fbpx
อีสานป๊อป (2) ลงลึกไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง ‘อีสาน’ 

อีสานป๊อป (2) ลงลึกไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง ‘อีสาน’ 

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

สกู๊ป อีสานป๊อป (1) เมื่อเพลงอีสานทลายกำแพงวัฒนธรรม พูดถึงปรากฏการณ์ที่เพลงอีสานได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ ‘เพลงอีสาน เพื่อคนอีสาน’ เท่านั้น แต่เป็นเพลงที่คนทุกภาคฟังได้ และมียอดวิวถล่มทลายในยูทูป

ใน ‘อีสานป๊อป (2)’ นี้ เราจะลงลึกไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง ‘อีสาน’ ว่า อีสาน 2018 มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมีอะไรต่างออกไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน จนส่งผลให้เกิดการ ‘นิยมอีสาน’ และกลายเป็น ‘อีสานใหม่’ ที่ไฉไลกว่าเดิม

ท่านกำลังเข้าสู่บริการรับฝากหัวใจ

คนเมืองเสมือนใน อีสานใหม่

ระยะทางระหว่างขอนแก่น – กรุงเทพฯ อยู่ที่ 449 กิโลเมตร ถ้าขับรถโดยไม่เร่งรีบอะไรจะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง หรืออยากให้เร็วกว่านั้นหน่อย เราสามารถบินข้ามฟ้ามาได้ในเวลา 1 ชั่วโมง แต่เสียงต้องการเวลาน้อยกว่านั้น เพียงไม่กี่วินาที คนที่กรุงเทพฯ ขอนแก่น อยุธยา ปัตตานี เวียงจันทน์ หรือชิคาโก ก็สามารถฟังเพลงเดียวกันในเวลาเดียวกันได้ เมื่อโลกมีอินเทอร์เน็ตและยูทูป

ย้อนกลับไปในยุคก่อน คนอีสานกระจายตัวไปทั่วประเทศไทย และไปไกลทั่วโลก จนมีเพลงที่โด่งดังอย่าง น้ำตาเมียซาอุ ของพิมพา พรศิริ สะท้อนให้เห็นชีวิตของคนอีสานที่สามีต้องไปทำมาหากินที่ซาอุดิอาระเบีย ทิ้งให้ลูกเมียรออยู่ที่บ้าน  คนอีสานย้ายถิ่นฐานไปทั่วทิศทั่วแดน เราเห็นคนอีสานไปทำสวนยางที่ภาคใต้ ทำไร่ชาที่ภาคเหนือ เข้ามาขับแท็กซี่หรือใช้แรงงานในกรุงเทพฯ หรือกระทั่งเป็นนักแสดง นักดนตรี หรือผู้ประกาศข่าว ทำให้ผู้คน เสียงเพลง ภาษาและอาหาร เลื่อนไหลไปกับวัฒนธรรมอื่นจนเป็นเรื่องปรกติ

แต่ในปัจจุบัน ความเลื่อนไหลของวัฒนธรรมอีสานที่เข้ามาสู่เมืองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ‘คนชนบท’ ไม่จำเป็นต้องเข้า ‘เมือง’ ก็สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด งานศิลปะ วรรณกรรม และเสียงเพลงได้ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่

คำพูดที่เคยบอกว่า ชาวบ้านฟัง AM ส่วนคนในเมืองฟัง FM นั้นอาจไม่จริงอีกต่อไปแล้ว การรอฟังเสียงตามสายจากผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่การรับสื่อทางเดียวของคนในหมู่บ้านอีกแล้ว เมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ ‘บ้านนอก’ หรือ ‘กลางเมือง’ ก็สามารถเสพข่าวเดียวกันได้

วรากรณ์ สามโกเศศ เคยเขียนบทความชื่อ อิทธิพลของคนเมืองเสมือน ไว้ว่า “สภาวการณ์ที่ “ระยะทางตายแล้ว” (distance is dead) ทำให้ต้องเปลี่ยนคำจำกัดความของการเป็นคนเมืองเสียใหม่” กล่าวคือ ‘คนชนบท’ ไม่ได้เป็นแค่คนไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือห่างไกลความเจริญ และ ‘คนเมือง’ ก็ไม่ได้มีแค่คนที่อยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ยังมี ‘คนเมืองเสมือน’ (virtual urban people) อยู่ด้วย  พูดให้ชัดคือแม้ผู้คนจะอาศัยในเขตชนบท มองไปมีแต่เรือกสวนไร่นา แต่เขาสามารถดูคอนเสิร์ตกลางทะเลสาบเมืองทองได้ ดูคลิปแต่งหน้าของแพร์รี่พายได้ ดูฟุตบอลส่งตรงจากอังกฤษได้เหมือนๆ กัน  เมื่อรับสื่อใกล้เคียงกัน จึงทำให้คนชนบทและคนเมืองมีความคิด พฤติกรรม รสนิยม และความเชื่อใกล้เคียงกัน

ขณะเดียวกันผู้คนก็ย้ายจากเขตชนบทเข้ามาสู่เขตเทศบาลมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเกิดคนเมืองเสมือน ทำให้มี ‘คนเมือง’ ที่มีอาชีพหลากหลาย ไม่ได้เป็นแค่ชาวนา แต่ยังเป็นผู้ประกอบการ ข้าราชการ และคนทำงานศิลปะ เกิดเป็น ‘ชนชั้นกลางใหม่’ ที่มีทั้งกำลังซื้อและกำลังผลิต

ในหนังสือ ลืมตาอ้าปาก จาก ‘ชาวนา’ สู่ ‘ผู้ประกอบการ’ ของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชนบทไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20 ปี ได้เปลี่ยนชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เคยเป็นชาวไร่ชาวนา มาสู่การเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ (entrepreneur) ในหลายระดับเช่น ผู้ผลิตเพื่อขายด้วยการใช้แรงงานรับจ้าง เจ้าของโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรขนาดเล็ก พ่อค้าคนกลาง ฯลฯ… 

“…ผู้ประกอบการในชนบทจะมองไปยังโอกาสซึ่งซ่อนอยู่ในอนาคต และโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ๆ ดังนั้นคุณลักษณะของผู้ประกอบการในชนบทจึงไม่ใช่ชาวนา เพราะพวกเขาถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยเชิงรุกที่ดึงพวกเขาเข้าสู่โอกาสและช่องทางใหม่ๆ ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางกว่าการทำเกษตรกรรมบนที่นาของตน ทำให้ผู้ประกอบการในชนบทที่มีการร่วมมือกันเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมา” 

ภาคอีสานเป็นภาคที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศ และมีพื้นที่ทำนาข้าวมากที่สุดเช่นกัน[1] มีจำนวนชาวนาที่กลายเป็นผู้ประกอบการจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในรายปัจเจก และทำให้โครงสร้างใหญ่เติบโตขึ้นด้วย

จังหวัดขอนแก่นมีซิตี้บัสให้บริการวิ่งจากสนามบิน ผ่านมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ากลางเมือง ไปสุดสายที่ บขส.3 จ่ายเงินได้โดยวิธีหยอดเหรียญ หรือใช้ smart card จ่ายได้แล้ว และอีกไม่นานก็กำลังจะสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (ขอนแก่น LRT) วิ่งในเมือง เป็นการรวมกลุ่มของเอกชนและราชการในขอนแก่นเพื่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพื่อคนในท้องที่

ไม่ใกล้ไม่ไกล ‘บุรีรัมย์’ กลายเป็นแบรนด์ฟุตบอลระดับประเทศ และไม่ใช่แค่ฟุตบอลเท่านั้น แต่จังหวัดบุรีรัมย์กลายเป็น ‘สปอร์ตซิตี้’ มีสนามฟุตบอลขนาดใหญ่มาตรฐานสากล และมีสนามแข่งรถระดับโลกที่มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาจำนวนมหาศาล  ใน 1 ปี มีผู้เข้าพักโรงแรมในจังหวัดกว่า 760,000 คน เป็นคนต่างชาติกว่า 8,000 คน[2]

หรือแม้แต่เมืองที่อยู่ติดชายแดนอย่างหนองคาย ก็กลายเป็นประตูสู่นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นเมืองน่าอยู่ริมแม่น้ำโขง ใกล้ชิดธรรมชาติเหมาะจะเป็นที่พักผ่อนในระยะยาว รวมถึงอีกหลายจังหวัดที่พัฒนาตัวเองทั้งด้านการศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรมและการค้า

อีสานกำลังพัฒนาเป็น ‘อีสานใหม่’ ที่มีรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะตัว ผสมผสานกับเทคโนโลยีและวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างน่าจับตามอง

คั่นเจาะเลือดเจ้าสิเห็น แต่ลาวอ้อยต้อย

การต่อสู้ทางวัฒนธรรมของคนอีสาน

ย้อนกลับไปที่ความเป็นมาของอีสาน พื้นเพเดิมมีหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ราบสูงนี้ เช่น ลาว เขมร มอญ ภูไท เวียดนาม มีสำเนียงภาษาที่ผิดแผกแตกต่าง ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนที่มีหลายวัฒนธรรมรวมกัน ทั้งอาหารการกิน การร้องรำทำเพลง การแต่งกาย และความเชื่อ ฯลฯ

ในอดีต พื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนจะถูกผนวกรวมเข้ากับรัฐไทยนั้น มีการปกครองตนเองอย่างอิสระเป็นเวลานาน และมีวัฒนธรรมเฉพาะตัวแตกต่างจากวัฒนธรรมสยามหรือคนภาคกลางของประเทศไทย

“…ผลจากการอพยพโยกย้ายและการปรับรับทางวัฒนธรรมทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในทุกวันนี้มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของคนลาวที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันไปบ้าง เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนท้องถิ่นที่มีอิสระในการปกครองตนเองมายาวนาน และประชาชนในภูมิภาคนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรมากกว่าประชาชนลาวในประเทศลาว แต่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับสามารถรวมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้กับชาติพันธุ์ลาว ซึ่งทำให้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความแตกต่างไปจากพวกสยามหรือคนในภาคกลาง” (Charles F. Keyes, 2552)

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาคนอีสานถูกดูถูกจากคนในประเทศ คำว่า ‘ลาว’ หรือ ‘อีสาน’ กลายเป็นคำเหยียด รวมถึงการถูกโยงเข้ากับ ‘ความยากจน’ ‘บ้านนอก’ ‘เสื้อแดง’ ‘โง่ จน เจ็บ’ จนดูเหมือนเป็นการกดทับทางวัฒนธรรม ในอดีตแม้เพลงลูกทุ่งอีสานจะโด่งดังในหมู่คนอีสานด้วยกัน แต่ก็ไม่อาจทะลุทะลวงเข้ามาในเมืองได้เหมือนยุคสมัยนี้ แต่ด้วยการเปลี่ยนผ่านของยุคโลกาภิวัตน์ ก็ทำให้ทุกอย่างเลื่อนไหลไปตามกาลเวลา

ในหนังสือ สู่วิถีอีสานใหม่ ของ พัฒนา กิติอาษา เขียนถึงอัตลักษณ์ทางสังคมใหม่ของคนอีสานว่า “ตัวตนและอัตลักษณ์ใหม่ของคนอีสานยุคหลังสงครามเย็นเปลี่ยนแปลงจากการถูกกล่าวหาว่าล้าหลัง ด้อยพัฒนา หรือได้รับการดูถูกเหยียดหยาม เป็นผู้คนหรือชุมชนที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ ยืนหยัดเพื่อที่จะยืนยันความเป็นตัวของตัวเองทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม”

ชัชวาลย์ โคตรสงคราม พูดถึงเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เพลงของลาวอีสานโด่งดังว่า มีการต่อสู้ทางวัฒนธรรมลาวในประเทศไทยด้วยการพูดถึงความเป็นมนุษย์

“ช่วง พ.ศ. 2500 สยามหรือรัฐไทยต้องผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามอาณานิคม สงครามปลดปล่อยลาวสองฝั่งโขง ต่อเนื่องมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงตามแบบรัฐชาตินิยม เลยต้องลดทอนความเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์อื่นที่อยู่ในการปกครอง ตอนนั้นคนลาวอีสานไม่สามารถแสดงความเป็นลาวออกไปได้ ถูกกดไว้ ดังนั้นจึงเชื่อมโยงได้ว่าทำไมเวลาคนลาวอีสานไปอยู่ที่อื่นแล้วฟังเพลงขับลำลาวถึงร้องไห้ เพราะเป็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรมลาวในประเทศไทย

“เพลงอีสานส่วนมากพูดถึงความเป็นมนุษย์ แสดงตัวตนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพราะเราเคยถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ในชีวิตประจำวันเราไม่ได้พูดกันถึงเรื่องนี้หรอก แต่ลึกๆ ถูกลดทอนอยู่ คนอีสานรุ่นเก่าจะรู้ประวัติศาสตร์ว่าลาวมายังไง ถูกทำอะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อเพลงพูดถึงความเป็นมนุษย์ เลยจับใจ”

แต่การต่อสู้ทัดทานแรงเสียดทานคงยังไม่เพียงพอ หากไม่มีที่ว่างให้เข้าไป ‘ภาวะสุญญากาศของวัฒนธรรมภาคกลาง’ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เพลงอีสานได้รับความนิยมในหมู่คนภาคอื่น ชัชวาลย์อธิบายว่า

“วัฒนธรรมภาคกลางเป็นฐานที่มั่นของรัฐชาตินิยม เต็มไปด้วยวัฒนธรรมเมืองท่า กรุงเทพ ธนบุรี อยุธยา ฯลฯ เชื้อชาติหลากหลายมาก ต่างจากทางลาวอีสานลุ่มน้ำโขง ที่มาจากรากวิถีชีวิตจริงๆ จากภาษาลาวจริงๆ

“พอสิ้นอยุธยา ก็เริ่มเปลี่ยนภาษา ถอดของขอมหมดแล้วมาทำใหม่ พอเข้าธนบุรี รัตนโกสินทร์ ก็ปรับภาษาใหม่อีก แล้วพวกเพลงไทย ดนตรีไทยต่างๆ ในตำราเรียน ล้วนแต่เป็นการพยายามที่จะทำ แต่ไม่สามารถสอดประสานกับวิถีชีวิตได้ ก็เลยเกิดสุญญากาศทางวัฒนธรรมเพลงและจินตนาการสังคม ถ้าเพลงมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นภาคกลาง เพลงอีสานเข้าไปไม่ได้หรอก ทีนี้พอเข้าไป ก็พัฒนาทั้งรูปแบบเนื้อหาให้เกิดการยอมรับ ก็เป็นเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาด กลายเป็นป๊อปปูลาร์ขึ้นมา”

บ่าวบ้านนอกแต่งโตเกาหลี ฟังเพลงอินดี้ ป็อบแดนซ์ และบอยแบนด์

ความ Local ที่ Cool

นอกจากเพลงลูกทุ่งอีสานแล้ว ยังมีเพลงอีสานยังเข้าไปร่วมกับแนวเพลงอื่นๆ อีกมาก เช่น ป๊อปร็อก, ป๊อป, โซล, แร็ป ฯลฯ  เราจะเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการ featuring กันระหว่างนักร้องเพลงไทยสากลกับนักร้องเพลงลูกทุ่งอีสานหลายต่อหลายครั้ง ทั้งยังดังระเบิดจนฉุดไม่อยู่ ตั้งแต่ บอดี้สแลม x ศิริพร ในเพลง คิดฮอด, ป้าง x ตั๊กแตน ในเพลง ภูมิแพ้กรุงเทพ, หญิงลี x BANKK CASH ในเพลง Number One ฯลฯ

การรวมตัวกันของก้อง ห้วยไร่ กับ ปู่จ๋าน ลองไมค์ ในเพลง โอ้ละน้อ, การเอาหมอลำมาร้องแบบโซลของรัศมี อีสานโซล, วง Paradise Bangkok หมอลำอินเตอร์, วง VKL วงษ์คำเหลา ผสมเอาเพลงอีสานเข้ากับแร็ป เช่น Featuring กับ Fucking Hero & Trip J และยังมีวงคนอีสานที่ทำเพลงไทยสากลเช่น Tattoo Color, วงขอนแก่น หรือวงที่ทำเพลงแนวทางเลือกเช่นวง ไปส่งกู บขส. ดู๊ แสดงให้เห็นว่าอีสานกำลังเติบโต เพลงเหล่านี้เข้าไปอยู่ในเพลย์ลิสต์ของคนรุ่นใหม่ คนเมือง หรือกลุ่มคนฟังเพลงเฉพาะ

จากภาพคนมืดฟ้ามัวดินมาดูหมอลำคณะเสียงอิสาน ประถมบันเทิงศิลป์ ระเบียบวาทะศิลป์ ฯลฯ ตอนนี้ความเป็น ‘อีสาน’ ถูกส่งต่อเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบและหีบห่ออื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

ความ ‘บ้านนอก’ หรือ ‘วัฒนธรรมท้องถิ่น’ ถูกหยิบเอาไปบางส่วนเพื่อรวมกับวัฒนธรรมยอดนิยม จากแต่เดิมที่ผู้คนไม่ได้สนใจความ ‘บ้านนอก’ แต่เมื่อความ ‘บ้านนอก’ ถูกตกแต่งให้สวยงาม ก็กลายเป็นศิลปะรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองผู้คนได้

“การผลิตความรู้ประวัติศาสตร์ชนบทที่เน้น ‘ความเป็นไทยในชนบท’ ในสื่อต่างๆ ได้กล่อมเกลาให้ชนชั้นกลางที่มีโอกาส ‘เสพ’ สื่อมากกว่าและนานกว่าคนในชนบท  ‘อิน’ กับภาพจินตนาการของชนบทที่แสนงามมากกว่าคนที่มีโอกาส ‘เสพ’ น้อยกว่า  ที่สำคัญ เมื่อภาพจินตนาการของชนบทที่แสนงามผนวกรวมเข้ากับความเป็นไทยแท้ๆ ก็ยิ่งทำให้ชนชั้นกลางทั้งหลายรู้สึกตื่นเต้นและอิ่มเอิบใจ หากได้ไปเสพส่วนเสี้ยวของไทย-ชนบทในบางครั้งบางเวลา  ดังจะเห็นได้จากกระแสการไปเที่ยวเมืองปาย เมืองเชียงคาน หรือการไปยืนถ่ายรูปกับแผ่นสังกะสีขึ้นสนิมที่หน้า ‘เพลินวาน’…”  อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เขียนไว้ในหนังสือ ลืมตาอ้าปาก จาก ‘ชาวนา’ สู่ ‘ผู้ประกอบการ’

แม้ว่า ‘ความเป็นอีสานในชนบท’ จะไม่ได้ตรงกับ ‘ความเป็นไทยในชนบท’ เสียทีเดียว แต่ก็มี ‘ภาพฝัน’ และ ‘เสน่ห์’ แบบที่คนเมืองตามหา ดังนั้นการหลอมรวมวัฒนธรรมจึงยิ่งทวีความสนุก และมีทีท่าว่าจะขจรขจายไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ

สรุป

ในภาวะที่ขอบของ ‘ชนบท’ กับ ‘เมือง’ นั้นรางเลือน การผลิตงานศิลปะจากคนตัวเล็กเพื่อเข้าสู่วัฒนธรรมใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องเหนือจริงแต่อย่างใด เพลงอีสานในยุคโลกาภิวัตน์จึงสอดประสานความต้องการฟังเพลงของคนอีสานชนชั้นกลางใหม่ และขยายไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ ด้วย

ด้วยความเข้มข้นและพลังการต่อสู้ของคนอีสาน บวกกับภาษาเฉพาะตัวที่รวมกับดนตรีตะวันตก ทำให้เพลงเหล่านี้ทะลุทะลวงมาสู่ส่วนกลางได้

ไม่ใช่แค่ภาคอีสานเท่านั้น แต่การยอมรับวัฒนธรรมชายขอบให้เข้ามามีบทบาทในสังคมได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างงานศิลปะในแบบเฉพาะตัวได้อย่างหลากหลาย และไม่มีระยะทางใดที่ไกลเกินไป

เชิงอรรถ

[1]   พื้นที่นาข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2558 มีขนาด 42,751,543 ไร่ จากพื้นที่นาข้าวทั้งประเทศ 69,964,116 ไร่ ข้อมูลจากสถิติการเกษตรของประเทศไทย

[2]   ที่มา : กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อ้างอิง

Charles F. Keyes. (2552). รัตนา โตสกุล, แปล. อีสานนิยม : ท้องถิ่นนิยมในสยามประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

พัฒนา กิติอาษา. (2557). สู่วิถีอีสานใหม่. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร: วิภาษา.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. (2559). ลืมตาอ้าปาก จาก “ชาวนา” สู่ “ผู้ประกอบการ”. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร: มติชน.

บทความ อิทธิพลของคนเมืองเสมือน โดย วรากรณ์ สามโกเศศ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/507724

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save