fbpx
Dust Atlas (4) : ฝุ่น PM 2.5 และสิทธิมนุษยชน

Dust Atlas (4) : ฝุ่น PM 2.5 และสิทธิมนุษยชน

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

ปารีส : ฝุ่นไมโครพลาสติก จากมหาสมุทรสู่ท้องฟ้า

14 มีนาคม 2557 ฤดูใบไม้ผลิในปารีส ควรเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง คาเฟริมทางนำโต๊ะออกมาตั้งให้อาหารมื้อเที่ยงได้อาบแดด แต่วันนั้นกลับเป็นวันที่อากาศร้อนระอุแบบกลางวันแต่มีความหนาวเย็นแบบกลางคืนซึมแทรก ไม่มีฝน ไร้ลม เมืองจมจุ่มในหมอกควันและฝุ่นละเอียดที่พุ่งสูงขึ้นเกินระดับความปลอดภัย แคมเปญรณรงค์ต้านมลพิษในปารีสเปรียบเปรยว่า “อยู่ในปารีสช่วงนี้ก็เหมือนสูบบุหรี่ 8 ตัวต่อวัน ในห้องขนาด 20 ตารางเมตรนั่นล่ะ”

ควันพิษจากการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ โรงไฟฟ้าถ่านหินใกล้กรุงปารีส ฯลฯ ยังคงเป็นจำเลยเหมือนเมื่อเกิดมลภาวะเช่นทุกครั้ง ทว่าด้วยความหนักหนาสาหัสเทียบเท่ามลพิษในกรุงปักกิ่ง ทำให้นับแต่นั้น ปารีสใส่ใจในภูมิอากาศสูงขึ้นจนพบว่ามีมลพิษน้องใหม่ลอยฟุ้งอยู่เงียบๆ ร่วมกับมลพิษหน้าเดิม นั่นคือฝุ่นจากไมโครพลาสติก

“เคยเอาถุงจากร้านสะดวกซื้อไปตากแดด แล้วกรอบป่นมั้ยครับ พลาสติกเหล่านี้เป็นพลาสติกที่ค่อนข้างอ่อนแอ แม้ว่าป่นลงไปแล้วแต่ยังคงเป็นพลาสติก เสื้อผ้าเก่าๆ ที่ทอด้วยเส้นใยพลาสติก ไซต์งานก่อสร้างที่มีพลาสติกเก่าๆ คลุม จะเกิดโฟโตออกซิเดชัน การให้แดดเป็นการให้พลังงานรูปแบบหนึ่ง สุดท้ายแตกตัว เป็นมลภาวะทางอากาศได้เหมือนกัน” ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชวนสังเกตแหล่งที่มาของฝุ่นไมโครพลาสติกใกล้ตัว ซึ่งมาจากสารอนินทรีย์ต่างๆ เช่นฝุ่นที่ได้จากการเผาพลาสติก พลาสติกป่นเป็นผง และขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่สมบูรณ์

ขยะพลาสติกบนผิวน้ำเป็นเพียงขยะ 5 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทร ขยะพลาสติกที่เหลืออีก 95 เปอร์เซ็นต์จมอยู่ใต้น้ำ
ขยะพลาสติกบนผิวน้ำเป็นเพียงขยะ 5 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทร ขยะพลาสติกที่เหลืออีก 95 เปอร์เซ็นต์จมอยู่ใต้น้ำ โดยมี 5 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกคิดเป็นสัดส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั้งหมดในโลก ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม | ภาพจาก Justin Hofman

ถุงพลาสติกกำเนิดขึ้นอย่างถ่อมเนื้อถ่อมตัว จากผลงานการพัฒนาของวิศวกรชาวสวีเดนช่วงทศวรรษ 1960 ก่อนเติบโตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราทุกคนขาดไปไม่ได้ ส่วนขวดพลาสติกเพื่อการค้าเกิดขึ้นที่อเมริกาในทศวรรษ 1950 เผลอไปราว 65 ปี จากผลการสำรวจของคณะกรรมาธิการยุโรปในปี 2018 พบว่าประชากรยุโรปทวีปเดียวผลิตขยะพลาสติกถึง 25 ล้านตันต่อปี และปัจจุบันทั้งโลกมีการผลิตขวดพลาสติกออกมานาทีละ 1 ล้านขวด

ผู้คนรับรู้มาระยะหนึ่งแล้วว่าบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเหล่านี้ ได้กลายเป็นขยะมหาสมุทรอายุยืน 10-450 ปีปริมาณมหาศาล กร่อนกลายเป็นไมโครพลาสติกแล้วปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารได้ รวมทั้งปนเปื้อนอยู่ในระบบน้ำประปาทั่วโลก ทว่าสิ่งที่นับเป็นความรับรู้ใหม่คือเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบว่าไมโครพลาสติกสามารถแตกตัวจนกลายเป็นฝุ่นละเอียดขนาดต่างๆ รวมทั้งฝุ่น PM 2.5 แล้วล่องลอยในอากาศ หรือที่เรียกว่า ‘Airborne Microplastics Contamination’ ได้อีกด้วย

“ของพวกนี้เป็นของค่อนข้างถาวร พออยู่ในธรรมชาติอาจเล็กลง แต่ยังคงสภาพพลาสติกอยู่  เราอาจคิดว่ามันลงไปไกลในทะเล ไม่ใช่ของที่เราต้องสนใจ อยู่ในเกลือก็ช่างมัน เราอาจไม่ได้กินเค็ม แต่นักวิจัยในต่างประเทศพบแล้วครับว่าไมโครพลาสติกพวกนี้อยู่ในฝุ่น PM  2.5 ด้วย” พิชญอธิบายถึงขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงจากพลาสติกไปเป็นฝุ่นไมโครพลาสติก และกล่าวถึงผลการศึกษาในฝรั่งเศสซึ่งพบว่าในเขตรอบนอกของปารีส มีอัตราการตกของฝุ่นจากไมโครพลาสติกอยู่ที่ 1,500 ไฟเบอร์ต่อตารางเมตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้ยังต่ำกว่าอัตราความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่น่ากังวลหากมีการสะสมในตัวมนุษย์ เพราะฝุ่นเหล่านี้มีองค์ประกอบของโพลีคาร์บอเนตซึ่งมีความทนทาน (durable) อยู่ในปอดได้นานโดยไม่เปลี่ยนสภาพ ราว 180 วัน

ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“คนที่อ่อนไหวเช่นเด็กจะมีอาการแย่มาก เพราะ 1. ไมโครพลาสติกมีผิวสัมผัสใหญ่ ฝุ่นนี้เคยเจอในปอดของมนุษย์ใหญ่ถึง 250 ไมครอน 2. เอาออกยาก เพราะมีโครงสร้างเป็นโพลีเมอร์และไฟเบอร์ ไม่ใช่เส้นตรง มีลักษณะเป็นขน 3. ไมโครพลาสติกสามารถดูดเบนซินหรือมลพิษที่ไปเกาะมันได้ เพราะไมโครพลาสติกหลายตัวมีต้นกำเนิดมาจากน้ำมัน อะไรก็ตามที่สารตั้งต้นมาจากน้ำมันจะเป็นพวกเดียวกันหมด และเกาะไปด้วยกัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจปล่อยสารพิษที่เกาะบนตัวมันได้”

ไมโครพลาสติก คือขยะพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร กำเนิดขึ้นจากทั้งกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกขนาดเล็กโดยตรง (Primary microplastic) เช่น เม็ดไมโครบีดส์ในเครื่องสำอาง และพลาสติกที่หลุดรอดออกมาจากกระบวนการต่างๆ (Secondary microplastic) เช่น พลาสติกทั่วไปที่ฉีกขาดหรือได้รับความร้อนจนกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็ก พลาสติกที่หลุดมาจากเส้นใยสังเคราะห์ของเสื้อผ้า โดยมีผลการทดลองพบว่าการซักเสื้อผ้าสังเคราะห์หนึ่งชุดสร้างขยะเส้นใยไมโครพลาสติกได้กว่า 1,900 ชิ้น สิ่งที่น่ากังวลคือไมโครพลาสติกมีสารองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น โพลีไซคลิกอโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน โพลีคลอริเนตไบฟีนิล ดีดีที และไดออกซิน

พิชญกล่าวว่าจากงานวิจัยซึ่งวัดปริมาณฝุ่นทั้งหมดในปารีส พบว่ามีฝุ่นจากไมโครพลาสติกอยู่ 29 เปอร์เซ็นต์ โดยเจอจากพื้นที่การทำงานมากกว่าในบ้าน เช่น ในโรงงานทอผ้า โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานไฟเบอร์ขนสัตว์ โรงงานพีวีซี โรงงานโพลีเอสเตอร์ และพื้นที่เมืองปกติ

สารคดีเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศในปารีส  (2017)

“การปนเปื้อนในอากาศ (Airborne Contamination)  รับได้โดยการสูดเข้าไปในลมหายใจ ไมโครพลาสติกในอากาศอาจทำให้เกิดรอยช้ำในระบบทางเดินหายใจ  ขึ้นกับผู้รับแต่ละคนและสมบัติของฝุ่น ถึงแม้ว่าความเข้มข้นจะต่ำ แต่โอกาสที่กลุ่มอ่อนไหวจะมีความเสี่ยงในการพัฒนาอาการบาดเจ็บนั้นมีอยู่ครับ  ความเข้มข้นขนาด 40 ไมโครกรัมต่อตารางเมตรน่าจะเกิดในระดับอุตสาหกรรม ถ้าผู้เป็นโรคทางเดินหายใจได้รับฝุ่นระดับนี้จะเสียชีวิตได้ทันที แต่ความเข้มข้นที่เจอในอากาศของพื้นที่เมืองปกติที่น้อยกว่านั้น ทำให้เกิดโรคหอบหืด หัวใจ ภูมิแพ้ โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันได้ครับ”

เพราะอะไรฝุ่นจากไมโครพลาสติกจึงเป็นเรื่องน่ากังวลยิ่งกว่าฝุ่นตามธรรมชาติ พิชญ์กล่าวว่า “กระบวนการเมื่อไมโครพลาสติกกลายเป็นฝุ่น PM 2.5 แล้วเข้าไปในร่างกายได้จะวุ่นวายมาก ร่างกายจะรับมือเหมือนเป็นเชื้อโรค แต่มันเป็นเชื้อโรคที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ทำลายยังไงก็ไม่ตาย ถ้าเป็นฝุ่นดินหรือฝุ่นสารอินทรีย์ร่างกายจะมีกระบวนการกำจัด  เช่นในการรบกับแบ็คทีเรียต่างๆ พอเม็ดเลือดขาวมาเจอแบ็คทีเรีย รบเสร็จจะเหลือซากและของเสียต่างๆ ในเลือดซึ่งจะถูกขับออกทางไต แต่ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมทางเคมีชีวภาพ ร่างกายจะตอบสนองต่างไปเลย

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมนุษย์ต้องต่อสู้กับไมโครพลาสติก คือรบเท่าไหร่ก็ไม่ชนะ คล้ายคนรบแพ้หลายครั้งแล้วเริ่มสะสมในระบบภูมิคุ้มกัน  ช่วงที่เข้าไปในปอดช่วงแรกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเซลล์เม็ดเลือดขาวจะงอกขามาโอบแล้วทำลาย แต่ถ้าทำลายไม่ได้ จะทำให้ขับของเสียได้ไม่หมด แล้วเริ่มสะสม ถ้ามีไมโครพลาสติกอยู่ในตัวมนุษย์ไปเรื่อยๆ  ร่างกายก็เกิดการรบอยู่เรื่อยๆ เกิดการอักเสบไปเรื่อยๆ  ไม่มีผลตอนเราแข็งแรงหรอกครับ แต่ในระยะยาวพอเราอ่อนแอลง อายุมากขึ้นเราก็จะเป็นมะเร็ง”

พลาสติกข้ามแดน

ปํญหาขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกเป็นปัญหาแก้ไม่ตกของทั้งโลกมายาวนาน ในกระบวนเผาหรือผลิตพลังงานไฟฟ้าขยะ หากไม่มีกระบวนการคัดแยกมาอย่างดีจะทำให้เกิดสารพิษต่างๆ รวมทั้งฝุ่น PM 2.5 ขึ้นได้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะเช่นสวีเดนจะมีสถานีสำหรับแยกขยะของชุมชน (kallsortering) ที่แบ่งประเภทขยะอย่างละเอียด เช่น มีถังสำหรับทิ้งหลอดไฟ กระดาษรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์พลาสติก ฯลฯ แยกออกจากกัน และมีป้ายกำกับวิธีทิ้งอย่างชัดเจน เช่น ก่อนทิ้งพลาสติกทิ้งควรทำให้สะอาดและแห้ง สำหรับบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ เช่น กล่องนม แผงใส่ไข่ ควรพับให้เรียบร้อยเพื่อลดพื้นที่ในการจัดเก็บ และไม่ปะปนกับถังสำหรับทิ้งขยะกระดาษที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสารเก่า ในการทิ้งขวดเครื่องดื่ม จะมีคำแนะนำว่าผู้ทิ้งควรแยกประเภทขวดใสและขวดสีแยกทิ้งคนละถัง ทำความสะอาดขวดเหล่านั้นก่อนทิ้ง และควรแยกส่วนต่างๆ ของขวดออกจากกัน เช่นแกะเอาส่วนที่เป็นฉลากพลาสติกออกแยกทิ้งในถังขยะพลาสติก สำหรับขวดซึ่งเป็นแก้วให้ล้างทำความสะอาดและทิ้งในถังขยะแก้ว ส่วนฝาปิดซึ่งเป็นโลหะให้แยกทิ้งในถังขยะสำหรับโลหะ ฯลฯ

ถังขยะรูปแบบหนึ่งในสวีเดนซึ่งยังมีอีกหลายรูปแบบ ออกแบบอย่างยืดหยุ่นแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่และขึ้นอยู่กับองค์กรเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนในการจัดเก็บและธุรกิจรีไซเคิลร่วมกับรัฐ แต่มีหลักการแยกขยะเดียวกัน โดยมีการแจกคู่มือการแยกขยะที่ละเอียดยิบให้ประชาชนปฏิบัติตาม | ภาพจาก My News Desk
ถังขยะรูปแบบหนึ่งในสวีเดนซึ่งยังมีอีกหลายรูปแบบ ออกแบบอย่างยืดหยุ่นแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่และขึ้นอยู่กับองค์กรเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนในการจัดเก็บและธุรกิจรีไซเคิลร่วมกับรัฐ แต่มีหลักการแยกขยะเดียวกัน โดยมีการแจกคู่มือการแยกขยะที่ละเอียดยิบให้ประชาชนปฏิบัติตาม | ภาพจาก My News Desk

การจัดการขยะเช่นเดียวกับประเทศสวีเดนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกสถาบันทั้งเอกชน รัฐ ประชาชน สถาบันการศึกษา โลจิสติกส์ สื่อสารมวลชน ธุรกิจการรีไซเคิล หรือแม้แต่ศิลปินดังที่ร้องเพลงเกี่ยวกับการแยกขยะ ฯลฯ ทั้งในการจัดการขยะและสร้างวัฒนธรรมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางได้สำเร็จ

ใช่ว่าทุกประเทศในยุโรปจะสามารถจัดการขยะได้เช่นนี้ ปี 2017 สมาคมผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในยุโรป หรือ  Pack2Go ซึ่งต้องดำเนินตามกฎของสหภาพยุโรปในการรีไซเคิล กล่าวว่าถึงแม้บรรจุภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่จะนำไปรีไซเคิลได้ แต่มีอุปสรรคที่ทำให้นำไปรีไซเคิลไม่ได้ เช่น ขาดโครงสร้างพื้นฐานและระบบรวบรวมขยะที่ดี ซึ่งจะทำให้รวบรวมขยะได้เพียงพอและคุ้มทุนสำหรับการรีไซเคิล ผู้บริโภคพลาสติกมีความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต่ำ ปัญหาการปนเปื้อนของขยะ การขาดแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ และวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน

เมื่อขยะพลาสติกเริ่มคุกคามสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 1 กันยายน 2559 รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎแบนบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทุกประเภท เช่น มีด ส้อม ช้อน จาน และแก้ว และกำหนดว่า ภายในปี 2020 ผู้ผลิตจะต้องนำวัสดุธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจะได้นำพลาสติกไปรีไซเคิลได้ และต้องเพิ่มสัดส่วนเป็น 60 เปอร์เซนต์ภายในปี 2025

ปี 2560 ฝรั่งเศสออกกฎแบนถุงพลาสติกขนาดบางที่สุด นโยบายนี้ถูกคัดค้านจาก Pack2Go โดยอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อกฎระเบียบการเคลื่อนไหวสินค้าอย่างเสรีของสหภาพยุโรป ประชาชนฝรั่งเศสตั้งคำถามต่อนโยบายนี้เช่นกัน เช่น การห้ามได้ทำให้บางเมืองได้หลบเลี่ยงไปใช้ถุงพลาสติกขนาดหนาแทนถุงขนาดบางที่รัฐสั่งห้าม ถึงอย่างไรพลาสติกที่ได้ชื่อว่าเป็นพลาสติกรีไซเคิลก็มีองค์ประกอบจากฟอสซิลร่วมด้วยถึง 60 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี และอาจทำให้ต้องนำเข้าถุงกระดาษราคาถูกซึ่งจะไปก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศผู้ผลิตถุงกระดาษแทน ฯลฯ

แม้จะมีเสียงคัดค้านเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม 16 มกราคม 2561 คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับรองกลยุทธ์ด้านพลาสติกสำหรับสหภาพยุโรป (Europe-wide)  โดยหนึ่งในเหตุผลของการรับรองได้กล่าวถึงการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกซึ่งปนเปื้อนในอากาศด้วย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดในตลาดสหภาพยุโรปจะต้องสามารถรีไซเคิลได้ ภายในปี 2030 การใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวจะลดลงและจะจำกัดการใช้พลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติกโดยเจตนา

จุดให้บริการน้ำดื่มในตลาดโบโรห์ ในลอนดอน ซึ่งมีอยู่ 3 จุด ติดตั้งขึ้นเพื่อลดการซื้อน้ำบรรจุขวดพลาสติก และในอนาคตทางตลาดจะนำ ‘ขวดแห่งตลาดโบโรห์’ ซึ่งผลิตจากวัสดุรีไซเคิลมาจำหน่ายที่ทุกแผงร้านค้าในตลาดอีกด้วย | ภาพจาก Lucy Young

ส่วนการคัดค้านจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกได้นำมาสู่ยุทธศาสตร์ที่ทำให้การรีไซเคิลมีกำไรเชิงธุรกิจมากขึ้น เช่นพัฒนากฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ เพิ่มความต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิลให้สูงขึ้น จัดตั้งศูนย์จัดเก็บขยะและศูนย์รีไซเคิลที่ดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการเหล่านี้ต้องทำอย่างเปิดเผยและสามารถติดตามได้  ฯลฯ โดยมาตรฐานนี้จะบังคับใช้กับประเทศต่างๆ ที่ส่งสินค้ามาขายในสหภาพยุโรปทั้งหมด

กลยุทธ์นี้เริ่มส่งผลต่อประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปบ้างแล้ว เช่นอังกฤษเตรียมเสนอ 53 ประเทศในเครือจักรภพ ยกเลิกการใช้หลอด แท่งคน และสำลีก้านที่ทำจากพลาสติก และเตรียมให้เทศกาลคอนเสิร์ตกลางแจ้งอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงอย่าง Glastonbury ไม่ใช้ขวดน้ำพลาสติกเลยในปี 2019 และเริ่มขยายจุดให้บริการน้ำดื่มที่ทั่วถึง ขณะที่นโยบายก่อนหน้าอย่าง Bag Levy หรือการเก็บภาษีถุงพลาสติก สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้ถึง 83% ในปี 2015 และอังกฤษกำลังจะเก็บภาษีจากแก้วกาแฟในนามของนโยบาย Latte Levy ซึ่งมุ่งกดดันไปยังร้านกาแฟเชนสโตร์ที่มีสาขาทั่วโลกโดยตรง

 

ยุโรป : ผู้เริ่มก่อนและจบก่อน

กลุ่มรณรงค์ Kindermoord (Stop the Child Murder) ในเนเธอร์แลนด์ พาเด็กๆ บุกรัฐสภาในปี 1972 หลังเด็กๆ ชาวดัชท์เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนในปี 1971 ปีเดียวถึง 400 คน จุดความโกรธเกรี้ยวให้ประชาชนร่วมทวงคืนเมืองจากรถยนต์ | ภาพจาก usa. streetblog
กลุ่มรณรงค์ Kindermoord (Stop the Child Murder) ในเนเธอร์แลนด์ พาเด็กๆ บุกรัฐสภาในปี 1972 หลังเด็กๆ ชาวดัชท์เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนในปี 1971 ปีเดียวถึง 400 คน จุดความโกรธเกรี้ยวให้ประชาชนร่วมทวงคืนเมืองจากรถยนต์ | ภาพจาก usa. streetblog

อังกฤษเป็นประเทศแรกที่เริ่มปล่อยมลพิษจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 จนประสบปัญหาทั้ง The Great Smog of London (1952) และมลภาวะอื่นๆ ก่อนกลายมาเป็นตัวตั้งตัวตีให้ประเทศต่างๆ ลงนามในพิธีสารเกียวโตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและริเริ่มแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาถึงยุคปัจจุบัน สวีเดนเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมัน ในปี 1973 จนเกิดเป็นมาตรฐานด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นในช่วงปี 1970 – 1979  ในเนเธอร์แลนด์ ปี 1971 รถยนต์ได้เบียดขับพื้นที่อยู่อาศัยของเมืองจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 3,300 คน ในจำนวนนี้มีเด็กๆ กว่า 400 คน นำไปสู่การประท้วงเรียกร้องรัฐให้สร้างเมืองที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เมื่อประกอบกับราคานำ้มันจากตะวันออกกลางที่พุ่งสูง ทำให้กรุงอัมสเตอร์ดัมรื้อฟื้นการขี่จักรยานที่เคยรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมายเพื่อรองรับการขี่จักรยานจนกลายเป็นสวรรค์นักปั่นในที่สุด

สำหรับยุโรป การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกับพัฒนาการการต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในอดีต ศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดมาก่อนหน้าชาติอื่นๆ ประสบการณ์การต่อรองของภาคประชาชนเพื่อเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิจากรัฐ และการผูกพันตัวกับประชาคมยุโรปซึ่งทำให้มีกลไกกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมจากภายนอกประเทศที่รัฐต้องรับฟัง

ทุกวันนี้หมอกควันจากฝุ่น PM 2.5 ยังหวนกลับมาปกคลุมท้องฟ้าเหนือกรุงลอนดอน ปารีส วอร์ซอ มาดริด ฯลฯ เป็นระยะ ทว่าภายใต้กฎหมายสหภาพยุโรป ซึ่งมีคณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจหน้าที่วางกรอบนโยบายและออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยประเทศสมาชิก 27 ประเทศต้องนำกฎเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อให้นโยบายสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติตามแผนเพื่อลดระดับมลภาวะ หากไม่ปฏิบัติตาม เมื่อเกิดการละเมิดข้อกำหนดเรื่องมลภาวะทางอากาศ หากมีการส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมยุโรปพิจารณาอาจถูกปรับเป็นเงินก้อนโตได้

รัฐบาลสหราชอาณาจักร เป็นรัฐหนึ่งที่พ่ายแพ้ต่อการฟ้องร้องให้ปรับปรุงคุณภาพอากาศโดยอาศัยกฎหมายสหภาพยุโรปมาแล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งผลจากการฟ้องร้องแต่ละครั้งได้เกิดมาตรการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดจากผู้ที่ต้องปรับตัวทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม กลุ่มการเมืองต่างๆ และประชาชนทั่วไปตามมา

ปี 2008 สหภาพยุโรปตราข้อบังคับว่าด้วยคุณภาพอากาศโดยรอบและอากาศบริสุทธิ์สำหรับยุโรป (Ambient Air Quality and Cleaner Air for Europe) ซึ่งวางหลักเกณฑ์สำหรับสร้างแนวทางการประเมินมาตรฐานและควบคุมคุณภาพอากาศของประเทศสมาชิก ข้อบังคับนี้ส่งผลให้ในปี  2014  กลุ่มนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม Client Earth ได้ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมของสหภาพยุโรปถึงการกำกับมลพิษที่ไม่เข้มงวดของรัฐบาลสหราชอาณาจักร จนศาลตัดสินให้สหราชอาณาจักรต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลจะปฏิบัติตามกฎระเบียบการควบคุมไนโตรเจนไดออกไซด์  การตัดสินนี้นำไปสู่นโยบายจัดเก็บภาษีที-ชาร์จ (Toxicity-Charge) กับรถเครื่องยนต์ดีเซลและรถที่ใช้น้ำมันทุกชนิด ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน Euro-4 ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดในขณะนั้นในกรุงลอนดอน และเกิดมาตรการอื่นๆ อีกมากมายตามมา

แผนที่การเก็บภาษีมลพิษในลอนดอน
แผนที่การเก็บภาษีมลพิษในลอนดอน | ภาพจาก Huffington Post

ถัดจากชัยชนะของภาคประชาชนในอังกฤษ ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Milieudefensie ในเนเธอร์แลนด์ฟ้องร้องรัฐบาลด้วยข้อหาเดียวกันกับในอังกฤษ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายสหภาพยุโรปฉบับเดียวกัน 7 กันยายน 2017 ผู้พิพากษาของสหภาพยุโรปตัดสินให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าการมาตรฐานการปล่อยมลพิษของเนเธอร์แลนด์สอดคล้องกับขีดจำกัดและมาตรฐานของสหภาพยุโรป และกล่าวว่าแผนคุณภาพอากาศของรัฐที่ทำไว้เป็นแผนที่ไม่มีการระบุรายละเอียด (too general) และสั่งให้รัฐบาลเริ่มต้นการทำแผนใหม่ภายในสองสัปดาห์ เพื่อลดระยะเวลาที่ระดับมลพิษสูงเกินกำหนดให้สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในเยอรมนี ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นอันดับ 5 ถูกกดดันด้วยเครื่องมือทางกฎหมายจากสหภาพยุโรปเช่นกัน เมื่อกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Deutsche Umwelthilfe  ฟ้องร้องต่อศาลเมืองสตุ๊ตการ์ทและเมืองดุสเซลดอร์ฟ เพื่อห้ามรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่าวิ่งในเมืองที่มลพิษสูงสุดในยุโรปทั้งสอง โดยอ้างอิงข้อบังคับว่าด้วยคุณภาพอากาศโดยรอบและอากาศบริสุทธิ์สำหรับยุโรป เช่นเดียวกับคดีในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์

การฟ้องร้องครั้งนี้เกิดขึ้นหลังคณะกรรมาธิการยุโรป ตักเตือนให้เยอรมนีบังคับใช้กฎหมายควบคุมมลพิษอย่างเคร่งครัด ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปที่ให้จำกัดปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์และอนุภาคขนาดเล็ก (Particle Matter) โดยเยอรมนีมีเมืองที่ค่ามลพิษสูงเกินขีดจำกัดมลพิษในอากาศของสหภาพยุโรปอยู่ถึง 26 เมือง และเกิดขึ้นหลังการติดตั้งซอฟต์แวร์ช่วยโกงค่ามลพิษไม่ให้เกินค่ามาตรฐานในรถราว 11 ล้านคันทั่วโลกของโฟล์กสวาเกนถูกเปิดโปง

ตัวแทนจาก Deutsche Umwelthilfe กล่าวว่าการแบนเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเยอรมนี เนื่องจากในปี 2016 มี 70 เมืองทั่วประเทศที่วัดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในอากาศสูงเกินมาตรฐานของสหภาพยุโรป ส่งผลให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปมีความเสี่ยงเกิดโรคทางเดินหายใจ และหวังว่ามาตรการนี้จะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ปรับปรุงเครื่องยนต์ในรถรุ่นเก่าเพื่อให้ได้มาตรฐานของสหภาพยุโรป นั่นคือมาตรฐาน Euro-6

ศาลของเมืองสตุ๊ตการ์ทและดุสเซลดอร์ฟ มีคำสั่งเห็นชอบข้อเสนอห้ามรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่าวิ่งในเมือง ผู้ผลิตรถยนต์พากันระส่ำระส่ายและรัฐบาลเยอรมนีได้อุทธรณ์ต่อคำตัดสินนี้ โดยเมืองสตุ๊ตการ์ทนั้นเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ทั้งของ เบนซ์ โฟล์กสวาเกน และปอร์เช  ทั้งนี้ ปัจจุบันเยอรมนีมีรถยนต์ดีเซลประมาณ 15 ล้านคัน แต่มีเพียง 2.7 ล้านคันเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Euro-6 ศาลได้ตัดสินยกเลิกการอุทธรณ์ของรัฐบาลเยอรมนี และมีคำสั่งให้รัฐบาลแก้ไขนโยบายสิ่งแวดล้อมของสตุ๊ทการ์ทและดุสเซลดอร์ฟอีกด้วย ต่อมาเมื่อการต่อสู้ดำเนินไปถึงศาลปกครองสูงสุด ก็ได้พิพากษายืนเช่นเดียวกับศาลเมืองสตุ๊ตการ์ทและดุสเซลดอร์ฟ

นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมวาดรูปปอดไว้หน้าศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนี เมืองไลป์ชิก
นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมวาดรูปปอดไว้หน้าศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนี เมืองไลป์ชิก ระหว่างรอคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ 27 กุมภาพันธ์ 2018  ศาลชี้ขาดให้สตุตการ์ตและดุสเซลดอร์ฟบังคับใช้กฎหมายห้ามผู้ขับขี่ใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเก่าและดีเซลบางรุ่นที่ก่อให้เกิดมลพิษสูงในพื้นที่การจราจรคับคั่ง เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ l ภาพจาก The Daily Star

นักกฎหมายจาก Client Earth ซึ่งช่วยต่อสู้คดีกล่าวว่า การตัดสินครั้งนี้ช่วยให้ความกระจ่างที่รอคอยมายาวนานว่าการควบคุมจำนวนรถยนต์ดีเซลถูกต้องด้วยหลักการของกฎหมาย และจะสร้างแรงกระเพื่อมไปยังเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศที่ต้องการสู้คดีบนหลักการเดียวกัน

คำกล่าวข้างต้นเป็นจริงอย่างรวดเร็ว เพราะทันทีที่ศาลตัดสิน เมืองฮัมบูร์กได้ประกาศแผนการแบนรถดีเซลบนถนนสายหลักสองสายทันที โดยมีข้อยกเว้นให้ผู้พักอาศัยในย่าน รถพยาบาล และยานพาหนะสำหรับขนส่ง ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรปต้องปรับตัวตามผู้บริโภคที่ถูกสั่นคลอนความมั่นใจในการครอบครองรถยนต์ดีเซลที่ไม่อาจวิ่งได้ทุกเมือง แล้วพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีกฎหมายของสหภาพยุโรปที่จะปรับบริษัทรถยนต์ที่ไม่สามารถพัฒนาเครื่องยนต์ที่ควบคุมมลพิษได้ตามข้อกำหนดถึง 3 หมื่นยูโรต่อรถหนึ่งคันคอยควบคุมอยู่เบื้องหลัง

ทวีปยุโรปได้ ‘เริ่ม’ ก่อมลพิษและพยายาม ‘จบ’ การก่อมลพิษก่อนส่วนอื่นๆ ของโลก โดยฝ่าฟันความตึงเครียด ความยากลำบากในการวางนโยบาย การต่อต้าน (และสนับสนุน) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในสังคม ความไม่สะดวกสบายและเสียงบ่นของประชาชนที่ต้องปรับตัว ทว่าหลายสิ่งค่อยๆ วางรากฐานขึ้นได้ด้วยพลังจากกรอบใหญ่นั่นคือความเป็นประชาคมยุโรปซึ่งกำกับกันและกันอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งพลังทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และหลักสิทธิมนุษยชนเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง

สิทธิในอากาศสะอาด

สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่มีสถานะและที่ทางของตัวเองต่างจากสิทธิอื่นๆ โดยมีลักษณะที่น่าสนใจหลายประการ เช่น สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและในประเทศ มีสถานะเป็นมาตรฐานที่เกิดขึ้นภายนอกระบบรัฐแต่เป็นสิ่งที่รัฐต้องรับฟัง และเป็นอุดมการณ์ที่มีพลวัต มีการต่อรอง-ต่อสู้เพื่อขยายขอบเขตแห่งสิทธิ และช่วงชิงการนิยามอยู่เสมอ

ในระยะแรกสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญต่อคุณค่าของ ‘เสรีภาพ’  จนปรากฏ ‘สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง’ (1948) ทว่าต่อมามีข้อโต้แย้งว่าหากไม่สร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจขึ้นเสียก่อน เสรีภาพก็ยากจะเป็นจริงขึ้นมาได้ จนเกิดเป็น ‘สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม’ (1966)

ต่อมาหลังทศวรรษ 1970 เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลก อุดมการณ์สิทธิมนุษยชนได้รับการปรับแต่งอีกครั้งให้มีความสำคัญในฐานะเครื่องมือต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมและการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม และขยายไปสู่สิทธิในการพัฒนา สิทธิในการมีสันติภาพ สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ หรือเรียกรวมกันในนามว่า ‘สิทธิของประชาชน’ (People’ Rights) ซึ่งเป็นรากฐานของสิทธิด้านอื่นๆ ตามมาอีกจํานวนมาก เช่น สิทธิในน้ํา (Rights to Water) สิทธิในที่ดิน (Rights to land) สิทธิในการมีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ (Rights to adequate housing) สิทธิในอาหารที่เพียงพอ (Rights to adequate food)  และสิทธิในอากาศสะอาด (Rights to clean air)

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั่วโลก ได้นำสิทธิเหล่านี้ ไปปรับใช้ในประเทศของตน เช่นในอังกฤษเกิดกลุ่ม ‘Clean Air in London’ ซึ่งพยายามผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ฉบับใหม่ โดยมีใจความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับใหม่คือ ‘อากาศสะอาดคือสิทธิมนุษยชน‘ และร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพรรคกรีนในอังกฤษ จัดกิจกรรมทวงคืนอากาศบริสุทธิ์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่จากมุมมองผู้ร้องขอความเมตตา แต่เป็นมุมมองของผู้ทรงสิทธิ และเน้นย้ำว่าอากาศบริสุทธิ์ไม่ควรเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยหรูหรา แต่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าถึงได้

ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในอากาศที่ดีในอังกฤษ
ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในอากาศที่ดีในอังกฤษ  | ภาพจาก Healthy Air

มีสิทธิอีกหลายประการที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิในอากาศที่ดี เช่น สิทธิในการขี่จักรยาน (Rights to Ride) ซึ่งมีส่วนต่อความสะดวกสบายในการสัญจรด้วยจักรยานของชาวยุโรปและช่วยลดมลพิษจากรถยนต์ สิทธิในการขี่จักรยานเป็นกรอบสำคัญกรอบหนึ่งสำหรับการขับเคลื่อนของสมาพันธ์นักปั่นจักรยานยุโรปและภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ส่งผลให้ประเทศต่างๆในกลุ่มสหภาพยุโรป ก่อสร้างและจัดให้มีทางจักรยานในท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศเป็นโครงข่ายทางจักรยานเชื่อมต่อถึงกัน และจัดทำทางจักรยานสาธารณะให้มีคุณภาพสูงเอื้อต่อการเดินทาง

นอกจากนี้ยังมีสิทธิคนเดินเท้า (Pedestrian Rights) ซึ่งหลายประเทศนำไปใช้อย่างเป็นทางการ เช่นใช้เป็นกรอบเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่างๆ และใช้ในปฏิบัติการที่ไม่เป็นทางการ เช่นใช้ใน ‘Tactical Urbanism‘ หรือปฏิบัติการทดลองการใช้เมือง ดังหลายกรณีศึกษาในอเมริกาที่เรียกคืนพื้นผิวถนนมาเป็นพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า โดยเอาเชือกไปกั้น ตั้งโซฟา ปลูกต้นไม้บนถนนเสียดื้อๆ ฯลฯ  วิธี Tactical Urbanism เป็นการต่อต้านอำนาจเชิงโครงสร้าง โดยการแสดงถึงความเป็นไปได้ และ สิ่งที่ควรจะเป็น ให้ปรากฏ เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในเมืองให้มีความสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่  ปฏิบัติการเหล่านี้อาจเป็นปฏิบัติการที่ผิดกฎหมายแต่มีสิทธิคนเดินเท้ารองรับ และแม้จะเกิดขึ้นชั่วคราวแต่ถ้าเป็นผลดีก็อาจจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นรูปแบบการใช้พื้นที่ถาวรได้

การใช้เทคนิค Tactical Urbanism วาดเลนจักรยานขึ้นมา เปิดโอกาสให้ชาวเมืองได้จินตนาการร่วมกันว่าถ้าเกิดเลนจักรยานขึ้นมาจริงๆ จะดีสักแค่ไหน
การใช้เทคนิค Tactical Urbanism วาดเลนจักรยานขึ้นมา เปิดโอกาสให้ชาวเมืองได้จินตนาการร่วมกันว่าถ้าเกิดเลนจักรยานขึ้นมาจริงๆ จะดีสักแค่ไหน ซึ่งหากทำในประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองสิทธิของคนเดินเท้ารองรับ การกระทำเช่นนี้อาจผิดกฎหมายและถูกจับโดยไม่มีสิทธิมนุษยชนใดๆ คุ้มครอง | ภาพจาก islandpress

สิทธิที่จะอยู่ในเมือง (Right to the City) เป็นอีกสิทธิหนึ่งทีเพิ่งเข้าสู่ ร่างวาระการพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Agenda-NUA) ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 (HABITAT III) เมื่อปี 2016 ที่ประเทศเอกวาดอร์ การประชุมครั้งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 เรื่อง “การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความปลอดภัย ความต้านทาน และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและยั่งยืน” โดยสิทธิที่จะอยู่ในเมืองมีหลายประเทศในละตินอเมริกาและยุโรปเป็นผู้นำ โดยเฉพาะเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบียซึ่งปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โบโกตาเป็นเมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนของการกระชับเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย การพัฒนาเมือง และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน และเป็นแรงบันดาลใจให้เมืองอื่นๆ เห็นว่าไม่ต้องเป็นประเทศที่ร่ำรวยก็สามารถสร้างเมืองที่ทุกคนเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และรู้สึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

เลนจักรยานรอบเมืองยาว 24 กิโลเมตรของโบโกตาซึ่งเชื่อมกับ ‘สถานีรถเมล์’ ที่มีเลนแยกสำหรับรถเมล์โดยเฉพาะ ผ่านย่านธุรกิจ สถานศึกษา และสถานที่สำคัญในเมืองอย่างทั่วถึง เป็นการเดินทางที่ประชาชนทุกคนเอื้อมถึงได้ และทำให้มีเวลาพอสำหรับเดินทางไปทำงานและใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ภาพ l Thecityfix

เมื่อเอ่ยถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในทางวิทยาศาสตร์เราได้ทราบแล้วว่า แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5  ส่วนใหญ่เกิดจากการปลดปล่อยมลพิษโดยฝีมือมนุษย์ ทั้งจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม และการเผาไหม้ต่างๆ การเพิ่มขึ้นของขยะ ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยวิธีตรงไปตรงมา เช่น ‘ห้ามปล่อยมลพิษ’ ‘ห้ามคนใช้รถยนต์เกินขนาด’ ‘ปรับผังเมือง’ ‘ห้ามสร้างขยะ’

ทว่าวิธีที่ฟังดูเหมือนง่ายนี้กลับทำได้ยากมากกว่าที่คิด เพราะการปล่อยมลพิษเกิดขึ้นจากคนมากมาย หลายภาคส่วน หลายเหตุผล หลายความจำเป็นที่บีบบังคับ และหลายอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่ากัน แต่จากบทเรียนของหลายเมืองพบแล้วว่าสิ่งที่เพิ่มอำนาจในการต่อรองขอมีเมืองที่ดี มีอากาศสะอาดให้หายใจ มีการเดินทางที่รวดเร็วสะดวกสบาย เกิดจากการมีสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งคอยกำกับและคุ้มครองให้การต่อรองนั้นมีพลังและเป็นไปได้ และสามารถทำให้ผู้ที่ก่อมลพิษสูงแต่มีอำนาจมากต้องปรับตัว

ผู้มาทีหลัง : ความยากลำบากของการรักษาสิทธิมนุษยชน

ทางเดินไร้ทางเท้าในอินเดีย
ทางเดินไร้ทางเท้าในอินเดีย l ภาพจาก Thecityfix

ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังเดินหน้าไปสู่ตอนจบของการปลดปล่อยมลพิษ และประกาศนโยบาย ‘เศรษฐกิจสะอาด’ ฝุ่นได้เคลื่อนตัวและโยกย้ายไปปกคลุมอยู่หลายเมืองอารยธรรม และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น เมืองซาโบลของอิหร่านที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 217 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2018 ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละเมืองควรมีค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 เพียง 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ผู้คนต้องสูดดมมลพิษเทียบเท่าการสูบบุหรี่วันละหนึ่งซองในทุกๆ วัน หลายเมืองในจีน อินเดีย ปากีสถานล้วนติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศเลวร้าย องค์การอนามัยโลกรายงานว่าอาจเป็นไปได้ว่ายังมีเมืองที่มีคุณภาพทางอากาศแย่ตกสำรวจไปอีกมาก เพราะระบบการตรวจสอบและการเก็บข้อมูลในบางพื้นที่ยังไม่ได้มาตรฐาน

รถยนต์ดีเซลกำลังจะหมดไปจากทวีปยุโรปในระยะอันใกล้นี้ โดยเฉพาะเมื่อนักการเมืองพรรคกรีนในประเทศต่างๆ รวมพลังกับนักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม เรียกร้องสิทธิให้สหภาพยุโรปดำเนินการตามพันธะผูกพันด้านสิ่งแวดล้อมโดยทั่วหน้า จนกระทั่งปารีส มาดริด และเอเธนส์ ประกาศแล้วว่าจะแบนเครื่องยนต์ดีเซลทั้งหมดภายในปี 2025 เช่นเดียวกับผลจากข้อตกลงปารีส ซึ่งทำให้ทุกประเทศในสหภาพยุโรปยกเว้นโปแลนด์กับกรีซได้ลงนามในคำมั่นสัญญาที่จะไม่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่อีกต่อไปหลังจากปี 2020

ในอินเดีย สิ่งที่กำลังจะกลายประวัติศาสตร์ทางวัตถุของยุโรปกำลังเติบโต ต้นปี 2017 อินเดียกลายเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก แซงหน้าเยอรมนี การขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์อินเดียมาเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้น ปี 2007-2016 รายได้ต่อคนของอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซนต์ จากสถิติของธนาคารโลก พบว่าคนอินเดียมีรายได้ต่อคนเฉลี่ย 1,700 ดอลลาร์ แม้จะยังไม่สูงเท่าจีน แต่อินเดียเต็มไปด้วยคนต้องการซื้อรถยนต์ครั้งแรก การเอื้อมถึงรถยนต์ได้ในช่วงเวลาที่ช้ากว่าประเทศโลกที่หนึ่งไปร่วมศตวรรษทำให้มลพิษในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

สำหรับตลาดรีไซเคิลขยะพลาสติก ด้วยมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงในยุโรปทำให้ยุโรปต้องส่งออกขยะพลาสติกไปรีไซเคิลในประเทศที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่ำกว่ายุโรปเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าการบริโภคพลาสติกทำให้ต้องพึ่งพาการกำจัดจากประเทศกำลังพัฒนา จีนเป็นประเทศหนึ่งที่รองรับขยะจากสหภาพยุโรปมายาวนาน ปี 2016 สหภาพยุโรปส่งขยะพลาสติกคัดแยกกว่า 85 เปอร์เซนต์ ของทั้งทวีปมารีไซเคิลที่จีน โดยไอร์แลนด์ส่งขยะไปจีนถึง 95 เปอร์เซนต์ของขยะพลาสติกภายในประเทศ อังกฤษส่งขยะพลาสติกไปจีนตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วมากกว่า 2.7 ล้านตัน

ทว่าการหลั่งไหลของขยะข้ามแดนเหล่านี้กำลังมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อรัฐบาลจีนตั้งใจควบคุมมลภาวะในประเทศอย่างจริงจังหลัง จีนประกาศนโยบายห้ามนำเข้าขยะ 24 ชนิดซึ่งมีผลเมื่อ 1 มกราคม 2561 โดยครอบคลุมทั้งพลาสติกและกระดาษ และกำหนดอัตราความปนเปื้อนของขยะที่รับได้ให้สูงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศไม่สามารถทำตามข้อกำหนดได้ และอาจต้องหาตลาดใหม่ที่พร้อมจะรับซื้อแทน เช่น อินเดีย ปากีสถาน และประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้หรือหาวิธีกำจัดขยะคงค้างในประเทศของตนเอง นักวิเคราะห์กล่าวว่านี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหภาพยุโรปปรับเปลี่ยนนโยบายด้านขยะพลาสติกสู่เส้นทางสีเขียวทั้งองคาพยพ

ทั่วโลกต่างต้องปรับตัวเพื่อให้ได้อากาศที่ดี โดยมีทั้งประเทศที่ปรับตัวไปก่อน กำลังพยายามปรับตัว และประเทศที่รอการปรับตัว น่าสนใจว่าประเทศที่ตามมาภายหลังจะพบเจอความยากลำบากในการทำให้อากาศสะอาดอย่างไรบ้าง

Dust Atlas ตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ชวนมาสำรวจทางออกนานาประการเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่ยังคงมีความหวังและความเป็นไปได้ ในประเทศไทย

ย้อนรอยทางอ่านสารคดีชุด Dust Atlas ทางของฝุ่น PM 2.5 ตอนที่ 1-3 ได้ที่

Dust Atlas (1) : ฝุ่นและราคาชีวิตของคนไทย

เกิดอะไรขึ้นเมื่อฝุ่น PM 2.5 มาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2561 มีเครื่องมือใดประเมินความเสียหายจากปัญหานี้ ทั้งทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจ

Dust Atlas (2) : เมื่อฝุ่นสัญจร

ประวัติศาสตร์ของฝุ่นละเอียดแบบคลาสสิกนับตั้งแต่ The Great Smog of London ฝุ่นยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ฝุ่นซึ่งเป็นผลพวงจากยุคพัฒนา หมอกควันในภาคเหนือ ฯลฯ

Dust Atlas (3) : ฝุ่นในดินแดนคอมมิวนิสต์และโลกเสรี

แกะรอยการเช็ดฝุ่นออกจากท้องฟ้าได้สำเร็จของจีน และจุดแข็งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save