fbpx
Dust Atlas (1) : ฝุ่นและราคาชีวิตของคนไทย

Dust Atlas (1) : ฝุ่นและราคาชีวิตของคนไทย

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

กรุงเทพฯ ใต้ครอบแก้ว 

กรุงเทพฯ ฝุ่น 2.5 ตึก การก่อสร้าง

นับเป็นเวลา 50 กว่าวันแล้วที่สถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่จับตาสภาพอากาศและสถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 อย่างใกล้ชิด หลังเคยนำเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศมาติดตั้งที่โรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ เพื่อปกป้องเด็กๆ ของพวกเขา เช่นเดียวกับสถานฑูตอินโดนีเซียซึ่งแจ้งเตือนชาวอินโดนีเซียในประเทศไทยให้ระวังสุขภาพตั้งแต่วันแรกที่ฝุ่น PM 2.5 ไหลเวียนอยู่ในลมหายใจของกรุงเทพฯ สำนักข่าวต่างประเทศเร่งส่งคำเตือนไปทั่วโลกว่าเมืองซึ่งครองตำแหน่งเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลกหลายปีซ้อนแห่งนี้กำลังหายใจไม่ออก

ณ ริมถนนในเขตสามย่าน ซูม คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างวัย 23 ปี ร่างกายของเขารับรู้ถึงความแปลกแปร่งของอากาศในช่วงเวลานั้นได้ชัดเจนเช่นกัน ซูมเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ยึดอาชีพที่ต้องฝ่าฟันฝุ่นควันบนท้องถนนมา 5 ปีแล้ว

วินมอเตอร์ไซค์ มาบุญครอง PM 2.5

“เมื่อก่อนผมแพ้ฝุ่น พวกฝุ่นที่นอน ฝุ่นในบ้าน แต่ขับรถอยู่บนถนนทั้งวันกลับไม่แพ้ แข็งแรงดีพี่ แต่พอช่วงสองเดือนก่อน ผมรู้สึกเลยว่าอากาศมันอ้าวๆ อึดอัด แสบจมูก แสบหน้า ผมคิดว่ามันเป็นมลพิษตามท้องถนน ไม่เคยได้ยินคำว่าฝุ่น PM 2.5 มาก่อนเลย เพื่อนก็ไม่มีใครพูดเรื่องฝุ่น แล้วมันคืออะไรพี่ ?” ซูมเอ่ยถาม

เมื่อลองถามผู้ที่ทำงานในที่โล่งเช่นเดียวซูม พบว่ามีอีกหลายคนที่ไม่รู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 บังเอิญ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างรุ่นใหญ่เป็นอีกคนหนึ่งที่สูดอากาศเปื้อนพิษอยู่ร่วมเดือน

วินมอเตอร์ไซค์ มาบุญครอง PM 2.5

“ฝุ่นลงเหมือนหมอกหนาๆ ทั้งเดือน เราอยู่บนถนนตลอด แยกสามย่านนี่ฝุ่นเยอะมาก ปกติผมเป็นคนแข็งแรงดีแต่รู้สึกได้เลย เป็นเดือนเลยกว่าจะรู้ข่าว ข่าวออกมาว่ามีฝุ่นละอองจากพวกก่อสร้างต่างๆ จากควันรถด้วยรวมกัน พอเป็นข่าวออกมาเราก็ซื้อหน้ากากใส่สักนิดหนึ่ง ก่อนหน้านั้นผมไม่ได้ใส่หน้ากากเลยนึกว่าเป็นหมอกธรรมดา ข่าวออกมาถือว่าช้ามาก ”

แผงขายลอตเตอรี่ แม่ค้า PM 2.5 

นุ่น อายุ 43 ปี อาชีพแม่ค้า นุ่นขายอาหารอยู่ริมถนน อาหารของเธอถูกปกป้องจากฝุ่นไว้ตามสภาพ ส่วนตัวนุ่นเองก็ใส่หน้ากากกันฝุ่นช่วงที่เกิดเหตุการณ์  

“วันที่หมอกลงรู้สึกแน่นจมูก แสบจมูก เหมือนเป็นหวัด เห็นโทรทัศน์บอกว่าอากาศเป็นพิษ ให้หาหน้ากากมาใส่ปิดจมูกไว้ ก็ทำตามเขา ช่วงเดือนกุมภาฝุ่นลงหนามาก เด็กๆ ไม่สบายเต็มเลย ลูกก็เป็นโรคหืดหอบ โดนอากาศอย่างนี้เขาจะเมื่อย อาการหอบออก เขาอายุ 17 แล้ว ไปโรงเรียนเขาก็ใส่หน้ากากปิดไว้ ใส่อยู่หลายวันกว่าหมอกจะจาง แต่ถึงอากาศแย่มากแต่มันเป็นอากาศธรรมชาติ ไม่มีใครอยากให้เกิดหรอกเนอะ”  นุ่นกล่าวด้วยรอยยิ้มที่พร้อมให้อภัย

พนักงานกวาดถนน PM 2.5

ถาวร อายุ 56 ปี ประกอบอาชีพพนักงานทำความสะอาดของ กทม. ถาวรอยู่เบื้องหลังความสะอาดบนท้องถนนและริมฟุตปาธมาร่วม 20 ปี

“อากาศเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2534 ทั้งควันรถ ฝุ่นละอองเยอะขึ้น เรื่องฝุ่นดูข่าวทุกวัน เลยรู้ ฝุ่นนี่มีมาจากก่อสร้างบ้าง ควันรถบ้าง เขตนี้ก่อสร้างเยอะ ผมไม่มีโรคประจำตัวแต่ตอนนั้นคันจมูกนะ พอมีฝุ่น กทม. เขาก็เอาหน้ากาก (หน้ากากผ้าชนิดบาง) มาแจก ผมก็ปิดจมูกไว้ แต่ปิดได้ไม่นาน หายใจไม่ออก ไม่ชอบใส่ มันอึดอัด

“หน้ากากที่เป็นพลาสติก (หน้ากากกันฝุ่น PM 2.5) เราซื้อเอง มันก็ยังอึดอัด เลยทำใจ ขนาดซื้อหมวกไอ้โม่งมาคลุมแล้วก็เหมือนกัน มันไม่เคยน่ะ ตอนนี้เฉยๆ เรื่องฝุ่น ไม่กลัวแล้ว เรื่องฝุ่นผมจำไม่ได้หรอกว่าเรียกว่าอะไร น่ากลัวนะ แต่จะทำไงได้ ทำงานแบบนี้ก็ต้องอดทนเอา ถ้ามีให้ใส่ก็ใส่ แต่เดี๋ยวเดียวก็ต้องถอด ถ้าปิดจะหายใจไม่ออกเลย คัดจมูก อึดอัดน่ะ”

ดร. ภาณุ ตรัยเวช

“รู้มั้ยครับว่าฌอง ปอล ซาร์ตร์ เคยเป็นนักอุตุนิยมวิทยา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมชอบเล่าให้ใครต่อใครฟังบ่อยๆ”

ดร. ภาณุ ตรัยเวช  อาจารย์สอนด้านภูมิอากาศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงบิดาของปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialist) ผู้เคยเป็นนักอุตุนิยมวิทยาของกองทัพฝรั่งเศสในห้วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ปกติภาณุเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ช่วงเวลาที่คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่น้อยแน่นหน้าอก โรคทางเดินหายใจกำเริบโดยไม่รู้สาเหตุ ไอ จาม หอบเหนื่อยผิดปกติ ภาณุกลับรู้สึกสบายดี “ช่วงนั้นงานเข้าพอดีครับเลยอยู่แต่ในห้องตลอด ไม่ได้ออกไปข้างนอก ปรากฏว่าเป็นช่วงที่ไม่ได้เป็นอะไรเลย ซึ่งก็แปลกดีครับ”

ในสงครามนักอุตุนิยมวิทยาคือผู้กระซิบแก่กองทัพว่าควรยกพลขึ้นบกวันใด วันใดเหมาะกับการหลบซ่อนตัว วันใดเครื่องบินควรทะยานขึ้นฟ้า ฯลฯ ส่วนหน้าที่นักวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยาอย่างภาณุคือการให้คำอธิบายต่อสังคมถึงกลไกของอากาศ โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องฟ้ากรุงเทพฯ เป็นสีเทาเซาหมองและทั้งเมืองจมฝุ่นอยู่ร่วมเดือน

“จริงๆ อากาศจะดีหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับมลพิษน้อยลงเท่านั้น แต่เกี่ยวกับว่าอากาศกระจายไปได้ทั่วถึง หรือขึ้นไปข้างบนได้แค่ไหน ช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ปกติเป็นช่วงที่อากาศลอยขึ้นข้างบนไม่ได้ อากาศด้านล่างเย็น ด้านบนร้อน ซึ่งพอเกิดภาวะนี้ บริเวณเหนือกรุงเทพฯ จะเหมือนมีฝาปิดอยู่ทำให้อากาศขึ้นไปข้างบนไม่ได้ และเป็นฝาที่อยู่ต่ำ ทำให้อากาศหนาแน่น มลพิษไม่กระจายไปไหน มีความเข้มข้นมาก

“ช่วงนี้ที่เหมือนจะดีขึ้นมาแล้ว ถามว่ามลพิษน้อยลงมั้ย ไม่ลดลงหรอกครับ แต่ถ้าในระดับมลพิษเท่ากัน ถ้าฝาคลุม (inversion) อยู่สูง อากาศก็จะกระจายไปได้มากกว่า”

ฝุ่น PM 2.5 เดบิวต์มานานแล้วตามเขตเหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเผาไหม้ในที่โล่ง และแหล่งปลดปล่อยมลพิษอื่นๆ ในต่างจังหวัด แต่มาแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในเช้าที่อากาศสีเทาและแผ่ซ่านความป่วยไข้ไปกว้างไกล เกิดความแตกตื่นในหมู่ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเริ่มต้นจากผู้ที่ติดตั้งแอ็พพลิเคชันตรวจสอบสภาพอากาศไว้ในโทรศัพท์มือถือ

ข้อความ Unhealthy พร้อมสีแดงปรากฏขึ้นแจ้งเตือน บ่งบอกว่าหมอกซึมเซาที่โรยตัวหุ่มคลุมกรุงเทพฯ ไว้ไม่ใช่หมอกธรรมดา แต่คือการรวมตัวกันของฝุ่น PM 2.5  ฝุ่นอนุภาคเล็กเบาที่ล่องลอยในบรรยากาศได้นานกว่าฝุ่นอนุภาคใหญ่ เพิ่มโอกาสให้คนเราหายใจเข้าไปได้มากขึ้น รูพรุนของอนุภาคฝุ่น PM 2.5 ดึงดูดสารพิษอื่นๆ มาเกาะอนุภาคของมันได้อย่างดี สารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน โลหะหนัก ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นมิตรกับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 และพร้อมรวมตัวกันทันทีที่พบกัน

ภาณุกล่าวว่ากรุงเทพฯ ในช่วงที่ภาวะอากาศกดต่ำนั้นไม่ต่างจากการที่เมืองถูกครอบเอาไว้ด้วยครอบแก้วที่มองไม่เห็นและปิดล้อมให้มลพิษต่างๆ วนเวียน ภาวะนี้จะเกิดขึ้น จากไปตามฤดูกาล และวนเวียนมาอีกครั้งอย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้นผู้คนในกลุ่มเสี่ยง เช่น คนทำงานในที่โล่งแจ้ง เด็ก สตรีมีครรภ์ คนเป็นโรคทางเดินหายใจ ต้องเผชิญความทรมานที่จะหวนมาอีกครั้ง

“ต้องมองแยกเป็นสองกรณีนะครับ หนึ่ง ฤดูกาลเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ สอง มีปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ด้วย แน่นอนถ้าเราไม่ปล่อยมลพิษไปแต่แรกก็จะไม่มีมลพิษเลย เป็นสองส่วนที่ทำงานร่วมกันอยู่

“เราเปลี่ยนแปลงฤดูกาลไม่ได้ แต่เราสามารถตระหนักได้ ในทุกไซต์การก่อสร้าง เครื่องยนต์ และโรงงานจะมีขีดจำกัดการปล่อย (emission) มลพิษอยู่ ซึ่งขีดจำกัดมลพิษตัวนี้ควรต้องเปลี่ยนไปตามฤดูกาลด้วย ปกติอัตราการปล่อยมลพิษเหล่านี้มักจะกำหนดอัตราปล่อยเท่ากันตลอดทั้งปี แต่ถ้ามีภาวะอากาศ เช่นเรารู้ว่าในช่วงเดือนนี้ฤดูกาลหรืออากาศจะเป็นอย่างนี้ อาจบีบหรือลดขีดจำกัดการปล่อยมลพิษตรงนี้ให้ต่ำลงหน่อย หรือถ้าอากาศกระจายแล้วค่อยกลับมาปล่อยในอัตราเดิมได้ ผมคิดว่าเราสามารถทำตรงนี้ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติได้ดีขึ้น”

เราจะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ฆาตกรที่หนีไปอย่างไร

จากรายงานของ Lancet Commission on pollution and health ในปี 2016-2017 ระบุว่ามลพิษคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก 9 ล้านคนซึ่งนับเป็น 3 เท่าของโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียรวมกัน และคิดเป็นจำนวน 15 เท่าของยอดรวมผู้เสียชีวิตจากสงครามและความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ

แม้สถิติโลกจะบอกถึงฝีไม้ลายมือของมลพิษที่ดูน่าตระหนก แต่ในความเป็นจริง ณ ประเทศไทย เมื่อคนปกติคนหนึ่งสูดดมมลพิษเป็นประจำจนวันหนึ่งร่างกายอ่อนแอ ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ การกล่าวโทษสภาพอากาศที่ย่ำแย่กลับมีความซับซ้อนกว่าที่คิด เมื่อเดินเข้าไปโรงพยาบาล สาเหตุอย่าง “ผมคิดว่าผมเป็นไซนัสเพราะอากาศไม่ดี” หรือ “เจอมลพิษทุกวันเลยค่ะ” แทบจะไม่ได้ถูกนับรวมเป็นปัจจัยของโรคด้วย เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น รศ. นพ. ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร จาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงความยากในการจับได้ไล่ทันปัจจัยการเกิดโรคที่ลอยละล่องและหายตัวได้รวดเร็วนี้

รศ. นพ. ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร
ภาพโดย ธิติ มีแต้ม

“คนไทยมีแนวโน้มจะเป็นโรคแพ้อากาศ โรคปอดอักเสบ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้มากขึ้น โรคเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก คือปัจจัยเรื่องพันธุกรรม สอง คือสภาพร่างกาย ถ้าร่างกายแข็งแรงถึงแม้เราจะมีพันธุกรรม แต่อาการของเราอาจน้อยลงได้ สาม คือสารก่อภูมิแพ้ ถ้าเราไปเจอสารก่อภูมิแพ้ เราจะมีอาการ ถ้าเราไม่เจอ อาการเราจะน้อย แต่ปัจจัยที่ผมคิดว่าจะทำให้คนเป็นกันมากขึ้น คือปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นตัวเสริมทำให้อาการที่เราเป็นเป็นมากขึ้น เช่น ทำให้จมูกเราไวมากขึ้น พอเราไปเจอสารก่อภูมิแพ้เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เรามีอาการ หรือในคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว บางครั้งไม่ต้องมีสารก่อภูมิแพ้เลย การเปลี่ยนแปลงของมลภาวะที่เป็นพิษทั้งหลายก็ทำให้มีอาการได้”

นพ. ทรงกลดกล่าวว่า ฝุ่นและมลภาวะต่างๆ มักมีอนุภาคเล็กมากจนทำให้ยากจะติดตามนำมากล่าวโทษได้ เช่นฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมถึง 25 เท่า ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กเกินกว่าจะถูกดักจับในเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนต้นของมนุษย์ สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกลงลึกเข้าสู่หลอดลมและหลอดลมฝอยไปยังถุงลมในปอดได้มากขึ้น แทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายซึ่งส่งผลกระตุ้นหรือทำให้บางโรคมีอาการแย่ลง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

“ในการตรวจหาปัจจัยของการเกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น ถ้าเป็นสารก่อภูมิแพ้ เราจะสามารถทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือเจาะเลือดไปตรวจดูได้ว่าเราแพ้เพราะอะไร แพ้เยอะไม่เยอะแค่ไหน แต่พอเป็นเรื่องมลพิษส่วนใหญ่จะไม่มีตัววัด ยกเว้นคนไข้จะต้องสังเกตตัวเอง เช่นไปต่างจังหวัดแล้วอาการดีขึ้น หรือไปต่างประเทศ เผื่อยาไปเยอะแต่ปรากฎว่ายาที่เตรียมไปไม่ต้องใช้เลย การป่วยจากมลพิษไม่มีตัวชี้วัดทางการแพทย์ชัด ส่วนใหญ่จะออกมาในรูปที่คนไข้อยากจะสังเกตตัวเองและรู้ตัวเอง”

นอกจากการสังเกตตัวเองแล้ว นพ. ทรงกลดกล่าวว่ามีงานศึกษาทางการแพทย์ในต่างประเทศไม่น้อยที่พิสูจน์ว่ามลพิษคือสิ่งกำเนิดความป่วยไข้ โดยได้มีการค้นคว้าและรวบรวมร่วมกับ พญ. อรอุษา ทวีวุฒิทรัพย์ พบว่าเฉพาะในปี 2560 มีงานศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่น่าสนใจ เช่นรายงานการศึกษาทางคลินิกกับมนุษย์ที่มหาวิทยาลัย Pittsburgh สหรัฐอเมริกา พบว่า PM 2.5 มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความรุนแรงของอาการและความเสี่ยงที่จะเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดที่มากขึ้นในผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแบบไม่มีริดสีดวงจมูก

ขณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins, Case Western และ Temple ในสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองพบว่า PM 2.5 สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบของเซลล์เยื่อบุผิวจมูก ก่อให้เกิดการทำลายเซลล์โดยอนุมูลอิสระ ส่งผลให้คุณสมบัติการเป็นเกราะป้องกันของเซลล์เยื่อบุผิวจมูกแย่ลง

ส่วนที่มหาวิทยาลัย Fudan ประเทศจีน ได้ทดลองใส่สารตะกอนแขวนลอย PM 2.5 ที่ความเข้มข้นและระยะเวลาต่างๆ กันลงในเซลล์เพาะเลี้ยงเยื่อบุจมูกคน จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์เช่นเดียวกับเซลล์เยื่อบุจมูกหนู กล่าวคือ เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ คุณสมบัติการเป็นเกราะป้องกันของเซลล์ถูกทำลาย ซึ่งคุณสมบัตินี้ที่ทำงานผิดปกติไปถูกเสนอให้เป็นทฤษฎีหนึ่งของสาเหตุโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

นอกจากนี้ การศึกษาที่โรงพยาบาล Anhui Provincial ในประเทศจีนยังพบว่า PM 2.5 กระตุ้นให้หนูทดลองที่เป็นโรคภูมิแพ้มีอาการทางจมูกมากขึ้นได้ ส่วนการทดลองที่มหาวิทยาลัย Fudan  ได้ทดลองให้หนูทดลองหายใจเอา PM 2.5 ที่ความเข้มข้นสูง (3000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เข้าไป พบว่านอกจากจะเกิดปฏิกิริยาการอักเสบที่มากกว่าแล้ว ยังทำให้โครงสร้างภายในเซลล์เยื่อบุผิวจมูกบางส่วนถูกทำลายไปอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีงานศึกษาในลักษณะดังกล่าวมากพอที่จะเก็บเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทยได้ ซึ่ง นพ. ทรงกลด ได้เสนอแนวทางการเก็บข้อมูลระบาดวิทยาทางคลินิกซึ่งอาจจะเป็นก้าวต่อไปที่วงการแพทย์น่ามีส่วนร่วมต่อประเด็นฝุ่น PM 2.5 ไว้ว่า

“มีทางหนึ่งที่เราอาจทำได้ คือทำสำรวจในระดับใหญ่ (mass) เช่นสำรวจอาการของคนที่เป็นโรคจมูก ภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจส่วนบน  หรือในถิ่นที่มีมลพิษเยอะ หรือแม้กระทั่งในถิ่นเดียวกัน เราอาจนำมลพิษ 6 ตัวที่เราพูดถึง (มลพิษที่อยู่ในดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศหรือ Air Quality Index: AQI ได้แก่ ozone, carbon monoxide, lead, sulfur dioxide, nitrogen dioxide, PM10 รวมทั้ง PM 2.5 ที่อยู่ในข้อถกเถียงว่าควรถูกนับรวมใน AQI ด้วย) ว่ามลพิษทั้ง 6 เมื่อเทียบเคียงกับอาการที่คนไข้เป็นแต่ละช่วงแล้วมีความสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ข้อมูลที่ชัดไปนำเสนอให้เห็นว่าถ้ามีอาการเยอะก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะ ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรง (direct cost) เช่น ค่ายา ค่าหมอ และค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect cost) เช่นค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ต้องหยุดงาน ค่าใช้จ่ายที่ญาติต้องหยุดมาเป็นเพื่อน และค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถวัดค่าได้ชัดๆ (intangible cost) เช่น ความรู้สึกว่าตัวเองไม่สบาย ต้องเสียเท่าไหร่ ซึ่งหากทำสำรวจจนพอมีตัวเลขในระดับหนึ่ง ก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญขึ้น” นพ. ทรงกลดกล่าว

 

 คุณภาพชีวิตคนไทยมีราคาเท่าไหร่

 

ก่อนหน้าฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จะเป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ มีฝุ่นที่โด่งดังมาก่อนนั่นคือฝุ่น PM 10 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งมีอนุภาคใหญ่กว่าและก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพน้อยกว่า PM 2.5 ผศ. ดร. วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์คำนวณออกมาว่า คนไทยเต็มใจจ่ายเงินเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้มีฝุ่น PM 10 อยู่ในชีวิต หรือในอีกทางหนึ่งคือคนไทยสูญเสียความสุขและความพึงพอใจมากแค่ไหนจากการอยู่ร่วมกับฝุ่น PM 10 นั่นเอง

ผศ. ดร. วิษณุ อรรถวานิช
ภาพโดย ธิติ มีแต้ม

“ในอนาคตถ้าเกิดมีคนป่วย รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อรักษา ไม่ว่าจะเป็นคนรวยคนจนคุณควรได้รับการปรนนิบัติที่ค่อนข้างยุติธรรม ทำอย่างไรให้ความไม่เท่าเทียมกันมันเหลือน้อยที่สุด” คือคำถามเบื้องหลังที่วิษณุนำแนวคิด ‘ความพึงพอใจในชีวิต’  (Subjective Well-Being) มาใช้วัดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากฝุ่น

“ในประเทศไทย แนวคิดนี้ยังใช้กันน้อย เป็นเทคนิคใหม่ แต่ในต่างประเทศใช้เยอะมาก โดยเฉพาะกับปัญหามลพิษ พูดง่ายๆ คือเราหาค่าว่าเราต้องจ่ายเท่าไหร่ให้เรารู้สึกไม่แตกต่างจากเดิมก่อนที่มลพิษเพิ่มขึ้น หรือเต็มใจจ่ายเท่าไหร่เพื่อให้ฝุ่นละอองไม่เพิ่มขึ้น ไม่แย่ไปกว่าเดิม

สมมติปีที่แล้วเรารู้สึกดีมากเลย สภาพอากาศดี ปีนี้สภาพอากาศแย่ นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะคำนวณสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเต็มใจที่จะจ่าย’ (Willingness to Pay) ซึ่งก็คือมูลค่าที่คุณยินดีจ่ายเพื่อไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น หรืออีกแนวคิดหนึ่งคือ ‘ความเต็มใจที่จะรับ’ (Willingness to Accept) กรณีนี้คือคุณสูญเสียไปแล้ว คุณต้องการได้รับเงินชดเชยเท่าไหร่ เพื่อให้คุณรู้สึกพอใจหรือไม่แตกต่างจากเดิม วิธีการทั้งสองนี้คือ การดูความสามารถในการทดแทนกัน ระหว่างเงินกับสิ่งแวดล้อมที่ได้มา”

วิษณุกล่าวว่า เขามีโมเดลที่ใช้คำนวณเรื่องนี้ถึง 3 โมเดล โดยแต่ละโมเดลพยายามออกแบบให้ครอบคลุมทุกตัวแปรมากที่สุด และอาศัยข้อมูลทางประชากรศาสตร์ที่มีการจัดเก็บไว้แล้ว เขากล่าวว่าแม้วิธีนี้จะไม่ดีเท่าการสัมภาษณ์เชิงลึก แต่เทคนิคที่ดีต้องทันกับสถานการณ์

“จุดอ่อนของวิธีการนี้คือวัดจากความความพึงพอใจ ถ้าไปลงภาคสนามและสัมภาษณ์เชิงลึกมันน่าจะดี แต่เหตุผลคือ หนึ่ง งบประมาณคุณมีไหม มีใครให้เงินคุณไปนั่งทำไหม สอง กว่าคุณจะทำเสร็จคุณใช้เวลาไปเท่าไหร่ เดือนเดียวไม่มีทางเป็นไปได้

“การตอบโจทย์สังคมหนึ่งโจทย์ เทคนิคมีเยอะมาก แต่เราต้องเลือกเทคนิคให้สอดคล้องกับข้อจำกัด สมมติเทคนิคทำเสร็จแล้ว แต่ผู้มีอำนาจออกนโยบายไม่ตัดสินใจแล้ว ตกไปแล้ว คุณทำไปไม่มีประโยชน์ แล้วเรื่องนี้มีผลต่อสุขภาพพอสมควร การสามารถตอบโจทย์สังคมได้ในระดับหนึ่งที่เร็ว ภายใต้ข้อจำกัด น่าจะช่วยได้ ไม่มีเทคนิคใดที่สมบูรณ์แบบ”

จากผลการคำนวณมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของฝุ่น PM 10 ด้วยแนวคิดความพึงพอใจในชีวิต พบว่า ในกรุงเทพฯ คนยอมจ่ายเพื่อลดมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 10 เป็นจำนวน 51,060,032,110.64 บาท พูดอีกแบบคือ นี่คือราคาที่คนยอมจ่ายเพื่อให้ตัวเองมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี ตัวเลขนี้ได้มาอย่างไร?

“ผมใส่มลพิษทางอากาศหรือใส่ PM 10 เข้าไปในแบบคำนวณการประเมิน มีการควบคุมกลุ่มคนที่สำรวจ 50,000 คนว่าเป็นเพศไหน อายุเท่าไหร่ สถานะแต่งงานไหม สุขภาพดีหรือสุขภาพไม่ดี เพราะความแตกต่างจะทำให้เขามองมิติความพึงพอใจในชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งการคำนวณของเราจะครอบคลุมตัวแปรหลายๆ ตัว

“สุดท้ายพบว่ามีนัยยะสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้ขอบเขตอยู่ที่แต่ละครัวเรือนยอมจ่าย 6,000 บาทกว่าๆ ต่อปี ต่อการลดลงของฝุ่นหนึ่งไมโครกรัม เพื่อให้เขาไม่รู้สึกแตกต่างจากเดิม เมื่อคูณกับจำนวนคนตามกรอบในการวิเคราะห์ทั้งหมดของผมทั้งหมดคือคนกรุงเทพฯ จากสถิติของกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ มี 2,753,972 ครัวเรือน สุดท้ายก็จะได้ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 50,000 กว่าล้านบาทต่อปีที่คนยอมจ่าย”

วิษณุขยายความเพิ่มเติมว่าจำนวนเงินเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าคือจำนวนที่ประชาชนต้องใช้หาทางออกเพื่อความพึงพอใจให้กับตนเอง เช่น ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น หาที่อยู่ที่อยู่แล้วหายใจได้โล่งขึ้น นำไปซื้อหรือจ่ายค่ายานพาหนะที่ทำให้หลบเลี่ยงมลพิษได้ ฯลฯ  เหล่านี้เป็นต้นทุนที่สุดท้ายแล้วทั้งประชาชนและรัฐต้องแบกรับทั้งสิ้น

“ถ้าคนป่วยมากขึ้น อนาคตรัฐบาลก็ต้องให้การอุดหนุน (subsidize) ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย รักษาพยาบาล และกระทบในมิติเศรษฐศาสตร์ แทนที่เมื่อก่อนผมเข้าโรงพยาบาลผมเสียเงิน 10 บาท ผมเหลือเงิน 90 บาท ปีหน้าถ้าผมป่วย ผมต้องเสียค่าโรงพยาบาล 30 บาท ผมจะมีเงินเหลือแค่ 70 บาท ถามว่ากระทบอะไรรัฐบาลมั้ย กระทบนะ เศรษฐกิจเดินหน้าเพราะการบริโภค สมมติคนไปเสียค่าพยาบาลเยอะ การบริโภคย่อมต้องลดลง ธุรกิจก็เติบโตลดลง ในอีกด้านหนึ่ง รัฐต้องช่วยค่ารักษาพยาบาลมากขึ้นด้วย

วิษณุชี้ชวนให้ดูแผนที่ซึ่งแสดงดัชนีวัดสภาพภูมิอากาศแบบแสดงผลตามเวลาจริง พบว่าประเทศที่มีมลพิษสูงล้วนจับกลุ่มอยู่ในประเทศยากจนและกำลังพัฒนาทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศที่คุณภาพอากาศผ่านค่ามาตรฐานมักเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แม้แต่เม็กซิโกและอเมริกาที่มีพรมแดนติดกัน แต่คุณภาพอากาศนั้นต่างกันราวอยู่คนละโลก

“จริงๆ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แต่เราต้องเข้าใจว่าประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างกัน ประเทศพัฒนาแล้วตั้งมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมาก เจ้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบมหาศาลหากมีความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ทำให้เขาย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอ้าแขนรับ เช่น ประเทศที่มีการให้ BOI เพื่อสนับสนุน และกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า

“มาตรฐานเรื่องฝุ่นของประเทศไทยกับมาตรฐานของต่างประเทศหรือขององค์การอนามัยโลกมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประเทศไทยกำหนดไว้ว่าถ้าเกิดค่าฝุ่นละอองแตะเกิน 80 ไมโครกรัมต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตรถือว่าอันตราย แต่องค์การอนามัยโลกบอกเกิน 50 ไมโครกรัมก็อันตรายแล้ว คำถามคือเป็นคนไทยต้องอดทนไหม”

คนไทยต้องอดทนหรือไม่?  ภาณุและวิษณุคงยืนยันว่าไม่ควรอดทนและพยายามผลักดันองค์ความรู้ทางวิชาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในมิติต่างๆ ซาร์ตร์ถ้ายังอยู่หัวใจเขาคงสั่นไหวต่อความไม่เท่าเทียมนี้ สำหรับ นพ. ทรงกลดเรื่องนี้ย่อมเป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อแฟ้มคนไข้ระบุว่า คนไข้โรคไซนัสของเขามีอายุน้อยที่สุดคือเด็ก 4 ขวบ และมีแนวโน้มว่าอายุจะน้อยลงเรื่อยๆ

ส่วนซูม นุ่น บังเอิญ และถาวรคงใช้ชีวิตของพวกเขาต่อไป

ติดตามตอนต่อไปของซีรีส์ฝุ่น ได้ที่ Dust Atlas: ทางของฝุ่น PM 2.5 “เมื่อฝุ่นสัญจร”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save