fbpx
Dust Atlas (2) : เมื่อฝุ่นสัญจร

Dust Atlas (2) : เมื่อฝุ่นสัญจร

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

ติดตาม Dust Atlas ตอนแรกของซีรีส์ทางของฝุ่น ได้ที่ Dust Atlas: ทางของฝุ่น PM 2.5 ตอนที่ 1 “ฝุ่นและราคาชีวิตคนไทย”

ฝุ่นมีสองชนิด คือฝุ่นตามธรรมชาติและฝุ่นที่มนุษย์สร้างขึ้น

ฝุ่นเนบิวลา ฝุ่นดวงจันทร์ ฝุ่นทะเลทราย ฝุ่นวงแหวนดาวเสาร์ ฝุ่นละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า สปอร์จากเห็ดราที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ฯลฯ เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ฝุ่นที่เราจะติดตามการเดินทางนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ลมหรือพายุอาจช่วยพัดพาฝุ่นที่เกิดจากภาคธรณีของโลกให้มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นฝุ่นละเอียด (fine dust) ที่ชื่อว่า PM 2.5 แล้ว ส่วนใหญ่ล้วนถูกคายทิ้งจากวิถีชีวิตมนุษย์

โทษประหารของลอนดอน

สุภาพสตรีชาวลอนดอนป้องกันหมอกพิษอย่างคงความสวยงาม l ภาพจาก หน้าปกหนังสือ Death in the air
สุภาพสตรีชาวลอนดอนป้องกันหมอกพิษอย่างคงความสวยงาม l ภาพจาก หน้าปกหนังสือ Death in the air

บันทึกเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบ บอกว่าฝุ่นละเอียดจากฝีมือมนุษย์ครั้งแรกๆ อาจมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน

นักโบราณคดีเชื่อว่าราว 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ชาวบาบิโลเนียนได้ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแทนไม้ และ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนเป็นชาติแรกที่ทำเหมืองถ่านหินและขุดบ่อก๊าซธรรมชาติลึกนับร้อยเมตรสำเร็จ

แต่ชาติที่ทำให้คนทั้งโลกต้องพลิกแผ่นดินขุดหาถ่านหิน เพราะเห็นตัวอย่างการนำถ่านหินมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย คือสหราชอาณาจักร

ในปี 1272 มีบันทึกว่า ชาวลอนดอนไม่พอใจปัญหาหมอกควัน จนทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แก้ปัญหาด้วยการลงโทษประหารชีวิตหากมีการเผาถ่านหินเกิดขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวกลับไม่เป็นผล เพราะประชาชนที่ไม่มีทางเลือกอื่นเพื่อสร้างความอบอุ่นนอกจากนำถ่านหินมาเผาไฟ

ปี 1952 เกิดห้าวันแห่งหายนะของมหานครลอนดอน เมื่อหมอกสีเหลืองสกปรกปกคลุมทั่วลอนดอน ในยุคนั้น ลอนดอนขับเคลื่อนทุกอย่างด้วยถ่านหินคุณภาพต่ำที่มีปริมาณกำมะถันหรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่สูง โดยใช้เป็นทั้งแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิงในเครื่องจักรไอน้ำ และใช้ในเครื่องทำความร้อนในบ้าน

ถ่านหินเหล่านี้มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และสารพิษต่างๆ ซึ่งถูกปลดปล่อยออกมาตามปกติ แต่หย่อมความกดอากาศสูงที่เคลื่อนเข้าปกคลุมเหนือกรุง ลอนดอนช่วงนั้นยาวนานผิดปกติ ทำให้อากาศและสารพิษต่างๆ ถูกกดกักไว้ให้เคลื่อนตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าด้านบนไม่ได้ คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 12,000 คน เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า “Great Smog of London” 

หนังสือ Death in the air ซึ่งรวบรวมภาพถ่ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว กล่าวถึงเหตุการณ์ว่าบางคนสิ้นลมหายใจในเตียงนอนของตัวเอง สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดเกี่ยวกับหมอกสังหารครั้งนี้คือคนที่ได้รับสัญญาณเตือนคนแรก ไม่ใช้นักการเมือง นักข่าว หรือแม้กระทั่งหมอ ทุกคนต่างคิดว่านี่คือหมอกทึบทึมอีกครั้งหนึ่ง เหมือนที่ลอนดอนเคยเจอมาตลอดหลายร้อยปี มีเพียงสัปเหร่อที่รู้สึกได้ว่าเขาต้องทำงานหนักจนผิดสังเกต

ธันวาคม 1952 จตุรัสทราฟัลการ์จมในหมอกมรณะ l ภาพจาก TopFoto/The Image Works
ธันวาคม 1952 จตุรัสทราฟัลการ์จมในหมอกมรณะ l ภาพจาก TopFoto/The Image Works

โรสแมรี ซาเจน เด็กหญิงอายุ 13 ปี  ในขณะนั้นเป็นคนหนึ่งที่รอดชีวิตมาเล่าเหตุการณ์ ละแวกบ้านของโรสแมรีเป็นที่อยู่ของผู้ใช้แรงงานที่ถูกระเบิดจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเยอรมนีบุกอังกฤษ สงครามทำให้พ่อของเธอต้องจากลูกไปเป็นทหาร และกลับมาพร้อมปอดที่เสียหายจากผลการสู้รบ เมื่อหมอกครั้งนี้ปกคลุมลอนดอน พ่อของโรสแมรีเริ่มทุรนทุราย เธอและแม่ไปหาหมอเพื่อขอยาไนโตรกลีเซอรินป้องกันอาการเจ็บหน้าอกด้วยภาวะหัวใจขาดเลือด แต่ระหว่างทางกลับบ้าน พ่อของเธอหมดลมหายใจลง หลังป่วยอยู่ในห้องนั่งเล่นในบ้านหลังเล็กๆ ของพวกเขาราวสองสัปดาห์

ปัญหามลพิษทางอากาศยังอยู่คู่กับอังกฤษต่อมา ท้องฟ้าซึมเซาที่ทำให้คนอังกฤษหดหู่ในฤดูหนาวไม่ได้เกิดจากธรรมชาติเท่านั้น แต่เกิดจากฝุ่นถ่านหินที่ช่วยสร้างความเกรียงไกรและแสนยานุภาพให้อังกฤษ ถ่านหินส่งให้อังกฤษเป็นผู้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรม บุกเบิกการคมนาคม ถลุงเหล็กกล้าให้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานและหลอมอาวุธมาสู่กองทัพ ทว่าต้องแลกกับอากาศเลวร้ายเป็นเวลานับศตวรรษ

ด้วยประวัติศาสตร์ฝุ่นในอังกฤษ จึงไม่น่าแปลกใจที่คำว่าหมอกพิษ (smog) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อนายแพทย์อ็องรี อ็องตวน เดเวอ ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน ได้เข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศในปี 1905 และนำคำว่า smoke มารวมกับคำว่า fog หนังสือพิมพ์ Daily Graphic ใช้คำนี้ทันทีในวันรุ่งขึ้น และกลายเป็นคำที่ทั่วโลกใช้ในเวลาต่อมา

ยุคแห่งแสงไฟของเอดิสัน

โทมัส เอดิสัน กับ 'หลอดไฟ' สิ่งที่นำเกียรติยศมาให้เขา
โทมัส เอดิสัน กับ ‘หลอดไฟ’ สิ่งที่นำเกียรติยศมาให้เขา l ภาพจาก Underwood Archives / Getty Images

 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง พลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในอเมริกามาจากถ่านหินถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทศวรรษ 1880 อเมริกาใช้ถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะที่ประเทศอื่นบุบสลายจากสงครามโลก อเมริกาที่อยู่ห่างไกลเคลื่อนไปข้างหน้า

ปลายศตวรรษที่ 19 โทมัส เอดิสัน พัฒนาหลอดไฟฟ้าใช้ตามบ้านเรือนได้สำเร็จ ทำให้อเมริกาก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เอดิสันเริ่มธุรกิจโดยนำหลอดไฟไปขายให้เทศบาลเพื่อนำไปทำเสาไฟข้างทาง ในที่สุดผู้คนทั่วโลกก็ต้องกล่าวถึงความสว่างไสวของอเมริกา

อเมริกาใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าให้แสงสว่าง ใช้เดินรถรางในเมือง ขับเคลื่อนลิฟต์ในตึกสูง และหมุนเครื่องจักรในโรงงาน ปี 1899 สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวผลิตถ่านหินเป็นจำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ของถ่านหินที่ผลิตได้ทั้งโลก ถ่านหินให้กำเนิดอุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกาและทำให้ในปี 1903 ลอสแองเจลิสกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด

กลุ่มหมอกที่สร้างควมแตกตื่นให้ชาวลอสแองเจลิสในปี 1943 หลังหมอกจากไป สภาพอากาศ L.A. ยังเลวร้ายต่อมาร่วม 2 ทศวรรษ
กลุ่มหมอกที่สร้างควมแตกตื่นให้ชาวลอสแองเจลิสในปี 1943 หลังหมอกจากไป สภาพอากาศ L.A. ยังเลวร้ายต่อมาร่วม 2 ทศวรรษ l ภาพจาก L.A. Daily News/Los Angeles Times Photographic Archive/UCLA Library

เมื่อเวลาเดินทางมาถึงปี 1943 ใจกลางห้วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในลอสแองเจลิส มีผู้คนราว 400 คนเสียชีวิตจากหมอกควันปริศนา ชาวอเมริกันเชื่อกันว่าญี่ปุ่นโจมตีอเมริกาด้วยอาวุธทางเคมี ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาหลายปีต่อมากว่าจะพิสูจน์ได้ว่าหมอกควันที่คร่าชีวิตพวกเขาเหล่านั้นเกิดจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมของพวกเขาเอง

แล้วฝุ่นก็ได้ก้าวมาอีกขั้น จากฝุ่นถ่านหินธรรมดาๆ ทำปฏิกิริยากับอากาศตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในลอนดอนจนเกิดหมอกพิษ ฝุ่นที่เกิดขึ้นในลอสเอนเจอลิสเรียกได้ว่าเป็น “ฝุ่นโฟโตเคมี”  ซึ่งเกิดจากก๊าซไอเสียจากโรงงานที่มีโลหะหนัก เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง ตะกั่ว ควันรถที่มีไนโตรเจนออกไซด์ และสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compounds : VOCs) ทำปฎิกิริยาโฟโตเคมีกับแสงแดด ทำให้เกิดมลพิษขั้นทุติยภูมิเช่น ฟอมัลดีไฮด์ พร็อกซีเอธิลไนเตรท และโอโซนระดับต่ำ (ground level Ozone) ซึ่งโอโซนเมื่ออยู่บนชั้นบรรยากาศจะช่วยปกป้องรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่หากไม่ได้อยู่ในชั้นบรรยากาศเมื่อหายใจเข้าไปแล้วจะเป็นอันตราย

สมาชิกของสมาคม Highland Park Optimist สวมหน้ากากกันแก๊สในงานเลี้ยง ปี 1954
สมาชิกของสมาคม Highland Park Optimist สวมหน้ากากกันแก๊สในงานเลี้ยง ปี 1954 l ภาพจาก L.A. Daily News/Los Angeles Times Photographic Archive/UCLA Library

เหตุการณ์นี้ทำให้ลอสแองเจอลิสผ่านกฎหมายการควบคุมมลพิษในปี 1959 แคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐแรกในอเมริกาที่กำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ และได้กำหนดค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานของไทย เท่า 

รุ่งอรุณฝุ่นไทย

 

ภาพถ่ายกรุงเทพฯ ปี 1935 มองเห็นปล่องควันจากอุตสาหกรรมต่างๆ ริมฝั่งน้ำ
ภาพถ่ายกรุงเทพฯ ปี 1935 มองเห็นปล่องควันจากอุตสาหกรรมต่างๆ ริมฝั่งน้ำ l ภาพจาก Hulton-Deutsch Collection/CORBIS

ขณะที่ชาติตะวันตกเริ่มถลุงเหล็กด้วยถ่านหิน ประเทศไทยซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพได้ถลุงเหล็กและโลหะต่างๆ ด้วยถ่าน

สมัยก่อนไทยมีถ่านที่หลากหลาย เช่น ถ่านตะบูนให้ควันกลิ่นหอม นิยมนำมาใช้อบขนมฝรั่งกุฎีจีน มีถ่านไม้ชาดให้ความร้อนสูงนับพันองศาเซลเซียส ซึ่งคนไทยใช้ถลุงเหล็ก โดยไม่ต้องใช้ถ่านหินถลุงซึ่งก่อมลพิษและเป็นอันตรายแก่ร่างกาย

และในเวลาที่ท้องฟ้าลอนดอนเจือปนไปด้วยฝุ่น ท้องฟ้าของประเทศไทยได้กลั่นน้ำค้าง

หากพิจารณาช่วงเวลาที่ประเทศไทยผจญวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม  2561 ที่ผ่านมา นักอุตุนิยมวิทยาเห็นพ้องกันว่าภาวะนี้เกิดขึ้นเพราะเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ ในระดับพื้นดินมีอุณภูมิต่ำรวมทั้งมีละอองน้ำและหมอกปกคลุมเหนือพื้นดินจำนวนมาก แต่ที่ระดับความสูงขึ้นไปอากาศกลับมีอุณภูมิสูงขึ้น จึงทำให้มลพิษที่พื้นดินระบายขึ้นไปไม่ได้และตกลงมาครอบคลุมเมืองไว้

อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่เมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน เมื่อสังฆราชปาเลอกัวซ์ พระสังฆราชชาวฝรั่งเศสผู้ประกาศศาสนาคริสต์มาเยือนสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้บันทึกถึงสภาพอากาศในช่วงเดียวกันนี้ไว้ว่า

“ทุกๆ ปีในเดือนมีนาคม และมีระยะยาวนานประมาณ 15 วัน จะมีปรากฎการณ์เกี่ยวกับน้ำค้างอันน่าประหลาดพอใช้ กล่าวคือในตอนรุ่งเช้า บรรยากาศจะเต็มไปด้วยหมอกอันหนาทึบ นับตั้งแต่ดวงอาทิตย์เพิ่งเริ่มอุทัย ครั้นแล้วหมอกนี้ก็จะแปรสภาพเป็นน้ำค้างซึ่งตกกระเซ็นเป็นฝอยฝนไหลอาบหลังคาบ้านเรือนและใบไม้จนเปียกชุ่ม”

การทำงานของฤดูกาลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต หากอากาศยังบริสุทธิ์ เมื่อฤดูกาลเดิมหมุนเวียนมาถึง สิ่งที่เราได้พบน่าจะเป็นความชื่นฉ่ำของน้ำค้าง ไม่ใช่กระสุนเม็ดจิ๋วขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน

ควันจากการบ่มยาสูบ ปล่องควันของเรือกลไฟ เขม่าจากโรงสีข้าวและโรงงานน้ำตาล ฝุ่นจากการทำปางไม้และอุตสาหกรรมต่อเรือ น่าจะเป็นมลพิษทางอากาศรุ่นแรกที่คนไทยรู้จัก ดังที่ปรากฏว่าปี 2353 คนจีนเริ่มปลูกอ้อย และต่อมาในทศวรรษ 2390 อ้อยกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ในทศวรรษ 2460 ทั้งบริษัทฝรั่งและจีนเริ่มสนใจธุรกิจอุตสาหกรรม เพราะต่างเห็นว่ากรุงเทพฯ ขยายตัวเป็นเมืองใหญ่เพียงพอที่จะเกิดความต้องสินค้าต่างๆ

ปาเลอกัวซ์กล่าวถึงความคับคั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่า  “มีเรือกลไฟซึ่งแล่นขวักไขว่อยู่ในกลางแม่น้ำตลอดปี ไม่เป็นฤดูเรือตะเภาเข้าเหมือนสมัยก่อน โรงสีไฟซึ่งพ่นควันออกจากปล่องสูงเหนือหลังคาในแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือกำปั่นไฟแล่นเข้าแล่นออกหนาแน่น ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นทำเลตั้งโรงสีข้าวมาช้านาน แต่ละโรงเป็นโรงสีประเภทใช้แรงคน โรงสีประเภทใช้เครื่องจักรไอน้ำเพิ่งจะมีในปลายรัชกาลที่ 4 ผู้สร้างโรงสีไฟคนแรกในเมืองไทยชื่อ เอ. เนลซัน ซึ่งเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ใน ค.ศ. 1865”

แม้ว่าโรงสีข้าวและโรงงานน้ำตาลจะเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ของไทยแต่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ของเหลือจากการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง เช่น ฟืน ถ่าน และแกลบซึ่งให้ความร้อนสูงและเป็นพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในยุคแรกของไทยอยู่ร่วม 25 ปี

แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ต้นตอฝุ่นละเอียดที่แท้จริงของสังคมไทยซึ่งเกิดขึ้นหลายปีหลังจากนั้น

ฝุ่นแห่งการพัฒนา

ภาพถ่ายหน้าโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2501 ก่อน 3 ปีให้หลังไทยจะเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก
ภาพถ่ายหน้าโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2501 ก่อน 3 ปีให้หลังไทยจะเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก l ภาพโดย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

กิจการเหมืองถ่านหินในเมืองไทย เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับฝุ่นที่มากับยุคการทำให้เป็นสมัยใหม่ (Modernization)  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในการวางโครงสร้างพื้นฐานให้ไทยหลายด้าน เช่น ถนนหนทาง เขื่อน และการวางผังเมืองที่รองรับการใช้รถยนต์

แม้ว่า พ.ศ. 2460 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศให้เข้ามาสำรวจเหมืองถ่านหินในประเทศไทยเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้มีเหมืองถ่านหินเกิดขึ้น ต่อมาในปี 2493 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กรมโลหกิจ หรือกรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบันได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง และเปิดกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะขึ้นในปี 2497 และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ในปี 2507 ตามลำดับ

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังเป็นผู้ให้เงินกู้สำคัญในโครงการนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม อำนวยความสะดวกในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยแทบทั้งระบบ และนำไฟฟ้ามาสู่ครัวเรือน ทว่าเฉกเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ถ่านหินที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แหล่งพลังงานราคาต่ำชนิดนี้ไม่เคยมอบความสะดวกสบายแก่มนุษย์ฟรีๆ

น้ำฝนที่เต็มไปด้วยฝุ่นถ่านหินรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
น้ำฝนที่เต็มไปด้วยฝุ่นถ่านหินรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ l ภาพจาก รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย

น้ำฝนที่รองไว้หน้าบ้านมีตะกอนสีดำคล้ำละลายปะปน ใบพืชเหี่ยวเฉาเป็นรอยด่างและหงิกงอ ฝุ่นละเอียดสีดำปกคลุมบ้านเรือนและเสื้อผ้าที่ตากไว้ อากาศเจือด้วยฝุ่นที่ไม่ต่างจากกระสุนกำมะถันเม็ดจิ๋วที่ทะลุทะลวงเข้าไปทำให้คัดคันจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มอิ่ม ไอจนหอบ ผิวหนังแสบคัน และยิ่งหายใจลำบากขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศเบาบาง  คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้อยู่รายรอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ. แม่เมาะ จ. ลำปางพบเจอมาหลายปี

บริเวณทิ้งดินที่เหลือจากการขุดเหมืองแร่ มีขนาดสูงเท่าตึก 3 ชั้น
บริเวณทิ้งดินที่เหลือจากการขุดเหมืองแร่ มีขนาดสูงเท่าตึก 3 ชั้น l ภาพจาก รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย

ชาวแม่เมาะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลาน ฝุ่นถ่านหินถูกปลดปล่อยมาสองรูปแบบ โดยมาจากปากปล่องโรงงานไฟฟ้า และการฟุ้งกระจายของฝุ่นจากการทำเหมือง พื้นที่ทิ้งดินที่เกิดขึ้นจากการระเบิดเปลือกดินเพื่อค้นหาถ่านหินในเหมืองแม่เมาะ มีสภาพไม่ต่างจากภูเขาประดิษฐ์สูงเท่าตึกสามชั้น ในภูเขาลูกนี้อัดอวลไปด้วยกำมะถัน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารตะกั่ว แมงกานีส สารปรอท สารหนู ทองแดง แคดเมียม และสารโลหะหนักอันตรายต่อร่างกาย แม้จะมองด้วยตาเปล่าดูแล้วเหมือนดินทั่วไป

สายพานลำเลียงแร่ที่เปิดโล่งและทอดยาวไปจากเหมืองแม่เมาะไปบริเวณที่ทิ้งดิน
สายพานลำเลียงแร่ที่เปิดโล่งและทอดยาวไปจากเหมืองแม่เมาะไปบริเวณที่ทิ้งดิน l ภาพจาก รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย

ดินที่เหลือจากการระเบิดเหมืองแร่ จะถูกแบ่งออกเป็นชั้นต่างๆ แล้วแยกไปตามสายพานที่เปิดโล่งเพื่อเตรียมทิ้ง โดยมีปลายทางของสายพานต่างกันตามประเภทของดิน เช่น ดินชั้นหน้า เป็นดินเม็ดเล็กร่วนที่สุด ฟุ้งกระจายง่ายที่สุด ส่วนดินที่อยู่ในชั้นลึกกว่า หรือชั้นก่อนถึงถ่านหิน เป็นดินแข็งขนาดใหญ่มีความร้อนและน้ำมันปะปนอยู่ ซึ่งจะสันดาปควันพิษผุดขึ้นมาจากใต้ดินให้เห็นเป็นระยะ ดินเหล่านี้เมื่อฟุ้งกระจายจะกลายเป็นฝุ่นทั้งฝุ่นขนาดเล็กและฝุ่นละเอียด พื้นที่รอบเหมืองถ่านหินแม่เมาะจึงเป็นพื้นที่ที่วัดค่าปริมาณฝุ่นละอองได้สูงเกินค่ามาตรฐานอยู่เสมอ ฝุ่นเหล่านี้สามารถพัดไปถึงชุมชนใต้ลมของเหมืองได้โดยง่าย และไหลเวียนอยู่ในอากาศที่ชาวแม่เมาะหายใจ

ปลายสายพานของการทิ้งดินขนาดเล็ก ฝุ่นจะฟุ้งกระจายไปพื้นที่ใต้ลมต่อไป
ปลายสายพานของการทิ้งดินขนาดเล็ก ฝุ่นจะฟุ้งกระจายไปพื้นที่ใต้ลมต่อไป l ภาพจาก รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย

ปี 2535 ฝุ่นและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่งผลให้ชาวบ้านหลายร้อยคนป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ กฟผ. ติดตั้งระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งระบบสามารถดักจับฝุ่นละอองขนาด PM 10 ซึ่งเป็นฝุ่นที่อันตรายที่สุดตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกในขณะนั้นได้ ทว่าฝุ่นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะมีฝุ่น PM 2.5 ร่วมด้วย เกิดข้อถกเถียงว่าหากกฎหมายไม่กำหนดให้มีการวัดและกำหนดมาตรการป้องกัน PM 2.5 ร่วมด้วย จะทำให้ปริมาณมลพิษสูงขึ้นจนถึงขีดอันตราย แม้ตัวเลขจะยังอยู่ในเกณฑ์ก็ตาม

ดินชั้นที่อยู่ติดกับถ่านหินซึ่งถูกทิ้งแล้ว เต็มไปด้วยสารโลหะหนักซึ่งสันดาปกับอากาศได้ง่าย จนทำให้อากาศเป็นสีเทาคล้ำ
ดินชั้นที่อยู่ติดกับถ่านหินซึ่งถูกทิ้งแล้ว เต็มไปด้วยสารโลหะหนักซึ่งสันดาปกับอากาศได้ง่าย จนทำให้อากาศเป็นสีเทาคล้ำ l ภาพจาก รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย

อีกหนึ่งข้อถกเถียงร้อนแรงในขณะนั้นคือ แม้ระบบดักจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์สามารถดักจับฝุ่นละอองท่ีออกมาจากการเผาไหม้โดยตรง หรือฝุ่นปฐมภูมิ (Primary PM 2.5) ได้ แต่ไม่สามารถดักจับฝุ่นทุติยภูมิ (Secondary PM 2.5) ท่ีเกิดจากการทําปฏิกิริยาเคมีโดยมีสารกลุ่มซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียในอากาศเป็นสารตั้งต้นได้ ซึ่งฝุ่นละเอียดเหล่านี้เป็นเรื่องน่ากังวลในทางสาธารณสุข

6 ปีต่อมา ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะขัดข้อง ก๊าซรั่วไหลออกมานอกโรงงาน สร้างผลกระทบกับชาวบ้านผู้อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จับตัวกับอนุภาคอื่นๆ และกลายเป็นฝุ่นพิษ ทำให้ผู้คนเกิดอาการหน้ามืด เวียนหัว ใจสั่น หายใจไม่ออก ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้วอาการทรุดลงและบางคนเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ความรู้เท่าทันฝุ่นละเอียดของผู้คนรอบแม่เมาะในระยะแรกนั้นนับว่าน้อยมาก แทบไม่มีใครใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น หลายคนลัดขั้นตอนไปที่การใส่หน้ากากออกซิเจน เมื่อพบว่าตนเองล้มป่วยลงแล้วด้วยโรคทางเดินหายใจ

การตัดสินคดีก๊าซรั่วไหลครั้งนี้มีความน่าสนใจ เพราะเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกๆ ที่ประชาชนเป็นฝ่ายชนะ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเกิดขึ้นของ “ศาลปกครอง” ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในช่วงที่นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนมีความตื่นตัวในทางการเมืองและทางวิชาการอย่างกว้างขวาง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ได้บัญญัติขึ้นท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ศาลปกครอง” ขึ้น อันเป็น “สถาบันถาวรในการรับเรื่องราวร้องทุกขจากประชาชนที่เดือดร้อนจากการใช้ดุลยพินิจทางบริหาร (administrative discretion) ของข้าราชการ”[1]

ในกรณีแม่เมาะมีการฟ้องร้องหลายคดี แต่คดีที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือคดีที่ นายคำ อินจำปา และชาวแม่เมาะรวม 19 คน ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทรัพยากรธรณีจังหวัดลำปาง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ในประเด็นการละเมิดทางปกครองอันเกิดจาการละเลยของหน้าที่ตามกฎหมายฯ ในการควบควบคุมมลพิษ

หนึ่งในคำตัดสินของศาลปกครองที่น่าสนใจ กล่าวโดยย่นย่อคือ ศาลกล่าวว่า ฟังไม่ได้ ว่าชาวแม่เมาะป่วยเป็นโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่ได้ปล่อยทิ้งอากาศเสียและฝุ่นละอองเกินกว่ามาตรการที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนแพทย์บางสำนวนกล่าวว่าประชาชนผู้ฟ้องคดีไม่ได้ป่วยโดยมีสาเหตุจากฝุ่นถ่านหิน แต่เมื่อปรากฎว่าเมื่อ พ.ย. 2535 – ส.ค. 2541 โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ปล่อยอากาศเสีย โดยมีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และผู้ฟ้องร้องทั้ง 19 รายอ้างว่าป่วยด้วยอาการของโรคทางเดินหายใจในช่วงนั้น โดยมีอาการโรดปอด ระคายเคืองตามเยื่อบุผนังตามร่างกาย และผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หากได้รับนานๆ อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงน่าเชื่อว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 96[2]

ผลการตัดสินครั้งนี้ทำให้ประชาชนได้รับสินไหมทดแทน 24.7 ล้านบาท เกิดการวางแนวคำตัดสินว่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำอันตรายต่อมนุษย์ได้จริง ทว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะเปิดดำเนินการต่อไปได้ จนกระทั่งเกิดการฟ้องร้องอีกครั้งเมื่อภายหลังกรมควบคุมมลพิษกำหนดค่ามลพิษที่ปลดปล่อยได้ในแม่เมาะให้สูงกว่าที่อื่นในประเทศไทยคือ 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่พื้นที่อื่นๆ กำหนดไว้ที่ 780 ไมโครกรัม เป็นเวลา 50 เดือน 

โรงไฟฟ้าแม่เมาะและประชาชนรายรอบ ยังคงมีข้อพิพาทดำเนินมาถึงปัจจุบัน ผู้คนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ นับว่าเป็นผู้เคยสัมผัสฝุ่น PM 2.5 กลุ่มแรกๆ ของไทย ประเด็นฝุ่น PM 2.5 และการปลดปล่อยค่ามลพิษได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังในประเทศไทยเป็นครั้งแรกๆ จากกรณีนี้ ก่อนที่คนไทยจะได้รู้จักฝุ่น PM 2.5 มากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา

ฝุ่นฟุ้งในไร่เลื่อนลอย

 

SMOKE: A Crisis in Northern Thailand, The Health Effects and a Solution
ภาพจาก คลิป SMOKE: A Crisis in Northern Thailand, The Health Effects and a Solution

ในยุคสมัยแห่งการพัฒนา ประโยค “ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า เผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย” ถูกตอกย้ำไว้ในแบบเรียนของเด็กไทยมาหลายทศวรรษ บดบังการลักลอบตัดไม้ของทุนร่วมกับรัฐ ซึ่งเป็นตัวการทำลายป่าที่แท้จริง

ทศวรรษที่ 2540 วาทกรรม “ชาวเขาเผาป่า” ได้รับการถอดรื้ออย่างหนัก โดยเฉพาะจากนักพัฒนาองค์กรเอกชนสายชุมชนนิยม จนข้อเท็จจริงว่าคนกลุ่มชาติพันธุ์มีวิถีชีวิตที่ช่วยรักษาป่าไว้มากกว่าทำลายเริ่มปรากฏ เช่น แม้จะมีการ “เผาไร่” เพื่อเพิ่มสารอาหารในดินก่อนการเพาะปลูก แต่การเผานั้นออกแบบมาแล้วอย่างรอบคอบ โดยใช้ภูมิปัญญาเลือกวันเผาที่ช่วงเช้าอาการแห้งแต่ช่วงบ่ายฝนตกช่วยชะล้างเถ้าและเขม่าควันจากการเผาได้ การเสริมย้ำความเข้าใจใหม่นี้ ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการต้องนำคำว่า “ไร่เลื่อนลอย” ออกจากแบบเรียนแล้วแทนด้วยคำว่า “ไร่หมุนเวียน”

ทว่าภาพจำว่าชาวบ้านพื้นถิ่นเผาป่าก็ยากจะลบล้าง เมื่อเกิดหมอกควันในภาคเหนือ ชาวบ้านที่เผาเพื่อทำกิจกรรมกรรมทางการเกษตรยังชีพ เช่น เพื่อให้ผักหวานและเห็ดเผาะได้เติบโตกลับตกเป็นจำเลยแทน และรับข้อหาใหญ่อย่างการสร้างปัญหาหมอกควันซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องแล้วร่วม 40 ปี และมีความรุนแรงขึ้นในช่วง 20 ปีหลัง โดยเฉพาะเชียงใหม่ในปี 2561 ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีมลพิษมากอันดับที่ 8 ของโลก

การเผาซากไร่ในเชียงใหม่
การเผาซากไร่ในเชียงใหม่ l ภาพจาก บทความ A Survivor’s Guide to Chiangmai’s Burning Season

ทว่าต่อมาตัวการกำเนิดหมอกควันภาคเหนือที่แท้จริงเริ่มปรากฏในช่วง 5-10 ปีก่อน นั่นคือการเผาในวงจรการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่รองรับความต้องการบริโภคแบบสังคมสมัยใหม่ เช่น การเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การเผาสิ่งที่เหลือจากการทำไร่อ้อยซึ่งเป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารอีกหลากหลายชนิด หรือกล่าวได้อีกอย่างว่าภาคเหนือและภาคอีสานคือพื้นที่รองรับการผลิตอาหารเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของ “คนเมือง” ที่ไม่สามารถผลิตอาหารเองได้ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของห่วงโซ่การผลิตอาหารอื่นๆ ที่มีมูลค่ารวมนับ 8 แสนล้านบาทต่อปี

ประชาชนหลายพื้นที่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ น่าน มีเหตุผลหลายประการที่เลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นทางออกของชีวิต ทั้งการขาดแคลนสาธารณูปโภคที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต การชลประทานไม่ทั่วถึงยากแก่การเพาะปลูกพืชชนิดอื่น การไม่ปลดปล่อยที่ดินให้ประชาชนถือครองทำกินขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้น การขาดพลังจากตลาดและกิจการอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างงานและความเจริญให้พื้นที่ได้ สิ่งเหล่านี้บีบบังคับให้ประชาชนหาทางออกด้วยตนเอง และเป็นทางที่รัฐ เอกชน และสถาบันทางการเงินการธนาคารเอื้อไว้ให้ นั่นคือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

รัฐบาลหลายยุคสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันสนับสนุนพืชเศรษฐกิจสำคัญ 4 ชนิด คือ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ตามคำร้องของสภาหอการค้าไทยอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสำรวจรายชื่อของประธานและรองประธานสภาหอการค้าไทย พบว่ามีเจ้าของอุตสาหกรรมน้ำตาลรายใหญ่และตัวแทนจากบรรษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ของโลกหมุนเวียนอยู่ในรายชื่ออยู่เสมอ

“ยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ถูกบรรจุไว้ในแผนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารของคนไทยมาตลอดหลายปี ธนาคารเพื่อการเกษตรพร้อมให้เกษตรกรกู้ยืมเงินเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐพร้อมประกันราคาข้าวโพด แม้จะออกกฎไม่ประกันราคาข้าวโพดที่เพาะปลูกในพื้นที่ชัน ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ป่าหรือพื้นที่บนภูเขาได้ แต่เมื่อถึงเวลารับซื้อก็ยากจะพิสูจน์ว่าข้าวโพดได้มาจากพื้นที่ใด

เกษตรกร
ภาพจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง การรุกเข้าไปบนภูเขาซึ่งไม่มีใครจับจอง แล้วปลูกพืชซึ่งมีวงจรการปลูกสั้น ได้ทุนคืนรวดเร็ว เติบโตบนพื้นที่ชันได้ ไม่ต้องพึ่งระบบชลประทานมาก มีเพียงน้ำฝนก็เพียงพอ มีแหล่งรับซื้อแน่นอนผ่านระบบพันธะสัญญาซึ่งเอกชนเสนอให้ มีการรับประกันราคาโดยรัฐ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความมั่นคงเล็กๆ น้อย ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่หาความมั่นคงได้ยากของพวกเขา

นับสิบปีมาแล้วที่ลำไยเริ่มหายไปจากจังหวัดน่าน เช่นเดียวกับพืชพื้นถิ่นในจังหวัดอื่นๆ เกษตรกรเปลี่ยนลักษณะการใช้พื้นที่ไปมากมายเพื่อปลูกข้าวโพดให้เพียงพอตอบสนองตลาดได้ พ.ศ. 2560 พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 7.2 ล้านไร่ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3.6 ล้านไร่ อยู่ในเขตป่าหรือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์

ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นควบคู่กับระดับหมอกหนาในภาคเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวโพด ตระเตรียมพื้นที่สำหรับรอบการปลูกถัดไปให้แล้วเสร็จก่อนต้นฤดูฝน กําจัดเศษวัสดุทางการเกษตร วงจรเหล่านี้ดำเนินไปในช่วงปลายเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคเหนือเกิดวิกฤตหมอกควันเป็นประจำทุกปี

ภาพการเผาไร่
ภาพจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ในทางวิทยาศาสตร์ ได้จำแนกขนาดฝุ่นละอองไว้ 3 กลุ่มหลักด้วยกัน ได้แก่ 1) กลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 ไมครอน เช่นเศษฝุ่นจากการก่อสร้างหรือการระเบิดหิน ละอองเกสรดอกไม้ เถ้าลอย 2) กลุ่มฝุ่นหยาบ (Coarse Particle) หรือ ฝุ่นละอองขนาด 2.5 – 10 ไมครอน 3) ฝุ่นละเอียด (Fine Particle) หรือฝุ่นที่มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM 2.5  ฝุ่นที่เกิดการเผาป่าและการเผาไหม้ทางการเกษตรขนาดใหญ่มีสัดส่วนของฝุ่น PM 2.5  ค่อนข้างมาก และจากการสำรวจเฉพาะพื้นที่เชียงใหม่ ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังพบปริมาณสารพีเอเอชชนิดก่อมะเร็งที่มากับฝุ่นเหล่านี้อีกด้วย

เมื่อปัญหามลพิษคุกรุ่นขึ้น หลายฝ่ายเรียกร้องให้บรรษัทรับซื้อข้าวโพดแสดงความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปปาทานที่ก่อให้เกิดหมอกควันนี้ ทำให้ใน พ.ศ. 2558 บรรษัทผู้รับซื้อรายใหญ่ออกนโยบายว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มาจากพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์อีกต่อไป

การเลิกล้มการรับซื้อจากเกษตรกรผู้รับความต้องการของรัฐและทุนมาสนองตอบ กลายเป็นทางออกในการปัญหาหมอกควัน ความมั่นคงชั่วครู่ในชีวิตของเกษตรกรจำนวนมากจากไป ทว่าหนี้สินที่กู้ยืมมาลงทุนยังคงอยู่ พวกเขาได้กลายเป็นชาวไร่เลื่อนลอยอย่างแท้จริง

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สัมภาษณ์ ทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอแม่แจ่มซึ่งแก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ อ. แม่แจ่ม ได้สำเร็จ ทศพลกล่าวว่าปัญหาหมอกควันนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาการขาดแคลนที่ดินและความเหลื่อมล้ำต่างๆ โดยตรง

“ปัญหาหมอกควันคือปลายเหตุ มันเป็นภาพสะท้อนความไม่เป็นธรรม ความล้มเหลวในการพัฒนา เป็นภาพสะท้อนของการมองที่ไม่เข้าใจ เข้าถึง การเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่แก้ไปถึงรากของปัญหา ให้คนมีที่ดินทำกิน มีน้ำใช้สำหรับการเกษตร มีอาชีพ และพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น ทั้งระบบชลประทาน ไฟฟ้า ถนน ฯลฯ มาไม่ถึงที่นี่เพราะติดขัดการเป็นพื้นที่ป่าตามหลักกฎหมายป่าไม้”

“คนที่ทำเกษตรได้ทั้งปีจะไม่เผาไฟ เพราะทำกินได้ตลอด แต่คนที่ทำข้าวโพดช่วงนี้ตกงาน ก็จะนั่งคิดว่าปีที่แล้วเราทำข้าวโพด 50 ไร่ ปีนี้จะทำเพิ่มอีก 50 ไร่ วิธีการทำลายป่าของที่นี่ก็คือจะไปเฉาะต้นไม้ให้เป็นแผลแล้วเอาไตรโครเซสหยอดไปที่ต้นไม้ ต้นไม้ก็จะตายซาก ก็รุกคืบเข้าไป ปีต่อไปก็เผา และทำให้ดูเหมือนเป็นไฟป่า”[3]

ปัจจุบันนี้แม่แจ่มได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควัน เช่น บรรษัทรับซื้อข้าวโพด หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนของแม่แจ่มเองซึ่งมีทั้งชาวเชียงใหม่และประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ จนเกิดเป็น “แม่แจ่มโมเดล” ในระยะแรก และพัฒนามาเป็น “แม่แจ่มโมเดลพลัส” ในปัจจุบัน

แม่แจ่มเคยเป็นพื้นที่ลำดับต้นๆ ที่มีค่าความร้อน (Hot Spot) เกิดจากการเผาไหม้สูงสุดในภาคเหนือ แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนต่ำที่สุดในภูมิภาค

ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้เพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายประการ เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิที่ดิน จากเดิมภาครัฐเป็นผู้รวมศูนย์ข้อมูลที่ดินแต่เพียงผู้เดียว ทำให้มีข้อมูลเฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ส่วนการใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ในอำเภอแม่แจ่มซึ่งมีอยู่ถึง 437,712 ไร่ ไม่ได้รวมเข้าสู่ระบบ เปิดโอกาสให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ใส่เกียร์ว่าง เอื้อให้กระแสทุนชักนำได้ง่ายว่าอยากให้พื้นที่นั้นถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด

เมื่อภาคประชาสังคมของชุมชนแม่แจ่มนำข้อเท็จจริงจากการสำรวจของชุมชนเองมาจัดทำอย่างเป็นระบบทำให้เห็นการใช้ที่ดินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและต้องการเอกสารสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน อีกทั้งยังเผยปัญหาการบุกรุกป่าในจุดที่ควรสงวนรักษาไว้

การยอมรับความจริงในขั้นแรก นำไปสู่การออกนโยบายจัดทำแผนขอใช้ประโยชน์ที่ดินตามมาตรา 19  เมื่อที่ดินทุกผืนถูกนับและจัดสรรอย่างถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือประชาชนมีความมั่นใจในสิทธิเหนือที่ดิน เมื่อมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย จึงตัดสินใจปลูกพืชชนิดใดในพื้นที่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพืชที่กอบโกยผลประโยชน์ได้รวดเร็ว

การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินยังทำให้สาธารณูปโภคเข้าถึงที่ดินที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน เอื้อให้ประชาชนทำมาหากินอย่างสะดวกมากขึ้น และทำให้แต่ละหน่วยงานกำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบเรื่องป้องกันการเผาได้ชัดเจนและทั่วถึง เช่นสามารถรณรงค์การฝังกลบแทนการเผาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และจัดระเบียบ “ชิงเผา” ก่อนถึงฤดูหมอกควันได้ดี

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้หันมาปลูกพืชแนวทางอื่นๆ  ส่งผลให้เกษตรกรเลิกการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพด หันมาปลูกพืชผสมผสาน เช่น ไผ่ กาแฟ และพืชเศรษฐกิจ จนทำให้เนื้อที่และจำนวนเกษตรที่ปลูกข้าวโพดลดลงอย่างเห็นได้ชัด พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ชาวบ้านเรียนรู้การเพิ่มมูลค่าสินค้าจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่นการทำเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้จากไผ่ เรียนรู้เทคนิคการรักษาอายุไผ่ให้อยู่ได้นานถึง 5-20 เท่า โดยมีภาครัฐและเอกชนช่วยติดต่อตลาดไว้รองรับเกษตรกร  อีกทั้งยังตั้งโรงงานเชื้อเพลิงอัดแท่งโดยแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นทางออกอื่นให้เกษตรกรนอกจากการเผา

เมื่อชีวิตมีทางเลือก และมีความมั่นคง หมอกควันก็หายไป  เฉกเช่นกับในอังกฤษเมื่อหลายร้อยปีก่อน หากชาวลอนดอนมีสิ่งอื่นให้ความอบอุ่นนอกจากถ่านหิน พวกเขาก็คงไม่ใช้มัน

ทว่านอกเหนือจากแม่แจ่ม หลายพื้นที่การเผายังดำเนินต่อไป ปี 2560 ภาพจากดาวเทียม GISTDA บ่งชี้ว่า ไร่ข้าวโพดในจังหวัดน่าน เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านไร่ หรือกลับมามากเท่าปี 2557 หลังจากที่ลดลงไปในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่กระแสสังคมกดดันเรื่องห่วงโซ่อุปปาทานที่ก่อให้เกิดหมอกควันอย่างหนัก

ผศ. ดร. วิษณุ อรรถวาณิช
ผศ. ดร. วิษณุ อรรถวาณิช l ภาพจาก ธิติ มีแต้ม

ผศ. ดร. วิษณุ อรรถวาณิช อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงประสบการณ์จากการลงพื้นที่ทางการเกษตรที่มีการเผาในหลายพื้นที่ว่า “เรายังเผากันอยู่ครับ และยังแก้ไม่ได้เพราะต้นทุนมันถูกกว่า ถ้าผมเป็นชาวไร่ ผมเผา ผมไม่มีต้นทุนอะไรเลย แต่ถ้าผมไม่เผา ผมต้องตัดเอง ต้องจ้างแรงงาน มีต้นทุนเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคำถามที่ตามมาคือ รัฐบาลบอกไม่ให้เผา มีคนเชื่อไหม เอาใจเขามาใส่ใจเรา คุณต้องเสียเงินอีกร้อยบาทแทนการเผา เพื่อคนทั้งสังคมที่ดีขึ้น จริงๆ ก็ดูแฟร์นะ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย แต่ถ้ามองในแง่ของเศรษฐศาสตร์การพัฒนา เขายากจน ภาครัฐมีแรงจูงใจไม่ให้เขาเผาไหม การแก้ปัญหาเราจะมองประสิทธิภาพอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองความเสมอภาคคู่กันเสมอ และให้คนด้อยโอกาสไปด้วยกัน คือหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหา”

 

อยู่กับความสบาย

แม่น้ำ เจ้าพระยา เมือง ฝุ่น PM2.5
ภาพจาก Harshil Shah

มีผู้กล่าวไว้ว่า โลกในยุคปัจจุบันนี้เป็นโลกยุคที่มีความสะดวกสบายพรั่งพร้อมที่สุด หลายประเทศไม่มีสงคราม มีความมั่งคั่งที่สั่งสมมาจากช่วงยุคอุตสาหกรรมเบ่งบาน มีไฟฟ้า มีเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ช่วยให้มนุษย์ไม่ขาดแคลนอาหารอีกต่อไป

แต่ฝุ่นที่กำลังจมทั้งโลกให้สำลักอยู่นี่เอง ที่กำลังเตือนว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ตักตวงไปจากโลกและนำมาสร้างเป็นความเจริญ ความมั่งคั่ง อารยธรรมที่วิวัฒน์มาจนถึงทุกวันนี้ มีราคาที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งหลายประเทศเริ่มเรียนรู้ที่จะชดใช้หนี้ก้อนใหญ่นี้คืนแก่ธรรมชาติแต่โดยดี

สำหรับประเทศไทย อาจยากที่จะยอมรับ ว่าวันหนึ่งเราจะต้องใส่หน้ากากกันมลพิษเพื่อดำรงชีวิตต่อไป ในเมื่อสิ่งหนึ่งที่คนไทยภูมิใจที่สุดคือบ้านเมืองที่มีทรัพยากร ข้าวปลาอาหาร น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ พื้นที่โล่งกว้าง ไม่คับแคบ อากาศดี  ฝรั่งมังค่าต่างหลบหนีท้องฟ้าสีเทาเข้ามายิ้มกริ่มให้กับแสงแดดสดใสในบ้านเรา

แต่ยุคสมัยของการใช้ชีวิตร่วมกับฝุ่นของคนไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว ท้องฟ้ากรุงเทพฯ เผือดแดดได้ง่ายกว่าเดิม ฝุ่นที่คิดว่าไกล อยู่เชียงใหม่ ลำปาง กระบี่ ฯลฯ เริ่มสัญจรเข้ามาขอตีสนิท

การเดินทางร่วมกันระหว่างฝุ่นกับคนไทยยังทอดยาวอีกไกล ทว่าการเดินทางขั้นแรกและสำคัญที่สุด คือการยอมรับความจริงถึงการมีอยู่ของปัญหาฝุ่น โดยไม่เพียรหลอกเครื่องวัดคุณภาพอากาศด้วยกลอุบายต่างๆ ให้แสดงค่าที่ไม่บ่งชี้ถึงอันตราย

และเช่นเดียวกับการใช้หนี้เจ้าหนี้รายอื่น ที่แม้จะเป็นหนี้ก้อนใหญ่นุงนังชวนท้อแท้แค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือยิ่งยอมรับว่าเป็นหนี้เร็วเท่าไหร่ และเพียรพยายามใช้หนี้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งหายใจได้โล่งเร็วขึ้นเท่านั้น

*ติดตามตอนต่อไปของซีรีส์ Dust Atlas: ทางของฝุ่น PM 2.5 ตอนที่ 3 ใน  “ฝุ่นข้ามพรมแดน”  เมื่อฝุ่นเดินทางไกลและกลายเป็นปัญหานานาชาติ มนุษย์จะใช้หนี้ที่ธรรมชาติทวงคืนอย่างไร เร็วๆ นี้

และย้อนตามรอยตอนแรกได้ที่ Dust Atlas: ทางของฝุ่น PM 2.5 ตอนที่ 1 “ฝุ่นและราคาชีวิตคนไทย”

อ้างอิง

[1] คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดิน. การจัดตั้งศาลปกครองตามนโยบายของรัฐบาล. (2536). กรุงเทพฯ

[2] อ่านคำตัดสินคดีได้ที่นี่

[3] Thai Publica. หมอกควัน ไฟป่า น้ำแล้ง เขาหัวโล้น กับโจทย์ที่ยากของ “แม่แจ่มโมเดล”. (2558).

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save