๆ งานที่ไม่ต้องพบปะผู้คนและใช้ human touch ย่อมเสี่ยงจะ ‘หายไป’ ยิ่งกว่าเก่า หรืออย่างน้อยก็ค่าแรงน้อยลง

จากที่เคยวิเคราะห์ไว้มนุษย์ที่ ‘อยู่ยืน’ ได้ในโลกนี้ น่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอย่างน้อย 2 ทักษะและ 1 ทัศนคติ คือ

ทักษะเพื่อ ‘สื่อกับหุ่นยนต์’ เช่น โปรแกรมมิ่ง การวิเคราะห์ดาต้า
ทักษะที่หุ่นยนต์ทำแทนคนได้ยาก เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (empathy) ฯลฯ
ทัศนคติ growth mindset ที่ทำให้พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิตและล้มแล้วสามารถลุกได้ (resilience)

แต่การจะพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้คนจำเป็นต้องรื้อระบบการศึกษาและเรียนรู้ใหม่ (ข้อ5)

 

5. การศึกษาแห่งอนาคต

 

โควิดอาจกลายเป็นแรงกระตุกที่เปลี่ยนแปลงการศึกษาและการเรียนรู้ครั้งสำคัญ

ในด้านความต้องการ (demand) เมื่อความจำเป็นในการพัฒนาคนถูกเร่งให้ต้องแก้เร็วขึ้น ระบบการศึกษาก็ต้องกดดันให้ปรับแรงขึ้นเช่นกัน

ในด้านการให้บริการ (supply) โควิดบังคับให้เราต้องมาใช้การเรียนรู้ทางไกลมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบออนไลน์ แม้จะไม่สามารถแทนที่การเรียนออฟไลน์ได้ แต่กระแสนี้อาจทำให้เกิดการทดลองการเรียนรู้รูปแบบผสมผสานใหม่ๆ เช่น การใช้แพลตฟอร์ม Edtech ที่สามารถวิเคราะห์และปรับการเรียนการสอนได้ตามความต้องการของนักเรียนแต่ละคน การเรียนรู้จากครูเก่งๆ ได้ทั่วโลกที่ไหนเมื่อไรก็ได้ เช่น นักเรียนอาจเลือกไปฟังอาจารย์ต่างๆ จากทั่วโลกผ่านช่องทางออนไลน์ที่สอนเก่งกว่าครูในมหาวิทยาลัย บทบาทของครูก็ต้องเปลี่ยน ไม่สามารถเป็นแค่วิทยากรสอนหน้าห้องได้

พูดง่ายๆ คือสำหรับคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่หลายคน การเรียนรู้ไม่ใช่แค่สำคัญมากขึ้นแต่มันสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ทุกที่ ทุกเวลา ทุกแบบที่ต้องการ ทำให้เกิดคำถามว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยควรจะอยู่ตรงไหน ในโลกที่การเรียนรู้สามารถและควรเกิดขึ้นได้ทุกที่

 

6. ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น

 

ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือ มหาวิกฤตโควิดจะเปิดแผลและจุดอ่อนที่หลายประเทศมีอยู่แล้ว นั่นคือความเหลื่อมล้ำทางโอกาส

การทำ physical distancing หรือเว้นระยะห่างเพื่อลดการระบาดกระทบกลุ่มคนอาชีพที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้และมีสายป่านสั้นรุนแรงที่สุด การที่อนาคตมาถึงเร็วขึ้นทั้งในข้อ 3, 4 และ 5 ที่อธิบายข้างบน จะทำให้คนบางกลุ่มจะถูก ‘ทิ้งไว้ที่ชานชาลา’ ยิ่งกว่าเดิม เมื่อเข้าไม่ถึงดิจิทัล ถูกหุ่นยนต์แทนที่ หรือเข้าไม่ถึงการศึกษารูปแบบใหม่ เช่นที่ยกตัวอย่างด้านบน

โจทย์ที่สำคัญของรัฐบาลและทุกคนในสังคมไม่ใช่ว่าจะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร แต่จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ขึ้นขบวนรถไฟแห่งอนาคตที่ออกตัวเร็วกว่าเดิมให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีตาข่ายรองรับ (social safety net) สำหรับคนที่ขึ้นไม่ทันจริงๆ นี่คืออีกเหตุผลที่ประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการ รวมถึงการทำ UBI (Universal Basic Income) ถึงได้วนเวียนกลับมาในช่วงเวลานี้

สุดท้าย แม้ 6 คลื่นแห่งอนาคตเหล่านี้อาจไม่ใหม่สักทีเดียว แต่การที่มันซัดเข้ามาเร็ว-แรงขึ้นถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า ในขณะเดียวกันเวลานี้ก็เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับคน บริษัท ประเทศที่ ‘พร้อมคว้ากระดาน’ โต้คลื่นยืนขี่กระแสนี้ก้าวข้ามคนอื่นไปข้างหน้า

เรามาช่วยคว้ากระดานกันเถอะครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save