fbpx
เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช : สู่ทางออกจากความขัดแย้ง สังคมต้องเผชิญความจริง

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช : สู่ทางออกจากความขัดแย้ง สังคมต้องเผชิญความจริง

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

ท่าทีของรัฐบาลต่อการประท้วงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นสัญญาณในทิศทางที่ดี เมื่อยังมีการจับกุมและดำเนินคดีแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง มีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันและที่หน้ารัฐสภา และการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมบริเวณสนามหลวง

ขณะที่ประชาชนกำลังคับข้องใจมากขึ้น เมื่อข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนอง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนนับแสนรายร่วมลงชื่อเสนอถูกโหวตคว่ำ อีกฟากหนึ่งก็มีการระดมข้าราชการและมวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ประท้วงให้ออกมาแสดงพลัง จนเกิดภาพม็อบชนม็อบที่หน้ารัฐสภาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พยายามควบคุมสถานการณ์

ส่วนการเมืองในสภาแม้จะมีการโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน จนถึงความพยายามตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ แต่ประสบการณ์จากความขัดแย้งที่ผ่านมาบอกสังคมไทยว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาและการเผชิญความจริง

สังคมจะเดินไปสู่ทางออกจากความขัดแย้งไม่ได้ หากไม่มีการเปิดพื้นที่ให้คนทุกฝ่ายและมีการรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงอย่างแท้จริงเพื่อจะนำไปสู่ทางแก้ไข

ท่ามกลางสิ่งที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ สังคมควรพูดคุยหาทางออกอย่างไร และ ‘สันติวิธี’ จะมีบทบาทอย่างไรในความขัดแย้งปัจจุบัน

101 สนทนากับ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติภาพ ถึงเรื่องสันติวิธีกับการประท้วง จนถึงทางออกจากความขัดแย้งในสังคมไทย

 

หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

 

 

มองภาพรวมของมาตรการรับมือผู้ประท้วงจากภาครัฐอย่างไรบ้าง อยู่ในหลักการที่ควรจะเป็นไหม

การชุมนุมโดยสงบและสันติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ หลายคนอาจไม่เข้าใจหรือมีประสบการณ์ในอดีตที่เห็นว่าการประท้วงสร้างความยุ่งยากในชีวิตหรือสร้างปัญหาต่างๆ แต่เราควรมองว่าการชุมนุมประท้วงเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ ปกติคนที่อยู่สบายๆ คงไม่อยากจะมาประท้วงหรอก แต่เมื่อกระบวนการปกติไม่สามารถดำเนินการได้ เขาต้องเลือกวิธีที่จะทำให้คนอื่นได้ยินเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบ จึงรวมตัวกันเพื่อมาประท้วง

รัฐบาลควรเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน กระบวนการทางกฎหมายที่ใช้จับกุมแกนนำหรือผู้ร่วมชุมนุมนับเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่ง เป็นการใช้อำนาจไปสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

บางกรณีผู้ประท้วงถูกจับเพราะพ.ร.บ.รักษาความสะอาดบ้าง พ.ร.บ.การจราจรบ้าง ซึ่งการประท้วงริมถนนที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากก็อาจมีการลงไปในพื้นที่การจราจรบ้างเพื่อทำให้เกิดจุดสนใจของผู้คน ขณะที่หลายกรณีมีการยัดเยียดข้อกล่าวหาด้วยกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองของประเทศหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง ผมคิดว่าเป็นการตีความกฎหมายให้ผิดแผกไปจากข้อเท็จจริง ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงไม่ได้ทำให้สถานะความมั่นคงของรัฐเปลี่ยนไป และในหลายกรณีถ้าสามารถทำตามข้อเรียกร้องได้อาจทำให้รัฐมีความเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยซ้ำ

การที่รัฐบาลและองคาพยพใช้อำนาจไปจับกุมแกนนำ แกนตาม แกนนอนทั้งหลายมาดำเนินคดี สิ่งเหล่านี้เป็นความพยายามที่จะใช้กฎหมายไปข่มขู่คุกคามและเป็นการฟ้องปิดปากผู้ที่ออกมาเรียกร้อง

 

การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคมที่แยกปทุมวัน เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเป็นการทำตามหลักการสากล และวันที่ 8 พฤศจิกายน บริเวณสนามหลวงที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นความผิดพลาด ทั้งหมดนี้เป็นการกระทำที่เป็นไปตามหลักการหรือเปล่า

หลักการสากลไม่ได้บอกว่าข้อหนึ่งทำอย่างไร ข้อสองทำอย่างไร แต่หลักการคือขณะที่การชุมนุมมีความสงบและสันติ โดยส่วนมากแล้วจะไม่ให้เกิดการปราบปราม การชุมนุมมีหลากหลายประเภทมาก บางประเภทอาจจำเป็นต้องใช้การควบคุมฝูงชน บางกรณีพอการชุมนุมเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้คนเกิดอารมณ์ก็อาจเข้าไปทำลายทรัพย์สิน บุกไปทำลายอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ราชการต่างๆ เข้าข่ายใกล้เคียงการจลาจล

รัฐบาลอาจเข้าใจผิดว่าการควบคุมมวลชนหรือการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมกับการปราบจลาจลเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นคนละเรื่อง ขั้นตอนที่รัฐบาลเราใช้เป็นการปราบจลาจล

ในวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมมีการชุมนุมโดยสงบและสันติ ไม่เข้าใจว่าด้วยเหตุผลใดเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องฉีดน้ำ ตอนหลังออกมายอมรับว่ามีการผสมสารเคมีที่มีลักษณะชนิดเดียวกับที่ใช้ในแก๊สน้ำตาผสมน้ำฉีดผู้ชุมนุม ทั้งที่ผู้ชุมนุมไม่ได้เคลื่อนไหวและนั่งสงบโดยปกติ สำหรับผมถือว่าเป็นการใช้กระบวนการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุโดยไม่จำเป็น แล้วการอ้างว่าเป็นมาตรฐานสากลนั้น สำหรับมาตรฐานสากลในการปราบจลาจลกับการดูแลความปลอดภัยของผู้ที่มาชุมนุมโดยสงบและสันติ มันมีความแตกต่างกัน ข้ออ้างนี้จึงไม่สมเหตุสมผล

ในขณะเดียวกัน หลายคนบอกว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมาย เราจะเห็นว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ตอนเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. ผมเห็นว่าเป็นสภาวะที่ไม่ฉุกเฉิน ไม่ได้มีการจลาจลใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น แต่รัฐบาลพยายามหาเงื่อนไขที่จะบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือความฉุกเฉิน ซึ่งการพยายามบังคับใช้กฎหมายพิเศษในขณะที่สถานการณ์ไม่ได้ฉุกเฉินเป็นกรณีพิเศษ จะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการเกินกว่าเหตุและลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจเกิดขอบเขตที่ตัวเองควรใช้ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดต่อมาเป็นลูกโซ่ พอวันที่ 16 ต.ค. เจ้าหน้าที่ก็คิดว่าตัวเองสามารถทำได้ มีกฎหมายพิเศษเป็นการป้องกัน

สำหรับวันที่ 8 พ.ย. เวลาฉีดน้ำเราต้องรู้ก่อนว่าทำไมต้องฉีด ไม่ใช่ว่าฉีดเพราะกฎหมายบอกว่าฉีดได้ วันที่ 8 พ.ย. กฎหมายไม่ได้บอกว่าฉีดได้หรือไม่ได้ เพราะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง พอฉีดไปแล้วก็ตกใจว่าฉีดได้หรือเปล่า เลยออกมาขอโทษว่ามือลั่น แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ และอาจตกใจว่าตัวเองอาจสุ่มเสี่ยงถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดี เลยรีบออกมาขอโทษ ขณะที่เหตุการณ์วันที่ 16 ต.ค.ซึ่งทำเกินกว่าเหตุ แต่เขาไม่ขอโทษเพราะมี พ.ร.ก. คุ้มครองอยู่

มันทำให้เห็นว่าการใช้กำลังในการควบคุมขาดตรรกะที่มีเหตุมีผลและเป็นการมองผู้ชุมนุมอย่างไม่เป็นมิตร ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าผู้ชุมนุมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มองในฐานะเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน เขาแค่มาเรียกร้องให้ได้รับการเคารพสิทธิ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐรู้ตัวว่าพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้เฉกเช่นเดียวกับผู้ชุมนุม ความต้องการที่จะใช้กำลังหรืออำนาจที่เกินขอบเขตกับผู้ชุมนุมก็อาจจะน้อยลง

 

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประท้วงถูกวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามคือ การใช้คำหยาบทั้งในการปราศรัย ในโซเชียลมีเดีย หรือบนป้ายในที่ชุมนุม บางคนมองว่าการใช้คำพูดที่ไม่แสดงถึงความเคารพเป็นการไปละเมิดคนอื่น อาจารย์มองว่าแค่ไหนถึงเป็นการละเมิด สิ่งเหล่านี้จะทำลายความชอบธรรมของผู้ประท้วงไหม

การใช้คำหยาบอาจฟังแล้วไม่สบายหู คำหยาบบางคำมีลักษณะของการดูถูกหรือกดทับอัตลักษณ์บางอย่าง อันนี้นับว่าเป็นความรุนแรง เช่น คำที่ใช้ดูหมิ่นทางเพศ ดูหมิ่นคนพิการ คนที่มีอัตลักษณ์ต่างจากเรา คนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา แต่ในความเป็นจริงคำหยาบบางคำถูกแปรสภาพให้เป็นการ implication ที่ส่อถึงนัยยะบางอย่าง เช่น คำว่า ‘I hear too’ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ได้มีความผิดแปลกอะไร แต่ในคำพ้องเสียงภาษาไทยก็อาจมีความหมายอีกอย่าง อันนี้จะถูกนับเป็นความรุนแรงได้หรือไม่ ในทางทฤษฎีอาจเป็นที่ถกเถียงได้

การใช้คำหยาบเหล่านี้มีพลวัต การชุมนุมในช่วงต้นๆ ไม่ค่อยมีคำหยาบคาย คำปราศรัยบนเวทีของแกนนำส่วนมากจะเป็นเรื่องราวมีที่มาที่ไป เรื่องราวความคับข้องใจ กลุ่มนักเรียนเลวที่ออกมาเขามีประเด็นในการเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปโครงสร้างทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ คำหยาบเหล่านี้เริ่มขึ้นมาตอนที่พวกคุณไปไล่จับแกนนำ พอไม่มีแกนนำ ไม่มีเวทีปราศรัยเป็นเรื่องเป็นราว เวลาคนมารวมตัวกันก็ต้องหา motto ที่สะเทือนอารมณ์ของผู้คนและมีความรู้สึกร่วมกัน ทำให้คำเหล่านั้นเกิดขึ้นมา บางทีคำหยาบถูกหยิบยกมาใช้เพื่อสื่อระหว่างผู้คนที่ไม่ได้เป็นแกนนำร่วมกันได้ เช่นถ้าเราร้องเพลง “วัน ทู ทรี โฟร์ ไฟว์…” ก็จะมีประโยคตามหลังมาด้วยทันที เพราะเป็นอะไรที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้แกนนำ

ทางฝ่ายรัฐจะไปโทษผู้ชุมนุมฝ่ายเดียวว่าไปสรรหาคำหยาบมาก็กระไรอยู่ เพราะตอนที่เขาไม่ได้พูดคำหยาบ พูดเป็นเหตุเป็นผล นอกจากไม่ฟังแล้วคุณยังจับพวกเขาไปหมด จนเหลือคนที่สามารถพูดเป็นเรื่องเป็นราวได้น้อยลงจึงจำเป็นต้องหาคำบางคำมาสื่อสารด้วยกันระหว่างผู้ชุมนุม เผอิญคำนั้นอาจไม่เป็นที่พออกพอใจของผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล

 

ในหมู่ผู้ประท้วงมักมีการสื่อสารกันเองว่า อย่าทำอะไรให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างเพื่อจะใช้ความรุนแรงได้ การพูดเช่นนี้คล้ายเป็นการบอกเหยื่อว่าให้ระวังว่าจะถูกกระทำไหม หรือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อไม่ให้ผู้ประท้วงมีการกระทำที่เกินเลย

อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด เราจะเห็นว่าผู้ชุมนุมประกาศจุดยืนว่าจะใช้วิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงในการชุมนุมต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ถ้าเป็นความพยายามในการสื่อสารกันในหมู่ผู้ชุมนุม ก็เป็นการช่วยกันเตือนว่า ถ้าทำอะไรไปบางอย่างที่เป็นปัจจัยให้รัฐเริ่มใช้ความรุนแรง ก็อาจให้ผลของการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามที่ปรารถนา

แต่ถ้าเป็นการพูดจากฝ่ายที่ใช้อำนาจอยู่แล้ว เราต้องยอมรับว่าฝ่ายที่ใช้อำนาจอยู่แล้วก็มีความโน้มเอียงจะใช้อำนาจ เช่น ถ้าเรามีปืน โอกาสที่เราจะได้ใช้ปืนยิงคนอื่นก็มากกว่าคนที่ไม่มีปืน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ที่มีอาวุธอยู่แล้วก็มีโอกาสที่จะใช้อาวุธมากกว่าฝ่ายผู้ชุมนุมซึ่งไม่มีอาวุธ หากเจ้าหน้าที่พูดในลักษณะนี้ก็หมายถึงตัวเองพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ทัศนคติแบบนี้ควรได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างน้อยตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชนมานับครั้งไม่ถ้วน มีผู้คนหลายหมื่นคนได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ บางครั้งก็มีการใช้อำนาจพิเศษ บางครั้งก็เกิดจากเหตุการณ์หลังการทำรัฐประหาร ฉะนั้นมีโอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ความรุนแรง การบอกว่าผู้ชุมนุมเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้ความรุนแรง อาจมีนัยยะว่าเจ้าหน้าที่รัฐเตรียมใช้ความรุนแรงอยู่แล้วหรือเปล่า

ผมไม่ค่อยเชื่อใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ใช้ความรุนแรง เพราะประสบการณ์ในอดีตของเราที่ผ่านมาในการชุมนุมต่างๆ ก็จบลงที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเกือบทั้งนั้น

 

 

เวลาพูดเรื่องสันติวิธี ส่วนใหญ่เรามักเรียกร้องกับประชาชนเพราะคิดว่าสามารถพูดคุยและทำให้เกิดสันติวิธีได้จริง แต่ในทางกลับกัน เราสามารถเรียกร้องให้รัฐใช้สันติวิธีได้ไหม มีขั้นตอนหรือการตรวจสอบแบบไหนที่จะยับยั้งการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐ

หลายคนอาจมีความสับสนว่าอะไรคือสันติวิธี ในการศึกษาเรื่องสันติภาพก็มีมุมมองหลากหลายแนวคิดกระบวนการวิธีการ มีทั้งกระบวนการสันติภาพ แนวทางในการสร้างสันติภาพ กระบวนการด้านการสื่อสาร กระบวนการในการหาพื้นที่ กระบวนการเรื่องความมั่นคงในชีวิตและความมั่นคงของประเทศชาติ

ในกระบวนการสันติภาพและแนวทางสันติภาพก็มีเรื่องสันติวิธี คือวิธีการต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการการสร้างสันติภาพ สันติวิธีบางวิธีอาจใช้ลักษณะการพูดคุย บางวิธีเป็นการต่อสู้ บางวิธีจำเป็นต้องมีการเผชิญหน้าโดยการไม่ปฏิบัติตาม (social disobedience) มีวิธีการเยอะแยะมากมายซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้เป็นเรื่องของความพยายามในการต่อสู้โดยสันติวิธี

ยกตัวอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กับ มหาตมะ คานธี ทั้งสองท่านใช้สันติวิธีในการต่อสู้ มหาตมะ คานธีต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ มาร์ติน ลูเธอร์ คิงต่อสู้กับอำนาจของรัฐ คือสหรัฐอเมริกาที่มีการเหยียดผิว ให้สิทธิคนผิวดำน้อยกว่าคนผิวขาว สิ่งนี้เป็นลักษณะของการใช้สันติวิธีในการต่อสู้ ถ้าเราเข้าใจในบริบทแบบนี้จะเห็นว่าตอนนี้ผู้ชุมนุมโดยเฉพาะคณะราษฎรและเพื่อนๆ ภาคีที่เข้ามาร่วมกันในการชุมนุมครั้งนี้ ก็ใช้สันติวิธีเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายรัฐต้องใช้สันติวิธีด้วย ถ้าฝ่ายรัฐใช้สันติวิธีด้วย มันก็ต้องดีอยู่แล้ว

รัฐที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะเจ้าของอธิปไตยและในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยของประเทศเหล่านั้น เขาจะมีกระบวนการในการทำให้ข้อเสนอของผู้มาชุมนุมเรียกร้องได้รับการตอบสนอง หรืออย่างน้อยต้องมีการพูดคุยกันระดับหนึ่งให้เห็นว่าข้อเสนอเหล่านั้นสามารถนำไปดำเนินการได้จริง

ด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ปัจจุบันรัฐบาลไทยคงไม่ได้คิดว่าการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐบาลไทยอาจคิดว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นกับการปกครองของเขา ในบริบทแบบนี้ผมไม่คิดว่ารัฐบาลและองคาพยพจะหันมาใช้แนวทางสันติวิธี

แต่ถามว่าจำเป็นไหมที่รัฐต้องใช้สันติวิธีด้วย มันก็ไม่จำเป็น เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าการกดดันโดยสันติวิธีทำให้รัฐไม่สามารถจะมีช่องทางอื่นใดได้ก็ต้องไปหาทางออกในโครงสร้างที่เป็นอยู่ เช่น ท้ายที่สุดแล้ว คุณประยุทธ์อาจจำเป็นต้องลาออกหรือยุบสภาหรือเปล่า

ไม่ว่ารัฐจะคิดว่าตัวเองพร้อมที่จะใช้สันติวิธีหรือไม่ แต่ว่าแนวทางตามข้อเรียกร้องเป็นแนวทางที่สามารถหาทางออกได้โดยไม่ต้องเผชิญกับความรุนแรง หรือเป็นทางออกของความขัดแย้งที่ทำให้ฝ่ายต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยกันได้

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีข้อเรียกร้องว่าอยากมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ถ้ารัฐบาลได้ฟังเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังก็จะรู้ว่า ในสังคมที่เราอยู่ นอกจากมีมวลชนสนับสนุนข้อเรียกร้องของคณะราษฎรและภาคีต่างๆ ที่เข้ามาร่วม ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของแนวทางอนุรักษนิยมด้วย ถ้าท่านคิดว่าประเทศนี้มีองค์ประกอบทั้งผู้ที่ปรารถนาอนุรักษนิยมและปรารถนาในแนวทางก้าวหน้า ก็ปล่อยให้เกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นตัวแทนของสังคมนี้ทุกๆ ฝ่าย สภาร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายได้เข้าไปพูดคุยถึงโครงสร้างการเดินต่อไปข้างหน้าในอนาคตของประเทศนี้ก็ได้ อย่าไปกังวลว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสูญเสียอำนาจหรือสูญเสียความได้เปรียบทางการเมือง

อันนี้ผมไม่รู้จะเรียกว่าสันติวิธีหรือเปล่า แต่เป็นกลไกในกระบวนการสันติภาพโดยตัวมันเอง เพราะกลไกเหล่านี้เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนทุกฝ่ายมากที่สุด มี stakeholder เยอะ มีผู้ที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งร่วมอยู่ ในขณะเดียวกัน เป็นพื้นที่ที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกฝ่าย ถ้าเห็นพ้องต้องกันว่าบางอย่างดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยน อะไรพังก็ซ่อม อะไรไม่พังก็ไม่ต้องซ่อม สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่รัฐบาลหรือผู้ครอบครองอำนาจรัฐอยู่เอาไปคิดได้ว่าเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างสันติภาพในสังคมได้

 

ข้อเรียกร้องหนึ่งของผู้ประท้วงคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่คนอีกฝั่งที่ไม่เห็นด้วย เขาตีความว่าเป็นการล้มล้าง เราควรทำอย่างไรในภาวะที่ขาดความเชื่อใจและขาดความเข้าใจกัน

ปัจจุบันคำพูดเรื่อง “ปฏิรูปคือการล้มล้าง” ถูกเอามาสร้างเป็นวาทกรรม ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดกับคนในสังคมเป็นอย่างมากและมีความอันตราย ผมอยากให้แต่ละฝ่ายกลับไปดูช่วงปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ก่อนที่จะมีการรัฐประหารโดย คสช. ตอนนั้นนายกฯ ยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้ง ผู้คนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง จากนั้นมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศใน 11 ประเด็น ถามว่าตอนนั้นคนที่บอกจะปฏิรูปประเทศไทยเขาต้องการล้มล้างประเทศไทยไหม ผมคิดว่าตอนนั้นคนที่คิดจะปฏิรูปประเทศไทยก็อยากจะเห็นประเทศไทยก้าวหน้า เช่น ปฏิรูปการเมือง คือไม่อยากให้มีนักการเมืองฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่อยากให้มีนักการเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือธุรกิจที่ผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบการเมือง

การปฏิรูปคือทำให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นข้อเรียกร้องที่ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่คิดว่าเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เวลาเราบอกว่าต้องปฏิรูปการเมือง เป็นเพราะตอนนี้ระบอบการเมืองของเราทำงานกับระบบสังคมปัจจุบันไม่ได้ และอาจจะทำงานกับระบบในอนาคตไม่ได้หรือทำงานได้แต่ไม่คล่องตัวนัก เราก็ต้องปฏิรูปให้เกิดความคล่องตัว เกิดการพัฒนาให้เหมาะสมกับการที่จะอยู่กับโครงสร้างปัจจุบันและอนาคต เป็นการพัฒนาหรือทำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ทั้งสังคมเราและสังคมโลก นี่เป็นจุดประสงค์ที่ทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าคนที่ออกมาเรียกร้องน่าจะมีความปรารถนาดี เพราะการปฏิรูปทำให้สถาบันสามารถดำรงอยู่ทั้งในสภาวการณ์ปัจจุบันและสภาวการณ์ในอนาคตได้เป็นอย่างดี สามารถดำรงอยู่คู่สังคมไทยไปนานแสนนาน วาทกรรม “ปฏิรูปคือการล้มล้าง” จึงเป็นวาทกรรมที่สร้างความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง แปรเจตนาอันดีของคำว่าปฏิรูปไปในเชิงความหมายทางด้านลบจนผิดจากความเป็นจริง

 

 

ที่ผ่านมา สังคมพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง แต่ว่าในปัจจุบันที่มีประชาชนส่วนหนึ่งกำลังเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ สังคมควรจะพูดคุยกันไหม แล้วเราจะเริ่มต้นพูดคุยกันได้อย่างไร เมื่อฝ่ายรัฐพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้

ผมสอนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพ เวลาอยู่ในห้องเรียน ผมไม่เคยหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมพูดเสมอว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญกับระบบโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศเราเป็นอย่างสูง เพราะฉะนั้นบทบาทหรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐสภา กับศาล กับรัฐบาล จึงเป็นบทบาทที่สำคัญมาก

แม้กระทั่งก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โครงสร้างอำนาจของพระมหากษัตริย์ก็มีการพูดถึงและปรับเปลี่ยนมาเป็นระยะๆ ตอนนี้การพูดถึงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ผู้คนเริ่มให้ความสนใจมากและปรารถนาที่จะพูดถึงอย่างเปิดเผย และในทางกฎหมายเท่าที่ผมพอจะมีความรู้ ก็ไม่ได้มีข้อกฎหมายใดที่ห้ามไม่ให้ผู้คนพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

ยกตัวอย่าง กฎหมายอาญามาตรา 112 คือห้ามพูดในเชิงอาฆาตมาดร้าย ประสงค์ร้าย เช่นการขู่ว่าจะทำร้าย ลักษณะเช่นนี้ไม่ว่ากับพระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดก็ควรมีความผิด แต่ถ้าเป็นการพูดถึงโดยบทบาททั่วไปผมคิดว่าไม่มีกฎหมายข้อใดไปห้ามไว้ แต่เผอิญว่าในอดีตมีนักกฎหมายจำนวนหนึ่งไปตีความบทบัญญัติมาตรา 112 กว้างไกลจนเกินบทบัญญัติ ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจในบริบทของกฎหมายกันอย่างจริงจัง นักกฎหมายต้องออกมาพูดเรื่องนี้กันอีกรอบหนึ่งเพื่อสร้างความเข้าใจกัน ไม่อย่างนั้นจะมีการตีความหรือการสร้างความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนต่อไปเรื่อยๆ

 

ขณะที่ท่าทีของฝ่ายภาครัฐคือการปราบปราม ในอนาคตจะส่งผลต่อไปอย่างไร ถ้าทำให้ประชาชนเงียบลงได้ตอนนี้ แล้วไม่มีความพยายามแก้ปัญหา

เราก็เห็นแล้วว่าก่อนการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ก็มีผู้ชุมนุมในระดับหนึ่ง แต่พอประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงก็มีผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก ยิ่งคุณจับกุมแกนนำมากเท่าไหร่ ผู้ร่วมชุมนุมก็มากขึ้นเท่านั้น วิธีการฟ้องปิดปากหรือการข่มขู่คุกคาม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจะทำให้ผู้คนที่เห็นความไม่เป็นธรรมออกมากันมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจมากกว่าที่รัฐบาลจะสามารถจินตนาการได้

ผมเข้าใจรัฐบาลที่มีรากเหง้ามาจากทหาร สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ก็ยังอยู่เป็นผู้พิทักษ์รัฐบาลนี้ แนวคิดแบบทหารในลักษณะของอำนาจนิยมเป็นหลักเป็นบรรทัดฐานหนึ่งที่คนในรัฐบาลนี้ยึดถือเป็นสรณะ การใช้แนวความคิดแบบนี้ในการปราบปราม ผมก็เข้าใจว่าเขาอาจคิดไม่ออกว่าถ้าไม่ใช้อำนาจแล้วจะใช้อะไร ถ้าปล่อยให้อำนาจหลุดจากมือแล้วตัวเองจะอยู่อย่างไร สถานะของฉันจะเป็นอย่างไร

เราอาจจำเป็นที่ต้องเปิดช่องทางสื่อสารให้ผู้มีอำนาจที่ยังมีแนวคิดในระบบอำนาจนิยมสุดโต่งพอจะได้เห็นว่า การที่ท่านมีอำนาจ แต่ท่านไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจเหล่านั้น หรืออาจลองใช้เพื่อที่จะเอื้อให้กับผู้ที่มาเรียกร้อง สังคมประชาธิปไตยอาจสร้างความรู้สึกอบอุ่นให้กับท่านได้มากกว่าการที่ท่านมีอำนาจอยู่ในมือเยอะๆ ก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ท่านไม่เคยลอง ถ้าลองมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย ท่านอาจรู้สึกอบอุ่นมากกว่าการมีอำนาจจำนวนมากอยู่ในมือก็ได้

 

 

ตอนนี้มีความพยายามจะตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่ผ่านมาในความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้งก็มีความพยายามตั้งคณะกรรมการปรองดองในลักษณะนี้ แต่ไม่ค่อยเป็นผลนัก คิดว่าทำไมที่ผ่านมาจึงไม่สำเร็จ มีอะไรที่เราต้องคำนึงบ้างในการตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้

กระบวนการในการปรองดองสมานฉันท์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘คืนดี’ จากที่เราเคยพอจะอยู่กันได้ แต่ถึงจุดหนึ่งความคิดหรือจินตนาการของเราไปด้วยกันไม่ได้ เราทะเลาะกัน ตีกัน แต่เราอยู่ในประเทศเดียวกัน ในเรือลำเดียวกัน ต้องหาทางไปร่วมกันให้ได้ เลยต้องกลับมาคืนดีกัน แต่การคืนดีกันไม่ได้หมายความว่าต้องรักกันมาก บางทีเราก็ต้องหาวิธีที่จะอยู่กับคนที่เราไม่ชอบให้ได้ เพราะเราไล่คนที่เราเกลียดออกไปจากประเทศนี้ไม่ได้ จึงต้องหาวิธีการกลับมาอยู่ร่วมกัน นี่เป็นกระบวนการหนึ่งในกระบวนการปรองดอง

เวลาเราทะเลาะกันก็อาจด่าหรือใช้คำหยาบกัน เวลาเราจะง้อเพื่อนหรือแฟน เราก็ต้องขอโทษในคำพูดต่างๆ ที่เราไปว่าเขา อันนี้ในระดับบุคคล แต่ถ้าในระดับสังคม อย่าลืมว่าเรื่องคำต่างๆ มันสร้างบาดแผลไว้ ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้งมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก บางคนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยรัฐหรือความรุนแรงโดยผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่ยังจับตัวไม่ได้ หรือการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่สร้างความเสียหายให้กับสังคม เราจะขอโทษคนเหล่านี้อย่างไร เราต้องเยียวยาคนที่ทุกข์ทรมานมาหลายสิบปีจากการสูญเสีย จากการถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม จากการใช้อำนาจบาตรใหญ่ จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการถูกกีดกันออกไปจากสังคม ถ้ากระบวนการปรองดองสมานฉันท์ไม่ได้เริ่มจากจุดนี้ก็ยากที่จะเกิดการคืนดี

ถ้าเราไม่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเลย แล้วใครจะมาปรองดองกับคุณ ในกระบวนการเยียวยาเหล่านี้ต้องมีความจริง ถ้ามีคนเสียชีวิตจากการถูกฆ่า เราก็ต้องรู้ว่าใครเป็นคนฆ่า การเยียวยาไม่ใช่แค่เรื่องเงิน เป็นเรื่องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเยียวยาทางความเข้าใจ อัตลักษณ์ และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าคนเหล่านี้ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ แล้วคุณจะไปขอโทษเขาได้อย่างไร ไม่ใช่บอกว่า “ขอโทษกับสิ่งที่ผ่านมา” ตกลงใครทำก็ไม่รู้ แต่ฉันจะขอโทษ…มันไม่ใช่

ต้องมีกระบวนการที่ทำให้เหยื่อหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบรู้สึกว่าความจริงได้รับการเปิดเผยแล้ว กระบวนการปรองดองและสมานฉันท์ก็อาจเกิดขึ้นได้

สำหรับประวัติศาสตร์ใกล้ๆ เราต้องดูว่าช่วงไม่กี่เดือนนี้มีคนถูกจับไปกี่คดี ผู้ชุมนุมโดนไป 80 คดี ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คุณเอกชัย หงส์กังวาน โดนกระทำหนักๆ 5-6 ครั้ง ทั้งทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินต่างๆ โดนคดีไปอีกนับไม่ถ้วน สิ่งเหล่านี้คุณจะเยียวยาหรือปลดล็อกเขาอย่างไร

เราไม่มีกระบวนการที่เอาคนต่างๆ มาร่วมกันพูดว่าปัญหาปัจจุบันคืออะไร แล้วจะมองไปอนาคตอย่างไร อดีตอยู่ข้างหลังเรา เราเดินผ่านกันมาแล้ว แต่ไปๆ มาๆ อดีตนั้นไม่ได้คลี่คลายแล้วมากองกันอยู่ข้างหน้า ทำให้กระบวนการปรองดองเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้

กระบวนการปรองดองหมายถึงการมีส่วนร่วมของทุกๆ ฝ่าย ขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้ ถ้าคุณจะปรองดองกับพวกเดียวกัน ก็ไม่ต้องปรองดอง แล้วคุณจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไร เมื่อคุณไม่ได้เยียวยาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตเลย เราจะเดินต่อไปในอนาคตร่วมกันอย่างไร ถ้าผ่านด่านแรกไม่ได้ ด่านที่สองที่เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันก็จะเปิดพื้นที่ไม่ได้ ฉะนั้นจึงยังไม่ต้องไปคิดถึงอนาคต

กลับไปข้อเสนอ ผมคิดว่าในระบบพอจะมีพื้นที่สำหรับทุกฝ่าย เช่น ส.ส.ร. ในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องรับรองว่าจะมีทุกฝ่ายอยู่ใน ส.ส.ร. แทนที่จะไปกั้นขวางทางออกเหล่านี้ ซึ่งเป็นทางออกที่ดูจะสวยงามที่สุด ก็ลองเปิดโอกาสให้กระบวนการเหล่านี้ดำเนินต่อไป

นอกจากข้อเรียกร้องของคณะราษฎร เราจะเห็นว่ามีภาคีต่างๆ ที่เข้าไปร่วมเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิง กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มป่าไม้ กลุ่มชุมชน กลุ่ม LGBT คนพิการ กลุ่มนักศึกษา นักเรียนมัธยม กลุ่มนักเรียนอาชีวะ กลุ่มเยาวชนต่างๆ และอีกหลากหลายกลุ่ม ข้อเรียกร้องเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเช่นการปฏิรูประบบการศึกษา การปฏิรูปพ.ร.บ.การศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิรูปพ.ร.บ.สวัสดิการคนพิการ การรักษาพยาบาล รัฐสภาสามารถเป็นทางออกในการนำข้อเรียกร้องเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกันควบคู่ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.

คำว่า ‘พื้นที่’ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเอาทุกคนมาอยู่บนโต๊ะตัวเดียวกัน แต่ต้องมีช่องทางที่เป็นพื้นที่ทางสังคมให้คนกลุ่มต่างๆ ได้เห็นว่าความปรารถนาของเขามีที่ทางจะเดินหน้าต่อไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้ถูกนับว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย พื้นที่ที่คนมีความหวังและพร้อมจะก้าวต่อไป โดยที่อาจไม่จำเป็นมานั่งพูดกันต่อหน้าก็ได้

 

ในสถานการณ์แบบนี้ เริ่มมีคนพูดถึงว่านักสันติวิธีน่าจะออกมาทำอะไรหรือเปล่า แล้วอาจารย์มองว่าในสถานการณ์แบบนี้นักสันติวิธีควรมีบทบาทอย่างไร

โดยส่วนตัวผมศึกษาเรื่องปรัชญาสันติภาพ ความขัดแย้งและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผมเป็นผู้ที่ศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพ ผมไม่เคยเรียกตัวเองว่านักสันติวิธี และคิดว่านักวิชาการหลายคนที่ทำงานด้านสันติวิธีก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นนักสันติวิธี แต่เพราะคำว่า ‘นักสันติวิธี’ เป็นคำที่ถูกใช้ติดปากทุกครั้งเวลามีความขัดแย้งที่อาจมีความรุนแรง คนที่ศึกษาเรื่องนี้หรืออินกับเรื่องพวกนี้ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือออกมาช่วยขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ บ้าง เราเลยเรียกคนเหล่านั้นว่านักสันติวิธี ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่พูดเรื่องกระบวนการสันติภาพ การสร้างสันติภาพ หรือวิธีการในการใช้สันติวิธีเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยในการเคลื่อนไหวทางสังคม

เพราะฉะนั้น ผมไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วมีนักสันติวิธีสักกี่คน แต่ผมคิดว่าจากประสบการณ์และกระบวนการที่เรียนรู้มา ลักษณะการต่อสู้โดยสันติวิธีจะสำเร็จได้เมื่อผู้คนในสังคมหรือผู้ที่เคลื่อนไหวใช้หลักการเหล่านี้ในการเคลื่อนไหว มีความเข้าใจ มีความหนักแน่นกับกระบวนการและวิธีการเหล่านี้

สำหรับผม นักสันติวิธีก็คือผู้ที่เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวทั้งหมด ผู้เข้าร่วมการชุมนุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการ์ด ผู้ร่วมชุมนุม ผู้สนับสนุนข้างหลัง ถ้าคนที่เข้าร่วมยึดมั่นในหลักการสันติวิธี ก็เป็นการเคลื่อนไหวโดยนักสันติวิธีทั้งหมดทั้งมวล นักสันติวิธีไม่ใช่ผมหรือนักวิชาการ

 

 

ตอนนี้มีอะไรที่ภาครัฐและผู้ประท้วงควรคำนึง เพื่อที่จะออกจากความขัดแย้งนี้ หรือทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น 

ผมคิดว่ามีทางออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด ในขั้นแรกคือการแก้ไขมาตรา 256 การจัดการกับเงื่อนไขต่างๆ ที่ล็อกไว้แน่นหนา และเพิ่มหมวดที่จะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาผ่านการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่กุญแจ แต่เป็นทางออกที่ดีและสวยงามมาก

ผมจึงมักพยายามพูดให้เกิดการแก้ไขฉบับนี้และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่จะเปิดประตูสู่ทางออกของความขัดแย้งครั้งนี้ได้ ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็อย่างที่บอกว่าทำอะไรได้ก็ดีทั้งนั้น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จำเป็นและเหมาะสมที่สุดในตอนนี้ และเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาสได้ร่วมมือกันสร้างกติกาใหม่ของสังคม ถ้าเราคิดว่าจะเดินไปข้างหน้าด้วยกติกาใหม่ที่ทุกฝ่ายมีตัวแทนเข้าไปร่วมกันร่าง สิ่งเหล่านั้นน่าจะเป็นนิมิตหมายหรือเป้าประสงค์ที่พึงจะมี

ผมเข้าใจว่าสังคมเราประกอบไปด้วยคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายมากมาย บางกลุ่มเป็นลักษณะอนุรักษนิยม บางคนก็อนุรักษนิยมมาก บางคนก็เสรีนิยมมาก แต่ถ้าเราลองเปิดโอกาสให้สังคมได้เดินหน้าไปสู่สังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้พื้นที่กับคนที่มีความเห็นทุกๆ แบบ คนที่มีความเห็นขวาจัด ซ้ายจัด หรือจะซ้าย 40% ขวา 30% อะไรก็แล้วแต่ สังคมประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้อยู่ร่วมกันได้

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นแบบซ้ายหรือขวา อย่าได้เกรงกลัวสังคมประชาธิปไตย เพราะรับรองได้ว่า คุณจะมีพื้นที่ของคุณแน่ๆ ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save